พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 
25 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 

2ล้านล้านเป้าหลัก ล้างผิดเป้ารอง

2ล้านล้านเป้าหลัก ล้างผิดเป้ารอง

ผ่ายุทธศาสตร์ “ทักษิณ” เดินเกมสภา “ซื้อใจ” แนวร่วม

อัปยศ ทุเรศ

จับอารมณ์พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์

กับภาพเหตุการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายในห้องประชุมรัฐสภา ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 111 ถึง 120 ว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

ตีรวนกันตั้งแต่นาทีแรกที่เปิดประชุม เริ่มจากการที่ฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม 40 ส.ว.เครือข่ายสมาชิกวุฒิสภาสายสรรหา ตั้งแง่ใส่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ไม่เหมาะสมที่จะนั่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เนื่องจากแสดงจุดยืนมาตลอดในฐานะ ส.ว.สายเลือกตั้ง ที่เห็นด้วยกับการโละ ส.ว.สรรหา

กดดัน ไล่ให้ลงจากบัลลังก์

และสถานการณ์วุ่นวายก็มาถึงจุดป่วนสุด เมื่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ และได้ตัดบทไม่ให้ 57 ส.ส.และ ส.ว.ที่ขอแปรญัตติ ได้เสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขถ้อยคำในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยระบุว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้ เพราะขัดกับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 96 วรรค 3 กำหนดไว้ว่าการเสนอแก้ไขถ้อยคำที่ขัดกับหลักการในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านขั้นตอนการรับหลักการจะกระทำไม่ได้

อีกทั้งหากให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง 57 คนอภิปรายจะใช้เวลานานเกินไป จนไม่สามารถเข้าสู่เนื้อหาเป็นรายมาตราได้

นั่นก็ทำให้เป็นเงื่อนไขให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จังหวะโห่ฮาป่าทันที

ยืนประท้วง ชี้หน้าประธานบนบัลลังก์

ตะโกนด่าดังๆ “สภาทาส”

และแทนที่จะเคลียร์สถานการณ์ลดโทนร้อนแรงลง นายสมศักดิ์กลับเลือกที่จะใช้การ “ทุบค้อน” บนบัลลังก์ เรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจสภาทั้งหมดให้ขึ้นมาในห้องประชุม สั่งให้นำตัวผู้ที่ยืนประท้วงก่อความวุ่นวายออกนอกห้องประชุมทันที

ขู่เลยว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่กล้าจะโดนสอบวินัยฐานละเว้น

ทำให้สถานการณ์เข้าสู่จุดเดือด มีการฉุดกระชากลากถูระหว่างเจ้าหน้าที่กับ ส.ส.ชายของพรรคฝ่ายค้าน ถึงขั้นลงมือลงไม้ ท่ามกลางเสียงกรีดร้องโหยหวนของ ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์

เป็นฉากที่น่าสลดหดหู่ของสภาผู้ทรงเกียรติ

ชนิดที่ผู้ปกครองทางบ้านต้องใช้วิจารณญาณในการชม ไม่ให้ลูกหลานเยาวชนดูเป็นแบบอย่าง

เลียนแบบสภาไต้หวันที่เห็นเป็นข่าวบ่อยๆ

แต่จริงๆ เลยก็ไม่เหนือการคาดหมายแต่อย่างใด มันก็เป็นไปตามฟอร์มที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้า หลายฝ่ายประเมินอยู่แล้วว่า ทันทีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยประเด็นที่มาของ ส.ว.เข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 เมื่อไหร่

ได้เห็นเกมปะทะขั้นรุนแรงในสภาแน่

ได้ป่วนกันเละตุ้มเป๊ะแน่

ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย ส.ว.เลือกตั้ง ต้องชิงจังหวะรวบรัด รีบปิดกล่องเร็ว เพราะได้เปรียบในฐานะถือเสียงข้างมาก

กดปุ่มโหวตเมื่อไหร่ก็ชนะ

ตรงกันข้ามกับฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว. เครือข่าย ส.ว.สรรหา ที่เป็นเสียงข้างน้อย ลงคะแนนโหวตเมื่อไหร่ก็แพ้

จำเป็นต้องยื้อ ลากเกมป่วนสกัดไม่ให้ผ่านง่ายๆ

ที่สำคัญมันยังเป็นยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง การกระตุกเกมป่วนในสภา ก็เพื่อเลี้ยงกระแสม็อบนอกสภาไว้รอท่า พร้อมจุดชนวนต้านด่านสุดท้าย ทันทีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย ส.ว.เลือกตั้ง สามารถดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ผ่านการพิจารณาวาระ 3

ตามเหลี่ยมของเกมชักเย่อ มันไม่ได้จบแค่ในสภา

แม้ในเชิงของการสู้กันด้วยเหตุด้วยผล ต่างคนก็ต่างอ้างกันไป ฝ่ายที่เห็นด้วยให้คง ส.ว.สายสรรหาไว้ เพราะไม่อยากให้สถานการณ์กลับไปซ้ำรอยรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แล้วถูกฝ่ายการเมืองครอบงำได้หมด กลายเป็นสภาผัวเมีย

เปิดทางระบอบ “ทักษิณ” กินรวบประเทศไทย

ขณะที่ฝ่ายต้องการให้โละ ส.ว.สรรหา กลับไปใช้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยในสากล ทุกอย่างต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ไม่ใช่ผ่านคณะกรรมการเพียงแค่ไม่กี่คนใช้อำนาจทางอ้อมแทน

เป็นแผนให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาแทรกแซงฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ

ต่างฝ่ายต่างมองไปกันคนละมุม ยึดเอาผลประโยชน์ของฝ่ายตนเองเป็นที่ตั้ง

มองให้ลึกไปอีกขั้น มันก็เป็นเกมการชิงอำนาจประเทศไทยระหว่าง 2 ขั้ว นั่นก็คือฝ่าย “ทักษิณ” กับเครือข่ายฝ่ายต้านระบอบ “ทักษิณ” ผ่านเกมรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บทของประเทศ

การแก้รัฐธรรมนูญคือการจัดสรรอำนาจใหม่

โดยธรรมชาติใครกุมอำนาจอยู่ย่อมได้เปรียบกว่า

อย่างที่ยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเขตเลือกตั้งจากแบ่งเขตเรียงเบอร์มาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ถูกมองว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง

มาถึงยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็อาศัยเสียงข้างมากพยายามรวบรัดรื้อรัฐธรรมนูญฉบับที่ตั้งแง่ว่าเป็นมรดกบาปของเผด็จการคมช. คลายปมล็อก ดึงอำนาจกลับมาอยู่ในกำมือให้มากที่สุด

ยุคใครก็ยุคใคร ทีใครก็ทีมัน

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเกมการต่อสู้รอบนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า ลากธงไปกันคนละทาง

แน่นอน ฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ และแนวร่วม ส.ว.สรรหา ฝ่ายต้านระบอบ “ทักษิณ” นั้นมุ่งไปที่การดักสกัดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทุกวิถีทาง

เน้นเกมชิงอำนาจทางการเมืองเป็นด้านหลัก

จ้องหักดิบ ล้มรัฐบาลให้ได้ทั้งเกมในสภาและนอกสภา

ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เครือข่าย “ทักษิณ” ก็วางเกมการต่อสู้ รับมืออย่างรัดกุม

สังเกตได้จากเกมป่วนในสภารอบนี้ ไม่มีการปล่อย “ดาวสภา” อย่าง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ ทีมงานเสื้อแดงของพรรคเพื่อไทย ออกมาร่วมวงตะลุมบอน

ปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์เล่นเอง เสียเอง อยู่ฝ่ายเดียว

และพอผ่านจุดเดือดไปแล้ว ภาพความเสียหายปรากฏสู่สาธารณะไปแล้ว ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยอมผ่อนเกม หย่อนเงื่อนไขให้ฝ่ายค้านและ ส.ว.สรรหาได้อภิปรายกันตามสบาย

บรรยากาศการประชุมกลับสู่ภาวะปกติ เดินหน้าต่อไปได้

ดึงจังหวะยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา

ที่แน่ๆประเมินในมุมของเกมอำนาจทางการเมือง มาถึงตรงนี้การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยสามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา จนมาถึงการพิจารณาวาระที่ 2 เช่นเดียวกับจังหวะก่อนหน้าที่มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯมาจ่ออยู่ในวาระ 2-3 เช่นเดียวกัน

ทุกอย่างถูกเซต ชงเข้าสู่ระบบสภาหมด

ยุทธศาสตร์เดินทะลุสุดซอย ลากมาถึงกลางซอยแล้ว

อย่างน้อยก็เป็นการซื้อใจแนวร่วมคนเสื้อแดง นปช.แสดงให้กองเชียร์ได้เห็นความจริงใจว่า “นายใหญ่” และรัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้หลอกใช้

พร้อมลุยไฟ เสี่ยงผลักดันเกมร้อนตามธงของฝ่ายสนับสนุน

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีจังหวะผ่อนคันเร่ง

ประเมินเกมรุก ถอย ตามแรงต้าน

โดยเฉพาะกับการโยนไพ่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่จะเริ่มประชุมนัดแรกกันในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ตามคิวที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะเข้ามาร่วมด้วยตัวเอง

แม้จะยังหวังอะไรไม่ได้ เพราะยังเป็นแค่การพูดเองเออเองฝ่ายเดียวของรัฐบาล

ฝ่ายต้านยังไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วย

แต่ตามเหลี่ยมยุทธศาสตร์มันก็เหมือนเป็นการเดินเกมคู่ขนาน ประคองการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเดินหน้าพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม

กระตุกกระแสคุ้มกัน ตีกันฝ่ายต้านไม่ให้อาละวาดขัดขวางกันง่ายๆ

อย่าลืมว่า สังคมส่วนใหญ่อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ก้าวผ่านวิกฤติความขัดแย้งเต็มที

สรุปเอาเป็นว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังมีไพ่ให้ตีเล่นอีกหลายใบ

แต่ทั้งหมดทั้งปวง โดยยุทธศาสตร์เป้าหมายของ “ทักษิณ” ก็น่าจะอยู่ที่การลากยาวเกมอำนาจ ต้องให้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายรัฐบาลถืออำนาจไว้ให้นานเท่าที่จะนานได้

ไม่ใช่แค่ผลทางการเมือง แต่ยังหวังผลทางเศรษฐกิจ

ต้องเผื่อธุรกิจในบริษัทจำกัดของเครือญาติเป็นหลักด้วย

มองในมุมนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ หรือร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็แค่เป้าหมายรอง พร้อมเดินหน้าหรือหยุดชะลอได้ตามสถานการณ์

เป้าหมายเดิมพันแท้จริงอยู่ที่กฎหมายการเงิน

ทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 และสำคัญเหนืออื่นใดก็คือร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง มูลค่า 2 ล้านล้านบาท

เพราะมันแปรได้ทั้งคะแนนเสียง และเสบียงเลือกตั้ง

มันคือปัจจัยหลักในการลากยาวเกมอำนาจ

หรือถึงแม้จะเข็นให้ผ่านในรัฐบาลนี้ไม่ได้ พรรคเพื่อไทยก็ยังสามารถนำเมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้านบาท ไปหาเสียงในการเลือกตั้งรอบใหม่ มัดจำแต้มกับประชาชน

ให้คนที่เห็นด้วยกับโครงการหรูในฝัน ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทย

ตามจังหวะที่ประเมินได้ว่า เตรียมความพร้อมเผื่อไว้หมดแล้ว

กับการอาศัยกระแสป่วนในสภาว่าด้วยคิวแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายต้านไม่ได้สนใจ

รัฐบาลก็ได้จังหวะซุ่มแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแทนที่คนเกษียณอายุราชการในปลายเดือนกันยายน แทบจะโละกันยกแผงทุกกระทรวง ทั้งฝ่ายปกครองกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ไปยันกองทัพ

ปรับกระบวนกันขนานใหญ่

ดึงคนมาเป็นไม้เป็นมือ คุมในจุดได้เปรียบในเกมเลือกตั้ง

พร้อมสำหรับมุกสุดท้าย ถ้าลากต่อไปไม่ไหว

ก็ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน

กับผลที่ล็อกได้ โอกาสชนะแบบปิดประตูแพ้.




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2556
0 comments
Last Update : 25 สิงหาคม 2556 9:00:25 น.
Counter : 1195 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.