9. Match Color
นี่ไม่ใช่เทคนิคการทำภาพขาวดำที่ถูกที่ควร เพราะมันเป็นเอกรงค์ก็จริง แต่มันไม่ขาว-ดำ มันติดสีอยู่หน่อยๆ เพราะเครื่องมือ Match Color ดั้งเดิมก็ไม่ได้มีไว้ทำภาพขาวดำ เค้ามีไว้ ทำให้ภาพชุดหลายๆ ภาพ มีสีสัน คอนทราส น้ำหนักที่ใกล้เคียงกัน ก่อนจะเอามาต่อเป็นพาโนราม่า
แต่ว่าถ้าเราปรับลด Color Intensity และ Fade มาทางซ้ายจนสุด ภาพมันก็จะกลายเป็นภาพเอกรงค์ได้เหมือนกัน

ผมไม่รู้ว่า Adobe ใช้เทคนิคใดในการคำนวณสีสัน คอนทราสท์ แต่มันออกมาดีทีเดียว อยู่กึ่งๆ ระหว่าง desaturate และ black & white adjustment เอาไปปรับแก้คอนทราสเฉพาะส่วนง่ายกว่า b&w adj เพราะภาพยังไม่เละมาก แต่ไม่ต้องปรับกันเสียทุกส่วนเหมือน desat.
โดยทั่วไปเอาเป็นว่าผมไม่แนะนำให้ใช้เทคนิคนี้ละกัน มันจะวุ่นวายโดยไม่จำเป็น เก็บไว้ทำพานอราม่าเอกรงค์อย่างเดียวดีกว่า

10. Calculations
เป็นเทคนิคที่ผมใช้เยอะที่สุด บ่อยที่สุด ช่วงหลังภาพขาวดำของผมใช้เทคนิคนี้เกือบทุกภาพ เพราะทำผลงานออกมาได้ใกล้เคียงกับการปรับคอนทราสทีละจุด ทีละส่วน ได้น้ำหนักภาพงดงาม แต่ทำงานได้โคตรเร็ว เหมาะกับคนขี้เกียจ ใช้เวลาภาพละไม่กี่วินาที
ภาพนึงจะใช้เวลาผสมสี ไม่ถึงหนึ่งนาที และทำซ้ำได้เหมือนเดิมทุกครั้ง ไม่ต้องกลัวว่าทำแล้วคอนทราส น้ำหนัก โทนภาพจะเปลี่ยน ทำสองทีไม่เหมือนกัน ถ้าเลือกสี และการผสมที่ดี จะได้ผลงานที่พิมพ์บนกระดาษ ใกล้เคียงกับภาพพิมพ์จาก ฟิล์มขาวดำมาก
ว่ากันตามจริงแล้ว เทคนิคนี้มีไว้เพื่อสร้าง selection ในการปรับภาพขั้นสูงเสียมากกว่า แต่มันก็สามารถทำภาพเอกรงค์สวยๆ ออกมาได้ง่าย และไวมาก เพียงแต่เราต้องเข้าใจในวงจรสีอย่างดีก่อน หลักการคือการเอาสีแต่ละสี มาผสมกัน ด้วยวิธีต่างๆ กัน ในอัตราส่วนต่างๆ กัน เพื่อสร้างน้ำหนักขาว-ดำ ในภาพสีให้ได้อย่างที่ต้องการ

ที่ต้องปรับคือ Layer ว่าจะเอาชั้นไหนของภาพมาผสม นึกอะไรไม่ออก เริ่มจาก Background ไว้ก่อน หรือจะเลือก Merged ก็ไม่เลวนะ
Channel อันนี้เรื่องยาก เพราะต้องเข้าใจเรื่องวงจรสี แล้วเลือกว่าในภาพนั้น จะเอาสีไหน R, G, B, Gray ถ้าไม่รู้อะไรก็ลองมันทุกอันนั่นแหละ ลองหลายครั้งก็ได้ โฟโต้ชอปไม่คิดตังค์ค่าลอง เลือกจาก 2 source แล้วเลือกวิธีการผสมภาพว่าจะ Blending กันด้วยโหมดไหน อันที่ใช้บ่อยสุดคือ Overlay เพื่อบวกสองแชนแนลเข้าด้วยกัน รองลงมาคือ Multiply คือคูณ กับ Screen หรือลบกัน แต่อย่าลืมทดลอง blend ด้วยโหมดอื่นดูด้วย บางโหมดก็เหมาะกับบางแชนแนล บางภาพ แล้วปรับ Opacity เพื่อเลือกความแรงในการผสมแชนแนล ไปลองดู ปกติผมก็ปรับไม่ถึง 100% หรอก
จากนั้น ก็เลือกว่าจะให้ Result ไปอยู่ที่ไหน สร้างเอกสารใหม่เป็นขาวดำเลยก็ได้ แต่ที่ผมทำบ่อยคือสร้างเป็น Layer ใหม่ แล้วปรับแต่งซ้ำนิดหน่อยอีกที ก่อนเอา Layer นั้น กลับมา Calculations อีกรอบนึง เพื่อเรียกดีเทลในบางส่วนคืนมา

พอได้เอกสารใหม่มาแล้ว มันจะมาเป็นภาพ Grayscale ก็แปลงให้กลับเป็น RGB ด้วยวิธีเหมือน Grayscale ทั่วไป
ภาพนี้จำได้คร่าวๆ ว่าผสม Green กับ Gray ทำรอบเดียวเอง แต่ดูแล้วน่าจะทำอีกรอบเพื่อเรียกดีเทลที่ร่มกลับคืนมานะเนี่ย และไม่ได้ปรับแต่งภาพเฉพาะจุด คอนทราส เคิร์ฟ หรืออะไรทั้งนั้น
