รู้รอบ เข้าใจชัด กับเรื่อง "บังสุกุล" (ตอนกลาง)

          คราวก่อนพูดถึงเรื่องบังสุกุล ในความหมายของ "ผ้า" บังสุกุล   คราวนี้ก็จะกล่าวถึงเรื่องบังสุกุล  ต่อจากคราวที่แล้ว


          ได้กล่าวแล้วว่า  คำว่า ผ้าบังสุกุล ได้เปลี่ยนความหมายไป จากเดิมที่เป็นที่เขาทิ้งแล้ว ทิ้งไว้ตามป่า ตามกองขยะ  แล้วพระสงฆ์ก็ไป "ชัก" ผ้านั้นมา เพื่อทำเป็นจีวร   แต่ปัจจุบัน ความหมายเปลี่ยนไปเป็น  ผ้าที่ถวายในงานศพ หรือ ผ้าที่ถวายในการอุทิศส่วนบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับ


          ทีนี้ ในการ "ถวายผ้าบังสุกุล" ในงานศพ หรือถวายในโอกาสการบำเพ็ญกุศลแด่ผู้ล่วงลับนั้นเอง  เมื่อพระสงฆ์ จะ "ชัก" ผ้านั้น หรือหยิบผ้านั้น ในขณะที่มีผู้ทอดถวายแล้ว  ท่านก็จะกล่าว คาถา (คาถา ในที่นี้ หมายถึงบทร้อยกรองที่เป็นภาษาบาลี ไม่ใช่คาถาอาคมทำให้ขลัง)  อยู่สองบท ที่เรียกกันว่า  "คำพิจารณาผ้าบังสุกุล"  หรือ "บทบังสุกุล"  ซึ่งมีสองบท  และเรียกต่างกัน เป็น สองแบบ คือ



๑. บท บังสุกุลตาย  
กล่าวว่า


                   อนิจจา  วะตะ  สังขารา                  อุปปาทะวะยะธัมมิโน
                   อุปปัชชิตฺวา  นิรุชฌันติ                 เตสัง วูปะสะโม สุโข


(แปลว่า)


                   สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ         มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
                   เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป                   ความสงบระงับในสังขารเหล่านั้น เป็นสุข



         
อธิบาย บทบังสุกุลตาย ดังนี้ว่า  สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงแท้   เมื่อสังขารเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา  หากสงบระงับ คือปล่อยวาง ความยึดมั่นถือมั่นในสังขารเหล่านั้นได้ ย่อมเป็นสุข



         
คำว่า เป็นสุข  ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ตายแล้วเป็นสุข  แต่หมายถึง การระงับดับในการเกิดสังขาร ในวัฏฏะสงสารทั้งหลายได้  (อาจรวมถึง การคลายความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ในสังขารด้วย)  ซึ่งหมายถึง นิพพาน
   ดังในอรรถกถาชาดก ได้อธิบายว่า     บทว่า  เตสํ  วูปสโม  สุโข  ความว่า  ..... สภาพที่ชื่อว่าระงับเสียซึ่งสังขารเหล่านั้น   เพราะระงับดับเสียได้  ซึ่งวัฏฏะทั้งมวล   ได้แก่พระนิพพาน   และพระนิพพาน  นี้อย่างเดียวเท่านั้น    ชื่อว่าเป็นสุขโดยส่วนเดียว



๒. บท  บังสุกุลเป็น  กล่าวว่า



                            
อะจิรัง วะตะยัง กาโย          ปะฐะวิง  อะธิเสสะติ
                             ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโร      นิรัตถังวะ  กะลิงคะรัง


(แปลว่า)


                             "ไม่นานหนอ            กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน.  
                             กายนี้  มีวิญญาณไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว,   
                             เป็นราวกับท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น."



         
อธิบายบทบังสุกุลเป็น ดังนี้ว่า .... 
อีกไม่นาน ร่างกายนี้ จะต้องทอดลงบนแผ่นดิน (ตาย)  เมื่อกายนี้ไม่มีวิญญาณแล้ว (ไม่สามารถรับรู้อะไรได้แล้ว เพราะตายแล้ว)  บุคคลทั้งหลายก็ทอดทิ้งไป  เหมือนกับคนทิ้งท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์



         
จากความหมายของคาถาทั้งสองบท   ที่  เรียกกันไปเอง  ว่า บังสุกุลตาย   บังสุกุลเป็น  นั้น  สรุปแล้วก็คือ   เป็นคาถาที่เตือนให้พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขารร่างกายนั่นเอง  ว่า สังขารร่างกายนี้  ย่อมเกิดดับเป็นธรรมดา  และถึงจะยังไม่ตายก็ตาม  แต่อีกไม่นาน ร่างกายนี้ก็ย่อมแตกดับไป ทอดลงบนแผ่นดิน  บุคคลทั้งหลายก็ทอดทิ้งร่างกายนั้น เพราะไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว เหมือนกับคนที่ทิ้งท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์



         
โดยความหมายของคาถาทั้งสองบทนี้ ที่จริงแล้วก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันมากนัก  แต่เหตุไฉน ครูบาอาจารย์ท่านจึงเรียกแยกเป็นสองส่วน  คือบทหนึ่ง เรียกว่า บังสุกุลตาย อีกบท เรียกว่า บังสุกุลเป็น   ข้อนี้วินิจฉัยได้ดังนี้ว่า


         


          คาถาบทแรกนั้น (อะนิจจา วะตะ สังขารา) ในพระไตรปิฎก  มักเป็นคำกล่าวเมื่อพูดถึงมรณกรรม ของบุคคลต่างๆ  ยกตัวอย่างเช่น  


          - เมื่อคราวที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดับขันธ์ปรินิพพาน  พระอินทร์ หรือท้าวสักกะ ได้กล่าวคาถาแสดงความสังเวช ในการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  ซึ่งก็คือ บท อนิจจา วะตะ สังขารา นี้เอง   (มหาปรินิพพาน ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อที่ ๑๔๗)


          - พระมหาโมคคัลลานะเถระ ได้กล่าวถึงการปรินิพพานของพระสารีบุตรเถระ เป็นคาถา ความว่า


                   เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระ ผู้เพียบพร้อมไปด้วยอุฏฐานะ เป็นอันมาก 
                   มีศีลสังวรเป็นต้น นิพพานไปแล้ว ก็เกิดเหตุน่าสะพึงกลัว ขนพอง  
                   สยองเกล้า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อม  
                   ไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับ  
                   เป็นสุข ชนเหล่าใดพิจารณาเห็นเบญจขันธ์ โดยความเป็นของแปรปรวน  
                   และโดยไม่ใช่ตัวตน ชนเหล่านั้น ชื่อว่าแทงตลอดธรรมอันละเอียด 


          (มหาโมคคัลลานะเถรคาถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ข้อที่ ๔๐๐)


          นอกจากที่เป็นคาถา กล่าวปรารภมรณกรรมของบุคคลแล้ว  ก็ปรากฏในภาษิตคาถาของพระเถระบางรูปบ้าง ( เช่น ธัมมะสวนิยะเถราปทาน  ขุททกนิกาย เถราปทาน  ข้อที่ ๓๔๑) เป็นภาษิตของพระโพธิสัตว์บ้าง  ( ดังในปรากฏใน มหาสุทัสสนชาดก  ขุททกนิกาย ชาดก ข้อที่ ๙๕ )


          เมื่อบท อนิจจา วะตะ  สังขารา ฯ นั้น มักกล่าวถึงความตาย เป็นส่วนมาก  เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เป็นบทบังสุกุลตาย


          ส่วนบทที่เรียกกันว่า บังสุกุลเป็น คือ  อะจิรัง วะตะ ยัง กาโย ฯ  นั้น เท่าที่ค้นคว้าได้จนตอนนี้ ยังไม่พบในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆเลย  นอกจากในขุททกนิกาย ธรรมบท และคาถานี้  เป็นคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนกับ พระปูติคัตตะติสสะเถระ ผู้ป่วยเป็นโรคตุ่มแผลเน่าเต็มตัว


          เนื้อหาโดยย่อของเรื่องนี้ก็คือ  พระปูติคัตตะติสสะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว มีศรัทธา จึงได้ออกบวช กาลเวลาต่อมา  ท่านเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง    มีตุ่มเกิดขึ้นตามร่างกาย ตุ่มนั้นได้ใหญ่ขึ้นจากขนาดเพียงเมล็ดผักกาด เป็นขนาดตุ่มเท่าผลมะตูม และตุ่มนั้นก็แตก  เป็นแผลเน่า  ร่างกายเต็มไปด้วยเลือดและหนอง   พวกภิกษุลูกศิษย์ไม่สามารถอยู่ดูแลท่านได้  จึงละทิ้งท่านไป


          พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณว่า พระปูติคัตตะติสสะ มีโอกาสจะได้บรรลุธรรม และท่านก็ไม่มีพระภิกษุอื่นดูแล จึงได้เสด็จไปพบท่านพระติสสะนั้น  และทรงพยาบาลดูแลท่าน ด้วยพระองค์เอง ( ภายหลังพระภิกษุรูปอื่นได้มาพบ จึงมาขอช่วยพระองค์ในการพยาบาลพระปูติคัตตะ ฯ ด้วย ) เช่น เช็ดเลือดที่ติดตามตัว อาบน้ำอุ่นให้ เช็ดตัวให้แห้ง ให้นุ่งห่มผ้าที่ซักล้างจนแห้งแล้ว 


          เมื่อท่านพระปูติคัตตะติสสะ  ได้สรงน้ำอุ่น เลือดและหนองตามตัวถูกชำระล้าง มีร่างกายเบาสบายขึ้นแล้ว  พระองค์ทรงประทับยืนที่ด้านศีรษะของท่าน แล้วตรัสแสดงธรรม มีคำว่า "อะจิรัง วะตะยัง กาโย ฯ " เป็นต้น


          หลังจากจบพระดำรัสเพียงคาถาเดียวนั้นเอง  พระปูติคัตตะติสสะ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา และได้นิพพานในขณะนั้นเอง


          ( เนื้อหาพระธรรมบท เรื่อง พระปูติคัตตะติสสะเถระ นี้ ถ้าหากได้อ่านเต็มๆ จะรู้สึกประทับใจในพระกรุณาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก ที่ทรงพยาบาลภิกษุผู้ป่วยไข้ด้วยพระองค์เอง  รวมถึงได้เห็นถึงศักยภาพในการบรรลุธรรมของมนุษย์ ว่า มีหวังในการได้ประโยชน์จากธรรมะ จนถึงแม้วินาทีสุดท้ายของชีวิต ดังนั้นจึงไม่ควรสิ้นหวัง แม้แต่ในการป่วยไข้ จะป่วยหนักเพียงใด ก็ไม่ควรจะสิ้นหวัง)


          เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงคาถา " อะจิรัง วะตะ ยัง กาโย ฯ "   นี้  ก็จะได้เห็นว่า พระองค์ทรงมุ่งให้พระปูติคัตตะติสสะ ได้พิจารณาร่างกายของมนุษย์ (ในที่นี้คือร่างกายของท่านพระปูติคัตตะ ฯ นั่นเอง) ว่า  ไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร อีกไม่นานร่างกายนี้ก็ต้องแตกดับ ต้องทอดลงแผ่นดิน  เหมือนท่อนไม้ไร้ประโยชน์ ดังนั้นจึงไม่มีแก่นสารอะไรในการจะยึดถือร่างกายนี้ ว่าเป็นตัวเรา ของเรา   การพิจารณาความจริงแท้อย่างนี้ ก็จะทำให้มองเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  สามารถถ่ายทอนความยึดในอัตตา ตัวตนได้   และการพิจารณาอย่างนี้เอง ทำให้พระปูติคัตตะติสสะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ )


          ทีนี้มาถึงจุดพิจารณาว่า ทำไมจึงเรียกว่า บท อะจิรัง ฯ นี้ เป็นบท  บังสุกุลเป็น  ก็คงเพราะเหตุว่า เป็นบทที่ "ให้ผู้ยัง เป็น อยู่  ได้พิจารณาสังขารร่างกายของตนเอง"  เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็น บทบังสุกุลเป็น


          จึงสรุปได้ว่า  


          ๑. อนิจจา วะตะ สังขารา  - ใช้หมายถึง สังขารที่เกิดขึ้นและดับไป ที่เห็นอยู่ตรงหน้า หรือใช้เพื่อพิจารณาสังขารธรรมโดยทั่วไป  = เป็นบทพิจารณาถึงความตาย


          ๒. อะจิรัง วะตะ ยัง กาโย ฯ - ใช้ย้อนมาพิจารณา สังขารร่างกายของตนเอง  ว่า ร่างกายของเรานี้ ไม่นานนักก็ต้องแตกดับไป = เป็นบทพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของตนเอง ที่อีกไม่นานก็ต้องตาย


          เมื่อกล่าวโดยความมุ่งหมายที่แท้แล้ว  ทั้ง บท อะนิจจา ฯ และ อะจิรัง ฯ ก็ล้วนแต่มุ่งให้พิจารณาความตายทั้งนั้น 



          แต่ไหง ปัจจุบัน ความหมายกลับเพี้ยนไปว่า  อะนิจจา ฯ
= บทกล่าวพิจารณาศพตายแล้วยังไม่เผา ,  อะจิรัง    = บทกล่าวพิจารณาศพที่เผาไปแล้ว เหลือแต่อัฏฐิ   ไปได้อย่างไรก็ไม่รู้??


          ที่หนักกว่านั้นก็คือว่า เดี๋ยวนี้ ทั้งบท "พิจารณาความจริงของสังขาร" กับ บท "พิจารณาร่างกายที่ไม่นานจะต้องแตกดับ"  กลับกลายเป็นบทที่ใช้ในพิธีกรรม สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา  ไปได้อย่างไร  และตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ไม่รู้ ??


          เรื่องนี้คงต้องฝากให้คิดกันก่อน  คราวหน้าจะมาเฉลย ใน   รู้รอบ เข้าใจชัด กับเรื่อง "บังสุกุล" (ตอนจบ)




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2554   
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2554 22:08:41 น.   
Counter : 17495 Pageviews.  

รู้รอบ เข้าใจชัด กับเรื่อง "บังสุกุล" ตอน ๑

          ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบพิธีกรรมที่ไม่มีเหตุผลและหลักการที่ชัดเจนรองรับ   เพราฉะนั้นเรื่องการสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตาราศี ตัดกรรม แก้กรรม บังสุกุลตาย-บังสุกุลเป็น  ผมจึงไม่ค่อยได้เข้าร่วม   และถึงจะได้เคยเห็นพิธีกรรมเหล่านี้บ้าง ก็พยายามหาเหตุผลอยู่เสมอว่า จะทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร  ถ้าไม่รู้เหตุผล ก็จะไม่เข้าร่วม ถึงจะมีใครบอกให้ไปทำ หรือว่ามีใครชวนให้ไปทำ ก็ตาม



          สาเหตุที่ต้องรู้เหตุผล ถึงจะทำ ก็เพราะว่า ถ้าไม่รู้เหตุผล ถึงทำไป ก็ไม่รู้ว่าเกิดประโยชน์อะไร



          เหมือนกับการที่ต้องไปไหว้หรือเคารพสิ่งต่างๆ  เราก็ต้องรู้เสียก่อนว่า เคารพสิ่งนี้เพื่ออะไร แล้วสิ่งนี้คืออะไร  ถ้าไม่รู้แล้วจะไปทำความเคารพได้อย่างไร



          เวลาที่เราจะกราบพระพุทธรูป  เราจะนับถือพระพุทธเจ้า  เราก็ต้องรู้จักว่าพระพุทธเจ้าคือใคร ถ้าไม่รู้จักพระพุทธเจ้า จะกราบจะเคารพพระองค์ไปได้อย่างไร



          คนไทยบางคน (หรือหลายคน) มีจุดอ่อนอยู่ที่ จะไหว้จะเคารพอะไร ก็ไหว้และเคารพด้วยความไม่รู้ แต่ด้วยความเชื่อว่าสิ่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลโน่นนี่นั่นให้ได้



          เหมือนอย่างพิธีกรรมทั้งหลายแหล่ ทั้งสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา แก้กรรม  หรือจะบังสุกุลก็ตาม  ก็ต้องรู้ว่า  ทำไปทำไม แล้วทำไปเพื่ออะไร



          ถ้าไม่รู้ ก็จะพร่าๆ มัวๆ ไม่เกิดสติปัญญา ไม่รู้เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์หรือไม่ อย่างไร



          ดังนั้น  ในวันนี้จะขอว่ากันถึงเรื่อง บังสุกุล  ซึ่งเป็น คำง่ายๆ ที่เข้าใจกันยาก ในหลายๆแง่มุม  เพื่อให้ท่านผู้ได้อ่าน จะได้ รู้รอบ เข้าใจชัด กับเรื่อง "บังสุกุล" 



 



บังสุกุลคืออะไร?



          บังสุกุล  หรือ ปังสุกุล  (ปังสุกุละ)  แปลว่า   เปื้อนฝุ่น  เปื้อนเศษธุลี  หรือ เปื้อนหยากเยื่อ (เศษขยะ หรือสิ่งสกปรก)



         
ความหมายง่าย ๆ  "ที่เข้าใจกันได้ยาก" นี้ ทำให้ความหมายเดิมของคำว่า บังสุกุล ถูกลืมเลือนไป จนกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้   ปัจจุบัน บังสุกุล กลายเป็นคำกิริยา มากกว่าจะเป็นคำนาม  และหมายถึงพิธีการบำเพ็ญบุญไปจนถึง พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา  จนต่อไม่ติด และสืบไปไม่ได้ถึงความหมายเดิม



          บังสุกุล  หมายถึงอะไรก็แล้วแต่  ที่เป็นของที่คนเขาทิ้งแล้ว  ไม่มีเจ้าของ  เป็นของเปื้อนฝุ่น เปื้อนธุลี เช่น เนื้อที่เขาทิ้งไว้ในป่า ไม่มีเจ้าของ พระสงฆ์เก็บมาฉันได้  หรือผ้าห่อศพ   หรือ ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เป็นผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าเปื้อนธุลี   คนทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ  ไม่มีเจ้าของ  พระสงฆ์ก็จะเก็บผ้านั้นมาใช้ โดยการประกาศขึ้นสามครั้ง สิ่งนี้ มีเจ้าของหรือไม่  ถ้าไม่มี ท่านก็จะถือเอาเป็นของบังสุกุล โดยกล่าวว่า  ก็จะกล่าวว่า "อิมัง ปังสุกูลัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ"
   แปลว่า ของบังสุกุลนี้ ไม่มีเจ้าของ ย่อมถึงแก่เรา ( ย่อมเป็นของเรา)  แล้วก็จะนำผ้านั้น  มาซัก ตัด เย็บ ย้อม ทำเป็นจีวร  หรือผ้าบริขารประเภทอื่นๆ (ส่วนมากจะทำเป็นจีวร)



          ขอให้เข้าใจก่อนว่า  คำว่า จีวร  ในที่นี้ หมายถึงผ้าสามผืน  ทั้งที่เป็น ผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ  ทั้งสามอย่างนี้ ล้วนเรียกว่าจีวรทั้งหมด  คือ สบงก็เป็นจีวรแบบหนึ่ง  เป็นจีวรสำหรับนุ่ง เรียกว่า อันตรวาสก  ส่วน จีวร  ที่เข้าใจกัน ก็เป็นจีวรสำหรับห่ม  เรียกว่า  อุตตราสงค์   และ สังฆาฏิ  ก็เป็นจีวรเหมือนกัน  แต่เป็นจีวรสำหรับใช้ทาบ หรือห่มซ้อนอุตตราสงค์




          การใช้ผ้าบังสุกุล นั้น เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ท่านทำมาแต่เดิม ในสมัยแรกที่พระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลาย ชาวบ้านยังไม่ได้ศรัทธาพระสงฆ์มากมายอะไรนัก   การได้ผ้าจีวรมา ก็ได้จากการหาผ้าเก่าๆ  มาทำเอง   ต่อมา มีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น  แล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับถวายจีวรจากญาติโยมผู้ศรัทธาได้   จีวรที่มีผู้ศรัทธาุถวายนี้ เรียกว่า  "คหปติจีวร"



          ทีนี้ พระสงฆ์บางรูปที่ท่านมักน้อย  และถือปฏิบัติในธุดงค์บางข้อ เช่น  ถือปฏิบัติใช้แต่ผ้าบังสุกุล
  ท่านก็จะไม่รับการถวายจีวรจากญาติโยม แต่จะแสวงหาผ้าเก่า หรือผ้าทิ้งแล้ว จากที่ต่างๆ มาตัดเย็บ ทำเป็นจีวร     ชาวบ้านที่ศรัทธาพระสงฆ์ อยากจะถวายผ้า จึงใช้วิธีเอาผ้า (ส่วนมากจะใหม่)  ไปทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ โดยอาจทำให้มีรอยเปื้อนบ้าง เพื่อให้เห็นว่าเป็นของเปื้อนฝุ่น ของทิ้งแล้ว  โดยมักสังเกตว่าทางไหนที่พระสงฆ์มักเดินผ่าน หรือจะไปแสวงหาผ้า ก็จะไปทิ้งตามที่นั้น  ก็เป็นการถวายผ้าเหมือนกัน แต่ถวายทางอ้อม ไม่ได้ถวายโดยตรง



          แต่ผ้าบังสุกุล นี้ ที่มักมีความหมายใกล้เคียงกับเรื่องศพ หรือพิธีศพ ก็เพราะสมัยก่อน ศพที่ไม่ได้เผา เขาก็จะนำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้า หรือในสำนวนคัมภีร์พระพุทธศาสนาเรียกว่า ป่าช้าผีดิบ เป็นป่าช้าที่ทิ้งศพ   พระสงฆ์ที่ถือปฏิบัติ ใช้แต่ผ้าบังสุกุล ก็จะไปหาผ้าเก่าตามป่าช้า ซึ่งก็คือผ้าที่ห่อศพนั่นเอง   เมื่อพบแล้ว ท่านก็จะเอาไม้เขี่ยผ้าออกจากศพ  และบางทีศพนั้นมีกลิ่นรุนแรง ก็ต้องใช้ใบไม้มาปิดจมูกบ้าง   การที่ต้องใช้ไม้เขี่ยผ้าออกจากศพ  และต้องใช้ใบไม้มาปิดจมูกนี่เอง ต่อมา ไม้เขี่ยผ้าจากศพ และใบตาล หรือใบไม้ที่ปิดจมูก  จึงกลายมาเป็น ตาลปัตร



          ( ที่มาอีกอย่างหนึ่งของตาลปัตร  อาจมาจากพัดใบตาล ที่พระสงฆ์ใช้พัดคลายร้อน หรืออาจเอาไว้ใช้บังแดด ก็เป็นได้  ผมเคยได้ทราบว่า พระสงฆ์พม่าท่านจะถือพัดประเภทหนึ่ง ติดตัวไปในที่ต่างๆ ใช้เป็นทั้งตาลปัตร ถือ เวลาจะสวดมนต์ หรือแสดงธรรม  และเป็นที่บังแดดเวลาเดินไปที่ต่างๆด้วย)



          ในสมัยต่อมา (คือ ในสมัยห่างจากปัจจุบันไม่นานนัก)   พระสงฆ์ก็ไม่ค่อยได้แสวงหาผ้าห่อศพหรือผ้าทิ้งแล้ว ตามป่า มาตัดเย็บเป็นจีวร   ชาวบ้านก็เลยไม่ค่อยได้นำเอาผ้าไปทิ้งตามที่ต่างๆเพื่อถวายพระสงฆ์ทางอ้อมแล้ว  แต่ก็ยังคงติดเรื่องการถวายเป็นผ้าบังสุกุลอยู่นั่นเอง   ก็นึกถึงคติที่ติดมาว่า ผ้าบังสุกุล มีคติที่ใกล้เคียงกับเรื่องศพ (เพราะส่วนมากผ้าบังสุกุลก็ได้มาจากผ้าที่ห่อศพ)   ก็เลยถือเอาว่าเมื่อมีการจัดงานศพ  แล้วมีการถวายผ้า แด่พระสงฆ์  เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ในงานศพนั้น  เลยเรียกผ้าที่ถวายในงานนั้นว่า ผ้าบังสุกุล ไปด้วย โดยมักแบ่งวิธีการถวายเป็นสองลักษณะ คือ



          ๑) ถวายผ้าบังสุกุล ในพิธีสวดพระอภิธรรมแต่ละคืน หรือในการบำเพ็ญบุญประเภทอื่นๆ เช่นในการถวายภัตตาหารเป็นต้น    และ.



          ๒) ถวายผ้าบังสุกุล  ในพิธีฌาปนกิจศพ    ที่เรียกว่า "ทอดผ้าบังสุกุล", "ทอดผ้าไตรบังสุกุล"  (บางแห่งเรียกให้ดูใหญ่ หรือพิเศษ ว่า ทอดผ้าไตรมหาบังสุกุล   คำนี้ มักพบในงานพิธีที่เป็นการพระราชทานเพลิงศพ)



          ท่านที่เคยไปร่วมงานฌาปนกิจศพ ก็คงจะเคยเห็นพิธีการนี้  โดยก่อนจะมีการเผาศพ  ก็มีการถวายผ้าบังสุกุล ซึ่งถือว่าเป็นพิธีบำเพ็ญบุญประการสุดท้ายก่อนจะมีการฌาปนกิจศพ  และพิธีการนี้ ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ ไป "ชักผ้าบังสุกุล" ที่หน้าศพ ก่อนจะมีพิธีเผา



          เหตุที่มีพิธีถวายผ้าบังสุกุล ที่หน้าศพ และนิมนต์พระสงฆ์ไปชักผ้าบังสุกุล ก็เนื่องจากว่า ชาวบ้านนั้นต้องการจะให้พระสงฆ์ ได้พิจารณาสังขารร่างกายของผู้ล่วงลับ เป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรม คือ มรณานุสสติกรรมฐาน และ อสุภกรรมฐาน  คือ ได้มองเห็นศพ  มองเห็นความไม่สวยงามของร่างกาย  เห็นความไม่เที่ยงแท้ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ประมาท 



          ถ้าเป็นในสมัยก่อน  ก่อนที่จะมีพิธีการเผาศพ  ชาวบ้านก็จะนำผ้าไตรจีวร  หรือผ้าขาวก็แล้วแต่  ไปวางทอดไว้ที่ศพ   (ถ้าศพบรรจุโลง ก็จะมีการเปิดโลง แล้วนำผ้าที่จะถวายพระสงฆ์  วางที่ตัวศพ)  แล้วก็จะนิมนต์พระสงฆ์  "ชักผ้าบังสุกุล"   พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ ก็ต้องไปหยิบผ้าที่วางทอดไว้ที่ศพออกมา  เวลานั้นก็ได้เห็นสภาพศพ  อาจจะมีการขึ้นอืด พองเขียว มีการเน่าเปื่อยแล้ว เนื่องจากสมัยนั้น วิธีการรักษาสภาพศพยังไม่เจริญก้าวหน้า  น้ำยาฟอร์มาลีน น้ำยาฉีดรักษาสภาพศพก็ยังไม่มี   เมื่อพระสงฆ์ได้เห็นสภาพศพเน่าเปื่อยนั้นแหละ ก็จะเกิดความสลดสังเวชในสังขารร่างกาย  เป็นการย้ำเตือนให้ไม่ประมาทในชีวิต เร่งปฏิบัติธรรม หรืออย่างน้อย ก็จะเกิดความรู้สึกไม่ยินดีชมชอบในผ้าที่ได้มากนัก เพราะอาจจะเปื้อนน้ำเลือดน้ำเหลืองอะไรต่างๆ  หากนำไปใช้นุ่งห่ม ก็จะไม่รู้สึกยึดติด แต่ใช้ผ้านั้นตามจุดหมายแท้ คือใช้เพื่อปกปิดร่างกาย  กันความหนาวความร้อนเท่านั้น   
   ชาวบ้านเองก็เท่ากับว่าได้บุญสองต่อ  คือนอกจากได้บุญ จากการถวายผ้าแด่พระสงฆ์แล้ว ก็ยังช่วยเอื้อให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรมอีกด้วย



          แต่เดี๋ยวนี้วิธีการรักษาสภาพศพก็เจริญก้าวหน้า แถมยังไม่มีการเปิดโลงก่อนจะเผาอีกด้วย (บางแห่งอาจมีการเปิดโลงครั้งสุดท้ายก่อนเข้าเตา เพื่อให้ญาติได้ดูผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย  แต่ก็ไม่มีการเปิดโลง ในพิธีการทอดผ้าบังสุกุล)  ก็เลยทำให้คติที่จะช่วยให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรม  ได้พิจารณาอสุภกรรมฐาน ลดลงไป แถมโลงสมัยนี้ก็ประดับประดาสวยงาม รูปภาพคนตายก็มีการตกแต่งให้ดูดีขึ้น  การวางทอดผ้า ก็วางที่แถบผ้าภูษาโยง หรือสายโยง (สายสิญจน์)  ที่โยงมาจากโลงศพ ก็เลยแทบไม่มีอะไรที่โยงไปถึงศพให้เห็นชัดเจน  พระสงฆ์ท่านก็เลยไม่รู้จะเกิดอารมณ์อสุภกรรมฐานได้อย่างไร   ก็อาจจะได้แค่มองภาพผู้ตาย แล้วก็คิดว่า  "เออ คนๆนี้ก็หน้าตาสวยดี" หรือ ""โยมคนนี้ก็หน้าตาหล่อไม่เบา" อะไรทำนองนั้น   แทนที่จะเกิดอสุภกรรมฐาน ก็ไปคิดเรื่อยเปื่อยแทน  (ดีไม่ดี อาจจะไปพิจารณาผ้าแล้ว ก็คิดว่า ผ้านี้เนื้อดี  ตัดเย็บดี เป็นของใหม่  ก็กลายเป็นยึดติดในลาภสักการะเข้าไปอีก)    ชาวบ้านก็เลยได้เพียงแค่บุญจากการถวายผ้าแด่พระสงฆ์



          ขอย้อนไปถึงเรื่องพิธีการถวายผ้าบังสุกุลในพิธีฌาปนกิจศพนิดหนึ่ง คือ เดี๋ยวนี้คำว่า "นิมนต์พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล"  เริ่มจะเลือนหายไป หรือแทบไม่ค่อยมี  แต่มีการเลือกใช้คำเพราะๆ   เช่น "นิมนต์พิจารณาผ้าบังสุกุล" ขึ้นมาแทน   ซึ่งความจริง การใช้คำว่า "ชักผ้าบังสุกุล" นั้นแหละ ถูกต้องแล้ว เพราะพระสงฆ์ ต้องไป  "ชัก"  (ดึง , หยิบ) ผ้า ออกมาจากตัวศพ  หรือจากผ้าภูษาโยง, สายโยง(สายสิญจน์) ที่โยงมาจากตัวศพ    



          แต่การใช้คำว่า "พิจารณาผ้าบังสุกุล" นั้น  ก็ไม่ใช่จะเป็นการใช้ผิดไปทีเดียว  เพราะความจริง คำนี้ก็เป็นรูปแบบวิธี "ย่อคำ" ของคนไทย โดยคำเต็มๆของคำว่า พิจารณาผ้าบังสุกุล ก็คือ  "นิมนต์พระสงฆ์พิจารณา อสุภะ (
=ศพ   หรือ พิจารณาสังขาร ก็ได้) และ ชัก ผ้าบังสุกุล"   นั่นเอง 



          เขียนมาก็นับว่ายาวมากแล้ว  เอาเป็นว่า ตอนนี้ขอพักเรื่อง บังสุกุล เอาไว้เพียงแค่ความหมายว่า "ผ้าบังสุกุล" เอาไว้ก่อน  ไว้มาต่อกันในบล๊อคคราวหน้า  จะพูดถึงเรื่อง "บทพิจารณา บังสุกุลตาย บังสุกุลเป็น
- อนิจจา วะตะ สังขารา "






Free TextEditor




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2554   
Last Update : 22 ตุลาคม 2554 18:33:01 น.   
Counter : 28894 Pageviews.  

ความเข้าใจเรื่อง "กฐิน" (ภาคจบ)

ความเข้าใจเรื่อง "กฐิน"  (ภาคจบ)


 


 


ถ้าต้องการทอดกฐิน ต้องทำอย่างไร


 


          พุทธศาสนิกชนผู้ต้องการจะทำบุญถวายผ้ากฐินในวัดต่างๆ ขอแนะนำข้อปฏิบัติดังนี้


          ๑. สอบถามพระภิกษุในวัด หรือสอบถามกับกรรมการวัด ว่า ที่วัดมีเจ้าภาพมาจองกฐินหรือยัง ถ้ายังไม่มี  ก็บอกเพื่อขอจองที่จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน


          ๒. บอกบุญ แจ้งข่าวการทอดกฐินให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ให้ได้รับทราบ ถ้าหากมีศรัทธาก็ร่วมกันอนุโมทนา หรือร่วมบุญร่วมกุศล


          ๓. ติดป้ายประกาศไว้ที่หน้าวัด หรือในบริเวณวัด เพื่อประกาศว่าวัดแห่งนี้มีเจ้าภาพจะทอดกฐินแล้ว


          ๔. เตรียมการทอดกฐิน หาซื้อไตรจีวรไว้ให้พร้อม ส่วนบริวารกฐิน เช่นเงินทำบุญเข้าวัด หรืออัฏฐบริขาร บาตร จีวรผืนอื่นๆ ตาลปัตร เครื่องโยธา ไทยธรรม ของใช้ต่างๆ ก็แล้วแต่ศรัทธาที่จะเตรียมถวาย



         
๕. สำหรับ ผู้ที่ต้องการทอดกฐินพระราชทาน คือกฐินที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้หน่วยงานราชการ หรือเอกชนผู้มีศรัทธา นำไปทอดถวายที่ วัดหลวง  (เว้นวัดที่ทรงมีพระราชศรัทธา เสด็จไปทอดถวายด้วยพระองค์เอง หรือทรงมอบให้ผู้แทนพระองค์นำไปทอดถวาย) ซึ่งเอกชนผู้มีศรัทธาจะทำบุญทอดกฐินพระราชทาน สามารถทำได้สองวิธี


          ๑) แจ้งหรือสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ว่าต้องการขอรับผ้ากฐินพระราชทานเพื่อทอดถวายที่วัดหลวง แล้วสอบถามว่าวัดไหนยังไม่มีผู้ขอรับพระราชทานบ้าง เมื่อทราบแล้ว ก็ติดต่อขอรับพระราชทานผ้ากฐิน เพื่อไปทอดในวัดนั้น


          ๒) ติดต่อเจ้าอาวาสวัดหลวงนั้น โดยตรง ทางวัดก็จะติดต่อไปยังหน่วยงานรับผิดชอบ ให้ดำเนินการขอพระราชทานให้ (ในกรณีที่วัดนั้นยังไม่มีผู้ใดมาขอพระราชทาน)


          ในการติดต่อเพื่อขอรับพระราชทานผ้ากฐิน จะมีรายละเอียดว่าจะทอดวันไหน เวลาเท่าไหร่ ทางหน่วยงานราชการที่รับเรื่อง ก็จะทำการขอพระราชทานให้ และจะติดต่อให้ไปรับผ้ากฐินพระราชทานในวันที่กำหนดต่อไป


          สำหรับกฐินพระราชทานนั้น จะมีผ้ากฐินพระราชทานเป็นหลัก และบริวารกฐินอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ผู้ขอพระราชทานผ้ากฐิน สามารถจัดบริวารกฐินเพิ่มเติมเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลได้ตามกำลังศรัทธา


 


ขั้นตอนการเตรียมทอดกฐิน



         
๑. เมื่อจองกฐินกับทางวัดแล้ว ก็บอกต่อเจ้าอาวาส ว่าจะทอดกฐินในวันนั้นวันนี้ เวลานั้นเวลานี้


          ๒. จัดเตรียมผ้ากฐิน รวมถึงบริวารกฐินที่มีศรัทธาจะถวาย ให้เรียบร้อย


          ๓. นัดหมายกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือบุคคลที่รู้จักรักใคร่ หรือเคารพนับถือ ว่าจะทอดกฐินที่วัดนั้น ในวันนั้น เวลานั้น ให้มาร่วมกันอนุโมทนา


          ๔. ก่อนวันที่จะมีพิธีทอดกฐินหนึ่งวัน ตามประเพณีมักจะมีพิธีทำบุญ เจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์กฐิน ก็ให้เตรียมผ้ากฐิน และบริวารกฐินบางส่วน นำมาตั้งไว้ที่ศาลาการเปรียญ หรือที่ใดที่หนึ่งในวัด แล้วอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์กฐิน



ขั้นตอนในพิธีทำบุญทอดกฐิน



         
๑. จัดเตรียมผ้ากฐิน และบริวารกฐินที่จะมีการถวายให้พร้อม แล้วนำไปทำพิธีทอดถวายผ้ากฐิน ตามประเพณีจะจัดเป็นขบวนแห่  มีวงดนตรีจำพวกแตรวง เถิดเทิง กลองยาว เป็นต้นบ้าง


          ๒. การทอดกฐิน จะทอดถวายที่โรงอุโบสถ หรือที่ไหนในวัดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทอดในอุโบสถเพียงที่เดียว แต่ถ้าทอดถวายแล้ว พระภิกษุสงฆ์ในวัดจะทำการกรานกฐิน ต้องไปทำพิธีกรานกฐินในเขตสีมา คือโรงอุโบสถเท่านั้น  


          เนื่องจากสมัยนี้นิยมกันว่า เมื่อทำพิธีทอดถวายผ้ากฐินแล้ว พระสงฆ์ท่านจะทำพิธีกรานกฐินในเวลานั้นเลย จึงมักไปทอดถวายกันที่โรงอุโบสถ เมื่อไปถึงแล้ว ก็แห่ขบวนกฐินเวียนรอบโบสถ์สามรอบ


          ๓. เมื่อเวียนครบสามรอบแล้ว นำผ้ากฐินแล้วบริวารกฐินเป็นต้น จัดเตรียมไว้ในอุโบสถ โดยให้ตัวผ้ากฐิน และผ้าบริวารกฐิน อยู่ด้านหน้าสุด เพื่อสะดวกแก่การถวาย


          ๔. เมื่อพระภิกษุสงฆ์ในวัดมาประชุมพร้อมกันที่อุโบสถแล้ว เจ้าภาพ หรือผู้นำทำพิธี (อาจเป็นมัคทายกประจำวัดนั้น) กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย , อาราธนาศีล  พระสงฆ์ให้ศีลแล้ว หลังจากนั้น กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ดังนี้



          อิมัง  ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง,  สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน  ภันเต,  สังโฆ, อิมัง,  สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ,  ปะฏิคคะเหตวา  จะ, อิมินา  ทุสเสนะ,  กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง,  หิตายะ, สุขายะ,


          (คำแปล)   ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ขอน้อมถวาย  ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้  แก่พระสงฆ์  ของพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน  กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย  ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐิน  ด้วยผ้านี้  เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย  สิ้นกาลนาน เทอญ.



          ๕. หลังจากนั้น พระคู่สวด ในที่ประชุมสงฆ์ กล่าวคำอปโลกน์กฐินแล้ว  เจ้าภาพประเคนผ้าไตรจีวร ให้พระคู่สวด พระคู่สวดพินทุ อธิษฐานผ้าแล้ว ออกไปห่มผ้า เสร็จแล้วกลับมา สวดญัตติทุติยะกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน เมื่อตกลงมอบผ้ากฐินให้กับพระรูปใดแล้ว(ตามที่สวดญัตตินั้น) พระคู่สวดก็จะประเคนผ้ากฐินแด่พระผู้ครองกฐิน


          ๖. พระผู้ครองกฐินทำพินทุผ้า ห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว อธิษฐานผ้ากฐิน (คือ ทำการ กรานกฐิน) ประกาศการกรานกฐินเป็นธรรม (ประกาศว่ากรานกฐินเสร็จสมบูรณ์ ถูกต้องแล้ว) ที่ประชุมสงฆ์อนุโมทนา   


          ๗. เจ้าภาพถวายบริวารกฐิน และจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา ให้พร  เจ้าภาพกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธีการทอดกฐิน  



ขั้นตอนในพิธีทอดกฐินนี้ เป็นแบบสามัญทั่วไป  ในบางถิ่นบางแห่ง อาจไม่ได้มีขั้นตอนแบบนี้ มีแตกต่างกันไปบ้าง



ข้อควรทราบในการทำบุญทอดกฐินก็คือ ไม่ว่าจะมีการฉลองประการใดก็ตาม ขอแนะนำและเตือนว่า  ไม่ควรมีเหล้า เบียร์ ของมึนเมา และการมหรสพผิดศีลธรรม โดยประการทั้งปวง  เพราะในเมื่อบอกว่ามาทำบุุญ ก็ไม่ควรเปลี่ยนงานบุญให้เป็นงานบาป    อย่างที่หลวงพ่อ พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ เคยเตือนมาบ่อยครั้งว่า "กฐินเมา มันเป็นกฐินบาป"




ความหมายของธงกฐินแต่ละผืน



         
ตามประเพณีการทอดกฐินนั้น ในขบวนแห่และในกองกฐิน จะมีธงกฐิน ไปในขบวนแห่ด้วย บางท่านก็ให้ความหมายของธงกฐินแตกต่างกันไป จึงขอเสนอความหมายอีกแบบหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงและรู้จักกันมากนัก


          เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เมื่อเสร็จการทอดกฐินแล้ว พระบวชใหม่ในพรรษา ๓ เดือน มักจะลาสิกขากัน เพราะเป็นการบวชตามประเพณี เมื่อครบ ๓เดือน  ก็เลยจะลาสิกขากัน ธงกฐินที่นำมาประดับในพิธีนั้น นอกจากจะมีความหมายอื่นตามตำนานเล่าขานแล้ว นักปราชญ์ท่านยังให้ความหมายของธงแต่ละผืน เป็นการเตือนพระบวชใหม่ หรือพระภิกษุสงฆ์ ถึงภัยของพระภิกษุผู้บวชใหม่ อีกด้วย 


          เรื่องภัยของพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะผู้บวชใหม่นั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ใน ทุติยะภะยะสูตร (อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อที่ ๑๒๒) มีเนื้อหาสรุปว่า


          ภัยของผู้ลงไปในทะเลหรือมหาสมุทร มีอยู่ ๔ ประการ คือ ภัยจากคลื่น , ภัยจากจระเข้ , ภัยจากน้ำวน และภัยจากปลาร้าย ส่วนภัยของพระภิกษุผู้บวชใหม่ก็เหมือนกัน มีภัยอยู่ ๔ ประการ คือ


          ๑.ภัยจากคลื่น คือการไม่สามารถทนต่อการแนะนำพร่ำสอนจากพระเถระ หรือเพื่อนสพรหมจารีได้ จนต้องลาสิกขา


          ๒.ภัยจากจระเข้ คือ การเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอกฏวินัยที่ห้ามดื่ม ห้ามฉัน ห้ามกิน สิ่งนั้นสิ่งนี้ ในเวลานั้นเวลานี้ ก็ทนไม่ได้ ต้องลาสิกขา (การที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง เปรียบเหมือนจระเข้ ที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง กินสัตว์ทุกชนิดที่ลงในน้ำหรือทะเล

          ๓. ภัยจากน้ำวน คือทนต่อการ อด หรือระงับจากสิ่งเสพบริโภค จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ได้ (คือทนต่อกามคุณ ๕ ไม่ได้) จนต้องลาสิกขา

           ๔. ภัยจากปลาร้าย คือ ทนต่อมาตุคาม, ผู้หญิง ไม่ได้ จนต้องลาสิกขาไป


****************


          ภัยทั้ง๔ ประเภทนี้ นักปราชญ์ท่านสรุปไว้ในความหมายของธงกฐินแต่ละผืน ที่เป็นจุดสำคัญ คือธงจระเข้ กับธงนางมัจฉา  ไว้ว่า


          ๑. ธงจระเข้ หมายถึงภัยจากคลื่น และภัยจากจระเข้

         
๒. ธงนางมัจฉา หมายถึง ภัยจากน้ำวน และภัยจากปลาร้าย (ปลาร้ายเปรียบเหมือนผู้หญิง จึงทำเป็นรูปนางมัจฉา)


          ที่ต้องมีธงเหล่านี้ประดับไว้ในงานกฐิน ก็เพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือนพระภิกษุ ให้ระวังภัยทั้ง ๔ ประการนี้ อย่ายอมแพ้จนต้องลาสิกขาไปเสียก่อน




 





 

Create Date : 11 ตุลาคม 2554   
Last Update : 11 ตุลาคม 2554 21:42:41 น.   
Counter : 2156 Pageviews.  

ความเข้าใจเรื่อง "กฐิน" (ภาคแรก)


โปรดทราบก่อน


 


เนื่องจากกำลังจะออกพรรษาแล้ว เมื่อใดที่ถึง วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็จะถึงเทศกาล "ถวายผ้ากฐิน" ก็เห็นว่าควรจะได้ทำความเข้าใจเรื่องกฐิน กันให้ชัดเจนมากขึ้น จะได้ทอดถวาย "ผ้ากฐิน" กันให้เป็นบุญกุศลจริงๆ


 


ป.ล. บทความนี้ยาวมาก เพราะมีเรื่องที่ต้องทำ "ความเ้ข้าใจ" กันให้ถูกต้องอยู่หลายเรื่อง อาจทำให้ท่านที่ไม่ค่อถนัดอ่านข้อความ หรือตัวหนังสืออะไรเยอะๆ รู้สึกลำบากใจบ้าง


 



 


ความเข้าใจเรื่อง "กฐิน"


 


          การทำบุญทอดกฐิน หรือการถวายกฐินทาน เป็นการทำบุญประเภทถวายทานที่ถือว่าเป็นบุญใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชน ชาวพุทธ นิยมทำกันมาก (แม้จะมีบางท่านที่ทำหน้าตาแปลกๆเวลาญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ยื่นซองร่วมทำบุญกฐินให้ก็ตาม)


          สาเหตุที่การทำบุญทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ที่ชาวพุทธร่วมกันมาก ก็เพราะเป็นกิจกรรมบุญ ถวายทาน ที่ทำได้เพียงครั้งเดียวในหนึ่งปี (เฉพาะในวัดนั้นๆ)  และการที่จะทอดกฐินได้ ต้องเป็นการร่วมกันของบุคคลหลายๆคน มีทั้งตัวผู้ประสงค์จะทำบุญ หรือผู้เป็นเจ้าภาพ ผู้เป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และชาวบ้านชาวชุมชนที่ทราบข่าว (โดยมากจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้วัดนั้น)  ที่ได้ทราบว่า วัดนี้ จะมีผู้มาทำบุญทอดกฐิน ก็จะมาขอร่วมทำบุญทำกุศลด้วย


          สรุปได้ว่า กฐินนั้นเป็นงานบุญที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยความสามัคคีของทุกๆฝ่าย  และเป็นสิ่งที่ทำให้ยืนยันถึงความมีใจสามัคคีร่วมกันที่จะทำบุญทำกุศลในกฐินทานนี้


          ถ้าหากไม่สามัคคีกัน เช่นว่าคนๆนี้ต้องการจะทอดกฐิน อีกคนหนึ่งไม่เห็นด้วยก็ไม่ร่วมทำบุญด้วย หรือว่าคนๆนี้ต้องการทอดกฐิน ส่วนอีกคนได้ยินข่าวว่า การทอดกฐินมีคนๆนี้เป็นเจ้าภาพ ตัวเองมีความรู้สึกไม่พอใจ, เกลียดชัง หรือมีเรื่องหมางใจกับคนๆนี้อยู่ ก็ไม่อยากร่วมทำบุญด้วย


          การที่บุญกฐินจะเกิดขึ้น และมีผู้เข้าร่วมกันมากๆได้ ก็เป็นด้วยความสามัคคีของผู้คนที่มีจิตศรัทธาร่วมกันนี่เอง  และนอกจากฝ่ายทายก ทายิกาแล้ว ถ้าหากพระสงฆ์ในวัดนั้นๆไม่สามัคคีกัน เมื่อจะตกลงมอบผ้ากฐินให้พระรูปไหนเป็นผู้ครองกฐิน ก็จะมีความไม่พอใจ หรือไม่เห็นด้วย ถ้าเป็นแบบนี้กฐินก็ไม่สามารถเกิดขึ้นและสำเร็จได้ด้วยความบริสุทธิ์แท้ๆ


          ในยุคสมัยที่คนในสังคมแบ่งแยก, แตกแยก เป็นพรรค เป็นพวก เป็นสีต่างๆ มีความไม่สามัคคีกัน ถ้าจะนำเอาการทอดกฐิน, การทำบุญกฐิน มาใช้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อรวมคนให้สามัคคีกันได้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม


 


ประเภทการทอดกฐิน


          ๑. กฐินราษฎร์  หมายถึงกฐินที่ประชาชนโดยทั่วไป ผู้มีศรัทธา ไปทอดถวายตามวัดราษฎร์ ต่างๆ   โดยยังแบ่งออกเป็น


          ๑) มหากฐิน  เป็นกฐินที่ใช้เวลาตระเตรียมนาน  เช่น มีการบอกบุญ เชิญชวนกันหลายวัน  ก่อนจะนำไปทอดในวัดใดวัดหนึ่ง  มหากฐินนี้ มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐิน


          ๒) จุลกฐิน  เป็นกฐินที่มีเวลาตระเตรียมน้อย เช่น อาจต้องทอดภายในเวลาก่อนจะหมดฤดูกฐิน  จุลกฐินนี้  จะมีพิธีการตั้งแต่เริ่มเก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้ายแล้วทอจนเป็นผืนผ้า และ ซัก ตัด เย็บ ย้อม จนะกลายเป็นผ้าไตรจีวร แล้วจึงทอดถวาย


          ๓) กฐินจร, กฐินโจร  เป็นกฐินที่ผู้มีจิตศรัทธา สืบเสาะหาวัดที่ยังไม่มีการทอดกฐิน  แล้วนำไปทอดถวาย โดยไม่ได้มีการแจ้งหรือจองไว้กับทางวัดก่อน  กฐินจร หรือกฐินโจรนี้ มักกระทำกันก่อนจะหมดฤดูกฐิน เป็นความศรัทธา และกุศลเจตนาของอุบาสกอุบาสิกา  ที่ต้องการสงเคราะห์ให้พระสงฆ์ในวัด ได้รับอานิสงส์กฐิน  กฐินจรที่ว่านี้ มักทอดถวายในรูปแบบของมหากฐิน คือนำผ้าสำเร็จรูปไปทอดถวาย ไม่ได้มีการตระเตรียม ตั้งแต่นำผ้ามาตัด เย็บ ย้อม อย่างจุลกฐิน


          กฐินราษฎร์นี้มักมีการทอดถวายในสองประเภท คือ แบบที่มีเจ้าภาพเพียงคนเดียว  และแบบที่เป็นกฐินสามัคคี คือมีการรวมกลุ่มกันเป็นคณะใหญ่  แต่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นประธานในการทอดกฐิน


          ๒. กฐินหลวง  คือกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงนำไปทอดถวายในวัดหลวง หรือทรงพระราชทานให้ผู้แทนพระองค์นำไปทอดถวาย   


          ถ้าหากเป็นผ้ากฐินหลวงที่ทรงพระราชทานให้หน่วยงานราชการ หรือเอกชน นำไปทอดถวายที่วัดหลวง  จะเรียกว่า กฐินพระราชทาน


          การขอรับพระราชทานผ้ากฐินเพื่อไปทอดในวัดหลวงต่างๆนั้น เว้นวัดหลวงสำคัญ ๑๖ วัด ที่ห้ามขอพระราชทาน  นอกจากจะทรงพระราชทานให้ผู้ใดผู้หนึ่งไปทอดแทนพระองค์  วัดหลวง ๑๖ วัด คือ


          ๑. วัดเทพศิรินทราวาส   ๒. วัดบวรนิเวศวิหาร  ๓. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  ๔. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ๕. วัดมกุฏกษัตริยาราม  ๖. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ๗. วัดราชบพิธ  ๘. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม  ๙.วัดราชาธิวาส  ๑๐. วัดสุทัศนเทพวราราม  ๑๑. วัดราชโอรสาราม  
๑๒. วัดอรุณราชวราราม  ๑๓. วัดนิเวศธรรมประวัติ   ๑๔. วัดสุวรรณดาราราม  ๑๕. วัดพระปฐมเจดีย์   ๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ


 


ความเข้าใจผิดในเรื่องกฐิน


          มีสิ่งที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดกันมากในเรื่องกฐิน  ซึ่งพอจะประมวลความเข้าใจผิดเหล่านั้นได้ดังนี้


 


          ๑. เข้าใจว่า การทอดกฐิน คือ การรวมจำนวนเงินให้ได้มากๆ (อย่างน้อยก็จำนวนหมื่นขึ้นไป) แล้วนำไปถวายพระที่วัด


          ความเข้าใจเช่นนี้ คือความเข้าใจที่ผิด


          เพราะตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเรื่องกฐิน และให้พระสงฆ์รับกฐินได้นั้น คือการทรงอนุญาตให้พระสงฆ์มีผ้าไตรจีวรไว้ใช้สอย  สาเหตุที่เกิดเรื่องกฐินขึ้นมา มีอยู่ว่า พระภิกษุในเมืองปาฐา ต้องการจะมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้เดินทางกันมาเข้าเฝ้า ปรากฏว่ามาถึงเมืองสาเกต (เมืองเล็กๆ ใกล้เมืองสาวัตถี ห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ ๖โยชน์ - ๙๖ กิโลเมตร) ก็ถึงช่วงเข้าพรรษาพอดี จึงได้หยุดเพื่อจำพรรษาก่อน พอออกพรรษาก็รีบเดินทางกันมาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และเพราะเพิ่งหมดฤดูฝนใหม่ๆ พื้นยังเปียกแฉะเจิ่งนองไปด้วยน้ำ ทำให้พระภิกษุที่เดินทางมานั้น จีวรเปียกปอน เปื้อนดินโคลนกันเต็มไปหมด และจีวรก็เก่าคร่ำคร่ามาก  เมื่อมาเข้าเฝ้าแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุ จึงทรงอนุญาตว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว ให้พระภิกษุร่วมกันทำจีวรได้ และเมื่อทำจีวรเสร็จแล้ว ก็พร้อมใจกันถวายให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดเดียวกัน ที่จำพรรษามาด้วยกันนั้น  อย่างนี้เรียกว่ากฐิน


          ส่วนเรื่องที่มีการถวายผ้ากฐินโดยฆราวาสนั้น เนื่องมาจากว่าฆราวาสญาติโยม เห็นพระภิกษุลำบากด้วยการแสวงหาผ้าบังสุกุล (ผ้าห่อศพ, ผ้าเปื้อนฝุ่น ที่เขาทิ้งแล้ว) ก็เลยหาผ้ามาถวาย พระสงฆ์จะได้ไม่ต้องลำบากไปแสวงหาผ้า ก็เหลือเพียงการซัก ตัด เย็บ ย้อม ให้เป็นจีวรเท่านั้น หรือบางทีก็ถวายเป็นผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปเลย พระสงฆ์ก็เหลือเพียงขั้นตอนการยกผ้ากฐินนั้นให้เป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ที่ตกลงกันในที่ประชุมสงฆ์แล้ว หลังจากกรานกฐินด้วยผ้านั้นแล้ว ก็ถือเป็นอันเสร็จการทอดกฐิน


          ส่วนเรื่องเงินทองเท่านั้นเท่านี้ ไม่ใช่กฐิน "แต่เป็นบริวารกฐิน"  กฐินจะสำเร็จได้ ก็เพราะตัวผ้า ไม่ใช่ที่ตัวเงิน ถึงแม้จะไม่มีการถวายเงินในพิธีเลย ถ้ามีแต่เพียงผ้าไตรจีวรอย่างเดียว ก็เป็นกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว


          ที่เชื่อกันว่ากฐินคือเงินทำบุญเข้าวัด (จะด้วยจุดประสงค์ เพื่อนำไปซ่อมแซมเสนาสนะ ปฏิสังขรณ์อุโบสถวิหารที่ชำรุดทรุดโทรม ก็ตาม) นั้น เพราะไปให้ความสำคัญกับตัวเงินมากไป รวมถึงอาจจะเป็นเพราะเกรงว่าตนเองผู้เป็นเจ้าภาพกฐิน จะเสียหน้า ถ้าหากทำบุญทอดกฐินและเงินเข้าวัดไม่เยอะ  หรือเกรงว่าพระท่านจะไม่รับกฐิน เพราะเงินทำบุญเข้าวัดไม่มาก จนเชื่อกันไปเองว่า กฐิน คือเงินเข้าวัด


          ผู้ที่จะทอดกฐินจึงควรมุ่งจุดประสงค์หลักไปที่การถวายผ้าไตรจีวร ส่วนเงินทำบุญเข้าวัด ที่เป็นบริวารกฐิน ถือว่าเป็นเพียงส่วนประกอบ เป็นเรื่องความศรัทธาของเจ้าภาพผู้มาทอดกฐิน


          เคยได้ทราบว่ามีบางที่บางแห่ง มีผู้มีจิตศรัทธาท่านหนึ่ง จัดคณะไปทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่ง ปรากฏว่า มัคทายกไปบอกผู้มาทอดกฐิน ว่ามีคนเอา "เงินกฐิน" มาทำบุญเข้าวัดแล้ว (แต่ไม่มีผ้ากฐินมาด้วย มีแต่ตัวเงิน) ดังนั้นผ้าที่ผู้มาทอดกฐินนำมาถวาย จึงเป็นเพียงผ้าป่า 


          การพูดของมัคทายกแบบนี้ ถือว่าผิดหลักศาสนพิธี ผิดธรรมวินัย และเป็นการทำลายศรัทธาของเจ้าภาพ เป็นการให้สำคัญแต่ตัวเงิน จนไม่สนใจตัวหลักตามพระธรรมวินัย คือผ้าไตรจีวร



         
๒. เข้าใจว่า
กฐินมีการถวายได้เป็นกองๆ เช่น วัดแห่งหนึ่งบอกบุญให้ญาติโยมร่วมกันทอดกฐิน เท่านั้นกอง เท่านี้กอง (ที่ได้ยินบ่อยมาก อย่างเช่น กฐิน ๘๔,๐๐๐ กอง) และแต่ละกองก็มีเจ้าภาพประจำกอง และทุกคนเป็นเจ้าภาพกฐินทั้งหมด  


          ความเข้าใจเช่นนี้ ก็เป็นความเข้าใจที่ผิด


          เนื่องจากว่า กฐิน จุดสำคัญอยู่ที่ผ้าไตรจีวรที่จะนำมาเป็นผ้ากฐิน และมีผ้าเพียงชุดเดียวเท่านั้น ที่เป็นผ้ากฐิน ส่วนผ้าที่เหลือนอกนั้น เช่นผ้าสำหรับถวายพระคู่สวด หรือจะมีผ้าไตรจีวรสำหรับถวายพระทุกรูปในวัดนั้นก็ตาม ไม่เป็นกฐิน ถือว่าเป็นบริวารกฐินไป เหมือนกับตัวเงิน ที่ไม่ใช่กฐิน


          ยิ่งถ้าหากมีการประกาศว่า กฐินแต่ละกอง ต้องมีเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้  ยิ่งเป็นการผิดเอามากๆ และถ้าหากจัดขึ้นด้วยการบอกหรือการโฆษณาของพระสงฆ์ ก็เท่ากับเป็นการแสวงหาทรัพย์สินในทางอเนสนา ไม่ถูกต้อง และผิดต่อหลักพระธรรมวินัย


          ถ้าหากยังจะมีจัดกฐินเป็นกองๆอยู่ ก็ขอให้เรียกให้ถูกต้องและบอกกันตรงๆว่า กฐินครั้งนี้ จะแบ่งบริวารกฐินเป็น ๘๔,๐๐๐ กอง  หรือจะเท่านั้นเท่านี้กองก็ว่ากันไป เพราะกฐินสำเร็จด้วยผ้าไตรจีวรชุดเดียว,ผืนเดียว ไม่ใช่สำเร็จที่ตัวเงิน และไม่มีการแบ่งกฐินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้กอง  จะมีอะไรเป็นกองๆ ก็ให้เป็นบริวารกฐินไป




กฐินต้องห้าม



         
กฐินต้องห้าม คือกฐินที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือก็คือ ไม่เป็นกฐิน นั่นเอง (ถึงแม้จะมีพิธีที่เรียกว่า ทอดกฐิน เกิดขึ้นก็ตาม)  ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุหลายประการ แต่ที่พบมากในปัจจุบันก็คือ  พระสงฆ์หากฐินเอง


          ที่ว่า หากฐินเอง นี้ ก็คือ อาจจะมีบางวัด(หรือหลายวัด) ที่ไม่มีเจ้าภาพมาติดต่อจองกฐิน  จนจะถึงหน้าทอดกฐิน ใกล้จะออกพรรษาแล้ว ก็ยังไม่มีญาติโยมผู้มีศรัทธามาติดต่อขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน   ทำให้เจ้าอาวาส หรือพระในวัด (หรือเจ้าอาวาสจะสั่งพระในวัด) ไปหาเจ้าภาพมาทอดกฐิน เช่น ไปออกปากบอกญาติโยมผู้มีศรัทธา แล้วก็ได้เจ้าภาพมาทอดกฐินที่วัดของตน


          การหากฐินเองแบบนี้ ไม่ว่าจะบอกด้วยปากเปล่าก็ตาม หรือใช้วิธี ประกาศหาเจ้าภาพด้วยการติดป้าย, ติดต่อทางโทรศัพท์, ประกาศทางรายการวิทยุโทรทัศน์, ประกาศทางอินเตอร์เนต  หรือจะด้วยวิธีไหนก็ตามที ที่เป็นการหากฐินมาทอดที่วัด "ตนเอง"   ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่  ไม่เป็นกฐิน ทั้งสิ้น


          ถ้าหากถามว่ามีอะไรยืนยัน ว่าการออกปากขออย่างนี้ไม่เป็นกฐิน ก็ตอบได้ว่า เป็นไปตามพระวินัย ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ข้อที่ ๙๗ ตอนหนึ่ง ว่า นะ ปะริกะถากะเตนะ อัตถะตัง  โหติ  กะฐินัง  -  กฐินไม่เป็นอันกราน เพราะเอ่ยปากขอมา


          ในอรรถกถาพระวินัย ได้อธิบายไว้ว่า


 "บทว่าปะริกะถากะเตนะ  คือ  ด้วยผ้าที่ภิกษุให้เกิดขึ้นด้วยพูดเลียบเคียงอย่างนี้ว่า   การถวายผ้ากฐิน  สมควรอยู่   ทายกเจ้าของกฐินย่อมได้บุญมาก  


          ขึ้นชื่อว่า   ผ้ากฐิน   เป็นของบริสุทธิ์จริง ๆ  จึงจะสมควร    แม้มารดาของตน   ก็ไม่ควรออกปากขอ   ต้องเป็นดังผ้าที่ลอยมาจากอากาศนั่นแล   จึงจะเหมาะ.


 


          ตามที่อรรถกถาได้อธิบายไว้นี้แสดงว่า  การออกปากขอกฐิน โดยการพูดเลียบเคียง ตามตัวอย่างนี้ หรือแม้แต่ใช้คำพูดอย่างอื่น เช่นบอกกับญาติโยมว่า "แหม ปีนี้ที่วัดยังไม่มีเจ้าภาพทอดกฐินเลย"  และเป็นการบอกทำนองเลียบเคียงขอให้เขาเป็นเจ้าภาพ เป็นต้น  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการขอแบบไหนๆก็ตาม ก็ไม่สมควร ไม่เป็นกฐิน แม้แต่การขอกับมารดาของตนเองก็ตาม  ยกเว้นแต่ว่าญาติโยมเขาถามว่า "ปีนี้ที่วัดมีเจ้าภาพมาจองกฐินหรือยัง" ก็บอกไปตามตรงเพียงว่า "ยังไม่มีผู้มาจองกฐิน"  ส่วนเขาจะมีศรัทธา แสดงความจำนงค์ขอเป็นเจ้าภาพ จองกฐินหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของญาติโยม


          เมื่อมีพระวินัยระบุไว้เช่นนี้แล้ว พระภิกษุในวัด หรือเจ้าอาวาสวัดใดๆก็ตาม พึงทราบไว้ว่า  ถ้าหากต้องการให้กฐินที่มีผู้มาทอดถวายในวัดของตนนั้น เป็นกฐินสมบูรณ์ และได้อานิสงส์กฐินสมบูรณ์  ไม่ควรไปออกปากขอโดยปริยายใดๆ ไม่ว่าจะขอกับพระหรือขอกับฆราวาสก็ตาม การรับผ้ากฐิน เป็นพุทธานุญาตที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้  ถึงแม้จะไม่มีผู้มาทอดกฐินเลยก็ตาม ภิกษุในวัดก็สามารถจัดทอดกฐินเอง ด้วยการตัดเย็บผ้าบังสุกุลที่หาได้ ให้กลายเป็นจีวร แล้วก็ร่วมกัน ยกผ้าให้กับพระภิกษุในวัดรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อกรานกฐิน 


          การทำอย่างนี้ เป็นกฐินโดยสมบูรณ์ในตนเอง และเป็นไปตามพระธรรมวินัยด้วย  ไม่ต้องไปแสวงหากฐินโดยการออกปากขอจากฆราวาสญาติโยมที่ไหน   เพราะนอกจากจะทำให้ไม่เป็นผ้ากฐินที่บริสุทธิ์แล้ว ยังส่อแสดงถึงความต้องการจะหาลาภผล หรือปัจจัยใดๆที่เป็นบริวารกฐิน มาเข้าวัดตนเอง (และยังอาจสื่อได้ว่า ทางวัดคงไม่มีญาติโยมผู้ศรัทธามาทอดกฐินโดยบริสุทธิ์แล้วกระมัง ถึงต้องมาร้องขอกันแบบนี้) ถือได้ว่าเป็นการหาเลี้ยงชีพในทางมิชอบ เป็นอเนสนา พระพุทธเจ้าทรงตำหนิการกระทำเช่นนั้น  ถึงแม้จะได้ปัจจัยบริวารกฐินมาก็ตามที  แต่ก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน ถ้าหากต้องการเงินปัจจัยบริวารกฐิน ก็ควรบอกญาติโยมกันไปตรงๆว่า "ขอให้ญาติโยมร่วมกันเอาเงินมาถวายวัด"  ไม่ใช่บอกให้ญาติโยมมาทอดกฐินที่วัด


          วัดที่มีพระภิกษุสามเณรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงนั้น จะไม่ต้องห่วงในสิ่งเหล่านี้เลย เพราะอุบาสกอุบาสิกา พร้อมที่จะอุปถัมภ์บำรุงอยู่แล้ว ดังนั้นพระคุณเจ้าในวัดต่างๆ ควรศึกษา ปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยโดยถูกต้อง บริสุทธิ์ บริบูรณ์เถิด  ญาติโยมผู้เห็นความสำคัญ และเห็นการปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ก็จะมาสนับสนุนเอง โดยไม่ต้องออกปากขอเลย


          สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ชาวพุทธ ที่มีจิตศรัทธาเอง ก็ควรทราบในข้อวินัยนี้ของพระภิกษุสงฆ์  หากมีพระคุณเจ้ารูปใดมาออกปากขอให้ไปทอดกฐินในวัดของท่านเอง ก็ควรกราบเรียนท่านไปตรงๆว่า "พระคุณเจ้ามาออกปากขอกฐิน อย่างนี้ไม่ถูกต้องเลย ไม่เป็นกฐิน"  เพื่อช่วยกันปกป้องรักษาพระธรรมวินัย


 


ข้อควรทราบที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฐิน



         
๑. กฐินคือการทอดถวายผ้า ที่วัดใดวัดหนึ่ง โดยผู้มีจิตศรัทธา ไปทอดถวายเอง โดยไม่ได้เกิดจากการออกปากขอของพระภิกษุสงฆ์


          ๒. พระภิกษุสงฆ์ในวัด ที่จำพรรษาครบ ๓ เดือน และมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป จึงจะสามารถรับกฐินได้


          ๓. กฐิน รับได้เพียงครั้งเดียว ใน ๑ ปี กำหนดการรับผ้ากฐิน , ทอดกฐิน ทำได้ตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น   ถ้าก่อนกำหนด หรือเกินกำหนดนี้ ไม่เป็นกฐิน 


          ๔. แต่ละวัด จะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว  โดยเจ้าภาพผู้ทอดถวายเพียงรายเดียว หรือคณะเดียว   หลังจากนั้นแล้ว แม้มีผู้จะมาทอดกฐินอีก จะกี่ราย หรือเงินบริวารกฐินจะมากแค่ไหน  ก็ไม่เป็นกฐิน


          ๕. การทำสังฆกรรมคือ กรานกฐิน จะต้องทำภายในวันรับกฐินนั้น ก่อนรุ่งเช้าของวันใหม่  ถ้าไม่ทำภายในเวลาดังกล่าว ผ้านั้นไม่เป็นกฐิน ดังในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ระบุว่า นะ สันนิธิกะเตนะ อัตถะตัง   โหติ  กฐินัง  - กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน


          ๕. ตัวกฐินจริงๆ คือ ผ้าไตรจีวร ซึ่งก็คือ อันตรวาสก (สบง) อุตตราสงค์ (จีวร) และ สังฆาฏิ  เท่านั้น  ของอย่างอื่นจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นเงินปัจจัย บาตร ตาลปัตร เครื่องโยธา หรือของถวายอื่นใดก็ตามในพิธีนั้น ถือว่าเป็นบริวารกฐินทั้งหมด ผู้มีจิตศรัทธาควรจะมุ่งใจเป็นกุศลไปที่การถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ เพื่อให้ท่านได้กรานกฐิน ไม่ควรกังวลในเรื่องอื่น เช่น เงินจะถวายเข้าวัดน้อยเกินไป เป็นต้น


          ฝ่ายพระสงฆ์เองก็ไม่ควรมีจิตเป็นอกุศล ด้วยการทำเหมือน รังเกียจทาน ของผู้มาทอดกฐิน  ถ้าหากเงินบริวารกฐินน้อยเกินไป เพราะจุดประสงค์ของการรับผ้ากฐิน การทอดกฐิน และ กรานกฐิน ก็อยู่ที่ "ผ้ากฐิน" (ผ้าไตรจีวร) เพียงเท่านั้น   ถ้าคิดจะหาเงินปัจจัยอะไรต่างๆเพื่อบำรุงวัดของตนเอง ควรไปทำในโอกาสอื่นมากกว่า เพื่อให้กฐิน  เป็นกฐินบริสุทธิ์บริบูรณ์จริงๆ


          ๖.  พระภิกษุสงฆ์จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินเองก็ได้ แต่ต้องทอดถวายที่วัดอื่น ไม่ใช่ในวัดของตนเอง


 


อานิสงส์กฐิน



         
คำว่า อานิสงส์กฐิน ในที่นี้ หมายถึงอานิสงส์ของพระภิกษุผู้รับกฐิน  ส่วนอานิสงส์การทอดกฐิน หรือการถวายผ้ากฐินของฆราวาสนั้น มีอานิสงส์ในส่วนของการถวายทาน ซึ่งเป็นบุญกุศลโดยตัวเองอยู่แล้ว


          อานิสงส์กฐิน ในฝ่ายพระภิกษุสงฆ์นั้น ก็คือ พุทธานุญาตในพระวินัยบางประการ  หมายถึง มีพระวินัยบางข้อ ที่ถ้าหากพระภิกษุสงฆ์ไปละเมิดเข้า ก็มีโทษอาบัติ แต่เมื่อได้กรานกฐิน ได้รับกฐินแล้ว สามารถจะได้รับการลดหย่อนในพระวินัยบางข้อนั้นได้ ตามช่วงเวลาที่กำหนด  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ โดยอานิสงส์ในการลดหย่อนพระวินัยบางข้อนั้น  มีระยะเวลา ๔ เดือน หลังจากรับกฐินแล้ว  กล่าวคือ ได้รับอานิสงส์กฐินนี้ ตั้งแต่ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔


          อานิสงส์ทั้ง ๕ ข้อนั้น มีดังนี้


          ๑. สามารถไปในที่อื่นได้โดยไม่ต้องบอกลา  คือ เมื่อพระภิกษุจะไปในที่ใดก็ตาม ในเวลาก่อน หรือหลังจากฉันภัตตาหาร จะต้องบอกภิกษุรูปอื่นๆก่อน  แต่ถ้าหากได้กรานกฐินแล้ว ก็ได้อานิสงส์ คือไม่ต้องบอกลาก็ได้


          ๒. เที่ยวจาริกไปในที่ต่างๆโดยไม่ต้องนำจีวรไปครบสำรับ (ผ้าสบง, จีวร สังฆาฏิ)


          ๓. สามารถฉันคณโภชน์ได้  โดยปกติเมื่อทายกทายิกา ผู้มีศรัทธา จะนิมนต์ฉันอาหารโดยออกชื่อโภชนะ  (คำว่าออกชื่อโภชนะ คือบอกชนิดอาหาร หรือเครื่องปรุง ที่จะถวาย เช่น บอกว่า นิมนต์ไปฉันสุกี้ นิมนต์ไปฉันพิซซ่า นิมนต์ไปฉันแป๊ะซะปลาช่อน นิมนต์ไปฉันหมูสะเต๊ะ ฯลฯ) เป็นต้นนั้น พระสงฆ์ไม่สามารถรับการนิมนต์ และไม่สามารถไปฉันได้ โดยกำหนดว่า ถ้าฉันเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป มิฉะนั้น จะต้องอาบัติปาจิตตีย์ (เว้นแต่รับนิมนต์ฉัน เพียง ๓ รูป) แต่ถ้าหากได้กรานกฐินแล้ว สามารถฉันคณโภชน์ได้  (คือรับนิมนต์ ที่ญาติโยมนิมนต์ฉันเป็นหมู่คณะ โดยออกชื่อโภชนะได้)   ยกตัวอย่างเช่น  ทายกทายิกา  จะนิมนต์พระสงฆ์ ๙ รูป ไปฉันที่บ้าน โดยกล่าวว่า "พรุ่งนี้ เวลาเพล ขอนิมนต์พระคุณเจ้า ๙ รูป ไปฉันก๋วยเตี๋ยว ที่บ้านโยม"  ซึ่งตามปกติ การนิมนต์ออกชื่อโภชนะ ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าได้อานิสงส์กฐินแล้ว ก็สามารถรับนิมนต์ฉันในลักษณะนี้ได้


          ๔. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา  แต่เดิมพระภิกษุสงฆ์ มีไตรจีวร (สบง จีวร สังฆาฏิ)  ที่อธิฏฐานเป็นผ้าครองได้เพียง ๑ชุดเท่านั้น  หากมีเกินกว่านั้น เรียกว่า อติเรกจีวร  ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วัน เกินเวลานั้นต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์  และต้องสละแก่สงฆ์  ยกเว้นแต่จะได้ทำวิกัปป์ คือทำให้เป็นของสองเจ้าของ (คือให้ภิกษุรูปอื่นสามารถใช้ได้ด้วย)  แต่ถ้าหากได้รับอานิสงส์กฐินแล้ว สามารถจะเก็บอติเรกจีวรได้เกินกว่านั้น จนกว่าจะหมดเวลาอานิสงส์กฐิน


          ๕.  ผ้าไตรจีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น ย่อมควรแก่พวกเธอ   คำว่า พวกเธอ ในที่นี้ หมายถึงพระภิกษุที่จำพรรษาครบ ๓ เดือน ในอาวาสนั้น และได้กรานกฐินแล้ว    ส่วนที่ว่า ย่อมควร นี้ หมายถึง เมื่อมีการถวายจีวรแด่สงฆ์ในวัดนั้น ภิกษุที่ได้จำพรรษาครบ ๓ เดือน และได้กรานกฐินเท่านั้น ที่สมควรมีสิทธิ์ได้รับการแบ่งจีวร


          อานิสงส์ทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นอานิสงส์ที่ได้เมื่อพระภิกษุจำพรรษาในอาวาสใดอาวาสหนึ่ง ครบ ๓ เดือน  ซึ่งก็จะได้รับอานิสงส์การจำพรรษา ๑ เดือน นับแต่ออกพรรษา คือ หลังจาก วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ถึง  ขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  แต่ถ้าได้กรานกฐินแล้ว อานิสงส์นี้จะต่อไปได้อีก ๔ เดือน ก็คือ จนถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  ดังนั้น อานิสงส์กฐินในที่นี้  ก็คือ สามารถต่ออายุ อานิสงส์การจำพรรษาไปได้อีก ๔ เดือน นั่นเอง


          ดังนั้น การที่พุทธศาสนิกชนได้มาร่วมกันทำบุญทอดกฐิน นอกจากเป็นการทำทาน ที่เรียกว่า กาลทาน แล้ว ยังถือได้ว่า มาช่วยอนุเคราะห์ เอื้อเฟื้อ ให้พระภิกษุสงฆ์ในวัดนั้นๆ ได้รับอานิสงส์กฐิน หรือก็คือ ได้รับสิทธิพิเศษ บางประการ ในพระวินัยด้วย


          เมื่อได้ทราบแล้วว่า การทอดกฐินมีอานิสงส์ทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์อย่างนี้ ก็มาถึงว่า ถ้าอยากจะทอดกฐิน ควรทำอย่างไรบ้าง  ก็ขอยกยอดไปว่ากันต่อ ใน   "ความเข้าใจเรื่อง "กฐิน" ภาคจบ"




 

Create Date : 11 ตุลาคม 2554   
Last Update : 11 ตุลาคม 2554 21:30:51 น.   
Counter : 1785 Pageviews.  

พระภิกษุเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ VS การตักบาตรด้วยข้าวสาร ในวันเทโวโรหณะ

พระภิกษุเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ


VS


การตักบาตรในวันเทโวโรหณะ


(เพื่อความเข้าใจในพระวินัยของพระสงฆ์)


          เนื่องจากมีบางท่านตั้งข้อสังเกต รวมถึงบอกกล่าวว่า การตักบาตรอาหารแห้ง ในวันเทโวโรหณะนั้น พระรับข้าวสารไม่ได้ เป็นการผิดจากข้อจุลศีล แล้วก็อ้างศีลข้อหนึ่ง ในจุลศีล ที่ว่า


          "อามกธญฺญมปฏิคฺคหณา ปฏิวิรโต โหติ -พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ"


          แล้วก็เอาจุลศีลข้อนี้แหละมาอ้างว่า พระภิกษุที่รับบิณฑบาตอาหารแห้ง เช่นข้าวสาร ในวันเทโวโรหณะนั้น ผิดหลักจุลศีล ผิดพระธรรมวินัย การกล่าวอ้างเช่นนี้ เข้าใจว่า เริ่มต้นขึ้นจากสำนักสงฆ์สามแยก ของพระเกษม และหลายๆท่านที่ได้รับทราบมา ก็เอามาบอกกล่าว จนอาจเป็นเหตุให้เข้าใจผิดได้


          เพื่อความเข้าใจในจุลศีลข้อนี้ ขอบอกให้ทราบโดยทั่วกันว่า.....



"คำว่า ธัญญาหารดิบ ไม่ได้หมายถึง ข้าวสาร"



          สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า คำว่า ธัญญาหารดิบนั้น หมายถึง ธัญญชาติ ๗ ชนิด ที่พระภิกษุไม่พึงรับ ซึ่งในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ตอนอธิบายจุลศีล ท่านให้คำอธิบายของคำว่า "รับธัญญาหารดิบ" เอาไว้ดังนี้ ว่า


------------------------


          อามกธญฺญมปฏิคฺคหณาติ สาลิวีหิยวโคธุมกงฺคุวรกกุทฺรูสกสงฺขาตสฺส สตฺตวิธญฺญสฺสาปิ อามกธญฺญสฺส ปฏิคฺคหณา ฯ น เกวลญฺจ เอเตสํ ปฏิคฺคหณเมว อามสนมฺปิ ภิกฺขูนํ น วฎฺฏติเยว ฯ


          (แปล) บทว่า อามกธญฺญมปฏิคฺคหาณา ความว่า จากการรับธัญชาติดิบทั้ง ๗ อย่าง กล่าวคือ ๑.ข้าวสาลี ๒.ข้าวเปลือก ๓.ข้าวเหนียว(ข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเหนียว) ๔.ข้าวละมาน ๕. ข้าวฟ่าง ๖.ลูกเดือย ๗.หญ้ากับแก้.


          อนึ่ง มิใช่แต่การรับธัญชาติดิบเหล่านี้ อย่างเดียวเท่านั้น แม้การจับต้องก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายเหมือนกัน.


------------------------


          ดังที่อรรถกถาท่านได้ให้ความหมายของคำว่า "ธัญญาหารดิบ" นี้ ก็ชัดแล้วว่า หมายถึงข้าวสาลี ข้าวเปลือก ฯลฯ ซึ่งธัญญาหารดิบเหล่านี้ ไม่มีคำว่า "ข้าวสาร" ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า " ตัณฑุละ "


          ดังนั้น การที่พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธา จะถวายอาหารแห้ง ที่มีข้าวสารเป็นต้นนั้น พระภิกษุสงฆ์ก็สามารถรับได้ เพราะไม่อยู่ในเกณฑ์ธัญญาหารดิบ


          โดยสรุปก็คือ คำว่าธัญญาหารดิบ ในที่นี้ หมายเอา ธัญญชาติข้าว ที่ยังไม่ได้มีการขัดสี ยังเป็นข้าวเปลือกอยู่ เท่านั้น


          ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ข้อที่ ๘๕ ได้ระบุถึงการขออนุญาตของเมณฑกเศรษฐี ที่ขอให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ที่จะเดินทางไกล สามารถขอเสบียงได้ แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตตามที่ขอนั้น ดังพุทธดำรัสที่ว่า





          อนุชานามิ ภิกฺขเว ปาเถยฺยํ ปริเยสิตุ ตณฺฑุโล ตณฺฑุลตฺถิเกน มุคฺโค มุคฺคตฺถิเกน มาโส มาสตฺถิเกน โลณํ โลณตฺถิเกน คุโฬ คุฬตฺถิเกน เตลํ เตลตฺถิเกน สปฺปิ สปฺปิตฺถิเกน


          มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัตอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาส พึงแสวงหาถั่วราชมาส ต้องการเกลือ พึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมัน พึงแสวงหาน้ำมัน ต้องการเนยใส ก็พึงแสวงหาเนยใส.


          จากพุทธานุญาตนี้บอกไว้ชัดว่า พระภิกษุสามารถรับข้าวสารได้ แต่ท่านผู้จะแย้งค้านไม่พึงเข้าใจว่า นี่เป็นพุทธานุญาตพิเศษเฉพาะในเวลาจะเดินทางไกล ในเวลาปกติรับไม่ได้ เพราะในจุลศีลระบุไว้ชัดว่า พระภิกษุ"เว้นขาด" ในเมื่อตรัสไว้ชัดว่า เว้นขาด ก็หมายความว่า ไม่สามารถรับได้ในทุกกรณี ดังนั้น โดยปกติพระภิกษุสามารถรับประเคนข้าวสารได้อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถหุงต้มฉันเองได้



          ในอรรถกถาพระวินัยบางแห่ง กล่าวถึงพระภิกษุผู้จะต้มยาคู หรือต้มข้าวต้มฉันเอง แต่ทำไม่ได้ เพราะพระวินัยห้ามไว้ว่า ภิกษุไม่พึงหุงต้มอาหารฉันเอง เป็นปาจิตตีย์ในข้อ
"สามปักกะ" (หุงต้มฉันเอง)


         
          แต่ถ้าพระภิกษุบอกให้สามเณรประเคนข้าวสาร และภาชนะ ใส่น้ำแล้ว พระภิกษุรับประเคนแล้ว ยกขึ้นบนเตา บอกสามเณรว่า ให้สามเณรติดไฟ หลังจากสามเณรติดไฟแล้ว พระภิกษุทำกิจ(หมายถึงทำการหุงข้าว) ได้ทุกอย่าง เพราะไม่ได้ติดไฟขึ้นเอง



          เรื่องพระวินัยนี้ เป็นเรื่องลึกซึ้งละเอียดอ่อน ใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ แม้แต่คำว่า "ธัญญาหารดิบ" ที่บางท่านเอามาพูดกันนี้ ก็ต้องรู้จักศึกษาพิจารณาให้ชัดและรอบด้าน ว่าหมายถึงอะไรได้บ้าง ไม่ใช่พอเห็นแค่คำเดียว ก็เดาสวดไปเลยว่าต้องหมายถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ผู้มีศรัทธา พลาดโอกาสในการบำเพ็ญบุญ
รวมถึงอาจเป็นเหตุทำให้นึกตำหนิพระสงฆ์ทั้งประเทศที่รับประเคนข้าวสาร ว่าผิดพระวินัย ทั้งๆที่ไม่มีพระวินัยห้ามไว้แบบนั้นเลย  กลายเป็นการสร้างบาปสร้างกรรมให้แก่ผู้ตำหนิพระสงฆ์อีกด้วย



          โดยส่วนตัว ผมจะไม่ค่อยได้นำข้าวสาร ไปในการตักบาตรเทโวเท่าไหร่นัก เพราะเห็นว่าคนตักบาตรข้าวสารกันเยอะมากแล้ว ปกติจะซื้อข้าวสารเป็นถุงใหญ่ไปถวายที่วัดในโอกาสอื่นมากกว่า วันเทโวโรหณะ จึงเลือกใส่เป็นอาหารแห้งชนิดอื่น และถวายของที่เป็นอาหารสดด้วย เพื่อพระคุณเจ้าจะได้มีภัตไว้ฉันเพล







 

Create Date : 09 ตุลาคม 2554   
Last Update : 9 ตุลาคม 2554 19:18:37 น.   
Counter : 2017 Pageviews.  

1  2  

chohokun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




[Add chohokun's blog to your web]