ว่าด้วยเรื่อง "อดีตกรรม-อดีตชาติ" ที่ส่งผลปรุงแต่ปัจจุบันชาติ
อดีตกรรม อดีตกรรม แปลว่า กรรมที่ล่วงเลยมาแล้ว ก็หมายถึง กรรมที่ได้ทำไว้ในอดีต แต่คำว่า อดีต ให้เข้าใจว่าสิ่งที่ผ่านมาแล้วในชาตินี้ และสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีตชาติ หรือชาติปางก่อน คำว่า อดีตในชาตินี้ หรือ อดีตในปัจจุบันชาติ ก็หมายถึง สิ่งที่ผ่านมาแล้วล่วงเลยไปแล้ว มีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ย่อมมีอดีตด้วยกันทุกคน เคยพูด เคยทำเคยคิด มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ เคยทำกรรมทั้งดีและไม่ดีมาแล้ว ซึ่งคนธรรมดาระลึกได้ ระลึกได้ว่า เมื่อวานทำอะไร พูดอะไรคิดอะไร ย้อนไปสัปดาห์ที่แล้วก็พอระลึกได้ ย้อนไปเดือนที่แล้วชักจะจำได้ลางๆ ย้อนไปปีที่แล้วก็ระลึกได้เป็นบางเรื่อง แต่หากมีไอดารี่บันทึกไว้ เปิดกลับไปอ่านก็จะระลึกได้ นี่คือ อดีตในปัจจุบันชาติ คนธรรมดาระลึกได้รู้ได้ ยกเสียแต่เป็นอัลไซเมอร์ ส่วนคำว่า อดีตชาติ คือ ชาติ ภพ ภูมิ ที่แล้ว คนธรรมดาระลึกยากหน่อย อดีตชาติเกิดเป็นอะไร เคยทำอะไรไว้ รู้ได้ยาก บางคนก็ไม่เชื่อว่ามีอดีตชาติ แต่หากนับถือพุทธศาสนาอย่างไม่หวั่นไหว ย่อมมีความเชื่อว่ามีชาติภพภูมิที่แล้ว เมื่อมีอดีตชาติ แน่นอนว่า ย่อมได้ทำ ได้พูด ได้คิดทั้งดีและชั่วไว้ สิ่งที่ทำ พูด คิดไว้นั้นคือ อดีตกรรม ในอดีตชาติ แต่ยากนักที่คนธรรมดาทั่วไปจะระลึกได้ ผู้ที่ระลึกได้ต้องมีบารมีธรรมที่ได้บำเพ็ญไว้ในอดีต และผู้ที่ได้บรรลุ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า และอีกท่านหนึ่ง คือ พระโสภิตะเถระผู้เป็นเอตทัคคะ คือ สุดยอดแห่งพุทธสาวกด้านการระลึกอดีตชาติ (ผู้จะระลึกชาติได้ในปัจจุบันต้องปฏิบัติวิปัสสนา เจริญสติปัฎฐาน ๔โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘) กัมมโยนิ กัมมพันธุ ชาวพุทธเชื่อว่าเรามีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นผ่าพันธ์มีกรรมนำมาปฏิสนธิ คติโบราณท่านกล่าวปริศนาธรรมว่าไว้ว่า สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป สี่คนหาม หมายถึง กายสังขาร ร่างกายเรานี้ ประกอบด้วยธาตุ 4สัมพันธ์กัน คือ ไฟ ดิน ลม น้ำ ช่วยหามคือประคับประคองชีวิต หากขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง ก็คือตาย ไฟ คือระบบพลังงาน ระบบเผาผลาญในร่างกาย ดินคือกระดูก ชิ้นเนื้อ อวัยวะต่างๆ ลม คือลมหายใจ ระบบหมุนเวียน แรงขับดันต่างๆในร่างกาย น้ำ คือของเหลวในร่างกาย เช่นเลือด น้ำเหลือง เป็นต้น สามคนแห่ หมายถึง ไตรลักษณ์ ลักษณะ 3ประการของร่างกาย คือ อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้, ทุกขัง มีความทุกข์, อนัตตา มีอันเสื่อมสิ้นไปไม่มีตัวตน ถึงเวลาก็สูญสลายไป ลักษณะ 3 ประการนี้ เป็นไปกับชีวิต หยุดยั้งและบังคับมิได้ หนึ่งคนนั่งแคร่ หมายถึง จิต ความคิด จิตใจ เป็นผู้สั่งการ สั่งให้สี่คนหาม หรือร่างกาย ไปประกอบกรรมดีหรือกรรมชั่วได้ สองคนพาไป หมายถึง ความดี กับ ความชั่ว เรียกว่า กรรม ทำดีเป็นกรรมดี ทำชั่วเป็นกรรมชั่ว กรรม 2อย่างนี้แหละที่จะเป็นตัวพาจิตไปเกิดในภพภูมิต่างๆ เช่น นรกภูมิ มนุษย์ภูมิ เทวภูมิ กรรมดี-ชั่วจึงเป็นตัวบันดาลผลให้เกิดกับชีวิตกรรมในอดีตจึงเป็นตัวกำหนดชีวิต การกระทำในปัจจุบันจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงแก้ไข และกำหนดอนาคต เรียกว่า ชะตากรรม ชะตากรรม อธิบายคำว่าชะตากรรม เพื่อให้เข้าใจ ก่อนมีการโต้แย้งขึ้นในใจท่าน ขอยกพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.๖) มาเปรียบให้เข้าใจง่าย ดังนี้ ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง ห่อนแก้ ฤาไหว พระราชนิพนธ์นี้แสดงให้รู้ว่า คนเราเกิดมาเหมือนกันในลักษณะทางกายภาพ และกระบวนการ คือถือปฏิสนธิจากการอยู่ร่วมกันของบิดามารดา เจริญเติบโตภายในครรภ์ ครบกำหนดเวลา ๙ เดือนก็ถือกำเนิดจากครรภ์มารดา ถูกเลี้ยงดูประคับประคองมาจนเติบโตอาจจะแตกต่างกันด้วยรูปร่าง ใหญ่ เล็ก อวัยวะส่วนประกอบทั้ง ๓๒ เพศ ผิวพรรณชาติตระกูล ด้านการศึกษา หากมีปัจจัยต่างๆเกื้อหนุนอาจสามารถศึกษาเล่าเรียนได้ทันกันทั้งสิ้น แต่กรรม หรือความดี และความชั่วที่ทำไว้แล้วในอดีตนั้นมิอาจแก้ไขได้ ย่อมได้รับผลของความดีและความชั่วนั้น ดั่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า"กมฺมุนา วตฺตตี โลโก" แปลว่า "สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม"สนับสนุนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนามีความเชื่อเรื่องของกรรม (กัมมสัทธา/กรรมศรัทธา) หรือ การกระทำของตัวเองเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผลตามมา เหตุการณ์ต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องของผลแห่งการกระทำในอดีต (อดีต = สิ่งที่ล่วงไปแล้วรวมถึงชาติกำเนิดที่ผ่านมาแล้ว) ปัจจุบันได้เสวยผลของการกระทำในอดีตปัจจุบันเป็นตัวกำหนดผลกรรมในอนาคต ทำไมเกิดมาจน ? ทำไมเกิดมารวย ? ทำไมเกิดมาจนแล้วร่ำรวยในเวลาต่อมา ? ทำไมเกิดมารูปร่างหน้าตาไม่สมบูรณ์พร้อม? ทำไมเกิดมารูปร่างหน้าตาสวยงาม? ทำไมจึงไม่มีคนรักเลย ? ทำไมจึงมีแต่โรคภัย ? ฯลฯ คำถามเหล่านี้ล้วนมีคำตอบที่หลากหลายเหตุผล แต่สรุปรวมได้ ๑ คำตอบ คือ "กรรม" กรรมเป็นตัวนำให้กำเนิด (กมฺมโยนิ) เป็นเหมือนเผ่าพันธ์พวกพ้อง (กมฺมพนฺธุ)ชีวิตดำเนินไปตามกรรมที่ทำไว้ ทั้งดี และไม่ดี ย่อมได้รับผลทั้งสิ้นและกำหนดมิได้ว่าช้าหรือเร็ว แก้กรรมได้ไหม ? หากจะตอบคำถามนี้ต้องตอบ ๒ ทาง คือ กรรมบางอย่างแก้ได้ กรรมบางอย่างแก้ไม่ได้ และต้อง"ขยายความ" คำว่า "แก้" อีกด้วยเหมือนสัตว์ติดบ่วงที่พรานผูกไว้ ได้เสวยทุกข์จากการติดบ่วงนั้น ต่อมามีคนใจบุญมาแก้บ่วงนั้นให้สัตว์เป็นอิสระนี้เรียกว่า "แก้บ่วง" เหมือนกับ "การแก้บ่วงกรรม"เมื่อเกิดมามีกรรม ก็สามารถแก้ได้ แต่สัตว์นั้น ก็ต้องติดบ่วงและเสวยกรรมจากการติดบ่วงนั้น ภายหลังจึงเป็นอิสระ มิได้ทนทรมานในบ่วงนั้นจนตายกรรมใดที่เราทำไว้ก็เช่นกัน เราต้องได้เสวยกรรมนั้น ต่อเมื่อผลกรรมนั้นหมดไปจึงแก้กรรมได้ วิธีแก้กรรม ก็คือเมื่อรู้ว่าตัวเองทำกรรมอันใดไว้ และได้รับผลอย่างไร ก็ต้องแก้ไขตัวเองเสียใหม่อย่าได้ทำกรรมเช่นนั้นอีก เหมือนสัตว์ที่เคยติดบ่วงเพราะเดินไปในทางที่มีบ่วงดักภายหลังเลี่ยงเดินทางใหม่ที่ไม่มีบ่วง ก็จะไม่ติดบ่วงนั้นอีก คนเราก็เช่นกันเมื่อได้เสวยผลกรรมที่ทำมาแล้ว รู้แล้วว่ากรรมที่ทำนั้น ส่งผลเช่นนี้ก็ไม่ทำกรรมนั้นอีก นี่แหละเรียกว่า "แก้กรรม" เคยทำกรรมชั่วแล้วหันกลับมาทำกรรมดี เรียกว่า "แก้กรรม"แต่อย่างไรก็จะได้รับผลของกรรมที่ทำชั่วนั้นกรรมชั่วนั้นจะติดตามส่งผลในภพชาติต่อๆ ไป จนกว่าผลกรรมนั้นจะหมดสิ้นแต่กรรมดีที่สร้างไว้ใหม่ก็จะส่งผลให้ได้รับผลที่ดีตอบแทนเช่นกัน การแก้กรรมจึงมีความหมายว่า "การแก้ไขตัวเองจากเคยทำชั่วในอดีตให้หันมาทำดีในปัจจุบัน" การแก้กรรม อีกประการหนึ่งคือการได้รับ "การอโหสิกรรม" เป็นการยุติการสร้างกรรมใหม่และเป็นวิธีแก้กรรมเก่า หมายถึงการทำผิดทำชั่วกับใครไว้ ขอให้เขายกโทษอโหสิกรรมให้ ด้วยอุบายวิธีต่างๆ หรือการหยุดจองเวรซึ่งกันและกันเป็นการยุติการสร้างกรรม แต่จริงๆ แล้ว ต้องได้เสวยกรรมจากกรรมที่ทำนั้นมาแล้วรู้ว่าผลที่ทำเป็นอย่างไร อยากพ้นจากกรรมนั้น ก็ทำให้เขาอโหสิกรรมให้ ก็เป็นวิธี"แก้กรรม" แต่มิใช่กรรมทุกอย่างจะได้รับการอโหสิหรือยกโทษไม่ถือสาแล้ว จะพ้นกรรมนั้นได้ คือต้องได้เสวยผลของกรรมนั้น คือการทำ"อนันตริยกรรม" กรรมชั่วที่เสวยผลไม่มีที่สิ้นสุด ได้แก่ ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓. อรหันตฆาตฆ่าพระอรหันต์ ๔. โลหิตุปาททำร้ายพระพุทธเจ้าจนทำให้พระโลหิตห้อ (ห้อเลือด) ๕. สังฆเภท ทำลายสงฆ์ทำให้สงฆ์แตกกัน กรรมนี้ แม้ได้รับการอโหสิกรรมก็ไม่เป็นผล จำต้องได้รับผลของกรรมนั้น แก้ไม่ได้ แต่หันกลับมาทำกรรมดีได้เพื่อเมื่อหลุดพ้นจากผลกรรมนั้นแล้ว จะได้เสวยผลของกรรมดีบ้าง ดังเช่น พระเทวทัตทำอนันตริยกรรม คือทำร้ายพระพุทธเจ้าด้วยการกลิ้งก้อนหินลงมาทับแต่ก้อนหินถูกชะง่อนหินแตกกระจายเป็นสะเก็ดมาตกใส่หลังพระบาท ทำให้ห้อเลือด และพระเทวทัตได้ทำสงฆ์ให้แตกกัน ก่อนสิ้นลมหายใจสำนึกบาปได้ ขออโหสิกรรม แม้พระพุทธเจ้ามิได้ถือโทษใดๆท่านเทวทัตก็ยังได้รับผลกรรมอย่างหนักหนาสาหัสในนรกภูมิ แต่เมื่อสิ้นผลกรรมนั้นผลของกรรมดีที่ได้ทำก่อนสิ้นลมจะส่งผลให้ท่านได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าการทำอนันตริยกรรม จึงเป็นกรรมที่แก้ไม่ได้ หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังได้รับผลของอนันตริยกรรมที่ทำมา ดังเช่น พระมหาโมคคัลลาน์ผู้เป็นอัครสาวกทรงอิทธิฤทธิ์ ก็ถูกพวกนักเลงที่เขาจ้างมาทุบตีจนร่างแหลกเหลวเพราะผลกรรมที่ทุบตีบิดามารดาในอดีตชาติ มีหลายอาจารย์ที่ออกอุบายหรือสร้างความเชื่อว่า.... เมื่อมีเคราะห์กรรมก็ต้องเสดาะเคราะห์ เช่น ปล่อยนก, ปล่อยปลา,ตักบาตรพระ ๑๐๘ รูป, ถวายสังฆทาน ฯลฯ อะไรต่างๆ นี้ เป็นกุศโลบายหรือวิธีแนะนำให้คนสร้างกรรมดี หนีกรรมชั่ว คำว่า สะเดาะเคราะห์ก็คือการออกอุบายให้คนทำความดี หรือเป็นวิธีแก้กรรมอีกอย่างหนึ่งนั่นเอง เหมือนการสะเดาะกุญแจที่ล็อคขังเราไว้ข้างในห้องขัง เปิดโอกาสให้ออกมาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ถึงแม้ท่านจะรู้ว่ากรรมบางอย่างเขาต้องได้เสวยผลก่อน กรรมบางอย่างเขาจะได้รับการอโหสิและกรรมบางอย่างไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ท่านก็มีอุบายให้คนทำความดีสร้างกรรมใหม่ให้เป็นกรรมดี เพราะแม้คนเราเกิดมาจะเคยสร้างกรรมดีหรือชั่วมาในอดีตชาติ แต่เมื่อมีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นภพกึ่งกลางระหว่างสวรรค์ และนรก (ความดี - ความชั่ว)เป็นการกำเนิดเพื่อการสร้างกรรม หากจะเลือกลงนรก ก็เลือกทำกรรมชั่วซึ่งคนชั่วทำได้ง่ายนัก แต่หากจะเลือกขึ้นสวรรค์ ก็เลือกทำกรรมดีซึ่งคนดีทำได้ง่าย แต่คนชั่วทำได้ยาก เรื่องโฆสกะเศรษฐี คำสอนพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ยืนยันยันได้เป็นอย่างดี ว่าคนเรามีอดีตชาติ มีอดีตกรรม ทำกรรมดี ย่อมได้ผลแห่งกรรมดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลแห่งกรรมชั่ว ดังเรื่องโฆสกะเศรษฐี ที่ปรากฏในธรรมบทพระสุตตันตปิฎก ท่าน โฆสกะเศรษฐี มีชีวิตที่พลิกผัน มีชีวิตเฉียดตายหลายครั้งมาตั้งแต่เกิด จากผลกรรมที่ทำไว้ในอดีตชาติ ท่านเป็นเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพีแคว้นวังสะ เป็นผู้สร้าง โฆสิตารามถวายไว้ในพุทธศาสนา กรรมในอดีตชาติของท่านโฆสกเศรษฐี อดีตชาติของท่านโฆสกเศรษฐี เกิดเป็นชาวอัลลกัปปะ ชมพูทวีป มีชื่อว่า โกตุหะลิกะ มีภรรยาชื่อว่า กาลี ภรรยาเพิ่งคลอดลูกได้ไม่กี่วัน ก็ต้องพากันออกจากบ้านเพราะเกิดทุพภิกขภัยแห้งแล้ง ข้าวปลาอาหารหายากโกตุหลิกจึงตัดสินใจพาภรรยาและลูกน้อยเพิ่งคลอดเดินทางอพยพไปสู่กรุงโกสัมพีระหว่างทางอาหารที่มีติดตัวมาเพียงน้อยนิดก็หมดลงโกตุหลิกบอกภรรยาว่าอาหารเราหมดแล้ว เราไม่อาจไปถึงโกสัมพีได้เราจำเป็นต้องทิ้งลูก วันหน้าถึงโกสัมพีแล้วค่อยมีลูกกันใหม่ แต่นางกาลีไม่ยอม สองสามีภรรยาเดินทางต่อไปผลัดกันอุ้มลูกน้อยคราวหนึ่งโกตุหลิกอุ้มลูกเดินตามหลังปล่อยให้นางกาลีเดินล่วงหน้าไปไกลเมื่อได้โอกาสจึงแอบวางลูกทิ้งไว้ใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่งนางกาลีหันกลับมาไม่เห็นลูกก็ร้องไห้คร่ำครวญ ให้โกตุหลิกเดินย้อนกลับไปรับลูกโกตุหลิกจำใจย้อนไปรับลูก แต่ลูกถูกมดกัดเสียชีวิตใต้พุ่มไม้ เกิดเป็นสุนัข โกตุหลิกกับภรรยาเดินทางต่อไปจนถึงเรือนนายโคบาลคนหนึ่งทั้งสองแวะเข้าไปขออาหารนายโคบาลเป็นคนใจบุญหุงข้าวปายาสไว้ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกวันจึงแบ่งข้าวปายาสให้สองสามีภรรยากิน นางกาลีแบ่งข้าวปายาสส่วน ของตนให้สามีบอกว่าท่านอดข้าวมาหลายวันให้ท่านบริโภคให้เพียงพอก่อนโกตุหลิกจึงกินข้าวปายาสจำนวนมากให้สมกับที่อดอยากมาถึง ๗-๘ วันกินไปก็มองดูนางสุนัขของนายโคบาลไป คิดว่าสุนัขตัวนี้มีบุญได้กินอาหารแบบนี้ทุกวันจนอ้วนพี ส่วนตนเองนานๆ จึงจะได้กินสักที ด้วยการบริโภคมากเกินไปข้าวปายาสจึงไม่ย่อย คืนนั้นโกตุหลิกจึงตาย และด้วยอกุศลจิตก่อนตายที่อิจฉาความเป็นอยู่ของสุนัข โกตุหลิกจึงไปเกิดในท้องนางสุนัขตัวนั้นส่วนนางกาลีเมื่อสามีตายหมดที่พึ่งแล้ว จึงอยู่ทำงานในเรือนของนายโคบาลนั้นเองวันใดได้ค่าแรงเป็นข้าวสาร นางก็จัดการหุงแล้วใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ถ้าวันไหนไม่มีข้าวนางก็ขวนขวายช่วยงานด้วยความเลื่อมใส จากสุนัขเป็นโฆสกเทพบุตร โกตุหลิกเกิดเป็นสุนัขได้รับก้อนข้าวจากพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นประจำจึงมีความเคารพรักในพระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อนายโคบาลไปสำนักพระปัจเจกพุทธเจ้าสุนัขนั้นก็ตามไปด้วยได้เห็นนายโคบาลเอาไม้ตีพุ่มไม้ข้างทางเพื่อขับไล่สัตว์ร้ายให้หนีไปสุนัขก็จดจำไว้ วันหนึ่งนายโคบาลทูลพระปัจเจกพุทธเจ้าว่าหากวันใดไม่สามารถมานิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ด้วยตนเองก็จะส่งสุนัขตัวนี้มาขอให้พระปัจเจกพุทธเจ้าพึงทราบว่าตนได้ส่งมานิมนต์ หลังจากวันนั้นเมื่อนายโคบาลไม่ว่างก็จะใช้ให้สุนัขนั้นไปพาพระปัจเจกพุทธเจ้ามารับบิณฑบาตที่เรือนสุนัขนั้นก็จะไปที่หน้าที่พำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้า เห่า ๓ครั้งให้รู้แล้วนอนหมอบรออยู่เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าออกมาสุนัขก็จะเดินนำไปข้างหน้า ระหว่างทางสุนัขก็จะเที่ยวเห่าใส่สุมทุมพุ่มไม้และที่รกเพื่อขับไล่สัตว์ร้ายตามแบบที่จำมาจากนายโคบาล บางครั้งพระปัจเจกพุทธเจ้าจะทดสอบความแสนรู้ของสุนัขจึงแกล้งเดินผิดทาง สุนัขก็จะไปยืนขวางไว้ บางครั้งก็คาบชายผ้าดึงกลับมาให้ถูกทาง กาลเวลาผ่านไป วันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้ามาบอกนายโคบาลว่าจะย้ายไปอยู่ที่อื่นสุนัขนั้นอาลัยรักพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก ยืนเห่าส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหาะไป พอพระปัจเจกพุทธเจ้าลับไปจากสายตาสุนัขนั้นก็ดวงใจแตกดับ ไปเกิดเป็นเทพบุตรในเทวโลก มีนางอัปสรแวดล้อม ๑,๐๐๐ นาง เป็นเทพบุตรผู้มีเสียงดังมากเพราะอานิสงส์การเห่าไล่สัตว์ร้ายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงมีนามว่า โฆสกเทพบุตร เกิดใหม่ในโกสัมพี โฆสกเทพบุตรเสวยสมบัติอยู่ในเทวโลกไม่นานเพราะมัวแต่เพลินบริโภคกามคุณ จึงจุติไปเกิดเป็นบุตรหญิงงามเมือง(โสเภณีชั้นสูง ไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง) ในกรุงโกสัมพีแต่การเป็นหญิงงามเมืองหากมีบุตรจะเลี้ยงไว้เฉพาะบุตรสาวเพื่อสืบทอดอาชีพ แต่เมื่อคลอดบุตรเป็นชายนางจึงนำทารกน้อยใส่กระด้งไปทิ้งในกองหยากเยื่อด้วยอานิสงส์เคยดูแลไล่สัตว์ร้ายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ามาก่อน ทารกน้อยในกองหยากเยื่อจึงรอดพ้นอันตรายจากสัตว์ร้ายจนมีหญิงคนหนึ่งมาพบเข้าและนำทารกกลับไปเรือน วันนั้นเศรษฐีชาวเมืองโกสัมพีคนหนึ่งเข้าไปในราชสำนักได้ยินปุโรหิตบอกว่าเด็กที่เกิดวันนี้เป็นผู้มีบุญมากอนาคตจะได้เป็นมหาเศรษฐีของเมือง เศรษฐีจึงให้คนใช้กลับไปดูที่เรือนว่าภรรยาของตนซึ่งมีครรภ์แก่คลอดบุตรหรือยัง ปรากฏว่าภรรยายังไม่คลอดเศรษฐีจึงให้หญิงคนใช้อีกคนชื่อ กาลี ไปตามหาทารกชายที่เกิดวันนี้ให้พบพบแล้วให้ใช้ทรัพย์พันหนึ่งแลกทารกนั้นกลับมา ซึ่งนางกาลีก็สามารถหาทารกน้อยนั้นจบพบและพากลับมาให้เศรษฐี เศรษฐีเลี้ยงดูทารกนั้นไว้ คิดว่าถ้าลูกของตนเป็นลูกสาวก็จะให้แต่งงานกับเด็กคนนี้ที่จะได้เป็นมหาเศรษฐี แต่ถ้าเป็นชายเศรษฐีก็จะฆ่าเด็กนี้ทิ้งเสียเพื่อให้ลูกชายตนเองครองตำแหน่งมหาเศรษฐีแทน ถูกทิ้งถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อมาภรรยาเศรษฐีคลอดบุตรเป็นชายเศรษฐีจึงคิดจะฆ่าทารกที่เลี้ยงไว้ เศรษฐีสั่งให้นางกาลีนำทารกไปวางขวางกลางประตูคอกโคหวังจะให้แม่โคเหยียบให้ตายตอนนายโคบาลปล่อยโคออกจากคอกแต่โคนายฝูงออกมายืนคร่อมทารกไว้ไม่ให้ทารกถูกแม่โคตัวอื่นเหยียบนายโคบาลสังเกตเห็นผิดปกติที่โคนายฝูงปกติจะออกจากคอกหลังสุดแต่วันนี้กลับออกจากคอกก่อน แถมยังยืนนิ่งขวางทางอยู่จึงเดินไปดูเมื่อเห็นทารกนอนอยู่ก็เกิดความรักนำกลับไปเลี้ยงดูเศรษฐีรู้ว่านายโคบาลนำทารกไปเลี้ยงจึงให้นางกาลีไปไถ่ตัวกลับมาด้วยทรัพย์พันหนึ่ง เศรษฐีสั่งให้นางกาลีนำทารกไปวางขวางทางขบวนเกวียน๕๐๐ เล่มที่พ่อค้าขับไปค้าขายแต่เช้ามืดแต่โคนำขบวนกลับหยุดขวางทางไว้ไม่ยอมลากเกวียนไปต่อหัวหน้าขบวนเกวียนรอจนฟ้าสว่างจึงเห็นว่ามีทารกนอนอยู่ เขาจึงนำทารกลับไปเลี้ยงแต่เศรษฐีก็ให้นางกาลีไปขอไถ่ตัวกลับมาอีกด้วยทรัพย์พันหนึ่ง เศรษฐีสั่งให้นางกาลีนำทารกไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ สถานที่ทิ้งศพ หวังจะให้ทารกถูกสุนัขป่าหรืออมนุษย์ฆ่าให้ตายครั้งนั้นนายอชบาลคนเลี้ยงแพะ ต้อนฝูงแพะหลายพันตัวผ่านมาแม่แพะตัวหนึ่งหยุดให้นมทารก นายอชบาลเห็นจึงนำทารกกลับไปเลี้ยงเศรษฐีรู้จึงให้นางกาลีไปขอไถ่ตัวกลับมาอีกด้วยทรัพย์พันหนึ่ง เศรษฐี สั่งให้นางกาลีนำทารกไปทิ้งที่เหวทิ้งโจรแต่ทารกก็ปลอดภัยเพราะตกลงบนพุ่มไม้ไผ่หัวหน้าช่างจักสานมาตัดไม้ไผ่พบเข้าจึงพากลับไปเลี้ยงเศรษฐีรู้จึงให้นางกาลีไปขอไถ่ตัวกลับมาอีกด้วยทรัพย์พันหนึ่ง เศรษฐีพยายามฆ่าเด็กหลายครั้งแต่ไม่ตายจึงจำต้องเลี้ยงไว้จนเติบใหญ่ มีชื่อว่า โฆสกะ ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว เศรษฐีจำใจเลี้ยงโฆสกะไว้เป็นหนามยอกอก ในใจไม่เคยล้มเลิกความคิดที่จะฆ่าโฆสกะเลยวันหนึ่งเศรษฐีแอบไปว่าจ้างช่างหม้อคนหนึ่งบอกว่าจะส่งบุตรชาติชั่วมาให้ฆ่าให้ช่างหม้อจัดการหั่นให้เป็นท่อน แล้วใส่เตาเผาให้หมดอย่าให้เหลือซาก ช่างหม้อเห็นแก่เงินจึงรับจะจัดการให้ วันรุ่งขึ้นเศรษฐีสั่งให้โฆสกะไปเรือนช่างหม้อบอกช่างหม้อว่าให้เร่งทำงานที่เศรษฐีสั่งไว้ให้เสร็จเร็วๆ โฆสกะก็ไปเพราะไม่รู้ระหว่างทางพบลูกชายเศรษฐีกำลังเล่นพนันอยู่กับเพื่อนๆ แต่ลูกชายเศรษฐีแพ้พนันไปแล้วหลายครั้งจึงขอร้องให้โฆสกะช่วยเล่นแทนส่วนตัวเขาอาสาไปหาช่างหม้อแทน วันนั้นโฆสกะจึงได้อยู่เล่นสนุกตลอดทั้งวัน ตกเย็นโฆสกะเลิกเล่นกลับเข้าเรือนเศรษฐีพอเห็นโฆสกะก็ตกใจสอบถามรู้ว่าบุตรชายของตนไปแทนโฆสกะจึงรีบวิ่งไปเรือนช่างหม้อแต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว เพราะบุตรชายของตนถูกฆ่าและเผาแล้วไปแล้ว โฆสกะแต่งงาน เศรษฐีแค้นโฆสกะมากยิ่งขึ้น ครุ่นคิดหาวิธีจะฆ่าโฆสกะให้ได้จึงออกอุบายให้โฆสกะไปส่งจดหมายให้คนเก็บส่วยในชนบท โฆสกะบอกว่าตนยังไม่ได้กินข้าวเลย เศรษฐีบอกว่าระหว่างทางในชนบทมีเรือนของคามิกเศรษฐีซึ่งเป็นเพื่อนกันให้โฆสกะแวะกินข้าวที่เรือนนั้น โฆสกะไม่รู้หนังสือจึงเอาจดหมายผูกชายผ้าเดินทางไป เมื่อเดินทางถึงเรือนคามิกเศรษฐี โฆสกะจึงแวะเข้าไปหาภรรยาคามิกเศรษฐีแนะนำตัวเองว่าชื่อโฆสกะเป็นบุตรของเศรษฐีในเมืองชื่อโฆสกะ ภรรยาเศรษฐีรู้สึกเมตตาจึงจัดข้าวปลาอาหารให้กินและให้นางทาสีพาโฆสกะไปนอนพักผ่อน นางทาสีคนนั้นเป็นทาสีของธิดาเศรษฐีเมื่อนางจัดเตรียมที่นอนให้โฆสกะเรียบร้อยแล้วจึงไปรับใช้ธิดาเศรษฐีตามปกติธิดาเศรษฐีถามว่าทำไมวันนี้นางทาสีจึงมาช้านัก นางทาสีบอกว่านายหญิงให้ไปจัดที่นอนให้แขกคนหนึ่งเป็นชายหนุ่มรูปหล่อชื่อโฆสกะ พอธิดาเศรษฐีได้ยินชื่อโฆสกะ นางก็บังเกิดความรักเฉือนเข้าไปถึงกระดูกเพราะธิดาเศรษฐีนี้คือนางกาลีอดีตภรรยาโฆสกะเมื่อครั้งที่เป็นนายโกตุหลิก นั่นเองความรักของนางเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุเคยอยู่ร่วมกันในกาลก่อน หรือเรียกว่าบุพเพสันนิวาส ธิดาเศรษฐีแอบไปดูโฆสกะที่นอนหลับอยู่และหยิบหนังสือที่ชายผ้าเปิดอ่าน ในหนังสือนั้นบอกให้นายส่วยฆ่าโฆสกะทันทีที่ไปถึง ธิดาคามิกเศรษฐีพอรู้ว่าโฆสกะถูกหลอกไปฆ่าจึงคิดวิธีช่วยเหลือ จัดการแปลงสารด้วยข้อความใหม่ว่า ลูกชายของเราคนนี้ชื่อ โฆสกะท่านจงทำธุระให้เขาทำการมงคลกับธิดาคามิกเศรษฐีด้วยบรรณาการจากบ้านส่วย ๑๐๐ บ้านปลูกเรือน ๒ ชั้นให้เป็นที่อยู่ สร้างรั้วให้แข็งแรงและจัดเวรยามดูแลให้ดีแล้วส่งข่าวกลับไปบอกด้วยว่าท่านทำการเสร็จแล้ว เราจักสมนาคุณท่านในภายหลัง เมื่อแปลงสารเสร็จแล้วธิดาเศรษฐีก็พับจดหมายคืนที่เดิม วันรุ่งขึ้นโฆสกะเดินทางต่อจนถึงเรือนของนายส่วย เมื่อได้อ่านจดหมายแล้ว นายส่วยจึงจัดงานอาวาหมงคลให้ โฆสกะกับธิดาคามิกเศรษฐีแล้วส่งข่าวให้เศรษฐีโกสัมพีทราบว่างานที่สั่งให้ทำสำเร็จแล้ว เศรษฐีล้มป่วยเพราะความแค้น เศรษฐีอ่านจดหมายนายส่วยจบก็เสียใจและแค้นใจ บุตรชายตัวเองหวังจะให้เป็นมหาเศรษฐีก็มาตายส่วนโฆสกะพยายามฆ่ามาหลายครั้งไม่เคยสำเร็จด้วยความแค้นและความเสียใจสุมเต็มอกเศรษฐีจึงล้มป่วยลง เศรษฐีตั้งใจว่าจะไม่ยอมยกสมบัติของตัวเองให้โฆสกะอย่างเด็ดขาดจึงส่งคนรับใช้ให้ไปตามโฆสกะมาหา แต่ภรรยาโฆสกะคอยดักไว้ไม่ให้พบนางถามถึงอาการเศรษฐีว่าเป็นอย่างไรบ้าง คนรับใช้บอกว่ายังมีกำลังดีอยู่นางจึงจัดที่พักให้บอกว่าให้อยู่ที่นี่ก่อนอย่าเพิ่งกลับ เศรษฐีส่งคนรับใช้ไปอีกภรรยาโฆสกะก็จัดที่พักให้เหมือนคนก่อน จนถึงคนรับใช้คนที่สามมาบอกว่าเศรษฐีอาการเพียบหนักใกล้ตายแล้วภรรยาโฆสกะจึงบอกให้สามีเตรียบรรณาการจากบ้านส่วย ๑๐๐ บ้านใส่เกวียนไปเยี่ยมเศรษฐี เมื่อไปถึงเรือนเศรษฐีภรรยาบอกให้โฆสกะไปยืนทางปลายเท้า ส่วนนางยืนทางด้านศีรษะ เศรษฐีเห็นโฆสกะมาแล้วจึงเรียกเสมียนมาถามว่าในเรือนของฉันมีทรัพย์อยู่เท่าไร นายเสมียนตอบว่ามีทรัพย์อยู่ ๔๐ โกฏิและเครื่องอุปโภคบริโภคบ้าน นา สัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ยานพาหนะ มีอีกจำนวนหนึ่ง เศรษฐีจะประกาศว่า ฉันไม่ให้ทรัพย์แก่โฆสกะ แต่ด้วยอาการไข้หนักเศรษฐีกลับพูดผิดว่า ฉันให้.. ภรรยาโฆสกะที่รอท่าอยู่พอได้ยินเศรษฐีพูดเพียงเท่านี้นางเกรงว่าเศรษฐีจะพูดคำอื่นอีกจึงแสร้งทำเป็นเศร้าโศกโถมศีรษะลงกลิ้งเกลือกบนอกเศรษฐี แสดงอาการร้องไห้คร่ำครวญจนเศรษฐีไม่อาจพูดได้อีกแล้วเศรษฐีก็ขาดใจตาย เป็นโฆสกะเศรษฐี เมื่อพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพีทรงทราบว่าเศรษฐีถึงแก่อนิจกรรมแล้วจึงรับสั่งให้โฆสกะไปเข้าเฝ้า พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้สืบต่อจากบิดา โฆสกะรับตำแหน่งเศรษฐีแล้วจึงขึ้นรถแห่ประทักษิณพระนครแล้วกลับมาเรือน ภรรยาโฆสกเศรษฐีเล่าให้นางกาลีฟังว่าเพราะนางแอบแปลงจดหมาย วันนี้โฆสกะจึงได้ตำแหน่งเศรษฐีนางกาลีก็เล่าให้นางฟังบ้างว่าเศรษฐีพยายามฆ่าโฆสกะมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ยังเป็นทารกใช้ทรัพย์ไปมากมายแต่ก็ไม่สามารถฆ่า โฆสกะได้พอรู้ดังนั้นแล้วภรรยาโฆสกะจึงหัวเราะ โฆสกเศรษฐีเข้าเรือนมา เห็นภรรยาหัวเราะจึงถามว่าหัวเราะอะไรภรรยาไม่ยอมบอก โฆสกเศรษฐีชักดาบขู่ว่าถ้าไม่บอกเราจะฟันให้ขาดเป็น ๒ ท่อนภรรยาจึงบอกว่า สมบัติทั้งหลายนี้ท่านได้มาเพราะดิฉัน แล้วภรรยาก็เล่าเรื่องราวให้สามีฟังโฆสกเศรษฐีไม่เชื่อ ภรรยาจึงให้นางกาลีมายืนยันอีกคน ฟังแล้วโฆสกเศรษฐีจึงคิดว่าเราทำกรรมหนักไว้หนอจึงได้ผลเช่นนี้ ต่อไปเราจะไม่เป็นผู้ประมาทอีก คิดดังนั้นแล้วเศรษฐีจึงให้ตั้งโรงทาน สละทรัพย์วันละพันเพื่อสงเคราะห์คนเดินทางไกลและคนกำพร้า ตั้งโรงทานสงเคราะห์คนยากไร้ ต่อมาเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงสร้างโฆสิตารามถวายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ผลจากอดีตกรรม ทำให้ชีวิตเป็นไปต่างๆ นานา ทั้งดีและชั่ว สุดท้ายท่านเศรษฐีเลือกทำปัจจุบันกรรมให้ดี เมื่อย้อนกลับมาดูชีวิตเราเอง ปัจจุบันเราเป็นอะไร เคยทำกรรมอันใดไว้ชีวิตจึงเป็นเช่นนี้ กรรมนั้นจะให้ผลอย่างไร ถึงเมื่อไหร่ ? มีวิธีแก้ไขอะไรได้หรือไม่ ? คำถามเหล่านี้ ขอยกอุทาหรณ์ 2 เรื่อง ดังนี้ ตัวอย่างในพุทธกาล เรื่องพระสารีบุตร ในครั้งพุทธกาล พระสารีบุตรและภิกษุอื่นๆ ให้บรรพชาแก่สามเณรแล้ว ก็ให้พรแก่สามเณร แต่เมื่อถึงลำดับเณรบวชใหม่รูปหนึ่งท่านก็ไม่ให้พร ให้มีอายุยืน เพราะมองเห็นวิบากกรรมของสามเณรว่าถึงเวลาที่จะมรณะแล้ว พระสารีบุตรได้เล็งเห็นว่า สามเณรองค์นี้จะมรณะในอีก7 วัน จึงอนุญาตให้เณรกลับไปเยี่ยมบ้านเพื่อโปรดญาติโยมทางบ้านเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อผ่านไปเจ็ดวันเณรได้กลับมายังอารามเหมือนเดิม พระสารีบุตรเองแปลกใจว่าเพราะเหตุใดเณรคนนั้นไม่ตาย ท่านจึงได้สอบถามเณรว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง ระหว่างทางไปและกลับเณรได้แถลงไขว่า ระหว่างทางที่ไปนั้น ได้พบปลาจำนวนหนึ่งตกคลักในหนองน้ำที่ใกล้แห้งจึงได้เอาจีวรช้อนขึ้นมาไปปล่อยในแหล่งน้ำที่ใกล้ๆ ด้วยญาณแห่งพระสารีบุตร ท่านก็ทราบได้ว่า ปลาเหล่านั้นคืออดีตเจ้ากรรมนายเวรของเณรผู้นั้นเอง และเมื่อเณรได้นำปลาไปปล่อยในแหล่งน้ำเท่ากับว่าได้ทำบุญ ต่ออายุให้กับตัวเอง และเจ้ากรรมนายเวรนั้นจึงได้อโหสิกรรมให้เณร ตัวอย่างเหตุปัจจุบัน หลวงพ่อจรัญ หลวงพ่อจรัญทำนายว่า.....อาตมาจะมรณภาพวันที่14 ตุลาคม 2521 เวลาเที่ยง 12.45น.ด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำคอหักตาย เมื่อถึงเวลานั้นท่านก็เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ จริงๆแต่ท่านไม่ตาย ด้วยเหตุที่ หลวงพ่อจรัญได้สำนึกบาปที่ฆ่าหักคอไก่จำนวน มากและแผ่เมตตาให้ไก่เหล่านั้น ไก่เหล่านั้นเลยให้อภัยท่านแม้จะคอหักแต่ไม่ตาย เรื่องนี้ท่านไปหาอ่านจากหนังสือประวัติของหลวงพ่อท่านได้เลย เรื่องสามเณรศิษย์ของพระสารีบุตร ประสบพบเห็นสัตว์ที่เคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอด สามเณรไปช่วยไว้เหมือนชีวิตไถ่ชีวิต ส่วนท่านหลวงพ่อจรัญมองเห็นกรรมเก่าที่จะให้ผล(ตามพรหมลิขิต/กฎแห่งกรรม)ท่านเห็นกรรมใหม่ที่จะให้ผล ท่านทำกรรมใหม่ คือ สำนึกบาปขออโหสิกรรมที่ฆ่าหักคอไก่จำนวนมากและแผ่เมตตาให้ไก่เหล่านั้น แต่ท่านก็ยังประสบอุบัติเหตุรถคว่ำคอหัก แต่ท่านไม่มรณภาพ เหมือนได้รับการอโหสิวินาทีสุดท้าย เรื่องผลแห่งอดีตกรรม หากไม่ประสบด้วยตนเอง คงไม่ซึ้งไม่ทราบถึงหัวใจ บางคนไม่มีคนชี้บอก จึงไม่รู้ทางแก้ไข หรือแก้ไขผิดวิธี ต้องให้ผู้มีญาณวิเศษ เรียกว่าบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นความสามารถระลึกชาติได้ ซึ่งในโลกนี้มีไม่กี่คน ปัจจุบันมีกล่าวอ้าง แต่หลอกลวงก็มีมาก เรื่องนี้ถ้าพูดถึงก็ยาว....ส่วนในด้านโหราศาสตร์ ไม่ต้องอาศัยญาณวิเศษ เราดูจากดวงดาวในดวงชะตานี่แหละ ตามตำราที่บูรพาจารย์สั่งสอน เหมือนมีญาณหยั่งรู้ พิสูจน์กันดูได้ เมื่อหมอดู ดูอดีตกรรมได้ ย่อมเป็นแนวทางแห่งการแนะนำให้เจ้าชะตา ปรับเปลี่ยนชีวิตไปในทางที่ดี ตั้งอยู่ในวิถีแห่งสัมมาทิฏฐิ
แต่บางท่าน เมื่อรู้อดีตกรรมเจ้าชะตา ก็หาอุบายเพื่อการพานิชย์ หากเจ้าชะตายินดีสมยอม ก็ไม่ตำหนิอันใด แต่หากบังคับขู่เข็ญเพื่อลาภสักการะของตน ท่านนั้นย่อมเสื่อมตามคำสาปแช่งของบูรพาจารย์
ช.ชินวัฒน์ ป.ธ.๙
Create Date : 11 พฤษภาคม 2555 | | |
Last Update : 11 พฤษภาคม 2555 12:47:31 น. |
Counter : 8432 Pageviews. |
| |
|
|
|