จิตนั้นไม่ใช่วิญญาณ (ขันธ์) แน่ๆ


🌷  จิตนั้นไม่ใช่วิญญาณ (ขันธ์) แน่ๆ

ณ ปัจจุบัน ศาสนาพุทธได้ล่วงผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน จนกระทั่งความเข้าใจในตัวศาสนาที่เป็นเนื้อแท้ได้จางหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน แต่ยังนับว่าเป็นความโชคดีอย่างมากที่ศาสนาพุทธในสยามของเรา ยังพอมีเงื่อนงำที่สามารถนำมา สอบสวน ตรวจสอบ เทียงเคียง เพื่อค้นหาสัจจะธรรมที่ยังไม่ถูกปฏิรูปไปตามกาลเวลา เนื่องจากยังมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางส่วน ที่สมาทานนำไปปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงปรากฏอยู่

แต่ขณะเดียวกัน ในส่วนที่ถูกปฏิรูปไปแล้ว กลับอาศัยพวกมาก ลากถูกันไป จนได้เติบโตขึ้นมากแบบน่าเป็นห่วง และพยายามยัดเยียดให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิไป จนแทบจะกลืนกินของแท้ ของถูกต้องที่มีอยู่ ให้หมดไปด้วย

ทั้งนี้เพราะชาวพุทธเรา ขาดความรอบคอบในเรื่องการปล่อยให้ความเป็นใหญ่ในความเชื่อ ไปให้ความเคารพ ความศรัทธา ความเชื่อแบบฟังตามๆ กันมา โดยไม่เคยนำพาเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ไปเทียบกับหลักเกณฑ์ที่พระพุทธองค์ได้วางไว้ในหลายพระสูตร (ธรรมและวินัย)

หลักเกณฑ์ที่ทรงวางไว้ก็รัดกุมชัดเจนมาก ดังเช่นพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องพระสัทธรรมปฏิรูปไปเพราะอะไร?

ในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบล่วงหน้า ด้วยพระปรีชาญาณเกี่ยวกับเรื่องพระสัทธรรมปฏิรูป ได้แสดงให้กับท่านมหากัสสป มีรายละเอียดดังนี้

พระมหากัสสป กราบทูลถามขึ้นว่า "เมื่อศาสนาแพร่หลายมากขึ้น พุทธบัญญัติก็มากขึ้นโดยลำดับ เหตุใดภิกษุในศาสนานี้ ที่แตกฉานในทางธรรม กลับลดน้อยลง"

พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงมูลเหตุให้พระมหากัสสปฟัง และยังได้ทรงเน้นว่า "การที่มีผู้นำเอาคำสอนนอกศาสนา ที่ได้เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาเอง มาอ้างอิงเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คุณค่าของศาสนาลดน้อยลง"

"แล้วเหตุใดเล่าที่พระศาสนาจะสูญสิ้นไปจากโลก"

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า สิ่งต่างๆ ในโลกนี้จะทำลายศาสนาให้สูญสิ้นไปหาได้ไม่ ยกเว้นแต่พุทธบริษัท ๔ เท่านั้น ที่จะทำให้ศาสนาสูญสิ้นไปด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑. พุทธบริษัท ไม่เคารพในพระศาสดาของตน
๒. พุทธบริษัท ไม่ตระหนักในธรรมคำสอน
๓. พุทธบริษัท ไม่เคารพต่อสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
๔. พุทธบริษัท ไม่ตั้งใจศึกษาสิกขา ๓
(อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา)
๕. พุทธบริษัท ไม่สนใจ ไม่ให้ความเคารพยำเกรงในการทำสมาธิ ในอริยมรรค ๘

ด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาอย่างยาวนาน ตามที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น เมื่อเราได้ยินได้ฟังคำสอน ที่สอนตามความเชื่อแบบฟังตามๆ กันมา และบางคำสอนได้ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาในภายหลังตามกาลเวลา เราควรยึดหลักกาลามสูตร ที่พระบรมศาสดาได้ทรงวางหลักความเชื่อไว้ว่า "อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อถือ โดยเหตุเพราะฟังตามๆ กันมา (มา อนุสฺสเวน)” เราต้องสมาทานดู แล้วนำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงว่า ลงกันได้กับพระธรรมวินัย หรือกับคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมานั้นลงกันได้มั้ย

โดยเฉพาะเรื่องสิกขา ๓ และสิกขาที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ที่ลงกันไม่ได้คือ "อธิจิตสิกขา" การศึกษาเพื่อทำให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นสิกขาที่สำคัญ คือการกระทำจิตของตนให้มีธรรมอันยิ่ง จิตที่มีธรรมอันยิ่งมีเพียงโลกุตตรจิตเท่านั้น ซึ่งเป็นจิตของพระอริยเจ้าทั้งหลาย และในโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ขาวรอบ แต่ผู้ศึกษาอีกฝ่ายกลับเห็นไปว่า จิตเป็นของเหลวไหลบ้าง จิตบังคับบัญชาไม่ได้บ้าง จิตเป็นตัวทุกข์บ้าง จิตเป็นวิญญาณขันธ์บ้าง ซึ่งขัดแย้งกับพระพุทธพจน์โดยสิ้นเชิง

จิตเป็นธาตุรู้ เมื่อเข้ามาอยู่ในโลกโดยอาศัยขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ก็กลายเป็นจิตผู้รู้ รับ จำ นึก คิด

จิตผู้รู้ มีทั้งรู้ผิดและรู้ถูก

จิตผู้รู้ ที่รู้ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ทำให้ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง

ส่วนจิตผู้รู้ ที่รู้เห็นตามความเป็นจริง นั่นคือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จึงรู้ว่าจิตไม่ใช่วิญญาณ เพราะวิญญาณ เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ เป็นเพียงหนึ่งในอาการของจิตที่แจ้งในอารมณ์เท่านั้น

โดยมีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ชัดๆ ในหลายพระสูตร ในบางพระสูตรพระพุทธองค์กล่าวโทษ ภิกษุที่เห็นว่าจิตเป็นวิญญาณ ว่าเป็นพวกโมฆบุรุษ เช่น ใน "มหาตัณหาสังขยสูตร" ความว่า

"พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไปไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ?

สาติภิกษุทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร?

สาติภิกษุทูลว่า สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า

ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว

ดูกรโมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน"


สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาติคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณขันธ์ นั่นเอง

ปัจจุบันที่ยังปรากฎว่ามีการเข้าใจผิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะปลงใจเชื่อแบบฟังตามๆ กันมาโดยไม่เคยเฉลียวใจเลย เพียงเพราะผู้พูดเป็นพระ มียศ มีตำแหน่งมาค้ำประกันคำพูดเท่านั้น

ดั่งจะยกตัวอย่างในอนัตตลักขณสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วมาเทียบเคียงดังนี้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่า
นั่น (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่ใช่เรา (จิต)
เรา (จิต) ไม่เป็นนั่น (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
นั่น (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่ใช่ตนของเรา (จิต)

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความติด
เพราะคลายความติด จิตก็หลุดพ้น
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ดังนี้"

พระสูตรนี้เป็นอันสรุปชัดเจนโดยไม่ต้องตีความให้วุ่นวาย จิตไม่ใช่วิญญาณ และวิญญาณก็ไม่ใช่จิต วิญญาณเป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ เป็นอาการของจิตที่แจ้งต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง เอวัง.

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 01 พฤษภาคม 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:58:27 น.
Counter : 567 Pageviews.

0 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณ**mp5**

ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog