"ประกายไฟน้อยๆ ลามทุ่งได้"

 
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
7 พฤศจิกายน 2550
 

จะค้นหาไอเดียใหม่จากไหนดี?

ดุลยทัศน์ พืชมงคล

ไอเดียใหม่เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาจเกิดขึ้นได้ยากจากสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบเดิมๆ เพราะเป็นธรรมดาที่โดยทั่วไปแล้ว ผู้เกี่ยวข้องที่แวดล้อมอยู่รอบๆผลิตภัณฑ์รวมถึงทีมงานและพนักงานทั่วไปในองค์กรมักจะมีความใกล้ชิดผูกพันกับผลิตภัณฑ์กระทั่งเกิดเป็นความคุ้นเคย และมีความรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆมีความสมบูรณ์ลงตัวดีแล้ว จนละเลยที่จะมองถึงจุดบกพร่องหรือแนวทางในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป

ในบางกรณีทีมงานหรือบุคลากรในองค์กรก็สามารถที่จะมองเห็นโอกาสหรือไอเดียใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ด้วยความเคยชินกับวิธีปฏิบัติในกระบวนการผลิตและบริการที่เป็นมา จึงปฎิเสธที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่อาจจะเกิดขึ้น ส่งผลให้แรงผลักดันที่มีต่อไอเดียดังกล่าวอ่อนระโหยโรยแรงไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการนำเสนอความคิด หรือความไม่มั่นใจในไอเดียของเจ้าของความคิดเอง ที่ทำให้ไอเดียดีๆไม่ถูกส่งผ่านและพัฒนาไปยังจุดที่ควรจะเป็น

การแก้ไขปัญหาเส้นทางที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไปของไอเดียใหม่ๆ จึงเป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการเปิดทางและสร้างสรรบรรยากาศภายในองค์กรให้เอื้ออำนวยต่อการไหลทางความคิดและเปิดรับข้อเสนอต่างๆ เพื่อสร้างคลังข้อมูลและระบบการกลั่นกรองเพื่อพัฒนาหรือนำมาหยิบใช้ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นนอกจากการวิจัยและพัฒนาในห้องทดลองแล้ว นักวิชาการหลายท่านยังเสนอช่องทางหรือแนวทางที่จะได้มาซึ่งแนวคิดหรือไอเดียใหม่ที่เป็นรูปธรรมไว้อีกหลายประการ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่หยิบยกนำมาจากองค์ประกอบใกล้ตัวที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และปรากฏแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการอยู่ทั่วไปภายในองค์กรและวงจรทางการตลาด ได้แก่

ลูกค้า

ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ที่เลือกหาผลิตภัณฑ์ ตัดสินใจซื้อ และใช้สินค้าหรือบริการ จึงเป็นผู้ที่อาจรู้ว่าตนเองมีความต้องการอะไร อย่างไร มีปัญหาหรือข้อจำกัดจากการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆในเรื่องใดบ้าง

การค้นหาข้อมูลกับลูกค้าอาจเกิดได้จากการวิจัย สอบถาม หรือการพูดคุยแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ในความเป็นจริง การวิจัยสอบถามความคิดเห็นก็ไม่สามารถที่จะดึงความต้องการที่ซ้อนเร้นและกระจัดกระจายของลูกค้าออกมาได้เสมอไป เพราะในหลากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเองอาจไม่ทราบหรือไม่พื้นฐานรู้สึกเลยว่าตนเองมีความประสงค์อะไร หรือชอบอะไรที่มากไปกว่าสินค้าหรือบริการที่ตนเองใช้อยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นนี้พิจารณาได้จากการมีสินค้าและบริการมากมายที่พัฒนาขึ้นจากผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการเอง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนวัติกรรมใหม่ โดยลูกค้าเองก็ไม่ทราบว่าตนเองมีความต้องการหรือสนใจใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาก่อน กระทั่งได้รับการผลักดันให้เกิดการทดลองใช้และเกิดความพึงพอใจขึ้นในภายหลัง หรือรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการหรือปัญหาของตนเองที่ตนเองก็ไมรู้ได้เป็นอย่างดีในเวลาต่อมา

ข้อมูล ณ จุดขาย

จุดขายสินค้าหรือบริการนับเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งในการได้มาซึ่งไอเดียดีๆต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ทั้งนี้เพราะจุดที่ให้บริการและการขายเป็นจุดที่บริษัทจะได้เห็นถึงขั้นตอนและกระบวนการในการซื้อหาสินค้าและใช้บริการโดยละเอียด ทั้งในเรื่องวิธีและขั้นตอนการเลือกซื้อหรือใช้บริการ คำถาม คำตอบ คำแนะนำ ฯลฯ

พนักงานที่อยู่นอกสำนักงานใหญ่หรือสาขาที่อยู่ห่างไกล

โดยปกติทั่วไป พนักงานที่อยู่ไกลจากสำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ห่างไกล มักจะมีมุมมองและความคิดความเห็นที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือแม้แต่ในเรื่องอื่นๆที่แตกต่างไปจากทีมงานจากสำนักงานใหญ่ ที่กล่าวมาไม่ได้รวมความถึงความคิดเห็นที่ขัดแย้งแปลกแยก แต่หมายถึงความคิดหรือไอเดียที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่อาจจะผิดแผกแตกต่างจากทีมงานในสำนักงานใหญ่ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการขาย การให้บริการ การสัมผัสกับผลิตภัณฑ์และลูกค้าที่มีรูปแบบเฉพาะและใกล้ชิด ทั้งยังมีข้อมูลดีๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่บางครั้งหากทางสำนักงานใหญ่ ผู้บริหาร หรือฝ่ายการตลาดได้ยินได้ฟัง ก็อาจจะได้รับไอเดียดีๆที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้

หนักงานใหม่

พนักงานใหม่บางคนมีความคิดเห็นที่ตรงกับชื่อก็คือสดใหม่ มีประสบการณ์ใหม่ อยู่ในฐานะที่เป็นกลุ่มผูบริโภคมาก่อนและก็อยู่ในบทบาทที่เป็นพนักงานใหม่ขององค์กรไปด้วยพร้อมๆกัน

แม้พนักงานใหม่จะเป็นผู้ที่ยังไม่ทราบข้อจำกัดหรือความเป็นมาเป็นไปของผลิตภัณฑ์ แต่นั่นก็อาจเป็นโอกาสดีสำหรับไอเดียใหม่ๆซึ่งอาจจะเคยเป็นแค่เพียงเส้นผมบังภูเขาที่กำลังจะถูกปักให้พ้นตาไปได้จากความคิดเห็นของพนักงานใหม่เหล่านี้

ผู้บริหารชั้นนำทางตะวันตกคนหนึ่งถึงกับเคยกล่าวว่า เขาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเสมอ โดยมักจะจัดเวลาเหมาะๆมานั่งพูดคุยกับพนักงานใหม่ในเรื่องความคิดเห็นที่มีต่อสินค้าและบริการขององค์กรอย่างเป็นกันเอง โดยมีจุดมุ่งเหมายเพื่อค้นหาแนวคิดใหม่ๆ จากแหล่งไอเดียสุดพิเศษนี้ก่อนที่จะลดความสดใหม่ลงไปเสียก่อน

การดูงานต่างประเทศ

คือการเปิดโลกทัศน์ จุดประกายในการแสวงหาความคิดใหม่ที่มาจากการได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัส รวมทั้งได้ศึกษา เปรียบเทียบบริบทแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างกันในหลากหลายมิติ

บางกรณีการเดินทางไปดูงานอาจจะแยกไม่ออกจากเท่าไหร่นักกับการเดินทางไปท่องเที่ยวหาความสำราญ ในบางกรณีการเดินทางแทบจะจะเรียกได้ว่าไม่มี Part ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานนั้นๆเลย เหตุผลดังกล่าวจึงมักจะทำให้หลายๆคนเกิดทัศนคติในแง่ลบกับการดูงานในต่างๆประเทศ แต่สำหรับบางคนที่มีทัศนคติที่ดีกับการเดินทางไปดูงานก็อาจจะมองในบวกได้ว่า การดูงานแม้จะไม่เห็นประโยชน์โดยตรงหรือในทันที แต่ก็เป็นเปิดเส้นทางความคิดและมุมมองให้กับผู้ที่มีโอกาสเดินทางได้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม จะเปรียบก็คือการดูงานไม่ได้เป็นการหาน้ำมาเพิ่มใส่แก้วในทันทีทันใด แต่เป็นการขยายแก้วใบเดิมให้มีขนาดที่ใหญ่โตมากขึ้น เพื่อรองรับน้ำในปริมาณที่มากกว่าในอนาคต

ครับไอเดียใหม่ๆในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการมีช่องทางมากมายหลายอย่าง แต่จะทำอย่างไรจึงจะสามารถจัดการให้ข้อมูลที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายไร้ระเบียบ สามารถเข้าที่เข้าทางเป็นระบบ มีความหมาย และน่าเชื่อถือที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ดูแลผลิตภัณฑ์เองจะต้องนำมาขบคิดกันต่อไป.



Create Date : 07 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2550 23:27:19 น. 0 comments
Counter : 364 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

อาบูหะซัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อาบูหะซัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com