ดู-อ่าน-ฟัง...มีนาคม 2551 : จากหว่องกาไว, เจงกิสข่าน ถึงเจสซี เจมส์ (หนังล้วนๆ 25 เรื่อง)



●....ดู-อ่าน-ฟัง คราวนี้ขอแค่ ดู นะครับ เพราะลุยดูหนังอย่างเดียว หนังสือ(แทบ)ไม่ได้อ่าน เพลงใหม่ๆ ก็ไม่ได้ฟัง ความเห็นบางเรื่องบางส่วนนำมาจากคอมเมนต์ในบล็อกนี้หรือที่เคยเมนต์ในบล็อกคนอื่น เพื่อความรวดเร็ว

*●....My Blueberry Nights....โอเคกับหนัง และโอเคกับผลงานของ หว่องกาไว ในสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่มีส่วนประกอบไหนที่ไม่ใช่หนังของหว่อง ดูแล้วนึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้หมด ทั้งภาพ เพลง เรื่องราว ตัวละคร บทสนทนา แต่ก็ใช่ว่าทั้งหมดของความเป็นหว่องกาไวจะอยู่ในหนังเรื่องนี้ บางอย่างที่แฟนๆ คุ้นเคยไม่มีให้เห็น เนื่องจากเงื่อนไขปัจจัยหรือสภาพการทำงานที่เปลี่ยนไป

ความคุ้นเคยเดิมๆ นี่เองที่น่าจะทำให้แฟนคลับบางส่วนไม่ประทับใจนัก เอาแค่บทสนทนาที่เป็นภาษาอังกฤษและนักแสดงฮอลลีวู้ดก็อาจขัดตาขัดหูได้แล้ว

ที่ผมรู้สึกแปลกๆ เหมือนไม่ใช่หนังของหว่องคือ มี ตัวละครอายุเยอะ ด้วย อีกอย่างคือหนังมีปริมาณความจี๊ดไม่ได้มาตรฐานเครื่องหมายการค้า

●....Once....เพลงเพราะมาก ด้วยความที่เล่นกันสดๆ เลยยิ่งได้อารมณ์

หนังไม่มีอะไรมากนัก เน้นเล่นเพลงเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะพูดถึงความดีงามจึงต้องมองไปที่การทำเรื่องง่ายๆ ค่อนข้างราบเรียบ ให้น่าประทับใจและดูเป็นธรรมชาติสุดสุด

แอบแปลกใจที่มีคนบ่นเรื่องภาพสั่นไหว

●....The Kite Runner....หนังฮอลลีวู้ดว่าด้วยชาวมุสลิมที่ดูจริงใจและไม่ยัดเยียด ชอบเกินคาด คาแร็กเตอร์และเรื่องราวของตัวละครชัดมากจนเข้าถึงได้เต็มที่ สุดยอดสำหรับนักแสดงทุกคนตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่

ติดตรงส่วนของการกลับไปอัฟกานิสถานน่าจะให้น้ำหนักมากกว่านี้ เหมือนให้เวลาน้อยเกินไป ทางสะดวก และบังเอิญเหลือเกิน(คงเดินตามนิยายต้นฉบับซึ่งผมยังไม่ได้อ่าน)

*●....No Country for Old Men....เป็นออสการ์หนังยอดเยี่ยมที่ตรงใจที่สุดตั้งแต่ปี 2001 ตามสายตาก็ว่าเรื่องนี้ดีที่สุดในบรรดา 5 เรื่องสุดท้าย (แต่ยังไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ดในรอบปี 2007 ที่ผมชอบที่สุด) และเซอร์ไพรส์เล็กๆ ที่ออสการ์เลือกเรื่องนี้เพราะดูจะไม่ใช่ทางของออสการ์ (เรื่องที่เข้าทางที่สุดคือ Atonement แต่ติดที่ว่าเป็นหนังอังกฤษ)

ชอบที่หนังไม่บอกตรงๆ ว่าต้องการสื่ออะไร ไม่ตีกรอบให้ผู้ชมเดินตาม ระดับเนื้อหาเรื่องราวกับระดับแก่นสารไม่ได้นำเสนอเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด แต่ทุกภาพ ทุกคำพูด จะมีผลต่อการตีความและเข้าถึงหนัง

เขียนถึงเรื่องนี้เกี่ยวกับมิติเรื่อง ชาติ และ ชาย ใน mars ฉบับเดือนเมษายน โดยโยงกับ There Will Be Blood, In the Valley of Elah และ Charlie Wilson's War ซึ่งทุกเรื่องใช้ เท็กซัส เป็นฉากหลังและล้วนมีมิติเรื่อง ชาติ เหมือนกันหมด

●....There Will Be Blood....เกือบดีและชอบมากกว่า No Country for Old Men ด้วยซ้ำ ถ้าไม่ติดว่าแต่ละส่วนของเนื้อหาไม่ค่อยกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ชอบฉากจบที่อื้ออึงและทรงพลังมาก

ภาพเปรียบเทียบศรัทธาและความผิดบาปของชาย 2 คน หนึ่งคือนักขุดเจาะน้ำมัน หนึ่งคือพระในศาสนาคริสต์ ชัดเจนจนไม่ต้องตีความมากนัก การพูดโน้มน้าวชาวบ้านให้ยอมให้ใช้ที่ดินขุดน้ำมันของแดเนี่ยล เพลนวิว ไม่ต่างจากการเทศนาเผยแผ่เพื่อเพิ่มจำนวนสาวกของอีไล ซันเดย์

น้ำมันดิน ที่มีสีดำเหนียวเหนอะในทางคริสต์ศิลป์หมายถึงความชั่วร้าย ความผิดบาป นามสกุล ซันเดย์ ชัดเจนอย่างยิ่งสำหรับชาวคริสต์ เช่นเดียวกับ อีไล (Eli) มีความหมายว่า พระเจ้า(God) แถมฉากที่อีไลทำร้ายพ่อชื่อ เอเบิล เพราะไม่พอใจน้องชาย ยังชวนให้นึกถึง เคน ที่ฆ่า เอเบิล (หรืออาเบล) ในภาคพันธสัญญาเดิม เพราะริษยาที่พระเจ้าพึงใจน้องมากกว่าตน

*●....Persepolis....ถ้านี่ไม่ใช่อัตชีวประวัติของผู้สร้าง อาจเข้าใจได้ว่าเป็นสื่อการสอนประวัติศาสตร์อิหร่านศตวรรษที่ 20 ในสายตาของโลกเสรี สำหรับนักเรียนระดับมัธยม

ให้คะแนนเต็มสำหรับความสร้างสรรค์ในด้านการเล่าเรื่องด้วยแอนิเมชั่น และความคมคายในการเสียดสี-ล้อเลียน-จิกกัดทั้งตนเองและอิหร่าน

แต่ก็รู้สึกแปลกๆ ที่หนังไม่ได้เล่าประวัติชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง(หรือของ มาร์จาน ซาตราพี-ผู้สร้าง) โดยใช้อิหร่านเป็นฉากหลังที่มีผลกระทบ แต่กลับเล่าถึงประวัติศาสตร์กับเน้นย้ำภาพลักษณ์เดิมๆ ของอิหร่าน ผ่านเรื่องราวของเธอ ซึ่งย่อมให้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง ทั้งยังแสดงออกถึงเจตนาด้วย

พอได้อ่านคำนำในนิยายภาพต้นฉบับจึงรู้ว่าซาตราพีสร้างงานนี้โดยตั้งใจมุ่งกล่าวโทษผู้ปกครองอิหร่านหลังการปฏิวัติอิสลาม 1979 นี่เอง

Persepolis เป็นไฟล์พีดีเอฟ ทั้ง ภาค 1 และ ภาค 2 สนใจเชิญโหลด (คลิกขวา save target as)

●....In the Valley of Elah....เฉยๆ กับประเด็นเรื่องสงครามอิรักและการตั้งคำถามถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกากับสงครามนอกประเทศ เพราะมองออกตั้งแต่แรกแล้ว แต่ที่ชอบมากคือหนังถ่ายทอดภาวะความสูญเสียของผู้เป็นพ่อ-แม่ได้ดีเหลือเกิน

โดยเฉพาะพ่อซึ่งนอกจากจะเสียใจแล้ว ยังถูกความรู้สึกผิดโบยตีอย่างรุนแรง แต่ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร เขาต้องกดข่มมันเอาไว้ อยากคารวะงามๆ ให้การแสดงของ ทอมมี่ ลี โจนส์ ขณะที่ ซูซาน ซาแรนดอน แม้บทไม่มากแต่ก็มีพลังไม่ยิ่งหย่อน

ชอบบทตำรวจหญิงของ ชาร์ลิซ เธียรอน ที่ไม่ได้เก่งกล้าเกินตัวหรือแสดงออกว่าฉันเจ๋ง แต่เป็นเพียงแม่ลูกหนึ่งที่มีอาชีพเป็นตำรวจ

●....ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น....หนังทำได้ตามเป้าหมายในระดับน่าชื่นชม อย่าลืมว่านี่คือหนังรักของวัยรุ่น ขายดาราหน้าใส ขายเพลงเพราะๆ ภาพสวยๆ มุขตลกกวนๆ ดังนั้น ขืนเรียกร้องอะไรที่สูงส่งกว่านี้จะปวดตับเปล่าๆ

เข้าท่าตรงที่ไม่พยายามโยงทั้ง 4 เรื่องเป็นเรื่องเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ใช้บางฉากหรือใช้หนังเรื่องเดียวกันอย่างนี้พอแล้ว ไม่เลี่ยนและซ้ำกับหนังเรื่องอื่น ช่วงเวลาปิดเทอมเดือนเมษายนก็มีคาแร็กเตอร์ของมันที่เหมาะกับการเอามาใช้เป็นฉากสำคัญ ทั้งเช็งเม้ง-สงกรานต์-ฟุลมูน

เขียนถึงเรื่อง รักจากคนใกล้ตัว ไว้ ที่นี่ ครับ พอดีได้อ่านเรื่องสั้นที่มากับหนังสือรวมภาพ ประเด็นนี้จะเห็นชัดมากโดยเฉพาะเรื่องของโอ๋เล็กที่พ่อเป็นคนโน้มน้าวให้ลูกเรียนภาษาจีนตั้งแต่แรก แต่ลูกๆ ไม่สนใจ

*●....The Darjeeling Limited (imdb) แพ้ทางหนังสไตล์นี้ของ เวส แอนเดอร์สัน มุขตลกหน้าตาย ตัวละครเพี้ยนๆ เอ๋อๆ กับเรื่องราวชุลมุนวุ่นวายชวนงวยงง (จึงเหมาะกับนักแสดงอย่าง บิล เมอร์เรย์ มากๆ) แต่ถึงจะเพี้ยนก็ใช่ว่าจะว่างเปล่าเบาโหวง หนังชวนให้เราคิดและจับความรู้สึกเราได้อยู่หมัด

ฉากวิ่งขึ้นรถไฟตอนใกล้จบวิเศษสุด พอๆ กับฉากเห็นปลาฉลามลึกลับใน The Life Aquatic with Steve Zissou (2004) ว่าไปแล้วหนัง 2 เรื่องนี้คล้ายกันมาก ความสัมพันธ์แปร่งๆ ระหว่างตัวละครลูกกับพ่อ(แถมด้วยแม่) สถานที่เกิดเหตุที่หลุดจากสภาพปกติ และเรื่องราวการเดินทางแสวงหาบางอย่าง แต่ภาพรวม The Darjeeling Limited ดูดีกว่า

การใช้ฉากหลังเป็น อินเดีย กลายเป็นเสน่ห์สำคัญของหนัง ทั้งสีสันสดใสแฟนตาซี ดนตรีประกอบ และทัศนียภาพ

●....The Counterfeiters (imdb) ออสการ์หนังภาษาต่างประเทศหนล่าสุดจากออสเตรีย เกี่ยวกับปฏิบัติการปลอมเงินปอนด์ของนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นว่าจะเข้าฉายเร็วๆ นี้

หนังดีในระดับมาตรฐาน แต่ค่อนข้างซ้ำซากและไม่ได้พิเศษอะไรนัก โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นที่เข้าประกวดด้วยกัน (บทวิจารณ์)

ถ้านับเฉพาะ 4 จาก 5 เรื่องสุดท้าย (ขาดเรื่อง 12 จากรัสเซีย) หนังที่เห็นว่าดีที่สุดคือ Katyn

●....Katyn (imdb) งานของ อังเดรจ์ วาจ์ดา (Andrzej Wajda) ผู้กำกับวัย 80 แต่ชั้นเชิงเหลือหลาย เกี่ยวกับเหตุโศกนาฏกรรมช็อกโลกก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โซเวียตฆ่า-เผาชาวโปแลนด์กว่า 2 หมื่นศพ ในป่าคาทิน หนังเล่าถึงผู้คนทั้งที่เป็นเหยื่อและครอบครัวที่สูญเสียโดยไม่ได้โฟกัสไปที่ตัวละครใดเป็นหลัก แต่ย้ายเปลี่ยนเรื่องราวไปมา แต่ละตัวละครเชื่อมเกี่ยวกันแบบหลวมๆ ก่อนจะเปิดเผยเหตุการณ์โหดร้ายตอนท้ายเรื่อง

*บางทีบทสรุปแบบ feel bad ต่างจาก The Counterfeiters หรือ The Lives of Others ผู้ชนะเมื่อปีที่แล้ว อาจเป็นเหตุผลที่ออสการ์ไม่เลือกเรื่องนี้

●....Mongol (imdb) อีกเรื่องที่ติด 5 เรื่องสุดท้าย ตัวแทนจากคาซักสถานที่ไม่มีความเป็นคาซักแม้แต่น้อย เป็นประวัติ เตมูจิน หรือ เจงกิสข่าน (แสดงโดย ทาดาโนบุ อาซาโน่) จากวัยเด็กถึงจุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่โดยเน้นไปที่เรื่องราวความรักของเขากับหญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นเจงกิสข่านเวอร์ชั่นพระเอ๊ก....พระเอก

งานสร้างได้มาตรฐานความยิ่งใหญ่สมกับเป็นทีมงานระดับอินเตอร์ ส่วนตัวหนังก็ทำได้ไม่มีจุดตำหนิ เสียดายแค่ฉากสงครามตอนไคลแม็กซ์ไปเล่นกับเรื่องเหนือธรรมชาติจนอารมณ์สะดุด (บทวิจารณ์)

●....The Orphanage (imdb) หนังผีสเปนส่งชิงออสการ์ซึ่ง กีลเลร์โม เดล โทโร ภูมิใจนำเสนอ เกี่ยวกับเรื่องลึกลับในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและเด็กชายที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย

ปกติไม่ค่อยได้ดูหนังสยองขวัญ ยิ่งกับหนังสยองขวัญยุคใหม่ แต่เรื่องนี้ดูแล้วได้อารมณ์สยองขวัญย้อนยุคดีเหลือเกิน เปิดเรื่องมาก็เหวอได้ที่ โดยเฉพาะฉากไตเติ้ลที่เป็นมือเด็กฉีกวอลล์เปเปอร์! (บทวิจารณ์)

●....Taxi to the Dark Side (imdb) นี่ก็หนังรางวัลออสการ์ แต่เป็นสาขาหนังสารคดี เอาชนะ No End in Sight ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสงครามก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

Taxi to the Dark Side เป็นสารคดีของบีบีซีในชุด Why Democracy? จับประเด็นการตายของโชเฟอร์แท็กซี่ชาวอัฟกันที่โดนทหารสหรัฐอุ้มไปทรมานสอบปากคำที่ฐานทัพอากาศบากรามจนเสียชีวิต สำรวจตรวจสอบนโยบาย ที่มา ความคิดเห็นและการปฏิบัติ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงทหารเล็กๆ โดยโยงไปถึงกรณี อาบู กราอิบ และ กวนตานาโม

แม้ผู้สร้างจะมองเหตุการณ์ดังกล่าวในแง่ลบ แต่ท่าทีของหนังไม่ได้มุ่งโจมตีหรือตีแผ่ หนังนำเสนอความคิดความเห็น หยิบยกอ้างอิงถึงภาพข่าวและตัวบุคคลอย่างรอบด้านและตามที่เป็นจริงโดยไม่ได้ใช้วิธีการทางภาพยนตร์แต่งเสริม(อย่างที่ ไมเคิล มัวร์ ทำกับ Fahrenheit 9/11) นอกจากการโค้ทคำพูดที่เห็นว่าสำคัญเท่านั้น

*●....Into the Wild (imdb) งานกำกับฯของ ฌอน เพนน์ จากหนังสือของ จอน คราเคาเออร์ เกี่ยวกับหนุ่มวัย 20 จากครอบครัวมีอันจะกิน ปฏิเสธกฎกรอบของสังคม ออกเดินทางเข้าถึงธรรมชาติตามลำพังโดยมีปลายทางสุดท้ายที่อลาสก้า

ยกให้เป็นหนังเด่นประจำเดือน หนังสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างยิ่ง ทั้งสะใจ ฮึกเหิม สุขสงบ โศกเศร้า อ้างว้าง สับสน และยิ่งสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงในฉากจบ

การแสดงของ ฮัล ฮอลบรู๊ค กับบทชายชราผู้อ้างว้างคืออีกหนึ่งไฮไลท์ของหนัง

●....Knocked Up (imdb) ดูเรื่องนี้หลังจากดู The 40 Year Old Virgin (2005) ไม่นาน ทำให้รู้ว่าตนเองไม่โปรดหนังของ จัดด์ อพาโทว์ เพราะทั้งเลี่ยนและเยิ่นเย้อ แม้จะชอบความบ้าและบทสนทนาแสบๆ แบบด้นสดของพระเอกและกลุ่มเพื่อน(ทั้ง 2 เรื่อง)

ดีวีดีเรื่องนี้มีทีเด็ดตรง mockumentary ที่ เบนเน็ธ มิลเลอร์ ผู้กำกับ Capote มาเล่นเป็นตัวเองในบท ผู้กำกับผู้กำกับ อพาโทว์อีกที ...ฮาดี

●....12:08 East of Bucharest (imdb) หนังสะท้อนสังคมโรมาเนียยุค 20 ปีหลังการปฏิวัติ อารมณ์ขันขื่นเสียดสีได้คมคาย สภาพชีวิตตัวละครแห้งแล้งห่อเหี่ยวแต่บทสรุปสุดท้ายยังมองเห็นความหวัง (บทวิจารณ์)

●....Away from Her (imdb) หนังว่าด้วยคู่รักวัยบั้นปลายที่ฝ่ายหญิงเป็นอัลไซเมอร์ สามีส่งเธอเข้าศูนย์รักษา แต่เธอกลับลืมเขาโดยสิ้นเชิงแล้วไปใกล้ชิดกับคนไข้ชายคนหนึ่ง

หนังเล่าแบบสลับช่วงเวลาสอดรับกับเรื่องราวเกี่ยวกับความทรงจำได้อย่างดี (แม้จะงงไปบ้าง) ใช้ความขาวโพลนและหนาวเหน็บของหิมะสะท้อนความรู้สึกของตัวละคร ดูแล้วเศร้าและเคว้งคว้าง จูลี่ คริสตี้ แสดงได้เยี่ยมสมกับคำชมและรางวัลหลายเวที (แต่ก็โอเคกับ มาริยง โกตีลลาด์ ที่เป็นฝ่ายได้ออสการ์ เพราะเธอเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด) กอร์ดอน พินเซนต์ ในบทสามี กับ โอลิมเปีย ดูคาคิส ก็เยี่ยมเช่นกัน

*●....Things We Lost in the Fire (imdb) นี่ก็หนังชีวิตหนักๆ กับการแสดงเข้มข้น ฮัลลี่ เบอร์รี่ (กับบทบาทที่ดีที่สุดนับแต่ Monster's Ball) เป็นหญิงสาวลูกสองที่เพิ่งสูญเสียสามี เธอจึงพา เบนิซิโอ เดล โทโร เพื่อนสนิทของสามีที่ชีวิตล้มเหลวจมปลักกับเฮโรอีนและสามีของเธอคอยช่วยเหลือมาตลอดเข้ามาอยู่ในบ้าน เผื่อจะช่วยเยียวยาความรู้สึกของเธอได้

หนังพูดถึงด้านดีของมนุษย์ที่รู้จักอ้าแขนเปิดรับและช่วยเหลือคนอื่น ไม่สำคัญว่าจะเป็นอย่างไรหรืออยู่ในสถานะไหน พูดถึงการมีใครสักคน มีครอบครัว มีคนที่รัก ว่ามีความสำคัญมากกว่าสิ่งใดๆ

แม้เนื้อหาเคร่งเครียดแต่หนังไม่ได้กระหน่ำหนักใส่ตัวละคร ตรงกันข้าม...หนังให้ความรู้สึกที่ดีและมีความหวังกับการใช้ชีวิต

●....Before the Devil Knows You're Dead (imdb) เพิ่งเขียนถึง ซิดนีย์ ลูเม็ต ไปเมื่อเดือนก่อนกับหนังคุณภาพพื้นๆ เรื่อง Find Me Guilty: The Jackie Dee Story นี่คือหนังลำดับถัดมาที่คุณภาพแตกต่างกันมากมาย แม้ว่าความดีความชอบส่วนหนึ่งต้องยกให้บทหนังที่ดีของ เคลลี่ มาสเตอร์สัน

หนังจับไปที่เหตุหายนะซึ่งลุกลามจากการที่สองพี่น้อง(ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน กับ อีธาน ฮอว์ค) วางแผนกันปล้นร้านจิวเวลรี่ของพ่อ-แม่ตัวเอง เล่าเรื่องแบบเก๋ไก๋โดยสลับกันเล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวย้อนหลังผ่านตัวละครแต่ละตัว ค่อยๆ ขยายให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ

สุดยอดกับทีมนักแสดงทุกคน โดยเฉพาะ มาริสา โทเม ในบทเมียที่แอบมีอะไรกับน้องชายสามี บทเธอแรงมาก แถมเล่นแบบเปิดเผยมากด้วย (หนังเปิดเรื่องด้วยฉากเซ็กซ์ร้อนเร่าเปลือยหมดจดระหว่างฮอฟฟ์แมนกับโทเม!)

*●....The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford (imdb) วาระสุดท้ายของ เจสซี เจมส์ ในหนังที่ทำได้ดีสุดสุด ให้ความรู้สึกเหมือนยามเย็นที่แสงแดดใกล้ลับฟ้า เอื่อยเฉื่อย-หน่วง-หนัก แต่ก็ผ่อนคลาย ปล่อยวาง ที่สำคัญคืองดงามราวบทกวี

ปรบมือเป็นพิเศษให้กับ แบรด พิตต์ กับบทเจสซี เจมส์ ตัวละครผู้หยิ่งทะนงบนความหมองเศร้า

ปรบมืออีกรอบให้กับงานกำกับภาพของ โรเจอร์ ดีกินส์ ดนตรีประกอบของ นิค เคฟ กับ วอร์เรน เอลลิส ก็เยี่ยม....

สรุปคือหนังดีมาก (ย้ำอีกครั้ง)

●....สำหรับหนังสั้น ได้ดูของ อับบาส เคียรอสตามี 4 เรื่อง เขียนถึงไว้ ที่นี่ ครับ

●....อีกเรื่องคือ Herakles (1962) หนัง(สั้น)เรื่องแรกของ แวร์เนอร์ แฮร์โซก ไว้มีโอกาสจะหยิบมาเขียนถึงโดยเฉพาะ



Create Date : 14 เมษายน 2551
Last Update : 14 เมษายน 2551 15:44:22 น. 11 comments
Counter : 1024 Pageviews.

 

สงกรานต์นี้ผมว่าจะตะลุยดูหนังแผ่น

ผ่านไปแล้ว 2 วัน

ยังไม่ได้ดุเลย 5555


โดย: merveillesxx วันที่: 14 เมษายน 2551 เวลา:2:49:47 น.  

 
เหมือนคนข้างบน 5555
ตอนแรกว่าจะหยิบมาเคลียร์
ไปๆมาๆ ดันหยิบดีวีดีเด็กหอมานั่งฟัง commentary เล่นซะงั้น ฮา~

+ ยังเขียนงานไม่เสร็จเลย แหง็บ นี่หรือตู


โดย: nanoguy IP: 125.24.65.108 วันที่: 14 เมษายน 2551 เวลา:5:48:14 น.  

 




นี่ภาพจาก Into the Wild











ส่วนนี่ The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford










โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 14 เมษายน 2551 เวลา:23:17:51 น.  

 
ภาพข้างบนนี้...สวย
แสงเงา...งาม


โดย: yawaiam IP: 118.172.164.182 วันที่: 15 เมษายน 2551 เวลา:5:09:09 น.  

 
ขอบคุณสำหรับไฟล์ pdf ของ Persepolis ค่ะ


โดย: grappa IP: 58.9.192.188 วันที่: 15 เมษายน 2551 เวลา:8:09:57 น.  

 







นึกขึ้นได้...เกี่ยวเนื่องกับ Into the Wild
หนังสือ วอลเดน ที่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของ คริส แม็กแคนด์เลส
จะเรียกว่าเป็นบันทึก หรือความเรียงก็ได้
ที่แน่ๆ ไม่ใช่บทกวี


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 16 เมษายน 2551 เวลา:17:25:29 น.  

 
ขอบอกว่าทั้งหมดนั้น
ยังไม่ได้ดูสักเรื่องค่ะ
เศร้าใจ
แต่ยังไงซะจะพยายาม
ค่อยๆหามาดู เพราะจริงๆแล้ว
ก็เป็นหนังที่ส่วนใหญ่ตั้งใจจะดูอยู่แล้ว
แต่พอเข้าโรง ก็ต้องมีเหตุเป็นไปทุกครั้ง


โดย: goldfish memory IP: 58.9.168.13 วันที่: 16 เมษายน 2551 เวลา:20:01:54 น.  

 
เคยอ่านเรื่องที่มาของ in to the wild แล้วทำให้ไม่แน่ใจว่าจะกล้าดูไหม เรื่องจริงเศร้าเกิน


โดย: เชอรี่ IP: 203.150.202.226 วันที่: 17 เมษายน 2551 เวลา:12:52:52 น.  

 
ม่วนดู always แล้วร้องไห้แหละ


โดย: ม่วนน้อย วันที่: 17 เมษายน 2551 เวลา:22:17:29 น.  

 
ขอแปะ..เดี๋ยวมาใหม่ค่ะ


โดย: renton_renton วันที่: 18 เมษายน 2551 เวลา:9:48:06 น.  

 
วอลเดนนี่เปนหนังสืออีกเล่มที่ยังอ่านค้างไว้ครับ
Into the Wild นี่น่าสนใจมากครับ


โดย: wayakon IP: 58.9.99.107 วันที่: 19 เมษายน 2551 เวลา:18:24:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
14 เมษายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.