space
space
space
<<
ตุลาคม 2562
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
space
space
26 ตุลาคม 2562
space
space
space

5 กันยายน 2539
           ผมใช้เวลานานมากทีเดียว กว่าจะอ่านหนังสือรวมบทบันทึกของ เฮนรี่ เดวิด ธอโร ที่ชื่อ “วอลเดน” จบเล่ม จำได้ว่าเริ่มอ่านทีละเล็กทีละน้อยในช่วงก่อนบวช และมาอ่านจริงจังในช่วงหลังบวชจนจบเล่มเมื่อปลายเดือนที่แล้ว สาเหตุที่ช้าก็คงเป็นเพราะการอ่านบทบันทึกของใครก็ตามซึ่งเป็นส่วนตัว อาจจะมีปัญหาบ้างสำหรับความพยายามทำความเข้าใจต่อการอธิบายความนึกคิดของเขาคนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขามีพื้นฐานทางการศึกษาและเรียนรู้แตกต่างจากเรา นอกจากนี้ในรวมบทบันทึกเล่มนี้ ผมว่ายังมีการเรียบเรียงหัวข้อทางแนวคิดแต่ละเรื่องซึ่งไม่ต่อเนื่องกันอยู่หลายส่วน (ไม่รู้ว่าจะเป็นปัญหาทางการแปลจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่งหรือไม่) คือไม่ได้จัดเป็นกลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน บางส่วนผมว่ามันเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งสำหรับบทบันทึกก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เขียนก็จะเขียนถึงเรื่องต่าง ๆ ตามแต่จะนึกได้ก่อน แต่การเสียเวลาสำหรับการอ่านหนังสือเล่มนี้ที่มีความสลับซับซ้อน ก็นับว่าเป็นการเสียเวลาที่คุ้มค่าต่อการได้รับรู้ถึงประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งได้ใช้เวลาของตัวเองในการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อค้นหาสภาพที่แท้จริงของตัวเอง และนำมาเล่าในเชิงกวีนิพนธ์ให้ผมได้สัมผัส
          บทบันทึกเล่มนี้ผู้เขียนได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า เป็นความพยายามที่จะแสวงหาถึงความเป็นจริงเข้าไปในตัวเรา โดยผู้เขียนเองได้ใช้วิธีคือการเข้าไปดำเนินชีวิตอยู่ในป่าห่างไกลผู้คน ผมเองเพิ่งบวชเรียนพุทธศาสนามา เวลาอ่าน “วอลเดน” แล้วผมมักจะนำไปเปรียบเทียบกับปรัชญาทางพุทธศาสนาอยู่เสมอ (แต่แปลกที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงแนวคิดปรัชญาทางตะวันออกอยู่บ้าง แต่กลับไม่มีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยตรง แต่จะพูดถึงคัมภีร์พระเวทของฮินดูและปรัชญาเต๋า) ดังเช่นแนวทางการใช้ชีวิตของผู้เขียนก็คล้ายคลึงกับทางพุทธ คือการหาที่สงัดวิเวกเพื่อการศึกษาตัวเอง และที่คล้ายคลึงกันอีกอย่างก็คือ ผู้เขียนได้กล่าวถึงภาวะของการตื่นอยู่เสมอ (หน้า 152-155) เช่นเดียวกับทางพุทธศาสนาที่เน้นในเรื่องของการดำเนินชีวิตอย่างมีสติทุกชั่วขณะ และมีการกล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งตามดั้งเดิมจะมีความหยาบเถื่อนติดตัวมา จึงมีความพยายามที่จะยกระดับและพัฒนาจิตใจให้มีความละเอียดและบริสุทธิ์มากขึ้น (หน้า 298-301)
          แนวทางที่ “ธอโร” ใช้ในการศึกษาค้นหาตัวเองคือการสังเกตภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เขาอธิบายถึงภาวะที่ตัวเองประสานกลมกลืนไปกับธรรมชาติแวดล้อม (บทที่ 5 หน้า 204-205) และเขายังเปรียบเทียบภูมิทัศน์ทางธรรมชาติกับลักษณะของมนุษย์ (บทที่ 16 หน้า 382-383) ซึ่งเป็นการยืนยันทัศนะที่ว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์ค้นพบตัวตนที่แท้จริง (หรือภาวะที่ไร้ตัวตนตามพุทธศาสนา) มนุษย์ก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตไปในวิถีแห่งธรรมชาติ รับเอาอำนาจอันมหัศจรรย์และวิเศษของจักรวาล ยิ่งไปกว่านั้นผู้เขียนยังเล่าถึงผลที่ได้จากการศึกษาตัวเองและธรรมชาติ คือความสามารถพิเศษในการสัมผัสถึงการกำเนิดขึ้นของมนุษย์ (บทที่ 17 หน้า 398-402) ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ จัดว่าเป็นหัวข้อที่ดูจริงจังและเคร่งเครียดในลัทธิศาสนาต่าง ๆ แต่ผู้เขียนสามารถนำมากล่าวถึงโดยใช้กลวิธีทางกวีนิพนธ์ มีบทพรรณนาที่งดงาม (หน้า 166-168 และบทที่ 9 “บึง”) ทำให้ผู้อ่านได้ใกล้ชิดถึงภาวะแห่งความรู้แจ้ง
          ผมอ่าน “วอลเดน” แล้วนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ก็ตรงกับแนวคิดในการดำเนินชีวิตของผม คือการใช้ชีวิตในทางโลกปัจจุบัน (ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงไปมากจากยุคสมัยที่เขียนบันทึกเล่มนี้) เพื่อที่จะแสวงหาความรู้แจ้งในชีวิต ความหลุดพ้นจากภาวะของความสับสน ดั่งที่เคยคุยกับพระท่านหนึ่งเมื่อตอนบวช ว่าอยากค้นหาโดยไม่ยึดรูปแบบ
 


Create Date : 26 ตุลาคม 2562
Last Update : 26 ตุลาคม 2562 15:22:24 น. 0 comments
Counter : 699 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 4071225
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 4071225's blog to your web]
space
space
space
space
space