ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
20 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

+-+-+-+แนะนำสุดยอดหนังสือ(1): Design + Culture – คัลเจอร์ออกแบบ (ไม่) ได้+-+-+-+

อาจเป็นเพราะช่วงนี้อากาศดี และผมมีเวลาว่างมากเป็นพิเศษ


ทำให้ผมอ่านหนังสือได้มากกว่าที่เคยอ่าน 


ล่าสุดผมก็เพิ่งอ่านจบไป 5 เล่ม ได้แก่


-อ่าน(ไม่) เอาเรื่องของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์


-อ่านผิด ของมุกหอม วงษ์เทศ


-ในเขาวงกต ของมุกหอม วงษ์เทศ


-เสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ บทสัมภาษณ์โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์


-ดีไซน์ + คัลเจอร์ของประชา สุวีรานนท์ (อันนี้อ่านรอบสอง)


 


ส่วนตอนนี้กำลังปลุกปล้ำกับ


-หนังอาร์ทไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ของธนา วงศ์ยานนาเวช (อันนี้อ่านยากสุดๆ)


-ข้างหลังโปสการ์ด ของหลานเสรีไทย (136) (เหลือครึ่งหลังที่อ่านยากกว่าครึ่งแรกมาก)


-โฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์


-เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน ของฮารูกิ มูราคามิ


 


 เนื่องจากหนังสือที่ผมเพิ่งอ่านจบไป มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอยู่มากพอสมควร เลยเกิดอาการขยันชั่วคราว อยากเก็บถ้อยคำและเนื้อหาสาระในหนังสือมาบอกกล่าวให้เพื่อนๆ ชาวบลอกฟัง


เผื่อใครที่ยังลังเลใจว่าจะอ่านดีหรือเปล่า จะได้หาโอกาสไปลองหามาอ่านดู


 



 


 



 


 


Design + Culture  ดีไซน์ + คัลเจอร์


ประชา สุวีรานนท์


สนพ. ฟ้าเดียวกัน 300 บาท 328 หน้า



 



 


 



 



สมแล้วที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบ หนังสือเล่มนี้ออกแบบปกและรูปเล่มได้สวยงามมาก


ในเล่มมีภาพประกอบ 4 สีมากมาย การจัดรูปเล่มดูสะอาดตา ฟอนต์สวยงาม ไม่เห็นตัวสะกดผิด


มีบรรณานุกรม ที่มาของภาพ และดัชนีครบถ้วน ง่ายต่อการสืบค้นต่อไป มาดูที่หน้าปกกันก่อน



หน้าปกดูสวย เด่นสะดุดตา และชวนให้ตีความต่อ (ประชาเป็นคนออกแบบปกเอง) โดยหน้าปกใช้พระจันทร์ข้างแรมแทนตัว D สื่อถึง Design และใช้พระจันทร์ข้างขึ้นแทนตัว C สื่อถึง Culture ซึ่งในความคิดผม การใช้รูปข้างขึ้นข้างแรม น่าจะสื่อถึงว่า ทั้ง Design และ Culture เป็นสองสิ่งที่มีความสัมพันธ์ เกี่ยวโยงและสะท้อนถึงกัน ดั่งดวงจันทร์ดวงเดียวกันแต่สะท้อนเงาคนละซีก



 


สื่อถึงเนื้อหาในเล่ม ที่ไม่ได้เขียนถึงเรื่อง “ดีไซน์” ประมาณว่า การออกแบบคืออะไร เคล็ดลับการออกแบบให้เตะตาคนต้องทำอย่างไรบ้างแต่เพียงอย่างเดียว


หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึง"คัลเจอร์" หรือวิธีคิดวิธีมองโลกที่อยู่เบื้องหลังนักออกแบบด้วย แถมยังชี้ชวนให้เราเห็นสิ่งที่กว้างไกลไปกว่าเรื่องของการออกแบบ


ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง วัฒนธรรม อุดมการณ์ (ส่วนนี้นำมาจากคำนำของสำนักพิมพ์) โดยมองเรื่องทั้งหมดนี้โดยมองจากการออกแบบ


พูดง่ายๆ คือ ใช้การวิเคราะห์ดีไซน์ เป็นเครื่องมือสื่อผ่านไปวิเคราะห์คัลเจอร์นั่นเอง



อ่านแล้ว อย่านึกว่าจะเป็นเรื่องอ่านยาก ประเภทดีไซน์ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย


(ผมอ่านหนังอาร์ทไม่ได้มาเพราะโชคช่วยของธนา วงศ์ยานนาเวชยังไม่จบเพราะติดที่ความยากในสำนวนและเนื้อหาของหนังสือ)


ตรงข้าม หนังสือเล่มนี้อ่านเข้าใจง่าย แถมอ่านแล้วเพลินมาก


เผลอๆ เอาติดไปอ่านบนรถไฟ นั่งยังไม่ทันถึงจุดหมายก็จบแล้ว


 


ต้องชมประชาว่า เป็นคนเขียนหนังสือที่มำให้คนอ่านอ่านอ่านแล้วลื่นไหล ใช้สำนวนดี แปลงเรื่องเข้าใจยากหรือเรื่องที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย แถมเขียนได้ครอบคลุมทุกด้าน


อย่าง ตอน “London Underground Map สำนึก มุมมอง และอุดมการณ์ในแผนที่” ประชาเขียนครอบคลุมถึงประวัติของแผนที่รถไฟใต้ดินอังกฤษ ใครเป็นผู้ออกแบบ แรงบันดาลใจ การนำไปใช้ต่อ มีแนวคิดอะไรซ่อนอยู่ในแผนที่นี้ แผนที่นี้เปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร การนำแผนที่นี้ไปพลิกแพลงต่อมีในรูปแบบใดบ้าง


เรียกว่าครอบคลุมมากเท่าที่จะบทความสั้นๆ บทความนึงจะครอบคลุมได้ อ่านจบเหมือนเราได้เข้าไปฟังเลคเชอร์จากอาจารย์เก่งๆ สักคนเลยทีเดียว


 


ทุกบท ทุกตอนมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ผมขอยกตัวอย่างบทที่ผมชอบมากๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้ครับ




 


 -ในตอน Earthrise โลกทั้งใบ (ไม่ใช่) ของนายคนเดียว


ประชาชี้ให้เราเห็นว่า รูปโลกที่ถ่ายจากยานอวกาศโดยยานอพอลโล่ 8 ซึ่งเป็นรูปถ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ กลับกลายเป็นรูปที่ส่งผลสะเทือนมหาศาลในการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในปัญหามลภาวะของโลก และในเวลาเพียง 18 เดือนหลังจากที่รูปนี้เผยแพร่ออกไป ขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติก็เริ่มต้นขึ้น


รูปนี้ถูกตีความอย่างมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่า รูปนี้ทำให้โลกดูเหมือนดาวดวงเล็กๆ ที่มีความบอบบางและโดดเดี่ยว เหมือนเป็นสิ่งชีวิตที่ถูกคุกคาม จำเป็นต้องมีการดูแล




 


-ในตอน War is over! ดีไซน์เพื่อสันติภาพ


ประชาชี้ให้เห็นว่า โปสเตอร์เรียบง่ายที่แทบไม่มีการดีไซน์ และมีข้อความเป็นตัวพิมพ์สีขาวดำเพียงแค่


War is Over!


If you want it.


Happy Christmas from John & Yoko.


นั้นมีความสุดยอดยังไงและส่งผลต่อสังคมในเรื่องสงครามได้อย่างไร


 


 



 



-ในตอน Pictogram มนุษย์ห้องน้ำกับความหมายของ 14 ตุลาคม


ประชาชี้ให้เห็นว่า การที่โลโก้วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตยเลือกใช้มนุษย์ห้องน้ำเป็นสัญลักษณ์ มีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่


มนุษย์ห้องน้ำใช้แทนสถิติ สื่อถึงคนที่ถูกลดทอนมิติต่างๆ ออกไปจนเหลือเพียงคนที่มีแต่ความเยือกเย็น เป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้ายกับอะไรทั้งสิ้น เหมือนกับภาพจำของ 14 ตค. คือ ภาพถ่ายการชุมนุมที่ส่อว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเป็นเรือนแสน แต่ภาพแสดงแง่มุมของความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของกระบวนการกลับไม่มีออกมาเลย




 


-ในตอนคุณกับกู, You กับมึง ศิลปะแห่งการทึกทัก ประชาชี้ให้เห็นว่า โฆษณาใช้หลักการดึงให้ผู้อ่านมีส่วนร่วม หรือทึกทักให้ผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกลายเป็นคู่สนทนาได้อย่างไร





-ในตอน Minimalism เนื้อแท้ของการลดทอน


ประชาพาไปชมหลักการของ Minimalism และชี้ให้เห็นความ irony ว่า Minimalism มักจะมากับราคาที่แสนแพง บ้านที่เรียบง่ายกลับมีงบประมาณการดูแลสูง อีกทั้งเมื่อ Minimalism กลายเป็นเครื่องหมายแสดงตัวตนหรืออัตลักษณ์ เนื้อแท้ของ Minimalism จึงไม่ใช่สงบเสงี่ยมเจียมตัวหรือประหยัดเรียบง่าย แต่กลับมีความหมายไปในทางตรงข้าม นั่นคือ ซับซ้อนและสูงส่ง


ถ้าจะพอเพียงก็เป็นความพอเพียงแบบ “อภิสิทธิ์ชน”




 


-ในบทความที่ผมชอบที่สุด รถถัง ปลดปล่อยหรือปราบปราม?


ประชามองว่า เมื่อก่อน เราสามารถมองรถถังในรูปแบบของผู้ปลดปล่อย (เช่น เหตุการณ์รถถังของอเมริกาและรัสเซียไปปลดปล่อยประเทศในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) พอหลังจากนั้น รถถังมักถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการในหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมากับการรัฐประหาร ทำให้รถถังกลายเป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนจนเป็นเครื่องหมายของความรุนแรงและการรุกรานในที่สุด (เช่นเหตุการณ์ที่รัสเซียเอารถถังที่เคยใช้ปลดปล่อยเชโกสโลวาเกียช่วงสงครามโลกไปปราบปรามเชโกสโลวาเกียในปี 1968, เหตุการณ์เทียนอันเหมิน, 14 ตค. 2516, 6 ตค. 2519)


ความหมายของรถถังจึงขึ้นอยู่กับคำอธิบายหรือบริบทที่ผู้ดูใส่ลงไปในภาพ ยิ่งผู้ดูมีอำนาจมหาศาลค้ำจุนหนุนหลัง (ไม่ว่าจะเป็นขั้วสังคมนิยมเผด็จการหรือทุนนิยมเสรี) ความหมายของรูปถ่ายก็ย่อมถูกบิดผันไปตามใจผู้ดูกลุ่มนั้น


ประชามองเหตุการณ์ประชาชนไปถ่ายรูปกับรถถังและประชาชนเอาดอกไม้ไปให้ทหารในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กย.ว่า อยู่ที่ว่าประชาชนเลือกที่จะมองมุมไหน คืนที่ 19 กย. ตอนปฎิบัติการนั้น ภาพอาจจะยังไม่นิ่งว่าจะเป็นฝั่งไหน แต่พอล่วงเข้าเช้าวันต่อมา จากปรากฏการณ์ที่ประชาชนไปถ่ายรูปกับรถถังแสดงให้เห็นว่า รถถังกลายเป็นผู้ปลดปล่อย แต่พออะไรๆ เริ่มเลยเถิด เช่นมีโคโยตี้ หลายฝ่ายจึงมองว่า นี่เป็นปฏิกิริยาแบบไทยๆ คือ ชอบทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องเล่นๆ


ประชากล่าวว่ารถถังกับรัฐประหารมีความหมายกระแสหลักที่สื่อแล้วเข้าใจทั่วไป แต่มันก็ถูกสถาปนาขึ้นมาโดยการใส่บริบทบางอย่างลงไปบนความหมายเดิมๆ และจะไม่นิ่งตราบใดที่ยังมีการอ่านและตีความที่หลากหลาย  ซึ่งสุดท้ายใครกำลังควบคุมความหมายของรูป การตีความของใครจะมีชัยชนะ จะยังคงเป็นคำถามที่ต้องยกขึ้นมาอีกเรื่อยไป นอกจากนั้น ประชายังเขียนบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิเช่น



-พาไปรู้จัก ผลงาน และสิ่งที่อยู่ข้างหลังแนวคิดของนักออกแบบชื่อดังอย่างอลัน เฟลทเชอร์, แซกมายสเตอร์, ปิแยร์ แบร์นารด์, ฟิลิปป์ สตาร์กและแนวคิดมานุษยวิทยาดีไซเนอร์ของ IDEO


-พาไปรู้จักแนวคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเครื่องหมายสวัสดิกะ, กำปั้น, แผนที่


-พาไปดูการออกแบบที่วางถ้วยในรถยนต์, แปรงสีฟัน, ตัวพิมพ์ SR Fahtalaijone, พิพิธภัณฑ์ยิวที่เบอร์ลิน


-พาไปรู้จักนิตยสาร Colors และการ์ตูนตินติน


และอื่นๆ อีกมากมาย


 


มีคนกล่าวไว้ว่า หนังสือที่ดีคือ หนังสือที่พอคุณอ่านจบแล้วรู้สึกเหมือนมีค้อนมาทุบที่หัว (ผมจำคนกล่าวประโยคนี้ไม่ได้) ซึ่งพอผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมรู้สึกเหมือนมีค้อนปอนด์นับสิบ มารุมทุบที่หัวผมเต็มไปหมด ความรู้สึกประมาณนั้นเลยครับ


อาการที่ผมเป็นหลังอ่านจบ คือ ผมมักจะคอยสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวมากขึ้น


และมองดูลักษณะการออกแบบของสิ่งต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรมากขึ้นเช่นกัน



ตอนนี้บทความ Design Culture ยังถูกตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เรื่อยๆ


และเป็นคอลัมน์ที่ผมจะพลิกอ่านเป็นลำดับที่ 3 ในเล่ม (ต่อจากคอลัมน์ของคำ ผกาและหนุ่มเมืองจันท์)


ถึงตอนนี้ผมก็รอให้สนพ.ออก ดีไซน์คัลเจอร์เล่มสองอยู่ครับ


แต่ไม่รู้ว่าจะต้องรอนานแค่ไหนเพราะขนาดหนังสือรวมบทกวีจิตร ภูมิศักดิ์เล่ม 3 ที่สนพ.ฟ้าเดียวกันบอกว่าจะออกปลายปี 2551 จนป่านนี้ยังไม่เห็นแม้แต่เงา ก็คงได้แต่รอต่อไป



แนะนำให้ไปหามาอ่านกันครับ


อ่านจบแล้วคุณจะเชื่อว่า ดีไซน์มีพลังต่อสังคมมากกว่าที่คุณคิดจริงๆ


ใครเคยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว หรือยังไม่เคยอ่านก็ได้


มีความเห็นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร


แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ


 


หมายเหตุ-ขอพูดถึงประชาเล็กน้อย ผมติดตามผลงานของประชามานานแล้ว



ตั้งแต่ แล่เนื้อเถือหนัง เล่ม 1-2 ซึ่งในความเห็นผม ผมคิดว่าเป็นหนังสือรวบรวมบทวิจารณ์หนังที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยอ่านมาเล่มหนึ่ง


ประชาฉีกรูปแบบการวิจารณ์หนังแบบเดิมๆ ด้วยตีความสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดในหนัง รวมถึงนำสี่เหลี่ยมสัญศาสตร์มาใช้วิเคราะห์ในบางตอน


เหมือนเป็นหนังสือ "อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง" ของอ.ชูศักดิ์เวอร์ชั่นภาพยนตร์


เป็นหนังสือที่ทำให้ผมรู้สึก provoking กับบทวิจารณ์ภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากอ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ด้วยความรู้สึกเฉื่อยชามานาน


หรือผลงานในอีกนามปากกาของเขาอย่างเรณู ปัญญาดี


ซึ่งเป็นหนังสือในดวงใจผมอีกเล่ม


หนังสือเล่มนี้มีการใช้รูปแบบการ์ตูนจากหนังสือเรียนสมัยก่อน มาถ่ายทอดเนื้อหาที่กัด จิก สังคมและวัฒนธรรมไทยในรูปแบบตลกร้ายได้อย่างเมามันมาก


อ่านแล้วอดหัวเราะหึๆ ให้กับความโหดร้ายของมุขตลกในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้


ส่วนเล่มนี้คงไม่ต้องรอเล่ม 2 เพราะประชาไม่ได้เขียนเรณู ปัญญาดีต่อแล้ว


แต่อันที่จริง ประชาเขียนเรณู ปัญญาดีลงในวารสาร"อ่าน"อยู่ แต่ด้วยความที่สารสารเล่มนี้ออก 3 เดือนต่อเล่ม กว่าจะรวมเป็นเล่มได้คงรอจนหงำเหงือก (ยิ่งกว่ารอ Berserk จบ)


 


ตอนต่อไปโปรดติดตาม


ในเขาวงกต  และ อ่านผิด


ของมุกหอม วงษ์เทศ


เร็วๆ นี้

 


 




 



 



Free TextEditor

 



 




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2552
15 comments
Last Update : 20 มิถุนายน 2552 5:42:27 น.
Counter : 3923 Pageviews.

 

โอ้ว ใช้ Text Editor แล้วฟอนต์เละเทะมาก

เดี๋ยวกลับมาแก้ฟอนต์เย็นนี้นะครับผม

 

โดย: ฟ้าดิน 20 มิถุนายน 2552 5:44:51 น.  

 


ขอบคุณค่ะที่นำมาฝาก

 

โดย: อุ้มสี 20 มิถุนายน 2552 6:09:51 น.  

 

ดีไซน์ + คัลเจอร์ รออ่านต่อจากน้องค่ะ ^^

หนังอาร์ทไม่ได้มาเพราะโชคช่วย อ่านหลายรอบ แต่ละรอบก็ยังอยู่หน้าต้นๆ
แต่ละบรรทัดต้องคิดตามอย่างหนักจริงๆ

 

โดย: renton_renton 20 มิถุนายน 2552 8:29:46 น.  

 

ผมชอบผลงานของ อ.ประชา มานานมาก ตั้งแต่แล่เืนื้อเถือหนัง จะมาถึงซีรีย์ระกากับราณี ในนามปากกาว่า เรณู ปัญญาดี จนกระทั่งมาถึง Design Culture

หนังสือดีไซน์ คัลเจอร์ บอกได้คำเดียวว่าสุดยอดมาก อ่านแล้วได้ความรู้สุด ๆ

หลาย ๆ บทความผมเคยอ่านในมติชนสุดสัปดาห์มาก่อน แต่สู้อ่านรวมเ่ล่มไม่ได้เลย ได้ความต่อเนื่องของเนื้อหาช่วยให้เข้าใจได้เยอะมากขึ้น

ผมอ่าน 'อ่าน' เล่ม 4 แล้ว (คิดว่าเชียงใหม่คงยังไปไม่ถึง) มีโฆษณาเรียบร้อยแล้วครับว่า เล่ม 2 กำลังจะออก

 

โดย: I will see U in the next life. 20 มิถุนายน 2552 9:10:20 น.  

 

เห็นด้วย รอนานกว่าเบอร์เซิร์กแน่ๆ T_T
ชอบอ่านเรณู ฯ มากๆ

 

โดย: แพนด้ามหาภัย IP: 125.25.104.112 20 มิถุนายน 2552 9:39:59 น.  

 

อยากอ่าน design & cultureอะพี่

ช่วงนี้อ่านแต่หนังสือเรียน ขี้เกียจอ่านพวก text เยอะๆๆ มันเบื่อ

 

โดย: อาโฮเฮะ 20 มิถุนายน 2552 16:42:50 น.  

 

ขอโทษที่มาช้านะครับ

งานของคุณประชานี่ผมไม่เคยอ่านเลยครับ (แต่คุ้นๆกับแล่เนื้อเถือหนัง) เท่าที่อ่านหลายๆเรื่องที่คุณฟ้าดินยกมาแล้วรู้สึกลึกซึ้งน่าสนใจดีมากๆ ขนาดคนรอยหยักในสมองเรียบเนียนอย่างผมยังสะกิดใจ แล้วไว้จะลองหามาอ่านดูนะครับ

เรื่องเบอร์เซิร์กนี่ผมตั้งปณิธานแล้วครับ ว่าถ้าชาตินี้มีบุญได้อ่านจนจบผมจะนัดเพื่อนมาเลี้ยงฉลองใหญ่เลย (ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมหาศาล) หวังว่ามันคงจะไม่จบแบบปาหมอนนะ

 

โดย: แฟนผมตัวดำ 21 มิถุนายน 2552 22:05:45 น.  

 

ดีไซน์+คัลเจอร์ (A+)

ยอมรับว่าวางทิ้งไว้นานพอควร และกว่าจะอ่านจบก็ใช้เวลามากกว่าที่คิด (คือมากกว่าหลังจากที่อ่านคำชมที่ผู้คนยกยอให้หนังสือเล่มนี้)

แต่ทั้งที่เนื้อหาออกจะหนักอึุ้งแถมยังไกลตัวคนอ่านอย่างผมอย่างสุดกู่ อ่านแล้วได้ความรู้เยอะมากๆจริงๆ ไม่ต้องให้ค้อนปอนด์มาทุบแต่ก็พูดได้เต็๋มปากว่าชอบมากๆ (แม้ส่วนใหญ่จะชอบบทที่โยงไปเรื่องการเมือง อะไรทำนองนั้น มากกว่าบทที่วิเคราะห์เรื่องรูปร่างของเก้าอี้)

ที่สำคัญที่สุด คือถึงแม้ว่าจะมีการขุึดลอกคูคลองลงไปถึงจุดเบื้่องลึกของคนออกแบบ คนดีไซน์ แต่ไม่มีริ้วรอยของการอคติต่อ "การดีไซน์ในโลกทุนนิยม" ปรากฏอยู่จนเลี่ยนลิ้นเลี่ยนสายตาเลย ซึ่งมักจะต่างกับบทความในทำนองนี้แนวอื่นๆ โดยเฉพาะพวกที่เกี่ยวข้องกับการดีไซน์ในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือชวนเชื่อต่างๆ

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.126.146 23 มิถุนายน 2552 5:42:32 น.  

 

ชอบงานของแก๊งนี้ หมายถึงประชา
ชูศักดิ์และอิสระ ชูศรี มาตั้งแต่เขียนคอลัมน์ "หมายเหตุวัฒนธรรม" ในนสพ.ผู้จัดการเมื่อนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัย นสพ.ผู้จัดการไม่เละเทะอย่างนี้

 

โดย: grappa 24 มิถุนายน 2552 8:59:49 น.  

 

คุณอุ้มสี >
ขอบคุณเช่นกันที่เข้ามาอ่านครับ

คุณrenton_renton
ผมว่าจุดเด่นของงานเขียนอ.ธเนศคือ เป็นงานที่อ่านแล้วต้องใช้ความคิดตามตลอด และอ.แกเขียนได้ improvise มากครับ อ่านแล้วเอาไปต่อยอดได้ไม่สิ้นสุด

คุณ I Will See You in the Next Life>
เห็นด้วยที่ว่า อ่านแบบรวมเล่มดีกว่าอ่านในมติชน เพราะเนื้อหามันต่อเนื่องกันตลอด พอไปอ่านแบบแหว่งๆ ไม่จบในตอนแล้วรู้สึกต่อไม่ค่อยติดยังไงไม่รู้

ได้อ่าน อ่าน เล่ม 4 แล้วครับ (ฝากให้เพื่อนซื้อที่กทม.หลังจากรอให้สนพ.มาส่งที่เชียงใหม่ไม่ไหว)
ป่านนี้ยังอึ้งกับบทความ กากี ของอ.ชูศักดิ์ไม่หายเลย

คุณ แพนด้ามหาภัย>
ผมทำใจเรื่อง Berserk แล้วครับ ว่าคงอ่านไม่จบในชาตินี้แน่ๆ
พอปลงได้อย่างนี้ ก็เลยรู้สึกว่าอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ได้อย่างมีความสุขขึ้นมาก

คุณอาโฮเฮะ>
ถ้าเจอแล้วจะเอาให้ยืมนะ เล่มนี้รูปเพียบ รับรองอ่านง่าย

คุณแฟนผมตัวดำ>
ถ้า Berserk จบจริง ผมยอมล้มวัวเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านเลยครับ (มั่นใจมากว่าจะไม่จบ เลยกล้าท้า)

คุณนาโนกาย >
เห็นด้วยว่าคุณประชา เขาเขียนแบบดูเป็นกลางมาก (แต่เผลอๆ ก็เหน็บสักที ...แบบที่คำนำคุณสาธิตว่าไว้) ไม่มีอคติมาเจือปนเท่าไร ขนาดเขียนเรื่องรถถังยังเขียนได้แบบเย็นๆ ไม่ใส่อารมณ์เลย (ไม่เหมือนงานคุณภัครวดีใน อ่านเล่ม 4 รู้เลยว่าเขียนช่วงสงกรานต์เลือดแน่นอน อารมณ์พรุ่งพล่านขนาดนั้น)

คุณ grappa>
ผมชอบงานเขียนของนักเขียนกลุ่มสัญศาสตร์ครับ (ไม่ทราบชื่อกลุ่มแน่นอน เลยขอเรียกแบบนี้) อย่างอ.ชูศักดิ์, ประชา, อ.นพพร
หลังๆ กลุ่มผู้จัดการเสียนักเขียนดีๆ ให้กับกลุ่มฟ้าเดียวกัน เยอะเหมือนกันนะครับเนี่ย

 

โดย: ฟ้าดิน 25 มิถุนายน 2552 22:20:19 น.  

 

+ ยังไม่เคยอ่านซักเล่มเลยแฮะเรา (เอาเวลาไปทำอะไรหมดวะเนี่ย) ... แต่อ่านรายละเอียดที่คุณฟ้าดินยกมาแล้วน่าสนใจจัง ไว้ถ้าว่าง(?)จะลองไปหามาอ่านเพิ่มรอยหยักในสมองบ้างแล้วอ่ะครับเนี่ย ช่วงหลังๆ รู้สึกตัวเองง่าวๆ ยังไงก็ไม่รู้อ่า แหะๆ

 

โดย: บลูยอชท์ 26 มิถุนายน 2552 1:14:57 น.  

 

เคยเห็นจากข่าวเหมือนกันว่า สงครามที่อัฟกานิสถานก็มีคนเช่าป้ายบิลบอร์ดที่เขียนคำว่า War is Over!... If you want it เหมือนกัน ผมว่านี่มันคือคำอมตะเลยนะครับ ^^

เป็นหนังสือที่น่าสนใจมากๆๆครับ แต่ขอสารภาพตรงๆเลยครับ ว่าผมจำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหนของมติชนสุดสัปดาห์ -*-

 

โดย: BloodyMonday IP: 58.137.81.98 26 มิถุนายน 2552 11:22:46 น.  

 

ดีไซน์ คัลเจอร์ นี่ผมอ่านไปได้ประมาณครึ่งเล่มครับ สนุกและน่าสนใจมากทีเดียว แล้วตอนนี้ก็วางไว้หนีไปอ่านอย่างอื่นแทน

งานของคุณประชา ผมอ่านแล่เนื้อเถือหนังเล่ม 1 ตั้งแต่สมัยมัธยม เป็นการเปิดโลกมากเลยครับสำหรับผมในตอนนั้น

 

โดย: เอกเช้า IP: 124.122.153.218 26 มิถุนายน 2552 23:44:59 น.  

 

-คุณบลูยอชท์

แนะนำให้ไปหามาอ่านครับ

-คุณ BdMd

คอลัมน์นี้อยู่ท้ายๆ เล่มครับ แถวๆ คอลัมน์คำ ผกา

-คุณเอกเช้า

ผมอ่าน แล่เนื้อเถือหนัง ประมาณช่วงม.1เหมือนกันครับ เป็นการเปิดโลกให้รู้ว่า บทวิจารณ์มีหลากหลายแนวมากกว่าที่คิด (ตอนนั้นอ่านแต่ "ตีตั๋ว" 555)

 

โดย: ฟ้าดิน 2 กรกฎาคม 2552 0:23:10 น.  

 

เริ่มต้นอ่านวิจารณ์ของ "ตีตั๋ว" เหมือนกันเลย

 

โดย: แฟนผมตัวดำ 6 กรกฎาคม 2552 12:18:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.