It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
4 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
●●● “ตรอกบ้านจีน” หนึ่งจิตวิญญาณแห่งเมืองตาก ●●

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ถนนจรดวิถี ซึ่งถูกย้ายลงมาจากวัดดอยบ่อยเขาแก้วเมื่อปี พ.ศ. 2490 หลังชาวบ้านเห็นว่าสถานที่เดิมไม่เหมาะสมนั้น อาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด หากแต่ไม่ว่าใครที่มาเที่ยวจังหวัดตากเกือบทุกคนจะต้องแวะมาสักการะ

ทั้งที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ทว่านักท่องเที่ยวมักเพียงแค่แวะมาแล้วก็ผ่านเลยไป จึงอาจไม่เคยรู้ว่าเมืองที่ตั้งอยู่เคียงข้างลำน้ำปิงเจ้าของประเพณีกระทงสายที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งนี้ ยังมีแง่มุมหลากหลายให้ค้นหา ในฐานะหนึ่งในเมืองเก่าที่เคยรุ่งเรือง

ย้อนกลับไปราว 100 ปีก่อน แม่น้ำปิงที่หลายคนคิดว่ากว้างใหญ่กว่าช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดอื่นอาจจะต้องคิดใหม่หากได้เห็นภาพถ่ายเก่าแก่ของชุมชน “ตรอกบ้านจีน” ชุมชนเล็ก ๆ ที่เคยตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ซึ่งยืนอยู่กลางลำน้ำที่ตื้นแค่เข่า ขณะที่บ้านเรือนตั้งห่างออกไปอยู่ด้านหลัง แต่หลังจากรัฐบาลสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร มีนโยบายที่จะถมขยายฝั่งเพื่อขยายพื้นที่ตัวเมือง จากชุมชนริมน้ำจึงกลายเป็นชุมชนที่อยู่บนบกไปโดยปริยาย

“แต่ก่อนหน้าบ้านนี่เปิดออกมาก็คือท่าน้ำ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นถนนไปหมดแล้ว ความจริงบ้านนี้มี 3 ชั้น ชั้นที่เห็นอยู่นี่คือชั้นที่สองของบ้าน ส่วนที่เห็นเหมือนเป็นใต้ถุนด้านล่างคือชั้นล่าง แต่ก่อนที่บ้านก็จะใช้เป็นที่หมักเต้าเจี้ยว” ทายาทรุ่นล่าสุดของบ้านเต้าเจี้ยวแห่งตรอกบ้านจีน อธิบายระหว่างเปิดให้ชมบ้านซึ่งอยู่เกือบท้ายตรอก พื้นไม้มันวับบ่งบอกว่าผ่านการใช้งานมาหลายชั่วอายุคน

กว่า 60 ปีที่ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ดูเหมือนจะถูกลืมเลือนและถูกกลืนอยู่ท่ามกลางถนนหนทางและตึกรามบ้านช่องแบบสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่ เพราะคนในชุมชนบ้างย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองหลวง บ้างขยับขยายออกไปอยู่ข้างนอกหลังจากบ้านหลังเดิมดูจะเล็กเกินไปสำหรับครอบครัวขนาดใหญ่

ภาพความงดงามในอดีตที่ถูกถ่ายทอดจากคำบอกเล่าของคุณป้าคุณลุง ทำให้ “คุณตั๋ง” หรือ รุจนัมพร เกษเกษมสุข ลูกหลานตรอกบ้านจีนที่เกิดและโตที่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก ๆ กลับไปศึกษาชุมชนตรอกบ้านจีนซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณแม่อย่างจริงจังหลังเรียนจบ และได้นำเสนอโครงการจนได้รับรางวัลดีเด่นการประกวดแนวคิดเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นจากนายชวน หลีกภัย (นายกรัฐมนตรี) ซึ่งเป็นประธานกรรมการอำนวยการอนุรักษ์มรดกไทยเมื่อปี พ.ศ. 2542

ทว่าตรอกบ้านจีนก็กลับเงียบเหงาอีกครั้ง จนเมื่อปี พ.ศ. 2551 หลังจากคนรุ่นหลังตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ จึงได้กลับมาร่วมกันตั้ง “ชมรมตรอกบ้านจีน” ขึ้น โดยมีคุณหญิงทิพาพร สิตปรีชา เป็นประธานชมรม เพื่อดูแลรักษา ฟื้นฟูซ่อมแซมสมบัติของปู่ย่าตายายให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แม้วันนี้จะไม่มีท่าเรือที่ตรอกบ้านจีน ไม่มีสะพานทองที่สร้างคร่อมคลองน้อยเชื่อมต่อถนนในซอย แต่ถนนสายเล็ก ๆ แห่งนี้กำลังจะกลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งของไทย เพราะนอกจากจะมีบ้านโบราณหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบบ้านที่เป็นร้านค้าในตัว ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ตรงประตูบานเฟี้ยมและประตูเข้าสู่ตัวบ้านที่แยกต่างหากอย่างบ้านคุณยายปลื้ม และบ้านพักอาศัยของผู้มีฐานะที่นำช่างฝีมือมาจากจังหวัดอื่นมาก่อสร้างอย่างบ้านตระกูลโสภโณดร หรือบ้านทรงขนมปังขิง และบ้านหลวงบริรักษ์ประชากร หรือบ้านจีนทองอยู่ บ้านไทยเรือนแฝดติดกัน เรื่อยไปจนถึงบ้านตระกูลไชยนันท์ บ้านตระกูลคอวนิช บ้านดนตรีไทยตระกูลอยู่สวัสดิ์ ฯลฯ


ขณะที่บางหลังกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมโดยคงของเดิมไว้ให้มากที่สุด บ้านอีกราว 10 หลังที่ยังมีผู้คนอาศัยอยู่จริงนั้น นอกจากจะเปิดบ้านให้เข้าชมอย่างบ้านไม้พายที่เปิดให้ชมจนถึงห้องนอนที่มีเตียงสี่เสาแล้ว บางบ้านยังรื้อฟื้นอาหารการกินที่มีต้นกำเนิดจากตรอกบ้านจีนให้คนที่มาเยี่ยมเยือนได้ลิ้มลองอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเต้าเจี้ยวหลน แกงถั่วมะแฮะทานแกล้มกับข้าวเกรียบงาปิ้งหรือทอดที่มีเฉพาะที่จังหวัดตากเท่านั้น ผัดไทยห่อไข่สูตรโบราณอร่อยแบบไม่ต้องปรุง ยำข้าวเกรียบ



อาหารพื้นบ้านที่เอาข้าวเกรียบมาผสมกับเครื่องยำทานเรียกน้ำย่อย เมี่ยงคำเมืองตากซึ่งมีทั้งแบบแคบหมูและถั่วผัดกับกระเทียมคลุกน้ำตาล และเมี่ยงเต้าเจี้ยว นำสมุนไพรใกล้ตัวมาจัดวางบนใบชะพลูแล้วราดด้วยน้ำเต้าเจี้ยวรสชาติกลมกล่อม

สถาปัตยกรรมบ้านเรือนไทยโบราณ ณ ตรอกบ้านจีน สามารถเข้าชมได้ทุกวัน แต่สำหรับถนนสายวัฒนธรรมที่จะเริ่มต้นด้วยกิจกรรมทำบุญตักบาตรตอนเช้า และภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น จะจัดขึ้นทุกวันเสาร์ สอบถามได้ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ชุมชนตรอกบ้านจีนโทร. 0-5551-1631 หรือ อ.มนัส โทร. 08-1962-9256

●●ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องท่องเที่ยวและอ่านย้อนหลังได้ที่ //www.dailynews.co.th/blog/?blogid=ColorfulWorld หรือ //twitter.com/Travel_DN ●●



●●ตามรอย 'พระเจ้าตากสินมหาราช'

แม้ปัจจุบันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะย้ายมาอยู่ ณ ถนนจรดวิถีแล้ว แต่วัดดอยข่อยเขาแก้วซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานเดิมนั้น ยังคงเป็นพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีโบราณสถานที่สำคัญอย่างโบสถ์ที่มีใบเสมาคู่วิหาร เจดีย์ และพระพุทธบาทจำลองอยู่ในโบสถ์ ด้านหน้ามีเจดีย์ 2 องค์ ใช้บรรจุอังคารบิดา มารดา ของพระเจ้าตากสินมหาราช

เล่ากันว่า ในสมัยเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดำรงตำแหน่งพระยาตาก พระองค์ได้เสี่ยงทายที่วัดนี้ โดยกล่าวว่า “ถ้าข้าพเจ้ามีบุญญาบารมีมากพอที่จะเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ ได้อย่างเที่ยงแท้แน่นอน ขอให้ไม้เคาะระฆังที่จะขว้างไปยังถ้วยแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ห่างประมาณ 5 วา ให้ถูกจำเพาะท่อนกลางที่คอดกิ่วของถ้วยแก้วแล้วแตกหักออกไป ขออย่าให้ส่วนอื่นของถ้วยแก้วแตกเสียหาย ฯลฯ”

ปรากฏว่า เมื่อพระองค์ขว้างไม้เคาะระฆังออกไป ก็เป็นอย่างที่พระองค์ได้เสี่ยงอธิษฐาน เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของบรรดาพุทธบริษัทที่มาร่วมบำเพ็ญกุศลที่วัดดอยข่อยเขาแก้ว จนเล่าลือกันว่า “พระยาตากเป็นผู้มีบุญญาธิการและบารมีที่มหัศจรรย์ยิ่ง” จึงทำให้ผู้คนมักเรียกวัดดอยข่อยเขาแก้วนี้ว่า วัดพระเจ้าตาก.


'อุ้มผาง' เมืองเล็กในป่าใหญ่

ภาพสายน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลลดหลั่นมาตามหน้าผาที่มีชื่อเรียกภาษากะเหรี่ยงว่า น้ำตกทีลอซู หมายถึงน้ำตกที่ยิ่งใหญ่นั้น ทำให้อำเภอชายแดนอย่างอุ้มผาง ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขาเป็นที่หมายปองของใครหลายคน ทั้งที่ห่างจากอำเภอเมืองไปเพียง 259 กิโลเมตร หากแต่การเดินทางไปยังอุ้มผางก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญของผู้ขับ และรถที่ใช้ก็จะต้องมีสมรรถนะสูง เพราะไม่เพียงเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านเขาแต่ยังมีความคดโค้งมากด้วย

การเดินทางไปเที่ยวชมน้ำตกทีลอซูนั้น หากเป็นช่วงฤดูแล้งสามารถเดินทางด้วยรถได้ แต่หากอยู่ในช่วงฤดูฝนอย่างช่วงนี้ ต้องอาศัยการล่องแพยางและการเดินเท้าต่ออีกช่วงเท่านั้น จึงจะสามารถชมความสวยงามของน้ำตกในฤดูฝนที่ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบซึ่งเป็นช่วงที่สวยงามที่สุดได้ และนักท่องเที่ยวจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางก่อนทุกครั้ง



ขณะที่การชมทิวทัศน์ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกท่ามกลางทะเลภูเขาเบื้องหน้านั้น จะต้องขึ้นไปยังดอยหัวหมด เทือกเขาหินปูนที่มีเพียงต้นไม้ขนาดเล็กปกคลุม โดยช่วงที่สวยที่สุดคือ ปลายฝนต้นหนาว ทะเลภูเขาเบื้องหน้าจะถูกแต่งแต้มด้วยทะเลหมอก

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางศึกษาวิถีชีวิตชาวเขา ทั้งที่บ้านกะเหรี่ยงปะละทะ หมู่บ้านกะเหรี่ยงเก่าแก่ริมลำน้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเดินป่าไปยังน้ำตกทีลอซู เส้นทางอุ้มผาง-ท่าทราย-น้ำตกทีลอซู รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นล่องแพยางไปยังน้ำตกทีลอเร หรือน้ำตกสายรุ้ง ซึ่งจะต้องค้างแรมในป่า 2 คืน ช่วงฤดูฝนไม่เหมาะสำหรับการล่องแพในเส้นทางนี้เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวและบังคับแพได้ลำบาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการล่องแพบ้านกะเหรี่ยงปะละทะ-น้ำตกทีลอเรคือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม

●● ต้องการข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยว จ.ตาก เพิ่มเติม สอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานตาก โทร. 0-5551-4341-3.


Credit  : //www.dailynews.co.th/


Create Date : 04 กรกฎาคม 2554
Last Update : 4 กรกฎาคม 2554 9:38:48 น. 0 comments
Counter : 2460 Pageviews.

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.