Group Blog
 
All Blogs
 
ความสงสัย และ ความเชื่อ

Doubt อีกผลงานเด่นเรื่องหนึ่งของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบทหนังและการแสดง ด้วยเหตุที่นักแสดงนำและสมทบของหนังได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสก้าร์ถึงสี่คนด้วยกัน คือ ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน สาขานักแสดงสมทบชาย ในบท คุณพ่อเบรนแดน ฟลินน์ และนักแสดงหญิงได้เข้าชิงออสก้าร์ถึงสามคน ในสาขานักแสดงนำหญิงจากการสวมบทเป็น ซิสเตอร์อลอยเซียส ของ เมอรีล สตรีพ สาขานักแสดงสมทบหญิงเข้าชิงถึงสองคนคือ เอมี อดัมส์ ในบท ซิสเตอร์เจมส์ และ คุณแม่ที่ปกป้องลูก – มิสมิลเลอร์ ของ ไวโอล่า เดวีส (แม้บทพูดของเธอมีเพียงฉากเดียวที่กินเวลาประมาณ 11 นาทีเท่านั้น)

ใน Doubt จอห์น แพทริค แชนลีย์ (กำกับ-เขียนบท Joe Versus the Volcano และเขียนบท Congo) รับหน้าที่ทั้งกำกับและเขียนบทจากบทละครของเขาเอง เรื่องที่นำมาเล่าได้แรงบันดาลใจจากชีวิตวัยเยาว์ของเขา โดยเฉพาะความประทับใจ ซิสเตอร์มาร์กาเร็ต เจมส์ ที่สอนเขาตอนชั้นอนุบาล จนเป็นที่มาของซิสเตอร์เจมส์ที่ใสซื่อบริสุทธิ์อุทิศตัวเพื่อเด็กๆ ในหนัง ช่วงเวลาของหนังคือปี 1964 หนึ่งปีหลังจากประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี้ถูกลอบสังหาร (ท่านถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พ.ย.1963 ที่เมืองดัลลัส) ฉากเกือบทั้งหมดในหนังเกิดขึ้นที่วัดและโรงเรียนเซนต์นิโคลัส ในเขต Bronx กรุงนิวยอร์ก เป็นย่านชุมชนคาทอลิก ไอริชและอิตาเลี่ยน โดยหนังนำเสนอความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคุณพ่อกับซิสเตอร์

ซิสเตอร์อลอยเซียส ครูใหญ่ของโรงเรียนเป็นตัวแทนของโลกเก่า อนุรักษ์สุดขั้ว ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ เด็กในโรงเรียนต้องอยู่ในระเบียบวินัยตลอดเวลา เธอปฏิเสธโลกสมัยใหม่ทุกอย่าง เช่นไม่ให้เด็กใช้ปากกาลูกลื่น ไม่อนุญาตให้มีเรื่อง “สโนว์แมน” ในละครคริสต์มาสของโรงเรียน เมื่อคุณพ่อฟลินน์มาประจำที่วัดเซนต์นิโคลัส เขาเป็นตัวแทนของพระสงฆ์รุ่นใหม่ เน้นการปฏิรูปศาสนา มีบทเทศน์ที่ไม่น่าเบื่อ อธิบายง่ายๆ แต่ลึกซึ้งเข้าถึงจิตใจของสัตบุรุษและนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ เป็นเพื่อนพูดคุยเป็นกันเองกับเด็กช่วยมิสซาและนักเรียนทุกคน ทั้งยังสอนบาสเกตบอลในชั่วโมงพละด้วย เมื่ออยู่บนโต๊ะอาหารกับพี่น้องพระสงฆ์ก็พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน คุณพ่อฟลินน์เป็นเสมือนตัวแทนของสังคายนาวาติกันที่สอง ที่พระศาสจักรหันกลับมาทบทวนตัวเองหลายอย่าง และนำเสนอความคิดที่ก้าวหน้าและใจกว้างมากขึ้น โดยเริ่มต้นประชุมสมัยแรกโดย พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 เป็นประธาน เมื่อปี 1962 และมาประชุมสมัยที่สี่ ช่วงสุดท้ายโดยพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ในปี 1965

เหตุแห่งความขัดแย้งเริ่มจากโรงเรียนรับนักเรียนแอฟริกันอเมริกันเข้ามาเรียนเป็นคนแรก เขาชื่อ โดนัลด์ มิลเลอร์ (โจเซฟ ฟอสเตอร์) และเป็นเด็กช่วยมิสซาด้วย โดนัลด์บอกกับพ่อฟลินน์ว่าโตขึ้นเขาอยากเป็นพระสงฆ์เหมือนพ่อ ที่โรงเรียนเมื่อโดนเพื่อนแกล้งพ่อฟลินน์ก็ปลอบโยนให้กำลังใจ ส่วนซิสเตอร์อลอยเซียสที่มีอคติกับพ่อฟลินน์อยู่แล้ว สั่งให้ซิสเตอร์เจมส์ที่สอนห้องของโดนัลด์คอยจับตาคุณพ่อ จนวันหนึ่งคุณพ่อเรียกโดนัลด์เข้าไปหาที่ห้องทำงาน และซิสเตอร์เจมส์เห็นพ่อฟลินน์นำเสื้อยืดของโดนัลด์มาให้เขาที่ล็อกเกอร์ โดยบอกว่าเขาลืมไว้ ซิสเตอร์เจมส์รายงานเรื่องนี้กับซิสเตอร์อลอยเซียส เธอมั่นใจทันทีว่าพ่อฟลินน์ทำมิดีมิร้ายกับโดนัลด์ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานหรือพยานใดๆ ทั้งสิ้น เธอพยายามทุกอย่างเพื่อกดดันให้พ่อฟลินน์ต้องย้ายออกไป

ตัวละครและฉากในหนังมีไม่มาก จึงเปิดโอกาสให้นักแสดงได้ปล่อยฝีมืออย่างเต็มที่ในบทที่มีมิติ ทั้งคู่ขัดแย้งที่ฝีมือไม่หนีกันระหว่าง สตรีพ และ ฮอฟฟ์แมน ต่างก็เคยคว้าออสก้าร์มาแล้วด้วยกันทั้งคู่ แม้บทซิสเตอร์อลอยเซียสของเธอเหมือนเป็นผู้ร้ายในหนัง ทั้งวิธีที่เธอปฏิบัติกับนักเรียน เป็นคนที่มีกฎเกณฑ์ตายตัวและยึดมั่นในความคิดของตัวเอง แต่เราต้องเข้าใจว่า ในช่วงเวลานั้นสถานะของนักบวชหญิงมิได้เท่าเทียมกับพระสงฆ์แต่อย่างใด ซิสเตอร์ที่กล้าโต้เถียงกับคุณพ่ออย่างเธอคงมีไม่มาก นอกจากด้านที่ไม่น่าอภิรมย์ เรายังเห็นความเอาใจใส่เอื้ออาทรต่อซิสเตอร์ที่สูงวัยของเธอ และประสบการณ์ในการดูแลนักเรียนหลายอย่างที่ถ่ายทอดให้กับซิสเตอร์เจมส์ที่ยังค่อนข้างอ่อนต่อโลก นับว่ามีประโยชน์มากในการสอน

ขณะที่คุณพ่อฟลินน์เป็นบุคคลที่น่าชื่นชม ในความเอาใจใส่และความรักที่มีต่อเด็กๆ เป็นพ่อที่ไม่ถือตัวพยายามทำให้ศาสนาเป็นมิตร พระสงฆ์เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวของสัตบุรุษ แต่หนังปล่อยให้เรายัง “สงสัย” ต่อไปเช่นเดียวกับชื่อเรื่องว่า คุณพ่อทำผิดตามข้อกล่าวหาของซิสเตอร์อลอยเซียสหรือไม่ เพราะบุคคลเดียวที่ผู้กำกับหนังเรื่องนี้บอกให้รู้ว่าพ่อฟลินน์ทำผิดหรือไม่ก็คือฮอฟฟ์แมนคนที่แสดงเป็นพ่อฟลินน์เพียงคนเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตามหนังมีบทสอนใจที่ดีมากในเรื่องของการกล่าวโทษผู้อื่น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานหรือพยานยืนยันแต่อย่างใด การทำเช่นนั้นก็คือการใส่ความนินทาผู้อื่น ที่พ่อเปรียบเอาไว้ว่าเหมือนกับขึ้นไปบนหลังคา กรีดหมอนให้ขนนกข้างในปลิวว่อนไปในอากาศทุกทิศทาง เราไม่มีทางที่จะเก็บขนนกกลับคืนมาได้หมด

เก่า-ใหม่, อนุรักษ์-ปฏิรูป, คงไว้อย่างเดิม-ต้องการเปลี่ยนแปลง, ทางธรรม-ทางโลก ล้วนเป็นคู่ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ไม่เว้นในแวดวงศาสนา ขึ้นอยู่กับว่าจะหาจุดร่วม จุดลงตัวได้มากน้อยเพียงใด โดยที่ไม่จำเป็นต้องเกลียดชัง เป็นคัตรู จ้องจับผิดกัน แล้วใช้ชีวิตตามจิตตารมณ์แห่งความรัก เห็นมนุษย์ทุกคนแม้จะแตกต่างกับเรา เป็นพ่อ แม่ พี่น้อง ผองเพื่อนของเรา….



Create Date : 17 เมษายน 2552
Last Update : 17 เมษายน 2552 11:45:44 น. 2 comments
Counter : 677 Pageviews.

 
เราชอบนะ เหมาะกับการเมือง(ไทย)มาก


โดย: Ghoeby วันที่: 19 เมษายน 2552 เวลา:17:58:22 น.  

 
ชอบจังเลยพี่ เขียนได้ดีจัง แวะมาอ่าน ...
ชอบอ่ะ เขียนแบบนี้อีกเรื่อยๆก้อดีนะ
ให้ข้อคิดกับแวดวงพระศาสนจักรเราดี

อิอิ ตามมาเป็นกำลังใจให้พี่เขียนข้อคิดดีดี จากหนังนะ...


โดย: นู๋แอ๊ป IP: 119.31.102.114 วันที่: 20 เมษายน 2552 เวลา:2:22:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

minkitti
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add minkitti's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.