การเตรียมตัวก่อนตาย


🌷 เราจะเตรียมตัวให้พร้อมก่อนตายอย่างไรดี ?

วันพุธที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ 
เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย ผู้เจริญในธรรมทุกท่าน

ได้มีโยมที่ฟังพระธรรมเทศนาอยู่เป็นประจำ เสนอแนะว่าให้อาตมาภาพพูดถึงเรื่อง "เราจะเตรียมตัวให้พร้อมก่อนตายอย่างไรดี ?" พูดถึงเรื่องความตายแล้ว ก็เชื่อได้ว่าทุกคนรู้อยู่ว่า การเกิดมาของทุกๆ ชีวิต เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องตายจากไปด้วยกันทั้งนั้น ไม่ช้าก็เร็ว เป็นไปตามกิเลส กรรม วิบาก ของแต่ละชีวิตที่ตนเองได้สั่งสมมาแต่หนหลังนั้น ส่วนบุคคลผู้มีปัญญา (ผู้ฉลาดในอารมณ์) อย่างที่เคยได้พูดไปแล้วว่า ปัญญาทางโลกกับปัญญาทางธรรมนั้น ต่างกันเป็นคนละเรื่อง ทางโลกหมายถึงบุคคลผู้มีมันสมองดี ฉลาด เฉียบแหลม ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ส่วนทางธรรมนั้นหมายถึงความสามารถของจิตในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ออกไปได้ 

ฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญาเมื่อประสบพบเจอกับเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับความตาย มักน้อมนำเข้ามาสู่ตน พิจารณาให้เห็นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย ล้วนเป็นทุกข์ ที่พิจารณาได้เช่นนี้ เพราะตนเองได้กำหนดรู้ทุกข์ 

แต่ในมวลหมู่มนุษย์นั้น บุคคลผู้ฉลาดกำหนดรู้ในอริยสัจ ๔ นั้นมีน้อย ส่วนใหญ่ที่เหลือมักจมติดอยู่กับเรื่องราวในโลก ทั้งอยู่ท่ามกลางกาม ยังส่องเสพกาม ยังถูกกามวิตกกัดกิน (กามวิตกฺเกหิ ขชฺชมาโน)  ยังขวนขวายในการแสวงหากาม คือยังมีฉันทราคะ (ติดใจในกาม) ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เมื่อตาได้เห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสัมผัส จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตระหนักถึงเรื่องความเกิด ความแก่ การเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย แม้จะได้ประสบพบเจอ ก็ได้แต่สะดุ้งกลัวและตระหนกตกใจไปชั่วเวลาขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อเวลาล่วงคล้อยไปสักหน่อย ก็ลืมอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผ่านมานั้น เพราะยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำอยู่ เพลินยิ่งจมติดอยู่อารมณ์ในโลก เนื่องจากจิตไม่มีกำลังหรือพลังมากพอที่จะสลัดตัณหาเหล่านั้น เป็นไปกับความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน และเพลินยิ่งเข้าในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายนั้น เหตุที่จิตไม่มีกำลังหรือพลัง ก็เพราะบุคคลเหล่านั้นยังไม่รู้จักจิตตามความเป็นจริง 

เมื่อพูดถึง "จิต" ซึ่งเป็นธาตุรู้ ที่ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย ไม่มีรูปร่างให้แลเห็นได้ มีหน้าที่ รู้ จำ นึก คิด ก็สะกิดให้คิดไปถึงสมอง ที่ตนคือจิตเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยแรงกิเลสกรรมวิบาก เมื่อหลงผิดไปยึดติดเอารูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน เป็นของตน พอมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ชอบ ชัง หรือยินดียินร้ายเกิดขึ้น ก็เหมาเอาความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นว่าเป็นตนเป็นของตน คือรูปร่างกายที่ตนอาศัยอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ อาศัยตรรกะนึกเดาเอาได้ ด้วยเหตุนี้จึงหลงติดจมอยู่ในโลก 

ส่วนพวกที่หันมาสนใจศาสนานั้น ต้องจัดว่ายังดีกว่ามากนัก อย่างน้อยก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นประพฤติทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายหรือกายแตกทำลายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก และในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้สนใจพระพุทธศาสนา ก็ยังมีความหวังว่าถ้าตนทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ว่า ให้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ครั้นประพฤติสุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายหรือกายแตกทำลายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

เมื่อมาพินิจพิจารณาโดยแยบคายแล้ว การที่จะรักษาตนประพฤติตนให้อยู่ในกายสุจริต (อันมี ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) วจีสุจริต (อันมี ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ) มโนสุจริต (อันมี อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา อพยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา สัมมาทิฏฐิ รู้เห็นชอบ คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง) สุจริต ๓ นี้ก็ครอบคลุมเทียบได้กับ ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งจัดว่าเป็นรากเหง้าแห่งความเป็นมนุษย์ 

เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง 
เหมือนดั่งยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน
ต้องเสียที ที่ตน ได้เกิดมา
(เป็นกลอนบางส่วนของท่านพุทธทาส)

ทาน ศีล ภาวนา นั้น เป็นการเตรียมการให้บุคคลทั่วไป เมื่อประพฤติปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้น ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์แล้ว แน่นอนว่าเมื่อตกตายกายแตกทำลายไปนั้น ขั้นต่ำย่อมได้มนุษย์สมบัติ ขั้นกลางย่อมได้พรหมสมบัติ ขั้นสุดท้ายย่อมเข้าถึง "นิพพาน นิพพานํ ปรมํ สูญญํ นิพพานสูญอย่างยิ่ง" คือจิตที่สูญไปจากราคะ โทสะ โมหะ หมายถึ งกิเลสและอุปกิเลสทั้งหลายเหล่านั้นไม่สามารถกลับมาครอบงำจิตของตนได้อีกแล้ว

และไหนล่ะ? การเตรียมตัวก่อนตาย

ไม่เชื่อให้ไปดูตามวัดวาอารามหรือสถานที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราจะเห็นผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากซึ่งหมายถึงมีจำนวนมากกว่าวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน เนื่องจากผ่านอารมณ์โลกมามากพอ ขณะที่หน้าที่การงานก็น้อยลง ความรับผิดชอบต่างๆ ก็น้อยตามไปด้วย จึงเห็นว่าควรแสวงบุญเพื่อรักษากายวาจาใจของตนให้พร้อม เพื่อเดินทางไปสู่ชีวิตหลังความตาย 

เราชาวพุทธล้วนเชื่อโดยสนิทใจว่าเมื่อตายกายแตกทำลายลงไปแล้ว ยังคงมีสิ่งที่ไม่ได้ตายตามไปด้วย เป็นตัวบันทึกกรรมต่างๆ เอาไว้ เช่น กรรมดีกรรมชั่วที่ตนได้เคยกระทำไว้ เมื่อร่างกายตายลง ก็จุติ (เคลื่อนออก) ไปตามแรงกรรมของตนที่มีเข้ามาประชิดจิตในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ก็จะส่งให้จิตจุติไปตามแรงกรรมที่ประชิดจิตในวาระสุดท้ายนั้น ไปสู่สุคติบ้าง ทุคติบ้าง ต้องสุดแท้แต่ว่าจิตของบุคคลนั้นมีพลังจิตมากน้อยเพียงใด ที่เกิดจากการที่เคยหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนมาก่อนแล้ว เพราะขณะที่จิตกำลังจะทอดธุระจากร่างกายที่กำลังจะตายลงไปนั้น ถ้าสามารถประคองจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศลที่เคยได้กระทำไว้ ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปอย่างแน่นอน แต่ถ้าจิตเศร้าหมองล่ะ ย่อมมีทุคติ อบาย วินิบาตนรก เป็นที่ไปเช่นกัน จงอย่าลืมว่าในขณะที่วาระสุดท้ายแห่งชีวิตนั้น จะมีทั้งกรรมนิมิตและคตินิมิต ที่เราได้กระทำไว้ จะเข้ามาประชิดจิตของตน 

สำหรับบุคคลที่หมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ นั้น จิตย่อมเข้มแข็ง มีที่ตั้งอย่างมั่นคง ไม่ถูกกรรมนิมิตหรือคตินิมิตฉุดไปง่ายๆ ส่วนบุคคลที่ไม่เคยให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ จะเป็นช่วงที่จิตของตนอ่อนแอที่สุด มักถูกกรรมนิมิตและคตินิมิตฉุดลากไปตามแรงกรรมที่ตนได้เคยกระทำไว้ 

"จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา แปลว่า เมื่อจิตที่ได้ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า"  จากพระบาลีจะเห็นว่า ต้องควรหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตน ด้วยทาน ศีล ภาวนา จนสมบูรณ์ จึงจะได้ชื่อว่าจิตได้ฝึกฝนอบรมดีแล้ว 

ทานนั้นเป็นขั้นต้นที่จะฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้หลุดพ้นจากความตระหนี่ได้ จนเป็นจาคะสัมปทา (สมบูรณ์ด้วยจาคะ) แต่ต้องยอมรับว่าการให้ทานในปัจจุบันนั้น มีอยู่หลายรูปแบบ ให้เพราะอยากได้หน้า เพราะกลัวเสียหน้า ทนต่อการชักชวนไม่ได้ ให้ตามประเพณี อันนี้มากหน่อย ทั้งหมดนี้ยังจัดเป็นจาคะไม่ได้ เพราะจาคะคือการสลัดออกไป ต้องเกิดจากจิตใจที่เต็มปรารถนาที่จะให้โดยไม่ได้หวังสิ่งใดๆ ตอบแทนเลย ลองพินิจดูว่า ทานที่เกิดจากความไม่เต็มจิตเต็มใจนั้น จะยังให้เราระลึกขึ้นได้ในเวลาจวนเจียนแห่งชีวิตหรือ ให้ลองพิจารณาดู 

ศีลก็เช่นกัน การรับศีล การถือศีล การรักษาศีล ที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปตามประเพณีนิยมเท่านั้น การที่จะวิรัติ (งดเว้น) จนเป็นสีลสัมปทา สมบูรณ์ด้วยศีล ได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับพลังจิตของแต่ละบุคคล ทานก็เช่นกัน ต้องอาศัยพลังจิตที่เข้มแข็งจนเป็นทานที่เกิดจากจาคะ 

ทีนี้พลังจิตจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์อย่างไรนั้น ก็ด้วยการภาวนามยปัญญา หรือเรียกว่า สัมมาสมาธิ เพราะเป็นสมาธิทำให้เกิดปัญญาควบคู่กันไปด้วยเสมอ การฝึกฝนอบรมนั้น ก็คือ การสร้างสติขึ้นที่จิตของตนให้สำเร็จ 

คำว่า สติ แปลว่า ความระลึกได้ จัดเป็นหลักธรรมสำคัญในฝ่ายกุศล ที่ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ และพิจารณาทำการงานทั้งหลายให้สำเร็จ เกิดประโยชน์อย่างถูกต้องในทุกกรณี ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ดังนั้นสติจึงมีอุปการะมาก สมควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะฝึกสร้างสติให้มีพลัง จนเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ที่ทำให้เกิดขึ้นอย่างคล่องแคล่วจนเป็นวสี โดยให้เกิดมีนิมิตหมายแห่งจิต หรือฐานที่ตั้งของสติ 

การได้นิมิตหมายหรือฐานที่ตั้งของสตินั้น ต้องถือว่าเป็นสมาธิสัมปทา (สมบูรณ์ด้วยสมาธิ) จัดเป็นการสมบูรณ์ด้วยสมาธิในเบื้องต้น เป็นการยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้น มีพระบาลีในพระธรรมบทรับรองไว้ดังนี้ คือ  "อปฺปมาโท อมตํ  ปทํ  ปมาโท  มจฺจุโน  ปทํ อปฺปมตฺตา  น  มียนฺติ เย  ปมตฺตา  ยถา มตา แปลว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว" 

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ที่มีพลังสมาธิหรือพลังจิตน้อย จิตของตนย่อมหวั่นไหวตามไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้ง่ายไปด้วย อัปปมาทธรรมก็ย่อมไม่มีที่จิตของผู้นั้น ถ้าปรารถนาสิ่งใดขึ้นมาเป็นอารมณ์ก็ตาม เช่น นึกถึงรูปร่างกายขึ้นมา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าตนเองเกิดมาพร้อมกับร่างกาย พอร่างกายแก่หรือตาย ก็เข้าใจว่าตัวเองแก่หรือตายตามร่างกายไปด้วย โดยถือเอาร่างกายเป็นหลักเกณฑ์ แต่ผู้ที่มีพลังสมาธิหรือพลังจิตมาก ย่อมรู้ชัดว่า ตัวเองคือผู้ทำหน้าที่ รู้ เรื่องราวต่างๆ เช่น เมื่อปรารภถึงร่างกาย เกิดขึ้นก็รู้ ผมหงอก ฟันหัก เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้ว ก็รู้ เป็นต้น ครั้นเมื่อปรารภถึงลมหายใจขึ้นมา ลมหายใจเกิดขึ้นก็รู้ ลมหายใจดับไปก็รู้ ดังนี้เป็นต้น 

มีพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระราหุล ยืนยันอยู่ชัดเจนดังนี้ "เอวํ ภาวิตาย ราหุล อานา ปานสฺสติยา เอวํ พหุลีกตาย เยปิ เต จริมกา อสฺสาส ปสฺสาส  เตปิ วิทิตา นิรุชฺฌนฺติ โน อวิทิตาติ แปลว่า ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทั้งหลาย เหล่านั้น อันใดอันจะมีมาในเวลาตาย แม้ลมเหล่านั้นจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้ หามิได้เลย"

จากพระบาลีจะเห็นได้ว่า บุคคลผู้เจริญอานาปานสติ ซึ่งเป็นองค์ภาวนาในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐาน เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มากดีแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้นิมิตหมายแห่งจิต หรือฐานที่ตั้งสติ เพื่อคอยระลึกรู้หรือกำหนดรู้อยู่ ทุกลมหายใจที่เข้า ทุกลมหายใจที่ออก เป็นการยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้น แม้เวลาที่กายจะตายแตกทำลายลงไป ลมหายใจจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้นั้นหาไม่ได้เลย 

ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะจิตตรงนั้นย่อมสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งภายในและภายนอกทั้งหลายเลย แม้ขณะนั้นกรรมนิมิตหรือคตินิมิตก็ไม่อาจปรากฎขึ้นมาครอบงำได้ ย่อมมีแต่ทางไปสู่สุคติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ยังจะมัวรออะไรอยู่ เราก็รู้ว่าการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการเตรียมตัวที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด เพราะเมื่อจิตมีพลังสมาธิ มีพลังจิต ย่อมยังให้ทาน ศีล สติ ปัญญา พร้อมบริบูรณ์ไปด้วยเช่นกัน

แต่เรื่องเหล่านี้ กลับเป็นเรื่องแปลกแต่จริง เพราะเมื่อได้รู้แล้ว แต่กลับมีเหตุผล มีข้ออ้าง หรือข้อแม้อย่างมากมาย เพื่อที่จะชะลอเรื่องเหล่านี้ให้กับตนเอง มักอ้างว่าต้องรอเวลาหรือสถานการณ์พร้อมก่อนจึงจะค่อยลงมือทำเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ทำให้เสียเวลา ทั้งๆ ที่ อานาปานสติ (การใช้สติเพ่งดูลมหายใจเข้าออก) เป็นวิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔  วิธีหนึ่ง ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่สำคัญในพระพุทธศาสนา มีความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับทุกคน เพราะทุกคนต่างมีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อยู่แล้วด้วยกันทุกคน จึงไม่ต้องเตรียมหาอุปกรณ์ใดๆ ให้ยุ่งยากเลย ผู้ปฏิบัติสามารถลงมือทำได้ โดยแยกจิตที่กำลังรับอารมณ์อยู่เฉพาะหน้า ให้หันมาสนใจเข้ามาเพ่งดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจของตนแทนเรื่องราวที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้น ณ ฐานที่ตั้งสติ และประคองไว้ไม่ให้แลบหนีออกไปได้เท่านั้น จิตก็ย่อมสงบเป็นสมาธิทันที ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้ทันทีตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม ส่วนมากแล้วมักคิดเองเออเองเอาว่า เอาไว้ก่อน ค่อยมาเพียรเอาเวลาจวนเจียนใกล้ๆ จะถึงวาระก็แล้วกัน

🌷 ความเพียรต่อเมื่อเวลานั้นใกล้มาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย 

ดังในมิลินทปัญหาที่พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า "ถ้ากระไรทุกข์นี้พึงดับไปเสีย และทุกข์อื่นก็ไม่พึงเกิดขึ้น ดังนี้ไม่ใช่หรือ" 

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร การบวชของพวกอาตมภาพ ก็มีข้อที่ว่านี้เป็นประโยชน์"

พระเจ้ามิลินท์ "ประโยชน์อะไรด้วยความเพียรแต่เนิ่นๆ เล่า น่าจะเพียรเมื่อเวลามาถึง มิใช่หรือ ?"

พระเถระวิสัชชนาว่า  "ขอถวายพระพร ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึงแล้ว เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียรแต่เนิ่นๆ เท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้"    

พระเจ้ามิลินท์ "ขอท่านจงทำอุปมา"

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร พระองค์ทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์ทรงรับสั่งให้เขาขุดบ่อเก็บน้ำ รับสั่งให้เขาขุดสระน้ำ ในเวลาที่พระองค์ทรงกระหายน้ำ แล้วทรงมีพระดำริว่า เราจักดื่มน้ำ ดังนี้หรือไร ?"

พระเจ้ามิลินท์ "หามิได้พระคุณเจ้า"
     
พระนาคเสน "ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียรแต่เนิ่นๆ เท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้"
     
พระเจ้ามิลินท์ "ขอท่านจงทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด"
     
พระนาคเสน "ขอถวายพระพร พระองค์จักทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์รับสั่งให้เขาไถนา รับสั่งให้เขาหว่านข้าวสาลี รับสั่งให้เขาเก็บข้าว ในเวลาที่พระองค์ทรงหิว แล้วทรงมีพระดำริว่า เราจักกินข้าว ดังนี้หรือไร ?"
    
พระเจ้ามิลินท์ "หามิได้พระคุณเจ้า"
     
พระนาคเสน "ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียรแต่เนิ่นๆ เท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้"
     
พระเจ้ามิลินท์ "ขอท่านจงทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด"

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร พระองค์ทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์รับสั่งให้เขาขุดคูเมือง รับสั่งให้เขาสร้างกำแพง รับสั่งให้เขาทำซุ้มประตู รับสั่งให้เขาสร้างป้อม รับสั่งให้เขารวบรวมธัญญาหารไว้ ตัวพระองค์เองก็จะทรงศึกษาในเรื่องช้าง จะทรงศึกษาในเรื่องม้า จะทรงศึกษาในเรื่องรถ จะทรงศึกษาในเรื่องธนู จะทรงศึกษาในเรื่องดาบ ก็ในเวลาที่สงครามปรากฏขึ้นแล้ว กระนั้นหรือ ?"

พระเจ้ามิลินท์ "หามิได้พระคุณเจ้า"

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียรแต่เนิ่นๆ เท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้"

ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

"บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน ก็พึงกระทำสิ่งนั้นเสียแต่เนิ่นๆ เถิด 

บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ ไม่ควรคล้อยตามความคิดของพ่อค้าเกวียน รู้แล้ว ก็พึงบากบั่นเสียแต่เนิ่นๆ เปรียบเหมือนว่า พ่อค้าเกวียนละทิ้งทางใหญ่ที่เรียบดีเสีย ย่างขึ้นทางขรุขระ เพลาเกวียนหักไป ก็ย่อมซบเซาไป ฉันใด

บุคคลผู้มีปัญญาทึบ หลีกออกจากธรรม ประพฤติเนืองๆ ซึ่งอธรรม พอถึงปากทางแห่งความตาย อินทรีย์แตกทำลายแล้ว ก็ย่อมซบเซาไป ฉันนั้น ดังนี้"

พระเจ้ามิลินท์  "พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว"

จากมิลินทปัญหา เราได้ฟังข้ออุปมาอุปไมยแล้ว ทำให้ได้ข้อคิดเช่นกันว่า การเตรียมตัวก่อนตายนั้น ไม่ใช่มาเตรียมตัวเอาตอนกิจนั้นใกล้มาถึงตัว เพราะการเตรียมตัวอย่างนั้น โอกาสบรรลุถึงประโยชน์น้อยกว่าน้อย เป็นการสุ่มเสี่ยงที่ตัวเราสร้างมันขึ้นมาเอง โดยแค่หวังไว้ว่าคงไม่เกิดขึ้นกับเราหรอก 

ฉะนั้น เรื่องทาน ศีล ภาวนา เราควรตระเตรียมสั่งสมไว้แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะทานนั้น ควรหมั่นทำเท่าที่เราสะดวก และสมกับฐานะที่เราเป็นอยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อได้ทำลงไปแล้ว ไม่ว่าจะน้อยหรือจะมากเพียงใดนั้น ไม่สำคัญเท่ากับความตั้งใจในการจาคะมากกว่า และหมั่นคอยระลึกถึงกุศลผลบุญอันนั้นไว้เนืองๆ ยิ่งในเวลาจิตใจหดหู่ซึมเศร้านั้น ยิ่งเป็นเวลาที่กระทำได้ยาก เราก็ควรฝึกระลึกถึงกุศลผลบุญที่เคยทำมา เพื่อให้จิตใจกลับมาแช่มชื่นขึ้น ถ้าทำได้ก็เท่ากับได้ฝึกฝนอบรมจิตของตนในเบื้องต้น

ศีลนั้น เป็นขั้นต่อไป โดยเฉพาะศีล ๕ นั้น ควรที่จะวิรัติให้ได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะบางท่านไม่สามารถที่จะรักษาไว้ได้เลยแม้สักข้อเดียว ขอให้ลองทบทวนดูใหม่ว่าใน ๕ ข้อนั้น มีข้อใดบ้างไหมที่เราสามารถจะรักษาไว้ได้ ถ้าพิจารณาแล้วพอทำได้ ให้ตั้งจิตอธิษฐานลงไปเลยว่า เราจะรักษาข้อนั้นโดยไม่ให้ขาดทะลุหรือด่างพร้อยเลย เพื่อเป็นการฝึกฝนในการเริ่มต้นรักษาศีล

ส่วนหัวใจสำคัญนั้น มาอยู่ที่การภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นหลักของทาน ศีล ถ้าหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยการภาวนา โดยที่เรากระทำให้มาก เจริญให้มาก การภาวนานั้นไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมายเลย แค่มีชีวิตกับลมหายใจก็ทำได้แล้ว ยิ่งถ้าเพียรจนกระทั่งเข้าถึงฐานที่ตั้งสติหรือนิมิตหมายแห่งจิตได้ด้วยแล้ว บุคคลนั้นเท่ากับมีพระคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา จะยังให้ทานและศีล สมบูรณ์ไปด้วย

สุดท้ายนี้ฝากธรรมบทจากมิลินทปัญหา ดังนี้ 

"น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส น วิชฺชตี โส ชคติปฺปเทโส ยตฺถฏฺฐิโต มุจฺเจยฺย มจฺจุปาสา แปลว่า บุคคล (ผู้เกิดมาแล้ว) หนีเข้าไปกลางหาวก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ หนีเข้าไปกลางมหาสมุทรก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ หนีเข้าไปยังซอกเขาก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ เขาดำรงอยู่ในภูมิประเทศใดแล้วพ้นจากบ่วงมัจจุได้ ภูมิประเทศนั้นหามีไม่" เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔





Create Date : 07 ตุลาคม 2564
Last Update : 7 ตุลาคม 2564 13:32:49 น.
Counter : 783 Pageviews.

1 comment
สัมมาสมาธิในอริยมรรค ๘ ไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า


🌷  สัมมาสมาธิในอริยมรรค ๘  ไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า

วันอังคารที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๙

เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย ได้เวลาที่จะฟังพระธรรมเทศนา จงพากันตั้งจิตตั้งใจฟังธรรมด้วยดี เพราะวันพระนี้จะพูดถึงเรื่องที่เป็นของยากเหมือนยาขม สำหรับบุคคลผู้ที่ยังใหม่อยู่ หรือผู้ที่ผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาบ้างแล้ว ส่วนบุคคลผู้ที่มีพื้นฐานเรื่องการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาแล้วพอสมควรนั้น ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ไม่ยากนักเลย แต่การจะเข้าถึงฐานที่ตั้งนั้น เป็นอีกเรื่องที่หนักหนาสาหัสพอสมควรเลยทีเดียว เรื่องที่ว่านั้นคือ การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาในอริยมรรคมีองค์ ๘ อันมีสัมมาสมาธิที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ไม่ใช่การเอาหินไปทับหญ้า แต่เป็นการเอามีดไปถากหญ้านั่นเอง

เมื่อกล่าวถึงเรื่องกรรมฐาน มักเข้าใจกันไปว่าต้องหากรรมฐานกัน ตามวัดวาอาราม สำนักสงฆ์ หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีการฝึกฝนอบรมการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาอยู่อย่างมากมาย และมักได้ยินได้ฟังจนเป็นที่คุ้นหู จากบุคคลผู้ผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาทั้งหลาย ที่ได้เข้ารับการฝึกฝนอบรมปฏิบัติธรรมมาแล้วว่า ได้องค์ภาวนามาแล้วบ้าง ได้ผ่านกรรมฐานมาแล้วบ้าง ได้วิปัสสนากรรมฐานมาแล้วบ้าง ได้ฐานที่ตั้งมาแล้วบ้าง ฯลฯ

เป็นความเข้าใจกันไปเอง ตามมติความรู้สึกนึกคิดของนักปริยัติ ที่ยังยึดติดอยู่กับตำราอย่างเหนียวแน่น  โดยเพียงแค่ได้ฟังจากบุคคลอันน่าเชื่อถือตามๆ กันมา ก็ปลงใจเชื่อไปเสียแล้วว่าใช่ ซึ่งเรื่องนี้มีมาในกาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเตือนไว้ให้ชาวกาลามะฟัง เรื่องความเชื่อ ๑๐ ประการ ดังนี้

๑. มา อนุสฺสเวน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อโดยฟังตามๆ กันมา
๒. มา ปรมฺปราย อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยถือสืบๆ กันมา
๓. มา อิติกิราย อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยบุคคลตื่นข่าว
๔. มา ปิฏกฺสมฺปทาเนน อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยถือเหตุนึกเดาเอา (ตรรกะ)
๖. มา นยเหตุ อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยใช้การคาดคะเนเอา (อนุมาน)
๗. มา อาการปริวิตกฺเกน   อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยความตรึกตามอาการ
๘. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา  อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยชอบใจว่านั่นต้องกันกับลัทธิของตน
๙. มา ภพฺพรูปตาย  อย่าได้ปลงใจเชื่อว่า ผู้พูดมีความน่าเชื่อถือ
๑๐. มา สมโณ โน ครูติ   อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา

แต่ในปัจจุบันนี้ ควรจะนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่าน มาพิจารณา ตริตรอง ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงอย่างรอบคอบก่อน กับพระพุทธพจน์ในพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาไว้ด้วยดีแล้ว ค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย

ส่วนบุคคลผู้ที่ยังยึดติดอยู่กับตำรับตำรา ที่มีการรจนาเสริมแต่งขึ้นมาใหม่ในภายหลังอย่างมากมายนั้น มักกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น เป็นเพียงสมถะกรรมฐาน เป็นกรรมฐานแบบหินทับหญ้า ติดสุข เมื่อยกหินที่ทับหญ้าออกเมื่อไร หญ้าก็กลับงอกงามขึ้นมาได้ใหม่อีก ด้วยสมถะกรรมฐานนั้น ไม่เกิดปัญญา ไม่อาจตัดกิเลสได้ เป็นพวกที่เอาแต่ติดสุขอยู่กับความสงบในฌาน ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนาปัญญา เพื่อตัดกิเลสให้เกิดขึ้นมาได้เลย

ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ ที่ไม่รู้จักแยกแยะว่า กรรมฐานที่มีอยู่ระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร ประมาณไหน แต่กลับเหมารวมเอาเข้าไปไว้ด้วยกัน เพราะมีตำรารุ่นหลังๆ ได้รจนาเอาไว้ เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ในหลักการที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรับรองไว้แล้วอย่างชัดเจน

คำว่า  “กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน” ประกอบไปด้วยคำว่า “กรรม” รวมกับคำว่า “ฐาน” ซึ่งแปลได้ความว่า “ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต” ทำไมถึงต้องมีฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตด้วยล่ะ? เพราะกาย วาจา ใจของเรานั้น ล้วนมีการกระทำหรือเคลื่อนไหวส่งออกไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผัสสะอยู่ ภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาของจิต เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของจิตที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะครอบงำ การแสดงออกจึงเป็นไปตามอำนาจของกิเลส กรรม วิบากนั่นเอง

กรรมฐานเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีขึ้น ให้เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ล้วนมี อวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นตัวชักนำทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องติดข้องอยู่ในโลก หรือเรื่องที่พ้นจากโลก ต้องมีกรรมฐานเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

เรื่องติดข้องอยู่ในโลก เป็นเรื่องของจิตที่มีอาการซัดส่าย สับสน วุ่นวาย สุข ทุกข์ ฯลฯ  ไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น เป็นฐานที่ตั้งให้จิตมีการงานด้วยตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นตน เป็นของๆ ตน จนเกิด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการของจิต เป็นวัฏฏะวน ทำให้ต้องเวียนตาย เวียนเกิดไม่มีวันจบสิ้น เพื่อแสวงหาชาติภพใหม่ตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

เรื่องที่พ้นจากโลก เป็นเรื่องของจิตที่หมั่นฝึกฝนอบรมสร้างสติให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้น จนจิตของตนสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ทำให้ชาติภพลดน้อยลง ด้วยการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตให้รู้จักปล่อยวาง ตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ลงไปได้ตามลำดับชั้น จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เมื่อละสังขารไปแล้ว จิตย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดกลับเข้ามาในโลกที่สับสนวุ่นวายอีกแล้ว เรียกว่า จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น ด้วยปัญญาอันชอบ

จึงปรากฏมีพวกนักบวช ที่เกิดความเบื่อหน่ายต่อทางโลก ด้วยประสงค์จะออกจากกิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรม วิบากทั้งหลาย ได้ออกบวช ถือบวช ปลีกวิเวก ทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย เพื่อค้นหาอุบายธรรม การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ กันออกไป นำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อหาวิธีขจัดปัดเป่ากิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรมวิบากทั้งหลายให้หมดสิ้นไปจากจิต

จึงมีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นมากมายในสมัยนั้น ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาในโลกเสียอีก  มีด้วยกันหลายลัทธิ หลายความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เจ้าลัทธิทั้งหลายล้วนมีการอวดอ้างสรรพคุณของตนอย่างมากมายหลายวิธี ว่าลัทธิของตนนั้นสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ กิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรมวิบากทั้งหลาย ประกาศตนว่า เป็นลัทธิที่สามารถบรรลุคุณธรรมชั้นสูงได้

ส่วนพระพุทธองค์ได้ทรงผ่านการค้นคว้าศึกษาจากเจ้าลัทธิเหล่านั้นมาแล้ว และได้รู้ด้วยปัญญาอันชอบของตนเองว่า ความเชื่อทั้งหมดของเจ้าลัทธิทั้งหลายนั้น ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง เป็นเพียงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานแบบหินทับหญ้าเอาไว้เท่านั้น ทำให้กิเลสเบาบางลงได้จริง แต่ไม่สามารถตัดกิเลสให้ขาดจนหมดสิ้นไปจากจิตของตนได้เลย

ดังมีพระพุทธพจน์ในจูฬทุกขักขันธสูตรว่า “เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น (เป็นปีติ สุขที่เกิดขึ้นจากอามีสสัญญา) เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนว่ายมาในกาม มิได้ก่อน”

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงตรัสว่า “เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น (สัมมาสมาธิ เป็นปีติ สุขที่เกิดแต่วิเวก ปราศจากอามีส) เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนว่ายมาในกาม”

เมื่อมาพิจารณาจากพระพุทธพจน์ จะเห็นว่าทรงเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมเช่นกัน แต่ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เพราะปีติและสุขที่มีอยู่นั้น เป็นปีติและสุขที่เกิดจากอามีสสัญญา ยังต้องคอยระวังรักษาสัญญาอารมณ์เหล่านั้นไว้ เกรงว่าจะจืดจางไปนั่นเอง ส่วนที่พระองค์ทรงได้ตรัสรู้นั้น ทรงบรรลุปีติและสุขอันเกิดจากสัมมาสมาธิในองค์อริยมรรค เป็นปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ปราศจากอามีส และสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม

ในช่วงที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ได้ทรงปรารภถึงธรรมที่จะนำไปสั่งสอนว่า เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิต (ผู้ที่มีกิเลสน้อย) เท่านั้นจึงจะรู้ได้ ทำให้พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร ผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนะ และอุทกดาบสรามบุตร ผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๘ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ  ว่าอาจารย์ทั้งสองนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในจักษุน้อยมานานแล้ว เธอทั้งสองจักรู้ธรรม (ดวงตาเห็นธรรม) นี้ได้โดยฉับพลัน เมื่อเธอทั้งสองได้ฟังธรรมนี้ของพระองค์

เมื่อพิจารณาจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ไว้ดีแล้ว จะเห็นว่า รูปฌาน อรูปฌานที่เป็นกรรมฐานอันมีมาก่อนแล้วในเวลานั้น เป็นเพียงกรรมฐานที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่น แต่ยังยึดติดอยู่กับอารมณ์ฌานนั้นๆ เป็นสุขที่ละเอียดอย่างเหนียวแน่น

แต่บุคคลผู้ปฏิบัติรูปฌาน  อรูปฌาน ยังมีความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่า อารมณ์ฌานที่ตนเองได้เข้าถึงอยู่นั้น ยังต้องจืดจางลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากเป็นฌานที่เกิดแต่สัญญาอารมณ์ เป็นฌานที่เอารูป อรูปที่ปราศจากกาม เป็นการเอาอารมณ์ภายนอกกาย มาเป็นองค์กรรมฐาน ยังต้องอาศัย "สัญญา" คอยจดจำอารมณ์ฌานอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถสิ้นสุดหยุดลงด้วยปัญญา เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย

ฌานดังกล่าวจึงเป็นแบบ "หินทับหญ้า" ถ้าอารมณ์ฌานที่เกิดจากสัญญาจืดจางลงไปเมื่อไหร่ ความฟุ้งซ่าน สับสน วุ่นวาย สุขทุกข์ ฯลฯ อาจหวลคืนกลับมาได้ เปรียบเสมือนหินทับหญ้าไว้ เอาหินออกเมื่อไหร่ หญ้ากลับมางอกงามได้อีกครั้ง เพราะ "สัญญา" ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน (อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย) แต่เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ (รูปนาม) เท่านั้น

เมื่อมีบุคคลใดกล่าวถึงการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา มักถูกทึกทักเอาว่า นั่นเป็น "สมถะ" เป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ ฤาษี ชีไพร เป็นพวกติดสุขในฌาน หรือสมาธิหัวตอ ซึมๆ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่เกิดปัญญา ต้อง "วิปัสสนา" เท่านั้น ทั้งๆ ที่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้ระบุถึง "สัมมาวิปัสสนา" เลย

ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น แบ่งออกเป็น
ในหมวดของ "ศีล" ประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
ในหมวดของ "สมาธิ" ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ในหมวดของ "ปัญญา" ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ในอริยมรรคนั้น มี "วิปัสสนาปัญญา" อยู่ในองค์อริยมรรคแล้ว มรรคจึง "สมังคี" ได้ โดยเฉพาะ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ คือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ว่านี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทำให้ดำริที่จะออกจากกาม และออกจากอกุศลธรรม ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติในหมวดของสมาธิ ในองค์อริยมรรค ซึ่งมี "วิปัสสนา" เป็นเบื้องหน้า คือการรู้เห็นอย่างวิเศษในตัวเองอยู่แล้ว

เมื่อพิจารณาหมวดของสมาธิดู จะเห็นว่า "สัมมาสมาธิ" นั้น เป็นเช่น "มีดถากหญ้า" ไม่ใช่แบบ "หินทับหญ้า" โดยเฉพาะข้อแห่งสัมมาวายามะนั้น ชัดเจนว่า
- ไม่ให้หญ้า (อกุศลธรรม) ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
- หญ้าที่เกิดอยู่แล้ว (อกุศลธรรม) ที่มีอยู่แล้ว ให้หมดไป
- ด้วยความเพียรเพ่ง คือ กุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
- เพียรเพ่งจนเข้าสู่ระดับฌาน คือ กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป 

เพราะมีสัมมาสติ คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติทุกลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ รู้ตลอดทุกลมหายใจ ย่อมปิดกั้นเหล่าอกุศลธรรมทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้นมาได้เลย

ส่วน "มีดถากหญ้า" นั้น จะมีความคมกริบ (ปัญญา) ได้เท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา กระทำให้มาก เจริญให้มาก ในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค เพราะความคมกริบของมีดนั้น สามารถตัดเงื่อนต่อของอุปกิเลสทั้งหลายได้เด็ดขาดฉับพลัน โดยไม่ต้องเสียเวลาใดๆ เลย

มีพระพุทธพจน์ที่ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา
 ไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ฉันใด
ภิกษุเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ 
ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน"


เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ จะเห็นได้ว่า การเจริญให้มาก กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นบุคคลผู้เข้าถึงนิพพานได้ แสดงว่า การปฏิบัติ "สัมมาสมาธิ" จนสามารถเข้าออกฌานได้อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญเป็น "วสี" ต้องอาศัย "ปัญญา" เท่านั้นจึงกระทำได้ เพราะฌานในสัมมาสมาธินั้น ไม่ใช่ทั้งรูปฌานและอรูปฌานนั่นเอง

มีพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า
"นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ เสว นิพฺพาน สนฺติเก

ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน
ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้พระนิพพาน"

ทำไมต้องใช้องค์กรรมฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร? เนื่องจากกรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสกับอัคคิเวสนะว่า “เมื่อได้ติดตามพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตแห่งจิตได้”

สติปัฏฐาน ๔ เป็นองค์กรรมฐานที่เกิดขึ้น ณ ภายในกาย อาศัยกายสังขารเป็นองค์กรรมฐานภาวนา ทำให้จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติเห็นอาการของจิตได้อย่างชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ปรากฏออกมาให้พิจารณาในขณะปฏิบัติภาวนาเจริญกรรมฐานอยู่

ดังที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “สติปัฏฐาน ๔ สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นจัดไปตามอาการของเวทนา ของจิต ของธรรม แต่ทั้ง ๔ มารวมอยู่ที่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว นอกนั้นคือ เวทนา จิต และธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน เพราะมีอาการเป็นอย่างเดียวกัน”

เช่น เวทนาที่ปรากฏขึ้นในขณะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอยู่นั้น ทำให้จิตได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน (คือจิต) เป็นเพียงอาการของจิตที่เข้าไปยึดถือเอาเวทนานั้นมาเป็นตน ทั้งที่ไม่ใช่ตน เพราะเวทนาเป็นเรื่องของกายล้วนๆ ส่วนที่กระทบมาถึงจิตจนมีอาการของจิตออกมาได้นั้น เนื่องจากขณะนั้นจิตขาดสติกำกับ จึงไปยึดมั่น ถือมั่น เอาเวทนาที่ปรากฏอยู่นั้น มาเป็นตน เป็นของๆ ตนนั่นเอง จึงเกิดอาการทุรนทุรายไปกับเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอยู่นั้น

ต่อเมื่อสามารถเพียรเพ่งประคองจิตของตน ให้อยู่กับองค์ภาวนาได้ด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากความสงบ มีสติ มีสัมปชัญญะ จิตตั่งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ ย่อมปรากฏ “ธรรมอันเอก” ผุดขึ้นมาให้พิจารณา จิตเห็นจิตได้อย่างชัดเจน จิตรู้ชัดซึ่งอาการของจิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจากจิต เห็นธรรมในธรรมทั้งสองฝั่งอย่างชัดเจน อันมีธรรมฝ่ายเกิดคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และธรรมฝ่ายดับ คือความสิ้นไปของราคะ โทสะ โมหะ ด้วยวิราคธรรม แยกเป็นฝ่ายสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว กับ ฝ่ายขัดข้อง สับสน วุ่นวาย อีกมากมาย

เมื่อบุคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานในหมวด “สมาธิ” แห่งองค์อริยมรรค ด้วย “สัมมาวายามะ” เพียรประคองจิตให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ด้วย “สัมมาสติ” คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่  จิตย่อมรวมลงเป็น “สมาธิ” มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็น “อุเปกขา สติ ปาริสุทธิง” จิตมีสติบริสุทธิ์กุมเฉยอยู่

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้

“ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก…
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก ….
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ ….
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้
ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านไม่ได้เลย แม้ฉันใด


จิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้
เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันนั้น เหมือนกันแล


จิตย่อมรู้ชัด “เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ  ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบ คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี กิเลสดับ เป็นพระนิพพาน (สิ้นทุกข์)” 

เป็นการพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้า พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานอยู่นั้น ย่อมพิจารณารู้ชัดว่า ถึงความแตกต่าง ระหว่าง ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ กับ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ

เปรียบเหมือน “มีดถากหญ้า” ที่บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานคอยลับให้คมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตัดเงื่อนต่อแห่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เข้ามากระทบ ให้ร่อนออกไปในทันที ที่กระทบจิตของตน อารมณ์ไม่สามารถเจือติดที่จิตของบุคคลผู้นั้นได้เลย ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิดและความดับแห่งอายตนะ สาธุ.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔









 



Create Date : 31 สิงหาคม 2564
Last Update : 16 มกราคม 2565 10:28:53 น.
Counter : 253 Pageviews.

0 comment
นิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี


🌷  นิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระ ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
ณ บัดนี้ ให้พากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา

เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า สำรวมจิตสำรวมใจของตน อย่าส่งจิตออกไปในเรื่องอดีต เพราะเป็นเรื่องที่ได้ผ่านพ้นมาแล้ว อย่าส่งจิตไปในเรื่องอนาคต เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นอันยังมาไม่ถึง

มาอยู่กับปัจจุบันขณะนี้ ที่เป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องมีความตั้งใจ ที่จะสร้างสติ ประคองจิตของตนให้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องล่อให้จิตมีสติตั้งมั่นไว้กับองค์ภาวนา

องค์ภาวนานั้นมีมากมายหลายแบบ แต่ขอให้เป็นองค์ภาวนาที่มาจากกายสังขาร ที่เกิดจากกาย อย่าไปใช้องค์ภาวนาซึ่งเป็นอารมณ์ภายนอกกาย เพราะจะทำให้เกิดเป็นสัญญาอารมณ์ขึ้น เกิดความลุ่มหลงในสัญญาอารมณ์นั้นได้

เพราะสัญญานั้นเป็นเพียงขันธ์ ซึ่งไม่เที่ยง อนิจจตา เป็นทุกข์ ทุกขตา ไม่ใช่ตน อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย อนัตตตา

อารมณ์ที่เกิดจากสัญญานั้น ย่อมต้องจืดจางลงไปได้ตามกาลเวลา ทำให้จิตที่ลุ่มหลงยึดมั่นอยู่กับอารมณ์นั้น ต้องคอยกระหวัดนึกถึงอารมณ์ที่ลุ่มหลงยึดมั่นอยู่นั้นตลอดเวลา ยังเป็นทุกข์ด้วยเกรงว่า อารมณ์ที่ลุ่มหลงอยู่ ยึดอยู่ จะจืดจางลงไป

การใช้องค์ภาวนาที่เกิดจากกายสังขาร ย่อมทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติได้เห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ขององค์ภาวนาเองที่ใช้เป็นอารมณ์อยู่ เมื่อเพียรประคองจิตจนสามารถปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นองค์ภาวนาอยู่นั้นได้ เหมือนที่เรามักจะได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้วว่า เมื่อภาวนาไป ภาวนาไป องค์ภาวนา พุทโธหาย จิตจะเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในระดับหนึ่ง นี่เราพูดถึงบุคคลผู้ที่สนใจใฝ่หาความหลุดพ้นจากทุกข์

ส่วนภัยใหญ่ของชีวิต สำหรับบุคคลผู้ที่ยังจมปลักติดอยู่ในโลกนั้น คือความคิดที่ลุ่มหลงในกามคุณและอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะขาดการภาวนามยปัญญา ทุกวันนี้ คนมักมองแต่เรื่องภายนอกตัวทั้งสิ้น ด้วยกังวลกลัวภัยที่จะมีมาจากภายนอก ทั้งที่ภัยเหล่านั้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ตนได้สร้างมันขึ้นมาเอง โดยกิเลส ตัณหา อุปาทาน มานะ ทิฐิ บุคคลสามารถหลบหลีกหลีกเลี่ยงผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

แต่ภัยที่เกิดจากกิเลสกามและอกุศลธรรมที่ตนเองได้เคยก่อไว้จนกลายเป็นวิบาก คงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงหลบหลีกให้พ้นไปจากภัยเหล่านั้นได้ ส่วนจะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้หรือไม่นั้น ต้องมาดูกันว่าปัจจุบันเรารู้จักภัยใหญ่ของชีวิตที่แท้จริงหรือยัง

ภัยใหญ่ที่ว่านั้นคือ ราเคนะ โทเสนะ โมเหนาติ จิตที่เศร้าหมองไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ ที่มีในตนเอง อันเกิดจากความรู้สึกนึกคิดที่ยังลุ่มหลง มีฉันทะราคะไปในเรื่องราวต่างๆ ที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เป็นอารมณ์ที่ชวนให้รัก ชักให้หลง ทำให้เกิดความกำหนัด ก็เพลินยิ่งเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

ส่วนอารมณ์ที่ชวนให้ชัง ชักนำให้โกรธ ทำให้เกิดพยาบาท ก็เป็นการสร้างกิเลสกรรม วิบาก ฝังแน่นลงไปในความรู้สึกนึกคิดที่ลุ่มหลงนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรหมั่นเพียรฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้รู้จักคิดเป็น เมื่อคิดเป็น ก็เย็นได้ เมื่อคิดไม่เป็น ก็เย็นไม่ได้ ไม่ร้อนรุ่มไปกับ ราคะคินา โทสะคินา โมหะคินา คือ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ โดยเปลี่ยนความคิดที่ลุ่มหลงนั้น ให้มาลงในการสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิตของตนให้ได้

มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ดังนี้

“เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ
ยตฺถพาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ

พวกเธอทั้งหลาย จงดูโลก (ร่างกาย) อันวิจิตรดุจราชรถ
ที่คนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่ผู้รู้ หาข้องไม่”


จากพระธรรมบท จะเห็นว่าบุคคลผู้จมปลักอยู่ในโลก เหมือนจิตที่ยึดมั่นเอาขันธ์ ๕ มาเป็นตน (ขันธ์ ๕ ก็คือ อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์)

บุคคลจะลุ่มหลงในร่างกายที่ต้องปรุงแต่ง แต่งเติมอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนราชรถที่งดงามวิจิตรที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่บุคคลผู้สนใจไฝ่หาธรรมหลุดพ้นจากทุกข์นั้น หาข้องด้วยไม่

เพราะบุคคลผู้ที่ลุ่มหลงอยู่ในโลก คือ ร่างกายที่ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ หรือรูปนามนี้ อันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ บุคคลเช่นนั้นย่อมติดอยู่ในนิวรณ์ (นิวรณ์ ๕ คือ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ๕ ประการ)

เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมากระทบจิต ก็ย่อมผลักดันให้เริ่มแสดงอาการหวั่นไหวทางจิตขึ้นมาก่อน ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ดังนั้นถ้ายังมีนิวรณ์อยู่ตราบใด จิตก็ไม่มีโอกาสเป็นสมาธิอยู่ตราบนั้น

บุคคลผู้ปฏิบัติ จึงต้องรู้จักทำนิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด รู้วิธีละนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และรู้จักทำนิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดอีกต่อไป

เรามาเริ่มที่ร่างกาย ที่มีมาใน “กายสูตร” กายจะดำรงอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยอาหาร

อาหารของกายที่สำคัญอันดับ ๑ คือ การนอน เมื่อคนเรามักนอนมากจนเกินไปนั้น ทำให้จิตซึมเซา เกียจคร้านการงานทั้งหลาย

อาหารที่ ๒ คือ การกิน ลองพิจารณาดูว่า เมื่อวันนึงวันนึง เราเอาแต่หาอะไรกินทั้งวี่ทั้งวัน กินแล้วก็นอน ดังมีคำโบราณที่ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าบุคคลใดเก่งเรื่องกินกับเรื่องนอนเสียแล้ว ชีวิตของบุคคลนั้น หาอะไรเก่งอีกไม่ได้เลย

ฉะนั้นนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา จึงต้องฝึกฝนอบรมตนเอง ด้วยการอดนอนผ่อนอาหาร ดังที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทางสายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมักแนะนำให้ทำกัน เพราะจะทำให้เบากายเบาใจ เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา เพราะการนอนมากไปกับการกินมากไป จะไปทับธาตุขันธ์ให้หนัก ทำให้การภาวนาก็จะไม่ก้าวหน้าเช่นกัน

แม้ นิวรณ์ ๕ ก็มี อาหาร คือ มีปัจจัยให้เกิดให้ดำรงอยู่ คือ
๑. กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ มีศุภนิมิต ความสวยงาม เป็นอาหาร
๒. พยาปทะ ความคิดเบียดเบียน มีปฏิฆะนิมิต ความหงุดหงิด เป็นอาหาร
๓. ถีนมิทธะ ความซึมเซา ง่วงเหงาหาวนอน มีความเบื่อระอา ความเกียจคร้าน ความเฉยชา ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง ความมีใจหดหู่ เป็นอาหาร (ข้อถีนมิทธะนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่า เป็นผลที่เกิดจากอาหารของร่างกาย มันทับธาตุขันธ์เอา จนจิตของตนเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมอง ย่อมนำไปสู่เรื่องราวที่วุ่นวายขัดข้องตามมาอีกมาก)
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน มีความไม่สงบระงับภายในใจ เป็นอาหาร
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย มีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย เป็นอาหาร

นิวรณ์เกิดและดับเพราะอะไร?
พระองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ศุภนิมิต อันเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นว่าสวยงาม ทำให้กามฉันทะเกิด
ส่วนปฏิฆะนิมิต อันเป็นสิ่งที่ปรากฏแล้ว ทำให้ใจหงุดหงิดไม่ยินดีพอใจ ทำให้เกิดพยาบาท และทำให้พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วลุกลามใหญ่โตขึ้น
ความไม่ยินดี อรติ ความคร้าน ตฺนทิ ความบิดขี้เกียจ วิชมฺภิกา ความเมาอาหาร ภตฺตสมฺมโท ความหดหู่แห่งจิต เจตโสลีนตฺตํ ทำให้ถีนมิทธะเกิด และทำให้ถีนมิทธะที่เกิดแล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ความไม่สงบใจ เจตโส อวูปสโม ทำให้อุทธัจจะกุกกุจจะเกิด และทำให้อุทธัจจะกุกกุจจะที่เกิดแล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ความคิดที่ไม่แยบคาย อโยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดวิจิกิจฉา และทำให้วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ในการดับนิวรณ์ ๕ นั้น ตรัสว่า

อศุภนิมิต ความไม่สวยไม่งาม ล้วนเป็นปฏิกูลเน่าเปื่อย ดับกามฉันทะ
เมตตาเจโตวิมุตติ ดับพยาปทะ
ความริเริ่มบำเพ็ญเพียร ความมุ่งมั่น ความบากบั่น ดับถีนมิทธะ
เจตโส วูปสโม ความสงบใจ ดับอุทธัจจะกุกกุจจะ
โยนิโสมนสิการ ความคิดที่แยบคาย ดับวิจิกิจฉา

นิวรณ์เองก็ต้องอาศัยปัจจัยทำให้เกิดเช่นกัน เมื่อมีขันธ์ ๕ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารูปนามก็ได้

เมื่อมีอารมณ์ รูป มากระทบจิต ความรู้สึก ความจำได้หมายรู้ ความนึกคิด อันเนิ่องด้วยอารมณ์นั้น (นาม) ย่อมเกิดขึ้นด้วยเป็นธรรมดา

รูปนาม หรือขันธ์ ๕ ย่อมต้องมีช่องทางในการรับอารมณ์เข้ามาสู่จิต ซึ่งเราเรียกว่าอายตนะ ๖ ช่องทาง สำหรับรับรู้อารมณ์ต่างๆ ของจิต มี ๖ ช่อง

อายตนะ ๖ นี้ อุปมาเหมือนกับคนที่ชะโงกดูทิวทัศน์ทางหน้าต่างของบ้านที่มีอยู่ ๖ หน้าต่างด้วยกัน ดังนั้นหน้าต่างจึงเป็นเพียงช่องทางให้คนดูและได้แลเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกบ้านเท่านั้น ถ้าปิดหน้าต่างเสียให้หมด คนดูก็ยังอยู่คงอยู่ในบ้าน และรู้ว่ามองไม่เห็นอะไร ข้อนี้ฉันใด

จิตก็อาศัยอายตนะ ๖ ช่องนี้ สำหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก ถ้าออกไปรับรู้อารมณ์ทางตา เมื่อตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ เมื่อทั้งสามมารวมกันเกิดผัสสะ เมื่อมีผัสสะย่อมต้องมีความชอบชัง ความน่ารัก น่าใคร่ ติดใจ ยินดี ยินร้าย เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เรียกว่าเวทนา มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

ทางหูได้ยินเสียง ก็เป็น โสตวิญญาณ
ทางจมูกได้รับกลิ่น ก็เป็น ฆานะวิญญาณ
ทางลิ้นได้รับรส ก็เป็น ชิวหาวิญญาณ
สัมผัสทางกาย ก็เป็น กายวิญญาณ
นึกคิดทางใจที่เรียกว่าธัมมารมณ์ ก็เป็นมโนวิญญาณ ที่มโนวิญญาณรับเข้ามานั้น ล้วนเป็นอารมณ์

อารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่จิตหลงยึดถือเอาเข้ามาเป็นสมบัติของตนเอง ด้วยความสำคัญผิด เพราะความจริงนั้น อารมณ์เป็นเพียงเงา และความรู้สึกที่มีต่อวัตถุหรือสิ่งของที่อาศัยวัตถุเกิดขึ้นทั้งนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุดินน้ำลมไฟ รวม ๔ ธาตุทั้งสิ้น ซึ่งไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป ต้องเสื่อมสลายแตกดับไปเป็นธรรมดาทุกอารมณ์

อารมณ์ ดังกล่าวนี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย รวม ๕ ทาง ซึ่งจะเข้าสู่จิต ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียงคู่กันไปตามลำดับ

เมื่อจิตรับรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว ก็จดจำอารมณ์เหล่านั้นไว้ ในรูปของธัมมารมณ์ที่มโนทวาร แล้วนึกน้อมเอาอารมณ์เหล่านั้นกลับขึ้นมารับรู้ได้อีก เป็นอารมณ์ที่เกิดจากความนึกคิดที่เก็บไว้ในใจ อีกทางหนึ่ง รวมเป็น ๖ ทาง

อารมณ์ทั้ง ๖ ดังกล่าว คือ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปสู่จิตทีละอารมณ์ ตลอดเวลาที่ตื่นนอน รวมทั้งในขณะนอนฝันด้วย สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชนิดใด ครั้งละเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น

เมื่ออารมณ์ดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นเมื่อใด จิตก็จะแล่นออกไปรับรู้อารมณ์ ตามช่องทางที่อารมณ์เข้ามา ผัสสะกันเมื่อไหร่ กลายเป็นจิตผสมกับอารมณ์ไปเมื่อนั้น ทำให้มีความฟุ้งซ่านหวั่นไหวเกิดขึ้นที่จิต

ครั้นอารมณ์ดังกล่าวนี้ดับไป ความรู้สึกฟุ้งซ่านหวั่นไหว ก็ย่อมสงบลงชั่วขณะ จากนั้นจิตก็จะดิ้นรนแสวงหา อารมณ์อันอื่นมายึดไว้เพื่อจะได้รับรู้ต่อไปอีก สุดแต่ว่าจะได้อารมณ์ที่พอใจจากช่องทางใด เมื่อรับรู้อารมณ์ใหม่ก็เกิดความรู้สึกฟุ้งซ่านหวั่นไหวในลักษณะใหม่ไปด้วย อารมณ์เหล่านี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาปรุงแต่งจิตตลอดเวลาโดยไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งนี้เป็นเพราะจิตไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง จึงหลงยึดเอาอารมณ์ทั้งหลายซึ่งไม่เที่ยงไว้ โดยเข้าใจผิดว่าเที่ยงและมีแก่นสาร เนื่องจากไม่รู้จักจิตของตนเองที่แท้จริง

นิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เป็นอุปกิเลสของจิต จาก “อุปกิเลสสูตร” พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า

สิ่งที่ทำให้ทองคำเสื่อมคุณภาพลง หมายถึงอุปกิเลสมี ๕ อย่าง คือ ๑. เหล็ก อโย ๒. โลหะ โลหํ ๓. ดีบุก ติปุ ๔. ตะกั่ว เสสํ ๕. เงิน สชฺฌูต สิ่งทั้ง ๕ นี้ ทำให้ทองคำไม่นุ่ม ไม่พร้อมที่จะใช้งาน สีไม่สุก เปราะ และเอาดีไม่ได้

จิตก็เหมือนกัน มีอุปกิเลส ๕ อย่างที่ทำให้ไม่นุ่มนวล ไม่เหมาะที่จะใช้งาน ไม่ผุดผ่อง หมดสภาพ และไม่มั่นคงสำหรับที่จะสิ้นอาสวะได้ อุปกิเลส ๕ อย่างนั้น คือ นิวรณ์ ๕ อันมี กามฉันทะ พยาปทะ ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

อันตรงข้ามกับ โพชฌงค์ ๗ ซึ่งไม่เป็นเครื่องกีดขวางจิต ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต เมื่อบุคคลกระทำให้มาก เจริญให้มากแล้ว มีแต่จะทำให้แจ้งซึ่งวิชชาและวิมุตติ เพื่อความสิ้นสังโยชน์ เพื่อความสิ้นอาสวะ เพื่อถอนอนุสัย เอวัง.

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศน์วันพระ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔





Create Date : 12 กรกฎาคม 2564
Last Update : 12 กรกฎาคม 2564 15:01:32 น.
Counter : 4638 Pageviews.

0 comment
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางไปสู่อมตะ


🌷 อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางไปสู่อมตะ

เจริญสุข สวัสดี วันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระ ๘ ค่ำ เดือน ๘ 
ณ บัดนี้ พากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา 

จงนั่งขัดสมาธิภาวนา สำรวมจิต สำรวมใจของตน ให้มีสติตั้งมั่นอยู่กับกายของตน อย่าปล่อยจิตให้ออกไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย หรือส่งจิตออกไปภายนอกกาย เมื่อจิตไม่อยู่กับกาย สมาธิย่อมยังไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น เพียรเอาสติมาแนบกับกายของตนให้ได้ แล้วมาดูจิต ในขณะที่จิตเป็นสมาธิสงบตั้งมั่น พิจารณาไปตามกระแสธรรมที่เห็นที่เกิดขึ้น พิจารณาจิตเห็นจิตเป็นภายใน
อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ
เมื่อปฏิบัติจนเห็นจิตตัวในแล้ว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบ

เพราะบุคคลผู้ลงมือปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง ย่อมรู้จักจิตและอาการของจิตได้อย่างถูกต้องแท้จริง ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว จิตก็คือธาตุรู้ ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย แต่ด้วยอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุให้จิตจมปลักติดอยู่ในโลก

โลก คือ อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ทำให้จิตไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ อันมี
ทุกฺเข อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทุกข์)
ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์)
ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ (ไม่รู้จักการดับทุกข์)
ทุกฺขนิโรธคามินียาปฏิปทาย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์)
เพราะมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น จึงทำให้จิตไม่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง

ส่วนบุคคลที่ยังปฏิบัติไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร มันเป็นเรื่องของจิตตัวเดียว ที่ยังปฏิบัติธรรมไม่ได้นั้น ก็เพราะจิตมันยังชอบไปรู้อยู่ที่เรื่อง ไม่ใช่มารู้อยู่ที่รู้ มันยังปรุงแต่ง อยากไปโน่นไปนี่ มันมีธุระของจิตเอง มันเอาเรื่องธัมมารมณ์ที่ผุดขึ้นมา จากสัญญาบ้าง จากเวทนาบ้าง จากวิญญาณบ้างมาปรุงแต่ง บางครั้งมันก็ไปเอาเรื่องข้างนอกมาปรุงแต่งบ้าง

ส่วนบุคคลผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้และประคองจิตของตนสำเร็จนั้น ต้องรู้จักตัดใจให้เป็น คือ รู้จักปล่อยวางตัณหา อุปาทาน มานะ ทิฏฐิ ออกไปบ้าง อย่าไปปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และที่เป็นปัจจุบันด้วย ให้รู้จักวิธีเพียรพรากจิต เปลื้องจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นให้ได้ ด้วยการเพียรเพ่งภาวนา ประคองจิตของตนให้สงบตั้งมั่นอยู่กับนิมิตหมายแห่งจิต หรือ ฐานที่ตั้งของสติ  ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ที่เราได้อุปโลกน์ขึ้นในใจมาอย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่

เมื่อทำงานทางจิตได้สำเร็จโดยการประคองจิตของตน จิตจะค่อยๆ สงบราบเรียบลง ไม่กระเพื่อม มีสติตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เวียนเข้ามาเป็นวัฏฏะวน จรเข้ามาปะทุจิตของตน

นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา จำเป็นต้องทวนกระแสโลกีย์อย่างมาก เพราะอารมณ์ทางโลกมีเครื่องเย้ายวนชวนให้หลง กวนอารมณ์ให้ฟุ้งซ่าน ให้กระเพื่อมอย่างมากมายไปกับรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี ความต้องการสัมผัสหรือธัมมารมณ์ที่เคยต้องการ ชวนให้รัก ชักให้หลง พาให้กำหนัดอยู่เรื่อย เราต้องฝืนอารมณ์เหล่านั้นด้วยการรู้จักวางจิตของตนไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ เพื่อทำให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว เป็นการปล่อยวางอารมณ์ที่มากระทบในขณะนั้นออกไปให้ได้ ต้องหมั่นฝึกฝนอบรมบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อให้ได้นิมิตหมายแห่งจิต

บุคคลผู้ได้นิมิตหมายแห่งจิตย่อมได้เครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน มีธรรมบทจากพระสูตร ดังนี้

ดูก่อนอัคคิเวสนะ ก่อนหน้านี้ จิตของเราตั้งอยู่ในสมาธินิมิตอะไร 
เมื่อเรากล่าวคาถานี้จบลง เราก็สามารถนำจิตของเราให้ไปตั้งมั่นอยู่ในสมาธินิมิตนั้นได้ทันที


แล้วพระองค์ยังทรงได้ตรัสต่อไปอีกว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เฉียบแหลม 
เมื่อได้ติดตามดูกายในกาย ดูเวทนาในเวทนา ดูจิตในจิต ดูธรรมในธรรมทั้งหลาย 
เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ สัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 
จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตแห่งจิตได้


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้น 
ย่อมได้สมาบัติ (สมาบัติ คือ ความสงบอันพึงเข้าถึง) อันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน 
ย่อมมีสติ มีสัมปชัญญะ  ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด
 

ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเพราะ 
ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม กำหนดนิมิตแห่งจิตของตนได้


จากพระธรรมบทนี้ เราจะเห็นว่า บุคคลผู้ที่มีสติคอยควบคุมคอยคุ้มครองจิต หรือมีสติปัฏฐานนั่นเอง เมื่อมีสติปัฏฐานเป็นนิมิตแห่งจิตของตนแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมได้สมาบัติ สภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึง อันเป็นเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมหมายถึงว่า ไม่ว่าจะเป็นเวลาหลับตาหรือเวลาลืมตาก็ตาม ก็ได้ประโยชน์จากการฝึกอบรมจิตของตน ให้มีฐานที่ตั้งของสติ

เมื่อจิตอยู่ที่ไหน สติก็จะอยู่ที่นั่น
เมื่อสติอยู่ที่ไหน  สมาธิก็จะอยู่ที่นั่น
เมื่อสมาธิอยู่ที่ไหน  ปัญญาก็จะอยู่ที่นั่น
เมื่อปัญญาอยู่ไหน ศีล (คือเจตนางดเว้น) ก็จะอยู่ที่นั่นเช่นกัน

ทั้งหมดนี้เราต้องสร้างทางเดินของจิต ที่เรียกว่า มรรคจิต ขึ้นมา เพื่อทำจิตให้มีสติทำจิตให้มีสมาธิ ทำจิตให้เกิดปัญญาขึ้นที่จิต เป็นอริยมรรค ทางเดินของจิตสู่ความเป็นอริยะ เป็นทางที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์หรือพรหมจรรย์

มีภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระพุทธองค์ว่า 
พรหมจรรย์คืออะไร

มีพระดำรัสตอบว่า 
อริยมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่
สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ 
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมมาสติ สัมมาสมาธิ

คือ พรหมจรรย์

และที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คือ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ

ภิกษุรูปนั้นยังถามพระพุทธองค์ต่อไปอีกว่า
คำว่า กำจัดราคะ กำจัดโทสะ กำจัดโมหะ หมายถึงอะไร

ตรัสตอบว่า ทั้ง ๓ นั้นหมายถึง นิพพานธาตุ
ฉะนั้น นิพพานธาตุ จึงได้ชื่อว่า ธรรมอันเป็นเครื่องสิ้นไปแห่งอาสวะ อาสาวักขยะ


ภิกษุนั้นทูลถามอีกว่า
อะไรคืออมตะ อะไรคือทางให้ถึงอมตะ

ตรัสตอบว่า
ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรียกว่า อมตะ
อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นคือ ทางไปสู่อมตะ


เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา
เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ
แปลว่า
ทางเดินที่จะทำความเห็นให้บริสุทธิ์หมดจด มีเพียงทางนี้ทางเดียวเท่านั้น 
ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นทางที่มารและเสนามารหลง
 
ทางนั้นคือทางเดินของจิตเพื่อไปสู่ความเป็นอริยเจ้า คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

เราสามารถแบ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นออกเป็น ๓ หมวดด้วยกัน
เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็น ศีล
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็น สมาธิ
สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ  จัดเป็น ปัญญา

ศีล ย่อมเปรียบเหมือนรากแก้ว
สติและสมาธิ เปรียบเหมือนเปลือกและกระพี้
ปัญญา เปรียบเหมือนแก่นของต้นไม้ ที่มีกระพี้และเปลือกห่อหุ้มอยู่
จึงทำให้ต้นไม้นั้นมีกิ่งก้านสาขาใบและดอกผลที่สมบูรณ์ได้
ศีลจึงเป็นธรรมอันงามในเบื้องต้น

เมื่อพูดถึงศีลแล้ว โดยเฉพาะศีล ๕ ใครว่าไม่สำคัญ

อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ . . . .  เหล่านี้คือสิกขาบทห้าประการ
สีเลนะ สุคะติง ยันติ . . . . . . . . บุคคลย่อมไปสู่สุคติก็เพราะศีล
สีเลนะ โภคะสัมปะทา . . . . . . . ย่อมถึงพร้อมด้วยโภคะสมบัติก็เพราะศีล
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ . . . . . . . . ย่อมไปสู่นิพพานก็เพราะศีล
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย . . . . . . . . เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด ฯ

จากพระบาลีพร้อมคำแปล เราจะเห็นว่า ศีล ๕ นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย โดยเฉพาะนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานด้วยแล้ว เมื่อพูดถึง ศีล ๕ สำหรับ ชาวบ้านเราท่านทั่วๆไป นั้น เป็นเพียงแค่ข้อห้าม เพราะกำลังจิตกำลังใจยังอ่อนแอ สืบเนื่องจากยังคลุกเคล้าตีโมงอยู่กับสังคมรอบตัว ส่วนนักบวชหรือนักปฏิบัติภาวนา นั้น เป็นงานสำคัญที่ต้องวิรัติ คือต้องงดเว้นให้ได้

แต่ปัจจุบันกลับถูกมองข้ามความสำคัญของศีล ไปอย่างน่าเสียดายอย่างมาก 

เมื่อกล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญา นักปฏิบัติธรรมคนรุ่นใหม่ กลับไปให้ความสำคัญกับข้อสุดท้ายเท่านั้น คือ ปัญญา ที่ชอบนำมาอวดกันว่า เมื่อได้ผ่านการ ปฏิบัติวิปัสสนาปัญญามาแล้ว ตัวสติสมาธิ ย่อมจะเกิดมีขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้ เพราะสตินั้นต้องเพียรสร้าง สมาธิต้องเจริญให้เกิดขึ้น

หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ได้เคยเทศน์ไว้ว่า ถ้าเจออาจารย์วิปัสสนา ก็จะเล่นแต่วิปัสสนา ให้พิจารณาโน่น พิจารณานี่ ทั้งที่จิตของตนยังไม่มีกำลังพอ การพิจารณาก็ปรุงแต่งจนกลายเป็นวิปัสสนูหรือเป็นวิปัสสนึกไปเลยก็มี

ถ้าบุคคลผู้ปฏิบัติ ลองขาดคุณธรรมขั้นพื้นฐาน คือ ศีล ๕ เสียแล้ว ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดวิปัสสนาปัญญาได้เลย เพราะขาดสำนึกที่ถูกต้องว่าจะทำอย่างไร ตนเองจึงจะมีพลังจิตที่จะวิรัติ คืองดเว้นข้อห้ามเหล่านี้ได้

การปฏิบัติธรรมจนสามารถวิรัติแค่ศีล ๕ ได้นั้น มีความหมายที่ยิ่งใหญ่มากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในทางพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว เพราะพระอริยเจ้าในขั้นต้นนั้น ที่เรียกว่า พระโสดาบัน ท่านต้องมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์ คือสามารถวิรัติได้แล้วเท่านั้น ไม่มีวันที่ท่านจะละเมิดศีล ๕ เลย เพราะเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง ในการก้าวข้ามโคตรในแบบที่ไม่มีการย้อนคืนกลับมาเป็นปุถุชนอีกแล้ว

แต่ก็ยังมีนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ในบางหมู่บางเหล่า ที่มีศีล ๕ ที่วิบัติ ย่อยยับคาตาโดยมีผู้พบเห็น ไม่มีความละอายต่อบาป อาหิริกัง รวมกับความไม่เกรงกลัวต่อบาป อโนตตัปปัง กลับใช้วิธีการสร้างภาพ โดยอาศัยบุคลิกลักษณะของตนที่น่าเชื่อถือ มีวาจาไพเราะ นุ่มนวล ชวนให้รัก ชวนให้หลงเชื่อไปว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมขั้นอริยะแต่งตั้งกันขึ้นเอง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว หามีคุณธรรมเหล่านั้นในตนเองไม่ เพราะขาด “ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง” อันเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการรักษาศีล ๕ อันงามในเบื้องต้น ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้เลย และไม่มีภูมิรู้ ภูมิธรรมหรือหลักธรรมแท้ ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต่อพระนิพพานในเบื้องหน้าเลย

นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานคนรุ่นใหม่ มักมองข้ามความสำคัญนี้ไปอย่างน่าเสียดายคนเราถ้าลองขาด “ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง” เสียแล้ว ซึ่งมีความสำคัญเป็นเบื้องต้น ก็อย่าหวังมีความก้าวหน้าในภูมิรู้ ภูมิธรรม จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากศีล ๕ นั้น เมื่อเทียบกับอาบัติปาราชิก ที่เป็นอาบัติหนักแล้ว ก็เข้าไปตั้งไม่รู้กี่ข้อที่เกี่ยวข้องกับอาบัติปาราชิก อันทำให้ขาดจาก “ความดีแบบถาวร” ไป

ขอฝากโศลกธรรมของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ ไว้ดังนี้
อยากพ้นทุกข์ ให้วางสุขในโลก
อยากพ้นโศก ให้วางสุขในรัก
อยากดีเด่น ย่อมเป็นทุกข์ร่ำไป
ให้ละวาง จึงถูกทางพ้นทุกข์

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศน์วันพระ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔


 



Create Date : 06 กรกฎาคม 2564
Last Update : 12 กรกฎาคม 2564 15:02:58 น.
Counter : 611 Pageviews.

0 comment
ปัจฉิมโอวาท จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด


🌷 ปัจฉิมโอวาท จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด  

ปัจฉิมโอวาท พระพุทธองค์ได้ทรงห่วงใยตรัสสั่งเสียไว้ในวันที่ปรินิพพาน อันเป็นอนุสาสนีย์ครั้งสุดท้าย ที่มีสาระสำคัญอย่างยิ่ง ได้ให้ไว้กับ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เพื่อนำไปสมาทานปฏิบัติตน ตรงตามธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงให้ไว้ เพื่อบรรลุผลแห่งการปฏิบัติธรรม ดังปัจฉิมโอวาทานุสาสนี ว่า

"หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
วะยะธัมมา สังขารา
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
นี้เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต ฯ"


ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั่วไป ที่สักๆ แต่ว่าฟังพระปัจฉิมโอวาท แล้วไม่นำมาตริตรองใคร่ครวญให้รอบคอบถี่ถ้วนแล้ว มักมองเป็นเพียงว่า พระพุทธองค์ทรงต้องการแค่ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แค่อย่าเลินเล่อ เผอเรอขาดสติ มีความรอบคอบก็เพียงพอแล้ว โดยไม่เฉลียวใจเลยสักนิดว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันหมดในทางปฏิบัติ เพียงแต่ในบางครั้งบางคราวได้ละไว้ในฐานที่เข้าใจ

สำหรับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงตามพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดีแล้ว ย่อมมองเห็นความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันตามความเป็นจริง

คำว่า "อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ" หมายความว่า ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมนั้น ไม่ใช่เพียงแค่สักๆ แต่คิดว่าคอยระมัดระวังอินทรีย์ไม่ให้เลินเล่อ เผอเรอ เพียงแค่นี้ก็ได้ชื่อว่า "ไม่ประมาท" แล้ว นั่นเป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ที่เราได้สมาทานตั้งเจตนาจดจำเอาไว้ นำมารองรับ แต่จะให้ถึงพร้อมโดยไม่ประมาทได้นั้น เป็นธรรมที่จะให้เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก ด้วยเพียงแค่ตรึกนึกคิดจนความคิดตกผลึก เป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังเป็นปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสที่ยังไม่ได้อบรมจิตด้วยความเพียรเพ่ง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เหล่านั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้มากด้วยการตรึกธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม (ธรรมวิหาริกสูตร)

ส่วนพระอริยบุคคลที่ยังไม่หลุดพ้นโดยสิ้นเชิง ย่อมยังมีการเผอเรอขาดสติมากบ้างน้อยบ้างตามโอกาส แตกต่างกันไปในแต่ละขั้นของพระอริยะ ส่วนบุคคลที่จะยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมได้นั้น มีเฉพาะพระอริยบุคคลชั้นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์เท่านั้น

เราลองนำพระพุทธพจน์มาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงดูกับพระสูตรอื่นจะได้เห็นชัดว่า ทำอย่างไรถึงจะยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมได้ จากพระสูตร

"ก็เพราะเรา (พระตถาคต) ไม่ประมาท
มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่ ฉะนั้น

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส
ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ฯ"

(เทวธาวิตักกสูตร)

พระองค์ทรงเพียรเผากิเลสด้วยสติปัฏฐาน คือการมีสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ที่ฐาน จนจิตมีสติ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เราเรียกว่า ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ว่า

"ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว 
ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้
คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ
คือ ความไม่ประมาท"

(อัปปมาทสูตร)

"ตัณหาย่อมเจริญแก่สัตว์ผู้ประพฤติประมาท" 
(พระธรรมบท - ตัณหาวรรค)

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรปฏิบัติธรรมเพื่อยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมได้อย่างไร ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนไว้ 

"ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ 
เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ 
พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง
เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง
นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ"

(อินทรียภาวนาสูตร)

ซี่งสอดคล้องกับพระพุทธพจน์ที่ว่า 
"ประกอบชาคริยานุโยค ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ" 

จากพระสูตรที่นำมาเสนอนั้นพอสรุปได้ว่า ต้องประกอบชาคริยานุโยค  ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร (ไม่ประมาท) จงเพ่งฌาน (สัมมาสมาธิ) อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง

หลายคนยังมีความข้องใจอยู่ว่า เกี่ยวอะไรกับ "สัมมาสมาธิ" บอกได้ว่า ฌานที่พระพุทธองค์ตรัสรับรองไว้นั้น ต้องเป็นฌานคือความเพ่ง ในสัมมาสมาธิ อันมีความเพ่งที่ ๑ - ๔ ส่วนฌานที่นอกเหนือไปจากนี้ เป็นพวกฌานสมาบัติ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปแล้วว่า ความเพ่ง (ฌาน) เหล่านั้น ไม่อาจนำไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์ได้ อย่างมากช่วยให้กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ในพระสูตร

คำว่า "เพ่งฌาน" ฌานก็คือ "ความเพ่ง" ส่วนคำว่า "เพ่ง" ในที่นี้ คือการรู้เห็นอะไรอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย การรู้เห็นที่ว่ามานั้น ไม่จำเป็นต้องจ้องดู มองด้วยตาแบบเขม็งเกร็ง แต่เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษทางใจ เป็นนามธรรม ให้เพียรระลึกรู้ (เพ่ง) อยู่ที่องค์ฌาน (ความเพ่งที่ ๑ - ๔) แบบต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ต้องมีอาการเพ่งจ้องแบบตาเนื้อก็รู้เห็นได้ตามความเป็นจริง เพราะอารมณ์กรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ นั้น เป็นอารมณ์ ณ ภายในตน ทำให้จิตรู้เห็นพระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงได้อย่างชัดเจน

หลายคนอ่านแล้วอาจเกิดความรู้สึกสงสัยข้องใจเนื่องจากตนเองยังเข้าไม่ถึงความเพ่ง แล้ว "ฌานในสัมมาสมาธิ" แตกต่างจาก "ฌานสมาบัติ" ที่เรียกว่า รูปฌาน อรูปฌาน อย่างไรเล่า?

มารู้จักคำว่า "สมาบัติ" น. "ภาวะที่จิตสงบประณีต คุณวิเศษที่เกิดจากการที่จิตเพ่งอารมณ์จนแน่วแน่ การบรรลุคุณวิเศษชั้นสูงด้วยอำนาจของการเข้าสมาธิ" เป็นฌานที่เกิดจากการเพ่งอารมณ์ภายนอกกายเป็นอารมณ์กรรมฐาน และยึดอารมณ์นั้นเอาไว้อย่างเหนียวแน่นจนแน่วแน่ เป็นสมาธิละเอียดขึ้นไปตามขั้นตอนของการเพ่ง เป็นสุขที่เกิดจากอามีส  ขึ้นชื่อว่าอารมณ์ ล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ จึงต้องยึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะเกรงไปว่าอารมณ์ที่ยึดเอาไว้นั้นจะจืดจางลงไปได้ จึงจำเป็นที่จะต้องคอยจดจำอารมณ์จิตอันประณีตนั้น อย่างต่อเนื่องเนืองๆ จนชำนาญเป็นวสี ขณะเดียวกันในส่วนลึกๆ ของจิตนั้นยังเป็นทุกข์ ด้วยเกรงไปว่าอารมณ์อันประณีตที่ประคองอยู่นั้นจะจืดจางลงไป จึงเพียรเพ่งรักษาอารมณ์อันประณีตนั้นไว้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น

เมื่อเปรียบเทียบกับฌานความเพ่งที่ ๑ - ๔ ใน "สัมมาสมาธิ" แล้ว มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในผลที่ได้รับ ฌานในสัมมาสมาธินั้น เป็นฌานที่เพียรเพ่งเพื่อปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตตามความเพ่งที่ ๑ - ๔ จิตมีสติบริสุทธิ์กุมวางเฉยอยู่  (อุเบกขาสติปาริสุทธิง) เป็น "สมาธิ" ที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ต้องเป็นอารมณ์ในมหาสติปัฏฐาน ๔ อันมี กาย เวทนา จิต และธรรม เป็น "เอกายาโน" ทางสายเอก คือทางสายเดียวเท่านั้น ที่ยังสัตว์ (จิตที่ติดข้องอารมณ์อยู่) ให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ไม่ใช่ทางแบบที่พยายามตีความกันเอาเองตามมติที่ชอบของตนอย่างทุกวันนี้ นั่นเป็นไปเพื่อความมักง่ายของตนเองเท่านั้น

ฌานนอกพระพุทธศาสนานั้น ที่ใช้คำนี้ "นอกพระพุทธศาสนา" เหตุด้วย พระพุทธองค์ได้เคยทรงปฏิเสธไปแล้วว่าไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ ในขณะที่พระองค์ยังดำรงตนเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ต่อเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้เล็งเห็นว่า ฌานสมาบัติที่มีอยู่ก่อนพระพุทธองค์จะทรงอุบัติขี้นมานั้น ถึงไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ก็จริง แต่ทำให้กิเลสของผู้ที่ปฏิบัติฌานสมาบัติจนชำนิชำนาญเป็นวสีแล้วเบาบางลงได้ ยิ่งเป็นวสีมากยิ่งเบาบางลงมาก บุคคลเหล่านี้เมื่อได้ฟังธรรมจากพระองค์ก็จักรู้ทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน

ทางสายเอกที่มีทางเดียวและถูกต้องตามหลักที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ ให้เริ่มต้นที่ กายในกายเป็นภายใน คือ "อานาปานสติ" เป็นภาวนามยปัญญา อันอยู่ในบรรพะแรกของมหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมยังให้เกิดผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ (พระพุทธพจน์) ย่อมหมายถึงการเข้าใจ เข้าถึง กาย เวทนา จิต และธรรม อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงเรียกว่าบริบูรณ์ได้

หลายคนอาจสงสัยข้องใจ เนื่องจากปัจจุบันได้มีการสอนกันจนเกิดความสับสนวุ่นวายแปลกแยกออกไป ตามมติที่ชอบของตนเองโดยพลการ มักอ้างว่าคนเรานั้น  มีจริตนิสัยที่แตกต่างกันออกไป  บ้างเป็นพวกตัณหาจริต  บ้างเป็นพวกทิฏฐิจริต  อ้างว่าการเริ่มต้นปฏิบัติธรรม จึงต้องแตกต่างกันบ้าง มีเรื่องเวลา และปัญญา  (สัญญา) ที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นการอ้างแบบมักง่าย เอาที่สบายๆ ลัดสั้น ด้วยความเกียจคร้าน (ประมาท) โดยอ้างว่าไม่มีเวลาแต่มีปัญญา (สัญญา) มาก ให้เริ่มที่ หมวดจิต และหมวดธรรมได้เลย โดยลืมพิจารณาตริตรองตามความเป็นจริงว่า ในคนทุกคนนั้นล้วนต้องมีทั้งตัณหาจริตและทิฏฐิจริตอยู่ในตนเองทุกคน เทียบเคียงได้จากพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ชัดเจนว่า

"วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา
จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง
บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว"

(พระธรรมบท - ชราวรรค) 

เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีการปรุงแต่ง (สังขาร) เมื่อไม่มีการปรุงแต่ง (สังขาร) ทิฏฐิจริตจะมีมาจากไหน สิ่งที่ต้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกันนั้น เราไม่อาจแยกออกจากกันโดยพลการตามชอบใจได้ เป็นการสอนชนิดที่เอาใจกันแบบสุดๆ ด้วยกลัวความยากลำบากที่ต้องอาศัยความเพียรเพ่งฌานเป็นอย่างมาก ถึงกับมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน บอกว่า "การเพียรเพ่งภาวนา เป็นอัตตกิลมถานุโยค" ไปเลยก็มี

การเพียรเพ่งฌานนั้น เป็นหนึ่งในองค์อริยมรรค ๘ คือ "สัมมาสมาธิ" ที่เรียกว่า "อธิจิตตสิกขา" การอบรมจิตอย่างยิ่ง คืออบรมจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เป็นปัจจัยเกื้อหนุน เป็นกำลังของ "ศีล" ทำให้จิตของตนมีสติ สงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีกำลังที่จะวิรัติให้ศีลบริสุทธิ์ ศีลจะบริสุทธิ์ได้ก็มีแต่เฉพาะพระอริยบุคคลชั้นต้น (โสดาบัน) ขึ้นไปเท่านั้น เป็นธรรมที่งามในเบื้องต้นสำหรับผู้พบเห็น เป็นศีลของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นศีล สมาธิ (อธิจิตตสิกขา) ปัญญา อันประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นเครื่องขจัดขัดเกลากิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วต่างๆ ออกไปจากจิตของตนได้

มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง 
ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ 
แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง 
ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

พวกเธอจงเที่ยวจาริก 
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก 
เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล 
และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์


พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น
(ศีล) 
งามในท่ามกลาง (สมาธิ) 
งามในที่สุด
(ปัญญา)
จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์
สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ 
เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี


ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม"  ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ดังนี้ สาธุ

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 16 มิถุนายน 2564
Last Update : 16 มิถุนายน 2564 13:45:47 น.
Counter : 2071 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog