จิต 💖 หัวใจพระพุทธศาสนา


จิต 💖 หัวใจพระพุทธศาสนา

วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ 

เจริญสุข สวัสดี จากวันพระนี้ อาตมาได้นำเอาเรื่อง หัวใจพระพุทธศาสนา เรียบเรียงโดยอาจารย์ไชยทรง จันทรอารีย์ และรวบรวมโดยเภสัชกรหญิงณัฏฐิยา ปันภัทรทรัพย์ ที่ได้เคยพูดไว้เป็นตอนๆ กระจัดกระจาย ทำให้ผู้ฟังฟังต่อเนื่องได้ยาก จึงได้รวบรวมให้เป็นตอนๆ แบบต่อเนื่อง วันพระนี้ เรื่อง "จิต คือ หัวใจพระพุทธศาสนา"

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธทั้งหลายนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง อันได้แก่ คำสั่งสอนเกี่ยวกับศีล วินัย ข้อห้ามต่างๆ ซึ่งจะป้องกันพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติตาม มิให้ตกไปสู่ที่ชั่ว หรือได้รับความเดือดร้อนนานาประการจากการอยู่ร่วมกันในสังคม

๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ คำสั่งสอนที่เกี่ยวกับการทำความดี ซึ่งจะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม

๓. สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสต่างๆ ที่จะทำให้จิตเศร้าหมอง

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ ถ้าหากทำความเข้าใจให้ดีแล้ว จะเห็นว่าพระองค์ได้ทรงแบ่งคำสั่งสอนออกเป็นขั้นๆ ดังนี้ คือ ใน ๒ ข้อแรก ทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับการรักษากายกับวาจา และทรงสอนเรื่องการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ในข้อสุดท้าย เพื่อให้พุทธบริษัทปฏิบัติตามโดยลำดับ

แต่เนื่องจากทั้งกายและวาจานั้นอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดังนั้นเรื่องใหญ่ใจความก็ไปตกที่ข้อสุดท้ายทั้งหมด เพราะว่า ถ้าจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้วดีเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็ย่อมจะทำให้กายและวาจา ซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดีตามไปด้วยในตัว

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักธรรมเรื่องการชำระจิตให้บริสุทธิ์นี้ มีอยู่เฉพาะในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ถึงแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ไปแล้วในอดีต หรือที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตทั้งหลาย อีกกี่พระองค์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีคำสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น

ดังพระบาลีว่า "อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ" แปลว่า "การทำให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

🌷 เรื่องจิต

เนื่องจากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ จิตจึงเป็นสภาพธรรมที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา แต่จิตก็ไม่มีรูปร่างหน้าตาให้แลเห็นได้ด้วยตา  ทั้งๆที่เรารู้ว่ามีจิตอยู่ด้วยกันทุกคน ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องศึกษาให้รู้จักจิตพร้อมทั้งคุณลักษณะที่สำคัญทั้งหลาย ให้รู้จักตามความเป็นจริงเสียก่อน ถ้ารู้จักผิดไปแม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การศึกษาและการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาขั้นต่อไป ก็ย่อมผิดเพี้ยนไปตลอดสาย และย่อมได้ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิทันที 

ดังนั้น จึงอย่ามอบความเป็นใหญ่ในเรื่องความเชื่อถือของเราให้กับใครง่ายๆ เพราะเห็นว่าผู้นั้นน่าเชื่อถือเป็นอันขาด ที่ถูกนั้น เราจำเป็นต้องเปิดใจให้กว้าง สำหรับรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย แล้วนำมาสอบเทียบกับเหตุผลและการปฏิบัติธรรมดูจนมั่นใจเสียก่อนว่า มีเหตุผลถูกต้อง แล้วจึงตัดสินใจเชื่อ ก็ย่อมไม่ผิดพลาดขึ้นได้ในภายหลัง

🌷 สภาพเดิมของจิต

ตามพระบาลีในจิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท ว่าไว้ดังนี้ "ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ, สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา" แปลว่า "ผู้ใดสำรวมจิตซึ่งมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลได้ ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อาศัย นี้ไว้ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากการพันธนาการของมาร (คือกิเลส) ได้"

ซึ่งแสดงว่าจิตนี้มีดวงเดียวต่อคนเท่านั้น ไม่ได้มีคนละหลายๆ ดวง ดังที่เรียนท่องจำกันอยู่ในปัจจุบัน

🌷 ต้นกำเนิดของจิต

ตามพระบาลีที่มาในอนมตัคคสูตร ได้บรรยายไว้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้  "อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ" แปลว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนมนานมาแล้ว ซึ่งผู้มีปัญญาไม่อาจตามรู้ได้ว่ามาจากไหน"

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่ดั้งเดิมก่อนแล้ว โดยไม่มีผู้ใดเป็นผู้สร้างขึ้น กล่าวคือ ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยอันใดทั้งสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ 

🌷 คุณลักษณะของจิต

มีพระบาลีในจิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท แสดงไว้ดังนี้ คือ  "ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุง กโรติ เมธาวี อุสุกาโร ว เตชนํ" แปลว่า "ผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงได้ ฉะนั้น"

ทั้งนี้ ทรงหมายความชัดเจนว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ดิ้นรน กลับกลอก ว่องไว ปราดเปรียว ในขณะที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ในโลกนี้ แต่สามารถฝึกฝนอบรมให้สงบได้

🌷 กิเลสเครื่องเศร้าหมองมีติดมากับจิต ตั้งแต่ต้นเลยหรือว่ามาเกิดขึ้นในภายหลัง

มีพระบาลีรับรองไว้ชัดเจน ดังนี้คือ "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ" แปลว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สภาพดั้งเดิมของจิตนี้ผ่องใสประภัสสร แต่ที่เศร้าหมองไป เป็นเพราะกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง"

พระบาลีข้อนี้สอดคล้องกับแนวคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้ยกขึ้นกล่าวก่อนหน้านี้ว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ล้วนแต่สอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสทั้งสิ้น ความจริงมีอยู่ว่า สิ่งใดก็ตามที่จะชำระให้สะอาดได้นั้น สภาพเดิมของสิ่งนั้นย่อมต้องสะอาดอยู่ก่อน จึงเพียงแต่หาวิธีกำจัดความสกปรกออกไปเท่านั้น ของสิ่งนั้นก็ย่อมกลับคืนเข้าสู่สภาพเดิมอันสะอาดได้ ถ้าหากสภาพเดิมของสิ่งนั้นๆ สกปรกอยู่แล้ว ก็ย่อมไม่สามารถชำระให้สะอาดได้ ฉันใดฉันนั้น

คำว่า จิตประภัสสรนี้ ได้เป็นจุดที่นักศึกษาธรรมะนำมาสนทนาถกเถียงโต้แย้งกันมากว่า ถ้าสภาพเดิมของจิตสะอาดบริสุทธิ์จริงแล้ว ก็ย่อมเป็นเป็นจิตของพระอรหันต์ จึงย่อมไม่มาเกิดอีกต่อไป

ความจริงนั้นคือ จิตที่ผ่องใสเพราะยังมิได้ถูกเจือปนด้วยอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งอื่นภายนอกเท่านั้น โดยเฉพาะหมายถึงจิตที่ยังอยู่ในภวังค์ ยังไม่ได้ขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ เช่นจิตในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท (ไม่ฝัน) หรือกำลังสลบอยู่ เป็นต้น เมื่อยังไม่ถูกสิ่งภายนอกเข้าปรุงแต่งจนทำให้เสียคุณภาพอันผ่องใสที่มีอยู่เดิมไป จิตนั้นก็ย่อมดำรงความประภัสสรอยู่ จนกว่าจะขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ที่เข้ามากระทบ (สัมผัส) ในขณะต่อไป

🌷 จิตเกี่ยวข้องกับหลักของกรรมอย่างไร

บรรดาสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มีจิต เป็นประธานสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้หมายความว่า บรรดาการกระทำที่เกิดขึ้นทุกอย่างนั้น ก็เพราะจิตเป็นผู้สั่งให้ลงมือกระทำ ทั้งทางกายและวาจาทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่รับผลของกรรมนั้น ก็คือ จิตนั่นเอง

มีพระบาลีในพระธรรมบท รับรองอยู่ดังนี้คือ "มโน ปุพพํ คมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ" แปลว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ผู้ที่กล่าววาจา หรือกระทำการสิ่งใดด้วยใจคิดร้าย กรรมย่อมตามผู้นั้นไป เหมือนดังล้อที่หมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น"

ดังนั้นถ้ากล่าวตามหลักของกรรมในพุทธศาสนาที่ว่า "ผู้ใดทำกรรมไว้อย่างใด ย่อมได้รับผลของกรรมอย่างนั้น" แล้ว จิตนี้ย่อมเป็นสภาพธรรมที่มีแก่นสาร ไม่เหลวไหล หรือไม่มีการเกิดดับเหมือนกระแสไฟฟ้าสลับ แต่ประการใดทั้งสิ้น ถ้าจิตเป็นสภาพธรรมที่เหลวไหล ไม่มีแก่นสารเสียแล้ว หลักของกรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ ก็ย่อมพลอยเหลวไหลไปอย่างสิ้นเชิงด้วย เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่มีการเกิดดับและทั้งไม่เคยเกิดดับมาเลย

เนื่องจากจิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างให้สัมผัส หรือให้แลเห็นได้เลย นอกจาก "ความรู้" ที่แสดงออกมายังอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกเท่านั้น ดังนั้นอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติเพื่อสาธิตดูว่า ความรู้ของจิตที่ว่านี้ รู้อยู่ตลอดเวลา หรือว่า รู้บ้าง - ไม่รู้บ้าง ถ้าผลของการสาธิตปรากฏออกมาว่า รู้บ้าง - ไม่รู้บ้าง ก็ย่อมสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าจิตเกิดดับได้ แต่ถ้าปรากฏว่า รู้อยู่ตลอดเวลา แล้วพูดว่าจิตเกิดดับ ก็ยอมพูดผิดจากความเป็นจริง จัดเป็นมิจฉาวาจา และความเห็นผิดจากความเป็นจริงเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นมิจฉาทิฐิอย่างไม่มีปัญหา โปรดพิจารณาข้อเท็จจริงจากการสาธิตดังต่อไปนี้

🌷 วิธีสาธิตว่าจิตไม่มีการเกิดดับ

เนื่องจากจิตเป็นสภาพธรรมที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา หรืออาจจะกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า  จิตคือตัวศาสนาเลยก็ได้ ดังนั้น การใช้เวลาศึกษาเพื่อให้รู้จักจิตอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงมากเป็นพิเศษ ย่อมเกื้อกูลการศึกษาธรรมะเป็นอันมาก 

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราเรียนท่องจำธรรมะจากตำราหรือครูอาจารย์ที่สอนว่า จิตเกิดดับ เป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้เฉลียวใจว่า ขัดกับเหตุผลและหลักของกรรมกันเลย นั่นก็คือ เมื่อจิตดวงหนึ่งทำกรรมไว้อย่างหนึ่งแล้วดับไป จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลัง จะต้องรับกรรมต่อจากจิตดวงเก่า ดังนี้ ซึ่งจะเป็นผลให้รู้จักธรรมะข้ออื่นที่เกี่ยวข้อง ผิดตามไปด้วยตลอดสาย

ถ้าจิตเกิดดับเช่นนี้จริง เหมือนดังที่เรียนกันอยู่ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาต ในวันมาฆะบูชานั้น รวมทั้งข้อบัญญัติเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ด้วย ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามนำไปปฏิบัตินานเพียงไรก็ตาม

เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงมือสาธิตนั้น เราจะต้องทราบเป็นพื้นฐานเสียก่อนว่า จิตคือธาตุรู้ หมายความว่า ที่ใดมีธาตุรู้ยืนทรงตัวอยู่ ก็ต้องแปลว่าที่นั้นมีจิตอยู่

ถ้าธาตุรู้นั้น รู้อยู่โดยตลอดเวลาแล้ว แต่เรากลับพูดว่า จิตเกิดดับ (รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง) ก็ย่อมพูดผิดจากความจริง

เพราะว่า ถ้าพูดว่า จิตเกิด ก็ย่อมแปลว่า เดิมไม่มีจิตอยู่ แต่เพิ่งจะมีจิตขึ้นมา และถ้าพูดว่า จิตดับ ก็แปลว่า จิตนั้นได้หายไปแล้ว ขณะนี้ไม่มีธาตุรู้เหลืออยู่อีกแล้ว

ดังนั้น ขอให้ใช้ความเป็นธรรมสังเกตดูว่า "ธาตุรู้" ได้บกพร่องขาดหายไปในขณะใดหรือไม่ แล้วกล่าวออกมาตามความเป็นจริงเท่านั้น ก็จะทำให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และนี่คือสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนชาวพุทธทั้งหลาย เพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง พระบรมศาสดาย่อมไม่ทรงสั่งสอนสิ่งใดที่ผิดไปจากความจริงเป็นอันขาด

สำหรับเรื่องหลักของกรรมในพุทธศาสนานั้น ก็ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมเช่นนั้น ไม่มีการถ่ายทอดกรรมให้แก่กัน

สมมุติว่า เรายกวัตถุชิ้นหนึ่ง ออกมาตั้ง ณ จุดๆ หนึ่ง แล้วเพ่งดูอยู่ ณ จุดๆ นั้น โดยไม่ให้สายตาที่เพ่งดู เคลื่อนออกไปเพ่งดูที่จุดอื่น นอกจากที่จุดนั้นเพียงจุดเดียวเท่านั้น เราย่อม "รู้" ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ตั้งอยู่ที่จุดนั้น

ทีนี้ เรายกเอาวัตถุชิ้นนั้น ออกไปเสียจากจุดนั้น โดยใช้สายตาเพ่งดูอยู่ที่จุดที่กำหนดไว้ตามเดิม เราก็ย่อม "รู้" ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ได้หายไปจากจุดนั้นแล้ว

ต่อจากนี้ ก็ยกเอาวัตถุชิ้นเดิมนั้นกลับเข้ามาตั้ง ณ จุดที่กำหนดไว้เดิมอีก เราก็ย่อม "รู้" ว่า วัตถุชิ้นนั้น ได้กลับมาตั้งอยู่ในที่เดิมอีกแล้ว และเมื่อเรายกวัตถุชิ้นนั้น ออกไปเสียจากจุดนั้นอีกครั้งหนึ่ง เราก็ย่อม "รู้" ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ได้หายไปจากจุดนั้นอีกแล้ว ดังนี้

ทำเช่นนี้ไม่ว่ากี่ครั้งก็ตาม ย่อมสรุปผลได้ว่า เราย่อม "รู้" อยู่ทุกขณะและตลอดเวลา ว่าวัตถุชิ้นนั้นได้เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และวัตถุชิ้นนั้นได้หายไปจากจุดนั้น ไม่ว่าจะมีวัตถุตั้งอยู่หรือไม่ได้ตั้งอยู่ ณ จุดที่กำหนดให้นั้นก็ตาม

ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตของเราไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน คือ ไม่ได้เกิดดับ ดังที่เรียนท่องจำกันอยู่ในปัจจุบันนี้เลย แต่วัตถุ คือ "สิ่งที่ถูกจิตรู้" ต่างหาก ได้เกิดขึ้นที่การรับรู้ของจิต เมื่อยกไปตั้งที่จุดนั้น และดับไปจากการรับรู้ของจิต เมื่อยกออกไปเสียจากจุดนั้น วัตถุต่างๆ หรือเรื่องที่จิตรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความนึกคิดทางใจ ซึ่งเรียกว่า อารมณ์ นั้น ต่างหากที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา อย่างนับครั้งไม่ถ้วนในระยะวันหนึ่งๆ

มีหลักฐานพระบาลี ในมหาสติปัฏฐานสูตรรับรองอยู่ ดังนี้ คือ "สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ, วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ" แปลว่า "เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่า ราคะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อราคะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะหายไปจากจิต ดังนี้"

ทั้งนี้ เราย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า สิ่งที่เกิดดับตามพระบาลีนี้คือราคะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับตามอารมณ์จากภายนอก แต่ธาตุรู้คือจิตนั้น รู้ทรงตัวอยู่เสมอ ไม่ได้เกิดดับตามราคะไปด้วยเลย

💖💖💖

เราสรุปได้ว่า ทั้งหมดที่พระพุทธองค์ได้ทรงอบรมสั่งสอนมานั้น มีเรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น เช่น คำสั่งสอนในโอวาทปาฏิโมกข์หรือหัวใจพระพุทธศาสนานั้น ข้อแรก จิตกับอารมณ์อกุศล ข้อสอง จิตกับอารมณ์กุศล ข้อสาม ก็คือจิตที่ปราศจากอารมณ์ทั้งกุศลและอกุศล แสดงว่าจิตเป็นประธานของธรรมทั้งปวง 

อย่างในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ชัดเจนว่า "สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ, วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ" แปลว่า "เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่า ราคะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อราคะดับไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะดับไปจากจิต" โทสะ โมหะก็เช่นกัน 

ในระหว่างที่จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่นั้น จิตย่อมแสดงอาการยินดีบ้างยินร้ายบ้าง ต่ออารมณ์ที่มากระทบอยู่ในขณะนั้น เมื่อยินดีก็เกิดสุขเวทนา ยินร้ายก็เกิดทุกขเวทนา จิตก็จดจำอารมณ์นั้นไว้ เมื่อมีโอกาสอันควรก็นำเอาสัญญาที่เก็บไว้นั้น ขึ้นมาปรุงแต่ง (สังขาร) วนรอบแล้วรอบเล่าจนอิ่มตัวในเวลานั้น ทำให้เกิดวิญญาณ คือแจ้งในอารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เป็นการเข้าใจจิตแบบถูกฝาถูกตัว 

แต่ก็ยังมีที่สอนกันจนเข้าใจจิตแบบผิดฝาผิดตัว ในเรื่องขันธ์ ๕ หรือรูปนาม โดยให้ รูปคือรูป ส่วนนามนั้นคือจิต เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดดับ ก็กลายเป็นว่า จิตเกิดดับ ดวงเก่าดับไป จิตดวงใหม่เกิดขึ้น มารับอารมณ์หรือกรรมของดวงเก่าที่ถ่ายทอดไว้ โดยให้เหตุผลไว้ว่า จิตจะเกิดขึ้นได้เพียงครั้งละ ๑ ดวงเท่านั้น จะเกิดพร้อมกันทีเดียว ๒ ดวงไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พอถูกถามว่าแล้วมีเวลาถ่ายทอดกรรมกันตอนไหน ก็จะมีอาการคอแข็งขึ้นมาทันที โดยความเป็นจริงที่ติตรองตามได้นั้น การถ่ายทอดออกไป คนถ่ายทอดต้องอยู่ เพื่อทอดไปถึงผู้รับ จึงจะถูกต้อง 

เพราะถ้าศึกษาพุทธศาสนาโดยเชื่อแบบขาดเหตุผลรองรับ และไม่เคยนำมาตรวจสอบสอบสวนเทียบเคียงแล้ว ย่อมหลงทางไปได้ง่ายๆ ยิ่งเป็นเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนาแล้วด้วย ทำให้ผิดไปตลอดแนว ฉันใด เหมือนการติดกระดุมเสื้อเม็ดแรกผิด ทำให้ผิดไปตลอดแนวเหมือนกัน ฉันนั้น เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔


 



Create Date : 05 ธันวาคม 2564
Last Update : 5 ธันวาคม 2564 16:03:18 น.
Counter : 615 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog