space
space
space
<<
ธันวาคม 2562
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
1 ธันวาคม 2562
space
space
space

21 ธันวาคม 2546
นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง Fanny and the Regent of Siam เขียนโดย R. J. Minney แปลโดย จุมพนันท์ ในชื่อไทยว่า “ตัวจึงตายเพราะได้เมียฝรั่ง”
          ที่ผ่านมาผมทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่อง “กรุงเทพมหานคร” ผมจึงสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์ไปด้วย และนิยายเรื่องนี้ก็ใช้ฉากในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่มีผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ นิยายเรื่องนี้ใช้ชื่อบุคคลและสถานที่จริงในประวัติศาสตร์เป็นตัวดำเนินเรื่อง ตัวเอกของเรื่องจึงมีตัวตนจริงอยู่ในอดีตคือ  แฟนนี่ น็อกซ์ บุตรสาวของเซอร์โธมัส จอร์จ น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำสยามสมัยนั้น และอิงกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือ แฟนนี่ ได้ตกหลุมรักกับพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) เจ้าเมืองปราจีนบุรี แต่ฝ่ายหลังได้ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตโดยผู้สำเร็จราชการ ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงโดยย่อของเรื่องนี้ ในส่วนรายละเอียดของเรื่องเนื่องจากเป็นนิยาย ผมจึงไม่สามารถรู้ได้แน่ว่าส่วนไหนจะเป็นเรื่องจริง และส่วนไหนจะเป็นจินตนาการและทัศนะของผู้เขียน แต่ผมจะกล่าวถึงมุมมองของผู้อ่านใน 2 ส่วน ส่วนกว้าง ๆ คือส่วนแรกมองในแง่นิยาย เพียว ๆ ว่ามีแนวคิดน่าสนใจเพียงใด และสามารถนำเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตามหรือไม่ กับส่วนที่สองคือข้อสงสัยของตนเองต่อส่วนที่คาดว่าจะเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ตนเองพอจะทราบอยู่บ้าง ก็ขอตั้งเป็นประเด็นสงสัยไว้
          นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ในแง่วรรณศิลป์ถือว่ามีความน่าสนใจในตัวอยู่แล้ว เพราะใช้ฉากระบุสถานที่และเวลาอิงกับเหตุการณ์จริง ผู้เขียนสามารถบรรยายถึงสภาพชีวิตของชนชั้นสูงของสยามในสมัยนั้นได้อย่างละเอียด มีปมขัดแย้งที่น่าสนใจ ดึงดูดให้ผู้อ่านไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง คือเป็นเรื่องของหญิงสาวชาวต่างชาติที่มีความงดงาม เดินทางมาใช้ชีวิตในต่างแดน โดยมีหนุ่ม ๆ หลายคนมาติดพัน แต่เธอตกลงใจให้หนุ่มใหญ่ชาวสยาม (ที่มีภรรยาอยู่แล้ว แต่ต่อมาเสียชีวิต) เพราะความมีอุดมคติของเขา แต่ต้องมาพบกับอุปสรรคระหว่างตระกูลของฝ่ายชายกับผู้สำเร็จราชการ ที่ต้องการให้แฟนนี่แต่งงานกับหลานชายของท่าน เมื่อไม่สำเร็จจึงใส่ร้ายโทษกับพระปรีชากลการ จนในที่สุดต้องถูกประหารชีวิต แฟนนี่ยอมรับไม่ได้กับความไม่ยุติธรรมของทั้งผู้สำเร็จราชการและระบบศาลสถิตยุติธรรมของสยามสมัยนั้น จึงกลับไปอังกฤษเพื่อชักจูงให้ผู้มีอำนาจที่นั้นมาเปลี่ยนแปลงความไม่ยุติธรรมดังกล่าว แต่เมื่อไม่สำเร็จเธอก็กลับมาช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสยามตราบจนบั้นปลายชีวิต โดยเนื้อหาของเรื่องพูดถึงผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่มีความคิดก้าวหน้าต้องการต่อสู้กับสังคมใหญ่ที่ยังไม่ยุติธรรม ก็ถือเป็นนิยายแนวยกย่องสิทธิสตรี (Feminism) แต่โดยเนื้อเรื่องส่วนใหญ่คือ 2 บทแรกจะเน้นที่แฟนนี่มาพบรักและอุปสรรค ส่วนการต่อสู้เพื่อความถูกต้องจะอยู่ในบทที่ 3 เพียงน้อยนิด เริ่มจากบทแรกมูลเหตุจูงใจให้แฟนนี่มาหลงรักพระปรีชากลการ ดูเป็นเพียงแค่พบรักจากความประทับใจครั้งแรกที่ดูคลุมเครือ เรื่องเล่าเพียงว่าเคยพบมาก่อนเมื่อแฟนนี่อยู่ในวัยเด็ก แต่เมื่อเป็นสาวมาพบอีกครั้งก็หลงรักในบุคลิก แต่เรื่องไม่ได้เล่าว่าแฟนนี่รู้ถึงปูมหลังของพระปรีชากลการมาก่อนหรือไม่ แต่บอกว่าชอบเพราะเป็นคนมีอุดมคติ นอกจากนี้ในเรื่องยังกำหนดฝ่ายถูกฝ่ายผิดให้ด้วย เช่นตัวหลักคือฝ่ายตระกูลอมาตยกุลของพระปรีชากลการ กับฝ่ายตระกูลบุนนาคของผู้สำเร็จราชการคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ โดยเน้นให้ฝ่ายหลังเป็นตัวแทนของระบบเก่าที่ล้าสมัย เช่นการคลุมถุงชน หรือใช้อำนาจตามความอำเภอใจ หรือความขัดแย้งระหว่าง เซอร์โธมัส น็อกซ์ กับ เฮนรี่ อลาบาสเตอร์ ที่ทำให้ฝ่ายหลังเป็นดั่งผู้ยุยงให้เกิดความขัดแย้งในเรื่อง โดยที่มิได้อธิบายถึงเบื้องหลังของความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่ายอย่างเพียงพอ แต่สร้างฝ่ายดีขึ้นมาลอย ๆ และในส่วนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของแฟนนี่ถูกอธิบายอย่างรวบรัด ดูไม่สมเหตุสมผล เพราะการชักจูงให้ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องโดยแฟนนี่ ดูออกจะเป็นเรื่องเกินจริง หรือการรวมกลุ่มกับฝ่ายก้าวหน้าในฝรั่งเศส แล้วเดินทางกลับมาสยามเพื่อตั้งใจจะสู้ด้วยตัวเอง ก็ดูเป็นคล้ายนิยายปลุกจินตนาการความเก่งกาจของสตรีอย่างเพ้อฝันไปหน่อย
          แง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ยังเป็นข้อสงสัยของผม คือฉากของเรื่องอยู่ในยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยประเทศสยามสมัยนั้นยังคงความเป็นเอกราชไว้ได้ ทั้ง ๆที่ฝั่งตะวันตกพม่าและฝั่งใต้มาเลเซีย ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝั่งตะวันออกคือเวียดนามและเขมรก็ตกเป็นของฝรั่งเศส แต่เพราะพระปรีชาสามารถของทั้งรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งต้องนับรวมผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในระหว่างรัชกาลทั้งสองไว้ด้วย สามารถดำเนินนโยบายให้ไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกไว้ได้ แต่แฟนนี่และคุณพ่อสามารถนำประเด็นเรื่องความรักส่วนบุคคลมาชักจูงให้รัฐบาลอังกฤษใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยึดอำนาจหรือข่มขู่ แต่รัฐบาลอังกฤษทำแค่ข่มขู่คือส่งเรือรบมา ซึ่งดูแล้วเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล* และความขัดแย้งระหว่างเซอร์โธมัส น็อกซ์ กับ เฮนรี่ อลาบาสเตอร์ ที่ฝ่ายหลังถูกวางให้เป็นฝ่ายผิดอย่างไม่ค่อยได้อธิบายเหตุผล ทั้ง ๆ ที่ต่อมา มร. เฮนรี่ ก็ได้ปฏิบัติราชการในสยามต่อมาจนบั้นปลายชีวิต สุดท้ายในเมื่อแฟนนี่มีความเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้เพื่อความรักและความยุติธรรม ทำไมประวัติศาสตร์ในวงกว้างไม่ได้กล่าวขวัญถึงเท่าแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ นอกจากนี้เมื่อแฟนนี่กลับมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสยามจนถึงวาระสุดท้าย ทำไมถึงไม่มีนักประวัติศาสตร์ไทยหรือต่างประเทศที่อยู่ในสายก้าวหน้า พยายามค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเธอมากนัก
*หมายเหตุ – ภายหลังอ่านบทนำในหนังสือ กล่าวถึงหลักฐานเอกสารของเหตุการณ์นี้มีมูลความจริงอยู่
 
 


Create Date : 01 ธันวาคม 2562
Last Update : 1 ธันวาคม 2562 15:15:56 น. 0 comments
Counter : 692 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 4071225
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 4071225's blog to your web]
space
space
space
space
space