ที่โรงภาพยนตร์ไกลบ้านคุณ : From Berlin With Love
โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
(หมายเหตุ: เขียนส่งไปนิตยสารฉบับหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์)
ที่โรงภาพยนตร์ไกลบ้านคุณ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ a book / มีนาคม 2551
หากเราเปิดหนังสือท่องเที่ยวเกี่ยวกับ 'เบอร์ลิน' ตามแผงหนังสือทั่วไป เราก็คงได้พบกับข้อมูลจำพวก ประวัติความเป็นมา, จำนวนประชากร, สัญลักษณ์ประจำเมือง หรือสถานที่สำคัญ แต่ใน 'ที่โรงภาพยนตร์ไกลบ้านคุณ' ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ คุณจะไม่ได้ข้อมูลอะไรแบบนั้นเลย แต่คุณจะได้ทราบว่า ห้องน้ำที่เบอร์ลินต้องเสียเงินค่าเข้า, เบอร์ลินเป็นเมืองแห่งการปิดอัตโนมัติตั้งแต่ประตูลิฟท์ยันไฟห้องน้ำ หรือกระทั่งส้วมที่นั่นสูงกว่าส้วมเมืองไทย!
หนังสือเล่มนี้เป็นบทบันทึกของเต๋อกับการใช้ชีวิต 12 วันในเมืองเบอร์ลิน (หนังสั้นของเขาได้คัดเลือกไปร่วมงาน Berlin Talent Campus ของเทศกาลหนังเบอร์ลิน) โดยเสน่ห์ของมันอยู่ที่เต๋อไม่ได้พยายามทำตัวเป็นไกด์มืออาชีพ แต่เขาเขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ไปเด๋อด๋าอยู่ที่ต่างแดน การที่เขาบรรยายถึงตอนที่เดินหลงทางจนหาโรงแรมไม่เจอ, โทรกลับบ้านไม่ได้ (เพราะใช้บัตรโทรศัพท์ไม่เป็น) หรือถูกเพื่อนร่วมห้องด่า (ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้ด่า แต่ดันคิดมากไปเอง) ก็ทำให้คนอ่าน (โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยไปเบอร์ลินหรือไม่ค่อยได้ไปเมืองนอกเมืองนาสักเท่าไร) รู้สึกราวกับตัวเองเป็นนักท่องเที่ยวฝึกหัดที่เดินทางและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขาด้วย
ลีลาการท่องเที่ยวของเต๋อมีความเก๋เฉพาะตัวอย่างมาก เพราะแต่ละที่ที่เขาเดินทางไปนั้นไม่น่าจะถูกบรรจุไว้ในไกด์บุ๊คแน่นอน โดยในฐานะที่เป็นคนบ้าหนัง เต๋อจึงเลือกไปยังสถานที่แห่งความทรงจำที่อยู่ในหนังที่เขารัก เช่น สี่แยกไฟแดงจากหนังเรื่อง Run Lola Run ที่ดูไม่สลักสำคัญอะไรสักนิด แต่เขาก็ถ่ายรูปเก็บไว้ชนิดไม่ยั้ง หรือการตามหาสุสาน (อะไรก็ไม่รู้) ที่อยู่ในหนังเรื่อง What Time Is It There? โดยเจ้าตัวเตรียมไปเพียงรูปที่แค็ปมาจากดีวีดี เพียงเพื่อจะพบว่ามีสุสานเป็นร้อยเป็นพันในสวนแห่งนั้น (แล้วสุดท้ายก็หาไม่เจอ) นี่ยังไม่รวมตอนที่เขาไปขลุกอยู่ในร้านดีวีดีเกือบสองชั่วโมง แถมยังเขียนบรรยายละเอียดยิบจนกินพื้นที่ไปเกือบ 5 หน้ากระดาษด้วย
สำนวนอารมณ์ขันชนิดร้ายกาจยังเป็นอีกหนึ่งไม้เด็ดของเต๋อที่ทำให้คนอ่านวางหนังสือลงไม่ง่ายนัก อย่างตอนที่เขาบรรยายถึงพวกคนหื่นในร้านเซ็กส์ช็อปว่า "จะนั่งพินิจแต่ละอย่างนานๆ แต่ไม่ซื้อ รวมถึงจะเปิดหนังสือโป๊อ่านทีละเล่มไปเรื่อยๆ มีแววตาลุ่มหลงเหมือนกอลลั่มหลงใหลแหวนครองพิภพ" หรือพูดถึงวัฒนธรรมการ Q&A ของชาวต่างชาติว่า "ฝรั่งชอบถามอะไรฮาร์ดคอร์เจาะลึกแบบคุณสรยุทธมาเอง ซึ่งถ้าตอบไม่ได้ก็จะรู้สึกโดนเหยียบย่ำแผ่นดินไทย และในกรณีนี้สถานทูตไทยก็คงไม่ยอมเสียงบประมาณส่งล่ามมาช่วยเราแน่ๆ"
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของเต๋อคือ เขามีความละเอียดในการสังเกตและจดจำผู้คน เต๋อบรรยายถึงบรรดาเพื่อนๆ ในแคมป์ไว้หลายคน ไม่ว่าจะเป็นกานู ชายชาวอินเดียหน้าตาย (อย่างที่เต๋อตั้งสโลแกนไว้ว่า "ไม่หวั่นแม้วันตึกเวิลด์เทรดถล่ม"), ซูซานน่า สาวร่างยักษ์ที่ต้องคิดก่อนตอบเป็นเวลา 3 วินาที หรือ ดอนโน่ หนุ่มหล่อที่ถอดเสื้อตอนนอน (ในขณะที่เต๋อต้องใส่เสื้อ 4-5 ชั้น) ผู้คนเหล่านี้ทำให้เราเห็นภาพชีวิตที่หลากหลาย และอาจจะน่าสนใจกว่าพิพิธภัณฑ์ ใดๆ ในเบอร์ลินเสียอีก
'ที่โรงภาพยนตร์ไกลบ้านคุณ' อาจไม่ได้ให้ความรู้ทางวัฒนธรรมเชิงลึกใดๆ แต่มันก็เป็นบทบันทึกการท่องเที่ยวที่ดู 'มีชีวิต' มากที่สุดเล่มหนึ่ง จนเรารู้สึกอยากให้เต๋อไปที่ไกลๆ ที่สักแห่งสองแห่ง เผื่อเขาจะได้มีเรื่องสนุกๆ มาเล่าให้เราฟังอีก
อย่างน้อยเราก็จะได้รู้แน่ๆ ว่าส้วมหรือเซ็กส์ช็อปของประเทศอื่นเขาเป็นอย่างไรบ้าง!
Create Date : 13 พฤศจิกายน 2551 |
|
5 comments |
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2551 2:22:50 น. |
Counter : 2806 Pageviews. |
|
|
|
เพิ่งอ่านเล่มนี้จบไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
หลอนมาก
ตอนอ่านให้ความรู้สึกที่ชัดเจนสองอย่าง
- เหมือนแอบดูเต๋อขี้ตลอดเวลา
- ยี้...เคบับ (ทั้งที่ไม่เคยกิน)
เต๋อเป็นมนุษย์ที่ชัดเจนมาก
ทั้งหนังและหนังสือ
มันมีเสียงกระซิบแบบเต๋อลอยฟุ้งกระจายอยู่ตลอดเวลา