"ประกายไฟน้อยๆ ลามทุ่งได้"

<<
ธันวาคม 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
16 ธันวาคม 2551
 

รายงานวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบประเทศไทยอย่างหนัก ฉบับที่ 3 (ห้ามพลาด)

รายงานวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบประเทศไทยอย่างหนัก ฉบับที่ 3 นี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีผลทำให้การเมืองเปลี่ยนขั้ว ท่ามกลางเสียงขานรับอย่างกึกก้องของแทบทุกภาคส่วน และท่ามกลางเสียงเรียกร้องเจี๊ยวจ๊าวของนักวิชาการกลวงที่เรียกร้องให้นำคนนั้นคนนี้มาดูแลด้านเศรษฐกิจ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้พากันเงียบเสียง ทั้ง ๆ ที่ใครก็ไม่รู้ไปนั่งบริหารงานเศรษฐกิจของประเทศ แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะทนเสียงเจี๊ยวจ๊าวแบบนี้ได้ และไม่หลงกลไปเอาคนในระบอบอำนาจเก่ามาทำให้เกลือเป็นหนอนในการบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

รายงานฉบับที่ 3 นี้นอกจากรายงานสภาพผลกระทบแล้ว ในตอนท้ายจะได้นำเสนอถึงแนวทางในการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ใช้กันอยู่ในโลกปัจจุบัน เพื่อให้รัฐบาลใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดทำนโยบาย และการกำหนดมาตรการรับมือต่อไป

ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดผลกระทบ ที่สำคัญมีดังนี้

1. บริษัทนิลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ซึ่งเป็นผู้นำในการสำรวจการใช้เงินเพื่อการโฆษณาได้เปิดเผยผลการวิจัยว่า ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา การใช้จ่ายเงินของทุกภาคส่วนเพื่อการโฆษณาลดลงถึง 4% โดยมูลค่าลดเหลือเพียง 46,807 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าในปีหน้ายอดโฆษณาโดยทั่วไปจะลดลงอีก

2. วุฒิสภาสหรัฐคว่ำร่างกฎหมายที่รัฐบาลจะใช้เงินอุดหนุนบริษัทอุตสาหกรรมรถยนต์ยักษ์ 3 แห่ง ทำให้เกิดแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐจะล้มละลายเป็นส่วนใหญ่ "ส่งผลให้เกิดความหวาดผวาไปทั่วโลก และตลาดหุ้นจะดิ่งลงเหวเพราะความกลัวว่าจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวหนักขึ้น"

3. นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือซีพี เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เกิดเงินฝืดซึ่งเป็นอันตรายกว่าเงินเฟ้อ และส่งผลให้สินค้าภาคเกษตรของไทยย่ำแย่หนักขึ้น คือราคาสินค้าเกษตรไทยในปี 2552 จะตกต่ำยิ่งกว่าปี 2551 และเป็นไปได้ว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และอัตราการเติบโตจะลดเหลือเพียง 2% เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐยังประมาณการว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 4%

4. ดร.อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา SMEs ประจำปี 2551 ว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 มีความเป็นไปได้ว่าจะติดลบ หรืออย่างมากก็โตได้ไม่เกิน 2%

5. นายศุภชัย วีระบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามแก๊ส จำกัด เปิดเผยว่ากำลังอยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุนในธุรกิจถ่านหินใหม่ โดยจะลดขนาดการลงทุนเดิมที่ตั้งประมาณการไว้จำนวน 2,000 ล้านบาท ลงเพราะไม่แน่ใจสถานการณ์ในปีหน้า

6. นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เปิดเผยว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้รับผลกระทบจากนโยบายประชานิยมที่ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าฟรี 6 เดือน เพราะการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่สามารถชำระค่าซื้อกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขาดสภาพคล่อง ต้องขอยกเว้นการนำรายได้ส่งคลังงวดแรกจำนวนกว่า 7,000 ล้านบาท และยังจำเป็นต้องขอวงเงินกู้อีก 20,000 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย และขณะนี้บอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้อนุมัติกรอบวงเงินกู้แล้ว จะต้องนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

7. นายวิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทจีทีเอ็กซ์ จำกัด ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภาพรวมของธุรกิจภาพยนตร์ในปีนี้ว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้รายได้ลดลงถึง 30% และในปี 2552 คาดว่าจะได้รับผลกระทบกระเทือนมากขึ้นอีก ทั้งนี้เพราะคนไทยขาดกำลังซื้อและพากันเลิกดูภาพยนตร์มากขึ้น

8. นายประกิต ชินอมรพงศ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่าขณะนี้นักลงทุนในธุรกิจโรงแรมทั้งคนไทยและต่างประเทศได้ชะลอแผนการลงทุนในโรงแรมระดับห้าดาวออกไปตลอดทั้งปี 2552-2553 โดยไม่มีกำหนด ทำให้แผนการลงทุนก่อสร้างใหม่จำนวน 8,000 ห้อง มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ หายวับไปกับตา

9. นายชาญณรงค์ บุริตตระกูล ประธานชมรมผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่ายอดรวมการซื้อขายบ้านจัดสรรปี 2551 ลดลงถึง 20% และมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้นอีกในปี 2552 เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยกู้และประชาชนไม่มีกำลังซื้อ

10. สื่อมวลชนประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2551 รายงานข่าวว่าเกษตรกรปลูกข้าวโพดจังหวัดน่านนับพันคนลุกฮือปิดถนนเรียกร้องให้เปิดจุดรับซื้อข้าวโพดเพิ่มขึ้นและสกัดการนำเข้าข้าวโพดจากลาว ในขณะที่เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดจะจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

11. สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าธนาคารชั้นนำใน 7 ประเทศทั่วโลกได้ทยอยเปิดเผยความเสียหายจากการลงทุนในกองทุนเก็งกำไรแบบแชร์ลูกโซ่และได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีมูลค่าถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.75 ล้านล้านบาท กลายเป็นคดีฉ้อโกงมหกรรมบันลือโลกไปแล้ว และได้รับผลกระทบต่อสถาบันการเงินทั่วโลกด้วย เป็นการผุดขึ้นของปัญหาในสถาบันการเงินระดับโลกเพิ่มขึ้นมาอีกปัญหาหนึ่ง ในขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจญี่ปุ่นโดยธนาคารกลางของญี่ปุ่นเปิดเผยว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นทรุดวูบและหนักที่สุดในรอบระยะเวลา 30 ปี พร้อม ๆ กันนั้น เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกคำเตือนว่าในปี 2552 สถานการณ์แรงงานของจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกจะได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ส่วนทางตะวันออกกลาง สำนักข่าวอาราเบี้ยนรายงานว่าเจ้าชายอันวาลีกบินตาลันแห่งซาอุดิอาระเบียประสบผลขาดทุนจากการลงทุนในซิตี้กรุ๊ปของสหรัฐเป็นเงินกว่า 140,000 ล้านบาท

12. แหล่งข่าวจากบริษัทฟอร์ดเครดิตอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทให้สินเชื่อแก่ดีลเลอร์และผู้จำหน่ายรถยนต์ฟอร์ด มาสด้า และวอลโว่ในประเทศไทย มีสินทรัพย์เกือบหมื่นล้านบาท ทนแรงกดดันจากภาวะวิกฤตไม่ไหว ต้องขายกิจการให้แก่ผู้ลงทุนรายอื่น

13. แหล่งข่าวจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดเผยว่าในปี 2552-2553 รัฐบาลจะบริหารประเทศด้วยความยุ่งยากลำบากที่สุด เพราะเครื่องมือในการบริหารการเงินจำกัดมาก เนื่องจากมีผลขาดดุลสูงทะลุเพดาน และเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลก็เหลืออยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท ในขณะที่เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า

14. นายธีรชัย ภูวนารถนฤบาล เลขาธิการ กลต. เปิดเผยว่าบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์มีมติให้นำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากมีแนวโน้มว่าผู้ถือหุ้นจะไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระบุว่านี่คือกระบวนการในการดำเนินคดีล้มละลายนั่นเอง จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์ของประเทศไทยอย่างกว้างขวางต่อไป และสะท้อนให้เห็นสภาพที่ไร้ธรรมาภิบาล ตลอดจนความไร้ประสิทธิภาพในภาคตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยด้วย

ส่วนที่ 2 แนวทางในการรับมือกับวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ใช้อยู่ในโลกปัจจุบัน มีอยู่ 2 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 คือแนวทางรดน้ำที่ยอดไม้ ได้แก่แนวทางการทุ่มเททรัพยากร งบประมาณ ในการพยุงมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร และตราสารต่าง ๆ มิให้ลดค่าลง เพื่อรักษามูลค่าสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่สูงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีหลักคิดว่าถ้าสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ทรุดค่าลง กิจการก็จะไม่ขาดทุน ก็จะทำให้เศรษฐกิจยืนอยู่ได้ และก้าวรุดหน้าต่อไปได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้แนวทางนี้ทั้งในสหรัฐ ในยุโรป และในเอเชียบางประเทศปรากฏว่าถึงแม้จะได้มีการใช้เงินไปกว่า 20 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐแล้ว สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น กลับทรุดหนักลงไป และทำให้เงินที่ทุ่มเทลงไปได้รับผลขาดทุนหรือเสียหาย ที่สำคัญราคาสินทรัพย์ยังตกดิ่งไม่หยุดยั้ง จนไม่รู้ว่าก้นเหวอยู่ที่ไหน ทำให้บรรดาประเทศที่ใช้แนวทางนี้ก้าวเข้าสู่ภาวะใกล้ล้มละลายตาม ๆ กัน และประชาชนก็หมดกำลังซื้อและมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างทั่วด้าน

แนวทางที่ 2 คือแนวทางรดน้ำที่โคนไม้หรือที่ราก ได้แก่แนวทางการทุ่มเททรัพยากร งบประมาณไปที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งปฏิบัติอยู่เพียงประเทศเดียวคือประเทศจีน โดยได้ทุ่มเทงบประมาณและเงินจำนวนมหาศาลลงไปในภาคเกษตรและภาคบริการ เพื่อให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ มีกำลังซื้อ และยืนอยู่ได้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็ได้ทุ่มเทเงินอีกจำนวนหนึ่งในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการจ้างงานเพื่อรับมือกับการว่างงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ผลจากการใช้แนวทางนี้จึงทำให้จีนสามารถยันภาวะวิกฤตได้ดีกว่าทุกประเทศในโลก ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง ผลจากการเปรียบเทียบสถานะทางเศรษฐกิจล่าสุดในท่ามกลางภาวะวิกฤตโลกจึงปรากฏว่าจีนกำลังก้าวสุ่ฐานะลำดับที่ 1 ที่ครองความยิ่งใหญ่ในทางเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว

แม้กระนั้นหูจิ่งเทา เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนและประธานาธิบดีจีน ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ก็ได้เรียกร้องและชี้นำให้จีนปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการส่งออกที่อาจจะลดลงอย่างเต็มที่ ดังที่ได้รายงานมาก่อนหน้านี้แล้ว นับว่าเป็นการเตรียมรับมือในระดับที่เข้มข้นและหวังผลเกือบสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกขณะนี้

สำหรับประเทศไทย ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและภาคบริการ ประชากรในภาคนี้เป็นฐานล่างสุดและใหญ่สุด ในอดีต เมื่อมีปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ แนวทางการแก้ไขจะใช้วิธีการรดน้ำที่ยอดไม้ คือทุ่มเทเงินไปสู่สถาบันการเงินเกือบทั้งหมด ปล่อยให้ประชากรส่วนใหญ่ต้องยากแค้นแสนเข็ญ ซึ่งเป็นแนวทางของตะวันตก และเกิดขึ้นเนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ หรือผู้มีบทบาทในทางเศรษฐกิจถูกปลูกฝังแนวคิดตะวันตกไว้ในหัวสมองจนไม่ลืมหูลืมตา มองเห็นโลกเพียงซีกเดียว แต่สถานการณ์วิกฤตในขณะนี้หนักหน่วงรุนแรงเกินกว่าที่จะลองผิดลองถูกได้อีกแล้ว รัฐบาลใหม่จึงควรพิจารณาแนวทางรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ใช้แนวทางรดน้ำต้นไม้ที่ราก โดยปรับปรุงแนวทางและมาตรการของจีนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศไทย

ยกตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ 1 ขณะนี้ภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบถ้วนหน้า มีแนวโน้มว่าจะต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้างจำนวนมาก ในปี 2540 รัฐบาลใช้มาตรการตัดงบสัมมนาทันที ซึ่งผิดมหันต์ หากใช้แนวทางรดน้ำต้นไม้ที่ราก รัฐบาลควรกำหนดมาตรการพยุงภาคบริการทั่วประเทศ โดยการกำหนดให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐร่วม 3 ล้านคน จัดอบรมสัมมนานอกพื้นที่จังหวัดของตนอย่างน้อยคนละ 3 ครั้งต่อปี และอาจต้องกำหนดเป็นพิเศษถึง 10 ครั้งต่อปี เพื่อขับเคลื่อนภาคบริการหรือการท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐ 30 ล้านคนทันที ภาคบริการทั่วประเทศก็จะดำรงตัวอยู่ได้ คนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ได้ จะมีกำลังซื้อและไม่เกิดผลกระทบแบบลูกระนาดไปยังภาคอื่น ๆ

ตัวอย่างที่ 2 ราคามันสำปะหลังกำลังตกต่ำจากกิโลกรัมละ 3 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 1.70 บาท และยางราคาตกต่ำ จากกิโลกรัมละ 100 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 30 บาทเศษ และไม่มีผู้ซื้อ หากปล่อยไปตามยถากรรม ภาคเกษตรก็จะล้มละลายหมด กำลังซื้อทั่วประเทศก็จะหมดไป ส่งผลกระทบต่อภาคสถาบันการเงินและภาคอุตสาหกรรมต่อไปด้วย ดังนั้นหากใช้แนวทางรดน้ำต้นไม้ที่ราก รัฐอาจต้องพยุงราคา เช่น เข้ารับซื้อหรือรับจำนำมันสำปะหลังในราคากิโลกรัมละ 2 บาท และยางกิโลกรัมละ 40 บาทเป็นอย่างน้อย ก็จะทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ได้ โดยรัฐรับผลขาดทุนหรืออาจไม่ขาดทุน ถ้าหากมีระบบการเก็บรักษาอยู่ได้ 2-3 ปี เมื่อเกษตรกรอยู่ได้ มีกำลังซื้อ ก็จะจับจ่ายใช้สอยและทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ ทั้งไม่ก่อให้เกิดหนี้สูญในระบบเพิ่มขึ้น

ถามว่าการใช้แนวทางแบบนี้รัฐลงเงินจำนวนมากแล้วจะได้อะไร? ก็ต้องตอบคำถามเดียวกันว่าการใช้เงินเพิ่มทุนให้กับธนาคารนับล้าน ๆ บาทในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้นรัฐได้อะไร? มีผลเสียหายเกือบทั้งหมดไม่ใช่หรือ

แต่การทุ่มเงินไปในภาคเกษตรและบริการนี้ รัฐจะได้เงินกลับคืนมาอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะเมื่อเงินลงไปสู่มวลชนคนรากหญ้าในภาคเกษตรและภาคบริการก็จะมีการนำเงินนั้นมาจับจ่ายใช้สอย ไม่ใช่นำเอาไปแอบฝากไว้ในต่างประเทศ และทุกทอดที่มีการจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าซื้อสินค้าหรือบริการรัฐก็จะจัดเก็บเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 7% และในหนึ่งปีก็มีผู้ทำสถิติไว้แล้วว่าเงินจะหมุนเวียนถึง 10 รอบ ซึ่งหมายความว่าทุกจำนวน 100 บาท ที่รัฐทุ่มไปยังภาคเกษตรและภาคบริการหรือที่รากต้นไม้ รัฐจะจัดเก็บเงินกลับคืนมาได้ถึง 70 บาท ในระยะเวลาแค่ 1 ปี และถ้าทอดเวลาไปอีกปีหนึ่งก็เก็บคืนเป็นภาษีหมด จึงเป็นการใช้จ่ายเงินของรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยที่รัฐได้รับเงินกลับคืนมาและทำให้ภาวะเศรษฐกิจยืนอยู่ได้ มั่นคงได้

ดังนั้นปัญหาการพิจารณาใช้แนวทางใดในการรับมือแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจจึงเป็นการตัดสินใจในทางยุทธศาสตร์ที่จะชี้ชะตากรรมของประเทศอย่างสำคัญในวันข้างหน้าอันไม่ไกลจากนี้.
Comments Add New Search




Create Date : 16 ธันวาคม 2551
Last Update : 16 ธันวาคม 2551 16:57:09 น. 3 comments
Counter : 475 Pageviews.  
 
 
 
 
สวัสดีค่ะคุณอะบูหะซัน
ขอบคุณนะคะที่ยังจำกันได้
คุณห่างหายไปนานมากเลยค่ะ

พูดถึงเรื่องเศณษฐกิจตอนนี้ ชาวสวนยางพารากำลังย่ำแค่ค่ะ
แค่ตอนที่รัฐบาลชุดเก่าแจกต้นกล้ายางชาวสวนเดิมก็เริ่มคิดกังวลแล้วว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าถ้าผลผลิตออกมาเยอะใครจะรับประกันราคาได้
แต่ยังไม่ทันที่จะเติบโต ราคายางก็ตกฮวบฮาบชนิดแลไม่เห็นหลัง
อยากให้ฟื้นฟูได้ในเร็ววันค่ะสงสารชาวสวน
เพราะราคาข้าวของเครื่องใช้ไม่ได้ลดตามเหมือนตอนขึ้นราคาตามเลยค่ะ
 
 

โดย: มัยดีนาห์ วันที่: 16 ธันวาคม 2551 เวลา:21:25:42 น.  

 
 
 
สวัสดีค่ะ
วันนี้นาห์เอา ส.ค.ส มาฝากค่ะ


 
 

โดย: มัยดีนาห์ วันที่: 29 ธันวาคม 2551 เวลา:22:56:41 น.  

 
 
 
ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล เผอิญอาจารย์ให้หารายงานอยู่พอดีเลย เห็นอาจารย์บอกว่าจะเก็บไปเป็นรายงานทางวิชาการด้วยนะคะ คงมีคนอีกไม่น้อยที่จะได้รับความรู้จากเรื่องของคุณ.......ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
 
 

โดย: เด็กเทคนิคกรุงเทพฯ IP: 202.149.25.225 วันที่: 21 มกราคม 2552 เวลา:16:31:35 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

อาบูหะซัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อาบูหะซัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com