ผมไม่รู้หรอกนะ ว่าเราเรียน หรือสอนถ่ายรูปกันมายังไง
แต่อันที่ผมเห็นว่าสอนกันผิดบ่อยมากๆ และบอกไปหลายรอบแล้ว คือ low-key lighting
ตอนนี้คงเป็นครั้งที่หลาย และอาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ และคงพูดต่อไปเรื่อยๆ
เพราะยังมีคนเข้าใจผิดอยู่ว่า โลว์คีย์ คือถ่ายให้ภาพมืดๆ เข้าไว้ ก็เลยปรับการเปิดรับแสงให้อันเดอร์
ซึ่งอันนี้ผิดสาหัส เพราะโลว์คีย์ไม่ใช่การถ่ายภาพอันเดอร์
รองลงมาผิดน้อยหน่อย หรือที่จริงเรียกว่าไม่สมบูรณ์จะดีกว่า คือจัดให้วัตถุได้รับแสงพอดี ส่วนรอบๆ ให้มืดๆ
เช็คให้ฮิสโตแกรมเบ้ขวา (คือยอดกราฟสูงๆ มากองอยู่ทางซ้าย) แล้วเรียกว่าโลว์คีย์
วัตถุสว่างบนฉากมืด หรือฮิสโตแกรมเบ้ขวา จัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโลว์คีย์ก็จริงครับ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น
แค่นั้นเราเรียก spot lighting คือการจัดแสงให้ลงเฉพาะจุด
ถ้าจะเรียกว่าโลว์คีย์ มันจะต้องมีองค์ประกอบมากกว่านั้นอีกหน่อย
เวลาจะจัดว่าภาพไหนเป็นโลว์คีย์หรือไม่ มันจะมีคีย์เวิร์ดอยู่สามสี่อย่างที่จะใช้ตัดสิน

1.
ฉากหลังมืด สีเข้ม หรือสีดำ ไม่จำเป็นต้องดำปี๋ไร้ดีเทลก็ได้ ให้มันมืดๆ เข้มๆ จนแยกวัตถุออกจากฉากหลังได้ และฉากหลังไม่รบกวนเป็นใช้ได้
2.
Contrast Ratio อัตราส่วนแสงหลัก กับแสงรองต่างกัน 8:1 ขึ้นไป หรือคิดเป็น EV ก็คือ ต่างกัน 3 สต็อปขึ้นไป
แบบพอให้นึกภาพออกคือ ที่ subject ส่วน Shadow จะต้องจมหายไปในความมืด ส่วนมิดโทนจะต้องได้รับแสงพอดี
และส่วนที่สว่างที่สุดของ Subject จะต้องไม่มีส่วนใดที่ Clipped หาย จนไม่มีรายละเอียด
3.
Contours Line Contours คือเขตแดนระหว่าง subject กับฉากหลัง หรือฉากหน้า (ปกติไม่ค่อยมีฉากหน้า)
ในภาพแบบโลว์คีย์ Contour line ต้องชัดเจน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาพโลว์คีย์ ที่ต้องเห็นเขตแดนของวัตถุ
ถึงจะบางส่วนก็ยังดี ไม่ต้องทั้งหมดก็ได้
อันนี้เป็นจุดที่เราพลาดกันบ่อย เพราะไม่ค่อยได้นึกถึง
และไม่จำเป็นต้องเป็นเส้น Rim Light
เป็นแค่น้ำหนักแสง แสดงเขตแดนระหว่างสว่างกับมืด ก็ใช้การได้เหมือนกัน
4.
Chiaroscuro effect มาจากภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า "แสง-ความมืด" ราชบัณฑิตบอกว่า "ค่าต่างแสง"
ใช้เรียกเทคนิคการให้แสงในภาพเขียน ในการให้นำหนักแสงส่วนร่างกายมนุษย์ ตัดกับความมืด เพื่อเน้นรูปทรงสามมิติของมนุษย์ ให้เห็นเป็นรูปร่าง และแยกจากฉากหลัง ได้ชัดเจน

เรื่อง chiaroscuro อธิบายยากมาก ดูตัวอย่างภาพเขียนง่ายกว่า
ภาพเขียนที่แนะนำ เวลาเราพูดถึง low-key หรือ chiaroscuro จะไม่พูดถึงเรมบรานดท์ไม่ได้เลย
เพราะเทคนิคการจัดแสงแบบนี้ บางทีเราเรียกกันว่า Rembrandt lighting ด้วยซ้ำไป
ดังนั้นภาพของเรมบรานดท์ จึงใช้เป็นแบบอย่างในการถ่ายภาพโลว์คีย์ได้เป็นอย่างดี
Rembrandt - Portrait of the later mayor Jan Six (1654)อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราควรดูคือ คาราวักจิโอ
Caravaggio - The Entombment of Christ (1602-1603) และเวอร์เมียร์
johannes vermeer - Girl with the pearl earring (1665) ควรหางานเขียนหลายๆ ชิ้นของศิลปินทั้ง 3 ท่านมาดูเป็นตัวอย่างครับ สำหรับการถ่ายภาพ และให้แสงแบบ Low-key
และยังมีประโยชน์ในเรื่องอื่นอย่างเช่นการจัดองค์ประกอบอีกด้วย
ยังมีเรื่อง high-key lighting สั้นๆ เดี๋ยวคราวหน้าครับ
หลังจากวันนี้ฝนตกมา 5 รอบแล้ว
ภาพแหล่มค่ะ