It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
16 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 

"เชียงแสน" เมืองโบราณ-สวรรค์บนดิน

ขอบคุณ พิเศษ:  นสพ กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์

โดย : นิภาพร ทับหุ่น



เยือนเมืองเก่าชมวัฒนธรรม ศิลปะเมืองโบราณ

ช่วงเวลาแห่งการรบราฆ่าฟันเพื่อช่วงชิงความเป็น "เจ้าของแผ่นดิน" จบสิ้นไปนานหลายร้อยปีแล้ว ทว่า กำแพงศิลาที่ตั้งเป็นปราการอยู่ใต้ร่มป่าสักแห่งนั้น ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างแข็งแรง ราวกับว่า "สงคราม" ไม่เคยมีวัน "ยุติ" อย่างแท้จริง

ลมพลิ้วแผ่วเบา ฉันละสายตาจากแผ่นพับประชาสัมพันธ์เมืองเชียงแสนขึ้นมาจ้องมองแผ่นศิลานั้นอีกครั้ง ก่อนจะก้าวผ่านช่องประตูกว้างๆ เข้าไป




หิรัญนครเงินยาง กาลครั้งหนึ่ง

แม่อุ๊ยผมสีดอกเลาในชุดขาวยิ้มเล็กๆ เป็นเชิงทักทายแล้วค่อยๆ เดินหายเข้าไปในวิหารหลังเก่า เมื่อลองก้าวตาม ก็พบว่ามีแม่อุ๊ยพ่ออุ๊ยอีกหลายท่านอยู่ข้างใน ทุกคนสวมชุดสีขาวและนั่งพนมมือฟังธรรมที่พระคุณเจ้ากำลังเทศนา
ลมพลิ้วแผ่วเบา ฉันละสายตาจากพุทธศาสนิกชนขึ้นไปจ้องมองพระประทานปางมารวิชัย โอษฐ์ที่แย้มยิ้มดึงริมฝีปากของฉันให้เผยอตาม ความสงบนิ่งปราดเข้ามาในความคิด ไม่ผิดเพี้ยนจากที่เคยได้ยินมาสักนิด ที่นี่คือดินแดนแห่งพุทธธรรมอย่างแท้จริง

เชียงแสน เป็นเมืองเล็กๆ ของเชียงรายในปัจจุบัน ทว่า อดีตนั้นเคยรุ่งเรืองมาก ถึงขนาดเป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาที่ยิ่งใหญ่ ปรากฏเรื่องราวในตำนานหลายฉบับ เริ่มตั้งแต่ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ที่เล่าถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวขอมหลวง แต่ก็ทิ้งร้างไป ตำนานสิงหนวัติกุมาร เอ่ยถึงการเข้ามาของชนกลุ่มใหม่ที่อพยพมาจากนครไทเทศ แล้วสร้างเมืองโยนกนาคพันธุสิงหนวัติขึ้น (โยนกเชียงแสน) ต่อมาเมืองล่มกลายเป็นหนองน้ำ ชื่อ "เวียงหนองล่ม" ในปัจจุบัน

หิรัญนครเงินยาง เป็นตำนานที่กล่าวถึงการเข้ามาของ "ปู่เจ้าลาวจก" กษัตริย์ต้นราชวงศ์มังราย ที่เข้ามาสร้างเมืองใหม่ชื่อ "หิรัญนครเงินยาง" หรือ "เมืองเงินยาง" ภายหลังจากโยนกเชียงแสนล่มสลายไปแล้ว ซึ่งชาวหิรัญนครเงินยางตั้งบ้านเรือนอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำกก ณ บริเวณเมืองเชียงแสนปัจจุบัน ดำเนินชีวิตอย่างสงบภายใต้ร่มบารมีของผู้ปกครองหลายสมัย จนกระทั่งพญามังรายโปรดให้เมืองเชียงรายเป็นราชธานี ตำนานเมืองหิรัญนครเงินยางจึงล่มสลายลง พร้อมๆ กับการเริ่มต้นของราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา

ใบไม้แห้งปลิดปลิวลงสู่พื้น ฉันยืนมองความเคลื่อนไหวนั้นอยู่เงียบๆ มีรุ่งเรืองย่อมมีล่มสลาย เช่นเดียวกับใบไม้ที่ไม่อาจจับจองพื้นที่บนกิ่งก้านใดไปตลอดกาล ต้องมีวันสิ้นอายุขัย แล้วใบอ่อนใหม่ๆ ก็ผลิขึ้นแทนที่

หลังจากเป็นเมืองร้างอยู่เนิ่นนาน พญาแสนภู (หลานของพญามังราย) ก็กลับมาสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นทับพื้นที่หิรัญนครเงินยางเดิม เชียงแสนกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองและพระพุทธศาสนาของล้านนา จนกระทั่งถึงสมัยพญาผายู อำนาจการปกครองย้ายกลับไปยังเมืองนครพิงค์เชียงใหม่อีกครั้ง เมืองเชียงแสนจึงถูกลดฐานะลงเป็นเพียงเมืองลูกหลวง แต่หลังจากนั้นล้านนาถูกพม่ายึดครอง เชียงแสนถูกตั้งให้เป็นมณฑลหนึ่ง มีเมืองใต้ปกครอง คือ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง และเมืองฝาง ระยะเดียวกันนั้นการค้าทางบกของจีนกับรัฐไทตอนบนค่อนข้างคึกคัก เชียงแสนจึงเป็นแหล่งชุมนุมทางการค้าที่สำคัญ จนพม่าแยกเชียงแสนออกจากเชียงใหม่และยกฐานะให้มีความสำคัญเท่ากัน

เชียงแสนตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของพม่าจนถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้ยกทัพไปชิงเอาเมืองเชียงแสนกลับคืนมา จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้เจ้าเมืองลำพูนขึ้นไปฟื้นฟูเมืองเชียงแสน กระทั่งรวมเข้ากับมณฑลพายัพของไทย และกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน

ไม่ได้อยู่ร่วมสมัย แต่ทำไมฉันจึงรู้สึกว่า ภาพของการรบราแย่งชิงถึงแจ่มชัดนัก หรืออาจเป็นเพราะ "สงคราม" ไม่เคยมีวัน "ยุติ" อย่างแท้จริง



สวรรค์ในเมืองเก่า

"Heaven on Earth"
ตัวอักษรสะดุดตาที่ติดอยู่ใต้หลังคาของซุ้มเล็กๆ ฉุดให้ขาทั้งสองต้องก้าวไปในทิศทางเดียวกับที่ "สวรรค์บนดิน" ตั้งอยู่

อาจดูแปลกๆ แต่ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของแมกไม้ภายในวัด ก็กลมกลืนราวกับเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน ฉันสั่งเอสเพรสโซ่เย็นมา 1 แก้ว แล้วก็นั่งพิจารณาโบราณสถานที่มีอายุนานกว่า 800 ปีนั้นอย่างอิ่มเอม


วัดพระธาตุเจดีย์หลวง เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่อยู่คู่กับเมืองเชียงแสนมาตั้งแต่สมัยพญาแสนภู โดยหลักฐานในชินกาลมาลีปกรณ์บันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1875 หลังจากพญาแสนภูสร้างเมืองเชียงแสนได้ 3 ปี ลักษณะเจดีย์เป็นทรงระฆัง ฐานสูงแปดเหลี่ยมแบบล้านนา มีความสูง 88 เมตร ฐานกว้าง 24 เมตร ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน


แม้กาลเวลาจะพัดพาเอาความทรุดโทรมมากร่อนกินเจดีย์ธาตุ แต่ "ขนาด" ของความศรัทธาที่ศาสนิกชนมีต่อพุทธศาสนายังเปี่ยมล้นอยู่เหมือนเดิม รองเท้านับร้อยๆ คู่ ที่วางเรียงอยู่หน้าวิหารในบ่ายวันพระแบบนี้ เป็นประจักษ์พยานได้ดี


เก้าอี้ไม้แบบล้านนาดูท่าจะนั่งสบายเกินไป หมดกาแฟแก้วแรกแล้วฉันจึงไม่สามารถลุกออกไปจากแรงสะกดของร้านสวรรค์บนดินแห่งนี้ได้ รอบๆ ตัวดูมีความหมายชวนให้ "อยู่ต่อ" ไปเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นซุ้ม "บุญอุทิศ" ที่มีชะลอมสังฆทานสำหรับทำบุญวางจำหน่าย ใต้ร่มไม้ใหญ่ใกล้ๆ มีลาน "คนคิดบวก" ให้ได้นั่งขบคิดพิจารณา พร้อมแพรผ้าและของที่ระลึกมากมาย เรียกว่า โบราณสถานกับความรื่นรมย์ในชีวิตไปด้วยกันได้ ถ้ามาที่นี่


ความที่เป็นอาณาจักรแห่งความรุ่งเรืองมายาวนาน ทำให้เชียงแสนมีโบราณสถานเป็นมรดกล้ำค่าส่งทอดมาถึงยุคปัจจุบันมากมาย แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างในพระพุทธศาสนา เช่น พระเจดีย์ และพระวิหาร ซึ่งมีรายชื่อวัดปรากฏอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยาง เชียงแสน จำนวน 141 วัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ วัดในเมือง 75 วัด และวัดนอกเมือง 66 วัด


วัดพระธาตุเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเชียงแสนโบราณ ใกล้ๆ กันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทุกสิ่งอันที่เกี่ยวเนื่องกับอดีตเมืองหิรัญนครเงินยางแห่งนี้ไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะโบราณวัตถุที่ได้จากบริเวณเมืองโบราณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียงนำมาจัดแสดง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ อาคารจัดแสดงหลัก บอกเล่าเรื่องภูมิสถานเมืองเชียงแสน ประวัติศาสตร์ รวมถึงพระพุทธรูปศิลปะล้านนาเมืองเชียงแสน และศิลาจารึกที่พบในจังหวัดเชียงราย ส่วนพื้นที่ชั้นลอย จัดแสดงเกี่ยวกับโบราณสถานสำคัญในเมืองเชียงแสน โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ สำหรับอาคารจัดแสดงย่อย ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องถ้วยล้านนา ชาติพันธุ์วิทยา เครื่องดนตรีพื้นเมือง และพัฒนาการของเมืองเชียงแสน

ส่วนวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองเชียงแสน ที่ใกล้และน่าสนใจที่สุด (สำหรับฉัน) คือ วัดป่าสัก วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสน สร้างร่วมกับวัดพระธาตุเจดีย์หลวงในสมัยพญาแสนภู เนื่องจากมีพระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่งนำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย จึงโปรดให้สร้างพระอารามและพระเจดีย์ขึ้นนอกเมือง พร้อมปลูกต้นสักล้อมรอบไว้ราว 300 ต้น จึงเรียกว่า "วัดป่าสัก" แต่นั้นมาสมกับชื่อวัด ฉันเดินเข้ามาในเขตอารามรู้สึกได้ถึงความร่มครึ้มของไม้สักใหญ่ที่ยืนต้นมานานหลายร้อยปี รอบๆ มีซากโบราณสถานกระจายอยู่ทั่วไป แต่ที่ตั้งเด่นอยู่ใจกลางพื้นที่คือ เจดีย์ประธาน ที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ 5 ยอด ที่สะดุดตาคือซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยที่แบ่งเป็นช่องๆ มองด้านข้างพบ "หน้ากาล" ศิลปะล้านนา เป็นปูนปั้นประดับอยู่บนฐานเจดีย์


ถึงจะหลงเหลือเพียงเท่านี้ แต่ถ้าใครมีโอกาสได้มายืนอยู่ที่ตรงนั้น อาจจินตนาการถึงภาพอันรุ่งโรจน์ในวันวานของเชียงแสนออก



เขตแดนเสรี มีฝิ่นแลกทอง

พื้นที่เชียงแสนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเขตกำแพงเมือง แต่ขยายออกไปไกลถึงบริเวณที่เรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำ (Golden triangle) ด้วย ณ ที่นั้นเป็นพื้นที่รอยต่อของเขตแดน 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และพม่า โดยมีแม่น้ำนานาชาติอย่าง "แม่น้ำโขง" เป็นตัวกั้น

หลายคนรู้จักสามเหลี่ยมทองคำในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวรอยต่อ 3 ประเทศ มีเรือนำเที่ยวพาชมทัศนียภาพของแม่น้ำโขงและเที่ยว ตลาดดอนซาว ที่อยู่ริมฝั่งลาวได้สะดวก ซึ่งดอนซาวเป็น "พื้นที่สีแดง" ที่ไม่ได้แดงด้วยระบอบการเมืองใดๆ แต่แดงด้วยดอกไม้อย่าง "งิ้ว" สมัยก่อนเด็กๆ ดอนซาวจะแย่งกันเก็บดอกงิ้วไปจำหน่ายให้กับแม่ค้าขายน้ำเงี้ยว แต่เดี๋ยวนี้พื้นที่บางส่วนของดอนซาวมีบริษัทเอกชนของชาวจีนสัมปทานไปสร้างโรงแรมหรูๆ และบ่อนกาสิโน ต้นงิ้วที่เคยผลิดอกแดงพราวจึงไม่ใช่ภาพ "เอกลักษณ์" ของดอนซาวอีกต่อไป

กาสิโนเป็นอบายมุขหนึ่งที่ดูดเงินจากผีพนันไทยไปได้มากโข แต่ก่อนจะมีกาสิโน พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเคยโด่งดังไปทั่วโลกจากการเป็นแหล่งปลูกฝิ่นและผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่ มีโรงงานผลิตเฮโรอีนกระจายอยู่ตามตะเข็บชายแดน และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนยาเสพติดกับทองคำในอัตราที่เท่าๆ กัน ยางข้นเหนียวของฝิ่นดิบ จึงถูกเรียกว่า "ทองคำ" เป็นที่มาของ "สามเหลี่ยมทองคำ" นั่นเอง

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ช่วงปี 2398-2502 ฝิ่นคือรายได้หลักของราชอาณาจักรไทย เพราะมีการค้าขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ฉันเห็นว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน จึงเลือกเดินทางเข้าไปใน หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อศึกษาข้อมูลย้อนหลังอย่างลึกซึ้ง

หอฝิ่น เป็นเหมือนประตูเปิดสู่โลกอันลึกลับของพืชชนิดนี้ และทันทีที่เดินผ่านเข้าไปในพื้นที่จัดแสดงฉันก็รู้สึกได้ถึงพิษภัยของมัน



อุโมงค์มืดดำที่มีความยาว 137 เมตร พาเราย้อนเวลาเข้าไปหาพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และความสำคัญของ "ฝิ่น" ในอดีต เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้ ที่เป็นดอกป๊อปปี้สายพันธุ์หนึ่ง แล้วค่อยๆ แกะรอยต้นกำเนิดของฝิ่นในต่างประเทศ สงครามฝิ่น จนมาถึงฝิ่นในสยามที่ครั้งหนึ่งเคยสำคัญมากถึงกับมีการตั้ง "กรมฝิ่น" อย่างจริงจัง ทั้งยังมีการอนุญาตให้ค้าฝิ่น สูบฝิ่น และผลิตฝิ่นได้อย่างเสรีด้วย

ฉันเดินเข้าไปที่ห้องจัดแสดงห้องหนึ่ง จำลองเป็นโรงน้ำชาสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เมื่อชะโงกมองเข้าไปในหน้าต่าง มีการจำลองภาพชายที่กำลังสูบฝิ่น สงสัยมานานแล้วว่าทำไมคนสูบฝิ่นต้องมีหมอนรองคอสูงขนาดนั้น เจ้าหน้าที่นำชม บอก ต้องการให้คนสูบฝิ่นรู้สึกเมื่อยคอ จะได้รีบสูบรีบไป เปลี่ยนให้ลูกค้ารายใหม่ๆ เข้ามาบ้าง

ฝิ่นเป็นสินค้าเสรี จนคุณปู่ "ฮิวเมอริสต์" เขียนเรื่องสั้น "นำเที่ยวไทยแลนด์ (สยาม)" ออกมาเสียดสีสังคมไทยยุคนั้นว่า
"ควรจะได้ทราบเสียก่อนถึงรายละเอียดของไทยแลนด์ คำว่าไทยแปลว่าฟรี พลเมืองไทยแลนด์ฟรีจากการทำงาน เว้นแต่จำเป็นจริงๆ นอกนั้นให้เจ๊กทำ...ผู้มีอิทธิพลซึ่งมีกันคนละแยะๆ ค้าฝิ่นได้ฟรี ผู้ไม่มีอิทธิพลไปขัดใจขัดคอ หรือขัดประโยชน์ผู้มีอิทธิพลเข้าก็ตายฟรีได้ไม่ยาก" มุกตลกร้ายขยายภาพสังคมไทยเมื่อปี 2493 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ "ฮิวเมอริสต์" เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ออกมาได้ดี

สมัยที่จอมพลแปลก พิบูลซองแกรม (ตามที่คุณปู่ฮิวเมอริสต์เรียก) เป็นรัฐบาล มีการออกใบอนุญาตให้ชาวเขาในภาคเหนือปลูกฝิ่นส่งรัฐบาล และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กิจการค้าฝิ่นในประเทศก็เจริญรุ่งเรืองมาก กระทั่ง พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นรัฐบาลจอมพลแปลกได้ ก็มีการยกเลิกการเสพฝิ่น

ตำนานสามเหลี่ยมทองคำปิดฉากลง เมื่อรัฐบาลไทยทำการปราบปรามอย่างจริงจัง ในช่วงปี 2510-2520 มีการผลักดันกองกำลังติดอาวุธออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะกองกำลังของขุนส่า ปัจจุบันจึงเหลือเพียงชื่อที่ดึงดูดให้คนทั่วโลกเข้ามาศึกษา
...............

เชียงแสนไม่เพียงทิ้งร่องรอยอดีตแห่งอารยธรรมโบราณอันรุ่งเรืองไว้เท่านั้น แต่ยังแทรกประวัติศาสตร์บางอย่าง ไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้สึก "เจ็บปวด" ร่วมกันอีกด้วย



การเดินทาง - ที่พัก

จากกรุงเทพฯ ไปเชียงรายได้หลายรูปแบบทั้งรถยนต์ รถทัวร์ เครื่องบิน ยกเว้นรถไฟที่ไปถึงแค่นครพิงค์-เชียงใหม่ ถ้าจะไปเชียงรายต้องต่อรถอีกทอดหนึ่ง สอบถามรูปแบบการเดินทางอย่างละเอียดได้ที่ ททท.สำนักงานเชียงราย โทร.0-5371-7433, 0-5374-4674-5 หรือ ททท. call center 1672

การเดินทางจากเชียงรายมา อ.เชียงแสน ใช้ทางหลวงหมายเลข 110 ตรงไปจนถึงแยกเข้า อ.แม่จัน ให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1016 จนสุดถนนก็จะถึงเมืองเชียงแสน พอถึงเมืองแล้วก็สามารถเที่ยวสถานที่ต่างๆ ที่เลาะตามถนนเลียบแม่น้ำโขงได้เลย ส่วนการล่องเรือติดต่อที่ นาวาท่าทอง โทร.08-1603-6018 และ 08-9758-1742

เชียงแสน มีที่พักหลายแบบ เกรทเธอร์แม่โขง ลอด์จ หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ โทร.0-5378-4444, 0-5378-4450-2, โกลเดนไอยรา รีสอร์ท โทร.0-5378-4226-7, คำสุข รีสอร์ท โทร.0-5378-4170, 08-4610-4239, ซีรีน โทร.0-5378-4500-4 หรือ //www.sereneatchiangrai.com, อนันตรา รีสอร์ท แอนด์ สปา โทร.0-5378-4084-90 หรือ //www.anantara.com


******
Source :  //www.bangkokbiznews.com
Click :TOP




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2553
0 comments
Last Update : 16 ตุลาคม 2553 7:08:49 น.
Counter : 1767 Pageviews.


Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.