การเตรียมตัวก่อนตาย


🌷 เราจะเตรียมตัวให้พร้อมก่อนตายอย่างไรดี ?

วันพุธที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ 
เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย ผู้เจริญในธรรมทุกท่าน

ได้มีโยมที่ฟังพระธรรมเทศนาอยู่เป็นประจำ เสนอแนะว่าให้อาตมาภาพพูดถึงเรื่อง "เราจะเตรียมตัวให้พร้อมก่อนตายอย่างไรดี ?" พูดถึงเรื่องความตายแล้ว ก็เชื่อได้ว่าทุกคนรู้อยู่ว่า การเกิดมาของทุกๆ ชีวิต เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องตายจากไปด้วยกันทั้งนั้น ไม่ช้าก็เร็ว เป็นไปตามกิเลส กรรม วิบาก ของแต่ละชีวิตที่ตนเองได้สั่งสมมาแต่หนหลังนั้น ส่วนบุคคลผู้มีปัญญา (ผู้ฉลาดในอารมณ์) อย่างที่เคยได้พูดไปแล้วว่า ปัญญาทางโลกกับปัญญาทางธรรมนั้น ต่างกันเป็นคนละเรื่อง ทางโลกหมายถึงบุคคลผู้มีมันสมองดี ฉลาด เฉียบแหลม ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ส่วนทางธรรมนั้นหมายถึงความสามารถของจิตในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ออกไปได้ 

ฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญาเมื่อประสบพบเจอกับเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับความตาย มักน้อมนำเข้ามาสู่ตน พิจารณาให้เห็นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย ล้วนเป็นทุกข์ ที่พิจารณาได้เช่นนี้ เพราะตนเองได้กำหนดรู้ทุกข์ 

แต่ในมวลหมู่มนุษย์นั้น บุคคลผู้ฉลาดกำหนดรู้ในอริยสัจ ๔ นั้นมีน้อย ส่วนใหญ่ที่เหลือมักจมติดอยู่กับเรื่องราวในโลก ทั้งอยู่ท่ามกลางกาม ยังส่องเสพกาม ยังถูกกามวิตกกัดกิน (กามวิตกฺเกหิ ขชฺชมาโน)  ยังขวนขวายในการแสวงหากาม คือยังมีฉันทราคะ (ติดใจในกาม) ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เมื่อตาได้เห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสัมผัส จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตระหนักถึงเรื่องความเกิด ความแก่ การเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย แม้จะได้ประสบพบเจอ ก็ได้แต่สะดุ้งกลัวและตระหนกตกใจไปชั่วเวลาขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อเวลาล่วงคล้อยไปสักหน่อย ก็ลืมอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผ่านมานั้น เพราะยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำอยู่ เพลินยิ่งจมติดอยู่อารมณ์ในโลก เนื่องจากจิตไม่มีกำลังหรือพลังมากพอที่จะสลัดตัณหาเหล่านั้น เป็นไปกับความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน และเพลินยิ่งเข้าในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายนั้น เหตุที่จิตไม่มีกำลังหรือพลัง ก็เพราะบุคคลเหล่านั้นยังไม่รู้จักจิตตามความเป็นจริง 

เมื่อพูดถึง "จิต" ซึ่งเป็นธาตุรู้ ที่ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย ไม่มีรูปร่างให้แลเห็นได้ มีหน้าที่ รู้ จำ นึก คิด ก็สะกิดให้คิดไปถึงสมอง ที่ตนคือจิตเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยแรงกิเลสกรรมวิบาก เมื่อหลงผิดไปยึดติดเอารูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน เป็นของตน พอมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ชอบ ชัง หรือยินดียินร้ายเกิดขึ้น ก็เหมาเอาความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นว่าเป็นตนเป็นของตน คือรูปร่างกายที่ตนอาศัยอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ อาศัยตรรกะนึกเดาเอาได้ ด้วยเหตุนี้จึงหลงติดจมอยู่ในโลก 

ส่วนพวกที่หันมาสนใจศาสนานั้น ต้องจัดว่ายังดีกว่ามากนัก อย่างน้อยก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นประพฤติทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายหรือกายแตกทำลายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก และในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้สนใจพระพุทธศาสนา ก็ยังมีความหวังว่าถ้าตนทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ว่า ให้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ครั้นประพฤติสุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายหรือกายแตกทำลายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

เมื่อมาพินิจพิจารณาโดยแยบคายแล้ว การที่จะรักษาตนประพฤติตนให้อยู่ในกายสุจริต (อันมี ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) วจีสุจริต (อันมี ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ) มโนสุจริต (อันมี อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา อพยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา สัมมาทิฏฐิ รู้เห็นชอบ คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง) สุจริต ๓ นี้ก็ครอบคลุมเทียบได้กับ ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งจัดว่าเป็นรากเหง้าแห่งความเป็นมนุษย์ 

เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง 
เหมือนดั่งยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน
ต้องเสียที ที่ตน ได้เกิดมา
(เป็นกลอนบางส่วนของท่านพุทธทาส)

ทาน ศีล ภาวนา นั้น เป็นการเตรียมการให้บุคคลทั่วไป เมื่อประพฤติปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้น ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์แล้ว แน่นอนว่าเมื่อตกตายกายแตกทำลายไปนั้น ขั้นต่ำย่อมได้มนุษย์สมบัติ ขั้นกลางย่อมได้พรหมสมบัติ ขั้นสุดท้ายย่อมเข้าถึง "นิพพาน นิพพานํ ปรมํ สูญญํ นิพพานสูญอย่างยิ่ง" คือจิตที่สูญไปจากราคะ โทสะ โมหะ หมายถึ งกิเลสและอุปกิเลสทั้งหลายเหล่านั้นไม่สามารถกลับมาครอบงำจิตของตนได้อีกแล้ว

และไหนล่ะ? การเตรียมตัวก่อนตาย

ไม่เชื่อให้ไปดูตามวัดวาอารามหรือสถานที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราจะเห็นผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากซึ่งหมายถึงมีจำนวนมากกว่าวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน เนื่องจากผ่านอารมณ์โลกมามากพอ ขณะที่หน้าที่การงานก็น้อยลง ความรับผิดชอบต่างๆ ก็น้อยตามไปด้วย จึงเห็นว่าควรแสวงบุญเพื่อรักษากายวาจาใจของตนให้พร้อม เพื่อเดินทางไปสู่ชีวิตหลังความตาย 

เราชาวพุทธล้วนเชื่อโดยสนิทใจว่าเมื่อตายกายแตกทำลายลงไปแล้ว ยังคงมีสิ่งที่ไม่ได้ตายตามไปด้วย เป็นตัวบันทึกกรรมต่างๆ เอาไว้ เช่น กรรมดีกรรมชั่วที่ตนได้เคยกระทำไว้ เมื่อร่างกายตายลง ก็จุติ (เคลื่อนออก) ไปตามแรงกรรมของตนที่มีเข้ามาประชิดจิตในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ก็จะส่งให้จิตจุติไปตามแรงกรรมที่ประชิดจิตในวาระสุดท้ายนั้น ไปสู่สุคติบ้าง ทุคติบ้าง ต้องสุดแท้แต่ว่าจิตของบุคคลนั้นมีพลังจิตมากน้อยเพียงใด ที่เกิดจากการที่เคยหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนมาก่อนแล้ว เพราะขณะที่จิตกำลังจะทอดธุระจากร่างกายที่กำลังจะตายลงไปนั้น ถ้าสามารถประคองจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศลที่เคยได้กระทำไว้ ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปอย่างแน่นอน แต่ถ้าจิตเศร้าหมองล่ะ ย่อมมีทุคติ อบาย วินิบาตนรก เป็นที่ไปเช่นกัน จงอย่าลืมว่าในขณะที่วาระสุดท้ายแห่งชีวิตนั้น จะมีทั้งกรรมนิมิตและคตินิมิต ที่เราได้กระทำไว้ จะเข้ามาประชิดจิตของตน 

สำหรับบุคคลที่หมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ นั้น จิตย่อมเข้มแข็ง มีที่ตั้งอย่างมั่นคง ไม่ถูกกรรมนิมิตหรือคตินิมิตฉุดไปง่ายๆ ส่วนบุคคลที่ไม่เคยให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ จะเป็นช่วงที่จิตของตนอ่อนแอที่สุด มักถูกกรรมนิมิตและคตินิมิตฉุดลากไปตามแรงกรรมที่ตนได้เคยกระทำไว้ 

"จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา แปลว่า เมื่อจิตที่ได้ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า"  จากพระบาลีจะเห็นว่า ต้องควรหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตน ด้วยทาน ศีล ภาวนา จนสมบูรณ์ จึงจะได้ชื่อว่าจิตได้ฝึกฝนอบรมดีแล้ว 

ทานนั้นเป็นขั้นต้นที่จะฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้หลุดพ้นจากความตระหนี่ได้ จนเป็นจาคะสัมปทา (สมบูรณ์ด้วยจาคะ) แต่ต้องยอมรับว่าการให้ทานในปัจจุบันนั้น มีอยู่หลายรูปแบบ ให้เพราะอยากได้หน้า เพราะกลัวเสียหน้า ทนต่อการชักชวนไม่ได้ ให้ตามประเพณี อันนี้มากหน่อย ทั้งหมดนี้ยังจัดเป็นจาคะไม่ได้ เพราะจาคะคือการสลัดออกไป ต้องเกิดจากจิตใจที่เต็มปรารถนาที่จะให้โดยไม่ได้หวังสิ่งใดๆ ตอบแทนเลย ลองพินิจดูว่า ทานที่เกิดจากความไม่เต็มจิตเต็มใจนั้น จะยังให้เราระลึกขึ้นได้ในเวลาจวนเจียนแห่งชีวิตหรือ ให้ลองพิจารณาดู 

ศีลก็เช่นกัน การรับศีล การถือศีล การรักษาศีล ที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปตามประเพณีนิยมเท่านั้น การที่จะวิรัติ (งดเว้น) จนเป็นสีลสัมปทา สมบูรณ์ด้วยศีล ได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับพลังจิตของแต่ละบุคคล ทานก็เช่นกัน ต้องอาศัยพลังจิตที่เข้มแข็งจนเป็นทานที่เกิดจากจาคะ 

ทีนี้พลังจิตจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์อย่างไรนั้น ก็ด้วยการภาวนามยปัญญา หรือเรียกว่า สัมมาสมาธิ เพราะเป็นสมาธิทำให้เกิดปัญญาควบคู่กันไปด้วยเสมอ การฝึกฝนอบรมนั้น ก็คือ การสร้างสติขึ้นที่จิตของตนให้สำเร็จ 

คำว่า สติ แปลว่า ความระลึกได้ จัดเป็นหลักธรรมสำคัญในฝ่ายกุศล ที่ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ และพิจารณาทำการงานทั้งหลายให้สำเร็จ เกิดประโยชน์อย่างถูกต้องในทุกกรณี ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ดังนั้นสติจึงมีอุปการะมาก สมควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะฝึกสร้างสติให้มีพลัง จนเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ที่ทำให้เกิดขึ้นอย่างคล่องแคล่วจนเป็นวสี โดยให้เกิดมีนิมิตหมายแห่งจิต หรือฐานที่ตั้งของสติ 

การได้นิมิตหมายหรือฐานที่ตั้งของสตินั้น ต้องถือว่าเป็นสมาธิสัมปทา (สมบูรณ์ด้วยสมาธิ) จัดเป็นการสมบูรณ์ด้วยสมาธิในเบื้องต้น เป็นการยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้น มีพระบาลีในพระธรรมบทรับรองไว้ดังนี้ คือ  "อปฺปมาโท อมตํ  ปทํ  ปมาโท  มจฺจุโน  ปทํ อปฺปมตฺตา  น  มียนฺติ เย  ปมตฺตา  ยถา มตา แปลว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว" 

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ที่มีพลังสมาธิหรือพลังจิตน้อย จิตของตนย่อมหวั่นไหวตามไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้ง่ายไปด้วย อัปปมาทธรรมก็ย่อมไม่มีที่จิตของผู้นั้น ถ้าปรารถนาสิ่งใดขึ้นมาเป็นอารมณ์ก็ตาม เช่น นึกถึงรูปร่างกายขึ้นมา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าตนเองเกิดมาพร้อมกับร่างกาย พอร่างกายแก่หรือตาย ก็เข้าใจว่าตัวเองแก่หรือตายตามร่างกายไปด้วย โดยถือเอาร่างกายเป็นหลักเกณฑ์ แต่ผู้ที่มีพลังสมาธิหรือพลังจิตมาก ย่อมรู้ชัดว่า ตัวเองคือผู้ทำหน้าที่ รู้ เรื่องราวต่างๆ เช่น เมื่อปรารภถึงร่างกาย เกิดขึ้นก็รู้ ผมหงอก ฟันหัก เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้ว ก็รู้ เป็นต้น ครั้นเมื่อปรารภถึงลมหายใจขึ้นมา ลมหายใจเกิดขึ้นก็รู้ ลมหายใจดับไปก็รู้ ดังนี้เป็นต้น 

มีพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระราหุล ยืนยันอยู่ชัดเจนดังนี้ "เอวํ ภาวิตาย ราหุล อานา ปานสฺสติยา เอวํ พหุลีกตาย เยปิ เต จริมกา อสฺสาส ปสฺสาส  เตปิ วิทิตา นิรุชฺฌนฺติ โน อวิทิตาติ แปลว่า ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทั้งหลาย เหล่านั้น อันใดอันจะมีมาในเวลาตาย แม้ลมเหล่านั้นจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้ หามิได้เลย"

จากพระบาลีจะเห็นได้ว่า บุคคลผู้เจริญอานาปานสติ ซึ่งเป็นองค์ภาวนาในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐาน เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มากดีแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้นิมิตหมายแห่งจิต หรือฐานที่ตั้งสติ เพื่อคอยระลึกรู้หรือกำหนดรู้อยู่ ทุกลมหายใจที่เข้า ทุกลมหายใจที่ออก เป็นการยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้น แม้เวลาที่กายจะตายแตกทำลายลงไป ลมหายใจจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้นั้นหาไม่ได้เลย 

ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะจิตตรงนั้นย่อมสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งภายในและภายนอกทั้งหลายเลย แม้ขณะนั้นกรรมนิมิตหรือคตินิมิตก็ไม่อาจปรากฎขึ้นมาครอบงำได้ ย่อมมีแต่ทางไปสู่สุคติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ยังจะมัวรออะไรอยู่ เราก็รู้ว่าการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการเตรียมตัวที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด เพราะเมื่อจิตมีพลังสมาธิ มีพลังจิต ย่อมยังให้ทาน ศีล สติ ปัญญา พร้อมบริบูรณ์ไปด้วยเช่นกัน

แต่เรื่องเหล่านี้ กลับเป็นเรื่องแปลกแต่จริง เพราะเมื่อได้รู้แล้ว แต่กลับมีเหตุผล มีข้ออ้าง หรือข้อแม้อย่างมากมาย เพื่อที่จะชะลอเรื่องเหล่านี้ให้กับตนเอง มักอ้างว่าต้องรอเวลาหรือสถานการณ์พร้อมก่อนจึงจะค่อยลงมือทำเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ทำให้เสียเวลา ทั้งๆ ที่ อานาปานสติ (การใช้สติเพ่งดูลมหายใจเข้าออก) เป็นวิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔  วิธีหนึ่ง ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่สำคัญในพระพุทธศาสนา มีความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับทุกคน เพราะทุกคนต่างมีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อยู่แล้วด้วยกันทุกคน จึงไม่ต้องเตรียมหาอุปกรณ์ใดๆ ให้ยุ่งยากเลย ผู้ปฏิบัติสามารถลงมือทำได้ โดยแยกจิตที่กำลังรับอารมณ์อยู่เฉพาะหน้า ให้หันมาสนใจเข้ามาเพ่งดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจของตนแทนเรื่องราวที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้น ณ ฐานที่ตั้งสติ และประคองไว้ไม่ให้แลบหนีออกไปได้เท่านั้น จิตก็ย่อมสงบเป็นสมาธิทันที ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้ทันทีตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม ส่วนมากแล้วมักคิดเองเออเองเอาว่า เอาไว้ก่อน ค่อยมาเพียรเอาเวลาจวนเจียนใกล้ๆ จะถึงวาระก็แล้วกัน

🌷 ความเพียรต่อเมื่อเวลานั้นใกล้มาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย 

ดังในมิลินทปัญหาที่พระราชารับสั่งถามว่า พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า "ถ้ากระไรทุกข์นี้พึงดับไปเสีย และทุกข์อื่นก็ไม่พึงเกิดขึ้น ดังนี้ไม่ใช่หรือ" 

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร การบวชของพวกอาตมภาพ ก็มีข้อที่ว่านี้เป็นประโยชน์"

พระเจ้ามิลินท์ "ประโยชน์อะไรด้วยความเพียรแต่เนิ่นๆ เล่า น่าจะเพียรเมื่อเวลามาถึง มิใช่หรือ ?"

พระเถระวิสัชชนาว่า  "ขอถวายพระพร ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึงแล้ว เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียรแต่เนิ่นๆ เท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้"    

พระเจ้ามิลินท์ "ขอท่านจงทำอุปมา"

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร พระองค์ทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์ทรงรับสั่งให้เขาขุดบ่อเก็บน้ำ รับสั่งให้เขาขุดสระน้ำ ในเวลาที่พระองค์ทรงกระหายน้ำ แล้วทรงมีพระดำริว่า เราจักดื่มน้ำ ดังนี้หรือไร ?"

พระเจ้ามิลินท์ "หามิได้พระคุณเจ้า"
     
พระนาคเสน "ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียรแต่เนิ่นๆ เท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้"
     
พระเจ้ามิลินท์ "ขอท่านจงทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด"
     
พระนาคเสน "ขอถวายพระพร พระองค์จักทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์รับสั่งให้เขาไถนา รับสั่งให้เขาหว่านข้าวสาลี รับสั่งให้เขาเก็บข้าว ในเวลาที่พระองค์ทรงหิว แล้วทรงมีพระดำริว่า เราจักกินข้าว ดังนี้หรือไร ?"
    
พระเจ้ามิลินท์ "หามิได้พระคุณเจ้า"
     
พระนาคเสน "ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียรแต่เนิ่นๆ เท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้"
     
พระเจ้ามิลินท์ "ขอท่านจงทำอุปมาให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด"

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร พระองค์ทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์รับสั่งให้เขาขุดคูเมือง รับสั่งให้เขาสร้างกำแพง รับสั่งให้เขาทำซุ้มประตู รับสั่งให้เขาสร้างป้อม รับสั่งให้เขารวบรวมธัญญาหารไว้ ตัวพระองค์เองก็จะทรงศึกษาในเรื่องช้าง จะทรงศึกษาในเรื่องม้า จะทรงศึกษาในเรื่องรถ จะทรงศึกษาในเรื่องธนู จะทรงศึกษาในเรื่องดาบ ก็ในเวลาที่สงครามปรากฏขึ้นแล้ว กระนั้นหรือ ?"

พระเจ้ามิลินท์ "หามิได้พระคุณเจ้า"

พระนาคเสน "ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรต่อเมื่อเวลามาถึง เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจไม่ได้ ความเพียรแต่เนิ่นๆ เท่านั้น เป็นความเพียรที่ใช้ทำกิจได้"

ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

"บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตน ก็พึงกระทำสิ่งนั้นเสียแต่เนิ่นๆ เถิด 

บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ ไม่ควรคล้อยตามความคิดของพ่อค้าเกวียน รู้แล้ว ก็พึงบากบั่นเสียแต่เนิ่นๆ เปรียบเหมือนว่า พ่อค้าเกวียนละทิ้งทางใหญ่ที่เรียบดีเสีย ย่างขึ้นทางขรุขระ เพลาเกวียนหักไป ก็ย่อมซบเซาไป ฉันใด

บุคคลผู้มีปัญญาทึบ หลีกออกจากธรรม ประพฤติเนืองๆ ซึ่งอธรรม พอถึงปากทางแห่งความตาย อินทรีย์แตกทำลายแล้ว ก็ย่อมซบเซาไป ฉันนั้น ดังนี้"

พระเจ้ามิลินท์  "พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบสมควรแล้ว"

จากมิลินทปัญหา เราได้ฟังข้ออุปมาอุปไมยแล้ว ทำให้ได้ข้อคิดเช่นกันว่า การเตรียมตัวก่อนตายนั้น ไม่ใช่มาเตรียมตัวเอาตอนกิจนั้นใกล้มาถึงตัว เพราะการเตรียมตัวอย่างนั้น โอกาสบรรลุถึงประโยชน์น้อยกว่าน้อย เป็นการสุ่มเสี่ยงที่ตัวเราสร้างมันขึ้นมาเอง โดยแค่หวังไว้ว่าคงไม่เกิดขึ้นกับเราหรอก 

ฉะนั้น เรื่องทาน ศีล ภาวนา เราควรตระเตรียมสั่งสมไว้แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะทานนั้น ควรหมั่นทำเท่าที่เราสะดวก และสมกับฐานะที่เราเป็นอยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อได้ทำลงไปแล้ว ไม่ว่าจะน้อยหรือจะมากเพียงใดนั้น ไม่สำคัญเท่ากับความตั้งใจในการจาคะมากกว่า และหมั่นคอยระลึกถึงกุศลผลบุญอันนั้นไว้เนืองๆ ยิ่งในเวลาจิตใจหดหู่ซึมเศร้านั้น ยิ่งเป็นเวลาที่กระทำได้ยาก เราก็ควรฝึกระลึกถึงกุศลผลบุญที่เคยทำมา เพื่อให้จิตใจกลับมาแช่มชื่นขึ้น ถ้าทำได้ก็เท่ากับได้ฝึกฝนอบรมจิตของตนในเบื้องต้น

ศีลนั้น เป็นขั้นต่อไป โดยเฉพาะศีล ๕ นั้น ควรที่จะวิรัติให้ได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะบางท่านไม่สามารถที่จะรักษาไว้ได้เลยแม้สักข้อเดียว ขอให้ลองทบทวนดูใหม่ว่าใน ๕ ข้อนั้น มีข้อใดบ้างไหมที่เราสามารถจะรักษาไว้ได้ ถ้าพิจารณาแล้วพอทำได้ ให้ตั้งจิตอธิษฐานลงไปเลยว่า เราจะรักษาข้อนั้นโดยไม่ให้ขาดทะลุหรือด่างพร้อยเลย เพื่อเป็นการฝึกฝนในการเริ่มต้นรักษาศีล

ส่วนหัวใจสำคัญนั้น มาอยู่ที่การภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นหลักของทาน ศีล ถ้าหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยการภาวนา โดยที่เรากระทำให้มาก เจริญให้มาก การภาวนานั้นไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมายเลย แค่มีชีวิตกับลมหายใจก็ทำได้แล้ว ยิ่งถ้าเพียรจนกระทั่งเข้าถึงฐานที่ตั้งสติหรือนิมิตหมายแห่งจิตได้ด้วยแล้ว บุคคลนั้นเท่ากับมีพระคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา จะยังให้ทานและศีล สมบูรณ์ไปด้วย

สุดท้ายนี้ฝากธรรมบทจากมิลินทปัญหา ดังนี้ 

"น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส น วิชฺชตี โส ชคติปฺปเทโส ยตฺถฏฺฐิโต มุจฺเจยฺย มจฺจุปาสา แปลว่า บุคคล (ผู้เกิดมาแล้ว) หนีเข้าไปกลางหาวก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ หนีเข้าไปกลางมหาสมุทรก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ หนีเข้าไปยังซอกเขาก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ เขาดำรงอยู่ในภูมิประเทศใดแล้วพ้นจากบ่วงมัจจุได้ ภูมิประเทศนั้นหามีไม่" เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔





Create Date : 07 ตุลาคม 2564
Last Update : 7 ตุลาคม 2564 13:32:49 น.
Counter : 648 Pageviews.

1 comments
  
สวัสดี

ฉันเป็นมุสลิมที่เรียกผู้คนให้เข้ารับอิสลาม

โปรดดูหน้าของฉัน 👇

https://is1t.blogspot.com/2018/04/blog-post.html

ในนั้นคุณจะพบทุกสิ่งที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับอิสลาม

ฉันขอให้คุณมีชีวิตที่มีความสุข .... ขอบคุณ


🔴🔴🔵🔴🔴🔴

🔴"ความหมายของชีวิต"🎬👇

https://youtu.be/yPMpqfoiS4A

⚠️🔴⚠️🔵⚠️

🔴ถ้าเรามีความปรารถนาที่จะทราบว่าศาสนาใดเป็นศาสนาที่แท้จริงหรือจอมปลอมนั้น เราจงอย่านำอารมณ์ ความรู้สึก หรือประเพณีของเราเองมาตัดสิน เราควรนำเหตุผล สติปัญญาของเรามาใช้จะดีกว่า

⚠️ เว็บไซต์แห่งนี้ จะเป็นการตอบคำถามที่สำคัญบางเรื่องซึ่งมีผู้สนใจสอบถามมา ดังนี้:

1- พระคำภีร์กุรอานที่มาจากพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้นั้น นำมาเปิดเผยโดยพระองค์เองใช่หรือไม่?

2- พระมูหะหมัด คือพระศาสดาที่แท้จริง ที่ประทานมาโดยพระผู้เป็นเจ้าใช่หรือไม่?

3- ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงใช่หรือไม่? 👇

🔻หลักฐานบางประการที่บอกถึงความเป็นจริงของศาสนาอิสลาม 🔻

https://goo.gl/rYBqHe

⚠️🔴⚠️🔵⚠️

⚠️ ตัวอย่างพระดำรัสของพระศาสดามูหะหมัด

🔴 {ยิ้มให้แก่พี่น้องของพวกเจ้าเป็นการทำบุญกุศล...}

🔵 {การกล่าวดีเป็นการทำบุญกุศล}6

🔴 {ผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและวันสิ้นโลก (วันพิพากษา) ควรกระทำความดีต่อเพื่อนบ้านของตนด้วย}

🔵 {จ่ายค่าแรงคนงานก่อนที่เหงื่อของเขาจะแห้ง}
โดย: islam IP: 51.39.65.89 วันที่: 7 ตุลาคม 2564 เวลา:15:17:45 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog