อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
16 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
เสียงจากเพื่อร่วมเหตุการณ์วันที่สิบเมษา

เครือข่ายสันติวิธีประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายพุทธิกา กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง"เสียงจากเพื่อร่วมเหตุการณ์วันที่สิบเมษา"ที่บันทึกโดย "อาสาสมัครเพื่อนรับฟัง"สมาชิกของเครือข่าย ผ่านทางเวปไซต์ เครือข่ายสันติวิธี //nonviolencenetwork.com/node/457 ซึ่งเห็นว่ามีความน่าสนใจในปากคำของบรรดา"เหยื่อ"ทั้งฝ่ายทหาร และ ประชาชนคนเสื้อแดง ที่ได้รับบาดเจ็บ จึงขอนำมาเสนอ..
------
กลุ่มเพื่อนรับฟัง ระดมอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่ “เพื่อนรับฟัง” เดินทางไปเยี่ยมฝ่าย นปช. ที่โรงพยาบาลวชิระ และเยี่ยมฝ่ายทหารที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบริเวณสี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนที่ผ่านมา โดยคณะอาสาสมัครมีจุดมุ่งหมายเพื่อไปรับฟังความทุกข์ เรื่องราว และความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่าย และเพื่อให้กำลังใจและความเห็นใจต่อทุกฝ่ายในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับความทุกข์ ความเจ็บปวดและการสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่แตกต่างกัน เราไม่ได้มีหน้าที่ไปชี้ถูกชี้ผิด ไม่ได้ไปแนะนำหรือเอาเหตุผลใดไปตัดสินหรือกล่าวโทษฝ่ายใดทั้งสิ้น หน้าที่ของเราคือการไปรับฟังผู้ที่ได้รับความทุกข์ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

ที่รพ.วชิระ มีรายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ราว ๑๖๐ คน (เฉพาะที่รพ.วชิระ) จากรายชื่อที่ติดอยู่หน้าตึก ผู้บาดเจ็บ ๑ คน เพิ่งเสียชีวิตเมื่อเช้า บางคนยังอยู่ในห้องไอซียู บางคนเป็นผู้ป่วยหนัก บางคนเตรียมจะกลับบ้าน และบางคนรอญาติมารับ วันนี้เป็นวันที่ ๓ หลังเหตุการณ์ปะทะกันที่สี่แยกคอกวัว จึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยทยอยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน บ้างก็กลับไปที่ชุมนุมเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนอื่นๆ ซึ่งยังชุมนุมกันอยู่

ที่รพ.พระมงกุฏ มีทหารที่ได้รับบาดเจ็บอยู่เกือบ ๒๐๐ คน มีผู้ป่วยหนักอยู่ในห้องไอซียู ๕ ราย และกำลังจะเสียชีวิต ๑ ราย มีพลทหารที่อยู่ในวัยหนุ่มและอาจต้องพิการ ๒ ราย ที่เหลือก็ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด เศษแก้ว และถูกทุบตีด้วยไม้ ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นมากแล้วและอยู่ในช่วงพักฟื้น

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่อาสาสมัครทั้ง ๘ คนได้รับฟังจากผู้บาดเจ็บ ซึ่งพวกเราอาสาสมัครถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่า และมีชีวิตจากประสบการณ์ตรงของผู้ที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ พวกเราหวังอย่างยิ่งที่ “เสียง” เหล่านี้จะดังขึ้น ให้สังคมได้ยินความต้องการของคนที่กำลังบาดเจ็บ และช่วยกันระแวดระวังไม่ให้ความสับสนแทรกตัวเข้ามาสร้างความรุนแรงได้อีก

ผู้ชุมนุมคนที่ ๑

ชายวัยกลางคนอายุ ๓๕ ปี ผู้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นระยะๆ มีอาการบาดเจ็บจากการถูกตีด้วยของแข็งที่แขนซ้าย กระดูกหักสองท่อน และข้อเท้าขวาบวมช้ำ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพราะสลบจากการถูกตีบริเวณศีรษะ “ผมจะมาร่วมชุมนุมเมื่อเขาขอระดมคน หรือมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่ถ้าทั่วๆ ไป ผมไม่มา จะดูทีวี ตามข่าวอยู่บ้าน” ในวันที่ ๑๐ เมษายน เขามาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเวลาใกล้ค่ำ และกำลังมีการตั้งแถวของทหารและแถวของผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากัน “ผมอยู่ในแถวที่สามกับเพื่อนๆ เห็นทหารบางคนร้องไห้ น้ำตาไหล ผมก็รู้ว่าทหารเขาไม่ได้อยากมาทำหรอก แต่มีคำสั่งเขาก็ต้องทำ ก็คุยกันกับทหาร ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กๆ รุ่นน้องผมทั้งนั้น... ตอนวิ่งหลบแก๊สน้ำตา ยังวิ่งมาเจอกันในซอกเล็กๆ นั่งหันหลังชนกัน หันมาอีกที อ้าว...ทหาร พี่ว่ามันตลกมั้ยล่ะ พอควันแก๊สจาง ลุกขึ้นมาตะลุมบอนกันต่อ ผมยังตลกตัวเองเลย คนเจอหน้ากันครั้งแรก ไม่ได้โกรธได้เกลียดกันมาก่อน อยู่ดีๆ ให้มาชกกัน ผมว่ามันไม่ใช่” หนุ่มนปช.เล่าติดตลกจากเตียงโรงพยาบาล
“ทหารเขาก็บอกว่ามาทำตามหน้าที่ เขาได้รับคำสั่งมา ผมก็มาทำหน้าที่ของผมเหมือนกัน ผมก็ไม่อยากทำ แต่พอเห็นเพื่อนผู้หญิงถูกตีมันก็ทนอยู่ไม่ได้... ผมก็อยากให้เรื่องมันยุตินะ อยากให้มีการเจรจากัน ไม่อยากให้มีใครมาเจ็บอีก”

ทหารคนที่ ๑
เขาเป็นพลทหารเกณฑ์ที่เพิ่งถูกเกณฑ์มาปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง ๖ เดือน ยังเหลือเวลาอีก ๑ ปีครึ่งจึงจะครบกำหนด เขาเล่าว่าเดิมเขาประจำการอยู่ที่สระแก้วซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นเขาก็ถูกส่งตัวมาประจำการในกรุงเทพฯเพื่อรักษาความสงบ โดยช่วงแรกนั้นเขาถูกส่งไปประจำการอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิระยะหนึ่ง และได้ถูกส่งตัวมารักษาความสงบที่บริเวณสี่แยกคอกวัวในวันที่เกิดเหตุปะทะกัน เขาบอกว่าตอนที่เกิดเหตุนั้นเขารู้สึกงงและตกใจมากที่จู่ๆ ก็มีระเบิดถูกปาเข้ามาในกลุ่มทหาร จนเป็นเหตุให้เพื่อนทหารหลายคนบาดเจ็บสาหัส ที่ตกใจเพราะเขาไม่คิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีอาวุธหรือมีระเบิด เพราะตัวเขาเองก็มีแค่โล่และกระบองเท่านั้น เมื่อฉันถามเขาว่าในตอนนี้เขารู้สึกอย่างไรต่อกลุ่มผู้ชุมนุมบ้าง เขาบอกว่าไม่ได้รู้สึกโกรธหรือเกลียดผู้ชุมนุมแต่อย่างใด แม้ว่าตนจะได้รับบาดเจ็บก็ตาม โดยส่วนตัวนั้นเขาก็ไม่อยากปะทะกับผู้ชุมนุม ไม่อยากปะทะกับคนไทยด้วยกันเอง แต่ที่ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ ใจจริงก็อยากจะกลับบ้านไปประจำการอยู่ใกล้ๆครอบครัวที่สระแก้วมากกว่า แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะต้องทำตามหน้าที่ และสิ่งที่เขาต้องการจะเห็นมากที่สุดในตอนนี้คือ อยากให้เหตุการณ์ยุติ อยากให้ทุกคนเลิกการชุมนุมแล้วหันหน้ามาคุยกัน มาช่วยกันคิดว่าจะพัฒนาประเทศร่วมกันต่อไปได้อย่างไร อยากให้มองไปข้างหน้าร่วมกัน

ผู้ชุมนุมคนที่ ๒
คุณลุงคนนี้เป็นการ์ดนปช. โดนกระสุนยางยิงที่ใต้ตาซ้าย ทำให้กระดูกแตก ต้องรอให้แผลยุบและผ่าตัดเสริมเหล็กเข้าไป ลุงแกมาจากราชบุรี แกเล่าถึงการที่แกมาเป็นการ์ดนปช. เพราะความคับแค้นใจที่เกิดจากความไม่เท่าเทียม และการกดขี่ของคนในสังคม สถานะของครอบครัวแกบอกว่าไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็พออยู่ได้ ต้องไปๆ มาๆ กลับไปสั่งงานคนงานบ้าง แต่มีคนที่ยากจนกว่าแกมากที่ถูกเอาเปรียบ แกเหลืออดมากๆ กับคนที่พอมีอำนาจแล้วก็เปลี่ยนไปไม่เห็นใจคน แกอยากให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมจริงๆ อยากให้สังคมไม่มีสองมาตรฐาน และอยากให้รับฟังเสียงคนจนและปัญหาของพวกเขาบ้าง เขาบอกว่าถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากมา แต่ไม่มาไม่ได้ ต้องมาต่อสู้เพื่อลูกหลาน อยากให้คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมกันเยอะๆ ไม่ต้องเป็นเสื้อแดงก็ได้ จะสีอะไรก็ได้ เมื่อถามว่าอยากให้สถานการณ์เป็นอย่างไรต่อไป เขาบอกว่าอยากให้เจรจากัน อย่าให้ถึงขั้นลงไม้ลงมืออีก อยากให้ยุบสภา ๓ เดือนก็ได้ แต่ที่สำคัญอยากให้คุยกันดีๆ ในระหว่างที่พูดคุยกัน ลุงแกยังคงมีเลือดซึมออกมาทางจมูกเรื่อยๆ พยาบาลต้องคอยมาทำแผลเป็นระยะ ความเจ็บปวดจากบาดแผลดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ความทุกข์ยากที่สะสมมานานต่างหากที่แกอยากจะได้การรับฟังและความช่วยเหลือ เมื่อเห็นแกหายใจลำบาก จึงถามแกว่าอยากคุยต่อหรือไม่ ลุงก็บอกว่าอยากคุย อยากบอกเล่าเรื่องราวกับคนรุ่นใหม่แบบพวกเรา และย้ำอีกครั้งว่าอยากให้คนรุ่นใหม่มาสนใจและออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองกันเยอะๆ พอแกพูดจบ แกก็ถามเรากลับ อยากจะฟังความคิดเห็นของเราเกี่ยวกับสถานการณ์บ้าง จะคิดต่างจากแกก็ได้

ทหารคนที่ ๒
ฉันไปเยี่ยมทหารคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่ขา (ยังมีสะเก็ดระเบิดฝังอยู่ และหมอบอกว่าอาจต้องอยู่โรงพยาบาลระยะยาว) และโดนตีที่ขาและแขน เขาเล่าว่าเป็นคนจันทบุรี ไปประจำอยู่ชลบุรี และมาอยู่กรุงเทพเป็นกองหนุนมาหนึ่งเดือนแล้ว โดยเป็นทหารเกณฑ์มาประจำการได้ ๖ เดือน ในวันเกิดเหตุถูกส่งมาทำหน้าที่บริเวณคอกวัว อยู่แถวหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุม ได้รับบาดเจ็บตอนประมาณสามทุ่ม เขาคาดไม่ถึงว่าผู้ชุมนุมจะมีอาวุธแรงแบบนี้ (เขาบอกว่าโดน M79) เขาได้รับบาดเจ็บแถววัดบวรนิเวศ และมีคนในร้านข้าวต้มแถวนั้นช่วยไว้ ลากเขาเข้าไปในร้าน ทำแผลให้ เปลี่ยนชุดให้ใส่ชุดธรรมดาแทนชุดทหาร แล้วพาออกมาส่งข้างนอกบอกว่าเป็นเด็กในร้านที่โดนลูกหลงจากการออกมาสังเกตุการณ์ เพราะว่ากลัวคนเสื้อแดงมารุมทำร้าย เขาถูกส่งไปรพ.วชิระคืนวันที่ ๑๐ และได้รับการย้ายมารพ.พระมงกุฏฯเช้า ๑๑ เขาบอกว่าระหว่างที่อยู่ที่รพ.วชิระ แวดล้อมด้วยคนเสื้อแดง กลัวมากว่าจะโดนทำร้าย ได้ข่าวว่าคนเสื้อแดงจะมาบุกโรงพยาบาลก็ยิ่งกลัวมาก แต่โชคดีที่เขาเข้ามากันไม่ได้ เมื่อถามว่าอยากให้สถานการณ์เป็นอย่างไรต่อไป เขาบอกว่าอยากให้สงบโดยเร็ว อยากให้เจรจากัน ระหว่างที่คุยแม่ของผู้ป่วยเฝ้าอยู่ด้วย เธอบอกว่าได้ยินว่าลูกบาดเจ็บตอนประมาณ ๔ ทุ่มของวันที่ ๑๐ ตกใจมาก รีบออกจากบ้านมาหาและจะมาเฝ้าลูกที่นี่ตลอด เพราะลูกช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นห่วงลูกมากและเสียใจที่คนไทยทำกันเองได้ เห็นว่าคนเสื้อแดงก็เป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติกันทั้งนั้น ลูกชายคนนี้เป็นตนโตเป็นเสาหลักของบ้าน พ่อก็แก่แล้วและน้องก็ยังเล็กมาก หากเป็นอะไรไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

ผู้ชุมนุมคนที่ ๓
ชายหนุ่มอายุ ๓๐ ปี กำลังนอนให้ออกซิเจนอยู่บนเตียง มีสายยางสอดเข้าไปที่บริเวณปอดข้างขวาเพื่อเอาเลือดที่คั่งอยู่ในปอดออกมาข้างนอก บริเวณชายโครงมีบาดแผลจากสะเก็ดระเบิด และมีเศษโลหะบางส่วนฝังลึกอยู่ในตับ คุณหมอบอกกับผู้บาดเจ็บว่าหากไม่มีอาการแทรกซ้อนจากตับ เขาอาจต้องปล่อยให้เศษโลหะชิ้นนี้อยู่กับเขาไปตลอดชีวิตแทนการผ่าตัดเอาออกซึ่งเสี่ยงมากกว่า

ผู้ป่วยกำลังใจดีมาก สีหน้ายิ้มแย้มสดใส แม้จะมีอาการเหนื่อยเล็กน้อย มีคุณแม่ซึ่งเดินทางมาจากกาญจนบุรีคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้บาดเจ็บเล่าว่า ขณะเกิดเหตุการณ์ตนเองอยู่ในกลุ่มข้างหน้าที่พยายามจะกันไม่ให้ทหารรุกคืบเข้ามาโดยมีโล่และมือเปล่า เกิดการปะทะ 2 ครั้ง ครั้งแรกดันกันไปกันมา ยังไม่มีเหตุรุนแรง มีการขว้างปาข้าวของเพื่อที่จะให้ทหารถอยกลับไป ครั้งที่ 2 ประมาณทุ่มเศษ เขาอยู่ตรงกลาง ข้างหน้าเริ่มมีการปะทะกันแล้ว เขาบอกตัวเองว่า “ยังไงก็ต้องสู้ ผมไม่กลัว รู้สึกมั่นใจว่าคนของเราเยอะกว่าน่าจะเอาอยู่” เขาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง รับรู้แต่ว่าตนเองมีหน้าที่ตรึงแนวไม่ให้ทหารยึดพื้นที่เข้ามาได้ ได้ยินเสียงปืนหลายนัดต่อเนื่องกัน แล้วก็มีเสียงระเบิด เขาไม่คิดว่าตัวเองจะโดนด้วย พอรู้ว่าทหารเริ่มถอยกลับไป เขาก็เดินออกมาหาเพื่อน เดินไปได้ไม่กี่ก้าวก็ทรุดลงกับพื้น รู้สึกว่ามีเลือดไหลออกเยอะมาก หลังจากนั้นเขาก็ถูกนำส่งโรงพยาบาล ถามเขาว่า รู้สึกยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาบอกว่า “ไม่คิดว่าทหารจะทำรุนแรงกับประชาชนขนาดนี้ มีทั้งปืนและอาวุธสงคราม” เขาเชื่อว่าทหารมีความตั้งใจที่จะสลายการชุมนุม ระหว่างนี้มีการรายงานว่าทหารเตรียมพร้อมเต็มที่ มีอาวุธครบมือทั้งปืน และแก๊สน้ำตา “ความรู้สึกตอนนั้น ไม่มีความกลัวเลย ถ้าเขาลุยมาก็พร้อมสู้เต็มที่” เขาเองก็ไม่คิดว่าสถานการณ์จะรุนแรงขนาดนี้ เพราะประชาชนไม่มีอาวุธอย่างมากก็ดันกันไปดันกันมา พอทหารเริ่มเคลื่อนเขาคิดว่าทหารคงจะลุยแน่ๆแล้ว ตอนนั้นก็พยายามป้องกันสุดกำลัง ช่วงชุลมุนก็เห็นว่ามีผู้ชุมนุมถูกยิง เขาเชื่อว่าต้องมาจากฝ่ายทหาร เพราะวิถีกระสุนมาจากฝั่งตรงข้ามกับผู้ชุมนุม เขาเองก็อยากให้สถานการณ์คลี่คลายโดยไม่ต้องทำร้ายกัน เพราะคนไทยด้วยกัน “ผมไม่โกรธทหารหรอก เพราะเค้าก็ทำหน้าที่ของเค้า เชื่อว่าเค้าไม่ได้อยากมาปราบปรามผู้ชุมนุมหรอก แต่เมื่อนายสั่งก็ต้องมา ผมโกรธคนที่สั่งการมากกว่า ทางเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างจบก็คือ รัฐบาลต้องยุบสภา หรืออย่างน้อยก็ต้องปล่อยให้ผู้ชุมนุมสามารถชุมนุมได้อย่างสงบ หายดีเมื่อไหร่ผมก็จะไปชุมนุมต่อ ไม่กลัว” เขาตอบด้วยความมั่นใจ

ทหารคนที่ ๓
ได้ไปเยี่ยมพลทหารหนุ่มคนหนึ่ง เพิ่งเข้าประจำการได้ ๒ ปี มีเฝือกพลาสติกที่บริเวณข้อเท้าและขาข้างซ้าย มีรอยช้ำจากการถูกกระแทกด้วยของแข็งบริเวณท้ายทอย เขาถูกเรียกตัวมาจากกาญจนบุรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม มีหน้าที่ประจำการตามจุดต่างๆ รอบๆ กรุงเทพฯ

ช่วงเย็นของวันที่ 10 เขาได้รับคำสั่งให้มาประจำการอยู่ที่สี่แยกคอกวัว โดยมีหน้าที่ตรีงแนวด้านหน้า ไม่อนุญาติให้ถือปืนหรือมีอาวุธอย่างอื่น มีเพียงแค่โล่กับกระบองเท่านั้น การปะทะช่วงแรกก็เป็นแบบดันกันไปดันกันมาก็ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จากไม้ ขวด และข้าวของที่ปาเข้ามา ก็พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หลังเคารพธงชาติก็ได้รับคำสั่งให้รุกคืบไปข้างหน้า “เดินไปได้แค่ ๓ ก้าวเท่านั้น ก็ไม่รู้อะไรเป็นอะไรแล้ว มาเต็มไปหมด แนวของทหารล้มไปข้างหน้า คนที่อยู่แถวสี่และห้าโดนหนักกว่าเพื่อน ผมถูกตีที่ท้ายทายหลายครั้งจนมึนไปหมด มีคนพยายามจะดึงโล่และหมวกไป ผมพยายามจับไว้แน่น เพราะรู้ว่าต้องรักษาตัวเองให้ดีที่สุด จนมันวูบไป” เขามารู้ตัวอีกทีเมื่อถูกหามมาที่อยู่ที่รถแล้ว ส่วนที่ขาซ้ายเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไปโดนอะไรมา ถามเขาว่ารู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ตอนนั้น เขาบอกว่า รู้สึกอึดอัดใจที่ทำอะไรไม่ได้ อาวุธก็ไม่ได้รับคำสั่งให้ใช้ ในขณะที่ผู้ชุมนุมมีทั้งปืนจริงและระเบิด “พวกเสื้อแดงมีทั้งไม้ท่อนใหญ่ๆ กระสุนที่เป็นหัวน๊อต แล้วก็ขวดแก้ว พอโดนหนักๆ เข้าก็โมโหเหมือนกัน เหมือนเราปล่อยให้เค้าตีอยู่ฝ่ายเดียว ผมหยิบได้ขวดก็ขว้างกลับไปทีนึง ”

เมื่อถามว่าเขารู้สึกโกรธมั้ยที่ถูกตีจนได้รับบาดเจ็บ “ผมไม่โกรธหรอก ผมก็พยายามทำหน้าที่ของผม เค้าก็ต้องพยายามขัดขวางไม่ให้ทหารเข้าไปยึดพื้นที่ได้ ก็ไม่คิดว่าจะรุนแรงขนาดนี้หรอก คิดว่าอย่างมากก็ดันกันไปมา ที่มันรุนแรงก็น่าจะเป็นช่วงที่ชุลมุนกัน มีคนถูกยิงล้มลง และทหารบางคนถูกลากไปตี แต่ก็มีเสื้อแดงหลายคนที่พยายามส่งเสียงห้ามว่าพอแล้วๆ อย่าไปตีเขา”

แม้ว่าเขาจะได้รับบาดเจ็บไม่น้อย แต่ทหารหนุ่มคนนี้ก็มองด้านบวกว่า เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่เขาได้เผชิญ แต่เขาก็มีความหวังว่าบ้านเมืองจะสงบในเร็ววัน “ผมไม่ได้เล่นสงกรานต์มาสองปีแล้วพี่ ปีที่แล้วก็เสื้อเหลือง ปีนี้ก็เสื้อแดง เมื่อไหร่มันจะจบสักที ก็อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาระดับบนนั่นแหล่ะว่าจะเอายังไง ถ้ายังเผชิญหน้ากันอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวพวกผมก็ต้องถูกเรียกตัวมาอีกนั่นแหล่ะ”

ผู้ชุมนุมคนที่ ๔เขาเล่าว่าในตอนเกิดเหตุนั้น เขาตกใจและนึกไม่ถึง เพราะเขาไปอยู่บริเวณนั้นในฐานะผู้ที่ไปให้กำลังใจผู้ชุมนุม และตั้งใจจะไปร่วมงานสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร ตอนที่ผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐและวิ่งหนีนั้น เขาวิ่งไม่ทันจึงนั่งลงเพราะคิดว่าการนั่งลงคงจะช่วยให้ตนไม่ถูกทำร้าย แต่ในภาวะชุลมุนนั้นผู้คนต่างไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เขาจึงถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กระบองฟาดจนได้รับบาดเจ็บกระดูกมือหักและกระดูก ขาร้าว เขาบอกว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่อยากจะเชื่อว่าตนจะประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากและรุนแรงมากราวกับไม่ใช่เรื่องจริง “ไม่อยากเชื่อเลยว่ามันเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้นจริง ยังนั่งนึกอยู่เลยว่า เราฝันไปหรือเปล่า” และไม่เชื่อว่าคนไทยที่เป็นชาวพุทธจะทำร้ายกันเองได้ขนาดนี้ เคราะห์ดีที่เขาได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในบริเวณนั้นให้เข้าไปหลบภัย และนำส่งโรงพยาบาลในที่สุด ผู้บาดเจ็บรายนี้ยังคงรู้สึกโกรธและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “พอเกิดการวุ่นวาย เราวิ่งหนีกระจัดกระจาย เราวิ่งไม่ทัน จึงนั่งลง คิดว่าคงไม่ถูกทำอะไร แต่ทหารก็เอากระบองฟาด เรายกแขนบังหัว จึงถูกฟาดที่มือและแขน กระดูกนิ้วหัก และถูกฟาดที่ขา จนกระดูกร้าว เราแกล้งนอนสลบ พอเหตุการณ์สงบก็มา รพ.” เขาเล่าว่าการที่ชาวบ้าน รวมตัวกันมาชุมนุมก็เพราะเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ ต้องการความเป็นธรรม รวมทั้งต้องการความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งในเรื่องประชาธิปไตยและการจัดการกับปัญหาสองมาตรฐาน เขาอยากให้รัฐบาลฟังเสียงคนยากคนจนบ้าง ไม่ใช่ห่วงแต่ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจหรือภาคธุรกิจเท่านั้น หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้เขาคงต้องพักรักษาตัวนานหลายอาทิตย์เพื่อให้กระดูก ที่ร้าวสมานตัว

ทหารคนที่ ๔
ทหารหาญผู้นี้ มีแนวโน้มว่าขาจะพิการตลอดชีวิต เขาเล่าว่า“ผมก็ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรงขนาดนี้ ช่วงบ่ายแถวสะพานมัฆวาน คนเสื้อแดงเอาน้ำ ผ้าเย็น และอาหารมาให้ทหารกิน เราก็ยังคุยกันดีๆ ทุกคนก็เป็นพี่น้องกัน เป็นคนไทยเหมือนกัน ผมไม่อยากให้เราต้องมาทำร้ายกันเอง ไม่น่าเลย” “ผมไม่โกรธเกลียดคนเสื้อแดงหรอก ผมเข้าใจว่าเขาอยากให้ประเทศไทยดีขึ้น เขาต้องการประชาธิปไตย ผมก็อยากให้ประเทศสงบ” "ที่คอกวัว ผมได้รับปืนบรรจุกระสุนจริง ไว้ยิงขึ้นฟ้า ๓๐ นัด แต่ยังไม่ได้ยิงสักนัด เพราะโดนระเบิดซะก่อน" "ผมว่าเราไม่น่าทำร้ายกันเองอย่างนี้ บางทีทหารก็ทำเกินไปด้วย ผมเห็นกับตาว่า มีผู้หญิงเสื้อแดง เดินยกมือยอมให้จับแต่โดยดี ทหารคนหนึ่งกลับยกกระบองฟาดใส่เขา ผมคิดว่าเราไม่น่าจะทำร้ายกันเองได้ขนาดนี้" "ผมไม่อยากมาทำร้ายผู้ชุมนุม ผมอยากมาช่วยรักษาความสงบต่างหาก"

ผู้ชุมนุมคนที่ ๕
อายุ ประมาณ ๓๑ ปี มีสายยางต่อจากปอดข้างซ้าย มีบาดแผลจากสะเก็ดระเบิดหลายแห่ง ทั้งที่หน้าอก ขา และแขน ที่บริเวณต้นแขนข้างขวาแพทย์ใส่เหล็กดึงกระดูกไว้ เพราะกระดูกแตกตัดเส้นประสาทไปสองเส้น ผู้ป่วยดูอิดโรย หายใจเร็วและเหนื่อย ต้องให้ออกซิเจนไว้ตลอด มีพี่ชายและญาตินั่งเฝ้าอยู่หลายคน สังเกตเห็นความกังวลอยู่บนใบหน้าของพี่ชายที่ไม่รู้จะช่วยน้องชายอย่างไรดี ผู้ป่วยรู้สึกตัว เพียงแต่ยังอ่อนเพลีย พูดมากไม่ได้เพราะจะเหนื่อย มีอาการปวดเป็นพักๆ จากบริเวณแขนที่ดามเหล็กไว้ หากขยับตัวหรือไอ ก็จะเจ็บที่หน้าอก ฉันไม่อยากรบกวนผู้ป่วยมากเกินไป จึงหันไปคุยกับญาติแทน พี่ชายผู้บาดเจ็บเล่าว่าช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียดได้พยายามติดต่อกับน้อง ชายตลอด โทรคุยกันทางโทรศัพท์เป็นระยะ “ผมรู้ว่ายังไงเค้าก็ไม่ยอมกลับ เพราะเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นทางการเมืองมาก จึงพยายามเตือนเขาให้อยู่ในฝูงชนไว้ อย่าออกไปไกลเพราะจะเป็นเป้าได้ง่าย”

“หลังสามทุ่มเริ่มติดต่อ น้องเค้าไม่ได้ นึกในใจว่าขอให้เค้าแค่ทำโทรศัพท์หล่นหายเท่านั้น พยายามโทรจนเกือบเที่ยงคืนตีหนึ่ง ก็ยังติดต่อไม่ได้ ภาวนาให้เค้าปลอดภัย หรืออยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง” รุ่งเช้ามีโทรศัพท์มาจากรพ.วชิระ ถึงได้รู้ข่าวการบาดเจ็บของน้องชายและรีบเดินทางมาเยี่ยม ถามพี่ชายว่ารู้สึกยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ตัวผมเองไม่ได้เป็นสีอะไรทั้งนั้น แต่ผมก็เข้าใจและเคารพในความคิดของเค้า (น้องชาย) ผมเองไม่ได้เข้าข้างฝ่ายไหน เพียงแต่รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลตัดสินใจสลายการชุมนุมในช่วงนั้น เพราะมันมืดแล้ว “ถ้าเป็นช่วงกลางวันก็ยังพอเห็นว่าอะไรเป็นอะไร แต่นี่คุณทำตอนกลางคืนซึ่งมันเสี่ยงมาก เกิดความชุลมุนวุ่นวายได้ง่าย ทั้งๆ ที่รัฐบาลก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่าถ้าสลายตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ยังทำ อันนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกแย่ที่สุดจากเหตุการณ์คราวนี้” เมื่อถามว่าอยากเห็นสถานการณ์คลี่คลายอย่างไร เขาก็ตอบว่า ผมเองก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน แต่คิดว่าผู้หลักผู้ใหญ่น่าจะคิดหาวิธีที่จะพูดคุยตกลงกันให้ได้

ทหารคนที่ ๕
ทหาร ผู้นี้โดนสะเก็ดระเบิดเข้าที่ขา ทำให้ต้องนอนรักษาตัวอีกอย่างน้อยสองอาทิตย์ เขาเป็นทหารเกณฑ์จากจังหวัดสระแก้ว มีกำหนดเป็นทหาร ๑ ปี และได้รักการฝึกมา ๔ เดือน ก่อนเข้ามาปฏิบัติการในกรุงเทพตั้งแต่วันที่ ๑๐ เดือนมีนาคม ตอนเข้ามาไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องรุนแรงแบบนี้ รู้สึกลำบากใจในการปฏิบัติหน้าที่แบบนี้ เพราะว่าเป็นคนไทยด้วยกัน ต่างก็เป็นคน ไม่อยากจะทำร้ายกัน เมื่อถามถึงความต้องการของเขาก็ตอบอย่างชัดถ้อยคำเหมือนกันว่า อยากให้เกิดความสงบ ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงอีก “อยากให้เกิดความสงบ รู้สึกลำบากใจมากที่ต้องปฏิบัติหน้าที่แบบนี้ เพราะต่างก็เป็นคนเหมือนกัน”

ผู้ชุมนุมคนที่ ๖
คุณลุงวัย ๕๒ ปีจากเชียงใหม่ เดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ “ ผมต้องการความยุติธรรม ต้องการประชาธิปไตย” เมื่อถามถึงรูปธรรม? แกว่า “ต้องยุบสภา”
แต่ ตอนนี้ต้องมานอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลมีสายระโยงระยาง ใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นครั้งคราว หมอยังงดน้ำและอาหาร และยังมีเศษโลหะอยู่ในตับ แกขอผ้าชุบน้ำให้หลานชายช่วยลูบเนื้อลูบตัว ด้วยอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว ถามว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง? “เบื่อ” ดูสีหน้าก็เห็นว่าเป็นอย่างนั้น แต่ก็เสไปพูดเรื่องอื่นอยู่พักหนึ่ง เมื่อกลับมาถามอีกทีว่าเบื่ออะไร? แกว่า “เบื่อพวกนี้แหละ มากันสี่แสน แต่พอเกิดอะไรขึ้น เรียกกันได้สองแสน แต่อีกสองแสนก็นั่งๆนอนๆ ตบมือกันอยู่ในเต๊นท์ ไม่ยอมไปไหน แต่ผมนี่เวลาเวทีเรียกเมื่อไหร่ก็ไปทุกครั้ง ถ้าหายก็ยังอยากกลับไปอีก” เมื่อถามว่าอยากให้เรื่องนี้ลงเอยอย่างไร? “อยากให้ผู้ใหญ่คุยกัน ตกลงกันให้ได้ อยากให้เจรจากัน จะได้จบเสียที” ถาม ว่ามีใครมาเยี่ยมบ้าง? “ส่วนใหญ่ก็เป็นญาติๆกัน เห็นว่าผู้ว่าจะมาแต่ก็ยังไม่เห็นมา” ถ้าคนในรัฐบาลมาเยี่ยมเห็นอย่างไร “ก็แล้วแต่เขาไม่ว่าอะไร แต่อยากให้ผู้ใหญ่ของเรามามากกว่า ไม่มีผู้ใหญ่ของเรามาเลย” ประโยคนี้ดูจะน้อยใจอยู่บ้าง เพราะเมื่อถามก่อนจะจากลา ว่าจะฝากข้อความอะไรไปถึงผู้นำของทั้งสองฝ่ายบ้าง “ฝาก ถึงผู้ใหญ่ฝ่ายเรา ๒ ข้อ (ฝ่ายผู้ชุมนุม) หนึ่ง มาเยี่ยมกันบ้าง สอง อยากให้ผู้ใหญ่คุยกัน หาข้อตกลง ถึงฝ่ายรัฐบาล ก็ขอให้มาเจรจากัน อยากให้ยุบสภา”

ทหารคนที่ ๖ : สิบเอ็ดอนุพล หอมมาลี เสียชีวิตที่รพ.พระมงกุฏเกล้า เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน
เขา นอนไม่รู้ตัวอยู่ในห้องไอซียู มีแผลปิดแผลอยู่บนศรีษะหลายชิ้น แม่กับน้องสาวยืนเฝ้าอยู่ข้างเตียง หมอเข้ามาดูตัวเลขต่างๆ จากเครื่องมือช่วยชีวิต แล้วก็บอกว่า “เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว มีอะไรจะพูดกับเขาก็พูดเสีย มีคนสำคัญกับผู้ป่วย ก็เรียกกันมาได้แล้ว” แม่ฟังอย่างไม่อยากเชื่อหูตัวเอง “มันเร็วเกินไป เคยคิดว่าจะมีเวลามากกว่านี้ ทำใจไม่ทัน” พลันน้ำตาก็ไหลออกมาจากหัวใจ เธอสะอื้นตัวสั่นไหว จนต้องกอดเธอไว้ แล้วร้องไห้ด้วยกัน เธอมีลูก ๓ คน เป็นผู้ชาย ๒ หญิง ๑ สิบเอกอนุพล เป็นลูกคนกลาง พ่อของพวกเขาก็เป็นทหารซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ดูเธอเป็นคนเรียบๆสุขุม มีความเข้มแข็งอยู่ภายใน ต้องต่อสู้ชีวิตเลี้ยงลูกมาโดยลำพัง พอลูกโตพอได้ชื่นใจก็ต้องมาตายจากไป สังเวยชีวิตให้กับความขัดแย้งทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายก็กล่าวโทษคู่กรณี

หลังเยี่ยมผู้บาดเจ็บอาสาสมัครมีความรู้สึกหดหู่ใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกห่วงกังวลของญาติ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะสวมเสื้อสีอะไร เป็นทหารหรือกลุ่มนปช. เราต่างรับรู้ถึงความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น เราต่างเจ็บปวดที่คนไทยต้องมาทำร้ายกันเอง ได้แต่หวังว่าว่าหยาดน้ำตา และความเจ็บปวดของสังคมไทยในวันนี้จะช่วยให้เรามีสติและร่วมกันหาทางออกที่ ไม่ใช้ความรุนแรงได้ในที่สุด ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน ขอให้เรายังคงศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของเรา อย่าให้สีเสื้อที่เราสวมใส่ทำลายความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจที่เรามีต่อกันเลย


วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๓
อาสาสมัครเพื่อนรับฟัง



Create Date : 16 เมษายน 2553
Last Update : 16 เมษายน 2553 16:27:03 น. 3 comments
Counter : 673 Pageviews.

 
มาเยือนกันจาก //www.thai-school.net/wanarat


โดย: พริกดิบ (พริกดิบ ) วันที่: 16 เมษายน 2553 เวลา:17:20:59 น.  

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 16 เมษายน 2553 เวลา:19:23:14 น.  

 
อ่านแล้วก้อเห็นใจผู้บาดเจ็บทุกคนค่ะ แต่เรื่องการเมืองไม่ขอออกความเห็นนะคะ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้หรอกค่ะ


โดย: Scorchio วันที่: 16 เมษายน 2553 เวลา:20:39:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.