จิตไม่ใช่วิญญาณ (4)


🌷  จิตไม่ใช่วิญญาณ

มีพระพุทธวจนะใน “มหาปุณณมสูตร” กล่าวไว้ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
พวกเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน
เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอกก็ตาม
หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ไกล หรือในที่ใกล้ก็ตาม
ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา (ที่พึ่ง) ของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย “อริยสาวก” ผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา
แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น

เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

และเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่
ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นแล ฯ”


^^^

จิตของภิกษุแต่ละองค์ที่หลุดพ้นนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพทั้งสิ้น จิตที่หลุดพ้นของแต่ละองค์ เป็นจิตของตนไม่ใช่ขององค์อื่นใช่หรือไม่? ย่อมเป็นจิตที่หลุดพ้นแล้ว จากโลกียวิสัยที่เป็นไปในเรื่องของโลก

ไม่มีในพระพุทธวจนะตรงส่วนไหน ที่บอกเลยว่าวิญญาณหลุดพ้นแล้ว และก็ไม่เคยปรากฏว่ามีพระพุทธวจนะที่ทรงตรัสว่า “วิญญาณวิมุตติหลุดพ้น”

เนื่องจากจิตรู้เห็นตามความเป็นจริง อันเนื่องจากมีญาณรู้แล้วว่า อุปาทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่เรา (จิต) ไม่เป็นเรา (จิต) ไม่ใช่ของเรา (จิต)

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 30 เมษายน 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:58:10 น.
Counter : 423 Pageviews.

0 comment
จิตไม่ใช่วิญญาณ (3)


🌷 จิตไม่ใช่วิญญาณ

ในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนานั้น ทรงสอนให้
๑. ละความชั่ว
๒. ทำความดี
๓. ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

และพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ล้วนตรัสไว้ว่า
"อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การทำจิตให้มีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"


การชำระจิตให้บริสุทธิ์นั้น มีทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นทางที่จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

โดยเริ่มลงมือจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เพื่อให้จิตได้รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา (จิต) ซึ่งต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างมาก เพื่อให้รู้จักสภาวะธรรมของจิต

ตอนเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ นั้น ความที่จิตคุ้นเคยกับการแส่ส่ายออกไปรู้รับอารมณ์ และจิตจะยึดสิ่งที่ออกไปรู้อยู่ท่าเดียวว่า เป็นของๆ ตน (ติดในอารมณ์) ต้องอาศัยความเพียรสร้างสติเพื่อน้อมนำจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปยึดอารมณ์กลับมาสู่ฐาน

"ฐาน" ในที่นี้คือ กรรมฐาน หรือฐานที่ตั้งของสติที่กำหนดไว้อันปราศจากกาม เป็นที่ๆ ควรแก่การงานทางจิต

เมื่อจิตคุ้นเคยกับฐานที่ตั้งของสติ จนกลายเป็นฐานเดิมที่จิตคุ้นเคยแล้วนั้น จะเป็นกรรมฐานของสติ ที่เห็นพระไตรลักษณ์ได้ชัดเจนจากกายสังขาร จิตก็จะคล่องแคล่วและชำนาญ รวดเร็วในการน้อมนำจิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิ

จนกระทั่งจิตสงบมีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อขันธ์ ๕ จิตย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เมื่อจิตเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตย่อมเกิดญาณหยั่งรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า จิตไม่ใช่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และวิญญาณก็ไม่ใช่จิต

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 30 เมษายน 2564
Last Update : 30 เมษายน 2564 19:32:36 น.
Counter : 258 Pageviews.

0 comment
จิตไม่ใช่วิญญาณ (2)


🌷 จิตไม่ใช่วิญญาณ

จิตเป็นธาตุรู้ เมื่อเข้ามาอยู่ในโลกโดยอาศัยขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ก็กลายเป็นจิตผู้รู้ รับ จำ นึก คิด

จิตผู้รู้ มีทั้งรู้ผิดและรู้ถูก

จิตผู้รู้ ที่รู้ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ทำให้ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง

ส่วนจิตผู้รู้ ที่รู้เห็นตามความเป็นจริง นั่นคือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จึงรู้ว่าจิตไม่ใช่วิญญาณ (ขันธ์) เพราะวิญญาณ (ขันธ์) เป็นเพียงหนึ่งในอาการของจิตที่แจ้งในอารมณ์เท่านั้น

โดยมีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ชัดๆ ในหลายพระสูตร ในบางพระสูตรพระพุทธองค์กล่าวโทษ ภิกษุที่เห็นว่าจิตเป็นวิญญาณ (ขันธ์) เป็นพวกโมฆบุรุษ เช่น ใน มหาตัณหาสังขยสูตร ความว่า

"พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไปไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ?

สาติภิกษุทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร?

สาติภิกษุทูลว่า สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า

ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว

ดูกรโมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน"


^^^
สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาติคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณ นั่นเอง

ทั้งนี้เพราะ กรรมดี - กรรมชั่วที่ตนกระทำนั้น ต้องถูกบันทึกลงที่จิตของตน และจิตของตน ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ตามวิบากของกรรมทั้งหลายทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่ว ที่ตนได้ทำไว้

จิตจุติ (เคลื่อน) ออกจากร่างกายที่ตาย ไปเกิดตามอำนาจกรรมดีกรรมชั่วที่บันทึกอยู่ในจิต โดยจิตจะเกาะกุมอารมณ์สุดท้าย (มโนวิญญาณ) ในเวลาใกล้จะตาย เป็นปฏิสนธิวิญญาณพาไปเกิดในภพภูมิใหม่ตามแรงกรรม

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 30 เมษายน 2564
Last Update : 30 เมษายน 2564 19:30:18 น.
Counter : 527 Pageviews.

0 comment
จิตไม่ใช่วิญญาณ (1)


🌷 จิตไม่ใช่วิญญาณ

มีพุทธวจนะในพระสูตร "มหาปุณณมสูตร" ความว่า

"ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา
 (ไม่ใช่ตน) 
กรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร (เพราะไม่ใช่ตนทำ)

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ แล้วตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่ พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยความปริวิตกว่า


จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร"

^^^
สาเหตุสำคัญที่ทำให้โมฆบุรุษคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณ นั่นเอง

เมื่อเข้าใจว่า จิตคือวิญญาณแล้ว ก็พลอยเข้าใจไปว่า กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไปไม่มีที่จะบันทึกลงตรงไหน เนื่องจากอุปทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่ตนเพราะเป็นอนัตตา เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา กรรมดี กรรมชั่วที่ตนได้กระทำไปก็ไม่อาจให้ผลต่อตนได้ เพราะไม่ใช่ตน (อนัตตา) ในเมื่อไม่มีที่ๆ ให้กรรมดี กรรมชั่วที่ทำไปนั้นบันทึกลงได้

จึงได้พูดโดยสะเพร่าด้วยความเข้าใจผิดไปเองว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตน) แล้วกรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำ จักถูกตนได้อย่างไร ใช่หรือไม่? เพราะเป็นความเข้าใจผิดของภิกษุรูปนั้นเองว่า จิตคือวิญญาณ เมื่อวิญญาณเป็นอนัตตาธรรม ไม่ใช่ตน แล้วกรรมที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) ทำ ก็ไม่อาจถูกตนได้สิ … นี่คือโมฆบุรุษ

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท 



Create Date : 30 เมษายน 2564
Last Update : 30 เมษายน 2564 19:28:31 น.
Counter : 499 Pageviews.

0 comment
โอวาทปาฏิโมกข์ คือ หมวดสมาธิ ในอริยมรรค ๘


🌷  น้อมถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันมาฆบูชา ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ

๑. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระภิกษุทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระภิกษุทั้งหมด ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดังนั้น จึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" หรือก็คือ "หัวใจพระพุทธศาสนา" แสดงว่าโอวาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้นั้น ย่อมน้อมนำไปปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้น



🌷  โอวาทปาฏิโมกข์ คือ หมวดสมาธิ ในอริยมรรค ๘

หากมีคนกล่าวว่า พระพุทธองค์ตรัสรู้ โดยไม่ต้องผ่านการปฏิบัติฌานในสัมมาสมาธิ ที่มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ เปรียบเหมือนมีคนกล่าวว่า ตนจะเอาใบตะเคียน ใบทองกวาว ใบมะขามป้อม มาทำกระทงใส่น้ำ ย่อมมิใช่ฐานะที่จะมีได้ เช่นกัน

เมื่อเรานำเอาหลักธรรม หมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) ในอริยมรรคมีองค์ ๘ มาสอบสวน เทียบเคียงแล้ว จะเห็นได้ชัด ดังนี้

สัมมาวายามะ เฉพาะสัมมาวายามะ มรรคองค์ที่ ๖ ในหมวดสมาธิองค์เดียว ก็เทียบลงได้กับในโอวาทปาฏิโมกข์ ถึงสองข้อทีเดียว อันข้อที่ ๑ กับข้อที่ ๒ ที่มีว่าไว้ดังนี้

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง (อกุศล)
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี (กุศล)


คือ การละอกุศลทั้งปวง มาทำกุศลทั้งปวงให้เกิดขึ้น

มาดูว่าเทียบกันอย่างไร?
สัมมาวายามะ มีกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ดังนี้

กตโม จ ภิกขเว สัมมาวายาโม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) เป็นอย่างไร?
- เพียรละอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
- เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป
- เพียรยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
- เพียรยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น


เราจะเห็นได้ว่าขณะภาวนาอานาปานสติอยู่นั้น จิตมีสติกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า มีสติกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจออก เป็นอารมณ์กรรมฐาน ในขณะนั้นจิตดำรงตนอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ทั้งข้อ ๑ และข้อ ๒ อย่างชัดเจน

ส่วนข้อที่ ๓ ในโอวาทปาฏิโมกข์ คือ
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดขาวรอบ

ต้องอาศัยข้อธรรมอะไรในการชำระจิตของตน ก็เหลือแต่ สัมมาสติ มรรคองค์ที่ ๗ และสัมมาสมาธิ มรรคองค์ที่ ๘ ซึ่งมรรคทั้ง ๒ องค์นั้นต้องทำงานควบคู่กันไปตลอดสายของการปฏิบัติภาวนาอานาปานสติ

ในมหาสติปัฏฐานสูตรได้กล่าวไว้ดังนี้

กตมา จ ภิกขเว สัมมาสติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) เป็นอย่างไร?
- เพียรระลึกรู้ในที่ ๔ สถาน อย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่
คือ มีสติพิจารณาระลึกรู้ในกาย เวทนา จิต และธรรม

โดยเฉพาะบรรพะแรกของหมวดกาย คือ การปฏิบัติอานาปานสติภาวนา

ทำไมต้องอานาปานสติภาวนาล่ะ? เพราะมีพระบาลีกล่าวไว้ในพระสูตรหลายแห่งซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ ดังนี้

อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา
สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา
วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์,
โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้


พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า อานาปานสติกรรมฐานภาวนา ที่เมื่อเราเจริญธรรมอย่างเดียว ชื่อว่าเจริญธรรมอย่างอื่นอีกมากมาย ยังให้สติปัฏฐาน ๔ นั้นบริบูรณ์ ยังให้โพชฌงค์ ๗ นั้นบริบูรณ์ โดยเฉพาะโพชฌงค์ ๗ ซึ่งเป็นองค์คุณธรรมที่ทำให้ตรัสรู้ ๗ ประการนี้ เมื่อบริบูรณ์ดีแล้ว ย่อมมีผลให้ วิมุตติจิตหลุดพ้น เป็น "ปัญญาวิมุตติ"

ในขณะที่สัมมาสติเดินอยู่นั้น สัมมาสมาธิ มรรคองค์ที่ ๘ ก็ทำงานควบคู่กันไปด้วยตลอดสายของการปฏิบัติอานาปานสติกรรมฐานภาวนาอยู่ จนกระทั่งเข้าสู่จตุตถฌาน (ฌาน ๔) ในสัมมาสมาธิ ทำให้เกิดเจโตวิมุติ จิตหลุดพ้นด้วยกำลังของฌาน แล้วนำกำลังของฌานที่ระลึกได้มาใช้ในขณะดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน (อุเปกฺขา สติ สงฺสุทธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ) จะเห็นได้ว่าขั้นตอนที่เกิดขึ้นในหมวดสมาธิ แห่งองค์อริยมรรคนั้น ก็คือ โอวาทปาฏิโมกข์ (หัวใจพระพุทธศาสนา) นั่นเอง

เพราะสัมมาสมาธิในอริยมรรค ๘ แตกต่างจากสมาธิที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ทั้งในกาลก่อนพุทธกาลตลอดจนจนกระทั่งปัจจุบัน เนื่องจากอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีจำเพาะในพระพุทธศาสนาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ต่างไปจากสมาธิที่มีอยู่ทั่วๆ ไปตรงที่ว่า สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่เกิดจากการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต เป็นการปล่อยวางเป็นชั้นตามกำลังของฌาน ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ จนกระทั่งจิตของตนตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออุปกิเลสทั้งหลาย อารมณ์ที่เป็นแขกจรเข้ามากระทบจิตให้หวั่นไหวไม่ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับสมาธิอื่นทั่วไปแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สมาธิเหล่านั้นล้วนสอนให้เกาะอารมณ์อย่างเหนียวแน่น จนจิตละเอียดเข้าสู่ฌาน สงบนิ่งชุมแช่อยู่กับสุขในอารมณ์ฌานนั้น ต้องเกาะอารมณ์อย่างเหนียวแน่นเพราะกลัวอารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางไป ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น สูงสุดได้แค่ทำให้กิเลสเบาบางลงเท่านั้น ไม่สามารถทำจิตให้ข้ามไปโลกุตตระได้

เมื่อมาพิจารณาองค์ฌานของสัมมาสมาธิ ที่มีมาในมหาสติปัฏฐาน ๔ มีว่าไว้ดังนี้

กตโม ภิกขเว สัมมาสมาธิ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิ (ความตั้งจิตมั่นชอบ) เป็นอย่างไร?
ต้องสงัดแล้วจากกามารมณ์ สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศล
เข้าถึงปฐมฌาน อันมี วิตก วิจาร ปิติ สุข
เมื่อละวิตก วิจารได้ เข้าทุติยฌาน มีธรรมอันเอกผุดขึ้น
เมื่อละปิติได้ อยู่เป็นสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌาน
เพราะละสุข ละทุกข์ เพราะความโสมนัสและโทมนัสทั้งในกาลก่อนอัสดงไป
เข้าถึงจตุตถฌาน มีสติบริสุทธิ์กุมเฉย (อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ)


สรุปได้ว่า ฌานในสัมมาสมาธินั้น เป็นการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตของตนเป็นชั้นๆ จนกระทั่งจิตเข้าถึงความบริสุทธิ์ รู้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง หมดความยึดมั่นถือมั่นถึงเรื่องราวต่างๆ ในโลก พ้นโลก เหนือโลก ดังนี้ เอวัง

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท

 



Create Date : 30 เมษายน 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:57:39 น.
Counter : 394 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog