" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
26 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

081. การวิเคราะห์เบื้องต้นกู่ผียักษ์ ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน โดย ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์

การวิเคราะห์เบื้องต้นกู่ผียักษ์ ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน
ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภูมิหลังของตำบลเวียงยอง

แต่เดิมเมืองลำพูนหรือหริภุญชัยเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย และในยุคที่พม่าปกครองล้านนาระหว่าง พ.ศ.2010-2317 เมืองลำพูนก็ได้รับความเสียหายจากการสู้รบระหว่างกลุ่มต่างๆ ผู้คนล้มหายตายจากหรือหนีเข้ารกเข้าพงไปก็มาก จนกระทั่งพระเจ้ากาวิละสามารถขับไล่กองทัพพม่าออกไป และทำการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จในปีพ.ศ.2339 พระองค์จึงได้ทำการรวบรวมผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ ตอนบน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเชียงใหม่ในด้านกำลังคน และในปีพ.ศ.2348 หรือหนึ่งปีหลังจากกองทัพเชียงใหม่และกองทัพจากกรุงเทพฯสามารถตีเชียงแสนที่มั่นสุดท้ายของพม่าในล้านนาแตกในปีพ.ศ.2347 พระเจ้ากาวิละจึงได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองและหัวเมืองใกล้เคียงเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน ทำให้เมืองลำพูนฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีชาวยองที่เทครัวมาเป็นพลเมืองส่วนใหญ่

โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมแล้ว เมืองยองเป็นเมืองชายขอบหรือที่เรียกกันในสมัยโบราณว่า ‘เมืองสองฝั่งฟ้า หรือ เมืองสามฝั่งฟ้า’ เพราะตั้งอยู่ระหว่างศูนย์อำนาจใหญ่ที่มีวัฒนธรรมและสภาพเศรษฐกิจสังคมที่แข็งกว่า เช่น พม่า จีน เชียงรุ่ง เชียงตุง เชียงแสน เชียงใหม่ และหลวงพระบาง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นเอกสารฉบับเดียวที่ค่อนข้างให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กองทัพเชียงใหม่ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองในปีพ.ศ.2348 มากกว่าการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองอื่นๆ เช่น เชียงตุง เชียงรุ่ง เป็นต้น เอกสารดังกล่าวระบุว่า พระเจ้ากาวิละได้อ้างความชอบธรรมในการยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนยังเมืองยองครั้งนั้นว่า เป็นการปฏิบัติตามที่กษัตริย์องค์ก่อนๆ ในอดีตได้ทรงกระทำมา ซึ่งน่าจะหมายถึงกษัตริย์ราชวงศ์มังราย เช่นสมัยพญาสามฝั่งแก่น (พ.ศ.1945-1984) และสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) เป็นช่วงเวลาที่เมืองยองขึ้นไปถึงสิบสองปันนาตกอยู่ในอำนาจรัฐเชียงใหม่ที่เข้มแข็งกว่า

การกวาดต้อนเทครัวผู้คนจากเมืองยองในปีพ.ศ.2348 เป็นการเทครัวของชาวยองทุกชนชั้น ตั้งแต่เจ้าเมืองและครอบครัว พระสงฆ์ และหัวหน้าชุมชนระดับต่างๆ โดยพระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลำพูนทั้งหมด ต่างกับครั้งที่ตีเชียงแสนในปีพ.ศ.2347 ซึ่งได้มีการแบ่งไพร่พลเมืองเชียงแสนให้กับหลายเมืองที่ยกทัพมาช่วยรบ เข้าใจว่าผู้นำชุมชนที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการปกครองของเมืองยองแต่เดิมที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งนี้ยังคงมีบทบาทในชุมชนของชาวยองในเมืองลำพูนในระหว่างพ.ศ.2371-2379 จากข้อมูลการสำรวจและสัมภาษณ์ของอาจารย์แสวง มานะแซม พบว่าในระหว่าง พ.ศ.2348-2371 มีหมู่บ้านหลักที่ตั้งขึ้นในยุคฟื้นฟูบ้านเมืองลำพูน สมัยพระยาคำฝั้นและพระยาบุญมา เจ้าเมืองลำพูนลำดับที่ 1 และ 2 ที่มีอายุประมาณ 2 ชั่วอายุคน หรือไม่น้อยกว่า 190 ปี กระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองลำพูน เช่น ในเขตอำเภอ เมืองลำพูน ได้แก่ บ้านเวียงยอง บ้านแม่สานบ้านต้อง บ้านยู้ บ้านหลวย บ้านหลุก บ้านประตูป่า บ้านบัว บ้านบาน และเขตอำเภอป่าซาง ได้แก่ บ้านป่าซาง บ้านฉางข้าวน้อย บ้านแซม บ้านสะปุ๋ง บ้านป่าตาล บ้านหวาย บ้านหนองเงือก เป็นต้น

อาจารย์แสวงยังเสนอว่าการที่พระยากาวิละให้เจ้าเมืองยอง ลูกเมีย และญาติพี่น้อง ขุนนาง ชนชั้นปกครองเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บนฝั่งแม่น้ำกวงตรงกันข้ามกับตัวเมืองลำพูนด้านตะวันออก ซึ่งก็คือบ้านเวียงยองในปัจจุบันนั้น ด้วยสาเหตุทางการปกครองโดยตรง เพราะสามารถดูแลควบคุมได้อย่างใกล้ชิด และก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับระหว่างกลุ่มเจ้าเมืองยองและกลุ่มเจ้าเจ็ดตนในเมืองลำพูน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ผู้นำชุมชนชาวยองบางคนยังเข้ามามีบทบาทในการบริหารหรือตัดสินความให้กับเจ้าเมืองลำพูนอีกด้วย จึงนับว่าการฟื้นตัวของเมืองลำพูนในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองมีชาวยองเป็นตัวแปรทีสำคัญยิ่ง


Source: //www.finearts.cmu.ac.th/




 

Create Date : 26 ธันวาคม 2552
6 comments
Last Update : 26 ธันวาคม 2552 22:28:47 น.
Counter : 2304 Pageviews.

 

การสำรวจกู่ผียักษ์เท่าที่ผ่านมา

ได้มีการตีพิมพ์ภาพของกู่ผียักษ์เป็นครั้งแรกในหนังสือแหล่งประติมากรรมภาคเหนือของฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กรมศิลปากร เมื่อปีพ.ศ.2534 โดยเรียกว่า “กู่นายเก๋” ตามชื่อราษฎรเจ้าของที่ดิน แต่ไม่มีรายละเอียดใดๆ จนกระทั่งปีพ.ศ.2536 กรมศิลปากร ได้ตีพิมพ์หนังสือของฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่เรื่อง การสำรวจแหล่งประติมากรรม เล่ม 1 (ภาคเหนือตอนบน) โดยได้กล่าวถึงรายละเอียดของวัดนายเก๋ซึ่งได้สำรวจไว้เมื่อปีพ.ศ.2534 ในแง่ของสภาพแหล่งที่ตั้งและสภาพตัวกู่ซึ่งทรุดโทรม มีลวดลายเหลือเพียงประมาณ 20% ปูนฉาบเหลือประมาณ 20% จึงเสนอว่าควรเร่งทำแผนการบูรณะโดยด่วน

อย่างไรก็ตามรายละเอียดของการสำรวจกู่แห่งนี้ยังปรากฏในเอกสารโบราณคดีลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน ของฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อปีพ.ศ.2534 หากเรียกชื่อเป็น “กู่นางเก๋” แทน ในเอกสารดังกล่าวได้ให้ข้อมูลการสำรวจที่ละเอียดพอควร โดยกล่าวถึงการเดินทางไปยังแหล่งโบราณสถานบ้านแม่สานบ้านต้อง ตำบลเวียงยอง ซึ่งอยู่ห่างจากน้ำแม่กวงทางตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตรแห่งนี้ว่า สามารถใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 114 ออกจากตัวจังหวัดลำพูนไปประมาณ 1 กิโลเมตร แยกเข้าไปตามถนนลูกรังทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับศาลจังหวัดลำพูน โดยสามารถกำหนดจุดที่ตั้งของกู่แห่งนี้ในแผนที่ได้ว่า ตั้งอยู่บริเวณเส้นรุ้งที่ 18 องศา 32 ลิบดา 55 พิลิบดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 00 ลิบดา 50 พิลิบดาตะวันออก ตามแผนที่ระวาง 4846 III มาตราส่วน 1 : 50,000

ในรายงานดังกล่าวได้ระบุถึงสภาพทั่วไปของกู่นางเก๋ ซึ่งไม่แตกต่างไปจากสภาพที่พบเห็นในการสำรวจของผู้เขียนครั้งล่าสุดว่า โบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินดินค่อนข้างรกชัดขนาดกว้างยาวประมาณ 14 X 20 เมตร พบเศษอิฐและร่องรอยการลักลอบขุดหาสมบัติอยู่ทั่วไป อยู่ค่อนข้างติดกับถนนลูกรัง บริเวณโดยรอบเป็นทุ่งนา ตัวกู่ซึ่งมีขนาดสูงประมาณ 3 เมตรจากพื้นดินมีลักษณะทรงมณฑปหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เหลือแต่เพียงส่วนฐานถึงเรือนธาตุ ส่วนยอดพังทลายไปแล้ว ลักษณะการก่อสร้างเป็นการก่ออิฐ สอดิน ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้น กำหนดอายุขั้นต้นอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21-23

Source: //www.finearts.cmu.ac.th/

 

โดย: การสำรวจกู่ผียักษ์เท่าที่ผ่านมา (moonfleet ) 26 ธันวาคม 2552 22:31:22 น.  

 

การสำรวจกู่ผียักษ์ครั้งล่าสุด

ในระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2540 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2541 ผู้เขียนได้ตามไปที่บ้าน แม่สานบ้านต้อง ตำบลเวียงยอง จังหวัดลำพูน หลังจากการสอบถามผู้ที่อาศัยในพื้นที่ทำให้ทราบว่ากู่นายเก๋หรือกู่นางเก๋ที่ทางกรมศิลปากรเรียกนั้นชาวบ้านเขาเรียกว่า “กู่ผียักษ์” และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีร่องรอยการนำดอกไม้มากราบไหว้บูชากันสม่ำเสมอ ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอใช้ชื่อ กู่แห่งนี้ว่า “กู่ผียักษ์” แทน (ภาพที่ 1)

จากลักษณะของตัวกู่มณฑปและลวดลายปูนปั้นตกแต่ง แสดงว่ากู่ผียักษ์แห่งนี้มีอายุเก่ากว่าการเข้ามาตั้งหลักแหล่งของชาวยองเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 24 อย่างแน่นอน โดยสามารถวิเคราะห์ได้เป็น 2 เรื่อง คือ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม และลวดลายปูนปั้นตกแต่ง

สำหรับลักษณะทางสถาปัตยกรรมของกู่ผียักษ์ ที่เหลือร่องรอยเฉพาะส่วนฐานและส่วนเรือนธาตุ จากภาพสันนิษฐานอาจกล่าวได้ว่า กู่ผียักษ์มีลักษณะเป็นกู่มณฑปทรงสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 3.40 เมตร มีฐานปัทม์ลูกแก้วซึ่งอาจจะตั้งอยู่บนฐานเขียงอีกทีหนึ่งรองรับเรือนธาตุ ทั้งฐานปัทม์และส่วนเรือนธาตุมีลักษณะยื่นเก็จออกมาหนึ่งชั้น ในส่วนยื่นเก็จของเรือนธาตุยังมีซุ้มประกอบด้านละหนึ่งซุ้ม ก่อซุ้มแบบสันเหลื่อม เฉพาะซุ้มด้านทิศตะวันออก (หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หากใช้เข็มทิศจับ) เป็นซุ้มจระนำเข้าไปภายในกู่ได้ ซึ่งมีร่องรอยว่าเดิมคงมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน แต่ปัจจุบันพบแต่ร่องรอยหลุมลักลอบขุดลึกลงไป

หากพิจารณาเฉพาะในส่วนลักษณะสถาปัตยกรรม นอกจากลักษณะการยื่นเก็จที่มีซุ้มและจระนำเช่นนี้จะพบเห็นได้ทั่วไปนับตั้งแต่ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 19 มาจนถึงราวต้นพุทธ-ศตวรรษที่ 22 หรือเริ่มตั้งแต่เจดีย์วัดป่าสัก เชียงแสน มาจนถึงมณฑปพระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุ-ลำปางหลวง กู่ผียักษ์ยังมีโครงสร้างของซุ้มที่สัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมสกุลช่างเชียงแสนเป็นอันมาก เห็นได้ชัดเจนจากเสารับซุ้มซึ่งมีแต่บัวหัวเสา ไม่มีบัวโคนเสา หากตัดตรงลงมา (ภาพที่ 2) เช่นเดียวกับซุ้มจระนำของเจดีย์วัดป่าสัก และเจดีย์พระธาตุสองพี่น้อง ลักษณะเช่นนี้ยังพบได้จากเจดีย์วัดอุ้มโอ (ภาพที่ 3) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

ในส่วนลวดลายปูนปั้นประดับกู่ผียักษ์นั้น ส่วนใหญ่เท่าที่เหลืออยู่จะเป็นส่วนของลาย ปูนปั้นตกแต่งเสารับซุ้มและเสามุมอาคารหรือเสาหลอก ในชุดกาบบน กาบล่าง และประจำยามอก ส่วนลายมกรคายนาคตกแต่งซุ้มทางด้านทิศใต้ (ดูภาพที่ 2) อยู่ในสภาพที่ชำรุดมากจนไม่สามารถใช้ศึกษาได้ นอกจากนี้ยังเหลือร่องรอยของลายกลีบบัวตกแต่งเส้นลวด และลายประจำยามตกแต่งมุมชั้นหน้ากระดานรับเรือนธาตุ ซึ่งแม้ว่าจากรายงานการสำรวจของกรมศิลปากร จะกล่าวว่าลวดลายชุดกาบบน กาบล่าง และประจำยามอกของกู่ผียักษ์จะมีการซ่อมแซมในภายหลัง หรือมีการปั้นปูนตกแต่งเป็น 2 รุ่นด้วยเหตุผลของลายกรอบตกแต่งที่มีรูปร่างแตกต่างกันก็ตาม แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าเป็นงานรุ่นเดียวกัน อันมีวิวัฒนาการสืบทอดมาจากเจดีย์วัดป่าสัก เชียงแสน และเจดีย์วัดอุ้มโอ เชียงใหม่ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป


Source: //www.finearts.cmu.ac.th/

 

โดย: การสำรวจกู่ผียักษ์ครั้งล่าสุด (moonfleet ) 26 ธันวาคม 2552 22:33:04 น.  

 

จากเจดีย์วัดป่าสักถึงเจดีย์วัดอุ้มโอ

ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และเชียงแสน พ.ศ.1850-1950

เมื่อพญามังรายผู้ทรงก่อตั้งเมืองเชียงใหม่สวรรคตลงในปีพ.ศ.1854 เขตอำนาจของพระองค์ทางทิศเหนือได้แผ่ไปถึงดินแดนระหว่างแม่สายกับเชียงรุ้ง ในระยะครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 19 นั้นนอกจากเชียงใหม่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหริภุญชัยแล้ว เชียงใหม่ยังมีความเกี่ยวข้องแน่นแฟ้นกับเมืองเชียงรายและเชียงแสนเป็นอันมาก ภายหลังการเข้าครองเชียงใหม่ต่อจากพญามังรายได้เพียง 4 เดือน พญาไชยสงคราม (ครองราชย์ พ.ศ.1854-1868) ก็เสด็จไปประทับอยู่ที่เชียงราย พญาแสนภูอุปราช (ครองราชย์พ.ศ.1868-1877) ก็ดำเนินนโยบายอย่างเดียวกัน คือหลังจากได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพญาไชยสงครามผู้สิ้นพระชนม์ที่เชียงราย พระองค์ได้แต่งตั้งท้าวคำฟูโอรสให้ครองนครเชียงใหม่ ส่วนตัวพระองค์เองประทับอยู่ที่เชียงราย และได้ทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นราวปี พ.ศ.1870 ตรงบริเวณแม่น้ำโขง โดยมุ่งหมายให้เป็นปราการป้องกันข้าศึกทางด้านเหนือ และควบคุมหัวเมืองโดยรอบ พระองค์ทรงประทับอยู่ที่เชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพ

นโยบายเข้าครอบครองล้านนาตะวันออกของกษัตริย์ราชวงศ์มังรายที่เชียงใหม่โดยมีเชียงแสนเป็นจุดก้าวกระโดดเริ่มเห็นผลในสมัยพญาคำฟู (ครองราชย์ พ.ศ.1877-1879) หลังจากขึ้นครองราชย์ที่เชียงใหม่ในพ.ศ.1877 พระองค์ก็ย้ายมาประทับที่เชียงแสน และสามารถผนวกเมืองพะเยาไว้ในอาณาจักรล้านนาได้สำเร็จ แม้ว่าการผนวกเมืองแพร่กว่าจะเป็นผลก็ตกในราวปลาย พุทธศตวรรษที่ 20 แต่อย่างน้อยก็ทำให้ล้านนาตอนบนและตะวันออกมีความมั่นคงมากขึ้น พอ เพียงที่พญาผายูโอรส (ครองราชย์ พ.ศ.1879-1898) สามารถจะประทับที่เชียงใหม่ได้ โดยยังคงสนับสนุนให้เชียงแสนเป็นปราการป้องกันข้าศึกฮ่อได้อย่างเข้มแข็ง

ส่วนนโยบายด้านการศาสนานั้น แม้ว่าหริภุญชัยในฐานะเมืองแฝดของเชียงใหม่จะดำรงสถานะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนามาแต่ต้น แต่กษัตริย์ราชวงศ์มังรายก็พยายามย้ายฐานอำนาจทางพระพุทธศาสนามายังเชียงใหม่อยู่เสมอ ดังที่พญาผายูทรงกระชับความสัมพันธ์ทางคณะสงฆ์ระหว่างเชียงใหม่กับหริภุญชัย ทรงบำรุงพระพุทธศาสนา และถึงกับอาราธนาพระมหาอัคญะจุฬาจากหริภุญชัยมาเป็นสังฆราชที่วัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) ที่พระองค์สร้างขึ้น

ความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนาโดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเริ่มปรากฏอย่างเด่นชัด นับตั้งแต่พญากือนา (ครองราชย์ พ.ศ.1898-1928) พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการทำให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา โดยทรงรับพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์สายมอญจากสุโขทัยซึ่งเป็นฝ่ายอรัญญวาสีมาเผยแผ่ที่เชียงใหม่ โดยมีวัดสวนดอกหรือวัดบุปผารามเป็นศูนย์กลาง ในระยะนั้นพุทธศาสนานิกายวัดสวนดอกที่พระสุมนเถระนำมาประดิษฐานในเชียงใหม่รุ่งเรืองเป็นอันมาก พญากือนาทรงสนับสนุนให้พระภิกษุจากเมืองต่างๆ เดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาที่วัดสวนดอกแห่งนี้ ซึ่งคงมีคณะสงฆ์จากเชียงแสนเข้ามาศึกษาและบวชแปลงใหม่ยังวัดสวนดอกเป็นจำนวนไม่น้อย นิกายวัดสวนดอกนี้ยังแพร่จากเชียงใหม่ผ่านเชียงแสนไปยัง เชียงตุง โดยเรียกขานกันว่านิกายยางควง อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าสงฆ์ทั้งสองนิกายคือนิกายพื้นเมืองที่มีรากฐานมาจากหริภุญชัย และนิกายวัดสวนดอกนี้ยังสามารถทำสังฆกรรมร่วมกันได้

Source: //www.finearts.cmu.ac.th/

 

โดย: จากเจดีย์วัดป่าสักถึงเจดีย์วัดอุ้มโอ (moonfleet ) 26 ธันวาคม 2552 22:35:07 น.  

 

ความสัมพันธ์ทางศิลปกรรมระหว่างเจดีย์วัดป่าสักและวัดอุ้มโอ

เป็นที่ยอมรับกันในระดับหนึ่งว่าเจดีย์วัดป่าสักคงสร้างขึ้นโดยพญาแสนภูเมื่อเสด็จมาประทับที่เชียงแสน ภายหลังที่โปรดให้สร้างเมืองเชียงแสนขึ้นในปี พ.ศ.1871 โดยมีอิทธิพลของศิลปะพม่าแบบพุกาม ผสมผสานกับรูปแบบในศิลปะหริภุญชัยมากกว่าเจดีย์แห่งอื่นๆ ซึ่งในด้านโครงสร้าง ส่วนเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมมีจระนำซุ้มลดประดิษฐานพระพุทธรูปปางเปิดโลกอยู่ทั้งสี่ด้านก็สามารถเทียบเคียงได้กับเจดีย์เชียงยืน วัดพระธาตุหริภุญชัย ขณะที่พระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาประดับผนังเรือนธาตุด้านทิศเหนือยังมีลักษณะที่เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปดุนลายบนแผ่นทองจังโกที่หุ้มองค์ระฆังของพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งควรสร้างขึ้นในรัชกาลของพญาแสนภู คราวบูรณะพระมหาธาตุในปีเดียวกับการสร้างเมืองเชียงแสนคือ พ.ศ.1871 องค์ระฆังประดับด้วยรัดอกตามความนิยมในศิลปะพม่าแบบพุกามและในศิลปะหริภุญชัย ส่วนลักษณะยอดทรง 5 ยอดของเจดีย์วัดป่าสักนี้คงเป็นแบบที่นิยมกันมาก่อนครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 20 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 21 อันอาจได้แรงบันดาลใจจากศิลปะพม่าแบบพุกาม

ในส่วนลวดลายปูนปั้นตกแต่งก็แสดงถึงความสัมพันธ์กับศูนย์กลางพระพุทธศาสนาทั้งจากหริภุญชัยและพุกาม เช่น ในส่วนของซุ้มจระนำ มีทั้งการตกแต่งด้วยฝักเพกาแบบพุกาม ขณะที่กรอบคดโค้งลักษณะเป็นโค้งสามวงก็คงได้อิทธิพลมาจากกรอบซุ้มจระนำในศิลปะหริภุญชัยที่เจดีย์กู่กุด ในส่วนของเสารับซุ้มจระนำก็ปรากฏลักษณะเฉพาะของเจดีย์สกุลช่างเชียงแสน ซึ่งโยงกลับไปได้ถึงเจดีย์สกุลช่างหริภุญชัยอีกเช่นกัน คือ ตัวเสามีชุดบัวหัวเสา แต่ไม่มีบัวโคนเสา เพราะช่างให้ความสำคัญกับการปั้นปูนตกแต่งส่วนล่างตรงตำแหน่งกาบล่างมากเป็นพิเศษ ซึ่งแม้ว่าเสารับซุ้มของเจดีย์กู่กุด หรือเสารับซุ้มของรัตนเจดีย์ที่หริภุญชัยจะไม่ได้เน้นการตกแต่งด้วยปูนปั้นในส่วนกาบบน กาบล่าง และประจำยามอกเหมือนกลุ่มเชียงแสน แต่ก็มีลักษณะของเสาที่ไม่มีโครงสร้างของบัวโคนเสา และในทำนองเดียวกัน ลวดลายปูนปั้นรูปกลีบบัวซ้อนชั้นมีเกสรบัวตกแต่งหัวเสารับซุ้มจระนำของเจดีย์ป่าสักก็แสดงถึงอิทธิพลของลวดลายทำนองเดียวกันจากเจดีย์กู่กุดได้อย่างชัดเจน

เอกลักษณ์ด้านลวดลายปูนปั้นสกุลช่างเชียงแสนซึ่งปรากฏที่เจดีย์ป่าสัก อันแสดงถึงพัฒนาการมาจากลวดลายปูนปั้นแบบเมืองพุกามได้แก่ชุดกาบบน กาบล่าง และประจำยามอก เทคนิคการปั้นก็ใกล้เคียงกันมากคือ การเพิ่มปริมาตรของเนื้อปูนประกอบกับการขูดหรือแกะสลักเนื้อปูนเพื่อให้ได้รูปทรงและความหนาตามต้องการ ต่างจากเทคนิคการปั้นปูนของช่างเชียงใหม่ที่ปั้นลายโดยมีการปั้นโกลนรองรับลายชั้นหนึ่งก่อน กล่าวได้ว่ากรอบของชุดกาบและประจำยามอกที่เจดีย์ป่าสักมีหลายรูปทรงผสมกันไป อันอาจแสดงถึงการใช้ช่างปั้นพร้อมกันหลายคน เช่น ในส่วนของกาบบน มีทั้งแบบกรอบโค้งหยัก แบบกรอบโค้ง และกรอบแบบเป็นเส้นตรงในทรงสามเหลี่ยม แต่ทั้งหมดนี้ก็มีลักษณะร่วมกันคือจะล้อมกรอบลายเส้นลวดด้วยไข่ปลาหรือเม็ดประคำ หรือตัวเหงาเล็กๆ ภายในออกลายรูปกลีบบัวหรือลายดอกไม้หลายกลีบ มีส่วนตกแต่งเป็นทั้งลายกระหนกม้วนโค้ง ลายใบไม้ และลายรูปกลีบบัว

สำหรับลายหน้ากระดานประดับระนาบฐานส่วนต่างๆ มีอยู่หลายประเภท แต่ที่น่าสนใจในที่นี้ได้แก่ลายหน้ากระดานในกรอบลูกฟักที่มีทรงคดโค้งและกรอบรูปวงกลม ลวดลายภายในซึ่งมีที่มาจากลวดลายจีนแบบราชวงศ์หยวนได้แก่ลายดอกพุดตาน ดอกก๋ากอก ดอกบัว ตลอดจนลายดอกไม้ประดิษฐ์ เช่น ดอกสี่แจ่ง (สี่กลีบ) รวมทั้งลายกระหนกม้วนโค้งที่มีหัวกระหนกบากถี่ นอกจากนี่ยังมีลายประจำยามตกแต่งมุมฐานหน้ากระดานรับเรือนธาตุและหน้ากระดานหัวเสาซุ้มจระนำอีกด้วย

สำหรับกรณีของวัดอุ้มโอ(ร้าง)ในเชียงใหม่นั้น แม้ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงวัดอุ้มโอโดยตรง อ.จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา ได้เปรียบเทียบตำแหน่งของวัดอุ้มโอกับตำนานมูลศาสนาฝ่ายวัดยางควง เชียงตุง และตำนานมูลศาสนาฝ่ายวัดป่าแดง เชียงตุง แล้วเห็นว่า น่าจะตรงกับวัด “พันโล” ซึ่งเป็นวัดที่พระมหาธรรมกิตติวัดนันทารามรับอารธนาไปสร้างไว้ทางตะวันตกเฉียงเหนือไม่ไกลจากกำแพงเมืองเชียงใหม่นัก เหตุการณ์ครั้งนี้คงเกิดขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ความสัมพันธ์ทางสถาปัตยกรรมและพระพุทธรูปตกแต่งซุ้มจระนำที่เหลืออยู่ของวัดอุ้มโอก็สามารถจัดอยู่ในยุคนี้ กล่าวคือ เป็นอาคารเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมยื่นเก็จทั้งสี่ด้าน มีซุ้มจระนำในแต่ละด้านพอเห็นร่องรอยการก่อซุ้มแบบสันโค้ง ซึ่งเป็นเทคนิคร่วมสมัยกับการก่อจระนำสันโค้งที่วิหารเก่าวัดอุโมงค์อารยมณฑลในตัวนครเชียงใหม่ ลวดลายปูนปั้นเท่าที่เหลืออยู่จะปรากฏเฉพาะที่เสากรอบซุ้มและเสามุมผนังในชุดกาบบน การล่าง และประจำยามอก โดยมีการออกลายในแต่ละกรอบเป็นรูปดอกไม้หลายกลีบที่มุมผนังเช่นเดียวกับที่วัดป่าสัก รวมทั้งแนวคิดในการออกลายกลีบบัวหัวเสาก็มีทั้งอิทธิพลจากวัดป่าสักพอ ๆ กับจากหริภุญชัย

ที่น่าสนใจคือลายกระหนกที่วัดอุ้มโอ อาจารย์จิรศักดิ์เสนอว่าอาจเป็นตัวแทนของกระหนกที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20 เช่นกระหนกในกาบล่างของเสากรอบซุ้มด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคลี่คลายมาจากกระหนกที่วัดเจดีย์ป่าสัก กล่างคือความทึบของลายเริ่มบางมากขึ้น อันอาจเป็นผลมาจากการปั้นปูนที่ต่างออกไป โดยเริ่มจากการปั้นปูนเป็นเส้นกลมแปะติดกับพื้นม้วนขดไปตามจังหวะของรูปทรงกระหนก จากนั้นกดปูนให้เว้าเพื่อให้เกิดมิติ หัวขมวดที่อยู่โดยรอบเกิดจากการปั้นเม็ดปูนแปะติด มีหัวกระหนมที่มีการสบัดเป็นปลายแหลม จากนั้นใช้เครื่องมือกรีดเป็นเส้นร่องตามแนวโค้ง ทำให้หัวขมวดกระหนกเจดีย์วัดอุ้มโอห่างกว่าการบากหัวกระหนกเจดีย์วัดป่าสัก


Source: //www.finearts.cmu.ac.th/

 

โดย: ความสัมพันธ์ทางศิลปกรรมระหว่างเจดีย์วัดป่าสักและวัดอุ้มโอ (moonfleet ) 26 ธันวาคม 2552 22:37:30 น.  

 

การเปรียบเทียบลายปูนปั้นเจดีย์กู่ผียักษ์ วัดอุ้มโอ และเจดีย์วัดป่าสัก

1. ลายปูนปั้นตกแต่งเสามุมผนังในแนวดิ่งของกู่ผียักษ์ (ภาพที่ 4) ซึ่งเป็นเส้นลวดตกแต่งด้วยลายเม็ดไข่ปลาหรือลายลูกประคำแนวหนึ่ง และลายกลีบบัวเล็กๆ อีกแนวหนึ่ง แสดงถึงวิวัฒนาการของการตกแต่งเสามุมผนังเรือนธาตุที่ปรากฏเช่นเดียวกันที่เจดีย์ทรงมณฑปวัดอุ้มโอ (ภาพที่ 5) และเสาประดับซุ้มจระนำที่เจดีย์วัดป่าสัก (ภาพที่ 6) ทั้งสามแห่งใช้เทคนิคการปั้นปูนแปะลงไปในส่วนลายเม็ดไข่ปลาและลายกลีบบัว โดยไม่มีการใช้โกลนรองรับลาย โดยเฉพาะลายประเภทหลังยังมีการใชัเครื่องมือกรีดเป็นเส้นในกลีบบัวเช่นเดียวกันอีกด้วย

2. ลายปูนปั้นประจำยามอกตกแต่งส่วนยื่นเก็จ (ภาพที่ 7) ในกรอบเส้นลวนรูปสี่เหลี่ยมหักพับที่มุม และมีกระหนกมนโค้งที่มีรอยบากห่างๆ ล้อมรอบ ภายในออกลายดอกไม้ทรงกลมตรงกึ่งกลาง มีกลีบคล้ายกระหนกหัวมนโดยรอบ ออกใบปริมาตรหนาที่มีลายขุดด้วยเครื่องมือออกไปยังทิศทั้งสี่ และแทรกด้วยใบแทรกที่มีการขีดเป็นลายเช่นกัน ในลายประจำยามอกส่วนนี้แสดงถึงวิวัฒนาการโดยตรงจากลายช่องกระจกหน้ากระดานรับเรือนธาตุเจดีย์วัดป่าสัก (ภาพที่ 8) ซึ่งตรงกลางออกลายคล้ายกลีบบัว ล้อมรอบด้วยกระหนกหัวมน มีใบไม้ที่มีปริมาตรเกิดจากการพอกเนื้อปูนและบากเป็นรอยก้านใบอยู่โดยรอบ อีกทั้งยังสามารถเปรียบเที่ยบได้กับลายประจำยามอกของเจดีย์วัดป่าสักเช่นกัน (ภาพที่ 9) แม้ว่าเราจะไม่พบลวดลายเช่นนี้โดยตรงจากวัดอุ้มโอ แต่เทคนิคการปั้นปูนด้วยปริมาตรหนาและกรีดเส้นตกแต่งเช่นลายกระหนกของเทวดาประดับกาบล่างที่วัดอุ้มโอ (ภาพที่ 10) ก็แสดงถึงเทคนิคของช่างกลุ่มเชียงแสนเช่นกัน

3. ลายปูนปั้นประจำยามอกผนังมุมเรือนธาตุของกู่ผียักษ์ (ภาพที่ 11) แสดงถึงสายสกุลช่างจากเชียงแสนผ่านมาทางเจดีย์วัดอุ้มโออย่างชัดเจน โดยมีที่มาจากลายหน้ากระดานตกแต่งเจดีย์วัดป่าสัก (ภาพที่ 12) แลเห็นลายดอกไม้หลายกลีบมีเกสร (?) คล้ายเม็ดไข่ปลาเรียงเป็นวงกลมอยู่ภายในดอก มีกระหนกหัวมนมีรอยบากล้อมรอบ ออกลายเป็นใบไม้ที่มีปริมาตรโดยไม่ใช้เทคนิคโกลนลายอยู่ในกรอบเส้นลวดช่องกระจกโค้งเลื่อนไหล ลายกรอบช่องกระจกนี้ได้เข้าไปอยู่ในกรอบทรงสี่เหลี่ยมมีรูปครึ่งวงกลมคล้ายกระหนกหัวมนล้อมหักพับในมุมเรือนธาตุเจดีย์ทรงมณฑปที่วัดอุ้มโอ (ภาพที่ 13) รวมทั้งลายดอกไม้ได้วิวัฒนาการไปเป็นลายรูปกลมล้อมลอบด้วยเม็ดไข่ปลามีเส้นลวดคั่น มีวงกลมมีมีรอยประทับทรงกลมล้อมรอบอีกชั้น ออกลายใบไม้ที่มีปริมาตรลดลงเมื่อเทียบกับต้นแบบที่เจดีย์วัดป่าสัก (ดูภาพที่ 12) เมื่อมาถึงกู่ผียักษ์ช่างกลับเอาเส้นลวดลายกรอบคดโค้งมาใช้ใหม่ แต่ในลายประจำยามอกบางแห่งก็คงกรอบสี่เหลี่ยมหักพับอยู่ (ดูภาพที่ 2 และ 4) ลายดอกตรงกึ่งกลางได้คลี่คลายมาเป็นลายวงกลมใหญ่ตรงกลางมีเม็ดไข่ปลาแปะติดล้อมเป็นวง มีวงกลมเล็กๆ คล้ายกระหนกหัวมนล้อมรอบ ออกลายใบไม้ที่ใช้ปริมาตรปูนหนุนลายให้สูง ช่างในที่นี้ยังไม่รู้จักการใช้โกลนรองรับลายอย่างงานปูนปั้นในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 20 เช่นลายซุ้มเจดีย์วัดป่าแดงหลวงในสมัยพญาติโลกราช นอกจากนี้ช่างยังทำกรอบโดยเฉพาะส่วนกาบบนหรือกาบล่างเป็นเส้นโค้งทำนองเดียวกับที่เจดีย์วัดอุ้มโอ และเจดีย์วัดป่าสัก ด้วยเหตุนี้กู่ผียักษ์จึงมีกรอบลายกาบบน กาบล่าง และประจำยามอกหลายแบบปะปนกัน ทั้งแบบเส้นคดโค้ง แบบสี่เหลี่ยมหักพับ และแบบเส้นโค้ง ซึ่งที่เจดีย์วัดป่าสักเองก็มีกรอบลายหลายรูปแบบปะปนกันไปเช่นกัน

4. สืบเนื่องมาจากลักษณะพิเศษของเสาจระนำทั้งที่กู่ผียักษ์ เจดีย์วัดอุ้มโอ และเจดีย์วัดป่าสัก ซึ่งต่างก็ไม่มีโคนเสาในโครงสร้างรูปบัวคว่ำ แต่ช่างได้แก้ปัญหานี้โดยประดับชั้นเส้นลวดรับเรือนธาตุและเสาจระนำด้วยแถวกลีบบัวขนาดเล็ก ทั้งที่เจดีย์ป่าสัก วัดอุ้มโอ (ดูภาพที่ 5) และกู่ผียักษ์ (ภาพที่ 14)

5. ลวดลายตกแต่งอีกส่วนหนึ่งคือลายประจำยามหักพับที่มุมชั้นหน้ากระดาน (ภาพที่ 15) ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมกันมากในสกุลช่างเชียงแสน งานตกแต่งของช่างเชียงใหม่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 20 ก็พยายามลองใช้ลายนี้เช่นกัน เช่นที่อนิมิตเจดีย์ในวัดเจ็ดยอด แต่ไม่ได้รับความนิยมจึงเลิกไป เท่าที่เหลือใช้กันสืบต่อมาก็คือลายกาบบน และกาบล่างเป็นหลัก บ้างก็มีลายประจำยามอกประกอบ โดยมีกรอบลายเป็นเส้นลวดคดโค้ง อันอาจมีที่มาจากลายประจำยามอกกู่ผียักษ์นี้ก็เป็นได้


//www.finearts.cmu.ac.th/

 

โดย: การเปรียบเทียบลายปูนปั้นเจดีย์กู่ผียักษ์ วัดอุ้มโอ และเจดีย์วัดป่าสัก (moonfleet ) 26 ธันวาคม 2552 22:40:02 น.  

 

สรุปผลการวิเคราะห์เบื้องต้น

กู่ผียักษ์ บ้านแม่สารบ้านต้อง ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นโบราณสถานที่มีมาก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2348 จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและงานปูนปั้นตกแต่ง ซึ่งมีพัฒนาการสืบต่อมาจากเจดีย์ทรงมณฑปวัดอุ้มโอ เชียงใหม่ และเจดีย์วัดป่าสัก เชียงแสน กู่ผียักษ์น่าจะเป็นกลุ่มโบราณสถานอิทธิพลศิลปะสกุลช่างเชียงแสน ในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 20 ก่อนที่บทบาทศิลปะเชียงใหม่สมัยพญาติโลกราชจะรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ ในแง่ประวัติศาสตร์สังคม ทั้งวัดอุ้มโอและกู่ผียักษ์นี้อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีพระสงฆ์จากเชียงแสนเข้ามาศึกษาในสำนักวัดสวนดอก จากการอุปถัมภ์ของพญากือนา และได้สร้างวัดตามลักษณะสกุลช่างเชียงแสนขึ้นในระยะนั้น เพราะนับตั้งแต่ยุครุ่งเรืองทางศิลปกรรมของสกุลช่างเชียงใหม่คือสมัยพญาติโลกราชสืบต่อลงมาถึงคราวเสียเมืองแก่พม่าในปี พ.ศ.2101 ก็ไม่ปรากฏสถาปัตยกรรมแบบสกุลช่างเชียงแสนอย่างวัดอุ้มโอและกู่ผียักษ์ในบริเวณเชียงใหม่ ลำพูน อีกเลย อย่างไรก็ตามเท่าที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการวิเคราะห์ขั้นต้นเท่านั้น เรายังคงต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศิลปกรรมแบบเชียงแสนและเชียงใหม่กันต่อไป โดยเฉพาะการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ และการศึกษาติดตามอย่างต่อเนื่อง

บรรณานุกรมเลือกสรร

1. จีรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, “กระหนกล้านนา” Proceedings of the 6th International conference of Thai Studies, Chiang Mai 14-17 October 1996

2. _______________, พระเจดีย์เมืองเชียงแสน, เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, 2539

3. ประเสริฐ ณ นคร, ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่ เชียงตุง, กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระบรมราชุปถัมภ์, 2537

4. ยุพิน เข็มมุกด์, “พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทสมัยราชวงศ์มังราย” รวมบทความวิชาการทางด้านวัฒนธรรม, เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่, 2529

5. สำนักนายกรัฐมนตรี, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, 2514

6. สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2538

7. แสวง มานะแซม, “ประวัติการเคลื่อนย้ายและการตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูน (พ.ศ.2348-2395 )” เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม แนวเศรษฐศาสตร์การเมือง วันที่ 9-11 กรกฏาคม 2538 ณ โรงแรมเชียงใหม่สปอร์ตคลับ เชียงใหม่

8. วิชาการ, ฝ่าย, กองโบราณคดี กรมศิลปากร, โบราณคดีลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน, กรุงเทพฯ : 2534

9. อนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่, ฝ่าย, กองโบราณคดี กรมศิลปากร, การสำรวจแหล่งประติมากรรม เล่ม 1 (ภาคเหนือตอนบน), กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2536

10. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, วัดร้างในเวียงเชียงใหม่, เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2529

11. ฮันส์ เพนธ์, ประวัติความเป็นมาของล้านนาไทย, เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2526

 

โดย: สรุปผลการวิเคราะห์เบื้องต้น (moonfleet ) 26 ธันวาคม 2552 22:42:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.