space
space
space
<<
พฤษภาคม 2563
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
30 พฤษภาคม 2563
space
space
space

ปักกิ่งนครแห่งความหลัง เรื่องที่ 1 วารยา ราเนฟสกายา
ผู้เขียน สด กูรมะโรหิต
          ชีวิตของคน ๆ หนึ่งจะถูกกำหนดโดยโชคชะตา ให้ผจญปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ นานา ถ้ายอมแพ้ก็ย่อมเป็นไปตามชะตากำหนด แต่ถ้าต่อสู้ก็สามารถเปลี่ยนโชคชะตาได้ เป็นแนวคิดที่ผมเคยเชื่ออยู่เสมอ วรรณกรรมเรื่องนี้ก็คงจะอธิบายแนวคิดดังกล่าว ออกมาเป็นเรื่องราวที่ดูคล้ายว่าบางครั้งเราก็ต้องยอมจำนนต่อพรหมลิขิตไปบ้าง ถ้าจิตใจอ่อนแอเพราะผิดหวังในความรัก เรื่องเล่าโดยระพินทร์ พรเลิศ นักเรียนไทยในปักกิ่ง เล่าถึงหญิงรัสเซียชื่อวารยา ผู้เขียนทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ เพราะเราจะค่อย ๆ รู้จักวารยาจากตัวระพินทร์เป็นผู้บอกกล่าว ในลักษณะที่ตัวเขาเองก็ค่อย ๆ ทำความรู้จักวารยา ผู้อ่านจะรู้จักวารยาจากบทสนทนาของเธอและคำบอกเล่าของระพินทร์ และเรื่องก็ค่อย ๆ ดำเนินไป กะเทาะทีละเปลือก จนไปสู่จุดจบที่พลิกผันอย่างไม่คาดหมาย
          ระพินทร์รู้จักวารยาว่าเป็นหญิงรัสเซียที่หนีภัยคอมมิวนิสต์มากับพ่อในช่วงของการปฏิวัติใหญ่ และฉากของเรื่องอยู่ในปี ค.ศ. 1930 และเธอก็ได้พบรักอยู่กับหนุ่มจีนที่มีคู่หมั้นอยู่แล้วจนต้องผิดหวัง และระพินทร์ก็เป็นเพื่อนผู้มาคอยปลอบใจ จนต่อมาพ่อของวารยาได้ฆ่าตัวตาย เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกสาว และอยากให้เธอละชีวิตทางโลกหันไปพึ่งศาสนา เมื่อวารยาพบความเศร้าโศกเป็นครั้งที่สอง ความสัมพันธ์กับระพินทร์ก็เริ่มลึกซึ้งขึ้นจนเป็นความรักฉันคู่รัก แต่ระพินทร์ต้องปฏิเสธเพราะมีคู่รักอยู่ที่ไทย แล้วเรื่องก็พลิกผันเมื่อวารยาจะจากไปจริง ๆ       ระพินทร์ก็มาสารภาพว่ารักวารยาอยากให้อยู่ด้วยกัน แต่สายไปแล้ววารยาตัดสินใจไปหาความสงบอย่างแน่วแน่ และได้เปิดเผยว่าเธอมีเชื้อสายกับราชวงศ์รัสเซียที่ถูกโค่นล้มลงเมื่อครั้งปฏิวัติใหญ่
          นับว่าผู้เขียนวางโครงเรื่องไว้อย่างแนบเนียนและลุ่มลึกดูมีชีวิตชีวา เราเห็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างตัวละครทั้งสอง แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยกันจนกลายเป็นความรักที่มากกว่าเพื่อน แต่ต่างฝ่ายต่างมีภาระเดิมของตนที่ดึงไว้ จึงไม่สามารถคบกันเป็นคู่รักได้ ถือเป็นนวนิยายแนวโรแมนติกที่น่าสนใจ ผู้เขียนบรรยายฉากนครปักกิ่งในแต่ละฤดูกาลได้อย่างงดงามปนความแข็งกระด้าง แต่ก็ไม่ได้ผูกแต่เรื่องความรัก ยังเล่าถึงเหตุการณ์สังคมในสมัยนั้นประกอบด้วย เช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เริ่มก่อตั้ง การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของประเทศมหาอำนาจ รวมถึงความโหดร้ายของสังคมที่มีต่อมนุษย์ปุถุชน โดยผู้เขียนสรุปว่าเป็นดังโชคชะตาที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถจะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าเรารู้จักความทุกข์และสามารถชินชากับมันได้ ฉากเรื่องนี้ตรงกับปี พ.ศ. 2475 ช่วงเปลี่ยนการปกครองในไทย แต่ผู้เขียนก็ไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นด้านการเมืองในไทยเลย แต่พยายามเน้นถึงการที่ปัจเจกบุคคลผู้ทนทุกข์กับปัญหาสังคมและปัญหาภายในตัวเอง จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร นับเป็นแนวคิดที่สมัยนี้น่าจะนำมาพิจารณาคือ การจะแก้ปัญหาสังคมส่วนใหญ่ เราควรจะแก้ปัญหาตนเองให้ตกก่อน มีความเข้าใจในตนเอง ปัญหาต่าง ๆ ก็น่าจะบรรเทาได้อย่างมีสติและปัญญา ก็ตามหลักพุทธศาสนานั่นเอง
หมายเหตุ- จากการได้อ่านเพิ่มเติมในส่วนของภาคผนวกคือ “จดหมายจากปักกิ่ง” ที่เขียนในปี พ.ศ. 2518 หรืออีก 35 ปีต่อมา ก็ได้เห็นถึงทัศนะของผู้เขียนต่อเรื่องการเมืองในสมัยปัจจุบัน และย้อนหลังไปในสมัยนวนิยาย ผ่านทางจดหมายที่   วารยาเขียนมาถึงผู้เขียน (วรรณกรรมเรื่องนี้คงอิงจากเรื่องจริง) ทำให้เหมือนกับเป็นการเติมเต็มให้กับนวนิยายเรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะทางปัญญาของทั้งคู่ตั้งแต่วัยหนุ่มมีอุดมคติเพ้อฝัน ถึงวัยชราที่มองโลกตามความเป็นจริง แต่ก็มีการ วิเคราะห์วิจารณ์อย่างชาญฉลาด ทั้งคู่พูดถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ไทยเองก็มีการเผยแพร่เข้ามา โดยมองในแง่ถ้าเป็นอำนาจเผด็จการย่อมมีผลกระทบต่อปุถุชนได้ แต่สังคมถ้าปล่อยให้ต่างคนต่างเอาเปรียบแก่งแย่งก็จะมีปัญหาเช่นกัน นอกจากนี้วารยายังเล่าถึงความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มองโกเลียซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ทราบ แต่สรุปแล้วทั้งคู่ยังเชื่อมั่นในความดีของมนุษย์ที่ยังมีอยู่ และสามารถร่วมกันสร้างสังคมที่เท่าเทียม เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน โดยวารยายึดมั่นในศาสนา ส่วนระพินทร์หรือผู้เขียนเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ นับว่าประเด็นที่ทั้งคู่แลกเปลี่ยนกันนั้นไม่ได้ล้าสมัยเลย ยังเป็นเรื่องที่ทุกวันนี้ยังถกกันอยู่ คือยุคทุนนิยมครองโลกส่วนใหญ่ แต่ความเท่าเทียมกันในสังคมยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนคอมมิวนิสต์ก็ค่อย ๆ หายไป อันเนื่องมาจากปัญหาความเผด็จการของผู้นำ...
 
 


Create Date : 30 พฤษภาคม 2563
Last Update : 30 พฤษภาคม 2563 15:21:23 น. 2 comments
Counter : 928 Pageviews.

 
เห็นชื่อคุณสด.... นึกได้ว่าเมื่อก่อน ชอบอ่านหนังสือที่
ท่านแต่ง เรื่อง ระย้า.. เกี่ยวกับสองพี่น้อง ที่นิสัยแตกต่าง
กันต้องเข้าอยู่ในเหตุการณ์ ทหารญี่ปุ่นเข้าอยู่ในไทย

เกิดการค้าขายแบบไม่เหมาะ มีคนถือโอกาสค้าขาย มีด่า
การเมืองนิด ๆ 555

ทีแรกเห็นชื่อ หนังสือว่า ระย้า ก็ร้องว้า... ผู้หญิง ที่ไหนได้
ท่าน เขียนให้เห็นว่าคนที่ชื่อคล้ายหญิง เป็นนักสู้มีอุดมคติ
และนักต่อสู้การใช้มือใช้อาวุธ

....

ขออภัย ตัวหนังสือข้างบนเล็กมากครับอ่านลำบาก


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 31 พฤษภาคม 2563 เวลา:6:09:08 น.  

 
เรื่องนี้ผมก็อยากหามาอ่านบ้าง เป็นวรรณกรรมเด่นของท่าน


โดย: สมาชิกหมายเลข 4071225 วันที่: 19 กรกฎาคม 2563 เวลา:14:46:11 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 4071225
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 4071225's blog to your web]
space
space
space
space
space