Group Blog
 
All Blogs
 

หัวใจยิ้มได้


Happy –Go- Lucky หนังชื่อเรื่องเรียบง่าย ผลงานล่าสุดของผู้กำกับชาวอังกฤษรุ่นใหญ่ ไมค์ ลีห์ ก่อนหน้านี้เคยดูหนังของเขาเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ Secret & Lies เพราะเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จในวงกว้างของเขา ได้เข้าชิงออสก้าร์ถึงห้าสาขาด้วยกัน แม้เนื้อหาของหนังจะค่อนข้างเรียบง่าย เรื่องราวการค้นพบความจริงภายหลังของตัวละครผู้หญิงผิวดำ มีการศึกษา มีอาชีพการงานที่ดี วันหนึ่งเมื่อพ่อแม่ที่รับเธอมาเลี้ยงจากโลกนี้ไป เธอจึงอยากทราบความจริงว่า แม่ที่แท้จริงของเธอเป็นใคร และค่อนข้างประหลาดใจมากเมื่อพบว่าแม่ของเธอเป็นหญิงผิวขาวที่มีความทุกข์รุมเร้า .....

ใน Happy –Go- Lucky หนังเรื่องล่าสุดของเขายังเป็นเรื่องราวที่สมจริง สัมผัสจับต้องได้ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ป๊อบปี้ (แซลลี่ ฮอว์กิ้นส์ - นักแสดงที่ร่วมงานกับไมค์ ลีห์ มาแล้วคือเรื่อง All or Nothing และ Vera Drake เรื่องหลังนี้เธอเล่นเป็นผู้หญิงที่บ้านมีฐานะ แต่ถูกข่มขืนจึงตัดสินใจไปทำแท้ง) หญิงสาววัย 30 ที่มีอาชีพเป็นครูสอนนักเรียนชั้นประถมแถบนอร์ท ลอนดอน เธออาศัยอยู่ในแฟลตโดยมีเพื่อนร่วมห้องคือ โซอี่ (อเลซีส เซเกอร์แมน) มาหลายปีแล้ว ป๊อบปี้เป็นคนมองโลกในแง่ดี ร่าเริงสดใส หัวเราะสนุกสนานอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยเห็นเธอโกรธใครเลย แม้แต่เวลาจักรยานหายก็ไม่ได้โกรธคนที่ขโมยไป แต่รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้บอกลาจักรยานคู่ใจ

เมื่อไม่มีจักรยานเธอจึงตัดสินใจไปเรียนขับรถอย่างจริงจังเสียที ครูที่มาสอนชื่อ สก็อตต์ (เอ็ดดี้ มาร์สัน เขาเล่นเรื่อง Vera Drake ด้วยในบท เร็ก หนุ่มใหญ่ที่มาชอบพอกับลูกสาวของ เวร่า เดร็ก และในเรื่อง Sixty-Six เล่นเป็นพ่อของ เบอร์นี่ เด็กที่กังวัลใจว่า ในวันพิธี Bar Mitzvah ตามธรรมเนียนของยิวที่จัดพิธีให้กับเด็กชายที่อายุครบ 13 ปี มอบหมายหน้าที่ทางศาสนาและแสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบแล้ว จะไม่มีคนมาร่วมงาน เพราะตรงกับวันชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลกปี 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพพอดี) สก็อตต์มีนิสัยตรงข้ามเธอทุกอย่าง เจ้าระเบียบ ขี้หงุดหงิด ไม่พอใจคนรอบข้าง เอาแต่ด่าว่าสังคม ทุกครั้งที่มาเรียนขับรถทั้งคู่จึงมีเรื่องถกเถียงกันตลอด นอกจากนี้หนังยังพาเราไปรู้จักกับกับน้องสาวของป๊อบปี้สองคน คนหนึ่งอาศัยอยู่กับสามีอยู่อีกเมืองหนึ่งริมทะเล กำลังตั้งครรภ์และค่อนข้างหงุดหงิดง่าย ส่วนน้องสาวคนเล็กเป็นนักศึกษาอยู่และมีโลกส่วนตัวสูง

ความสดใสร่าเริงของเธอสะท้อนให้เห็นในการสอนหนังสือ เธอทำการบ้านศึกษาค้นคว้ามาก่อน จัดเตรียมอุปกรณ์สื่อการสอน และสอนด้วยลีลาสนุกสนาน และมีกิจกรรมให้เด็กได้ทำโดยไม่ปิดกั้นจินตนาการ เช่น เวลาสอนเรื่องการอพยพของนกก็ให้เด็กทำหน้ากากนกขึ้นมาเอง นอกจากนี้เธอยังเอาใจใส่เด็กๆ นอกห้องเรียนด้วย เฝ้าดูพฤติกรรมของเด็กคนหนึ่งที่ก้าวร้าวผิดปรกติ ชอบทำร้ายเพื่อนๆ เธอไม่ได้ลงโทษเขา แต่เรียกมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ และให้ผู้เชี่ยวชาญคือนักสังคมสงเคราะห์มาช่วยบำบัด หาที่มาของพฤติกรรม และพบว่าเขาเป็นเด็กที่ถูกพ่อเลี้ยงตีจนมีผลต่อการเรียนและพฤติกรรม ต่อมาเธอได้ออกเดทกับ ทิม (ซามูแอล รูกิน) นักสังคมสงเคราะห์หนุ่มคนนั้น

ป็อบปี้เป็นคนรักที่จะทำให้คนอื่นมีความสุข ได้ยิ้ม หัวเราะไปกับเธอ เธอมีเวลาผ่อนคลายด้วยการไปกระโดดบนเตียงสปริงแทรมโปลีน เมื่อปวดหลังเธอก็ไม่ได้กลุ้มใจ ไปหาหมออย่างมีอารมณ์ขัน เพื่อนครูชวนไปเรียนเต้นฟลามิงโกเธอก็พร้อมจะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต และมีเวลาสนุกสนานกับเพื่อนๆ และน้องสาว เช่นออกไปดูคอนเสิร์ต ดื่มเหล้ากันบ้าง เธอบอกว่าคนเราต้องออกไปเรียนรู้โลกกว้าง เธอเคยเดินทางไปหลายประเทศในแถบเอเชีย และเคยมาสอนหนังสือช่วงสั้นๆ ในประเทศไทยด้วย

ในหนังแสดงให้เราเห็นว่าการทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นเราก็ทำได้ง่ายๆ เช่นที่เธอไปนั่งเป็นเพื่อนกับคนจรจัดคนหนึ่ง ที่ร้องเพลงซ้ำไปซ้ำมา ชายคนนั้นไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าใครสักคนที่จะมาฟังเขาพูด มาเป็นเพื่อนสักชั่วเวลาหนึ่ง แม้ป็อบปี้ให้เงินไปซื้ออาหาร ชายคนนั้นก็ปฏิเสธ ในหนังยังมีหลายๆ ฉากที่ป็อบปี้และเพื่อนพูดคุยแสดงความเห็นห่วงใยปัญหาของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ติดเกม นั่งกินขนม ไม่ยอมออกไปเล่นนอกบ้าน แม้เป็นวันที่อากาศดีมาก จนกลายเป็นเด็กอ้วน ส่วนบทของสก็อตต์ก็สะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวและการศึกษาก็ส่วนสร้างความทุกข์ให้กับมนุษย์คนหนึ่งได้เช่นกัน คนมองโลกในแง่ดี ชอบช่วยเหลือคนอื่นอยู่เสมออย่างป็อบปี้เองก็ต้องระมัดระวังเช่นกันว่า ความร่าเริงสดใสของเธออาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนอื่นได้เหมือนกัน

Happy –Go- Lucky เป็นหนังที่แม้ไม่มีฉากยิ่งใหญ่อลังการ หรือภาพตื่นตาตื่นใจ ตลอดจนเต็มไปด้วยบทสนทนาภาษาอังกฤษสำเนียงอังกฤษ ที่บางคำก็ฟังลำบาก แต่คนดูก็รู้สึกร่วมไปกับหนัง ด้วยเรื่องราวและการแสดงที่สมจริง ไม่ได้ปรุงแต่งจนเกินจริง ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ผู้กำกับให้นักแสดงสร้างตัวละครขึ้นมาเอง โดยไม่มีบทบังคับตั้งแต่แรก และผ่านการซักซ้อมการแสดงกันมาหลายเดือน การแสดงของแซลลี่ ฮอว์กิ้นส์ ได้รับคำชื่นชมอย่างสูง และเธอได้รับรางวัลด้านการแสดงมาแล้วหลายรางวัลทั้งในยุโรปและอเมริกา รวมทั้งล่าสุดรางวัลลูกโลกทองคำ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทหนังคอเมดี้ (ทั้งที่หนังเรื่องนี้มีส่วนดราม่าและคอเมดี้พอๆ กัน) ต้องตามลุ้นต่อไปว่าในเวทีออสก้าร์ เธอจะมีโอกาสลุ้นมากน้อยแค่ไหน

ชีวิตของป็อบปี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเราหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่บนโลกทุกวันนี้ที่มีปัญหา อุปสรรค ความยากลำบากไม่น้อย เราจะมีท่าทีกับทุกอย่างที่เข้ามาด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะได้อย่างไร เราจะแบ่งเบาความทุกข์ของคนรอบข้างได้หรือไม่ ทำอย่างไรที่จะไม่ตัดสินกล่าวโทษคนอื่นไปก่อน แต่จะอดทนเรียนรู้เข้าใจเขา และพร้อมที่จะรักและให้อภัย อย่างที่ในหนังบอกกับเราว่า คนมีความสุขที่มาจากภายใน คนนั้นก็มักจะพบโชคดีในชีวิตอยู่เสมอๆ




 

Create Date : 28 มกราคม 2552    
Last Update : 28 มกราคม 2552 10:50:47 น.
Counter : 559 Pageviews.  

ความรัก …. มิตรภาพ ….. สันติภาพ….

ความรัก …. มิตรภาพ ….. สันติภาพ….

ภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลายเรื่องสร้างหรือดัดแปลงจากการ์ตูนที่ได้รับความนิยม ที่โด่งดังในบ้านเราเมื่อสองปีก่อนคือ Death Note สร้างจากการ์ตูนเขียนเรื่องโดย Tsugumi Ohba วาดภาพโดย Takeshi Obata มีทั้งหมด 12 เล่ม เข้าฉายในบ้านเราทิ้งระยะห่างไม่นานคือภาคแรกเมื่อ 28 กันยายน 2006 ภาคสอง Death Note 2: The Last Name เข้าฉาย 30 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และยังมีภาคต่อเนื่องตามมาอีกคือ Death Note : L Change the World เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2008

สำหรับปีนี้หนังญี่ปุ่นที่แฟนๆ การ์ตูนต่างรอคอยคือเรื่อง 20th Century Boys ตอนเป็นการ์ตูนมีชื่อไทยว่า “แก็งค์นี้มีป่วน” ส่วนตอนเป็นหนังกลับตั้งชื่อไทยได้ค่อนข้างขัดใจคอการ์ตูนว่า “มหาวิบัติดวงตาล้างโลก” ผลงานการเขียนของ นาโอกิ อุราซาวา (Naoki Urasawa) มีเรื่องราวทั้งหมดถึง 22 เล่ม พร้อมทั้งเล่มพิเศษอีกสองเล่ม เมื่อมาทำหนังจึงต้องแบ่งออกเป็นไตรภาค ภาคแรกเป็นผลงานกำกับของ ยูกิฮิโกะ ซึซึมิ โดยเรื่องราวครอบคลุมเนื้อหาการ์ตูนตั้งแต่เล่ม 1-8

การ์ตูนเรื่องนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การดำเนินเรื่องหลายช่วงเวลาเล่าเรื่องสลับกันไปมา มีทั้งเรื่องราวดราม่าเข้มข้นของชีวิตครอบครัว มิตรภาพซาบซึ้งของกลุ่มเพื่อนในวัยเด็กในปี ค.ศ.1969 ตัดสลับเป็นระยะกับช่วงปี 1997 แล้วมาไคลแม็กซ์ในวันสุดท้ายของปี 2000 ก่อนที่โลกจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ทั้งยังข้ามไปเล่าถึงโลกอนาคตปี 2014 ตัวเอกในภาคแรกคือ เคนจิ ในปี 1997 เจ้าของร้านมินิ มาร์ท King Mart ในอดีตเขาใฝ่ฝันจะเป็นร็อกเกอร์ชื่อดัง แต่ตอนนี้อยู่กับแม่และหลานสาววัยทารกชื่อ คันนะ ซึ่งพี่สาวมาฝากเลี้ยงไว้แล้วหายตัวไป

เหตุการณ์เลวร้ายหลายอย่างเริ่มเกิดขึ้นเช่นการหายตัวไปของ ดร.ชิคิชิม่า ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างหุ่นยนต์ ที่เคนจินำเหล้าไปส่งให้ประจำ ที่บ้านของด็อกเตอร์เขาได้พบสัญลักษณ์รูปมือที่มีนิ้วชี้ขึ้นข้างบน บนมือมีรูปดวงตา และมือนั้นอยู่ในกรอบของดวงตาใหญ่อีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นเกิดคดีประหลาดที่ผู้เสียชีวิตมีเลือดไหลออกจากตัวจนหมด และเกิดโรคระบาดที่ซานฟรานซิสโก ลอนดอน และในโอซาก้าเอง รวมไปถึงระเบิดที่สนามบินฮานาดะ และ ดองกี้ เพื่อนสนิทในวัยเด็กของเขาก็มาเสียชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำ ส่วนสังคมญี่ปุ่นก็กำลังสับสนวุ่นวายเมื่อเกิดลัทธิประหลาด เจ้าลัทธิเรียกตัวเองว่า “เพื่อน” ดึงดูดผู้คนโดยเฉพาะเยาวชนให้หลงใหลคลั่งไคล้ และทำทุกอย่างตามแต่ที่เพื่อนจะสั่งโดยไม่มีสติยั้งคิดถึงความผิดชอบชั่วดี

ในที่สุดเคนจิจดจำได้ว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นช่างตรงกับคำทำนายที่เขาและเพื่อนๆ ช่วยกันเขียนเอาไว้เล่นๆ เมื่อตอนอยู่ชั้นประถม และฝังเอาไว้ในกล่องใบหนึ่ง ผู้นำลัทธิที่เรียกตัวเองว่าเพื่อนที่ชอบซ่อนตัวอยู่หลังหน้ากากจึงน่าจะเป็นเพื่อนคนหนึ่งในวัยเยาว์ของเขา แต่ความซับซ้อนอยู่ตรงที่ว่า เมื่อเขาได้เผชิญหน้ากับเพื่อนที่ใส่หน้ากากนินจาฮัตโตริ เพื่อนบอกว่าคันนะเป็นลูกของเพื่อนเอง ?

แม้จะเป็นคนธรรรมดาสามัญไม่ได้มีความสามารถพิเศษอะไร แต่เคนจิที่เคยสัญญากับเหล่าเพื่อนสนิทของเขาภายใต้ผืนธงโลโก้ที่ต่อมากลุ่มองค์การร้ายนำไปใช้ผิดๆ ว่า ถ้าโลกเกิดวิกฤติพวกเขาจะช่วยกันปกป้องและรักษาสันติภาพของโลกไว้ให้ได้ เขาจึงรวบรวมกลุ่มเพื่อนในวัยเด็ก มาช่วยกันหยุดยั้งแผนการร้ายของเพื่อนที่จะครองโลกด้วยอาวุธเชื้อโรค ได้แก่ โยชิสึเนะ, มารุโอะ, มอนจัง, ฟุคุเบ, ยูคิจิ - ผู้หญิงคนเดียวในกลุ่มแต่เข้มแข็งมาก รวมถึงโอตโจะ ที่หายตัวไปอยู่ในเมืองไทยช่วงหนึ่งโดยใช้ชื่อว่าโชกุน ก็กลับมาญี่ปุ่นด้วย

เสน่ห์ของทั้งหนังและการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ที่การดำเนินเรื่อง มีปริศนาต่างๆ ให้เฝ้าติดตาม การสร้างคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจของตัวละครทุกคน เรื่องราวความรัก ความเอาใจใส่เอื้ออาทรกันในครอบครัวถ่ายทอดได้ซาบซึ้งโดยเฉพาะความรักระหว่างพี่สาวกับน้องชาย คือ คิริโกะ กับ เคนจิ น่าเสียดายที่ในหนังไม่ได้เน้นในส่วนนี้มากนัก แต่ถ้าได้อ่านการ์ตูนจะไม่สงสัยเลยว่า ทำไมเคนจิถึงรักและเลี้ยงดูคันนะเสมือนเป็นลูกของตัวเอง และประกาศไว้ว่า ผมจะเลี้ยงคันนะไปจนกว่าพี่สาวจะกลับมา….

ตอนแรกเราอาจอยากประณามคิริโกะที่ไม่น่าทิ้งลูกหนีหายไปได้ลงคอ แต่ความคิดเราต้องเปลี่ยนไปเมื่อทราบว่าที่ผ่านมา คิริโกะเป็นพี่ที่เสียสละเพื่อเคนจิเพียงใด ….. เธอช่วยเขาจากการจมน้ำถึงสองครั้งจนตัวเองต้องนอนซมเป็นไข้หวัด เมื่อเขาประสบอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บสาหัส เธอก็คอยดูแลอยู่ข้างๆ แม้เป็นวันที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ตาม เธอยังเป็นพี่สาวที่เข้าใจความต้องการของน้อง พาไปดูหนังเลี้ยงไอติม รู้ว่าน้องชายชอบเล่นกีต้าร์ ความฝันของเคนจิที่จะมีกีต้าร์ไฟฟ้าราคา 26,000 เยน ที่เขายืนมองหน้ากระจกร้านดนตรีอยู่บ่อยๆ พี่สาวคนนี้ก็ทำให้เป็นจริงขึ้นมา

การ์ตูนเรื่องนี้ผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่รู้สึกร่วมกับตัวละครและหวนคิดถึงความทรงจำอันอบอุ่นในวัยเยาว์ โดยเฉพาะเวลาที่เล่าเหตุการณ์ช่วงปี 1969 ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษ 1970 ยุคเฟื่องฟูของร็อกแอนด์โรล ความรัก เสรีภาพ สันติภาพ ในปีนั้นมีการแสดงคอนเสิร์ทยิ่งใหญ่ที่ทุกคนยังจดจำได้ดีคือ วู้ดสต็อก ในการ์ตูนกล่าวถึงนักร้องและวงดนตรีในช่วงนั้น ได้แก่ Rolling Stone, C.C.R., จิมมี่ เฮนดริกซ์, จอห์น เลนนอน, บ็อบ ดีแลน

และวงที่อุราซาวาผู้เขียนการ์ตูนชื่นชอบเป็นพิเศษน่าจะเป็น T-Rex เพราะมีฉากที่ตัวละครบุกเข้าไปในห้องกระจายเสียงในโรงเรียนเพื่อเปิดเพลงของวงนี้ให้ดังกังวานไปทั้งโรงเรียน และตัวละครในการ์ตูนหลายคนก็ชอบฟังเพลงของวงนี้ แม้แต่ชื่อการ์ตูนเรื่องนี้ก็มาจากชื่อเพลงหนึ่งของวง T-Rex เนื้อหาของเพลงเกี่ยวข้องกับเพื่อนเช่นกัน …. Friends say it’s fine. Friends say it’s good. Everybody says it’s like rock and roll. I move like a cat. Charge like a ram. Sting like a bee ….

ผู้เขียนการ์ตูนยังได้แรงบันดาลใจจากนิยายดังของ สตีเฟ่น คิง สองเรื่องคือ It กับ The Stand ทั้งสองเรื่องได้รับการดัดแปลงเป็นหนังที่ฉายทางโทรทัศน์ เรื่องแรกนั้นกล่าวถึงกลุ่มเพื่อนรักที่หลังจาก 3o ปีผ่านไปต้องกลับมาบ้านเกิดตามสัญญาที่จะช่วยกันกำจัดความชั่วร้ายที่มาในรูปร่างของตัวตลกจอมโหด ส่วนเรื่องหลังเกี่ยวกับโลกที่ต้องเผชิญหน้ากับไวรัสมรณะที่รั่วไหลมาจากอาวุธชีวภาพ







 

Create Date : 09 มกราคม 2552    
Last Update : 9 มกราคม 2552 12:08:35 น.
Counter : 561 Pageviews.  

วันนี้เราดูแลคนรอบข้างและธรรมชาติดีพอแล้วหรือยัง ?



วันนี้เราดูแลคนรอบข้างและธรรมชาติดีพอแล้วหรือยัง ?

ในที่สุดก็มีโอกาสดูอนิเมะเรื่อง Grave of the Firefies (1988) หรือที่รู้จักในชื่อไทยว่า “สุสานหิ้งห้อย” เป็นผลงานอีกเรื่องจากการกำกับและเขียนบทของ ไอซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) แห่ง Studio Ghibli โดยดัดแปลงจากหนังสือของ อะคิยูกิ โนซาเกะ แม้จะเป็นการ์ตูนแต่ก็นำเสนอด้วยเนื้อหาจริงจังสะท้อนความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง เหยื่อน่าสงสารที่สุดของทุกสงครามก็คือเด็กๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของผู้ใหญ่แม้แต่น้อย หนังเล่าถึงชะตากรรมของสองพี่น้อง พี่ชายคือ เซตะ โยโกกาวา วัย 14 ปี กับน้องสาว เซตซึโกะ วัยเพียงสี่ขวบ จากชีวิตที่เคยอยู่อย่างสงบสุขในเมืองโกเบ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิดสงคราม พ่อของเขาที่เป็นนายทหารเรือต้องออกไปร่วมรบกับกองทัพของพระจักรพรรดิ และพวกเขาไม่ได้ข่าวพ่อมานานแล้ว เมื่ออเมริกาทิ้งระเบิดปูพรมครั้งใหญ่ถล่มเมือง พี่น้องคู่นี้ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่แม่ของพวกเขาบาดเจ็บสาหัสและในที่สุดเสียชีวิต สองพี่น้องจึงต้องเผชิญชีวิตตามลำพัง ในช่วงสงครามที่อาหารขาดแคลน แม้จะมีญาติอยู่บ้างแต่ก็พึ่งพาอะไรมากไม่ได้ เพราะในภาวะเช่นนี้ ต่างคนต่างก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ไปวันต่อวัน
ไม่บ่อยครั้งนักที่การ์ตูนจะนำเสนอเนื้อหาที่เป็นโศกนาฏกรรมโศลกศลดเช่นนี้ เพราะหนังเปิดเรื่องโดยไม่ปิดปังด้วยคำพูดของเซตะที่ว่า……วันที่ผมจากโลกไปคือวันที่ 21 กันยายน 1945 ... เพียงไม่นานหลังจากญี่ปุ่นต้องยอมแพ้สงคราม ชะตากรรมของสองพี่น้องทำให้เราสะเทือนใจว่า ทำไมสังคมหรือผู้ใหญ่ทั้งหลายถึงไม่ได้ช่วยเหลือชีวิตน้อยๆ ทั้งสองนี้เลย แม้คนที่เป็นญาติกันที่พี่น้องมาขออาศัยอยู่ด้วย ยังเห็นว่าพวกเขาเป็นภาระ แต่อย่างไรก็ตามเราได้เห็นความรัก ความผูกพันของพี่น้องที่ต่อสู้ชีวิตด้วยกัน พี่ชายพยายามที่สุดแล้วที่จะดูแลให้น้องได้กินอิ่ม นอนอุ่น ตามอัตภาพ เราได้เห็นความอดอยากหิวโหยของสองพี่น้อง เมื่อกล่องลูกอมที่น้องชอบกินหมด พี่ชายนำน้ำมาใส่ แล้วเขย่าแล้วให้น้องดื่มได้พอลิ้มรสลูกอมหลากรสบ้าง เพื่อปลอบโยนยามที่เธอร้องไห้ พวกเขาอดอยากเสียจนไม่มีแม้แต่ข้าวกิน เมื่อหมดหนทางจริงๆ จึงต้องแอบไปขโมยแม้แต่หัวมันลีบๆ……
ภาพเหล่านี้ช่างตรงกันข้ามกับยุคสมัยปัจจุบันแห่งการบริโภคนิยม ยุคแห่งการกิน ดื่มตลอด 24 ชั่วโมง ที่ทุกอย่างซื้อได้ด้วยเงิน กินกันอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ค่อยเห็นคุณค่า โลกแห่งโฆษณา การตลาดปลุกเร้าให้เราบริโภคอย่างไม่รู้จักพอ เวลาเราเข้าไปกินบุฟเฟ่ท์ในร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า เราพยายามอย่างยิ่งที่จะกินให้มากที่สุดเท่าที่กระเพาะอันน้อยนิดของเราจะรับได้ เพื่อให้คุ้มกับเงินที่เสียไป และกี่ครั้งแล้วที่เราต้องทุกข์ทรมานกับการกินเลี้ยงโต๊ะจีน กับปริมาณอาหารที่น่าจะมีพอให้มนุษย์คนหนึ่งกินไปได้ทั้งสัปดาห์
หนังสุสานหิ่งห้อยเรื่องนี้ นอกจากจะเห็นความโหดร้ายของสงคราม ทำให้ผู้ชมสะเทือนใจโดยไม่ต้องมีฉากสู้รบให้เห็นแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นภาพสงครามจากมุมมองของคนญี่ปุ่นที่ไม่ได้ตัดสินชี้ว่าใครถูก- ผิด สร้างพระเอก- ผู้ร้าย เพราะบ่อยครั้งหนังสงครามจากฮอลลีวู้ดมักมีแต่ภาพความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่น และเชิดชูวีรกรรมกล้าหาญของทหารอเมริกัน (ยกเว้นก็แต่เพียงหนังเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม) และหนังเรื่องนี้ทำให้ผมต้องกลับมาสำรวจการกินดื่มแต่ละมื้อ รวมทั้งขนม อาหารว่างในแต่ละวันว่าบริโภคอย่างเกินพอดีไปหรือไม่ และพบว่าหลายครั้งตัวเองกินไปด้วยความอยากมากกว่าความหิว หรือเพื่อสุขภาพร่างกาย และเตือนตัวเองไม่ให้รู้สึกเบื่อหน่าย เมื่อคิดไม่ออกว่ามื้อนี้เราจะกินอะไรดี เพราะขณะที่เรามีเงินซื้อข้าวกินทุกมื้อ หรือเมื่อกลับไปบ้านมีอาหารจานอร่อยจากฝีมือแม่รอคอยอยู่ แต่ผู้คนอดอยากหิวโหยบนโลกใบนี้ยังมีอีกมากมาย โดยสิ่งหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติก็คือ ข้าวทุกจานที่กินต้องกินข้าวให้หมดทุกเมล็ด (ยกเว้นเวลาป่วยไข้อาจจะกินข้าวไม่ลง) และพยายามลดละการกินอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่มักจะมีสิ่งล่อใจให้เราบริโภคอยู่ตลอดเวลา ……

ต่อจากเรื่อง สุสานหิ่งห้อย ไอซาโอะ ทาคาฮาตะ มีผลงานเรื่อง Only Yesterday (1991) เรื่องของสาวพนักงานออฟฟิศวัยใกล้ 30 ที่ขอลาพักร้อนเพื่อไปใช้ชีวิตสัมผัสธรรมชาติกับชาวบ้านในชนบท ได้ย้อนกลับไปคิดถึงความทรงจำในวัยเด็ก และทบทวนตัวเองว่าความสุขของเธออยู่ในเมืองหรือชนบทกันแน่ ผลงานลำดับถัดมาของทาคาฮาตะ ยังคงเป็นประเด็นในเรื่องของมนุษย์กับธรรมชาติ ในหนังเรื่อง Pom Poko (1994) มีชื่อไทยว่า ปอม โปโกะ ทานูกิป่วนโลก ฉากหลังของหนังคือช่วงทศวรรษ 1960 ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศจากสงคราม เศรษฐกิจเริ่มเติบโต ด้วยเป็นประเทศที่เล็กแต่มีประชากรมาก ทำให้ต้องพัฒนาที่ดินตัดต้นไม้เพื่อปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย รวมไปถึงเนินเขาทามะ ซึ่งแต่เดิมเหล่าทานูกิเคยอาศัยอยู่อย่างมีความสุข นอกจากการหาอาหารจะอยากแล้ว สัตว์ตัวน้อยเหล่านี้ยังต้องสังเวยชีวิตไปบนท้องถนน หรือติดกับดักที่มนุษย์ทำล่อไว้ หนังนำเสนอด้วยลีลากึ่งจริงกึ่งจินตนาการ ด้วยการให้ทานูกิเหล่านี้พยายามหยุดการรุกรานจากมนุษย์ด้วยการฟื้นวิชาแปลงร่างเป็นได้ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ทานูกิบางตัวต่อสู้ด้วยสันติวิธี แค่ต้องการให้มนุษย์กลัวเพื่อจะได้ไม่สร้างบ้านจัดสรรต่อ แต่บางตัวก็ต้องการต่อสู้อย่างแตกหักกับมนุษย์
หนังตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าแล้วมนุษย์กับธรรมชาติจะอยู่ด้วยกันอย่างสอดคล้องสมดุลได้หรือไม่ ในฝั่งของมนุษย์นั้นก็ควรรุกรานธรรมชาติให้น้อยที่สุด ปลูกต้นไม้ทดแทน และให้ความเมตตาต่อสรรพชีวิตทั้งหลาย ส่วนในฝั่งของทานุกิเองก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เขากับสังคมเมืองให้ได้




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 13:23:43 น.
Counter : 500 Pageviews.  

แม่กับผม ....


“แม่กับผม”

หนังญี่ปุ่นเรื่อง Tokyo Tower : Mom, Me and sometimes Dad ถ่ายทอดความรักยิ่งใหญ่ของแม่ที่มีต่อลูก โดยเฉพาะกับลูกชายที่หลายๆ ครั้งมักทำให้แม่หนักใจ เสียใจ แต่แม่ก็ไม่เคยหมดรัก มีแต่รักเต็มเปี่ยม ห่วงใยลูกตลอดเวลา ตราบจนวาระสุดท้ายของแม่ หนังเรื่องนี้ดัดแปลงจากหนังสือขายดีของญี่ปุ่น ผู้เขียนใช้นามปากกาว่า ลิลี้ แฟรงกี้ (ตอนนี้มีฉบับแปลภาษาไทยแล้ว) ซึ่งถ่ายทอดชีวิตของเขาเอง “นาคางาวะ มาซายะ” ที่แม่เรียกเขาว่า “มาคุง” นับตั้งแต่วัยเยาว์ไปจนถึงวันที่แม่ได้พักผ่อนช่วงนิรันดร หนังเรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเราเมื่อ 24 เมษายน เพียงแค่สองโรงเท่านั้น แต่ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก และยืนโรงฉายอยู่หลายเดือน
ถัดมาไม่กี่เดือนทางช่องไทยพีบีเอส นำซีรีส์ที่สร้างจากหนังสือเล่มนี้เช่นกันจำนวน 11 ตอน มาออกอากาศทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ในช่วงเวลาสี่ทุ่มเศษๆ หนังโทรทัศน์ชุดนี้มีทีมงาน ผู้กำกับ เขียนบท และนักแสดง คนละชุดกับที่เป็นภาพยนตร์ แต่ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน จนกลายเป็นอีกซีรีส์หนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานถึง เป็นหนังที่ทำให้ผู้ชมกลายเป็นคนต่อมน้ำตาตื้นในทุกตอนที่ดู ต้องเสียน้ำตาให้กับ “ไอโกะจัง” ผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง พื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด แต่ความรักที่เธอมีต่อลูกและคนรอบข้าง ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่คิดหวังสิ่งใดตอบแทน ทุกคนสัมผัสได้ถึงความรัก อบอุ่น จริงใจ ของเธอ
Tokyo Tower ฉบับซีรี่ส์อำนวยการสร้างโดยฟูจิ ทีวี กำกับโดย Kubota Satoshi และ Tanimura Masaki เขียนบทโดย Oshima Satoni (คนเดียวกับที่เขียนบทซีรี่ส์ บันทึกน้ำตาหนึ่งลิตร – One liter Of tear หนังที่แสดงให้เห็นความรักของครอบครัว ที่ช่วยกันโอบอุ้มช่วยเหลือยามเมื่อสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวต้องผจญโรคร้าย) มาคุงในฉบับซีรีส์รับบทโดย Hayami Mokomichi (ก่อนหน้านี้เขาเคยเล่นหนังเรื่อง Rough) โดยมาคุงตอนเด็กรับบทโดยนักแสดงเด็กหน้าตาน่าเอ็นดู Hirota Ryohei คนเดียวกับที่รับบทนำในหนังเรื่อง Mari and the Three Puppies ส่วนการแสดงที่โอบอุ้มหนังชุดนี้ได้ตลอด และเรียกน้ำตาจากผู้ชมได้ทุกครั้งในบทแม่คือ Baisho Mitsuko และผู้ที่มาเป็นครั้งคราวคือพ่อ (Izumiya Shigeru) แม้พ่อแยกทางกับแม่ตั้งแต่มาคุงยังเด็ก เขาใช้ชีวิตสบายๆ เหมือนไม่สนใจใยดีครอบครัว แต่พ่อก็เป็นห่วงอนาคตของมาคุง ทุกครั้งที่แม่ป่วย พ่อต้องเดินทางมาเยี่ยม อีกคนหนึ่งที่ผูกพันกับมาคุงตั้งแต่วัยเยาว์คือ บากาบอง (Ernoto Tasuku) จนติดตามมาอยู่โตเกียวด้วยกัน
ตอนเด็กมาคุงมีชีวิตที่มีความสุข อยู่กันพร้อมหน้า พ่อ แม่ ลูก รวมไปถึงคุณย่าใจดี ที่เมืองคุโคระ ที่นี่เขาเริ่มซึมซับการชอบวาดรูปจากพ่อ แต่ในที่สุดแม่ตัดสินใจแยกกันอยู่กับพ่อ เดินทางกลับมาอยู่บ้านเกิดที่เมืองชิคิโฮ มาขออาศัยอยู่กับยาย แต่ด้วยความคับแคบของบ้านในที่สุดเธอพาลูกไปอยู่ในคลีนิคร้าง แม้ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก แต่แม่ก็ทำงานอย่างไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักเหนื่อยเพื่อเลี้ยงดู ให้การศึกษากับลูกจนเขาจบมัธยมศึกษา มาคุงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยในกรุงโตเกียว ทั้งที่แม่เป็นห่วงและดูจะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็เคารพการตัดสินใจของเขา ฉากที่แม่มาส่งเขาที่สถานีรถไฟพร้อมกับห่อผ้าที่บรรจุไว้ด้วยข้าวห่อ แผนที่กรุงโตเกียว จดหมายร่ำลาด้วยความห่วงใย และให้กำลังใจ และยังให้เงินถึงหนึ่งหมื่นเยน แม้รถไฟจะออกแล้วแม่ยังวิ่งตาม โบกมือให้กำลังใจ….. เป็นอีกฉากหนึ่งที่ใครเลยจะกลั้นน้ำตาไว้ได้
ชีวิตนักศึกษาในเมืองหลวงไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด การดำเนินชีวิตทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย และพบอุปสรรคในการเรียน ทำให้เขาไม่อยากไปเรียน และหลงระเริงกับความสนุกสนาน ผลาญเงินที่แม่ทำงานส่งให้ด้วยความเหนื่อยยาก แต่ในที่สุดเขากลับตัวกลับใจ โดยมีเพื่อนอาวุโสกว่าช่วยเตือนสติ และแม่บอกให้เขาสู้ชีวิตและอดทนมากๆ จนเรียนจบเป็นบัณฑิต แต่ก็ยังหางานทำไม่ได้ และไม่มีแม้แต่ที่จะซุกหัวนอน แต่เขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากนารูซาวะ เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งคือเมื่อคุณยายจากไป ก่อนจากท่านมอบกล่องสะสมเหรียญเงินที่มาคุงชอบตอนเด็กไว้ให้ด้วย มาคุงมุมานะอีกครั้ง เริ่มจากทำงานทุกอย่างที่ไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิการศึกษา ในที่สุดเขาก็ได้ทำงานที่รักคืองานวาดรูปประกอบในนิตยสาร จนมีเงินพอพาแม่และน้าไปเที่ยวเป็นครั้งแรกในชีวิต แม่บอกกับเขาว่า สนุกมาก จะจดจำไปตลอด และเมื่อทราบว่าบ้านเดิมแม่จะอยู่ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มาคุงจึงชวนแม่มาอยู่ด้วยกันที่โตเกียว……
Tokyo Tower เต็มไปด้วยฉากซึ้งๆ หรือบางครั้งอาจเศร้าไปบ้าง แต่ทุกฉากเต็มไปด้วยความจริงของชีวิต ในคราบน้ำตา ความทุกข์ยาก ลำบาก ทุกอย่างไม่ได้เป็นดังฝัน แต่ทุกชีวิตยังมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ในความมืดยังมีแสงสว่าง เฉกเช่นเดียวกับชีวิตของไอโกะ ที่แม้จะลำบากมาตลอด แต่ไม่เคยร่ำไห้ตัดพ้อชะตาชีวิต เธอกลับชอบร้องเพลง ใส่หน้ากากเต้นรำให้ทุกคนมีความสุข เป็นห่วงใยลูกและเพื่อนของลูกเสมอ คิดถึงห่วงใยลูกมากกว่าตัวเอง ชีวิตของลูกสำคัญกว่าของตัวเอง
ลูกทุกคนที่ดูหนังเรื่องนี้เชื่อแน่ว่า ต้องกลับไปทบทวนชีวิตที่ผ่านมาว่า เราเป็นลูกที่ดีของแม่แล้วหรือยัง ในชีวิตของเราทำให้แม่เสียใจไปกี่ครั้งแล้ว และอยากบอกกับแม่เช่นเดียวกับมาคุงว่า….แม่ครับขอบคุณที่เลี้ยงดูผมมา แม่ครับผมภูมิใจที่ได้เป็นลูกแม่ มีความสุขที่ได้กินข้าวฝีมือแม่ ได้พูดคุยกับแม่ …..และขอความรักของแม่คุ้มครองเรา ไปตลอดชีวิต




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2551    
Last Update : 17 ตุลาคม 2551 15:02:03 น.
Counter : 691 Pageviews.  

หยุดความรุนแรงในจิตใจ

The War
หยุดความรุนแรงในจิตใจ……

“War is like a big machine that no one really knows how to run and when it gets out of control, it ends up destroying the things you thought you were fighting for, and a lot of things you kinda forgot you had”
(คำพูดของลิเดียจากหนังเรื่อง The War)

ท่ามกลางความขัดแย้งของจุดยืนทางการเมือง ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต่างฝ่ายต่างโจมตี ใช้ถ้อยคำที่หยาบคายกล่าวหากัน โกรธ เกลียดชังว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู และหลายครั้งลุกลามถึงกับใช้กำลังเข้าห่ำหั้นกัน จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทย ที่ได้ชื่อว่า สยามเมืองยิ้ม ไม่น่าเชื่อว่าพฤติกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นจะเป็นการกระทำของคนไทยที่ได้ชื่อว่ามีน้ำจิตน้ำใจ โอบอ้อมอารี รัก ให้อภัย ให้โอกาสคนที่ทำผิดพลาด ดังคำพูดที่ติดปากคนไทยที่ว่า “ไม่เป็นไรๆ” ที่น่าเศร้าคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ต้องการผลประโยชน์ อำนาจทางการเมือง

สถานการณ์วุ่นวายในบ้านเมืองเราขณะนี้ ทำให้คิดถึงหนังดราม่าเรื่องหนึ่งที่แม้ไม่ได้โด่งดังมากมาย แต่ก็มีเนื้อหาสอนใจผู้คนได้อย่างดี โดยเฉพาะกับเด็กๆ เยาวชน ในเรื่องของการยืนหยัดในความรัก ความอดทน ปฎิเสธการต่อสู้โดยใช้กำลัง อาวุธและความรุนแรงทุกรูปแบบ และไม่เอาอย่างผู้ใหญ่บางคนที่มุ่งหวังแต่ชัยชนะของตน โดยไม่สนใจว่าวิธีการที่ได้มานั้น จะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรมหรือไม่….. หนังเรื่องนี้ชื่อสั้นๆ ว่า The War ออกฉายมาตั้งแต่ปี 1994 แต่เนื้อหาในหนังเป็นสิ่ง ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัย

หนังเป็นผลงานกำกับของ จอน แอฟเนท (ก่อนหน้านั้นสามปี เขาทำหนังส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย เรียกร้องให้ผู้ชายหยุดการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง ในหนังที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากเรื่อง Fried Green Tomatoes) เขียนบทโดย แคธีย์ แม็กวอร์เตอร์ ฉากหลังของหนังคือเมืองเล็กๆ ชื่อ จูเลียต, รัฐมิสซิสซิปปี้ ในช่วงซัมเมอร์ปี 1970 หนังเล่าเรื่องของครอบครัวซิมมอนส์ ที่จะต้องร่วมฝ่าความยากลำบากในชีวิตไปด้วยกัน เพราะหัวหน้าครอบครัวคือ สตีเฟ่น (เควิน คอสท์เนอร์) ที่สภาพจิตใจบอบช้ำจากการไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม ทั้งที่ก่อนไปเขาคิดว่าจะไปช่วยชีวิตคน แต่ทุกอย่างกลับเป็นตรงข้าม และต้องไปบำบัดด้านจิตในโรงพยาบาลมาแล้ว ทำให้ยากที่จะหางานทำ ภาระหนักจึงตกมาอยู่ที่ภรรยา หลุยส์ (แมร์ วินนิงแฮม) ที่ต้องทำงานหนักถึงสองเท่า แต่เธอก็ยังยืนเคียงข้างกับสามีเสมอ เพราะถือว่าเขาและเธอมิอาจตัดขาดแยกจากกันได้

ครอบครัวนี้มีลูกด้วยกันสองคน คือ ลิเดีย (เลซี่ แรนดอลล์) คนโตวัย 12 ปี เธอมีเพื่อนสนิทเป็นเด็กผู้หญิงผิวสี โดยที่ความแตกต่างของสีผิวไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อมิตรภาพแต่อย่างใด และพร้อมที่จะยืนเคียงข้างเพื่อนเสมอ เมื่อไม่ได้รับความอยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะจากการเหยียดผิวแม้แต่ในโรงเรียนสถานที่ที่ควรจะสอนแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม ส่วนน้องชายชื่อ สตู (เอลีจาห์ วู้ด) นอกจากความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากแล้ว หลายครั้งสตูยังถูกเด็กเกเร ตระกูลลิพนิคกี้ กลั่นแกล้ง หรือแม้กระทั่งทำร้ายร่างกาย แต่ทั้งสองพี่น้องและเพื่อนๆ ของพวกเขา ก็ได้ค้นพบสถานที่ที่จะลืมความเศร้าหมองไปได้ บนต้นโอ้คใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ที่พวกเขาช่วยกันสร้างบ้านเล็กๆ บนนั้น โดยเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงจัดสรรแบ่งเวลากันมาพักผิงที่นี่

หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลส่งเสริมสันติภาพดีเด่นในปีที่ออกฉาย จากสมาคมที่ชื่อว่า Political Film Society เพราะนอกจากจะต่อต้านสงครามโดยให้เห็นความโหดร้ายของสงครามเวียดนามจากชีวิตของสตีเฟ่น เขายังคงฝันร้ายอยู่เสมอที่ไม่สามารถพาเพื่อนรักขึ้นฮอลิคอปเตอร์ออกมาจากสมรภูมิรบได้ เมื่อผ่านความเลวร้าย ความรุนแรง ของสงคราม เขาจึงพร่ำสอนลูกๆ ให้อดทน ใช้สันติวิธี เพราะสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตคนเราก็คือความรัก หาใช่ความเกลียดชังไม่ และสอนให้ลูกคิดก่อนทำเสมอ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง และไม่ได้สอนอย่างเดียว แต่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เขาหยิบยื่นขนมหวานให้เด็กตระกูลลิพนิคกี้ แม้จะรู้ดีว่าเด็กพวกนี้ชอบรังแกลูกของตัวเอง เพราะสงสารที่เด็กเหล่านี้ขาดคนเหลียวแล …..

The War มีเพลงประกอบไพเราะอยู่หลายเพลง และส่วนใหญ่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาต่อต้านสงคราม เรียกร้องให้เกิดสันติภาพ ด้วยการเปิดเรื่องด้วยเพลง Who’ll stop the rain เพลงจังหวะสนุกๆ ของวงร็อกชื่อดังยุค’70 c.c.r. ที่ย่อมาจาก Creedence Clearwater Revival เป็นเพลงที่ตั้งคำถามว่าแล้วใครจะหยุดสงครามเวียดนาม เนื้อความตอนหนึ่งของเพลงนี้ที่เขียนโดย จอห์น ซี.โฟการ์ตี้ บรรยายไว้ว่า …..The crowd had rushed together, trying to keep warm. Still the rain kept pourin’, fallin’ in my ears, and I wonder, still I wonder who’ll stop the rain ……

อีกเพลงหนึ่งในหนังที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะชักชวนคนไทยทุกคนให้ร่วมกันขึ้นรถไฟขบวนแห่งสันติภาพ สันติสุขไปด้วยกัน เป็นเพลงตอนขึ้นเครดิตท้ายเรื่อง ชื่อว่า Peace Train ของ แคท สตีเว่นส์ …. Why must we go hating ? Why can’t we live in bliss? For out on the edge of darkness. There rides the peace train. Peace train take this country. Come take me home again ….




 

Create Date : 17 กันยายน 2551    
Last Update : 17 กันยายน 2551 14:13:30 น.
Counter : 515 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

minkitti
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add minkitti's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.