Group Blog
 
All Blogs
 
ความรัก.... ความหวัง ....


ความรัก... ความหวัง ...
ในชีวิตที่เดินหน้าต่อไป

ช่วงที่โรงภาพยนตร์ไม่ค่อยมีหนังดึงดูดใจให้เข้าไปชมเท่าไรนัก ทำให้มีโอกาสตามดูหนังหลายเรื่องที่พลาดไปตอนเข้าฉาย ไม่ว่าจะเป็นหนังแอกชั่นที่ทำได้สนุกทั้งสองเรื่องคือ Tranformers ว่าเป็นหนังของ ไมเคิล เบย์ สนุกที่สุดตั้งแต่ทำเรื่อง Bad Boys (1995) แค่ดูบรรดาหุ่นทั้งหลาย แปรสภาพเป็นยวดยานพาหนะต่างๆ ก็เพลินแล้ว อีกเรื่องคือ Die Hard 4.0 ของผู้กำกับ เลน ไวส์แมน ที่แม้ยังไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังแต่ก็เล่าเรื่องของฮีโร่อนาล็อก – จอห์น แม็คเคน (บรูซ วิลสิส) ผู้นี้ ออกมาได้สนุก ตื่นเต้น มีอารมณ์ขันเช่นเคย

หนังไทยอีกเรื่องที่พลาดไปคือ ไชยา ผลงานกำกับของ ก้องเกียรติ
โขมศิริ (ร่วมกำกับ ร่วมเขียนบทหนังเรื่อง ลองของ และเขียนบท เป็นชู้กับผี) แม้หนังจะมีความรุนแรงค่อนข้างมาก เพราะเป็นเรื่องของวงการหมัดมวย รวมทั้งเบื้องหลังที่มีการจ้างล้มมวยโดยนักเลงทั้งหลาย แต่หนังเองมีงานสร้างที่โดดเด่น ทั้งฉากพีเรียตย้อนยุค การให้ตัวละครพูดสำเนียงใต้ทั้งเรื่อง งานด้านภาพ การลำดับภาพเพื่อสื่อความหมาย รวมไปถีงภาพสะท้อน ความใฝ่ฝันของเด็กจากต่างจังหวัด มาสร้างฝันให้เป็นจริงในเมืองกรุง

แต่เส้นทางของพวกเขาแตกต่างกันไป ตามแต่อุปนิสัยใจคอ สภาพแวดล้อม และการตัดสินใจของตัวเอง รวมไปถึงปัญหาความรักที่เพื่อนสนิทมาชอบผู้หญิงคนเดียวกัน อย่างไรก็ตามเพื่อนนรักทั้งสามคน เผ่า เปี๊ยก และ สะหม้อ ไม่เคยลืมเลือนมิตรภาพที่บ้านเกิด พวกเขายังรักกัน ตายแทนกันได้ และยังคิดถึงปักษ์ใต้บ้านของพวกเขาเสมอ ....

หนังไทยแนวดราม่าที่ประสบความสำเร็จทั้งกระแสตอบรับและคำชื่นชมคือเรื่อง รักแห่งสยาม ผลงานกำกับและเขียนบทของ มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (คน ผี ปีศาจ,หนังสั้น 12 และ หนัง 13 เกมสยอง และร่วมเขียนบท บอดี้ ศพ 19) แม้โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือหนังตัวอย่างจะชวนให้คิดไปว่าเป็นหนังรักวัยรุ่นใสๆ วัยมัธยม จนรุ่นผมที่เลยช่วงเวลานั้นมานานตอนแรกลังเลเหมือนกันที่จะตีตั๋วเข้าไปดู และหนังเรื่องนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะนี่ไม่ใช่หนังที่พูดถึงความขัดแย้ง ความผิดหวังในความรักของวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่อง มิตรภาพระหว่างเพื่อน สิ่งที่หนังนำเสนอได้น่าสนใจคือ ปัญหาความล้มเหลวในการสื่อสารที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างก็รู้กันดีว่ารักกันมากแค่ไหน แต่บางครั้งความรักที่มากเกินไปอาจทำร้ายกันได้ รวมไปถึงความสับสนในเรื่องเพศที่ต้องค่อยๆ ค้นพบตัวเอง

หนังเปิดเรื่องได้น่าสนใจตั้งแต่ชีวิตวัยเยาว์ของเพื่อนสนิท มิว (อาทิตย์ นิยมกุล) และ โต้ง ( จิรายุ ละอองมณี) บ้านอยู่ตรงข้ามกัน และเรียนในโรงเรียนเดียวกันคือ เซนต์นิโคลัส หนังนำเสนอครอบครัวของมิวไม่ละเอียดนัก เราไม่ได้ยินแม้แต่คำพูดของพ่อแม่มิว แต่หนังแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์ระหว่างมิวกับ อาม่า (รับบทโดยนักแสดงมากฝีมือ พิมพ์พรรณ บูรณพิมพ์ ลูกสาวของ คุณสุพรรณ บูรณพิมพ์) ที่เรียกมิวว่าเพื่อน อาม่าเข้าใจในตัวเขา และปลูกฝังให้รักในดนตรี จากคำบอกเล่าของอาม่า อากงที่จากโลกไปแล้วเล่นเปียโนไพเราะมาก อาม่าสอนให้มิวเล่นเปียโนเป็นตั้งแต่เด็ก

ครอบครัวที่อยู่ตรงข้ามกันคือ โต้ง มีพี่สาวคือ แตง ( พลอย – เฌอมาลย์ บุญศักดิ์ ) เป็นครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้า พ่อ ชื่อ กร ( กบ – ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) และแม่คือ สุนีย์ รับบทโดย นก – สินจัย เปล่งพานิช ( หงษ์ไทย) กับการแสดงระดับยอดฝีมืออีกครั้ง หลังจากไม่ได้เล่นหนังไทยมานาน ที่แสดงในสุริโยไทก็ไม่ค่อยมีบทมากนัก และด้วยฉากแรกที่ครอบครัวสวดก่อนกินข้าวด้วยบท “พระสวามีเจ้าข้า โปรดอวยพรแก่ข้าพเจ้า ......” ทำให้ทราบทันทีว่าครอบครัวของโต้งเป็นคาทอลิก

ในคืนวันที่ 24 ธันวาคม ทั้งคู่ได้เล่นละครการบังเกิดของพระกุมารด้วยกันที่โรงเรียน อาม่ามาดูมิวแสดง และถ่ายภาพมิวคู่โต้ง แต่คืนแห่งความชื่นชมยินดีในปีนั้น กลับเป็นเวลาแห่งความเศร้าโศกของครอบครัวโต้ง เมื่อได้ทราบว่าแตงที่ไปเที่ยวเชียงใหม่ด้วยกันทั้งครอบครัวแต่ขออยู่เที่ยวกับเพื่อนต่อ แต่เธอหลงป่าแล้วหายสาบสูญ การต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักย่อมเป็นสิ่งที่ทำใจยากยิ่ง โดยฉพาะเมื่อคนนั้นเป็นสมาชิกในครอบครัว ครอบครัวของโต้งตัดสินใจย้ายบ้านไปเริ่มชีวิตใหม่ เพื่อคิดถึงแตงให้น้อยลง ขณะที่สุนีย์ต้องเข้มแข็งเพื่อประคับประคองครอบครัวให้ดำเนินต่อไป แต่กรทำใจไม่ได้ยังจมอยู่ในความทุกข์โศก หันไปพึ่งพิงขวดเหล้า

เมื่อ มิว (พิช - วิชญ์วิสิฐ หิรัญวรกุล) และ โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) เติบใหญ่เข้าสู่วัยเรียนมัธยมปลาย ทั้งคู่พบกันอีกครั้งเมื่อโต้งมาถามหาซื้อซีดีเพลงของวง “ออกัส” ที่ร้าน ดี.เจ.สยาม ในช่วงที่มิวและเพื่อนมาเช็กยอดขายพอดี มิวเป็นคนแต่งเพลงและร้องนำของวง มิตรภาพของทั้งคู่สานต่อกันอีกครั้ง โดยโต้งเองกำลังมีปัญหากับแฟน โดนัท (อธิชา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์ ) สาวสวยเลือกได้เอาแต่ใจ ส่วนมิวก็มี หญิง (กัญญา รัตนเพชร ) เด็กสาวที่ครอบครัวของเธอย้ายมาอยู่บ้านเดิมของโต้งแอบชอบ แต่เขาเองไม่รับรู้เท่าไรนัก เพราะให้ความสนใจกับการแต่งเพลงรักที่ได้รับโจทย์มาจากทางค่ายเพลงอินดี้

แม้ชื่อหนังคือรักแห่งสยาม และหลายฉากในหนังมีสยามสแควร์ แหล่งศูนย์กลางของวัยรุ่นเป็นฉากหลัง แต่เรื่องเล่าในหนังไม่ใช่แค่เรื่องรักของวัยรุ่นเท่านั้น เพราะสิ่งที่หนังให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือความรักในครอบครัว ความเปลี่ยวเหงาเดียวดายในชีวิตของวัยรุ่นสังคมเมืองหลวง มิวระบายให้โต้งฟังว่าเป็นความรู้สึกที่แย่มาก แต่เขามีทางออกด้วยการแต่งเพลง เล่นดนตรี ซ้อมเพลงกับเพื่อน ส่วนครอบครัวของโต้ง เมื่อต้องสูญเสียลูกสาวไป กรถึงกับหมดความเชื่อในพระเจ้า เขาบอกโต้งว่าไม่ต้องสวดก่อนกินข้าวแล้ว เพราะเหลือลูกเพียงคนเดียวทำให้สุนีย์ทุ่มเททุกอย่างเพื่อเขา แต่แม่ลูกคู่นี้ก็ไม่ค่อยได้สื่อสารกันเท่าไรนัก พ่อก็ไม่ใช่แบบอย่างที่ดี แม่ก็เหน็ดเหนื่อยกับการหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลพ่อ นอกจากนี้ยังมีความรักแบบพี่สาวของแตง/จูน

รวมไปถึงความรักระหว่างผองเพื่อน ทั้งมิวกับเอ็กซ์ (ชานน ริกุลสุรกาน) มือกีต้าร์วงออกัสที่อาจจะเข้าใจผิดกันบ้างแต่พร้อมจะปรับความเข้าใจกัน เพื่อนๆ ของโต้งและหญิงที่ห่วงใยเขา และตัวละครอย่างหญิงเองก็แสดงให้เห็นว่าผู้ชายกับผู้หญิงก่อเกิดมิตรภาพที่ดีต่อกันได้โดยไม่ต้องเป็นแฟนกัน

ความหลากหลายแห่งรักในหนังเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็น โดยมีวันคริสต์มาสเป็นแกนหลักของหนัง คริสต์ศาสนาแม้เกิดในเอเชีย แต่ไปเติบโตในยุโรปและเข้ามาเผยแพร่โดยมิสชันนารีชาวฝรั่ง แม้จำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศไทยจะไม่มากนัก แต่โรงเรียนที่ดำเนินงานโดยมิสชันนารีก็หยั่งรากลึกในสังคมไทย ในหนังเรื่องนี้มีโรงเรียนคาทอลิก ตั้งชื่อว่า เซนต์นิโคลัส ซึ่งคริสตชนทุกคนรู้ดีว่าท่านก็คือซานตาคลอส บรรยากาศของวันคริสต์มาสเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้วอย่างกลมกลืน แม้บางคนอาจะไม่เข้าใจความหมายเท่าไรนัก นอกจากวัฒนธรรมตะวันตกในหนัง เรายังได้เห็นวัฒนธรรมจีนในครอบครัวของหญิง และได้พบความหมายดีๆ ในเพลงจีนที่บอกว่า ตราบใดที่มีความรักย่อมมีความหวัง

บทเพลง เสียงดนตรี เป็นส่วนสำคัญในหนังเช่นกัน เราได้ฟังเพลงเพราะๆ หลายเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลง “กันและกัน” ที่มิวแต่งให้โต้ง เพลง “รู้สึกบ้างไหม” “ เพียงเธอ” รวมไปถึง“คืนอันเป็นนิรันดร์” เพลงความหมายดีๆ ให้กำลังใจกับชีวิต ขับร้องโดยน้องเพชร -- ภาสกร วิรุฬห์ทรัพย์ นักเรียนอัสสัมชัญ นักร้องยุวชนยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทยปี 2549 โดยมะเดี่ยวผู้กำกับหนังเรื่องนี้แต่งคำร้อง/ทำนอง/เรียบเรียง ......ท่อนหนึ่งของเพลงบอกกับเราว่า “....เมื่อทุกข์ในวันเมื่อวานคืนกลับมาหาใจอันอ่อนแอ เหตุที่ใจแพ้ เพราะเราต่างหากที่แพ้ใจ ความทุกข์จึงเป็นกลางคืนอันยาวนานแต่แล้วมันจะผ่านไป ตราบใดเวลายังหมุนผ่าน ความทุกข์จะผ่าน เพราะไม่มีคืนใดเป็นนิรันดร์.....”

ท่ามกลางหนังไทยตลอดปี 2550 ที่ตลาดยังเต็มไปด้วย หนังผี หนังตลก และหนังกระเทย รักแห่งสยามจึงเป็นหนังไทยที่ควรค่าแห่งการจดจำ เช่นที่เราเคยมีหนังไทยนำเสนอปัญหาครอบครัว และเด็กๆ ได้อย่างลึกซึ้งคมคาย ไม่บีบคั้นอารมณ์มากเกินไป เช่นใน “กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้” (2537) หรือหนังดรามา คอเมดี้ ในวัยเรียน วัยแสวงหา เรียนรู้ค่อยๆ เติบโตใน “อนึ่งคิดถึงพอสังเขป” (2535) ทั้งสองเรื่องเป็นผลงานของ บัณฑิต ฤทธิกล



Create Date : 09 มกราคม 2551
Last Update : 11 มกราคม 2551 10:07:57 น. 0 comments
Counter : 487 Pageviews.

minkitti
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add minkitti's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.