ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย


💝 ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย

วันจันทร์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี ในวาระใกล้ปีใหม่นี้ที่จะถึง วันพระนี้อาตมาภาพน้อมนำเอา อัปปมาทธรรม มาให้ฟังกันเพื่อยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมทั่วทุกตัวตน

🌷 อัปปมาทธรรม (ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง)

บรรดาคำสั่งสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงประกาศตั้งแต่ได้ตรัสรู้ จนถึงวันเสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพาน รวมเป็นเวลา ๔๕ ปีนั้น สามารถสรุปลงเหลือเป็นข้อสำคัญได้ คือ อัปปมาทธรรม ซึ่งหมายถึง ความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง

ดังพระปัจฉิมโอวาท ต่อไปนี้คือ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ตามพุทธโอวาทที่ยกมานี้ แสดงว่า อัปปมาทธรรม เป็นข้อสรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดในพระศาสนานี้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเน้นตรงไปที่ การฝึกฝนให้มีสติคอยระวังอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบในชีวิตประจำวันของแต่ละคนโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ชักนำให้คนประพฤติดีก็ได้ ประพฤติชั่วก็ได้ แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความรู้สึกอย่างไร จึงทรงวางหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ให้ปฏิบัติ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่

การปฏิบัติตามหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญานี้ จะทำให้ศึกษาและรู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีแก่นสารที่สามารถยึดถือและนำครอบครัวได้อย่างถาวรแต่ประการใด จึงต้องฝึกให้มีสติคอยระวัง มิให้เข้ามาปรุงแต่งจิตใจ ทำให้เสียคุณภาพเดิมไปในขณะที่กำลังเข้ามากระทบ ถ้าไม่ระวังไว้ให้ดีแล้ว อารมณ์ก็ย่อมชักนำจิตใจให้ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปได้เป็นธรรมดา และทำให้ผู้นั้นประพฤติตนไปตามความพอใจได้ 

ดังนั้น หลักธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา จึงมีความจำเป็นที่สุดสำหรับสังคม ที่ควรจะนำมาปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหายุ่งยากทางสังคมให้หมดไปได้อย่างแท้จริง เพราะว่าในขณะที่มีอารมณ์มากระทบจิตแต่ละอารมณ์นั้น
ศีล จะควบคุมกายวาจาให้อยู่ในสภาพปรกติ ไม่ประพฤติสิ่งใดให้เป็นที่เดือดร้อนแก่สังคม
สมาธิ จะทำให้จิตใจตั้งมั่น และ
ปัญญา จะสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆ ให้หมดไปโดยลำดับ จนอารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้ในที่สุด กลายเป็น กระทบก็สักแต่ว่ากระทบ เท่านั้น

การฝึกจิตให้มีพลังถึงขั้นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสมาธิเป็นบาทฐานด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าอารมณ์จะกระทบเข้ามาทางหนึ่งทางใดก็ตาม ผู้ปฏิบัติจึงพบความจริงว่า ได้พ้นจากอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดตายตามสภาพของเขาแล้ว ส่วนตัวเองนั้นดำรงสภาพ "รู้" อยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งที่เกิดตายนั้นคือ อารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกทั้งหลาย แต่ตัวเองนั้น "รู้" อยู่เสมอว่า ทรงสภาพรู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหรือตายไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม จึงเป็นผู้ไม่ตายอีกต่อไป ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท

ส่วนผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ซึ่งเป็นของที่เกิดตายอยู่นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาท ผู้นั้นย่อมรู้สึกว่าตนเองยังต้องหวั่นไหว และพลอยเกิดตายไปกับอารมณ์ภายนอกด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เกิด และไม่ได้ตายเลยแต่ประการใดทั้งสิ้น

มีพระบาลีในธรรมบทรับรองไว้ ดังนี้ คือ

"อปฺปมาโท อมตํ ปทํ, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ,  อปฺปมตฺตา น มิยฺยนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา" แปลว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว"

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ที่มีพลังสมาธิน้อย จิตย่อมหวั่นไหวตามอารมณ์ไปด้วย อัปปมาทธรรมก็ย่อมไม่มีที่จิตของผู้นั้น ถ้าปรารภสิ่งใดขึ้นมาเป็นอารมณ์ก็ตาม เช่นนึกถึงรูปร่างกายขึ้นมา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับร่างกาย พอร่างกายแก่หรือตาย ก็เข้าใจว่าตัวเองแก่หรือตายตามร่างกายไปด้วย โดยถือเอาร่างกายเป็นหลักเกณฑ์

แต่ผู้ที่มีพลังสมาธิมาก ย่อมรู้ชัดว่าตัวเองคือผู้ทำหน้าที่รู้เรื่องราวต่างๆ เช่น เมื่อปรารภถึงร่างกาย เกิดขึ้นก็รู้ ผมหงอก – ฟันหัก – เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้วก็รู้ เป็นต้น ครั้นเมื่อปรารภถึงลมหายใจขึ้นมา ลมหายใจเกิดขึ้นก็รู้ ลมหายใจดับไปก็รู้ ดังนี้ เป็นต้น

มีพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระราหุลยืนยันอยู่ชัดเจน ดังนี้

"เอวํ ภาวิตาย ราหุล อานา ปานสฺสติยา, เอวํ พหุลีกตาย, เยปิ เต จริมกา อสฺสาส ปสฺสาส, เตปิ วิทิตา นิรุชฺฌนฺติ โน อวิทิตาติ" แปลว่า "ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทั้งหลาย เหล่านั้น อันใดอันจะมีในเวลาตาย แม้ลมเหล่านั้นจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้ หามิได้เลย"

🌷 ความตาย

ความตาย เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปรครั้งสุดท้ายของรูปร่างกาย หลังจากที่ได้ประชุมปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว พระพุทธองค์ ทรงหมายความถึง แตกแยกออกจากการประชุมพร้อมของ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (จิต) แยกตัวออกไปผสมกับกลุ่มธาตุผสมกลุ่มอื่นต่อไป ตามเหตุปัจจัย ขณะสิ้นใจ

พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ วิญญาณธาตุ (จิต) จุติ (เคลื่อน) ออกจากรูปร่างกาย ซึ่งได้ปรวนแปรแตกแยกไป จนไม่สามารถกลับคืนมาสู่สภาพปรกติ, เท่านั้น ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

โปรดดูคำจำกัดความของคำว่า ความตาย ในสติปัฏฐานสูตร ซึ่งว่าไว้ดังนี้ คือ ความจุติ, ความเคลื่อนไป, ความแตกทำลาย, ความหายไป, มฤตยู, ความตาย, ความทำกาละ, ความแตกแห่งขันธ์, ความทิ้งซากศพไว้, ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จิตแยกออกจากรูปร่างกายนี้ทั้งสิ้น

เราจะเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่สภาพธรรมที่ตาย แต่ได้เข้ามายึดถือและปฏิสนธิรวมอยู่กับร่างกายซึ่งจะต้องตายตามอายุขัย เมื่อร่างกายถึงเวลาแตกตายลง ก็เข้าใจว่าตนพลอยตายไปตามร่างกายด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ตายเลย

สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ รูปร่างกาย ซึ่งเป็นสังขารธรรมที่ประชุมพร้อมกันขึ้นมาฝ่ายรูปธรรม เรียกว่า มหาภูตรูป ๔ ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงมีขึ้นแก่ผู้ที่ยึดเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสังขารธรรม เข้ามาเป็นอัตตาตัวตนของตนเองเข้า กล่าวคือ เมื่อรูปร่างกายแก่ ก็ว่าเราแก่ เมื่อรูปร่างกายเจ็บไข้ ก็ว่าเราเจ็บไข้ และเมื่อรูปร่างกายตาย ก็ว่าเราตาย ทั้งๆ ที่ตัวเราจริงๆ ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก่ ไม่เคยเจ็บไข้ และไม่เคยตายมาเลย ไม่ว่าตั้งแต่ครั้งไหนๆ ก็ตาม

เพราะฉะนั้น ถ้าเรา (จิต) ไม่เข้าไปยึดถือรูปร่างกายอย่างสิ้นเชิงเมื่อใด ก็ย่อมพ้นจากความตายเมื่อนั้น นับเป็นการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานี้ ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสกับโมฆราชมาณพ ต่อไปนี้คือ

"สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโรสิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ" แปลว่า "ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาโลก (สังขาร) ให้สูญสิ้นจากการยึดถือว่าเป็นอัตตาตัวตนทุกเมื่อเถิด ท่านจะพึงข้ามพ้นจากความตายเสียได้ ด้วยการพิจารณาอย่างนี้ พระยามัจจุราชกจะแลไม่เห็นท่าน ดังนี้"

สรุปความแล้ว ถ้าหากว่าไม่ได้อบรมจิตตามหลักธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ในพระพุทธศาสนา ก็ยังรู้ผิดและติดข้องอยู่ในอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจ และประพฤติตนในทางที่จะให้ได้รับอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจมาครอบครองเสมอ แต่เนื่องจากจิตไม่มีรูปร่างที่จะติดต่อกับอารมณ์โดยตรงได้ จึงต้องใช้รูปร่างกายสำหรับเป็นเครื่องมือติดต่อกับอารมณ์ด้วยเสมอ ครั้นรูปร่างกายเสื่อมสลายและตายลงในที่สุด จิตก็ยังติดใจในรสชาดของอารมณ์ที่ได้เคยเสพตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเหมือนเดิม จึงเท่ากับได้สร้างคติอันประทับใจไว้แล้วโดยอัตโนมัติ เมื่อร่างกายตายลงเมื่อใด ก็ต้องไปตามทางของตนเอง เพื่อไปเสพอารมณ์ที่พอใจอีกต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องสร้างร่างกายที่เหมาะกับสภาพของอารมณ์ไว้ เป็นเครื่องมือติดต่อกันด้วย

🌷  คติ (ทางที่ไปของสัตว์)

คติหรือทางที่ไปของสัตว์ แบ่งออกเป็น ๒ คือ สุคติ (ทางไปสู่ที่ดี) และทุคติ (ทางไปสู่ที่ชั่ว) สัตว์ที่ไปอยู่อบายภูมิ ได้แก่ เปรต นรก อสรุกายและสัตว์เดรัจฉาน จัดเป็นทุคติภูมิ สัตว์ที่ไปสู่มนุษย์ เทพ พรหม จัดเป็นสุคติภูมิ 

๑. อบายภูมิ ๔ เป็นคติของสัตว์ที่ล่วงละเมิดศีลของตนโดยจงใจและไม่อาย รวมทั้งผู้ที่ประกอบอนันตริยกรรม ๕ ไว้ด้วย เฉพาะฆราวาส หมายถึง ล่วงละเมิดศีล ๕ ถ้าเจตนาล่วงละเมิดศีลด้วยอำนาจโทสะก็ไปนรก  ถ้าละเมิดศีลด้วยอำนาจโลภะก็ไปเปรต อสุรกาย ถ้าละเมิดด้วยอำนาจโมหะก็ไปสัตว์เดรัจฉานซึ่งจัดว่าเป็นทุคติภูมิทั้งสิ้น 

๒. มนุสภูมิ ๑ สัตว์ที่ประกอบกรรมตามหลักเบญจศีล - เบญจธรรม ซึ่งได้แก่ เมตตา กรุณา สัมมาชีพ สันโดษเฉพาะภรรยาตน สัจจะวาจา และมีสติสัมปชัญญะดี ย่อมมาสู่มนุษยภูมิ ซึ่งจัดว่าเป็นสุคติภูมิ

๓. เทวภูมิ ๖  คือสัตว์ชั้นเทพที่ท่องเที่ยวไปในอารมณ์อันน่ารักใคร่ ๖ ชั้น ประกอบแต่กุศลและมีหิริโอตัปปะด้วยความสงบตั้งมั่น ดังพระบาลีว่า “หิริโอตฺตปฺป สมฺปนฺนาสุกฺกธมฺม สมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวฺธมฺมา ตีวุจฺจเร” แปลว่า” เราเรียกสัตบุรุษผู้สงบตั้งมั่น ประกอบแต่กุศลด้วยหิริโอตัปปะว่าเป็นเทวธรรม” จัดเป็นสุคติภูมิ ๖ ชั้น 

๔. รูปพรหม ๑๖ คือสัตว์ที่ประกอบรูปาวจรกุศล บำเพ็ญรูปฌาน ๔ มีกสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ จัดเป็นสุคติภูมิที่ปราศจากกาม ๑๖ ชั้น 

๕. อรูปพรหม ๔ คือสัตว์ที่ประกอบด้วยอรูปาวจรกุศล บำเพ็ญอรูปฌาน ๔ ซึ่งปราณีตยิ่งกว่ารูปาวจรกุศล ไม่มีรูปและปราศจากกาม ๔ ชั้น จัดเป็นสุคติภูมิชั้นสูงสุดในโลกนี้

🌷  คนสามัญตายแล้วต้องเกิดอีก

ปัญหานี้ คนรุ่นหนุ่มสาวที่สนใจศึกษาธรรมะและผู้ที่อยู่ในวงการศาสนาเป็นจำนวนมาก มักยกขึ้นมาไต่ถามกันเสมอว่า คนตายแล้ว ไปเกิดอีกหรือไม่ ถ้าไปเกิดอีก อะไรไปเกิด และไปเกิดอย่างไร ดังนี้เป็นต้น

ผู้ที่ถูกถามปัญหาดังกล่าวนี้ จะรู้สึกว่าที่ๆ ตนนั่งอยู่นั้น ร้อนเป็นไฟทีเดียว บางคนก็สายหน้า หาทางเลี่ยงหนีจากการสนทนาทันที บางคนก็ทำเมิน เสแสร้งว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลย สู้พูดกันเรื่องปฏิบัติไม่ได้ บางท่านก็กลัวว่าจะเป็นอันตคาหิกทิฏฐิ อยู่นอกศาสนาพุทธ บางท่านก็ยอมรับเสียตรงๆ ว่าอธิบายยาก เลยผลักให้ตายสูญไปเสีย จะได้หมดเรื่องหมดราวก็มี ดังนี้เป็นต้น

ปัญหาข้อนี้ กล่าวโดยความจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนตลอดพุทธกาล และทรงย้ำนักหนาทีเดียวว่า สัตว์ที่ยังไม่หมดกิเลส จะต้องไปเกิดใหม่อีกเสมอ เช่นเดียวกับพระองค์ซึ่งได้ทรงเวียนว่ายตายเกิดมานับครั้งไม่ถ้วนมาแล้วเหมือนกัน ดังนั้น จึงเป็นปัญหาอันสำคัญที่ผู้ศึกษาธรรมะ จะต้องค้นคว้าสอบสวนให้รู้เรื่องราวตามความเป็นจริง โดยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ 

เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มีคนที่เชื่อว่าตายแล้วสูญอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาก็ขีดวงจำกัดลงไปว่า จะต้องรับกรรมดีกรรมชั่วก็เฉพาะในขณะที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ตายแล้วก็แล้วกันไป เพราะฉะนั้น จึงเกิดข้อคิดตามมาว่า พระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ มาแล้ว ย่อมมีสภาพพ้นทุกข์ เหมือนกับนักโทษที่ถูกประหารชีวิตเมื่อตายแล้วเท่านั้น ดังนั้นข้อปฏิบัติดังกล่าวนี้ จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคม หลักของกรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ก็ย่อมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ความอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ย่อมเป็นโมฆะไปเสีย, ทุกประการ

ถ้าไม่ใช่ตายแล้วสูญ ดังว่านี้แล้ว ก็ต้องหมายความว่า คนสามัญตายแล้วก็ต้องไปเกิดอีกอย่างไม่มีปัญหา จึงเป็นการสมควรที่จะได้ค้นคว้าให้รู้เรื่องราวข้อนี้ตามความเป็นจริงอย่างยิ่ง ถ้าศึกษาศาสนาพุทธแล้ว พาตนเองให้เข้าไปอยู่ในข่ายของความเห็นว่าตายสูญแล้ว ควรจะได้ทบทวนดูเสียใหม่ดีกว่า

มีพุทธพจน์ที่มาในพระธรรมบทว่าไว้ดังนี้คือ

“คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ นิรยํ ปาปกมฺมิโน, สคฺคํ สุคติโนยนฺติ, ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา” แปลว่า “สัตว์บางพวกย่อมเข้าสู่ครรภ์ สัตว์ที่ทำกรรมชั่วย่อมไปเกิดในนรก สัตว์ที่ทำกรรมดีย่อมไปเกิดในสวรรค์ ท่านผู้สิ้นอาสวะย่อมปรินิพพาน”

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมข้ามภพข้ามชาติจริงๆ ไม่มีคลุมเครือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในภพเดียวชาติเดียวเลย การที่สัตว์จะไปเกิดใหม่ในภพภูมิใดก็ตาม ย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่ได้ยึดไว้ทุกประการ ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น ได้ประกอบกรรมไว้อย่างใด ก็จะสั่งสมไว้ที่จิตทุกประการ เมื่อถึงคราวตายลง ผลของกรรมที่ได้ประกอบไว้อย่างนั้น จะส่งให้จิตไปเกิดยังภพภูมิที่ตนพอใจต่อไปอีกตามลำดับ

💝 💝 💝 

วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ แปลว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ความเพียรมีผล ความพยายามมีผลบาลีพระธรรมบทนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม เช่น นักเรียน นักศึกษา ที่กำลังจะสอบไล่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับการสอบนั้น ก็ต้องขยันหมั่นเพียรพยายามให้มากยิ่งขึ้นเพื่อจะได้สอบให้ผ่าน  หรือบุคคลทั่วไปที่เกิดทุกข์กายทุกข์ใจขึ้นมา ก็เพียรพยายามแสวงหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อมาชดเชยกับความทุกข์กายทุกข์ใจนั้น ให้บรรเทาเบาบางลง ก็เช่นกัน  เป็นที่ยอมรับกันได้เพราะเป็นเรื่องของคนในโลก ส่วนมากแล้วที่ต้องแสวงหาอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการมาชดเชยกับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ต้องการ เป็นเรื่องธรรมดาของโลก  แต่ในทางธรรมนั้นเป็นคนละเรื่อง เพราะเรื่องในโลกล้วนเป็นตัวทุกข์นั่นเอง เรื่องในโลกที่กล่าวมานั้น ล้วนยังตั้งอยู่ในความประมาททั้งสิ้น 

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ แปลว่า การที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นลาภใหญ่ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก บุคคลผู้ที่ได้มนุษย์สมบัติที่ว่ายากนั้น ในพระสูตรได้กล่าวไว้ว่า การได้เกิดมาในภพภูมิมนุษย์นั้นแสนยาก ท่านเปรียบเหมือนเต่าทะเล ที่มีโอกาส ๑๐๐ ปีถึงจะโผล่ขึ้นมาหายใจ ๑ ครั้ง แต่ละครั้งที่โผล่ขึ้นหายใจนั้น หัวของเต่าทะเลตัวนั้นจะต้องสวมเข้ากับแอก ที่มีขนาดเท่ากับหัวเต่าพอดี จึงจะได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วแอกที่ว่านี้ก็อาจจะลอยอยู่ส่วนไหนของทะเลก็ได้นั้น ต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนจากบุญกุศลกรรมดีที่ได้เคยทำไว้ในครั้งก่อนๆ จึงจะมีโอกาสได้กลับมาเกิด แต่เมื่อได้สมบัติอันล้ำค่านี้แต่ก็หาได้ทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควรไม่ เพราะสืบเนื่องจากไปเกิดในที่อันไม่สมควร คือเป็นถิ่นที่ไม่ได้พบพระพุทธศาสนา

แต่บุคคลผู้ที่น่าสงสารไปมากกว่านั้น คือ ผู้ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ได้รับความสมบูรณ์พูนสุขพร้อมด้วยประการต่างๆ ทั้งปวง ตลอดถึงได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี แต่กลับประมาทมัวเมากับความสำเร็จในชีวิต จมปลักอยู่ในความสุขต่างๆ ที่ได้รับนั้น อันหาสาระไม่ได้เลย นอนปล่อยให้กาลเวลาเขมือบอายุ ชีวิต ให้สิ้นไปโดยไร้ประโยชน์ ก็ยังมีเป็นอันมาก เพราะมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด มีอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เป็นเครื่องจูง อวิชชานั้นพร้อมที่จะกางกั้นให้หลงใหลจมปลักอยู่ในโลก ซึ่งเป็นวัฏฏะวน อันไม่จบไม่สิ้นยาวนานนับไม่ถ้วน ตัณหานั้นก็จะผูกมัดให้ติดอยู่กับความสำเร็จ ความสุข ความก้าวหน้า ความสมบูรณ์เพียบพร้อมทั้งหลาย  ส่วนอุปาทานนั้นชักจูงให้เกิดฉันทราคะ (ผูกจิตติดใจ) ในสิ่งที่รักที่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส 

สัญชาตญาณของคนเรา ย่อมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินหรือเอร็ดอร่อยในกามทั้ง ๕ อย่างนี้ ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาขยายออกไปเป็น ๖ คือ ธัมมารมณ์ เป็นการเก็บเอาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผูกจิตติดใจเข้ามาทางกายทั้ง ๕ นั้น เก็บไว้เป็นธรรมารมณ์เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงสิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจ จะเป็นอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตก็ได้ เกี่ยวกับวัตถุภายนอกหรือภายในก็ได้ เป็นเพียงความคิดฝันก็ได้ ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินทางจิตใจ ในขณะที่รู้สึกถึงอารมณ์เหล่านั้น 

การที่มนุษย์พยายามขวนขวายหรือทำอะไรก็ตาม หากจะสิบสาวเรื่องราวไปแล้วจะพบว่า เขามีฉันทะอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขาอุตส่าห์เล่าเรียน หรือหมั่นเพียรประกอบอาชีพ ก็เพื่อให้ได้ผลจากอาชีพ แล้วไปจัดหาความสุขสบายในทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มาบำรุงบำเรอตน แม้แต่เรื่องทำบุญอธิษฐานให้ไปสวรรค์ ก็มีมูลมาจากความผูกจิตใจทั้งนั้น ความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่นเป็นปัญหาเกี่ยวกับโลกโดยตรง โลกจะวินาศฉิบหายหรือเป็นอะไรก็ตาม ย่อมมีมูลมาจากฉันทราคะนี้ โดยเฉพาะถ้าว่ากันทางคดีโลก การมีฉันทราคะกลับจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้รักครอบครัว ทั้งยังทำให้ขยันขันแข็งในการแสวงหาทรัพย์ชื่อเสียงและอีกมากมาย  แต่ถ้ามองในแง่ของธรรมะ จะรู้สึกว่าเป็นทางมาแห่งความทุกข์ทรมานอันเล้นลับ เพราะฉะนั้นในทางธรรม ฉันทราคะเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม และถึงกับเป็นสิ่งที่จะต้องละกันให้หมดสิ้นในที่สุด จึงจะหมดความทุกข์ทั้งปวงได้ 

อัปปมาทธรรมนั้น เป็นธรรมเพื่อละฉันทราคะ ในอัปปมาทวรรค พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย มีสาระสำคัญ คือ กุศลธรรมทุกอย่างไม่มีอะไรเกินความไม่ประมาท ภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมหวังได้ว่าจักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ความเป็นเลิศของความไม่ประมาทนั้น ทรงเปรียบกับความเป็นเลิศของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นเลิศกว่าสัตว์ (ผู้ติดข้องในอารมณ์) ทั้งปวง ยังกล่าวถึง ผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมุ่งกำจัดราคะ โทสะ โมหะ ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งหยั่งลงสู่อมตะ บ่ายหน้าสู่อมตะ มีอมตะเป็นปลายทาง ดังนี้ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔





Create Date : 28 ธันวาคม 2564
Last Update : 28 ธันวาคม 2564 21:25:37 น.
Counter : 1965 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog