อานาปานสติ


🌷 อานาปานสติ ทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์

เมื่อกล่าวถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นเครื่องรองรับจิตแล้ว ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้กระจ่าง มักจะถูกมองข้าม จากพวกนักตำรานิยมที่ติดหนึบอยู่วิปัสสนา (นึก) ของตน

พวกนักวิปัสสนา (นึก) ทั้งหลายส่วนใหญ่แล้ว มักให้ความสำคัญไปที่ มหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยเฉพาะในหมวดจิตตานุปัสสนา (ดูจิต) เป็นพิเศษ เพราะเข้าใจไปเองว่าเหมาะกับพวกมีปัญญามาก คือ ทิฐิจริตหรือวิปัสสนา (นึก) นั่นเอง

โดยลืมไปว่ามีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า การจะทำให้มหาสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ขึ้นมาได้นั้น จะต้องเจริญให้มากและประกอบอยู่เนืองๆ ในอานาปานสติบรรพะให้ยิ่งๆ ขึ้น จนชำนิชำนาญอย่างคล่องแคล่ว

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็ต้องสืบสวนทวนความลงไปว่า เรื่องอานาปานสตินั้น พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ที่ไหนบ้าง

ปฐมบทพื้นฐาน (สติปัฏฐาน ๔) ในบรรพะแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในมหาสติปัฏฐาน ๔ นั้นคือ เริ่มต้นที่ อานาปานสติบรรพะ พิจารณากายในกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

(อานาปานสติกรรมฐาน พิจารณากายสังขาร คือลมหายใจ)

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น


ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ฯลฯ


(อานาปานบรรพะ มหาสติปัฏฐานสูตร)

จากที่ยกมานี้ พอสรุปได้ว่า การปฏิบัติอานาปานสตินั้น เป็นพื้นฐานสำคัญของ สัมมาสมาธิ ที่มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเทียบเคียงได้กับพระพุทธพจน์ที่มีมาใน มหาจัตตารีสักกสูตร ความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

(มหาจัตตารีสกสูตร)

สรุป เมื่อกล่าวถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นการกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ และอริยสัจ ๔ ไปในตัวด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกัน คือ เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตน เพื่อให้หลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลาย

ขณะที่กำลังเพียรปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอานาปานสติ (สัมมาสมาธิ) อยู่นั้น องค์ธรรมสำคัญที่มาประกอบด้วยคือ สัมมาวายามะ และสัมมาสติ จิตจึงรวมลงเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า

เมื่อ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรไป
จิตของเรา หาปรวนแปรกระสับกระส่าย ตามไปด้วยไม่


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท


 



Create Date : 05 พฤษภาคม 2564
Last Update : 5 พฤษภาคม 2564 11:06:42 น.
Counter : 1141 Pageviews.

0 comment
สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ


🌷  สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ
คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

(มหาจัตตารีสกสูตร)

สัมมาสมาธิของพระอริยะ ย่อมแตกต่างจากสมาธิทั่วๆไป ซึ่งมีมาก่อนหน้าที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้น สมาธิทั่วไปที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น มีทั้งรูปและอรูปเป็นนิมิตหมายในองค์ปฏิบัติภาวนา มักทำให้ผู้ปฏิบัติติดในสุขเวทนาอยู่กับสมาธินั้นได้ง่าย

ส่วนสมาธิที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบ และทรงแสดงไว้ในอริยมรรค ๘ นั้น เป็นสัมมาสมาธิที่นำไปเพื่อความหลุดพ้นของจิต ต้องละหรือปล่อยวางปิติและสุขในฌานออกไป จึงจะเข้าถึงฌาน ๔ ได้ ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้

สัมมาสมาธิ เป็นไฉน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่

เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข

เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่


(มหาสติปัฏฐานสูตร)

สัมมาสมาธินั้น ต้องดูลมหายใจเข้าออก (กายสังขาร) เป็นนิมิตหมายแห่งจิต ในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อใช้สักแต่ว่าเป็นที่รู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น

จึงต้องเริ่มต้นจากการพิจารณากายในกายเป็นภายใน (ดูจิต) ให้สำเร็จก่อน จนผู้ปฏิบัติเข้าถึงและรู้จักนามกายที่อาศัยทับซ้อนอยู่ภายในกาย ซึ่งเป็นการดูจิตของตนนั่นเอง

ผู้ที่จะเข้าถึงสัมมาสมาธิได้นั้น ล้วนต้องผ่านเวทนาต่างๆ ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นที่นามกาย(จิต) ในระหว่างปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอยู่

ซึ่งเมื่อผ่านเวทนาได้ หรือรู้จักเวทนาในเวทนาแล้ว จิตในจิต ธรรมในธรรมย่อมปรากฏให้ประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติเป็นลำดับตามกันมา

เพราะกาย เวทนา จิต และธรรมนั้น เป็นเรื่องเดียวกัน เนื้อเดียวกัน ที่ต่อเนื่องวนถึงกันหมด

สัมมาสมาธิของพระอริยะนั้น เกิดจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ย่อมก่อให้เกิดสัมมาทิฐิ คือ ทิฐิชอบ ทำให้จิตของตน (ผู้ปฏิบัติ) รู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทิฐิที่ถูก (จากการคิดเอา)

ปุถุชน ผู้มิได้สดับ ……
เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส จึงเกิดขึ้น

ดูกรคฤหบดี ด้วยเหตุอย่างนี้แล
บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย


พระอริยสาวก ผู้ได้สดับ ……
เพราะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส จึงไม่เกิดขึ้น

ดูกรคฤหบดี อย่างนี้แล
บุคคลแม้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่


(นกุลปิตาสูตร)

สรุป สัมมาสมาธิของพระอริยสาวกนั้น จิตสงบคงที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตาม รูป-นาม (ขันธ์ ๕) ที่แปรปรวนไป ส่วนปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ตามดูจิตโดยไม่มีนิมิตหมายแห่งจิต เพิกเฉยต่อการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เพราะมีความเชื่อว่าต้องวิปัสสนา(นึก) เท่านั้น จิตของตนย่อมไม่คงที่ และยังหวั่นไหวไปกับ รูป-นาม (ขันธ์ ๕) ที่แปรปรวนไป

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 04 พฤษภาคม 2564
Last Update : 4 พฤษภาคม 2564 9:45:51 น.
Counter : 1098 Pageviews.

1 comment
สัมมาสติ การระลึกชอบ


🌷  สัมมาสติ การระลึกชอบ

คำว่า “สติ” นั้น หมายถึง การระลึก ซึ่งในหลายแห่ง อาจแปลว่า การระลึกรู้ ซึ่งก็หมายถึงการรวมเอาจิตที่เป็นผู้รู้เข้าไปด้วย เพราะ “จิตเป็นธาตุรู้” ถ้าไม่มีจิตเป็นตัวยืน ก็คงไม่มีการระลึกรู้เกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน การจะระลึกอะไรขึ้นมาได้นั้น ต้องระลึกรู้ด้วยจิตของตนเท่านั้น เป็นของใครของเค้า

การระลึกรู้ หรือการสร้างสติให้เกิดขึ้นนั้น ใครจะมาช่วยเหลือ เพื่อสร้างแทนกันไม่ได้ อย่างมากที่สุดที่ทำได้ ก็คือ การคอยตักเตือนให้มีสติอยู่เสมอ หรือแนะนำให้รู้จักวิธีสร้างสติให้เกิดขึ้นเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรจะมารู้จักวิธีการระลึกรู้หรือการสร้างสติอย่างถูกต้องตามหลักในมหาสติปัฏฐานสูตร (สัมมาสติ) เพราะการระลึกรู้ของบุคคลคนทั่วๆ ไป ที่เรียกว่าสตินั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงสัญญาอารมณ์ชนิดหนึ่งเท่านั้น

สัมมาสติ เป็นไฉน ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ


เริ่มจากการระลึกรู้ว่า
สิ่งไหนที่เป็นกุศล (อารมณ์กุศล) ควรทำให้เกิดขึ้น และเจริญให้มากยิ่งๆ ขึ้น
สิ่งไหนเป็นอกุศล (อารมณ์อกุศล) ควรละเสียให้ได้อย่างรวดเร็ว และเพียรละอกุศลที่เคยมีอยู่ให้หมดไป

การจะทำให้สัญญาอารมณ์ กลายเป็นสติจนกระทั่งเป็น “สัมมาสติ” ได้นั้น ต้องเพียรพยายามระลึกรู้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ในที่ ๔ สถาน คือ ระลึกรู้อยู่ที่กาย เวทนา จิต และธรรม แบบไม่ขาดสาย หรือที่เรียกว่า มีสติเป็นชาคโร คือ มีสติตื่นอยู่เสมอ

การระลึกรู้ในขั้นแรกนั้น ควรเริ่มต้นที่ฐานกายก่อนเป็นอันดับแรก เหตุก็คือ เป็นฐานที่ง่ายต่อผู้ปฏิบัติในขณะที่ยังเป็นผู้ใหม่อยู่ ที่จะระลึกรู้ได้ชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ได้ง่าย และสามารถเป็นฐานให้ระลึกรู้ได้ตลอดเวลาของการปฏิบัติไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสติปัฏฐาน หรือก็คือ การระลึกรู้อยู่ที่ฐานได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเป็นสันตตินั่นเอง เมื่อคล่องแคล่วชำนาญได้ดีแล้ว การจะระลึกรู้อยู่ที่ฐานไหน ก็กระเทือนถึงกันหมด

การจะระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายให้ได้นั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คอยระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาของการปฏิบัติคือ ต้องเพียรพยายามประคองจิต (สัมมาวายามะ) ไว้ที่ฐาน อย่าให้เผลอ เมื่อเพียรประคองจิตไว้ไม่ให้เผลอ และไม่ปล่อยให้จิตส่งออกไปจากฐานได้สำเร็จ จิตก็จะรวมลง จิตย่อมมีสติ (สัมมาสติ) สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสทั้งหลาย (สัมมาสมาธิ) ในขณะนั้น เรียกได้ว่า จิตได้สงัดจากกามและได้สงัดจากอกุศลกรรมต่างๆ ถึงจะเป็นตทังควิมุตติ เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มากยิ่งขึ้น ก็จะกลายเป็นปหานวิมุตติได้ในที่สุด

พอมีแนวทางจากพระสูตรในมหาสติปัฏฐานให้ปฏิบัติตามได้ คือ การระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ที่เรียกว่า อานาปานสติ ซึ่งเป็นฐานกาย ที่เกิดจากกายสังขาร เพื่อจะได้พิจารณาให้เข้าถึงกายในกายเป็นภายใน ที่เรียกว่านามกายนั่นเอง

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ชัดเจนว่า

“อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา
สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา
วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆ แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์

โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้”


พอที่จะสรุปได้ว่า การฝึกสร้างสติให้เกิดที่จิตของตนนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ดีมีแต่ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เพราะคนที่ขาดสตินั้น มักทำอะไรตามอำเภอใจ เนื่องมาด้วยอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นนำพาไป

แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกฝนในการสร้างสติมาก่อน และสร้างสติเป็น เห็นชัดอยู่ เมื่อกระทบอารมณ์เข้า จิตจะหวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิด ให้นำจิตมาระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่อง แบบที่เคยทำได้สำเร็จ จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว จิตใจย่อมเกิดสติ สงบตัวลงราบคาบ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสเหล่านั้น

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 03 พฤษภาคม 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:58:48 น.
Counter : 2701 Pageviews.

0 comment
จิตไม่ใช่กองทุกข์


🌷  จิตไม่ใช่กองทุกข์

ที่ต้องพยายามเน้นนักเน้นหนาเรื่อง “จิต” นั้น เพราะในปัจจุบันผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนารายใหม่ๆ มักเชื่อตามๆ กันมาจาก “ตำราและอาจารย์” โดยไม่เคยพิจารณาว่าสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังมานั้น น่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งๆ ที่สิ่งที่รู้มา อ่านมา หรือได้ยินได้ฟังมานั้น ขาดเหตุผลไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย เพียงเพราะเป็นการเชื่อแบบตามๆ กันมาเท่านั้น

ซึ่งผิดไปจากหลักกาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า อย่าได้เชื่อเพราะว่า สิ่งที่เชื่ออยู่นั้น เป็นการเชื่อที่เกิดขึ้นแบบตามๆ กันมา ๑๐ ประการ โดยไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเสียก่อน

พระองค์ยังทรงตรัสไว้ในท้ายกาลามสูตรว่า อย่าเพิ่งเชื่อทั้ง ๑๐ ประการ ให้ตั้งใจฟัง ศึกษาให้ดีเสียก่อน แล้วนำสิ่งที่รู้และได้ยินได้ฟังมา เอามาสมาทาน ลงมือปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อลงมือปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงได้แล้ว และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ผู้รู้ไม่ติเตียน ค่อยเชื่อก็ยังไม่สายเกินไป

แต่ในปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น ชาวพุทธส่วนใหญ่มักเชื่อโดยขาดหลักเหตุผล เพียงเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ หรืออยู่ในฐานะที่ผู้ฟังคิดเองเออเอง ว่าผู้พูดคงไม่โกหกหรอก โดยไม่เคยนำพามาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง กับพระพุทธพจน์ (พระสูตรและพระวินัย) หรือกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในสายภาวนากรรมฐานเลย

อย่างเช่น เชื่อไปได้ว่า จิตเป็นกองทุกข์ หรือ จิตเป็นตัวทุกข์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียแล้ว จะเป็นการสอนที่ขัดแย้งกับพระพุทธวจนะ เท่ากับเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ดีๆ นั่นเอง โอวาทปาฏิโมกข์   ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ดีแล้ว ก็จะเสียหายไปด้วย 

โอวาทปาฏิโมกข์ ๑ ละชั่ว ๒ ทำดี ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง 

ถ้าเราลองพิจารณาให้ดี ก็จะพบว่าพระองค์ทรงตรัสถึงเรื่อง “จิต” ล้วนๆ ทั้ง ๓ ข้อเลย ข้อ ๑ การละชั่ว ละกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ละกันที่จิต ข้อ ๒ การทำดี ทำกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ทำดีกันที่จิตอีกนั่นแหละ ในข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ นั้นล้วนมีสอนกันอยู่ในทุกๆ ศาสนา เช่นเดียวกันกับพระพุทธศาสนาของเรา แต่ในข้อที่ ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองนั้น จะมีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งเทียบเท่ากับ “อริยมรรค ๘” หรือ “อธิจิตตสิกขา”

ถ้าจิตเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียเองแล้ว คำว่า อธิจิต เราจะแปลว่ายังไงดีล่ะ คงต้องแปลว่า จิตเป็นกองทุกข์อันยิ่ง ใช่หรือไม่? เรายังจะชำระจิตไปเพื่ออะไร เมื่อชำระจิตได้แล้ว แทนที่จิตจะสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง หลุดพ้นไปได้ หรือกลายเป็นอธิจิต ซึ่งอธิจิตจะนำให้เกิด “อธิปัญญา” ตามมาได้ แต่กลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น

สืบเนื่องจากมีความเชื่อกันไปแล้วว่า จิตเป็นกองทุกข์ หรือเป็นตัวทุกข์ ในเมื่อจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์ซะแล้ว มันก็ต้องเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์อยู่อย่างนั้นเองวันยังค่ำ จะดัดแปลงแก้ไขใดๆ ไม่ได้เลย 

เพราะความเข้าใจเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง เห็นจิตเป็นวิญญาณขันธ์ จึงเข้าใจผิดว่าจิตเป็นกองทุกข์ เพราะวิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ ถูกจัดไว้เป็นกองทุกข์ นั่นเอง

มีพระบาลีกล่าวไว้ชัดเจน “ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา อุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายล้วนเป็นทุกข์” ใครที่เป็นผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ล่ะ ถ้าไม่ใช่ “จิตของตน”

เรื่องราวต่างๆ ในโลกที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนสืบเนื่องมาจาก การที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ  และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เข้ามาเป็นของๆ ตน (คือจิต) นั่นเอง

เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (ความนึกคิดในใจ) ทั้งหลาย ที่รัก ที่ชอบ ฯลฯ จิตก็จะเป็นสุขไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่รักที่ชอบ ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ชอบใจ ขัดใจ ชิงชัง ฯลฯ จิตก็จะหงุดหงิด เศร้าหมองจนเป็นทุกข์ไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น

เป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าจิตไม่ใช่เป็นกองทุกข์แน่นอน เพราะในบางครั้งบางคราว จิตก็เป็นตัวสุข หรือเป็นกองสุขขึ้นมาได้เช่นกัน

ฉะนั้น จิตไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ที่จิตเป็นสุข หรือจิตเป็นทุกข์ขึ้นมานั้น ล้วนเพราะตัวจิตเองเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นของๆ ตนนั่นเอง

เมื่อได้ลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาด้วยความเพียรจนสำเร็จ จิตจะมีสติอย่างต่อเนื่อง (สันตติ) เป็นจิตที่มีคุณภาพ อ่อน ควรแก่การงาน และจิตเองก็จะปฏิเสธ สุข ทุกข์ โสมนัส หรือโทมนัสทั้งหลายในกาลก่อนไปด้วย   เพราะจิตปล่อยวาง (ละ) อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้น และปล่อยวาง (ละ) ความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตนเอง เข้าถึง “อธิจิต” ได้ ดังมีพระพุทธวจนะรับรองไว้ดังนี้

“สัตว์ทั้งหลาย (จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง
สัตว์ทั้งหลาย
(จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า
จิตนี้เศร้าหมองด้วย ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน”


(คัททูลสูตรที่ ๒)

♦️

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อน แต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี”
[อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิต แต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาแต่ครั้งใด รู้ไม่ได้]

(อวิชชาสูตร)

♦️

“จิต นี้มีมานานแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเริ่มต้นมาจากที่ไหน และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไร
เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ”


♦️

“ปภสฺสรมิทํภิกฺขเว จิตฺตํ
ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส
แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง”


พระพุทธวจนะที่ยกมานี้ พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่า จิตจะเศร้าหมองจนเป็นทุกข์ หรือผ่องแผ้วจนเป็นสุขนั้น เกิดจากการที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมา จึงจะจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามา ณ ภายในของจิตผู้นั้น

ถ้าจิตของผู้นั้นไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมา จะจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรของจิตผู้นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย จิตก็อยู่ส่วนจิต กิเลสก็อยู่ส่วนกิเลส ซึ่งเป็นของคู่โลก

พระพุทธวจนะที่นำมาเสนอนี้ ชัดเจนแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นเลย

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 02 พฤษภาคม 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:58:38 น.
Counter : 477 Pageviews.

0 comment
จิตนั้นไม่ใช่วิญญาณ (ขันธ์) แน่ๆ


🌷  จิตนั้นไม่ใช่วิญญาณ (ขันธ์) แน่ๆ

ณ ปัจจุบัน ศาสนาพุทธได้ล่วงผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน จนกระทั่งความเข้าใจในตัวศาสนาที่เป็นเนื้อแท้ได้จางหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน แต่ยังนับว่าเป็นความโชคดีอย่างมากที่ศาสนาพุทธในสยามของเรา ยังพอมีเงื่อนงำที่สามารถนำมา สอบสวน ตรวจสอบ เทียงเคียง เพื่อค้นหาสัจจะธรรมที่ยังไม่ถูกปฏิรูปไปตามกาลเวลา เนื่องจากยังมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางส่วน ที่สมาทานนำไปปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงปรากฏอยู่

แต่ขณะเดียวกัน ในส่วนที่ถูกปฏิรูปไปแล้ว กลับอาศัยพวกมาก ลากถูกันไป จนได้เติบโตขึ้นมากแบบน่าเป็นห่วง และพยายามยัดเยียดให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิไป จนแทบจะกลืนกินของแท้ ของถูกต้องที่มีอยู่ ให้หมดไปด้วย

ทั้งนี้เพราะชาวพุทธเรา ขาดความรอบคอบในเรื่องการปล่อยให้ความเป็นใหญ่ในความเชื่อ ไปให้ความเคารพ ความศรัทธา ความเชื่อแบบฟังตามๆ กันมา โดยไม่เคยนำพาเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ไปเทียบกับหลักเกณฑ์ที่พระพุทธองค์ได้วางไว้ในหลายพระสูตร (ธรรมและวินัย)

หลักเกณฑ์ที่ทรงวางไว้ก็รัดกุมชัดเจนมาก ดังเช่นพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องพระสัทธรรมปฏิรูปไปเพราะอะไร?

ในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบล่วงหน้า ด้วยพระปรีชาญาณเกี่ยวกับเรื่องพระสัทธรรมปฏิรูป ได้แสดงให้กับท่านมหากัสสป มีรายละเอียดดังนี้

พระมหากัสสป กราบทูลถามขึ้นว่า "เมื่อศาสนาแพร่หลายมากขึ้น พุทธบัญญัติก็มากขึ้นโดยลำดับ เหตุใดภิกษุในศาสนานี้ ที่แตกฉานในทางธรรม กลับลดน้อยลง"

พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงมูลเหตุให้พระมหากัสสปฟัง และยังได้ทรงเน้นว่า "การที่มีผู้นำเอาคำสอนนอกศาสนา ที่ได้เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาเอง มาอ้างอิงเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คุณค่าของศาสนาลดน้อยลง"

"แล้วเหตุใดเล่าที่พระศาสนาจะสูญสิ้นไปจากโลก"

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า สิ่งต่างๆ ในโลกนี้จะทำลายศาสนาให้สูญสิ้นไปหาได้ไม่ ยกเว้นแต่พุทธบริษัท ๔ เท่านั้น ที่จะทำให้ศาสนาสูญสิ้นไปด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑. พุทธบริษัท ไม่เคารพในพระศาสดาของตน
๒. พุทธบริษัท ไม่ตระหนักในธรรมคำสอน
๓. พุทธบริษัท ไม่เคารพต่อสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
๔. พุทธบริษัท ไม่ตั้งใจศึกษาสิกขา ๓
(อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา)
๕. พุทธบริษัท ไม่สนใจ ไม่ให้ความเคารพยำเกรงในการทำสมาธิ ในอริยมรรค ๘

ด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาอย่างยาวนาน ตามที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น เมื่อเราได้ยินได้ฟังคำสอน ที่สอนตามความเชื่อแบบฟังตามๆ กันมา และบางคำสอนได้ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาในภายหลังตามกาลเวลา เราควรยึดหลักกาลามสูตร ที่พระบรมศาสดาได้ทรงวางหลักความเชื่อไว้ว่า "อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อถือ โดยเหตุเพราะฟังตามๆ กันมา (มา อนุสฺสเวน)” เราต้องสมาทานดู แล้วนำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงว่า ลงกันได้กับพระธรรมวินัย หรือกับคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมานั้นลงกันได้มั้ย

โดยเฉพาะเรื่องสิกขา ๓ และสิกขาที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ที่ลงกันไม่ได้คือ "อธิจิตสิกขา" การศึกษาเพื่อทำให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นสิกขาที่สำคัญ คือการกระทำจิตของตนให้มีธรรมอันยิ่ง จิตที่มีธรรมอันยิ่งมีเพียงโลกุตตรจิตเท่านั้น ซึ่งเป็นจิตของพระอริยเจ้าทั้งหลาย และในโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ขาวรอบ แต่ผู้ศึกษาอีกฝ่ายกลับเห็นไปว่า จิตเป็นของเหลวไหลบ้าง จิตบังคับบัญชาไม่ได้บ้าง จิตเป็นตัวทุกข์บ้าง จิตเป็นวิญญาณขันธ์บ้าง ซึ่งขัดแย้งกับพระพุทธพจน์โดยสิ้นเชิง

จิตเป็นธาตุรู้ เมื่อเข้ามาอยู่ในโลกโดยอาศัยขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ก็กลายเป็นจิตผู้รู้ รับ จำ นึก คิด

จิตผู้รู้ มีทั้งรู้ผิดและรู้ถูก

จิตผู้รู้ ที่รู้ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ทำให้ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง

ส่วนจิตผู้รู้ ที่รู้เห็นตามความเป็นจริง นั่นคือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จึงรู้ว่าจิตไม่ใช่วิญญาณ เพราะวิญญาณ เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ เป็นเพียงหนึ่งในอาการของจิตที่แจ้งในอารมณ์เท่านั้น

โดยมีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ชัดๆ ในหลายพระสูตร ในบางพระสูตรพระพุทธองค์กล่าวโทษ ภิกษุที่เห็นว่าจิตเป็นวิญญาณ ว่าเป็นพวกโมฆบุรุษ เช่น ใน "มหาตัณหาสังขยสูตร" ความว่า

"พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไปไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ?

สาติภิกษุทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร?

สาติภิกษุทูลว่า สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า

ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว

ดูกรโมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน"


สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาติคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณขันธ์ นั่นเอง

ปัจจุบันที่ยังปรากฎว่ามีการเข้าใจผิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะปลงใจเชื่อแบบฟังตามๆ กันมาโดยไม่เคยเฉลียวใจเลย เพียงเพราะผู้พูดเป็นพระ มียศ มีตำแหน่งมาค้ำประกันคำพูดเท่านั้น

ดั่งจะยกตัวอย่างในอนัตตลักขณสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วมาเทียบเคียงดังนี้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่า
นั่น (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่ใช่เรา (จิต)
เรา (จิต) ไม่เป็นนั่น (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
นั่น (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่ใช่ตนของเรา (จิต)

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความติด
เพราะคลายความติด จิตก็หลุดพ้น
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ดังนี้"

พระสูตรนี้เป็นอันสรุปชัดเจนโดยไม่ต้องตีความให้วุ่นวาย จิตไม่ใช่วิญญาณ และวิญญาณก็ไม่ใช่จิต วิญญาณเป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ เป็นอาการของจิตที่แจ้งต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง เอวัง.

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 01 พฤษภาคม 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:58:27 น.
Counter : 609 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog