Group Blog
 
All Blogs
 
Lourdes ------- พิการทางกาย หรือพิกลทางใจ


Lourdes
พิการทางกาย หรือพิกลทางใจ

ผมเชื่อว่าคริสตชนไทยคุ้นเคยหรือมีความศรัทธากับ “แม่พระเมืองลูร์ด” มากทีเดียว ดูได้จากแทบทุกสังฆมณฑลจะต้องมีวัดที่ตั้งชื่อโดยให้เกียรติกับแม่พระเมืองลูร์ด ในกรุงเทพฯ ก็มีวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ดหรือวัดบางสะแก สังฆมณฑลจันทบุรีมี วัดแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เป็นวัดเล็กๆ น่ารักติดริมน้ำ ผมเคยไปค้างที่บ้านคุณพ่อหนึ่งคืน ตอนที่ไปสัมภาษณ์เรื่องราววัดนี้ และได้รับคำบอกเล่าจากคุณครูที่โรงเรียนว่า ผู้ปกครองเด็กที่แม้ไม่ได้เป็นคาทอลิก ก็มีความศรัทธาต่อแม่พระมากเช่นกัน และมีวัดแม่พระเมืองลูร์ดที่บางแสนติดกับมหาวิทยาลัยบูรพา ส่วนวัดที่แม้จะไม่ได้ชื่อเกี่ยวกับแม่พระ แต่แทบทุกวัดก็มักจะสร้างถ้ำแม่พระไว้คู่กับวัดด้วย ถ้าความเข้าใจของผมไม่ผิด ถ้ำแม่พระเกี่ยวข้องโดยตรงกับแม่พระเมืองลูร์ด เพราะตามประวัติในปี 1858 ที่แม่พระประจักษ์มาหลายครั้งต่อหน้าเด็กหญิงชาวบ้านฐานะยากจน ที่ไม่มีแม้แต่บ้านของตนเองคือ นักบุญแบร์นาแด๊ต

ชีวิตในวัยเยาว์ของผมอยู่ที่บ้านพักครู ติดกับกำแพงวัดนักบุญยอแซฟ ตรอกจันทน์ มีเพียงถนนเล็กๆ กั้นกลาง เวลาอยู่บ้านอากาศร้อน และสมาชิกในบ้านก็มีกันหลายคน จะเล่นซุกซนตามประสาเด็กๆ ก็ไม่ถนัด ว่างเมื่อไรผมต้องตรงดิ่งไปยังวัดตรอกจันทน์ ที่มีมุมสงบร่มเย็นให้เราได้อ่านหนังสือ ทำการบ้าน วิ่งเล่นเตะบอล เล่นโป้งแปะกับเพื่อนๆ หรือถ้าทางวัดมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะช่วยได้ พวกเราก็เต็มใจทำอย่างมีความสุข และที่หน้าถ้ำแม่พระ (จะเรียกว่าถ้ำก็ไม่น่าจะใช่ แต่เป็นหินก่อปูนและมีความคดโค้งพอสมควร และมีรูปแม่พระตั้งไว้ด้านหน้า ซึ่งผมว่าก็เหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเราและไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการสร้างสูง) เป็นอีกมุมโปรดของผมเพราะร่มรื่นมาก ข้างหน้ามีสนามหญ้าเขียวขจี ข้างๆ ถ้ำมีต้นไผ่แผ่ขยายกิ่งก้านให้ความร่มเย็น ส่วนด้านหลังถ้ำเป็นเรือนเพาะชำต้นไม้นานาชนิดของวัด ซึ่งพวกเราเยาวชนของวัดก็มีส่วนช่วยสร้างและดูแลเรือนเพาะชำด้วย และในวันส่งท้ายปีเก่าจะมีธรรมเนียมที่จะมีมิสซาสุขสำราญครอบครัวศักดิ์สิทธิ์กันหน้าถ้ำแม่พระ โดยที่แต่ละครอบครัวนำอาหารมาเลี้ยงกันครอบครัวละหนึ่งอย่าง และหลายคนมักจะมาสวดภาวนาหน้าถ้ำแม่พระ ชีวิตคริสตังค์กับถ้ำแม่พระคือความผูกพันอันงดงาม

ไม่ทราบเหมือนกันว่าธรรมเนียมการสร้างถ้ำแม่พระในเมืองไทยเริ่มครั้งแรกที่วัดไหน แต่ผมคิดเล่นๆว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับคุณพ่อมิสชันนารีชาวฝรั่งเศสไม่มากก็น้อย ซึ่งคริสตังค์ในวัย 30 ปี ขึ้นไปย่อมคุ้นเคยกับคุณพ่อฝรั่งเหล่านี้ดี เพราะท่านเหล่านั้นประจำอยู่ที่วัดคาทอลิกหลายแห่ง และทุกคนรักท่านในการอุทิศตนเพื่อสัตบุรุษ รวมทั้งผู้ไม่ได้เป็นคริสต์ การใช้ชีวิตเรียบง่ายและเข้ากับวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดีของท่าน คุณพ่อฝรั่งเศสท่านแรกที่ผมรู้จักคือ คุณพ่อยวง มารีย์ เวียนเนย์ บากอง ท่านเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างวัดตรอกจันทน์ และเป็นเจ้าอาวาสคนแรกตอนที่สร้างวัดเสร็จ ตอนที่ผมเป็นเด็กท่านเกษียณแล้วแต่ยังพักประจำที่วัดตรอกจันทน์ ผมดีใจที่มีโอกาสครั้ง สองครั้งได้ช่วยมิสซาตอนเช้าที่คุณพ่อบากองทำ จำได้ว่าท่านต้องใช้แว่นขยายในการอ่านบทประจำมิสซา โตขึ้นมาก็ได้ยินเสียงร่ำลือว่า สมัยที่พ่อบากองยังขี่จักรยานไหวอยู่นั้น มีคนชอบมาขโมยจักรยานคุณพ่อบ่อยๆ แต่คุณพ่อก็ไม่เคยถือโกรธเลย ส่วนความใจดีของท่านที่ผมประสบด้วยตัวเองคือ ช่วงบ่ายๆ ท่านจะลงมาวานให้เด็กๆ อย่างพวกเราที่วิ่งเล่นอยู่ที่วัดไปซื้อเบียร์สิงห์หนึ่งขวดกับน้ำแข็งเปล่าหนึ่งถุง และทุกครั้งท่านจะยกเงิน 3-4 บาท ซึ่งเป็นตังค์ทอนให้เสมอ เงินหนึ่งบาทสมัยนั้นก็มีค่าไม่น้อยเพราะก๋วยเตี๋ยวก็ราคาแค่ 5 บาท .....

หนังเรื่อง Lourdes พาเราไปยังจุดกำเนิดของแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส บริเวณเทือกเขาพีรีนิส ใกล้กับพรมแดนประเทศสเปน ผลงานของผู้กำกับ เจสสิก้า เฮาส์เนอร์ ชาวออสเตรีย เจ้าของผลงานเรื่อง Hotel หนังพาเราไปรู้จักนักแสวงบุญกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีทั้งคนปกติ คนพิการและอาสาสมัครชาย หญิงช่วยดูแล โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ คริสตีน (รับบทโดยนักแสดงฝรั่งเศส Sylvie Testud ที่แสดงได้ดีมาก) เป็นสาวที่พิการเป็นอัมพาต ต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นตลอดเวลา แม้แต่จะกินข้าวเองก็ทำไม่ได้ หนังค่อยๆ บอกกับเราว่า ครีสตีนไม่ได้ปรารถนาแรงกล้าที่จะมาที่นี่ แต่การมาที่ลูร์ดก็ดีกว่านั่งอยู่บนรถเข็นให้เวลาหมดไปวันๆ เมื่ออาสาสมัครคนหนึ่งถามเธอว่าชอบที่นี่ไหม เธอตอบว่าชอบที่โรมมากกว่าเพราะมีแหล่งที่เป็นวัฒนธรรมมากกว่า และคนไม่มากเหมือนที่นี่

นักแสวงบุญกลุ่มนี้ได้สะท้อนความเป็นมนุษย์ออกมาให้เราได้เห็น แม้จะอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใกล้แม่พระเช่นนี้แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ในบรรยากาศเปี่ยมศรัทธา หรือมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่หัวหน้าอาสาสมัครผู้หญิงที่ดูขึงขังจริงจัง และพร้อมที่จะตำหนิเมื่อไม่พอใจ มาเรีย อาสาสมัครหญิงสาวมีหน้าที่ดูแลคริสตีน เธอบอกว่าสุขใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ แต่ก็เฝ้าคิดถึงแต่การเล่นสกี และไม่ลังเลที่จะไปหาชายหนุ่ม โดยปล่อยคริสตีนไว้บนรถเข็น หรือคุณป้าช่างนินทาสองคนที่ยุ่งเรื่องคนอื่นตลอดเวลา จนไม่รู้ว่าจะมีเวลาสวดภาวนาหรือคิดถึงพระหรือไม่ แม้แต่บาทหลวงเมื่อเกิดเหตุปาฏิหาริย์ขึ้นกับคริสตีนเขาก็ขอเป็นคนแรกที่ได้หน้าได้ตา หรือกล้องมักถ่ายให้เราเห็นร้านขายของที่ระลึกของลูร์ดอยู่บ่อยๆ สะท้อนถึงศาสนากับการค้าขายที่แยกกันไม่ออก มีแต่เพียงคุณป้ารูมเมทของคริสตีนที่นำคำสอนของศาสนามาสู่ภาคปฏิบัติมากที่สุด เพราะเธอคอยช่วยเหลือคริสตีนทุกครั้งที่ไม่มีใครดูแล

หนังไม่ได้ตัดสินถูก ผิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่เมืองลูร์ด เช่นเดียวกับที่แสดงให้เห็นว่าอัศจรรย์การหายจากโรคร้ายหรือความพิการเกิดขึ้นได้แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน และบางคนก็ไม่ได้หายอย่างถาวร แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยบรรเทาใจผู้ทุกข์ทนที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศก็คือบรรยากาศของความศรัทธารวมหมู่ของมวลชน ร่วมใจกันในมิสซาหน้าถ้ำแม่พระ การอวยพรศีลมหาสนิท การสวด “วันทามารีอา” ในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะอาสาสมัครต้องสวดให้กับผู้พิการก่อนนอนทุกครั้ง แต่ความพิกลพิการในจิตใจมนุษย์นั้น จะอาศัยพระพรของพระเจ้าหรือการสวดอ้อนวอนแม่พระอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องอาศัยความเข้มแข็งในจิตใจของเรามนุษย์ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง กลับใจ ทำความสะอาดจิตใจอยู่เสมอๆ ทุกๆ วัน เช่นนั้นแล้วน้ำจากเมืองลูร์ดก็จะไม่ได้รักษาเฉพาะโรคทางร่างกาย แต่มีผลต่อโรคร้ายในวิญญาณของเราด้วย .







Create Date : 15 สิงหาคม 2554
Last Update : 15 สิงหาคม 2554 12:13:47 น. 0 comments
Counter : 722 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

minkitti
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add minkitti's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.