สมาธิ ธรรมอันงามในท่ามกลาง
สมาธิ ธรรมอันงามในท่ามกลาง สมาธิ หรือ สมถะภาวนา นั้น คือ ความสงบตั้งมั่นแห่งจิตของตน เมื่อกล่าวถึงความสงบของจิต ย่อมมีปรากฏให้เห็นได้ในบุคคลทั่วๆ ไป เพียงมีความรู้สึกว่าตนเองสบายกาย สบายใจ หรือสักๆ แต่ว่ารู้เรื่องราวในขณะนั้น เราก็จัดได้ว่าจิตมีความสงบสบายในระดับที่รับได้ แต่ยังไม่สามารถจัดเป็นสมาธิหรือสมถะภาวนาได้ เนื่องจากจิตของตนยังไม่ตั้งมั่นลงในความสงบนั้น ขณะที่จิตมีความรู้สึกสงบสบายอยู่นั้น จิตก็ยังหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงไปตาม อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่สามารถถอดถอนจิตของตนออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้นได้อย่างรวดเร็ว และไม่สามารถดึงจิตให้กลับเข้ามาสู่ความสงบดังเดิม ส่วนบุคคลที่มีจิตเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นได้นั้น ย่อมเป็นบุคคลที่ควรเคารพนับถือ และน่าเชื่อถือของบุคคลทั่วๆ ไป เนื่องจากเป็นบุคคลที่จิตมีกำลังสติตั้งมั่นในระดับหนึ่ง ที่จะวิรัติ ข้อห้ามคือ “ศีล” อันเป็นธรรมที่งามในเบื้องต้น อันเป็นปรกติของมนุษย์ได้ ศีลของท่านไม่เป็นเพียงแค่ข้อห้ามเหมือนคนทั่วไป เพราะท่านวิรัติ – งดเว้นได้แล้ว “สมาธิ” จึงถูกจัดให้เป็นธรรมอันมีความงดงามในท่ามกลาง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า “สมาธิที่มีศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ดังนี้” เพราะเมื่อจิตของตนเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีกำลังสติสามารถ “วิรัติ” ข้อห้าม ยังศีลให้ “บริสุทธิ์” ได้ ย่อมสามารถยับยั้งจิตของตน ไม่ให้เข้าไปเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เปรียบเสมือนแขกจรได้ “สมาธิ” เป็นองค์ธรรมที่เชื่อมต่อให้ ศีล สติ กับ ปัญญา เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะ ในหมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นทางนำไปสู่อมตะ โดยมี “สัมมาสมาธิ” ของพระอริยะอันมีองค์ธรรมที่แวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิ (ปัญญา) ย่อมเป็นประธาน” (มหาจัตตารีสกสูตร) “สัมมาสมาธิ” นั่นแหละจึงเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อผู้ปฏิบัติมีความเพียรเพ่งภาวนา (ภาวนามยปัญญา) ไปจนกระทั่งจิตของตนมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้แล้ว ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ที่สามารถตริตรองตามได้ กับสิ่งที่รู้เห็นที่เกิดขึ้นตามมาเป็นลำดับ รู้ว่าสิ่งไหนเป็น “สัมมา” สิ่งไหนเป็น “มิจฉา” จึงขอนำพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวรับรองไว้มากำกับ เพื่อให้ผูัศึกษาธรรมเกิดความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้” จากพระบาลี ในสมาธิสูตรได้ขยายความ คำว่า “รู้เห็นตามความเป็นจริง“ คือ การรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์ที่กำหนดรู้นั้น นิโรธ ความดับทุกข์นั้น มรรค ทางปฏิบัติเพื่อไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ สภาวะธรรมของสัมมาสมาธิฌานที่ ๔ ในอริยมรรค ๘ นั้น จิตของตนมีสติสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหว ได้ด้วยลำพังตนเอง ไม่ต้องอิงอาศัยองค์ภาวนาหรืออารมณ์ใดๆ ที่เรียกว่า “อามีสสัญญา” อีกแล้ว เป็นจิตที่อ่อนควรแก่การงาน (กมฺมนิโย) ทางจิต พร้อมที่จะลด ละ เลิก และโน้มน้อมนำไปสู่สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ (วิปัสสนา) เป็นเบื้องต้น มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับมีการสอนให้เชื่อโดยขาดเหตุผลในการตริตรองตามเพื่อให้เกิดความรอบคอบ สืบเนื่องจากมีการสอนให้ปฏิบัติโดยเดินเข้าไปสู่ปรมัตถธรรมเอา “วิปัสสนา” (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยตรงกันไปเลยทีเดียว ไม่ต้องไปใส่ใจและเสียเวลากับการสร้างฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตที่เรียกว่า “กรรมฐาน” คือเพียรเพ่งภาวนามยปัญญา ทำสมาธิ หรือที่เรียกว่า “สมถะ” ให้หลังขดหลังแข็ง หรือเพียรเดินจงกรมจนส้นเท้าแตก โดยสอนแค่ให้มารู้จักวิปัสสนาตามตำราที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาก็พอ คือให้สักๆ แต่รู้สึกว่า แล้วนำเอาสิ่งที่ถูกสักๆ แต่รู้สึกว่านั้น มาพิจารณาจนจดจำความรู้ที่รู้มานั้นได้ตกผลึกเป็นปัญญา (ถิรสัญญา) เดี๋ยวจิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เอง เป็นความเข้าใจผิดไปแบบง่ายๆ ว่า “สมาธิ” เกิดขึ้นได้เอง เป็นความเข้าใจแบบผิดฝาผิดตัวที่ไม่นำไปสู่การรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ได้เลย การสอนแบบนี้ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เป็นการทำให้พระสัทธรรมปฏิรูปไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดั่งใน “สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร” ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า “ข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ” องค์ธรรมของ “สัมมาสมาธิ” ใน “สติปัฏฐาน ๔” รับรองไว้ชัดเจนดังนี้ สมาธิฌานที่ ๔ “เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้มีสติบริสุทธิ์อยู่” สภาวะจิตของตนในฌานที่ ๔ นี้ จิตย่อมมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บุคคลที่จิตมีสภาวะธรรมเช่นนี้ ย่อมมีปัญญารู้เห็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนตามความเป็นจริง ส่วนบุคลที่ยังมีจิตอันอารมณ์เจือติดอยู่เป็นนิจนั้น ย่อมสับสนวุ่นวายไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เฉกเช่นมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาจนเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ เมื่อสุดขอบของอารมณ์จึงจะสงบลงได้สักที พอเผลอไผลอีกก็วนลูปกลับไปเป็นเช่นเดิม เป็นวัฏฏะวนจนไม่มีที่สิ้นสุด ถ้า “สมาธิ” ไม่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาเสียแล้ว ในอริยมรรคมีองค์ ๘ คงไม่จำเป็นต้องมีการระบุลงไปอย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังมีอีกหลายๆ พระสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนรับรองและเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “สมาธิ” โดยตรง โดยเฉพาะ “สัมมาสมาธิ” ที่มีองค์ประกอบมีปัจจัยแวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ อันมีศีลและปัญญารวมประกอบอยู่ด้วย เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท ศีล ธรรมอันงามในเบื้องต้น
🌷 ศีล ธรรมอันงามในเบื้องต้น พูดถึงศีลแล้ว โดยเฉพาะ “ศีล ๕” ใครว่าไม่สำคัญ? อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ . . . . เหล่านี้คือสิกขาบทห้าประการ สีเลนะ สุคะติง ยันติ . . . . . . . . บุคคลย่อมไปสู่สุคติก็เพราะศีล สีเลนะ โภคะสัมปะทา . . . . . . . ย่อมถึงพร้อมด้วยโภคะสมบัติก็เพราะศีล สีเลนะ นิพพุติง ยันติ . . . . . . . . ย่อมไปสู่นิพพานก็เพราะศีล ตัสมา สีลัง วิโสธะเย . . . . . . . . เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด ฯ จากพระบาลีพร้อมคำแปล เราจะเห็นว่า “ศีล ๕” นั้นไม่ธรรมดาเลย โดยเฉพาะ “นักบวช” หรือ “นักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน” ทั้งหลาย เมื่อพูดถึง “ศีล ๕” สำหรับ “ชาวบ้านทั่วไป” นั้น เป็นเพียงแค่ “ข้อห้าม” เพราะกำลังจิตกำลังใจยังอ่อนแอ สืบเนื่องจากยังคลุกเคล้าตีโมงอยู่กับสังคมส่วน “นักบวช” หรือ “นักปฏิบัติภาวนา” นั้น เป็นงานสำคัญที่ต้อง “วิรัติ” ให้ได้ แต่ปัจจุบันกลับถูกมองข้ามความสำคัญของ “ศีล” ไปอย่างน่าเสียดายอย่างมาก เมื่อกล่าวถึง “ศีล สมาธิ ปัญญา” นักปฏิบัติธรรมคนรุ่นใหม่ กลับไปให้ความสำคัญกับข้อสุดท้าย คือ “ปัญญา” ที่ชอบอวดกันว่า ได้ “ปฏิบัติวิปัสสนา” จนศีล สมาธิ มีขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ ถ้าลองได้ขาดพื้นฐานหรือรากฐานอันเป็นรากแก้ว คือ “ศีล ๕” เสียแล้ว ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิด “วิปัสสนาปัญญา” เลย เพราะขาดสำนึกที่ถูกต้องว่าจะทำอย่างไร? ตนเองจึงจะมีพลังในการ “วิรัติ” ข้อห้ามเหล่านี้ให้ได้ การปฏิบัติจน “วิรัติ” แค่ “ศีล ๕” ได้นั้น มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนามากจริงๆ เพราะพระอริยเจ้าในชั้นต้นนั้น “ต้องมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์” เท่านั้น ไม่มีวันที่จะละเมิดเลย เพราะเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ในการก้าวข้ามโคตรแบบไม่มีการย้อนคืนกลับมาอีกแล้ว แต่ยังมีนักบวช หรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ในบางหมู่บางเหล่า มี “ศีล ๕” ที่ “วิบัติ” ย่อยยับคาตาโดยมีผู้ประสบพบรู้เห็น ไม่มีความละอายต่อบาป กลับใช้วิธีการสร้างภาพ โดยอาศัยบุคลิกลักษณะของตนที่น่าเชื่อถือ มีวาจาไพเราะ นุ่มนวล ชวนหลงใหล ให้เชื่อว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมขั้น “อริยะแต่งตั้งขึ้นเอง” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว หามีในตนเองไม่ เพราะ “ขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง” อันเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการ “รักษาศีล ๕” อันงามในเบื้องต้นให้บริบูรณ์ได้เลย และไม่มีภูมิรู้ ภูมิธรรม ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต่อ “พระนิพพาน” อันจะมีมาในเบื้องหน้า “นักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน” คนรุ่นใหม่ กลับมองข้ามความสำคัญนี้ไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ คนเราถ้าลองขาด “ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง” อันมีความสำคัญเป็นเบื้องต้นเสียแล้ว ก็อย่าหวังมีความก้าวหน้าในภูมิรู้ ภูมิธรรม จากการ “ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา” ได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก “ศีล ๕” นั้น เมื่อเทียบกับ “อาบัติปาราชิก” ที่เป็นอาบัติหนักแล้ว มีเข้าไปตั้งไม่รู้กี่ข้อที่เกี่ยวข้องกับ “อาบัติปาราชิก” อันทำให้ขาดจาก “ความดีแบบถาวร”… เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไม่มีอยู่จริง
🌷 การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไม่มีอยู่จริง เมื่อนึกถึงหรือกล่าวถึงการปฏิบัติธรรม ก็มักมีความเชื่อความศรัทธาแตกต่างกันไป ตามจริตนิสัยของตนเป็นพื้นฐาน บ้างเอาความง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นเข้าว่า อาศัยปัญญาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด บ้างเอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง มาบดบังเอาความจริงไว้ บ้างรู้ยิ่งเห็นจริงด้วยการอ่านตำรา จนความคิดที่ได้ตกผลึก จึงลักจำเอามาพูด ฯลฯ และต่างยืนกรานในสิ่งที่รู้มาว่าถูกต้อง โดยขาดการตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง และพิสูจน์สิ่งที่รู้มานั้นด้วยการปฏิบัติบูชาตามเสด็จพระพุทธองค์ ทั้งที่ตามจริงแล้ว ในปฐมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตนสูตร) ที่ทำให้เกิดอริยบุคคลขึ้นครั้งแรก และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์สาม พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจน ว่าด้วยการปฏิบัติธรรม “ที่สุดโต่งสองฝั่ง ที่ไม่ควรเสพ” และทรงวางหลัก “ทางสายกลาง” ขึ้นมา โดยเน้นว่า เป็นข้อปฏิบัติธรรมที่ไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง “เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนะปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้รู้ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง โดยไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้นแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง“ การไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเฉียดไปมาไม่ได้ เช่น การอดนอน ผ่อนอาหาร นั่งสมาธิกรรมฐานภาวนาตลอดรุ่ง เดินจงกรมจนเท้าแตก ด้วยเพียรพยายามอันยิ่ง เพื่อลด ละ เลิก ทิฐิสันดานที่ไม่ดีทั้งหลายอันเคยปรากฏอยู่ ให้เบาบางลงไป กลับกลายเป็นว่า “ความเพียรพยายาม” ดังกล่าวนั้น มีครูบาอาจารย์บางคนอบรมสั่งสอนว่าเป็น “อัตตกิลมถานุโยค” อันไม่ควรเสพ พระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา เป็นการลำดับวิธีการปฏิบัติธรรมไว้ตามขั้นตอนที่สมควรปฏิบัติตาม พระองค์ทรงห้ามส่วนที่สุด ๒ อย่าง เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น มีการปฏิบัติธรรมทั้งสองอย่างกันมาก รูปฌานและอรูปฌาน ที่เรียกว่า “ฌานสมาบัติ” ที่ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะได้ฝึกฝนจนชำนาญ ก็จัดว่าเข้าใกล้ “กามสุขัลลิกานุโยค” คือการติดสุขในอารมณ์ฌานอันละเอียดประณีตนั่นเอง ลำดับนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรม อันตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่ได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของใครมาต่อยอดเลย จึงได้อาจหาญประกาศตนว่า รู้เองเห็นเองโดยชอบ “ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ” แปลว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ไม่เคยทรงได้ยินได้ฟังจากที่ใดมาก่อน อันมี “อริยมรรคมีองค์ ๘” หรือ มัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติทางสายกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุดสองฝั่งนั้น โดยพระพุทธองค์ได้ทรงชี้ทางเดินให้ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ ได้รู้เห็นตามความเป็นจริงถึงองค์ประกอบย่อย และองค์ประกอบโดยรวมของ “สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ“ องค์ประกอบย่อยใน “หมวดสมาธิ” ประกอบด้วย “สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ” ทำให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบ เดิมนั้นท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ ยังติดสุขอยู่ในอารมณ์ฌานสมาบัติที่เคยปฏิบัติมาจนชำนาญ อันมีรูปฌาน และอรูปฌาน เป็นอารมณ์ภายนอกกาย นำเอามาเป็นอารมณ์ในองค์ภาวนา จิตเป็นสุขอันละเอียดก็จริง แต่ยังมีอาการหวั่นไหว เกรงไปว่า “อารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางลงไปได้” ทำให้ต้องยึดถือเอาอารมณ์นั้นไว้เป็นของๆ ตน เมื่อพระพุทธองค์ทรงเทศนาถึง “สัมมาสติ” ซึ่งเป็นการหยิบยกเอา กาย เวทนา จิต ธรรม ขึ้นมาพิจารณา เพื่อสร้างสติปัฏฐาน (ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง) ล้วนเป็นธรรมอันเป็นภายในกาย ทำให้ “จิตของตน” เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปล่อยวางและหลุดพ้นจากอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่จิตของตนเคยยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ได้ ส่วนองค์รวมแห่ง “สัมมาสมาธิของพระอริยเจ้า” มีตรัสไว้ในมหาจัตตารีสกสูตร ดังนี้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น “สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน” ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ” พระพุทธองค์ทรงยกให้ สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธาน แวดล้อมไปด้วย อริยมรรคที่เหลืออีก ๗ องค์ และในอริยมรรคที่แวดล้อมอยู่ ๗ องค์นั้น ทรงเชิดให้ สัมมาทิฐิ เป็นใหญ่เป็นประธาน ซึ่งสอดคล้องพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิ (สัมมาสมาธิ) ให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่น (เป็นสมาธิ) ดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (มีสัมมาทิฐิ) ดังนี้ ในปัจจุบันมีคนสอนว่า การทำสมถะ เช่น การนั่งสมาธิกรรมฐานภาวนา การเดินจงกรมนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่าย “อัตตกิลมถานุโยค” เป็นเพียงแค่สมถะ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่ก่อให้เกิดปัญญาวิปัสสนา ขอกล่าวว่าการสอนดังกล่าวนั้นเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง เพราะในปฐมเทศนาไม่มีการกล่าวถึงสัมมาวิปัสสนาเลย เป็นการปล่อยให้ตัวบุคคลที่ตนเชื่อและศรัทธา มาบดบังความจริง ๔ ประการ คือ อริยสัจธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว และคนสอนมักอ้าง “วิปัสสนา” โดยสอนให้เดินวิปัสสนาไปเลยเพื่อให้เกิดปัญญา มีสติอัตโนมัติ เป็นการปฏิบัติธรรมที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ส่วนสมถะกรรมฐานที่เป็น สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ต้องทำหรือกระทำเล็กๆ น้อยๆ เพียงเป็นพิธีก็พอแล้ว เป็นการกล่าวตู่ เป็นการกล่าวขัดแย้งกับพระพุทธพจน์อย่างไม่สมควรปล่อยให้เกิดขึ้นเลย สุดท้ายนี้ ขอฝากนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อความหน่าย คลาย ละ จงเดินตามพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติธรรมไว้อย่างชัดเจน คือ “ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น เป็นทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (จิตผู้ติดข้องในอารมณ์) ทั้งหลาย” ทางที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจดได้ ทางนั้นคือ การภาวนามยปัญญา ให้มีสติรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก (อานาปานสติ) เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ แสดงว่าไม่มีวิธีอื่นที่จะยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบรูณ์ จงอย่างหลงไหลไปกับความสบายๆ ง่ายๆ ลัดสั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในพระพุทธศาสนา เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร เมื่อพิจารณาจากพระบาลี ควรปลุกใจทำความรู้จักกับคำว่า ทุกข์ ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่บีบคั้น เบียดเบียน มีความลำบากกาย มีความคับแค้นใจ อันมีเหตุมาจากความไม่สมปรารถนา ไม่ได้ดั่งใจ ได้สิ่งของมาแล้วไม่ถูกใจ ตลอดถึงการพลัด พรากจากสิ่งที่ตนรักชอบใจ เป็นเหตุแห่งความทุกข์ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ” ที่เรียกว่าสังขารร่างกายนี้ ล้วนเป็น “ทุกข์” ทุกข์ทางกาย คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เรียกว่า สภาวทุกข์ นั้น ไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าตนเอง เมื่อเกิดมาแล้วต้องเจริญเติบโตขึ้นตามกาลเวลา จนกระทั่งแก่เฒ่าเข้าวัยชรา ในระหว่างทางนั้น ต้องมีความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยกันทุกคนไม่มากก็น้อย และต้องตกตายไปตามสภาวะอันควรแห่งกรรมกำหนดโดยไม่มีการยกเว้นให้ใครคนใดคนหนึ่งเลย สภาวทุกข์ที่ต้องเกิดขึ้นด้วยกันทุกคนนั้น แม้รู้อยู่แก่ใจตนเองดี แต่ก็ยังไม่วายที่อยากจะยึดโยงให้อยู่กับสภาวะนั้นไปนานๆ สำหรับในพวกที่โชคดีมีบุญนำกรรมแต่งให้อยู่อย่างสุขกาย ส่วนพวกต้องทนทุกข์ยากลำบากกายที่มีวิบากแห่งกรรมกำหนดไว้ ก็อยากจะสลัดมันให้ออกไปให้ไกลๆ โดยเร็ว ทุกข์ทั้งหลายไม่ว่าทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ ล้วนมาจากเหตุ คือ อวิชชา – ความโง่ ไม่รู้จักทุกข์ ตัณหา – ความต้องการ ทะยานอยาก อุปาทาน – ความยึดมั่นถือมั่นเอาขันธ์ ๕ เป็นตน โดยบทบาลีว่า “สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธาทุกฺขา โดยย่นย่อแล้ว การยึดถือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังนี้” โดยมี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ครอบงำจิตของตนอยู่ ทำให้เกิดทุกข์ทางใจ เรียกว่า ปกิณกะทุกข์ มีบทกลอนของท่านพ่อแม่ครูบาอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ ร้อนอะไร ในมนุษย์ ที่จุดจบ ไม่ร้อนลบแรงราดซ้ำซากเผา เพลิงตัณหา ราคา มิซาเซา ร้อนรุมเร่า ลุกลน ไปจนตาย อันร้อนกาย ไข้หนัก พอรักษา ใช้หยูกยา ถูกตรง ก็คงหาย แต่ร้อนจิต ติดแน่น สุดแคลนคลาย เป็นโรคร้าย เรื้อรัง ไม่ฟังยา ทุกข์ มีเหตุเกิดจากจิตเข้าไปยึดครองเอารูปร่างกายที่ตนได้อาศัยอยู่ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน โดยลืมไปว่ารูปร่างกายที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นบิดา มารดาให้มา ส่วนชีวิตินทรีย์เกิดขึ้นจากบุญนำกรรมแต่ง ส่งให้ธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุที่เรียกว่า “จิต” เข้าไปปฏิสนธิด้วยรูปร่างกาย เป็นปฏิสนธิจิตเข้ามาอาศัยถือครองสกลกายที่อาศัยนี้อยู่ จากพระบาลีที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร เราต้องพิจารณาเป็นมิติที่ทับซ้อนลงไป มิติแรกเป็นการล่วงทุกข์แบบโลกๆ คือ ความบากบั่นอุตสาหะฟันฝ่าต่อสู้ดิ้นรน เพื่อสร้างตนเองให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่สุขสบายกายดีขึ้น ด้วยความเพียรพยายามนั้น เป็นการล่วงพ้นทุกข์ ที่ยังมีความสุขและความทุกข์ เวียนเกิดเวียนดับสลับกัน มีทั้งทุกข์มีทั้งสุขเจือปนกันไป ขึ้นอยู่กับสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมาในขณะนั้นๆ โดยมองข้าม ทุกขอริยสัจ ที่ซ้อนเร้นอยู่ ซึ่งเป็นการล่วงทุกข์ในมิติที่ทับซ้อน ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนเน้นย้ำไว้ทุกๆ ที่ คือ อริยสัจ ๔ เป็นวิธีการที่จะพ้นทุกข์แบบถาวร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้สำหรับแก้ทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์ เพื่อให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เรียกว่า “อริยมรรค” คือเสันทางเดินของจิตเพื่อความเป็นอริยะ เส้นทางที่ว่ามานั้น เป็นการฝึกฝนอบรม “จิตของตน” ไม่ใช่จิตของใครอื่น และอบรมจิตให้กันไม่ได้เสียด้วยสิ จิตใครจิตเค้า ที่ต้องแก้ไขไปตามจริตนิสัยที่จิตของตน ได้สั่งสมพฤติกรรมต่างๆ มาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่อง “ตน” มักเกิดการถกเถียงกันออกไปอย่างกว้างขว้าง เป็นด้วยมายาคติที่ได้ครอบงำความรู้สึกนึกคิดอยู่ว่า เรื่องตน ต้องเป็นเรื่องของอัตตาตัวตนเสมอไป เป็นการยึดมั่นถือมั่นล้วนๆ ขึ้นชื่อว่า “ตน” แล้ว เชื่อว่าต้องมีการยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น ส่วน “ตน” ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ในที่อื่นๆ ในหลายๆ พระสูตร ซึ่งเป็น “ตน” ในความหมายที่ทรงหมายถึง ตนที่เป็นที่พึ่งที่อาศัย เช่น ดูก่อนอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง พระพุทธองค์ทรงหมายถึงจิตของพระอานนท์ที่ได้อบรมฝึกฝนมาดีแล้ว จิตของตนย่อมเชื่อถือได้ เชื่อมั่นได้ว่าอุดมไปด้วยศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสให้เห็นถึงความเข้าใจผิดของสามัญชนทั่วไป ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของๆ ตน ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ถ่ายถอน ซึ่งใน อนัตตลักขณสูตร นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสชี้ชัดลงไปว่า อุปาทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน (เป็นอนัตตา) ลองพิจารณาพระบาลีคำว่า “อนัตตา” ให้ดีๆ ในความหมายชัดๆ คือ ไม่ใช่ตน คำว่า “ไม่ใช่” เป็นคำปฏิเสธสิ่งนั้นคือขันธ์ ๕ ว่า “ไม่ใช่ตน” แสดงว่าที่ “ใช่ตน” ต้องมี เพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบให้ชัดเจน ท้ายพระสูตรพระบาลีมีปรากฏคำว่า “อตฺตมนา ปญฺจวคฺคิยา ภิกฺขู” เมื่อพิจารณาจากพระบาลีคำว่า อัตตะมะนา มาจากคำว่า “อัตตา” รวมกับคำว่า “มโน” หมายความว่า มี “ใจเป็นตน” เข้าถึงตนอันเป็นที่พึ่งที่แท้จริงที่อยู่ ณ ภายใน ซึ่งสอดคล้องกับพระบาลีในบัณฑิตวรรคแห่งพระธรรมบท กล่าวไว้ชัดเจนว่า ปริโยท เปยฺย อตฺตานํ, จิตฺตกิเลเสหิ ปณฺฑิโต บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส สรุปได้ว่า ความเพียรสูงสุด คือ เพียรชำระจิตของตน ให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย เป็น วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ขั้นปรมัติ สาธุ เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท สติปัฏฐาน ๔ คือการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงอธิจิต
สติปัฏฐาน ๔ คือการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงอธิจิต เมื่อเรากล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ หรือมหาสติปัฏฐาน อันมี กาย เวทนา จิต ธรรม ดูเหมือนมี ๔ หัวข้อ หรือมี ๔ ทาง ที่จะเข้าถึงองค์อริยมรรค ซึ่งเป็นทางเดินทางจิตสู่ความเป็นอริยบุคคล ฉะนั้นในปัจจุบันจึงมีแนวทางในการสอนปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ไปคนละทิศคนละทาง จนผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ถึงกับสับสนเหมือนยาขม หลบได้หลบ เลี่ยงได้เลี่ยง เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนอย่างไร? จึงจะถูกต้องเที่ยงตรงต่อพระธรรมคำสอน เนื่องจากมีคณาจารย์ต่างๆ ได้แนะนำสั่งสอนเอาไว้มากมายหลายวิธีด้วยกัน ตามแต่กำลังสติปัญญาบารมีของท่าน บ้างก็ให้ดูเฉพาะอิริยาบท (กาย) บ้างก็หมวดจิต (ดูจิต) บ้างก็หมวดเวทนา ส่วนหมวดธรรมนั้นตามแต่ถนัด ที่หนักไปกว่านั้น คือ มีการแนะนำว่า หมวดกาย หมวดเวทนา เหมาะสำหรับพวกตัณหาจริต เพราะมีเวลามาก คิดน้อย (ปัญญาน้อย) สำหรับหมวดจิต หมวดธรรม เหมาะสำหรับพวกทิฐิจริต คือพวกมีปัญญามาก แต่ไม่มีเวลา ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วในมหาสติปัฏฐานสูตร และในพระสูตรต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงรองรับกันได้ดี มีนัยยะ นำมาตริตรองปฏิบัติตามได้ อันเป็นแนวทางที่ชัดเจนมาก เมื่อนำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้นมาปฏิบัติตาม ย่อมต้องเข้าถึงสัจธรรม อมตธรรม อันเป็นอกุปปธรรม บรรลุเจโตวิมุตติอย่างแน่นอน ในตอนต้นมหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวไว้ว่า “เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ฐายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔” ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ทางนี้ทางเดียว (ทางอันเอก) ที่เชื่อมต่อถึงกันหมด เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ใช่มีหลายทางหลายประตูแบบอย่างที่ฟังตามๆ กันมา จากนั้นพระพุทธองค์ทรงชี้ชัดลงไป ให้เริ่มต้นที่ หมวดกาย ในบรรพะแรก คือ อานาปานสติ ซึ่งได้ชื่อว่าเจริญธรรมอย่างเดียว ทำให้ธรรมอย่างอื่นเจริญอีกมาก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ สติปัฏฐาน ๔ เมื่อลงมือปฏิบัติอานาปานสติ เจริญให้มาก กระทำให้มาก จนกระทั่งจิตของผู้ปฏิบัติ เข้าถึงกองลมทั้งปวงหายใจเข้า เข้าถึงกองลมทั้งปวงหายใจออก ผลจะเริ่มปรากฏ คือ รู้จัก อธิจิต หรือ จิตตัวใน ได้ดีขึ้น เนื่องจากได้ นิมิตหมายแห่งจิต หรือ ฐานที่ตั้งของสติ นั่นเอง พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ในสูทสูตรว่า ภิกษุผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ (เวทนาในเวทนาอยู่ … จิตในจิตอยู่ … ธรรมในธรรมอยู่) มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย จิตย่อมไม่ตั้งมั่น (ไม่เป็นสมาธิ) ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอไม่สำเหนียกนิมิตนั้น ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และไม่ได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สำเหนียก (ไม่กำหนด) นิมิตแห่งจิตของตน ภิกษุผู้มีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ (เวทนาในเวทนาอยู่ … จิตในจิตอยู่ … ธรรมในธรรมอยู่) มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย จิตย่อมตั้งมั่น (เป็นสมาธิ) ละอุปกิเลสได้ เธอย่อมสำเหนียกนิมิตนั้น ภิกษุนั้นย่อมได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลม สำเหนียก (กำหนด) นิมิตแห่งจิตของตน จากพุทธดำรัสข้างต้น เราจะเห็นว่า การกำหนดนิมิตหมายแห่งจิตเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างคล่องแคล่วทุกขณะ ตัวอย่างในภิกขุนีสูตร ภิกษุณีกราบเรียนพระอานนท์ท่านว่า มีภิกษุณีมากรูป มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว (สัมมาสมาธิ) ในสติปัฏฐาน ๔ ทำให้ได้คุณวิเศษ (มรรคผล) อันยิ่งยวดเพิ่มจากเมื่อก่อน ก็พอสรุปได้ว่าต้องได้ฌานในสัมมาสมาธิ เป็นพื้นฐานเท่านั้นจึงจะพิจารณาเห็น (รู้) กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม และในฐิติสูตร พระภัททะเรียนถามพระอานนท์ว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้ไม่นานหลังพุทธปรินิพพาน? พระอานนท์ตอบว่า เมื่อไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน ส่วนปริหานสูตร ใจความเหมือนในฐิติสูตร ต่างกันที่ พระภัททะถามพระอานนท์ว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมเสื่อม? พระอานนท์ตอบว่า เมื่อไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงเสื่อม และในพราหมณสูตร มีพราหมณ์ทูลถามพระพุทธองค์เหมือนกันกับฐิติสูตร พระองค์มีพระดำรัสตอบเหมือนคำตอบของพระอานนท์ทุกประการ เอวัง เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |