ภาพถ่ายจากกล้อง ภาพแรกของโลก (ตอนที่ 2)

"View from the Window at Le Gras" ภาพถ่ายจากกล้อง ภาพแรกของโลก (ตอนที่ 2)



การถ่ายภาพถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ ตามที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ คือวันที่ 14 มีนาคม 1839 เมื่อ Sir John Herschel ได้บรรยายเรื่อง Photography ให้แก่ Royal Society ในกรุงลอนดอน และเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า Photography อย่างเป็นทางการ

มีสิ่งที่ไม่ค่อยรู้กันอย่างหนึ่งคือ Johann von Maedler ชาวเบอร์ลิน ผู้เป็นนักดาราศาสตร์ และนักเขียน ของหนังสือพิมพ์ที่ (เกือบจะ) ไม่มีใครรู้จักที่ชื่อ Vossische Zeitung ในเยอรมัน ได้ใช้คำนี้ในการเขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเอง
เอาเถอะ... เราถือกันว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์

Royal Society of London for the Improvement of Natural Knowledge เป็นสถาบันทางวิทยาการที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกยุคนั้น ยังไงก็ย่อมดูจะเป็นทางการแก่สาธารณะชนทั่วไป มากกว่าหนังสือพิมพ์โนเนมที่ขายในเยอรมัน

ถ้าเราไม่นับเรื่องคำว่าการถ่ายภาพ-Photography เรามาว่ากันด้วยเรื่องของภาพถ่ายอย่างเดียว

ก็เป็นเวลานานนับสิบๆ ปีก่อนหน้านั้นอีกเช่นกัน ที่ Joseph Nicéphore Niépce ชาวฝรั่งเศษได้เริ่มการทดลองค้นคว้าการถ่ายภาพอย่างเป็นจริงเป็นจังมาเป็นเวลานานอย่างน้อยก็ปี 1813-1816 จนกระทั่งในปี 1824 กว่าจะสามารถทำการบันทึกภาพด้วยแสงได้'บ้าง'บนแผ่นโลหะ
(และในความเป็นจริง ยุคนั้นก็ยังมีนักคิดค้นอีกหลายคน ที่คิดค้นการถ่ายภาพอยู่ และบางคนอาจจะสำเร็จก่อนแล้วก็ได้ แต่ไม่มีหลักฐาน)

ในปี 1826 Niépce เปลี่ยนจากแผ่นทองแดงมาเป็น Pewter ที่เป็นส่วนผสมระหว่างดีบุก 90-95% พลวง 5-6% และทองแดง 1-2% (แบบที่ทำเป็นของใช้ของที่ระลึกแถวปักษ์ใต้บ้านเรานั่นแหละ) เพื่อเป็นแผ่นสำหรับเคลือบสารไวแสง butumen of Judea เขาเอาแผ่นไวแสงนี้ ใส่ไว้ในกล้อง Camera Obscura เมื่อเปิดรับแสงเป็นเวลานาน 8 ชั่วโมง และล้างเอาสารไวแสงส่วนที่ไม่ถูกแสงออก ก็จะเหลือแต่สารไวแสงที่กลายเป็นของแข็งเกาะอยู่บนพิวเตอร์
นับว่าเป็นเป็นภาพถ่ายจากกล้องบานแรกของโลก ที่หลงเหลืออยู่ และค้นพบ

นี่คือภาพต้นฉบับ View from the Window at Le Gras ของแท้ออริจินอล อายุ 184 ปี
ผลงานการค้นคว้า และถ่ายภาพ บน Pewter Plate โดยกล้อง Camera Obscura
ของ Joseph Nicéphore Niépce ชาวฝรั่งเศษ
บันทึกซ้ำไว้เป็นภาพสีด้วยระบบดิจิตอล เมื่อเดือนมิถุนายน 2002
โดย Harry Ransom Center และ J. Paul Getty Museum.



2002



คาดว่าก่อนหน้าการบันทึกภาพนี้ (และภายหลังด้วย) Niépce คงมีการทดลองถ่ายภาพมาหลายครั้ง แต่ไม่มีภาพเหลือรอดมาจนวันนี้
เพราะอย่างน้อยในปี 1813 Niépce เคยบอกในจดหมายว่าประสบความสำเร็จในการสร้างภาพให้เกิดบนแผ่นโลหะได้ แต่ไม่สามารถทำให้ภาพอยู่ได้ถาวร

ภาพถ่ายที่เหลือรอดมานี้ถ่ายจากชั้นบนในบ้านของเขาในเขตชนบท ภาพบานนี้มีขนาด 8"x6.5"
รู้จักกันดี ในชื่อ "View From The Window At Le Gras” เราถือกันว่าภาพนี้เป็นภาพถ่ายที่แท้จริงภาพแรกของโลก

ภาพ Reproduction เก่าแก่ที่สุด ถ่ายด้วยฟิล์ม High Contrast เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1952 หลังจากการค้นพบต้นฉบับไม่นาน
ถูกร้องขอ และบันทึกภาพโดย Kodak Research Laboratory แห่งประเทศอังกฤษ อัดลงบนกระดาษ Gelatin-Silver
Helmut Gernsheim เจ้าของคอลเล็คชั่นของ Niépce เกลียดภาพนี้มาก บอกว่าเป็น "gross distortion of the original"
และไม่ให้พิมพ์ภาพนี้อีก จนกระทั่งถึงปี 1977 จึงได้ยอมให้เผยแพร่ได้

kodak


หลังจากประสบความสำเร็จในการคิดค้นแล้ว Niépce ได้เขียนจดหมายไปยัง Royal Society แห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และเดินทางเพื่อไปนำเสนอผลงาน Heliography ของเขาที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 1827 โดยมี Francis Bauer ศิลปินนักวาดภาพพืชพันธุ์ และนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นผู้สนับสนุน

แต่ Niépce ก็ไม่ได้นำเสนอ เพราะการนำเสนอนั้นต้องเปิดเผยกระบวนการที่เขายังต้องการเก็บไว้เป็นความลับอย่างละเอียด Niépce จึงเปลี่ยนใจเดินทางกลับฝรั่งเศษ ทิ้งภาพถ่ายภาพแรกของโลกไว้ให้กับ Bauer พร้อมทั้งอุปกรณ์ เอกสาร และสมบัติส่วนตัวอีกเล็กน้อย

ซึ่ง Bauer ผู้เป็นสุภาพบุรุษอังกฤษ และมีหัวใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ให้เกียรติ Niépce พอสมควร จึงได้เขียนชื่อของ Niépce ไว้บนกระดาษ แปะไว้ด้านหลังกรอบรูปนั้น เป็นหลักฐานว่า Niépce เป็นผู้คิดค้นกระบวนการถ่ายภาพจนสำเร็จ ในปี 1827

Bauer เองก็คงไม่คิดว่าตัวหนังสือไม่กี่ตัวที่เขาเขียน จะกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การถ่ายภาพ และส่งผลมหาศาลถึงขั้นทำให้ต้องเขียนประวัติศาสตร์การถ่ายภาพใหม่ ในอีกกว่าศตวรรษหลังจากนั้น

ปลายปี 1827 หลังจากยกเลิกการนำเสนอต่อ Royal Society แล้ว Niépce เดินทางกลับฝรั่งเศษ และต่อมาไปร่วมหุ้นกับ Louis Jacques Mandé Daguerre ศิลปินชาวฝรั่งเศษ ในปี 1829 แต่ก็ไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานอะไรมากนักในช่วงนั้น

Joseph Nicéphore Niépce ถึงแก่กรรมในปี 1833 ณ บ้าน Le Gras ในชนบทหลังนั้นของเขา

และโลกไม่เคยรู้ว่า Joseph Nicéphore Niépce คือผู้ที่ค้นพบกระบวนการถ่ายภาพ และเป็นผู้ถ่ายภาพ ภาพแรกของโลก
ภาพของเขา และความลับในการถ่ายภาพ ถูกเก็บรักษาเป็นหนึ่งในสมบัติของ Bauer โดยที่ไม่มีคนอื่นล่วงรู้ความลับของมัน



...จนกระทั่งอีก 125 ปีต่อมา



ที่ด้านหลังของภาพต้นฉบับ มีกระดาษแปะ เขียนโดย Francis Bauer พร้อมเซ็นชื่อ และที่อยู่เอาไว้
L'Heliographie.
Les premiers résultats
obtenus Spontanément
par l'action de la lumiere.
Par Monsieur Niepce
De Chalon sur Saone.
1827.
Monsieur Niépce's first successful
experiment of fixing permanently


back



ภาพถ่ายภาพแรกของโลก ถูกโยกย้ายเปลี่ยนมือ จากครอบครองของ Francis Bauer ไปอีกหลายมือมานับสิบๆ ปี และได้เคยถูกนำออกจัดแสดงหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายในปี 1898 แต่ก็ยังไม่มีใครเห็นความสำคัญของภาพนี้ และหลังจากนั้น มันถูกเก็บเข้ากรุ สูญหายไปจากการรับรู้ของสาธารณชน นานกว่าครึ่งศตวรรษ

จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ภาพถ่าย Helmut Gernsheim ได้ตามร่องรอย และเงื่อนงำของภาพนี้อยู่นาน จนกระทั่งได้พบตัวผู้ครอบครองภาพคนสุดท้ายในกรุงลอนดอน เมื่อปี 1952 ซึ่งผู้ครอบครองเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่ามีมันอยู่ในครอบครอง หลังจากตรวจสอบจนแน่ใจว่าเป็นของแท้แน่นอน จากลายมือของ Bauer ที่ด้านหลังภาพ

หลังจากที่ "View From The Window At Le Gras” ซ่อนตัวจากสายตามนุษย์โลกมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ภาพถ่ายภาพแรกของโลก ก็ได้ปรากฎตัวต่อสายตาสาธารณชน และประกาศความสำคัญของมันอย่างภาคภูมิ ก่อนที่ Gernsheim จะนำภาพถ่ายภาพแรกของโลก เดินทางกลับคืนสู่ถิ่นเก่า ณ บ้าน Le Gras ของ Joseph Nicéphore Niépce สถานที่ที่มันเกิดมา


นี่คือบ้านของ Niépce และเป็นบ้านเกิดของภาพนี้ หน้าต่างบานที่วงไว้คือหน้าต่างที่เป็นจุดถ่ายภาพ
หน้าต่างบานนี้อยู่ด้านหลังบ้านของ Niépce ในหมู่บ้านชนบท Saint-Loup-de-Varennes ใกล้กับเมือง Chalon-sur-Saône แคว้น Burgundy

home


ภาพนี้เป็นภาพที่เห็นกับบ่อยที่สุด Helmut Gernsheim นำภาพของโกดักที่อัดบนกระดาษ Gelatin Silver มาตบแต่งใหม่
ใช้เวลาแต่งภาพนานถึง 11 ชั่วโมง ในวันที่ 20 มีนาคม 1952 โดยเอาสีน้ำแต้ม กำจัดตำหนิในภาพออก
ภาพนี้ถูกใช้เป็นภาพที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
(ขนาดภาพถ่ายภาพแรกในโลกก็ยังถูกแต่ง ดังนั้นอย่ามาคุยกันเรื่องควรโฟโต้ชอป หรือไม่ควรโฟโต้ชอปให้เสียเวลาทำมาหากิน)

จากซ้ายไปขวาในภาพ (สถานที่จริงจะกลับขวาเป็นซ้าย) ได้แก่ ห้องใต้หลังคาของโกดัง หรือเรียกว่ารังนกพิราบ
ถัดมาเป็นต้นแพร์ แบนๆ ใหญ่ๆ นี่คือหลังคาโรงนา มีโรงทำขนมปังเห็นหลังคา และปล่องไฟอยู่ไกลลิบๆ ขวาสุดคือตัวบ้านอีกปีกหนึ่ง


newprint


ต่อมา Harry Ransom ก็ได้ซื้อคอลเล็คชั่นทั้งหมดของ Gernsheim และอุทิศให้แก่ The University of Texas, Austin ในปี 1963
ปัจจุบันภาพถ่ายบานนี้ ก็ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่ Harry Ransom Humanities Research Center มหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
กรอบรูปดั้งเดิม พร้อมด้วยภาพต้นฉบับ และลายมือของ Francis Bauer ที่หลังภาพ ยังคงอยู่ในสภาพดี เว้นแต่ภาพจะเริ่มซีดจางไปเล็กน้อย
ปัจจุบันทั้งภาพ และกรอบภาพ ถูกเก็บไว้ในที่มืด ผนึกอยู่ในกรอบโลหะ ปิดด้วยเพล็กซี่กลาส ภายในบรรจุก๊าซเฉื่อยไว้ เพื่อปกป้องจากสภาวะภายนอก



frame



ผมปิดท้ายบทความตอนนี้ ด้วยงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับภาพนี้ เพื่อความสมบูรณ์
เป็นงานวิจัยของ Paul Marillier และ Pierre Harmant
ตีพิมพ์ใน The Photographic Journal (London: RPS), April 1967, Vol. 107 (4), pp130–40


ที่ผ่านมา แม้จนเดี๋ยวนี้ เราก็ยังคงยึดถือกันว่า "View From The Window At Le Gras” ถ่ายในปี 1926 โดยอิงจากจดหมายของ Niépce
โดยเชื่อว่าปี 1827 ที่ Bauer เขียนไว้หลังภาพ คือปีที่ Niépce ขอนำเสนอผลงานต่อ Royal Society
แต่ Marillier และ Harmant รวมทั้ง Gernsheim เอง ก็ตั้งข้อสงสัยว่าภาพนี้จริงๆ แล้วอาจจะถ่ายในปี 1827 จริงๆ ก็ได้
มีหลักฐานว่า Niépce ได้ใช้ Meniscus Prism จาก Chevalier ในกล้อง Camera Obsura ของเขา
และมีหลักฐานการซื้อ และการส่งคืน เพราะไม่พอใจคุณภาพของภาพที่ได้จากปริซึมนี้ด้วย
ในจดหมายส่งสินค้าของ Chevalier ลงไว้ว่าส่งสินค้าให้ Niépce เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1827
หาก Niépce ใช้ปริซึมชุดนี้ถ่ายภาพนี้ตามที่คาดไว้ ก็น่าจะถ่ายภายหลังจากนั้น
ประกอบกับการศึกษาสภาพแสงในสถานที่จริง เพื่อหาตำแหน่งดวงอาทิตย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า
ภาพนี้ที่จริงแล้วน่าจะถ่ายระหว่าง 4 มิถุนายน ถึง 18 กรกฎาคม ปี 1827
การศึกษาทิศทางแสงอาทิตย์ในสถานที่จริง Marillier ได้สร้างแบบจำลองจากสภาพแวดล้อม และสิ่งก่อสร้างรอบบ้าน Le Gras
ตามที่มีในแผนผังบ้านในปี 1833 และจากรูปถ่ายในปี 1850 เพื่อคำนวณวันเวลาที่ถ่ายภาพ จากมุมมองของจุดที่บันทึกภาพ
แบบจำลองที่สร้างขึ้นก็คือภาพนี้ (กลับซ้ายขวากับภาพถ่าย)


model



แม้วันนี้ นับเวลาได้เกือบสองร้อยปี พื้นฐานเทคโนโลยีทางการถ่ายภาพในปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นผลิตผลจากการปฏิวัติวงการของ Joseph Nicéphore Niépce และภาพถ่ายจากกล้องถ่ายภาพบานแรกของโลก "View From The Window At Le Gras"



.






Create Date : 30 ตุลาคม 2553
Last Update : 30 ตุลาคม 2553 12:04:19 น.
Counter : 5890 Pageviews.

3 comments
  
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
โดย: nonnoiGiwGiw วันที่: 30 ตุลาคม 2553 เวลา:12:21:29 น.
  
เข้ามาชมด้วยคนค่ะน้า
โดย: ไก่ (Schnuggy ชนุ๊กกี้ ) วันที่: 30 ตุลาคม 2553 เวลา:17:52:39 น.
  
อืม ได้ความรุ้มาเยอะเลยครับ ตามบทความตอน 3 ต่อดีกว่า
โดย: แหลมสิงห์ (leahmsing Cyber ) วันที่: 4 พฤศจิกายน 2553 เวลา:16:29:51 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อะธีลาส
Location :
Sydney  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Photographer, photo educator, writer and more.......

อนุญาตให้ ใช้ ดัดแปลง แก้ไข ตัดต่อ ทำสำเนา เผยแพร่ อ้างอิง จำหน่าย จ่ายแจก ภาพ และบทความในบล็อกนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด เพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อการศึกษา เพื่อกิจส่วนตัว และเพื่อการค้าได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามสัญญาอนุญาตใช้งาน Creative Commons: Attribution.


Website
http://mister-gray.bloggang.com
https://twitter.com/nickdhapana
http://500px.com/NickDhapana
https://plus.google.com/+NickDhapana
http://nickdhapana.tumblr.com
http://instagram.com/nickdhapana
https://www.facebook.com/dhapana/about


Skype & Email
cmosmyp@gmail.com


Line
nickdhapana


My Project's Page

Public Telephone
https://www.facebook.com/PublicTelephoneProject

They didn't say that.
https://www.facebook.com/pages/They-didnt-say-that/116827521834600

Exposure to the RIGHT
https://www.facebook.com/pages/Exposure2the_RIGHT/538556252881951

Thailand Perspective Project
https://www.facebook.com/ThailandPerspective

Dead on Arrival
https://www.facebook.com/pages/Dead-on-Arrival/666461363385961
ตุลาคม 2553

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
26
27
28
31
 
 
All Blog