สรุปการปฏิวัติฝรั่งเศส(ตอนที่ 2 ทลายคุกหลวงบาสตีย์)
ถึงตอนนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงส่งสัญญาณที่จะกำจัดผู้แทนฝ่ายสามัญชน ด้วยการเปิดทางให้ทหารต่างด้าว(ทหารหลวงเยอรมัน)เข้ามาในเมืองหลวงถึง 20000 นาย เหตุการณ์นี้มีหรือที่จะไม่ทำให้ชาวปารีเซียงหวาดผวา พวกคนชั้นกลางนั้นผิดหวังที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักจากสภาแห่งชาติและยังเกรงว่าสภาแห่งนี้อาจจะถูกยุบ คนทั่วๆไปก็กลัวว่าทหารต่างด้าวจะสกัดเส้นทางขนส่งอาหารเข้ามาในเมืองหลวง ซึ่งจะทำให้ราคาราคาขนมปังแพงขึ้น ประกอบกับเมื่อปี 1788 ที่ผ่านมาการเก็บเกี่ยวพืชผลก็ไม่ได้ผลดีจนเกิดสงครามแป้งกันมาแล้ว เกิดความวุ่นวายขึ้นในเมืองหลวงตามด่านเก็บภาษีสินค้า พระเจ้าหลุยส์ทรงขัดพระทัยเสนาบดีหัวเสรีนิยมหลายคน จนถึงกับทรงไล่ออก รวมทั้ง เนกเก้ร์เสนาบดีกระทรวงพระคลังในขณะนั้นด้วย(สถานการณ์วันที่ 11 กรกฎาคม 1789) เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป นักข่าวคนหนึ่งเรียกร้องให้ชาวเมืองออกมาต่อต้าน ให้เหตุผลว่าเป็นการคุกคามประชาชน และนี่ก็ทำให้เกิดการจลาจลขึ้นที่ลานพระราชวังตุยเลอรี่ส์ และโอเตลโอแซงวาลีดส์ ผู้เดินขบวนประท้วงปะทะกับทหารต่างด้าว จนเสียชีวิตไปหลายคน

วันที่ 13 กรกฎาคม 1789 ด่านเก็บภาษีซึ่งมีอยู่ถึง 54 ด่านถูกวางเพลิงไป 40 ด่าน ข้าวสารในคลังเก็บของสำนักสงฆ์ถูกปล้นสะดม พวกชนชั้นกลางเริ่มจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหาร(Malice) ขึ้น

เช้าวันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม การจลาจลขยายตัวยิ่งขึ้น ผู้ก่อการชาวปารีสเซียงที่อยู่ที่บริเวณ โอเตล โอแซงวาลีดส์ ได้เข้าไปค้นหาอาวุธภายในคลัง ได้ปืน และปืนใหญ่แต่ไม่มีดินปืน จึงพากันไปที่ประตูคุกหลวงบาสตีย์ เพื่อหาดินปืน เมื่อไปถึงก็ได้พบชาวปารีเซียงอีกพวกหนึ่งที่รวมตัวกันอยู่ที่ป้อมโฟบูร์กแซงต์อองตวน ของคุกหลวงมาตั้งแต่เช้าแล้ว การเข้ายึดคุกหลวงไม่ได้มีจุดประสงค์อะไรมากไปกว่าต้องการค้นหาดินปืน สำหรับใช้กับปืนที่ได้มา ในขณะนั้นในคุกหลวงแห่งนี้มีนักโทษถูกจองจำอยู่เพียงเจ็ดคนเท่านั้น เป็นนักโทษในคดีผลิตของปลอมสี่คน เป็นคนบ้าสองคน และนักโทษคดีทางเพศอีกหนึ่งคน มีผู้คุมอยู่แปดสิบคน และทหารชาวสวิสสามสิบห้านาย เดิมทีพัศดีของคุกต้องการที่จะต่อสู้ แต่เมื่อได้เจรจากับผู้ไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นตัวแทนพวกชนชั้นกลางที่คุมสถานการณ์อยู่ที่ศาลาว่าการเมืองหลวง(Hôtel de Ville Paris) จึงยอมลงนามในเอกสารยอมจำนนแลกกับการไม่ให้ทำลายคุก พัศดียอมเปิดประตูป้อมให้ชาวปารีเซียงเข้าไปในลานชั้นแรกของคุกได้ แต่แล้วก็กลับใจสั่งให้ยิงต่อสู้ และมีการสูญเสียจำนวนหนึ่ง ในตอนนั้นพวกผู้คุมที่เป็นคนฝรั่งเศสเกิดกลับใจเข้าข้างฝ่ายก่อการจลาจลได้นำปืนใหญ่เข้ามา ทำให้พัศดีต้องยอมจำนน จึงถูกจับเป็นเชลยพาไปที่ศาลาว่าการเมือง ระหว่างทางก็ถูกทุบตี ฟันแทง และสุดท้ายถูกตัดหัวโดยผู้ช่วยพ่อครัวคนหนึ่ง หัวถูกเสียบด้วยใบหอกแห่ประจานไปที่ศาลาว่าการฯ ณ ที่นั้นพวกก่อการได้กุมตัวนายกเทศมนตรีเมืองไว้ กล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศแล้วสังหารด้วยการตัดหัวเสียบหอกแห่แหนเหมือนพัศดีคุกบาสตีย์อีกคน นี่คือเหตุการณ์ในวันที่14 กรกฎาคม 1789 วันที่ชาวฝรั่งเศสถือเป็นวันชาติในเวลาต่อมา


ศาลาว่าการเมืองปารีส


ศาลาว่าการยุคปัจจุบัน


ภาพการบุกยึดคุกหลวงบาสตีย์

หลังการทะลายคุกหลวง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น วันรุ่งขี้นพระองค์ทรงประกาศถอนกำลังทหารที่รายล้อมปารีสในสภา และทรงเรียกเนกเก้ร์และเสนาบดีที่พระองค์ทรงไล่ออกกลับมาอีก ที่ศาลาว่าการเมืองปารีสนั้น คณะผู้บริหารชุดเดิมหนีภัยไปกันหมด ประธานสภาแห่งชาติ จอง ซิลแวง เบลลี่ ได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองปารีสคนใหม่ ลาฟาแยตต์ เป็นผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชาติ( Garde nationale)ซึ่งเป็นกองกำลังที่จัดตั้งจากประชาชนในแต่ละเมือง วันที่ 17 กรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมข้าราชบริพาร ทหารรักษาพระองค์ และผู้แทนสภาจำนวนหนึ่งมาที่ศาลาว่าการเมืองปารีส พระองค์ทรงได้รับการถวายพระมาลาพร้อมตราสัญลักษณ์สามสี อันมีสีน้ำเงิน สีแดง และสีขาวจากนายกเทศมนตรี เดิมทีตราสัญลักษณ์ของปารีสมีเพียงสีขาวอันเป็นสีของราชสำนักเท่านั้น เปรียบเสมือนเป็นการปรองดองกันระหว่างชาวปารีเซียงและกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั้นทรงยอมรับการริดรอนพระราชอำนาจของพระองค์จากการจลาจลของชาวเมืองปารีสได้ยากยิ่งนัก เช่นเดียวกับพวกผู้แทนส่วนมากที่เห็นว่าอำนาจของพวกเขานั้นขึ้นอยู่กับการก่อจลาจลของประชาชน


ภาพเหตุการณ์ยึดคุกหลวงบาสตีย์

เมื่อข่าวการทลายคุกบาสตีย์แพร่กระจายไปทั่วฝรั่งเศส การกล่าวขวัญถึงคุกบาสตีย์ก็แปรเปลี่ยนไป เช่น เป็นที่คุมขังนักโทษตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์ มีโครงกระดูกของนักโทษมากมายอยู่ในห้องใต้ดิน ถึงขนาดสร้างเรื่องราวของคนชั้นสูงตกเป็นนักโทษและนำมาคุมขังที่นี่กันเลยทีเดียว


ศิลปินบรรจงวาดภาพการบุกคุกไว้ไม่ต่างกันเลย

เหตุการณ์ในตอนนี้ทำให้เชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ อาทิพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นต้น เสด็จลี้ภัยไปอยู่อังกฤษบ้าง ฮอลแลนด์บ้าง เยอรมันนีบ้าง แต่ทุกพระองค์ก็ตั้งความหวังว่าจะเสด็จกลับมาภายในสามเดือน

ทีนี้มาดูตามหัวเมืองบ้างว่าเกิดอะไรขึ้น พวกผู้รักชาติที่อยู่ต่างเมืองนั้นไม่ได้รอเหตุการณ์ในเมืองหลวงเลย ต่างจัดตั้งเป็นคณะกรรมการถาวรขึ้น บ้างเข้ายึดอำนาจควบคุมเมือง บ้างเข้ายึดคลังแสง บ้างยึดป้อมปราการซึ่งเป็นที่ตั้งของทหาร โดยไม่ได้รับการต่อต้านแต่อย่างใด

ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคม 1789 นั้น ตามหัวเมืองมีแต่ข่าวลือ กล่าวได้ว่า เป็นห้วงเวลาของ “ความกลัวจัด” (Grande Peur) ชาวนาชาวไร่กลัวว่าผลิตผลทางการเกษตรของตนจะถูกปล้นสะดม แต่เมื่อไม่มีภัยนี้แล้วก็มุ่งไปที่ปราสาทของเจ้าที่ดิน บังคับเอาหนังสือแสดงความเป็นผู้ถือสิทธิ์ทางสังคมและเศรษฐกิจเหนือที่ทำกินของพวกตนมาเผาทิ้งเสีย ถ้าเจ้าที่ดินขัดขืนก็ทำร้ายเอา แต่เหตุการปล้นฆ่า หรือเผาทำลายปราสาทของเจ้าที่ดินนั้นเกิดขึ้นน้อย
เพื่อแก้ไขความรุนแรงนี้ ในคืนวันที่ 4 สิงหาคม 1789 สภาฯ สั่งยกเลิกอภิสิทธิ์ สิทธิทางกฎหมายของพวกศักดินา และยกเลิกความไม่เสมอภาคทางภาษี นับเป็นการสิ้นสุด “สังคมการปกครองยุคเก่า”(société d’Ancien Régime) ไปเลย สิทธิบางอย่างเดิมกำหนดให้กับ พวกชนชั้นสูง เช่นการล่าสัตว์ เป็นต้น ก็ถูกยกเลิกไป (เราอาจจะแปลกใจนะครับว่าไม่เห็นสำคัญอะไรเลย แต่ยุโรปยุคก่อนการล่าสัตว์เป็นทั้งกีฬาและการหาอาหารไปด้วย ชาวไร่ชาวนาจะได้เนื้อสัตว์จากไหนมากินถ้าไม่ได้จากการล่าสัตว์ล่ะครับ จะฆ่าวัว ม้าใช้งานมากินหรือ แล้วจะไถนากันอย่างไร) ส่วนสิทธิ์ในการซื้อที่ดินทำกินของคนในบังคับกษัตริย์ ขุนนางหรือพวกชนชั้นสูงนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดรายละเอียดในเวลาต่อมา

วันที่ 26 สิงหาคม 1789 สภาร่างฯ ได้โหวต ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Déclaration des Droits de l’Homme et du Citoyen) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากปรัชญาการเมืองการศาสนาที่เรียกว่า “ปรัชญาแสงธรรม” (Lumieres) ที่กำลังแพร่อยู่ในยุโรปขณะนั้น และกล่าวโทษระบบสมบูรณาญาสิทธิราช และสังคมชนชั้นที่เป็นต้นเหตุของความไม่เสมอภาค นอกจากนี้ยังสะท้อนความปรารถนาของชนชั้นกลางในเรื่องของ “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” (libertés individuelles) การครอบครองกรรมสิทธิ์ของบุคคล (propriété privée) และการแบ่งแยกระหว่าง กษัตริย์กับกิจการสาธารณะ


แผ่นจารึกประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

กันยายน 1789 ในขณะที่สภาเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ มาตราที่เกี่ยวข้องกับการลดพระราชอำนาจของกษัตริย์ ก็มีเหตุเกิดขึ้นอีก คือเกิดปัญหาการจัดหาข้าวสารอาหารมาเลี้ยงคนในเมืองปารีส มีข่าวลือว่าหน่วยทหารซึ่งจงรักภักดีต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่แคว้นฟลองดร์ ได้เหยียบย่ำตราสัญลักษณ์ไตรรงค์(ที่เบลลี่ได้จัดทำขึ้นใหม่) เป็นเหตุให้ไม่กี่วันต่อมาฝูงชนซึ่งเป็นหญิงเสียส่วนมากได้มีการรวมตัวกันขึ้นที่พระราชวังแวร์ซายส์เพื่อขอเข้าเฝ้ากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงยินยอมทำตามข้อเรียกร้อง ในวันเดียวกันนั้นเองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ร้องขอให้พระองค์ประกาศใช้ กฎหมาย ที่ ได้โหวตไว้แล้ว เมื่อวันที่ 4 และ 26 สิงหาคม ว่าด้วย การยกเลิกสังคมการแบ่งชนชั้นและเรื่องสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ตกเย็นวันนั้น ลาฟาแยตต์ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชาติก็มาที่พระราชวังแวร์ซายส์ตามคำขอของชุมชนเมืองปารีส เช้าวันรุ่งขึ้นฝูงชนเริ่มคุกคามกษัตริย์ ทหารรักษาพระองค์ต้องสังเวยชีวิตไปสองนาย ว่ากันว่าการเข้าแทรกแซงของนายพลลาฟาแยตต์และกองกำลังพิทักษ์ชาติทำให้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระราชินี พระราชวงศ์ ทรงปลอดภัย และทรงเสด็จออกจากพระราชวังในวันนั้นเลย

นับตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเข้าประทับอยู่ในปารีส เช่นเดียวกับสภาแห่งชาติ และถูกเฝ้าระวังโดยกองกำลังพิทักษ์ชาติ ถึงกระนั้นก็ยังถูกคุกคามโดยพวกก่อการจลาจล ฝรั่งเศสยังคงมีระบบกษัตริย์แต่พระราชอำนาจก็น้อยลง อำนาจในการออกกฎหมายตกอยู่กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการพิเศษคณะต่างๆที่ถูกจัดตั้งโดยสภาร่างฯมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารทั้งหมด และใส่ใจในอำนาจของกษัตริย์น้อยลงไปเรื่อยๆ เหล่าเสนาบดีเป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานทางเทคนิคเท่านั้นและถูกเฝ้าระวังโดยสภาร่างฯ ถึงกระนั้นกษัตริย์ก็ยังคงมีพระราชอำนาจในการบริหารอยู่บ้าง พระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่างๆที่ผ่านความเห็นชอบของสภาร่างฯจะไม่มีผลทางกฎหมายถ้ากษัตริย์ไม่ทรงประกาศใช้ เสนาบดีและผู้บริหารอื่นๆในระบบการปกครองเก่ายังคงอยู่ในหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จนถึงฤดูร้อนปี 1790 เสนาบดีที่ยังไม่ยอมลาออกก็ยังคงทำหน้าที่อยู่แม้จะถูกริดรอนหน้าที่ให้น้อยลง



Create Date : 19 ตุลาคม 2556
Last Update : 3 มิถุนายน 2557 14:30:23 น.
Counter : 25935 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุษา
Location :
แพร่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



ตุลาคม 2556

 
 
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog