สรุปการปฏิวัติฝรั่งเศส(ตอนที่3กลุ่มจาโกแบ็ง)
ตอนที่แล้วเล่ามาถึงปลายปี1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงเป็นกษัตริย์อยู่แต่พระราชอำนาจน้อยลงมาก
อำนาจที่แท้จริงตกไปยู่กับสภาแห่งชาติซึ่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งนอกจากจะมีอำนาจด้านนิติบัญญัติ แล้ว ยังมีอำนาจด้านการบริหารผ่านคณะกรรมการต่างๆที่จัดตั้งขึ้นด้วย ผมจะเล่าเหตุการณ์ช่วงการปฏิวัติซึ่งยาวนานตั้งแต่เมื่อมีการเรียกประชุม สภาฐานันดร ในปี 1789 จนถึง การรัฐประหารโดยนโปลีออง ในปี 1799 ต่อไป แต่จะให้กระชับ และจะพยายามกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญๆ บุคคลสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการ ปฏิวัตินี้ซึ่งพวกเราเคยเรียนรู้มาจากตำราประวัติศาสตร์ด้วย

หลังพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกลดทอนพระราชอำนาจลงแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีสมาชิกเป็นคนชั้นกลางได้เข้ามาจัดการบริหาร การปกครองอย่างขนานใหญ่ แบ่งเขตการปกครองเป็น Département (เทียบได้กับ จังหวัด)ซึ่งเป็นทั้งเขตการบริหาร เขตเลือกตั้ง เขตการปกครองของคณะสงฆ์ Districts (อำเภอ) Cantons (ตำบล) การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพอิสระเช่น เกษตรกร ช่างฝีมือ กรรมกร ถูกยกเลิก

วันที่ 14 กรกฎาคม 1790 หนึ่งปีหลังจากการทะลายคุกหลวงบาสตีย์ มีการเฉลิมฉลองเหตุการณ์นี้อย่างยิ่งใหญ่ที่ทุ่ง ชองป์ เดอ มาร์กส์ ถือเป็นวันแห่งสหพันธ์ (Fête de Féderation) นอกจากนี้พิธีในโบสถ์คนสำคัญๆอย่างนักบวช ตาลเลย์รองด์ ลาฟาแยตต์ และสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ปฏิญาณตนที่จะภักดีต่อ ชาติ(la Nation) กฎหมาย (la Loi ) และกษัตริย์ ( le Roi ) พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระราชินี ก็ได้สาบานที่จะภักดีต่อ รัฐธรรมนูญ ( Consittution) และชาติ ด้วย กิจกรรมนี้เหมือนจะเป็นการสร้างความปรองดองขึ้นภายในชาติ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความไม่ลงรอยกันทางความคิดยังคงมีอยู่ แม้ในฝ่ายขวาสุดโต่งก็ยังไม่เป็นเอกภาพ ยังเห็นกษัตริย์เป็นแค่นักโทษ ด้านฝ่ายซ้ายอย่างมูร่าและรวมถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เองดูจะไม่ชอบใจกิจกรรมนี้นัก ถึงกระนั้นประชาชนยังชื่นชมกษัตริย์ ถึงกลับเปล่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ” ดังลั่น


ลาฟาแยตต์กำลังสาบานตนในวันที่ 14 กรกฎาคม 1790


ว่าไปแล้วในห้วงเวลานั้นพระราชวงศ์ก็ไม่ได้ถูกโจมตีมากนัก แต่ความพยายามหลบหนีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เมื่อวันที่ 20 -21 มิถุนายน 1791 เป็นจุดเปลี่ยนเลยทีเดียว เสมือนการตัดสายสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติกับกษัตริย์ เหตุการณ์ตอนนั้นมีอยู่ว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีนั้นทรงประทับอยู่ที่พระราชวังตุยเลอรี่ส์ ในกรุงปารีส ทรงไม่มีอิสระมากนัก เหมือนถูกควบคุมตัว จึงทรงวางแผนที่จะหลบหนีไปยังฐานที่มั่นของฝ่ายนิยมกษัตริย์ที่มงต์เมดี เมืองชายแดนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือในแคว้นลอร์เรน แต่ก็ถูกกองกำลังพิทักษ์ชาติซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของ ลาฟาแยตต์ สกัดจับได้เสียก่อนที่ตำบลวาเรนส์ แคว้นลอร์เรน หลังจากนี้คนก็กลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายภายในขึ้นอีก ทำให้มีการออกกฎหมายอีกหลายฉบันนำมาสู่ยุคของความกลัว (Terreur)


ลาฟาแยตต์ คนเดียวกับที่ฝรั่งเศสส่งไปช่วยอเมริการบกับอังกฤษ

การปฏิวัติฝรั่งเศสมีกลุ่มคน(club) เข้าร่วมหลายกลุ่ม ที่รู้จักกันดีคือ กลุ่มจาโกแบ็ง(club des Jacobins) กลุ่มกอร์ดเดลิเย่ส์(club des Cordeliers) ต่อมาเกิดความแตกแยกขึ้นระหว่างพวกจาโกแบ็งที่ต้องการระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งมีชนชั้นนำเช่นเบลลี่ ลาฟาแยตต์ ฝ่ายหนึ่ง กับ พวกจาโกแบ็งสาธารณชนซึ่งมีดองตง มาราต์ โรเบสปีแอร์ อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายแรกต้องการยุติการปฏิวัติและให้กษัตริย์ทรงมีบทบาทต่อไปภายใต้กฎหมาย ได้ออกกฤษฎีกาเมื่อ 16 กรกฎาคม 1791 อภัยโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และให้ปฏิบัติพระราชกิจต่อไป สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับฝ่ายหลังซึ่งต้องการปกครองแบบสาธารณรัฐและต้องการฟ้องกษัตริย์ต่อประชาชน ณ ทุ่งชองป์ เดอ มาร์กส์ วันรุ่งขึ้นมีการประกาศกฎอัยการศึก แต่พวกคนรักชาติยังคงจัดการเดินขบวนขึ้น ทำให้ต้องปราบปรามอย่างนองเลือด เหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มจาโกแบ็งแตกแยกกันอย่างรุนแรง ฝ่ายสนับสนุนระบบกษัตริย์ใต้กฎหมายได้แยกออกมาจัดตั้งกลุ่มใหม่เรียกว่ากลุ่มเฟยยองต์(club des Feuillants)



รัฐธรรมนูญปี 1791 ผ่านสภาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 1791 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงยอมรับในวันที่ 13 เดือนเดียวกัน บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสะท้อนแนวคิดของ มงเตสกิเออ ในเรื่องของการแบ่งแยกอำนาจ และแนวคิดของรุสโซ่ในเรื่องอธิปไตยของปวงชนและอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้เขียนถึงการแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)กับฝ่ายนิติบัญญัติ กษัตริย์ทรงเป็นตัวแทนของชาติ ทรงผู้ใช้อำนาจในการบริหาร(ทรงเป็นรัฐบาล) ทรงมีสิทธิวีโต้เช่นกรณีเกิดสงคราม ทรงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาแห่งชาติ ทรงสามารถยับยั้งกฎหมายได้หากทรงไม่พอพระทัย ทรงสามารถแต่งตั้งเสนาบดี ราชทูตผู้นำกองทัพ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้เอง

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 1791 สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยมีผู้แทนจำนวน745 คนมาจากการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้สภาแห่งชาติได้แบ่งเมืองออกเป็นสองประเภทคือ พวกสนใจการเมือง(actifs) พวกนี้จ่ายค่าธรรมเนียมจึงได้สิทธิ์ในการเลือกผู้แทน อีกพวกหนึ่งเป็นพวกไม่สนใจ(passifs) พวกนี้ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมจึงหมดสิทธิ์ ในตอนนั้นฝรั่งเศสมีประชากรอยู่ประมาณ 24 ล้านคน เป็นพลเมืองที่สนใจการเมืองประมาณ 4.3 ล้านคนและไม่สนใจ 3 ล้านคน ผู้ที่ได้เป็นผู้แทนตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นคนหน้าใหม่และค่อนข้างเป็นคนหนุ่ม (เพราะสภาร่างฯได้ออกกฎหมายห้ามสมาชิกสภาร่างฯลงสมัคร เพื่อจะได้คนรุ่นใหม่มากำหนดทิศทางรัฐธรรมนูญใหม่) ฝ่ายขวาในสภามี 250คนเป็นกลุ่มเฟยตองต์ มีแนวคิดการปกครองระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายกลางหรือพวกที่มีแนวคิดอิสระ345 คนเป็นกลุ่มสำคัญที่สุด ฝ่ายซ้ายเป็นกลุ่มจาโกแบ็ง 136 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มซ้ายสุดจำนวนไม่มากนักแต่มีแนวคิดปฏิวัติสุดโต่ง

เมื่อเกิดการปฏิวัตินั้นพวกชนชั้นผู้ดีจำนวนหนึ่ง ได้ลี้ภัยไปอยู่ตามแนวชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และพยายามกดดันรัฐต่างชาติเข้าแทรกแซงกิจการภายในของฝรั่งเศส จนกษัตริย์ปรัสเซียและจักรพรรดิออสเตรียต้องออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความกังวลในสถานการณ์ในฝรั่งเศส เมื่อเข้าฤดูหนาวปี1791 ฝรั่งเศสยังไม่ถูกคุกคามจากต่างชาติแต่อย่างใด พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสียอีกที่ทรงต้องการให้เกิดสงครามเพราะรู้ว่ากองทัพฝรั่งเศสไม่พร้อมและทรงคิดว่าจะต้องพ่ายแพ้แน่ หากเป็นตามที่ทรงคาดไว้ก็จะเป็นการยุติการปฏิวัติที่กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนพวกปฏิวัติกลุ่มจาโกแบ็งนั้นต้องการที่จะสร้างความมั่นคงด้วยการเอาชนะพวกผู้ลี้ภัย(ชนชนผู้ดี) และขยายแนวคิดการปฏิวัติไปให้ทั่วยุโรป แต่ก็ไม่ต้องการสงครามเพราะขัดกับหลักสันติภาพของตนที่ได้ตราไว้ กลุ่มนี้เห็นว่าศัตรูภายในพวกปฏิวัติกันเองนี่แหละเป็นพวกที่จะต้องเอาชนะให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก ยิ่งกว่าพวกผู้ลี้ภัยเสียอีก

วันที่ 20 เมษายน 1792 สภานิติบัญญัติฯได้ลงมติประกาศสงครามกับออสเตรีย ตามการเสนอแนะของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น กลุ่มกีรองแดงส์(กลุ่มจาโกแบ็งเดิม)กล่าวว่าเป็นสงครามระหว่างประชาชนกับเหล่ากษัตริย์(ในยุโรป) แต่อย่าลืมนะครับว่ากองทัพฝรั่งเศสตอนนั้นไม่พร้อมเลย เพราะนายทหารที่เป็นชนชั้นผู้ดีส่วนหนึ่งเป็นผู้ลี้ภัยการปฏิวัติไปเสียแล้ว เมื่อ เริ่มต้นสงครามฝรั่งเศสก็พ่ายแพ้ ทิ้งให้ชายแดนด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีกำลังทหาร นี่เองทำให้พวกรักชาติกล่าวหาราชสำนัก พวกขุนนาง และพวกพระว่าเป็นผู้ทรยศ สภาร่างฯต้องโหวตกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและกลาโหมถึงสามฉบับ คือฉบับแรกให้เนรเทศพวกพระ ฉบับที่สองถอดถอนทหารรักษาพระองค์ ฉบับที่สามให้รวมค่ายกองกำลังพิทักษ์ชาติ(พวกสาธารณชนนิยม)เพื่อป้องกันกรุงปารีส แต่การกลับเป็นว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงไล่เสนาบดีพวกรักชาติออกจากตำแหน่ง และทรงใช้สิทธิวีโต้กฎหมายเนรเทศพระ และการรวมกันของกองกำลังพิทักษ์ชาติ เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนต้องเดินขบวนไปที่พระราชวังตุยเลอรี่ส์ แต่พระเจ้าหลุยส์ทรงไม่ยอมกลับลำ แต่อย่างใด

วันที่ 10 สิงหาคม 1792 ผู้บัญชาการกองทัพของปรัสเซียได้ส่งประกาศมาข่มขู่ชาวกรุงปารีส ว่าจะใช้การปฏิบัติการณ์ทางทหารและจัดการกับชาวปารีส หากมีการใช้ความรุนแรงกับพระราชวงศ์ ฝรั่งเศส เอกสารนี้ไม่ได้ทำให้พวกไม่ใส่กางเกงสั้น( des sans culottes)ซึ่งเป็นชาวปารีสนักปฏิวัติหวาดกลัวแต่อย่างใด แต่ยิ่งเหมือนกับยืนยันว่ากษัตริย์เป็นฝ่ายทรยศต่อชาติ เหมือนเติมฟืนเข้ากองไฟและเป็นข้ออ้างในการปฏิวัติรอบสอง เป็นข้ออ้างล้มระบบกษัตริย์ ในคืนวันเดียวกันนี้ประชาคมกบฏ( Commune insurrectionnelle)ซึ่งถูกชี้นำให้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสภาร่างฯและกษัตริย์ได้รวมตัวกันที่ ศาลาว่าการเมืองปารีส รุ่งเช้าวันต่อมากลุ่มกบฏประกอบด้วย พวกรักชาติที่เป็นกองกำลังพิทักษ์ชาติจากชานเมืองและพวกสาธารณชนนิยมได้พากันไปที่หน้าพระราชวังตุยเลอรี่ส์ แต่ถูกขัดขวางจากพวกชนชั้นผู้ดีอาสาสมัคร ทหารรักษาวังชาวสวิสและทหารกองกำลังพิทักษ์ชาติอีกหยิบมือหนึ่ง เมื่อเวลาล่วงไปพวกกบฏสามารถบุกยึดพระราชวังได้แม้จะล้มตายไปจำนวนมาก พวกทหารรักษาวังสวิสถูกจับสังหาร พระราชวังถูกรื้อค้น ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชวงศ์ได้หลบหนีไปอยู่ในความดูแลของสภาร่างฯก่อนหน้าแล้ว พระองค์ยังคงได้รับความเคารพจากสภาร่างฯ แต่เมื่อขบวนการกบฏได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดแล้ว พระองค์ก็ถูกถอดถอนพระราชอำนาจทันที


พวกซองกูลอตต์

ตอนนี้มีการโหวตให้มี องค์ประชุมใหญ่แห่งชาติ (Convention nationale)ให้มีอำนาจตัดสินใจในภาวะสุญญาธิปไตยแต่เพียงองค์กรเดียว และมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในคืนวันนี้(เรายังอยู่ในคืนวันที่ 10 สิงหาคม) สภาร่างรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารชั่วคราว (conseil exécutif provisiore)พูดง่ายๆก็คือรัฐบาลชั่วคราวนั่นเองโดยมีเสนาบดี 6 คน ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดี แต่จริงๆแล้วตอนนี้สภาร่างรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นสภาตรายางไปเสียแล้ว เพราะอำนาจจริงตกไปอยู่กับ ประชาคมปารีส (Commune de Paris)

ด้านสงคราม เมื่อปรัสเซียเข้าร่วมสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับออสเตรียแล้ว ได้เดินทัพมาบรรจบกันเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม แล้วรุกเข้ามาในฝรั่งเศส ซึ่งต้องสูญเสียที่มั่นแห่งแล้วแห่งเล่า เมื่ออันตรายคุกคามเช่นนี้แล้ว ดองตง(คนสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสคนหนึ่ง)ถึงกับต้องออกมาประกาศว่า “ต้องกล้าหาญ ต้องกล้าหาญ ต้องกล้าหาญเท่านั้น ชาติถึงจะอยู่รอดปลอดภัยได้” ตอนนี้ประชาชนเริ่มตื่นตระหนกและโกรธแค้น เชื่อว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้เป็นความรับผิดชอบของศัตรูภายในนี่เอง ดังนั้นในวันที่ 2 กันยายน จึงพากันไปที่คุกเมืองปารีสซึ่งขณะนั้นมีผู้ต้องโทษหลายพวก เช่น พระ(ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ) ผู้ต้องสงสัยว่าต่อต้านการปฏิวัติ ผู้ต้องโทษธรรมดา และหญิงงามเมือง เมื่อไปถึงได้นำนักโทษออกมาพิพากษาอย่างรวบรัดแล้วสังหารเสียจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่สามารถขัดขวางได้ ปล่อยให้มีการสังหารกันจนถึงวันที่ 6 กันยายน เวลาผ่านไปหลายเดือนกว่าผู้แทนในสภาจะสามารถกล่าวหาพวกนี้ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกกล่าวขานกันในชื่อว่า กันยายนพิฆาต ( les massacres de Septembre ) ถือเป็น ความน่าสะพรึงกลัวแรกของมหาชน และเป็นรอยจารึกความรุนแรง ของการปฏิวัติฝรั่งเศสเลยทีเดียว


ดองตง

ผมว่าจะรวบรัดแล้วทีเดียวนา แต่วางไม่ลง ขอถอดความเล่าต่อไปเพื่อให้มาชนกับตอนที่นโปลีอองทำรัฐประหารหรือสิ้นสุดการปฏิวัติฝรั่งเศส นะครับ ไม่งั้นตอนเขียนเกร็ดประวัตินโปลีอองแล้วต้องมาขยายความจะดูรุงรังไป
ภาพและ ข้อมูลที่ผมเก็บมาเล่ามาจากเว็บไซต์เหล่านี้ครับ ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย //en.wikipedia.org/wiki/French_Revolution
https://www.mtholyoke.edu/courses/nvaget/230/cm22.html
//www.encyclopedie-gratuite.fr/Definition/culture/revolution-francaise.php
//www.ac-grenoble.fr/college/3-vallees.la-voulte-sur-rhone/IMG/revolution_resume.pdf




Create Date : 09 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 3 มิถุนายน 2557 14:14:01 น.
Counter : 4593 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุษา
Location :
แพร่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



พฤศจิกายน 2556

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
All Blog