พระพุทธศาสนา
Group Blog
 
All Blogs
 
ผู้ไม่หลงเอาสิ่งอื่นมาเป็นแก่น

ผู้ไม่หลงเอาสิ่งอื่นมาเป็นแก่น
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ กุลบุตรบางคน มีศรัทธา ออกบวชจากเรือนไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน เพราะคิดเห็นว่า “เราถูกความเกิด ความแก่ ความตายความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจครอบงำเอาแล้ว เป็นคนตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะปรากฏมีได้” ดังนี้. ครั้นบวชแล้ว เธอสามารถทำลาภสักการะและเสียงเยินยอให้เกิดขึ้นได้, เธอไม่มีใจยินดีในลาภสักการะและเสียงเยินยออันนั้น, ไม่มีความดำริเต็มรอบแล้ว ในลาภสักการะและเสียงเยินยออันนั้น, เธอไม่ทะนงตัวเพราะลาภสักการะและเสียงเยินยออันนั้น, เธอไม่เมาไม่มัวเมาในลาภสักการะและเสียงเยินยออันนั้น, ไม่ถึงความประมาทในลาภสักการะและเสียงเยินยออันนั้น ; เมื่อไม่ประมาทแล้ว เธอให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นได้, เธอมีใจยินดีในความถึงพร้อมด้วยศีลอันนั้น, แต่ไม่มีความดำริเต็มรอบแล้วในความถึงพร้อมด้วยศีลอันนั้น, เธอไม่ทะนงตัวเพราะความถึงพร้อมด้วยศีลอันนั้น, เธอไม่เมาไม่มัวเมาในความถึงพร้อมด้วยศีลอันนั้น, ไม่ถึงความประมาทในความถึงพร้อมด้วยศีลอันนั้น ; เมื่อไม่ประมาทแล้ว เธอให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นได้, เธอมีใจยินดีในความถึงพร้อมด้วยสมาธิอันนั้น, แต่ไม่มีความดำริเต็มรอบแล้วในความถึงพร้อมด้วยสมาธิอันนั้น, เธอไม่ทะนงตัวเพราะความถึงพร้อมด้วยสมาธิอันนั้น, เธอไม่เมาไม่มัวเมาในความถึงพร้อมด้วยสมาธิอันนั้น, ไม่ถึงความประมาทในความถึงพร้อมด้วยสมาธิอันนั้น ; เมื่อไม่ประมาทแล้ว เธอให้ ญาณทัสสนะ (ปัญญาเครื่องรู้เห็น) เกิดขึ้นได้อีก, เธอมีใจยินดีในญาณทัสสนะอันนั้น, แต่ไม่มีความดำริเต็มรอบแล้วในญาณทัสสนะอันนั้น, เธอไม่ทะนงตัวเพราะญาณทัสสนะอันนั้น, เธอไม่เมาไม่มัวเมาในญาณทัสสนะอันนั้น, ไม่ถึงความประมาทในญาณทัสสนะอันนั้น ; เมื่อไม่ประมาทแล้ว เธอให้ สมยวิโมกข์ (ความพ้นพิเศษโดยสมัย) เกิดขึ้นได้อีก.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ย่อมเป็นไปได้ คือข้อที่ ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมคลายจากสมยวิมุตติอันนั้นก็ได้.
..... ..... .....
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการด้วยแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้เที่ยวค้นหาแก่นไม้ จนถึงต้นไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว ตัดเอาแก่นถือไปด้วยมั่นใจว่า‘นี่ เป็นแก่นแท้’ ดังนี้. บุรุษมีตาดี เห็นคนนั้นเข้าแล้ว ก็กล่าวว่า “ผู้เจริญ คนนี้ ช่างรู้จักแก่น, รู้จักกระพี้, รู้จักเปลือกสด, รู้จักสะเก็ดแห้งตามผิวเปลือก, รู้จักใบอ่อนที่ปลายกิ่ง. จริงดังว่า ผู้เจริญคนนี้ ต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวค้นหาแก่นไม้ จนถึงต้นไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว ก็ตัดเอาแก่นแท้ถือไปด้วยมั่นใจว่า ‘นี่ เป็นแก่นแท้’ ดังนี้. สิ่งที่เขาจะต้องทำด้วยแก่นไม้ จักสำเร็จประโยชน์เป็นแท้” ดังนี้ ; ฉันใดก็ฉันนั้น. (ที่กุลบุตรบางคนออกบวชด้วยศรัทธาปฏิบัติไม่หลงผิด จนกระทั่ง บรรลุ อสมยวิโมกข์).
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ คือข้อที่ภิกษุนั้น จะพึงเสื่อมคลายจาก อสมยวิมุตติ (ความหลุดพ้นที่ไม่มีสมัย) อันนั้นเลย.
ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยศีลเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์.
ภิกษุ ท. ! ก็เจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบอันใด มีอยู่, พรหมจรรย์นี้มีสิ่งนั้นนั่นแหละเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย มีสิ่งนั้นนั่นแหละเป็นแก่นสาร มีสิ่งนั้นนั่นแหละเป็นผลสุดท้ายของพรหมจรรย์ แล.
บาลี พระพุทธภาษิต มหาสาโรปมสูตร มู. ม. ๑๒/๓๗๐/๓๕๑,
ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้นครราชคฤห์.


Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2564
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2564 19:43:36 น. 0 comments
Counter : 122 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 5378236
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ดี
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5378236's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.