https://kaoim.bloggang.com
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
7 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

[หลวงพ่อชา สุภทฺโท] ฝึกดูจิต

ฝึกดูจิต
หลวงปู่ชา สุภทฺโท อบรมคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯ ณ วัดหนองป่าพง


ขอให้นั่งตามปกติ ให้ทำกายให้สบาย ทำจิตให้สงบ ต่อไปนี้เป็นเวลาที่พวกพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตทั้งหลายจะได้ตั้งใจรับโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราโดยความเคารพ

ในวันนี้ ได้ปรารภซึ่งศรัทธาอันมาจากกรุงเทพพระนคร ซึ่งมีคุณอาคม ซึ่งเป็นประธานนำคณะมามากพอสมควร เพื่อจะมาทอดผ้าป่า ณ วัดหนองป่าพงในวันนี้ ทำกิจอันใดเสร็จแล้วเป็นโอกาสที่ว่างต่อไป เพื่อจะได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระแก่พุทธบริษัททั้งหลายต่อไป

การฟังธรรมในครั้งพุทธกาลนั้น ก็คงจะไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย นอกจากผู้ที่แสดงธรรมกับผู้ที่รับฟังธรรม ๒ อย่างติดต่อกัน เมื่อคนผู้จะตั้งใจฟังธรรม และผู้ให้ธรรมะมีกำลังใจที่จะให้ธรรมะ เปรียบประหนึ่งว่า เราจะให้วัตถุอันใดแก่ บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นต้นด้วยความพอใจมีเจตนาอันดี เมื่อผู้ที่รับก็พอใจที่จะรับ ทั้งสองฝ่ายก็เรียกว่า มีอุดมคติกลมกลืนซึ่งกันและกัน เหมาะสมกับการฟังธรรมะ หรือเหมาะสมกับการที่จะให้ของหรือรับของเช่นนั้นเหมือนกัน

ฉะนั้น อาตมาจึงให้เตือนใจว่าวันนี้เป็นวันที่สำคัญ อย่าพากันทำใจให้ร้อน บางคนก็จะกระสับกระส่ายในใจว่า วันนี้มีอุปสรรคมาก การมาสร้างบุญสร้างกุศลวันนี้ น่าจะไม่มีอุปสรรค แต่ว่าเกิดมีอุปสรรคขึ้น บางท่านอาจจะสงสัยว่า มันเป็นอะไรต่ออะไรกันนี่

อันนี้ขอให้เห็นว่า เรื่องอุปสรรคนั้นนั่นแหละ เมื่อมีอุปสรรคทุกครั้ง เราจะได้มีความอดทนทุกครั้ง เมื่อมีอุปสรรคทุกครั้ง เราทั้งหลายจะมีปัญญาทุกครั้ง

พระผู้มีพระภาคท่านตรัสว่า เมื่อเราทำประโยชน์ มันจะยากมันจะลำบากเท่าใด เราก็ไม่กลัวมัน เพราะว่าเราสร้างประโยชน์ที่ดี เราทำประโยชน์ที่ดีที่เป็นประโยชน์แก่ตนและบุคคลทั่วไป มีเจตนามุ่งหมายเช่นนี้แล้ว ถึงแม้มีความยาก มีความลำบาก มันก็ยังมีส่วนดีอยู่ เพราะเรามีเจตนาอันดี มุ่งการกระทำที่ดีที่งาม ที่ถูกต้องเช่นนี้ แม้ว่าทุกข์ทางกาย ใจมันก็ยังเป็นสุข เป็นเช่นนั้น

ดีกว่าบุคคลที่ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ลำบากมาก แต่ใจก็ยังเป็นทุกข์ นอกจากกายเป็นทุกข์แล้ว ใจก็ยังเป็นทุกข์อีกต่อไป

ให้เราสร้างประโยชน์ที่ดี ประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่นทั่วไปด้วยเจตนาอันดี ถึงแม้มันจะทุกข์กาย หมดอันตรายไปแล้ว ใจเราก็ยังมีความสุข ก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน

ไม่ใช่ว่าเป็นแต่ตัวพวกเราทั้งหลายนี้ ถึงแม้พระพุทธเจ้าท่านก็ฝ่าฟันอุปสรรคอันนี้มาตลอดกาลตลอดเวลา ถ้าไม่มีอุปสรรคก็ไม่มีกำลังใจ ก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรม

เมื่อมันทุกข์ตรงไหน ก็พยายามพิจารณาตรงนั้น

ฉะนั้น ทุกข์นี้พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญเหลือเกิน แต่คนผู้ที่ไม่มีปัญญาไม่สรรเสริญเลย พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ทุกขสัจ ทุกข์นี้เป็นสัจธรรม ถ้าเมื่อเกิดทุกข์เมื่อใด พระพุทธเจ้าของเราสบายเมื่อนั้น มีปัญญาเมื่อนั้น

เช่น ท่านรบกับพญามาร นี่เป็นอุปสรรคขัดขวางไว้ ท่านชนะทุกที ทำไมท่านชนะทุกที ก็ท่านได้ปฏิบัติทุกที ท่านก็มีปัญญาได้ชนะทุกที

อันนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน วันนี้เรียกว่าเราไปพบกันซะ ซึ่งว่าอริยสัจคือทุกขสัจ คือของจริงเช่นนี้ ให้พวกเราควรพากันนึกถึงคุณพระพุทธเจ้า เห็นว่าพระพุทธเจ้านี้พบทุกขสัจ ท่านพิจารณาในทุกข์อันนั้นท่านจึงมีความอดทนชนะมารทั้งหลายทั้งปวง ก็การประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น ขอพุทธบริษัทวันนี้ จงมีความเข้าใจในการกระทำของเราทุกๆคน อาตมาก็เห็นความลำบากลำบนของญาติโยมทั้งหลาย ซึ่งเดินมาจากทางไกลเป็นอันมากเหมือนกัน แต่ว่าก็มีการดีใจส่วนหนึ่งที่มากที่สุดเหมือนกัน มีความอุตส่าห์พยายามมา ตั้งแต่โน้นมาถึงนี้ เป็นระยะทางหลายร้อยกิโล

อันนี้เรียกว่ามาด้วยศรัทธากันจริงๆ ไม่ใช่มาหนเดียวเสียด้วย มาบ่อยเสียด้วยนะ อันนี้เห็นว่าญาติโยมมาด้วยศรัทธาอันประกอบไปด้วยปัญญาจริงๆ จึงชวนกันมา พร้อมใจกันมานี่ เห็นประโยชน์ เพราะว่าเห็นประโยชน์ในอริยทรัพย์

ทรัพย์ที่ญาติโยมทำไปนี้ เรียกว่ามาแสวงใหม่ หาอริยทรัพย์ อริยทรัพย์ทรัพย์อันนั้นเป็นทรัพย์ภายใน ไม่ใช่ทรัพย์ภายนอก แต่เดิมมันก็เป็น ทรัพย์ภายนอก เปลี่ยนมาเป็นทรัพย์ภายใน

วันนี้ญาติโยมทั้งหลายเอาทรัพย์ภายนอกมาเปลี่ยนให้เป็นทรัพย์ภายใน อันนี้มันจะพ้นจากอุทกภัย วาตภัย โจรภัย ตามไปไม่ได้ เอาไม่ได้แล้ว เพราะว่า มันเป็นอริยทรัพย์

ทรัพย์อันนี้เอาออกจากข้าศึกแล้ว น้ำท่วม ลมพัด ไฟไหม้ อันตรายต่างๆ อันตรายทั้งหลายนี้ เข้าไม่ถึงแล้ว เพราะว่าเข้าถึงจุดมันคือที่ความสบายใจ หรือความดีใจที่ฝังไว้ในวิญญาณอันนี้

ดังนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงเรียกว่าบุญ มันไม่อยู่ภายนอก จับเข้ามาข้างในซะ ท่านจึงจัดเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน น้ำท่วมไม่ได้ ไฟไหม้ไม่ได้ โจรลักไปไม่ได้ ส่วนนี้โยมจะสบาย ส่วนที่บริจาคไปวันนี้ เก็บในที่มันดีๆแล้ว พ้นอันตรายแล้ว สบายใจ

อันนี้เรียกว่าความสบายใจนั่นน่ะ ไม่ได้มีโทษอะไร ฉะนั้น การบริจาคนี้ ท่านจึงว่า ปราบกิเลสส่วนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าตัวโลภะ ซึ่งทำใจเราให้มัวหมอง เมื่อจิตมัวหมองแล้ว ท่านก็ได้ทุกข์ด้วยการฉันนั้น

การกระทำของญาติโยมทั้งหลายเป็นไปในทำนองอันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านสอนว่า การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนานั้น รวมเข้าไปหาจุดอันเดียว จุดอันเดียวคืออันใด จุดอันเดียวอยู่ที่ไหน จุดอันเดียวเพื่อจะให้ถึงความสงบ หาความสงบจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่าหา ความสงบจุดนี้คือความสงบ เมื่อความสงบแล้วเรียกว่ามันจบ ก่อนจะสงบนั้นน่ะ เราจะรู้เรื่องว่าเราจะทำยังไง ใจเราก็จะสงบ อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อจิตเราไม่สงบ เราจะทำยังไงมันถึงจะสงบ ถ้าเมื่อจิตสงบแล้ว ถึงจุดของพระผู้มีพระภาคของเรานั้นน่ะ ที่ท่านต้องการที่สุดแก่พุทธบริษัททั้งหลายนั้น

เรื่องที่จิตของเราไม่สงบนั้น เพราะว่าจิตของเรานั้นน่ะไม่ถึงธรรมะอันแท้จริง ไม่ถึงจุดธรรมะอันแท้จริง จิตเรายังโง่อยู่ จิตเรายังไม่ฉลาด ไม่มีปัญญาจะรู้เท่าตามความเป็นจริง ในสภาวธรรมทั้งหลาย สภาวธรรมทั้งหลายนั้นที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ

อะไรมันเป็นธรรมะ ทุกอย่าง สิ่งที่ไม่เป็นธรรมะไม่มี

คือของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแหละ ท่านเรียกว่าเป็นธรรมะ จะเป็นรูปที่เรามองเห็นด้วยตาก็ตาม จะเป็นนาม สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาไม่ได้ก็ตาม เป็นธรรมะกันทั้งหมดเลยทีเดียว เรียกว่าธรรมะ เรียกว่าสภาวะ

สภาวะคือความมันเป็นอยู่อย่างนั้น มันเป็นเองของมันอยู่อย่างนั้น แม้พระพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นก็ตาม ไม่บังเกิดก็ตาม สภาวธรรมเป็นอยู่อย่างนั้นเอง ไม่แปรไปเป็นอย่างอื่น

ความไม่สงบของเราทั้งหลายนั้น คือยังไม่ได้ประพฤติธรรมและปฏิบัติธรรม เช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านว่า ให้เห็นถูกต้องเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แหละ ๘ ประการนี้ ไม่ใช่มี ๘ มันองค์มัน องค์ของมรรคมี ๘ อย่าง มรรคมีองค์ ๘ เป็นองค์ของมัน มรรคมีอันเดียว คือเอกายนมรรค เป็นมรรคอันเดียว และก็เป็นของบุคคลที่จะสัญจรไปคนเดียว ไปแต่ผู้เดียว แต่ว่ามีองค์ ๘ ประการคือเรามาเห็นชอบ ดำริมันก็ชอบ วาจามันก็ชอบ การงานก็ชอบ เลี้ยงชีวิตมันก็ชอบ ตั้งสติก็ชอบ ตั้งใจก็ชอบ พยายามก็ชอบ

นี่มันถึง มันชอบที่ตรงไหน มันชอบอยู่ที่ใจของเรานี้แหละมันชอบ มันจะไปตรงไหนก็ช่างมัน ออกจากจิตดวงนี้ เห็นชอบก็ออกจากจิต ดำริชอบมันก็ออกจากจิต เมื่อจิตตั้งไว้ชอบแล้ว มันจะชอบกันไปหมดนั่นแหละ ไม่มีอะไรจะไม่ชอบ มรรคทั้งหลายเหล่านี้มันสามัคคีกันขึ้นที่จิตใจของเรา เป็นอันเดียวคือความสงบ

จุดนี้เป็นทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านตรัสว่า ให้เดินมรรค อันนี้เป็นสัมมามรรค อันนี้เมื่อเราคิดด้วยจิตใจสงบ

เช่นว่า เราถูกอารมณ์อันใดเกิดขึ้นมา ถ้าเราเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบแล้ว ทุกอย่างมันชอบทั้งนั้น ไม่มีผิด เพราะธรรมะท่านสอนการปล่อยวาง ไม่มีอะไร เมื่อมีความสุขเกิดขึ้นมา ความสุขอันนี้ท่านก็สอนว่าสักแต่สุข ทุกข์เกิดขึ้นมาพระพุทธเจ้าก็สอนว่าอันนี้สักว่าแต่ทุกข์ ไม่มีใครสุข และไม่มีใครทุกข์ เป็นแต่ความรู้สึกเกิดขึ้นมาเฉยๆ ท่านจึงว่าสักว่าแต่เป็นสุข สักว่าแต่เป็นทุกข์

ความสุขทุกข์อันนี้ มันก็เกิดขึ้นมามี แต่เมื่อเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว อาการของสุขนี่มันก็เกิดขึ้นมา แต่หากว่าหาเจ้าของสุขนั่นไม่มี ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บางทีทุกข์มันก็เกิดขึ้นมา มีอยู่ แต่ว่าทุกข์นั่น ไม่มีใครเป็นเจ้าของของทุกข์ เรียกว่าสุขหรือทุกข์นั้น มันเป็นมาตามเรื่องของมัน เกิดมาตามกิริยาของมัน มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น

ท่านจึงบอกว่า ถ้ามีความสุขแล้ว ก็ให้รู้ตามความเป็นจริงมันเสียว่า สุขนี้ก็สักว่าแต่สุข ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ถ้าทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ให้รับรู้ พิจารณามันว่าทุกข์นี้ก็สักแต่ว่าทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แน่ะ ถ้าเราคิดเช่นนี้เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ
เราก็ไม่ได้ไปเป็นเจ้าของสุขนั้น เราก็ไม่ได้ไปเป็นเจ้าของทุกข์อันนั้น สุขทุกข์อันนั้นเป็นของที่ไม่มีเจ้าของ ถ้าใครเข้าไปยึดมั่นถือมั่นมัน ก็ไปเป็นเจ้าของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น

เมื่อไปเป็นเจ้าของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ของทั้งหลายเหล่านั้นมันก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มันไหลไปเรื่อยๆไป บางทีมันก็หายไป บางทีมันก็ได้มา เราก็ดีอกและก็เสียใจ ตามวัตถุทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อว่าอันนี้เกิดความยุ่งขึ้นมา เพราะตัวมิจฉาทิฏฐิ มันเข้ามาแทรก ให้มีความเห็นผิดเช่นนั้น

เห็นผิดอะไร เราเข้าไปเป็นเจ้าของของสุข เราเข้าไปเป็นเจ้าของของทุกข์ เข้าไปแบกสุขอันนั้น ไปแบกทุกข์อันนั้นอยู่ มันก็หนัก อันนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ในทำนองอย่างนี้

ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา พระองค์ท่านสอนอย่างนี้ เวทนาคือความเสวยสุขหรือทุกข์ สองประการนั้นแหละ ถ้ามันเกิดขึ้นมาเวทนานี้ สุขเวทนานี้ก็สักแต่ว่าสุขเวทนา ทุกข์เกิดขึ้นมานี้ ก็สักแต่ว่าทุกขเวทนาเท่านั้น เกิดแล้วมันก็ดับไป เจ้าของสุขนั้นไม่มี เจ้าของทุกข์นั้น มันก็ไม่มี พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณาอย่างนี้

เมื่อเราพิจารณาเช่นนี้บ่อยๆ เอหิปัสสิโก เรียกจิตเข้ามาดูซิว่าอันนี้มันคืออะไร สุขนี้มันคืออะไร ทุกข์นี้มันคืออะไร มันเป็นของแน่นอนมั้ย มันเที่ยงมั้ย หรือมันเป็นยังไง พิจารณาตามมันแหละ เราพอมองเห็นสิว่า สภาวะที่เราเคยเป็นอยู่นั้นน่ะ เราเคยสุขมามั้ย เคยมา แล้วมันหายไปมีมั้ย หายไปมันก็มี จะทุกข์มันเคยมีมั้ย เคยมีทุกข์มาทุกคน แต่ว่าทุกข์ไปตลอดมั้ย บางทีมันก็หายไปนี่ เราจะไปเอาเรื่องเอาราวอะไรกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นี่แหละ เป็นอารมณ์อย่างนี้

นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ เมื่อเรารู้สิ่งทั้งสองประการนี้ จิตเราก็สงบ สงบ ทำไมถึงสงบ เพราะเราไม่ไปเป็นเจ้าของอะไรทั้งนั้น แต่ว่าเราใช้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้ตามสบาย ถ้วยโถโอจานที่มีในบ้านในช่องของเรา โต๊ะ เก้าอี้อะไรที่มันมีอยู่นั้น ก็ไม่ใช่ของเรา เราใช้ไปเพื่อไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเราแต่เราใช้อันนั้นตามสบายใจ โดยที่ไม่ต้องทุกข์ ใช้โดยผู้มีปัญญารอบคอบ ให้อยู่เหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ให้รู้เหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น

ถ้าไม่อยู่เหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เราก็แบกมันเป็นอุปาทานว่าอันนี้ของเรา อันนี้เราเรื่อยไป

อันนี้ที่เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นที่เกิดขึ้นมาเพราะเราเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ผิดหวัง อันนั้นเธอจงเป็นอย่างนั้น อันนี้แกจงเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ตามปรารถนาของเรา

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอน พุทธบริษัทเราทั้งหลายคือ ให้พ้นจากวัฏสงสารทุกๆคน แต่ว่าเราสัตว์ผู้ที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบนั้น ก็คิดไปอย่างหนึ่ง ที่ฟังธรรมะแล้วอะไรก็ไม่ใช่ของตน อะไรก็ไม่ใช่ของตนทั้งนั้น กลัวจะไม่ได้ ก็ไม่สบายใจ

ความเป็นจริงนั้น ที่เรียกว่าของตน ของตนน่ะ ตนหรือของตนนั้นเป็นได้ แต่ว่ามันเป็นของสมมุติ แต่ว่ามันไม่เป็นวิมุตติ เราต้องเรียนรู้มันซะทุกอย่างน่ะ มันเป็นของสมมุติ

เช่นตัวของเรานี้ ชื่อเรานี้ ไม่มีชื่อเมื่อวันเราเกิดนะ เกิดมาแล้วมาตั้งชื่อใหม่ ชื่อเก่าน่ะมันไม่มี เพราะมันไม่มี ทำไมมันถึงไม่มี มันว่างอยู่ตรงนั้นแหละ ตรงที่ไหนมันว่างก็เอาอะไรไปวางตรงนั้นก็ได้ เออ เอาไปวางไว้ตรงที่มันว่างๆ เพราะว่าสัตว์เกิดมามันว่าง ไม่มีชื่อ เราก็ตั้งชื่อให้มันเสีย ชื่อใหม่เอาไปใส่ใหม่ สมมุติขึ้นมา นาย ก. นาย ข. นาย ค. นาย ง. นี่ ชื่อใหม่ สมมุติที่ตรงนั้น

ทำไมจึงสมมุติมัน เพราะตรงนั้นมันไม่มีอะไร ไม่มีอะไร จึงสมมุติว่าให้มันเป็น นาย ก. นาย ข. เสีย นาย ก. นาย ข. นั่นถูกสมมุติขึ้นมาไม่ใช่ นาย ก. จริง ไม่ใช่ นาย ข. จริง เป็นนาย ก. สมมุติ นาย ข. สมมุติ มันไม่ใช่วิมุตติ

ถ้าไปถามถึงแล้วจริงๆ น่ะ มันจะไม่มีอะไร เป็นสภาวธรรมเท่านั้น เกิดแล้วมันก็ดับไป ดับไปแล้วเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไป เกิดๆดับๆอยู่เช่นนั้น สภาวะทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเรานำอันนี้ไปพิจารณาแล้ว จะได้เห็นตามความเป็นจริงของพระพุทธเจ้าของเรา ท่านสอนจริงๆ

ฉะนั้น เราจึงเอาเรื่องอันนี้ไปประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราเห็นตามความเป็นจริงมันเช่นนั้นแล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะทุกข์ ไม่ใช่ว่าเราจะจนลงไป เห็นว่าอันนี้ไม่ใช่เรา อันนี้ไม่ใช่ของเราเช่นนี้ ยิ่งสบายกว่าเก่า ยิ่งสบาย ใช้ของนั้นอย่างสบายๆ

บางคนถ้าคิดเช่นนั้นแล้วว่า ไม่อยากจะทำการงานอะไร ทำแล้วก็ไม่ใช่ของเรา ความเป็นจริง คนที่ทำอะไรว่าใช่ของเรา คนนั้นน่ะมันเป็นทุกข์มาก มันเป็นทุกข์มากทีเดียวแหละ เมื่อเราทำไป ทำไป ทำไปอยู่ ก็เห็นว่าอันนี้ทำไปเพื่อการกระทำ แต่ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ทำไปด้วย วางไปด้วย ละไปด้วย ตามความเป็นจริงของมันเช่นนั้น

อันนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ มีอะไรรู้ สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงของมันเสีย เช่นนั้น อันนี้เรียกว่าเป็นของสมมุติ

รู้จักสมมุติแล้ว เราก็สบายใจกัน เรื่องสมมุติ คือสมมุติให้มันเป็นขึ้นมา เช่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านว่า ที่ตรงนั้นน่ะมันว่าง ท่านสอนพระโมฆราชท่านสอนว่า พระโมฆราช ท่านจงมองดูโลกนี้ให้เป็นของว่าง แน่ะ อย่างนี้คนก็ตกใจนะ มองดูโลกให้มันเป็นของว่าง มัจจุราชจะตามไม่ทัน จะมองไม่เห็นตัวเรา นี่ ท่านสอนพระ มองให้เห็นเป็นของว่าง

คำที่ว่าเราเห็นเป็นของว่างนั่น เห็นมันจะไม่มีอะไร มองดูกระโถนนี่ มันกระโถนมันก็มีอยู่ มองดูถ้วยดูจานนี้ มันก็มีถ้วยมีจานอยู่ ไม่ใช่ว่ามันไม่มี แต่มันมีอยู่ในที่ว่างๆ มันเป็นของว่าง จะถามกระโถนใบนี้หรือว่าแกเป็นอะไร มันก็ไม่ตอบเรา ก็มันก็ไม่เป็นอะไรนะ จะเรียกว่ามันเป็นกระโถนก็ได้ ก็เราสมมุติมัน หรือเราจะเรียกว่าหม้อก็ได้ เพราะเราไปสมมุติมันขึ้นมา ตัวจริงของมันนั้น มันไม่มีอะไร เราก็ไปยึดมัน ยึดมั่นหรือถือมั่นมัน

ยกตัวอย่างเช่นว่า คน ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นคนฉลาดมาก กลุ่มหนึ่งเป็นคนโง่ ไปซื้อของในตลาดมา คนกลุ่มที่โง่ ไม่รู้จัก ก็ไปซื้อเอาหม้อมูตรมา หม้อมูตรเอามาก็มาตักข้าวหุงใส่กินกันสบายนะ เขาไม่รู้เรื่อง

ที่คนฉลาดมาก็มาเห็น อื้อ นี่มันทำอะไรกันนี่ หา มันน่ารังเกียจน่ะ นี่หม้อมูตรน่ะ มันเอาไปเป็นหม้อข้าวยังไง นี่ น่ารังเกียจ อย่างนี้เป็นต้น

กลุ่มหนึ่งเป็นคนโง่ กลุ่มหนึ่งเป็นคนฉลาด ทำไมถึงจะรังเกียจมันเล่า หม้อมูตรก็ใหม่ๆ ไม่ได้ไปทำอะไรก็เหมือนหม้อธรรมดาเรานี่ มันสะอาดอยู่แล้ว ทำไมจะรังเกียจมันเสีย ก็เพราะเราเข้าไปยึดว่ามันเป็นหม้อมูตรนั่นเอง ความเป็นจริงมันเป็นหม้อสะอาด ธรรมดาเรานี่แหละ

นี่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลยเกิดเป็นทุกข์มา เกิดรังเกียจขึ้นมาแล้ว ก็ไปเห็นคนนั้น เอ้ย คนนี้มันโง่นา อันนี้มันเป็นหม้อมูตรแล้วนี่ เอามาตักข้าวใส่ทำไมล่ะ คนสองคนนี่เรียกว่า คนไหนฉลาดคนไหนโง่ แน่ะ อันนี้เรียกว่าวัตถุ หม้อมูตรมันก็ไม่รู้จักมัน หม้อธรรมดามันก็ไม่รู้จักมัน เราจะไปสมมุติมันว่าเป็นหม้อมูตรเลยรังเกียจมัน เอาไปใส่แกงก็รังเกียจกัน เอาไปใส่ข้าวก็รังเกียจกัน ทุกอย่าง นี้ใครรังเกียจใคร

นี่เพราะเราเห็นผิด ติดสมมุติ ถ้าเป็นหม้อมูตร ก็เป็นหม้อมูตรจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้นน่ะ เมื่อพูดไปถึงความเป็นจริงแล้วมันน่ะ มันเสมอกัน วัตถุทั้งสองอย่างนี้ แล้วแต่เราจะใช้มันเถอะ เมื่อมันสะอาดอยู่เราก็ใช้มันไป เอาไปทำอะไรก็ได้ เรื่องของมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเรารู้ตามเป็นจริงมันแล้ว มันก็ไม่มีอะไร ไม่ได้ไปเป็นเจ้าของอะไร มีหม้อมูตรมาก็ใช้มันได้ มีหม้อธรรมดามาก็ใช้มันได้ สบายนี่ อันนี้เรารู้ รู้ตามเป็นจริงของมันแล้ว

เช่นว่า กระโถนใบนี้เราก็เรียกขึ้นว่ามันเป็นกระโถนนะ แต่ความเป็นจริงมันไม่รู้ว่าเป็นอะไร จะเรียกมันว่าถ้วยก็ได้ จะเรียกมันว่าหม้อก็ได้ นี่เรียกว่าสมมุติเอา

ความสมมุติเช่นนี้ คนเรามาติดสมมุติ เช่นนี้เอง จึงเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว มันจะเกิดติดสมมุติ สมมุติว่าตัวตน สมมุติว่าตน สมมุติว่าของของตน อันนี้พระพุทธเจ้าของเราท่านว่าเป็นภาษาโลก สมมุติเพื่อให้รู้จักกันเท่านั้นเอง

อย่างคนเกิดมาก็เป็นคนธรรมดา แต่มาสมมุติ ขึ้นว่าเป็น นาย ก. นาย ข. นาย ค. นาย ง. ขึ้นมา เพื่ออะไร เพื่อให้มันใช้ในภาษานั้น รู้จักกัน จะเรียกว่า นาย ก. คนนั้นมันก็มา จะเรียกว่า นาย ข. คนนั้นมันก็มา คือให้มันสะดวกแก่การเรียก การใช้ในโลกเขาเท่านั้นเอง เมื่อรวมกลุ่มเข้าไปแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นอะไร หมด ทุกสิ่งทุกอย่างรวมตรงนั้น

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าของเราถึงว่า ให้พูดอย่างใจอย่าง เขาเรียกว่ากระโถนก็เรียกกับเขาได้ เขาเรียกว่าหม้อมูตรก็เรียกได้ พูดอย่างใจอย่าง คือพูดปรับตัวเข้าให้ถึงกับโลกเขา เสมอกับโลกเขา ความเป็นอยู่ในโลกอันนี้

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าและสาวกของท่านทั้งหลายนั้น ท่านก็มีความเป็นอยู่กับประชาชนทั้งหลาย กับอันธพาลทั้งหลาย กับโจรทั้งหลาย กับคนธรรมดา ทั้งหลายนี้ ท่านก็ปรับตัวเข้าอยู่ได้ เพราะท่านรู้จักสมมุติ เพราะท่านรู้จักวิมุตติ รู้จักความเป็นจริงมันเช่นนั้น

เมื่อเรารู้จักเช่นนั้น ใจเราก็สบาย สงบ ไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่น แน่ะ เป็นธรรมดาของมัน รู้จักว่าอันนี้เป็นสมมุติ อันนั้นเป็นวิมุตติ รู้ตามเป็นจริงแล้วคราวนี้ล่ะ ใจก็ไม่วุ่นวาย จิตใจมันก็วาง

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านจึงให้ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะมันเป็นยังไง ธรรมะเป็นของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่าธรรมะ สิ่งที่ไม่เป็นธรรมะไม่มีในโลกอันนี้ ทุกอย่างจะมองเห็นด้วยตาก็เป็นธรรมะ จะได้ยินด้วยหูก็เป็นธรรมะ จะได้กลิ่นด้วยจมูกก็เป็นธรรมะ เป็นธรรมะไปหมด เพราะธรรมะแปลว่าสภาพที่ทรงตัวมันอยู่อย่างนั้น มันเกิดแล้ว มันก็ดับไปตรงนั้น มันไม่ต้องการอะไรต่ออะไรของมันทั้งนั้น มันเป็นของมันอยู่นั่นเอง

ทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อไปก็น้อมเข้ามาถึงกายถึงใจเรานี่เอง ไม่ใช่อื่นไกล ความดีทั้งหลาย ความชอบทั้งหลาย การปฏิบัติทั้งหลาย มันอยู่ที่กายกับใจของเรา ไม่ใช่เป็นของมาก กายนี้อย่างหนึ่ง ใจนี้อย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้สิ่งสองสิ่งก็อยู่พร้อมกับเรา มีอยู่ เรื่องกายเรื่องจิตนี่มีอยู่แล้ว

ก็คือข้อปฏิบัติที่นี่ ปฏิบัติกายกับจิตเราที่นี้ รู้กันที่นี่ มีของสองอย่างเท่านี้เอง
ถ้าไปพูดตามพระสูตรก็พิสดารไปหลายอย่างหลายประการ ด้วยสรุปลงแล้วเห็นว่าเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาของเรานี้เรียกว่ารูป อันนี้ก็มีอยู่ เราก็เห็นมันอยู่ เกิดแล้วแก่ เจ็บ ตาย ทุกคนก็เป็นมาอย่างนั้น

จิตใจของเรานี่ก็เหมือนกัน มันก็เกิดมาแล้วมันก็ดับไป กายกับจิตทั้งสองอย่างนี้ เรียกว่ารูปกับนามนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่แน่นอน ของไม่จริงไม่จัง พวกเราทั้งหลาย ก็อยู่อาศัยทั้งสองประการนี้ คือรูปกับนาม

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าไปเอาจริงเอาจังกับมันเลย ของที่มันไม่จริงไม่จัง เราจะไปเอาจริงเอาจังกับมันเช่นนั้นไม่ได้ มีแล้วก็หาไม่ เกิดแล้วก็หายไป มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าหากว่า มันไม่จริง ความจริงมันอยู่ที่ไหน ความจริงก็คือมันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้คือความจริง มันแปรมันปรวนอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านเรียกว่าอันนั้นแหละเป็นธรรมะ ที่มีอยู่ในกายในใจของเราทุกวันนี้ เมื่อเราสร้างคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็เพื่อให้เรามุ่งเข้าไปเห็นธรรมอันนี้ตามความเป็นจริง

เห็นเป็นจริงเห็นยังไง เห็นว่าอันนี้มันไม่เที่ยง อันนี้มันเป็นทุกข์ เห็นว่าอันนี้มันเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันถึงเป็นของมันอย่างนั้น ถ้าเราไม่รู้เรื่องอนิจจัง เราก็ไปยึดมั่นหมายมั่นมัน มันก็เปลี่ยนไป เราก็ทุกข์ มันเกิดขึ้นตรงนี้

ฉะนั้น ท่านจึงสอนว่าโอปนยิโก ให้น้อมเข้ามาอย่าน้อมออกไป น้อมธรรมเข้ามาหาใจเรา น้อมใจ เข้าไปหาธรรม ดูธรรมทั้งหลายอยู่ที่จิตใจของเจ้าของ เห็นจิตใจก็เห็นธรรมะ เห็นธรรมะก็เห็นจิตใจ สิ่งสองสิ่งนี่มันรวมกันอยู่ เท่านั้นเอง เราหลงสิ่งสองสิ่งนี้เท่านั้นเอง ซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้

ความไม่สงบนั้น เรียกว่า มันเป็นเฉพาะความรู้สึกนึกคิดเท่านั้นเอง ไม่ใช่มีอะไร ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนอะไร เกิดแล้วมันก็หายไปเช่นนั้น

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนว่าให้สร้างประโยชน์ ให้เราพากันสร้างประโยชน์ ปัจจุบันอันนี้ อย่าไปรอไว้ว่าพรุ่งนี้ มะรืนนี้ อดีต ปัจจุบัน อนาคต มันรวมอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันที่เราอยู่กันนี้ ก็คือผลของอดีต อดีตก็คือสิ่งนั้นมันเป็นเหตุของปัจจุบัน เมื่อถึงปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้เป็นผล เมื่อปัจจุบันเป็นผลนี้ ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล

ทางพุทธศาสนาก็เรียกว่าอันนี้ เป็นวิบากเกิดจากการกระทำดี กระทำชั่ว เกิดการกระทำดีกระทำชั่วเรียกว่าวิบาก ฉะนั้นวิบากทั้งหลาย อดีตก็ดี อนาคตก็ดี มารวมอยู่ที่ปัจจุบัน เรานั่งอยู่นี่ทำเสียเมื่อเรามีอยู่ มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้รีบทำ ท่านก็ว่าอย่าไปห่วงอนาคตเลย อย่าไปห่วงอดีตเลย ทำไมท่านถึงพูดอย่างนั้น

เพราะว่าที่เราอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็เป็นผลของอดีตอยู่แล้ว ที่เราอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็เป็นเหตุของอนาคตอยู่แล้ว เมื่อเราอยู่ในปัจจุบันนี้ มันก็เรียกว่า อดีตอนาคตมารวมอยู่อันเดียวคือปัจจุบัน

ฉะนั้น มาทำปัจจุบันนี้ ให้มันเป็นปัจจุบันอันนี้ ปฏิบัติเห็นธรรมในปัจจุบันว่าวันนี้เราทำอะไร ว่าเดี๋ยวนี้เราคิดอะไร นี่ จิตของเราวันนี้ทุกข์มั้ย สุขมั้ย เป็นอะไรมั้ย เพราะเห็นในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องตามไปถึงอดีตแล้ว ไม่ต้องตามไปถึงอนาคตแล้ว เพราะเหตุมันอยู่ตรงนี้ ผลมันก็อยู่ตรงนี้

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงสอน เมื่อตรัสรู้ธรรมใหม่ๆ แล้วท่านก็มาเทศน์เป็นปฐมโพธิกาลน่ะ ท่านเทศน์เรื่องกามสุขัลลิกานุโยโค อัตตกิลมถานุโยโค สองประการเท่านี้เอง

กามสุขัลลิกานุโยโค คือความสุข ติดในความรัก ติดในความสุข ติดในความสบาย จมลงไปลึก มันลึก ไม่ค่อยจะเห็น ขึ้นยากเหลือเกิน ความสบาย ความสุข ความลึกนี้ เป็นกิเลสส่วนหนึ่งที่คนมองไม่เห็น แล้วคนเราก็ปรารถนาด้วย เรื่องกาม เรื่องสุข สบาย ให้มันจมลงไปในพื้น ไม่ค่อยเห็นเนื้อเห็นตัว ติดความสบายแล้ว นี่

อันนี้พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติให้ถึงความสงบ เมื่อเห็นเช่นนี้ให้ระวัง มันจะเห็นทางโค้ง จะมองเห็นป้ายว่าอันนี้โค้ง โค้งอันตราย เห็นมั้ย เวลาเรานั่งรถไป ทางมันโค้ง นั่นน่ะโค้งอันตราย โชเฟอร์ต้องระวัง นะ โค้งอันตรายนะ

สุขน่ะ ถ้าคนจมในความสุขนั้นน่ะ โอ้ย มันสบาย มันจมลงไปลึก ไม่ค่อยเห็นเนื้อเห็นตัวเลย ไม่ค่อยเห็นว่ามันผิด ไม่ค่อยเห็นว่ามันเป็นทางโค้ง ไม่ค่อยเห็นว่ามันเป็นอันตราย ความรักหรือความสุขนั่นแหละ อันนี้ประการหนึ่ง

ประการที่สอง ท่านพูดถึงความทุกข์ หรือความไม่ชอบ หรือพูดถึงความโกรธ ท่านก็ว่านะ อันนี้ก็เป็นโค้งเหมือนกัน โค้งอันตรายเหมือนกัน อันนี้คนไม่ชอบ เป็นกิเลส อันนี้แต่คนไม่ชอบ ทุกข์ ไม่ชอบ มันเป็นอัตตกิลมถานุโยโค ไม่ชอบ แต่สุขนี่ชอบ ทุกข์ไม่ชอบ สุขฉันจึงชอบ

ความเป็นจริงนั้น สุขหรือทุกข์นี่มันมีโทษเท่าๆกัน มีคุณค่าเท่าๆกัน แต่ว่าสุขนั้นน่ะ มันเข้าข้างเรา ความรักมันเข้าข้างเรา ความเกลียดนั้นมันไม่เข้า มันอยู่ข้างนอก มันหยาบเหลือเกิน มองเห็นได้ง่ายๆ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราไม่ดีใจ ดีใจไม่ได้ ความดีใจนั้นแหละเราพากันแสวงหาความดีใจ ดีใจก็เป็นกิเลสอย่างยิ่งเหมือนกันนะ เหมือนกันกับความที่ไม่ดี

ธรรมะแท้จริงนั้นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้ว่า ไม่ให้ยินดียินร้าย เราประพฤติปฏิบัติ ทำยังไงจะให้มันถูกต้อง กามสุขัลลิกานุโยโค อัตตกิลมถานุโยโค เราเห็นสองข้างเสมอเลยทีเดียว สุขเกิดมาเรารู้ ทุกข์เกิดมาเรารู้ สองอย่างนี้

พระพุทธเจ้าว่าปฏิบัติให้เป็นสัมมาปฏิปทาของจิต เมื่อเห็นความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ให้รู้โทษของมัน อย่าไปติดมันเลย อย่าไปหมายมั่นมันเลย อย่าไปยึดมันมั่นหมายมันเลย ให้เห็นว่าสุขนี้ก็สักแต่ว่าสุขเท่านั้น มันก็หายไป ทุกข์เกิดขึ้นมาก็เหมือนกัน ให้รู้ว่าสภาวะคือทุกข์นี้ก็สักว่าทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา โดยสักว่าเป็นทุกข์

ทางซ้ายท่านก็ไม่ให้ไป ทางขวาท่านก็ไม่ให้ไป ให้ท่านตรงแน่นอนไปเลย ทุกข์ไว้ข้างนี้ สุขไว้ข้างนี้ นี่เป็นสัมมาปฏิปทาของจิต

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ จิตมันผิดจากทางเราก็รู้จัก เมื่อมีความรักเกิดขึ้นมามันจะไปยึดมั่น เราก็บอกว่ามี อันนี้ก็อันตรายเหมือนกัน แน่ะ

สิ่งใดที่เราไม่ชอบ เราก็เป็นทุกข์ เราก็เตือนจิตเราว่า อือ อันนี้ก็อันตรายเหมือนกัน ที่ไหนที่ไม่เป็นอันตราย ที่ไหนที่มันไม่สุขไม่ทุกข์นั่นแหละ ไม่เข้าข้างสุขไม่เข้าข้างทุกข์นั่นเอง ตรงนั้นเป็นสัมมาปฏิปทาของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเดินไป นั่นเรียก ว่าเป็นปฏิปทาพอดี พอดี นี่เดินถูกต้องแล้ว เราต้องรู้จักธรรมะก่อน อันนี้พระพุทธเจ้าท่านย้ำเหลือเกิน เพราะท่านติดมาหลายภพหลายชาติแล้ว ท่านก็นึกว่าสุขนั่นดี ก็เอาแต่สุขนั่นแหละ ทุกข์ก็ไม่เอาทั้งนั้น ท่านเข้าใจว่ามันดีแล้ว

ความเป็นจริง สุขน่ะมันเปลี่ยนของมันได้ มันก็ไม่แน่เหมือนกัน ดีๆนี่ก็เหมือนกัน ประพฤติดี เมื่อได้ดีแล้ว ให้อยู่เหนือมันนะ อย่าไปอยู่ใต้มัน ให้มันรู้จักดี ถ้าไม่รู้จักดี มันก็ไม่ดีอีกแล้ว มันเป็นเช่นนั้น

ฉะนั้น จึงว่าธรรมะนี้มันอยู่ที่จิตใจของเรา ผู้ที่มีปัญญามองเห็นได้ง่ายๆ เห็นที่กายที่จิตของเจ้าของนี่เอง มันจะหลอกลวงเราทั้งวันกะทั้งคืน ไม่ใช่อื่นหรอก อันนี้อันเก่านี่แหละ ให้มันเปลี่ยนไปมาอยู่เสมอเลยทีเดียว

ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายให้พากันพยายามมอง มองตามธรรมะ คำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามีอยู่ ถ้าเรามีความรู้อยู่ เราก็เห็นอยู่ เห็นอยู่ก็รู้อยู่ ฉะนั้น ท่านจึงว่า ภาวนาให้ที่ว่า ยกลมหายใจขึ้นมาสู่จิต แล้วเรียกว่าพุทโธ พุทโธ คำว่าพุทโธนี่ ไม่ใช่รู้แต่ลมอย่างเดียวเท่านั้นนะ พุทโธนี่มันกว้างไปหมดทุกอย่างละ รู้ทางที่ผิดรู้ทางที่ ถูกทั้งหมดน่ะ ไม่ใช่ว่าพุทโธ พุทโธ

บางคนจะเข้าใจว่าภาวนาพุทโธ พุทโธน่ะ จะเอาคุณงามความดีน่ะเอาเช่นนี้ คำว่าพุทโธนี่น่ะ ทำให้เป็นอารมณ์อันเดียว จิตมันฟุ้งซ่านรำคาญ เอาอารมณ์นี่เป็นหลัก เอาอารมณ์นี่เป็นหลักไว้ เพื่อจิตยับยั้งให้เห็นอยู่ในพุทโธอันนี้เท่านั้นเอง พุทโธนี่รู้สารพัดทุกอย่าง เหมือนพระพุทธเจ้าของเราตรัสมา ท่านย่อเป็นคำพูดอันนี้ว่า เป็นพุทโธ พุทโธ บางคนจะไปภาวนาพุทโธ ไม่เห็นได้อะไร บางทีก็ง่วงนอนไปซะนะ ไม่เห็นผลประโยชน์มันนะ

พุทโธ ท่านแปลว่า ผู้รู้ หรือผู้ตื่น ก็เรื่อง จิตใจเรานี่เองเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เมื่อจิตเราสงบ ทำจิตสงบเรียกว่าสมถะภาวนานะ วิปัสสนาภาวนา ในครั้งพระพุทธเจ้าของเรา เหมือนไม่ค่อยมี มีแต่ว่าท่านประพฤติหรือปฏิบัติธรรม เท่านั้น บรรลุซึ่งธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ บัดนี้เรามาแยกว่าสมถะวิปัสสนา

บางคนก็เข้าใจว่าแยกกันออก ฉันจะทำสมถะเสียก่อน อีกปีสองปีฉันจะทำวิปัสสนา ความเป็นจริงสิ่งสองสิ่งนี้มันแยกกันไม่ได้ มันแยกไม่ได้

กำลังของความสมถะคือความสงบ อย่างเราอยู่บ้านมันวุ่นวาย ออกมาอยู่ป่าซะ มันไกลรูปไกลเสียง กลิ่น รส อย่างนี้ กิเลสมันก็มีอยู่ แต่มันห่างหน่อย เราอยู่ที่นี่มันสงบ เพราะไม่เคยได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่ได้เห็น อยู่ไปนานๆไปมันก็สงบ สงบชั่วคราว นี่เรียกว่าสมถะ คือมาหลบอารมณ์อยู่ แต่ว่าเมื่ออารมณ์มันมากระทบก็ไม่สบายอีกแล้ว เท่านี้กำลังเท่านี้

ก่อนอื่นสมถะนี่เป็นบทบาทครั้งแรกมัน จะต้องมาพักผ่อน จะต้องมาให้มันสงบ เป็นบทบาทของมันครั้งแรกเท่านั้นเอง ต่อไปนั้นความสงบในที่นี้มันไม่ใช่เป็นของสงบที่แท้จริง

สงบที่แท้จริงคือความรู้เกิดขึ้นมาจากความสงบอันนั้น รู้แจ้งจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง รู้เท่ารู้ถึง ถ้าเรารู้ไม่ถึงก็ไม่สบาย มันก็เป็นสมถะ ถ้ามันรู้ถึงมันก็สบาย

เช่น กระโถนใบนี้ เราทุกคนก็เรียกว่ากระโถนกันทั้งนั้นล่ะ รู้ แต่มันรู้ไม่ถึง ถ้าไปบ้านอื่นเขาเรียกว่าหม้อ เราก็จะไปว่าเขาอีกล่ะ แน่ะ เรียกว่าหม้อ เขาเรียกว่าหม้อกัน ก็ไม่สบายใจ ความเป็นจริงนะคือเรารู้ไม่ถึงมัน รู้ไม่ถึงกระโถน

ถ้ารู้ถึงมันจะเรียกว่ากระโถน มันก็สบาย เขาจะเรียกว่าหม้อก็สบาย เพราะวัตถุอันนี้ไม่มีกระโถนในที่นี้ ไม่มีหม้อในที่นี้ มันจะเกิดเป็นกระโถนขึ้นมา เราก็สมมุติเอาว่าเป็นกระโถน มันจะเกิดหม้อขึ้นมา เราก็สมมุติมันว่าหม้อ

แต่แล้วความเป็นจริง เราจะเรียกว่าหม้อไปกับเขาก็ได้ เรียกว่ากระโถนกับเขาก็ได้ ถ้าเรารู้ตามเป็นจริง รู้ถึงที่นี้จะเรียกอะไรก็สบายใจอยู่ มันเป็นเช่นนั้น

อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเราลืมตาขึ้นมาแล้วจิตมันก็สงบ ทำไมมันถึงสงบ มันรู้ตามเป็นจริงของมัน เหมือนกับบุคคลที่รู้กระโถนใบนี้ ให้ถึงกระโถน ถ้าคนรู้ถึงกระโถนแล้วไม่มีอะไร เขาจะเรียกว่าถ้วยก็ได้ หรือจะเรียกว่าหม้อก็ได้ เขาจะเรียกกระโถนก็ได้ ใจก็ยังสบายอยู่ เพราะมันรู้ถึงกระโถนเช่นนั้น

ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเรารู้ธรรมะ ในรูปอันนี้ ในนามอันนี้ ตามความเป็นจริงแล้วเช่นนั้น เราก็จะพากันมีความสบาย สงบอยู่จากอันนี้

สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อันนี้มันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ได้สงสัยแล้วในสมมุติอันนี้ ในขันธ์ก้อนนี้ ในกองอันนี้ ในรูปอันนี้ ในนามอันนี้ ไม่สงสัยแล้ว ไม่ยึดถือเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา เห็นตามเป็นจริงแล้ว

สีลัพพตปรามาส ลูบคลำก็ไปลูบคลำความรู้สึกนึกคิดอันนี้ อันนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ถ้ามันหายออกจากใจของบุคคลเรานั้น ก็เปลี่ยนทันทีเลยว่าเป็นอริยจิต อยู่เหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น

นี่คือผลเกิดจากประพฤติปฏิบัติให้รู้ตามความเป็นจริง เรียกว่าปัญญา

ฉะนั้น ญาติโยมเราทั้งหลายก็ค่อยๆทำไป ค่อยๆทำไป ทำสมถะ มันเป็นอยู่ในนี้แหละ วิปัสสนา มันก็เป็นอยู่ในนี้แหละ แยกกันไม่ได้หรอก พูดแยกกันได้ แต่ตัวมันแยกกันไม่ได้

เช่นว่า มะม่วงใบหนึ่ง มันจะแยกมันออกไม่ได้ มันยังเล็กอยู่ แล้วมันจะโตขึ้นมา รอมันถึงวันสุกมันแยกกันไม่ได้ เมื่อมันมีเล็กก็มันมีโต มันมีโตมันก็มีเล็ก มะม่วงใบเดียวมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปๆ เช่นนั้น มันเปลี่ยนไป จนกว่ามันจะสุก มะม่วงใบเดียวอันนั้นน่ะ มันจะแยกกันไม่ได้หรอก มันจะแยกสุกๆดิบๆมันไม่ได้หรอก มะม่วงใบนั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แน่ะ

เราจะได้เห็นว่า ในระยะหนึ่งนะ มันจะเปรี้ยวในระยะต่อมามันสุก มันจะหวาน เปรี้ยวมันไปไหนล่ะ มันก็มาเป็นหวานนั่นแหละ เปลือกมันก็เขียว เมื่อมันสุกแล้วมันก็เหลือง เขียวมันไปไหนแล้ว มันก็มาเป็นเหลืองนั่นแหละ มันไม่เป็นอะไรหรอก มันแยกกันไม่ได้

ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมะที่พระพุทธเจ้าของเราให้ประพฤติปฏิบัติ มันติดกันมันชิดกันจนเราแยกไม่ออก

ฉะนั้น กิเลสทั้งหลาย ก็เกิดจากที่นี่เอง จะทำจิตใจของเราไม่สบาย เพราะเราไม่รู้รูปอันนี้ ขันธ์อันนี้ ก้อนอันนี้ กองอันนี้ ตามเป็นจริง ถ้าเรามีความสบายแล้ว มันเป็นสัมมาทิฏฐิ มันรู้รูปอันนี้ตามเป็นจริง รู้นามอันนี้ตามเป็นจริง รู้ก้อนอันนี้ตามเป็นจริงแล้ว มันก็วางแน่ะ มันก็วาง

ฉะนั้น เมื่อวางแล้วให้มันมีความรู้อยู่ รอบๆอยู่ มันระวังมันอยู่เรื่อยๆไป เรื่อยไป อันตรายมันรู้จัก ความสุขเกิดขึ้นมามันก็รู้ ความทุกข์เกิดขึ้นมามันก็รู้ ความดีใจเกิดขึ้นมามันก็รู้ ความเสียใจเกิดขึ้นมามันก็รู้ รู้อะไร รู้ว่าอันนี้มันเป็นอันตราย มันก็ไม่เข้าไปใกล้

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าเป็นกามสุขัลลิกานุโยโค อัตตกิลมถานุโยโค ทั้งสองประการนี้เป็นธรรมอันสมณะ ผู้ทำความสงบอย่าพึงแวะเข้าไปเลย เป็นธรรมของชาวบ้าน ไม่ใช่เป็นธรรมของสมณะ สมณะคือใคร สมณะคือจิต ผู้ต้องการให้จิตสงบนั้น ให้รู้สิ่งทั้งสองนี้ ไม่ใช่ว่าสมณะเหมือนอาตมาบวชอยู่นี้นะ สมณะ อันนั้นคือจิต

ถ้าจะทำจิตของเราให้สงบแล้ว อย่าไปวิ่งตามความสุขอันนั้น อย่าไปวิ่งตามความทุกข์อันนั้น อย่าไปวิ่งตามความดีใจอันนั้น อย่าไปวิ่งตามความเสียใจอันนั้น ให้เป็นผู้มีปัญญารอบรู้อยู่เสมอว่า สุขนี้ก็เป็นของไม่เที่ยง ทุกข์นี้ก็เป็นของไม่เที่ยง ความดีใจนี้ก็เป็นของไม่เที่ยง ความเสียใจนี้ก็เป็นของไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ให้เราเห็นอยู่เช่นนี้เอง ไม่ตามใคร ไม่เข้าข้างใครทั้งนั้นแหละธรรมะนี่ เดินตรงไปเช่นนี้ บุคคลนั้นจะสงบนะ

ผู้ตามไปตามความสุขนั้นแหละคนนั้นจะทุกข์ ผู้วิ่งไปตามความทุกข์ คนนั้นแหละก็จะทุกข์ นี้พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ไปครึ่งๆ เช่นนี้เป็นสัมมาปฏิปทา พูดเรื่องจิตนาไม่ใช่พูดเรื่องอื่น

พระพุทธศาสนานี้ เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เรื่องของเนื้อหนัง มันเรื่องของจิต เราจะต้องมาพิจารณาซึ่งจิต เพราะจิตนี้มันเป็นเหตุทั้งหมดเลยทีเดียวแหละ

เราจะได้เห็นสุขมันเกิดมา จิตมันเป็นผู้รู้เลยทีเดียว ทุกข์มันเกิดขึ้นมา ใครรู้ จิตมันเป็นคนรู้ มันเป็นคนรับทุกส่วนอยู่ในนี้แหละ ถ้าเรามาตามดูจิตของเราแล้วนะ มันจะเห็นจิตของเรา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงตามดูจิตของตน ผู้ใดตามดูจิตของตน ผู้นั้นจักพ้นบ่วงของมาร

พอเราตามดูจิตของเรา เพราะจิตของเราเป็นผู้รับรู้ เป็นผู้รับเห็น เป็นผู้รับเอาความสุขความทุกข์ ถ้าเราตามดูจิตของเราอยู่ เราก็ไม่เป็นคนอนาถาเท่านั้นน่ะ เป็นพุทธบริษัทโดยสมบูรณ์เท่านั้นแหละ มีความรู้อยู่ มีความเห็นอยู่ มีความเป็นอยู่อย่างนั้น

จะยืนก็ตาม จะเดินก็ตาม จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตามรู้อยู่อย่างนั้นเอง มันเป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กิเลสทั้งหลายจะได้มาอยู่ในจิตใจ อยู่ในใจให้เศร้าหมองไม่ผ่องใสนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ยากเหลือเกิน มันไม่เป็นไป เพราะความรู้ เพราะผู้รู้ผู้ตื่น เห็นอยู่รู้อยู่ ทั้งการยืนการเดินการนั่งการนอนเช่นนั้น เป็นต้น อันนี้คือผลที่เราประพฤติปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับ

วันนี้ญาติโยมเราทั้งหลาย ที่ได้มาบำเพ็ญการบริจาค สมาทานซึ่งศีล ได้ฟังพระธรรมเทศนาวันนี้ ทั้ง ๓ ประการนี้รวมเข้าเป็นกลุ่มอันเดียวกัน เพื่อจะทำจิตของญาติโยม ให้รวมเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อรวมเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันถึงที่สุดทุกข์จริงๆ

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงสอนให้ถึงความสงบ ความสงบนี้มันเลิศจุดหมายแล้ว มันเป็นเช่นนั้น

ฉะนั้น วันนี้เวลาที่ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มานั่งฟังธรรมนี้ เวลาของโยมมันจะน้อย แต่เวลาของเวลานั่นมันมากหรอก จะได้เหนื่อยกันละมัง ทีนี้ก็เอาแต่ว่าพอสมควร การบรรยายธรรมะมาวันนี้ ก็ให้น้อมเข้าไปเป็นโอปนยิกธรรม ให้ไปเข้าถึงใจของเจ้าของ ให้อยู่ในใจของเรา อย่าไปมองอย่างอื่นให้มองจิต อะไรมันเกิดขึ้นจากจิต มันเป็นอยู่ที่จิต ให้มองที่จิต ความฉลาดเห็นอยู่ที่จิต ความโง่เห็นอยู่ที่จิต สุขทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเห็นอยู่ตรงนั้น นี้แหละเอโกธัมโม ธรรมอันเดียวคือจิตอันนี้

ขอญาติโยมทั้งหลายจงน้อมเข้าไปเป็นโอปนยิโก น้อมธรรมะนี้ไว้ในใจ จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนให้มีความรู้อยู่ เห็นอยู่ เป็นอยู่ ประพฤติอยู่ ปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ ปฏิบัติที่ตรงไหน ปฏิบัติเมื่อธรรมมันปรากฏขึ้นมา ธรรมะอะไรปรากฏขึ้นมา เมื่อความไม่สบายปรากฏขึ้นมา เมื่อความโกรธปรากฏขึ้นมา เมื่อความโลภปรากฏขึ้นมา อยู่ในรถ อยู่บนรถก็ปฏิบัติมันตรงนั้นแหละ สอนมันตรงนั้นแหละ ไม่ใช่ว่าที่ปฏิบัติอยู่วัดหนองป่าพง

ขออำนวยอวยพรให้ญาติโยมทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ตั้งใจดีแล้ว ตั้งเจตนาดีแล้ว มาถวายผ้าป่าในวันนี้ ขอส่วนคุณงามความดีอันนี้ จงปกปักรักษาญาติโยมทั้งหลาย ที่มีจิตศรัทธาในวันนี้ ผลที่สุดนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงมีส่วนแห่งพระนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้าโน้น

ที่มา หนังสือ พระโพธิญาณเถร
หมายเหตุ : ธรรมบรรยายชุดนี้พิมพ์เป็นหนังสือชุดมรดกธรรม เล่มที่ ๔๘ ชื่อ “อุปสรรคก่อปัญญา” พิมพ์ มิถุนายน ๒๕๔๗




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2552
0 comments
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2552 20:08:50 น.
Counter : 453 Pageviews.


kaoim
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]








Friends' blogs
[Add kaoim's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.