space
space
space
<<
มกราคม 2564
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
10 มกราคม 2564
space
space
space

บันทึกจากการอ่านนวนิยายเรื่อง “The Reader” เขียนโดย Bernhard Schlink
         เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในอดีต ย่อมมีผลต่อสามัญสำนึกของคนรุ่นปัจจุบัน อาจจะมาจากการหวนคิดด้วยตนเอง หรือการถ่ายทอดอบรมโดยสังคม ในการสำนึกด้วยตนเองจะมีเสรีในการเลือกแง่มุมของประวัติศาสตร์ ทั้งที่ดีและเลวได้มากกว่าการถ่ายทอดโดยสังคม ที่มักจะเคลือบแฝงด้วยเจตจำนงอันหลากหลาย นวนิยายเรื่อง The Reader เป็นการหวนคำนึงถึงอดีตของชนชาติเยอรมัน ในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสำนึกของปัจเจกบุคคลคือผู้เล่าเรื่อง จึงมีแง่มุมที่ลุ่มลึกมีชีวิตชีวาหลากอารมณ์ และเป็นตัวแทนส่วนหนึ่งของคนเยอรมันยุคปัจจุบัน ที่มองเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ว่ามีทัศนะมุมมองเช่นใด
          เนื้อเรื่องแบ่งเป็น 2 ส่วนกว้าง ๆ คือส่วนแรกเป็นคล้ายนิยายรักประโลมโลกย์ของรักต่างวัย แต่ส่วนที่สองกลับกลายเป็นนิยายสะท้อนสังคมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็ยังสอดแทรกเนื้อหาทางอารมณ์อยู่ด้วย สรุปคือผู้เล่าเรื่องในวัยเด็กอายุ 15 ไปตกหลุมรักกับสาวใหญ่อายุ 30 ปลาย จนมารู้ภายหลังว่าเธอเป็นอดีตการ์ดประจำค่ายกักกันชาวยิวของพวกนาซี เนื้อเรื่องในส่วนแรกเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก การพรรณนาความรักความผูกพัน และโจ่งแจ้งจนเกือบเป็นนิยายแบบแนวอีโรติก แต่ในส่วนที่สองพลิกผันอารมณ์ของเรื่องมาเป็นการแสดงทัศนะต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การต่อสู้ทางสำนึกทั้งด้วยอารมณ์และด้วยเหตุผล นับว่าเป็นรูปแบบนวนิยายที่น่าสนใจ คล้ายกับรวม 2 รูปแบบไว้ในโครงเรื่องเดียวกัน เหมือนกับการหักมุมแบบเรื่องสั้นในตอนจบ แต่นวนิยายเรื่องนี้หักมุมตรงกลางเรื่อง ทำให้ความรู้สึกของผู้อ่านกระโดดตามไปด้วย
          ในส่วนรายละเอียดชื่อเรื่อง The Reader จะขัดกันกับเนื้อหา คือฮันนาสาวใหญ่เป็นผู้ที่อ่านเขียนไม่ได้ เด็กหนุ่มเลยเป็นคนที่อ่านหนังสือออกเสียงให้เธอฟัง ซึ่ง The Reader ก็น่าจะเป็นเด็กหนุ่มผู้เล่าเรื่องที่ต้องการอ่านประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตของฮันนามากกว่า ช่วงแรกผู้เขียนจะปกปิดข้อมูลว่าฮันนาอ่านเขียนไม่ได้ แล้วมาเปิดเผยในภาคสอง แต่ผู้อ่านน่าจะเดาได้จากภาคแรกแล้ว ตอนที่เด็กหนุ่มเขียนโน้ตทิ้งไว้ แต่ฮันนาบอกว่าไม่เคยเห็น ก็ไม่รู้ว่าผู้เขียนเจตนาให้ผู้อ่านจับได้หรือไม่ แต่ก็ไม่ถือว่าสำคัญ ต้องยอมรับว่าผู้เขียนมีเทคนิคในการปกปิดและเปิดเผยปมที่ซับซ้อนพอควร
          ตัวผมเองก็อยากรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของคนเยอรมัน ต่อเหตุการณ์สะเทือนโลกในอดีต เรื่องนี้ผู้เขียนก็ถ่ายทอดแง่มุมหนึ่ง คือทางด้านมนุษยธรรม และก็มีอีกบางแง่มุมของสังคมเองที่มองว่าเป็นเรื่องถูกต้อง หรืออย่างประเด็นโลกแตกในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ ที่มักมีความขัดแย้งกันอยู่ 2 ฝ่าย ต่างฝ่ายก็ต่างสร้างประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก การค้นหาข้อเท็จจริงจึงต้องค้นคว้ามากขึ้น แต่เรื่องนี้แสดงภาพอารมณ์ส่วนใหญ่ของคนเยอรมันที่รู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และผู้กระทำผิดก็ได้ไถ่บาปตัวเองในตอนท้าย ด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งดูไม่เป็นคริสเตียนนัก แต่เป็นแบบมนุษยนิยมมากกว่า
 


Create Date : 10 มกราคม 2564
Last Update : 10 มกราคม 2564 15:35:58 น. 0 comments
Counter : 1766 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 4071225
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 4071225's blog to your web]
space
space
space
space
space