สัมมาสติ การระลึกชอบ


🌷  สัมมาสติ การระลึกชอบ

คำว่า “สติ” นั้น หมายถึง การระลึก ซึ่งในหลายแห่ง อาจแปลว่า การระลึกรู้ ซึ่งก็หมายถึงการรวมเอาจิตที่เป็นผู้รู้เข้าไปด้วย เพราะ “จิตเป็นธาตุรู้” ถ้าไม่มีจิตเป็นตัวยืน ก็คงไม่มีการระลึกรู้เกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน การจะระลึกอะไรขึ้นมาได้นั้น ต้องระลึกรู้ด้วยจิตของตนเท่านั้น เป็นของใครของเค้า

การระลึกรู้ หรือการสร้างสติให้เกิดขึ้นนั้น ใครจะมาช่วยเหลือ เพื่อสร้างแทนกันไม่ได้ อย่างมากที่สุดที่ทำได้ ก็คือ การคอยตักเตือนให้มีสติอยู่เสมอ หรือแนะนำให้รู้จักวิธีสร้างสติให้เกิดขึ้นเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรจะมารู้จักวิธีการระลึกรู้หรือการสร้างสติอย่างถูกต้องตามหลักในมหาสติปัฏฐานสูตร (สัมมาสติ) เพราะการระลึกรู้ของบุคคลคนทั่วๆ ไป ที่เรียกว่าสตินั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงสัญญาอารมณ์ชนิดหนึ่งเท่านั้น

สัมมาสติ เป็นไฉน ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ


เริ่มจากการระลึกรู้ว่า
สิ่งไหนที่เป็นกุศล (อารมณ์กุศล) ควรทำให้เกิดขึ้น และเจริญให้มากยิ่งๆ ขึ้น
สิ่งไหนเป็นอกุศล (อารมณ์อกุศล) ควรละเสียให้ได้อย่างรวดเร็ว และเพียรละอกุศลที่เคยมีอยู่ให้หมดไป

การจะทำให้สัญญาอารมณ์ กลายเป็นสติจนกระทั่งเป็น “สัมมาสติ” ได้นั้น ต้องเพียรพยายามระลึกรู้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ในที่ ๔ สถาน คือ ระลึกรู้อยู่ที่กาย เวทนา จิต และธรรม แบบไม่ขาดสาย หรือที่เรียกว่า มีสติเป็นชาคโร คือ มีสติตื่นอยู่เสมอ

การระลึกรู้ในขั้นแรกนั้น ควรเริ่มต้นที่ฐานกายก่อนเป็นอันดับแรก เหตุก็คือ เป็นฐานที่ง่ายต่อผู้ปฏิบัติในขณะที่ยังเป็นผู้ใหม่อยู่ ที่จะระลึกรู้ได้ชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ได้ง่าย และสามารถเป็นฐานให้ระลึกรู้ได้ตลอดเวลาของการปฏิบัติไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสติปัฏฐาน หรือก็คือ การระลึกรู้อยู่ที่ฐานได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเป็นสันตตินั่นเอง เมื่อคล่องแคล่วชำนาญได้ดีแล้ว การจะระลึกรู้อยู่ที่ฐานไหน ก็กระเทือนถึงกันหมด

การจะระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายให้ได้นั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คอยระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาของการปฏิบัติคือ ต้องเพียรพยายามประคองจิต (สัมมาวายามะ) ไว้ที่ฐาน อย่าให้เผลอ เมื่อเพียรประคองจิตไว้ไม่ให้เผลอ และไม่ปล่อยให้จิตส่งออกไปจากฐานได้สำเร็จ จิตก็จะรวมลง จิตย่อมมีสติ (สัมมาสติ) สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสทั้งหลาย (สัมมาสมาธิ) ในขณะนั้น เรียกได้ว่า จิตได้สงัดจากกามและได้สงัดจากอกุศลกรรมต่างๆ ถึงจะเป็นตทังควิมุตติ เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มากยิ่งขึ้น ก็จะกลายเป็นปหานวิมุตติได้ในที่สุด

พอมีแนวทางจากพระสูตรในมหาสติปัฏฐานให้ปฏิบัติตามได้ คือ การระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ที่เรียกว่า อานาปานสติ ซึ่งเป็นฐานกาย ที่เกิดจากกายสังขาร เพื่อจะได้พิจารณาให้เข้าถึงกายในกายเป็นภายใน ที่เรียกว่านามกายนั่นเอง

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ชัดเจนว่า

“อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา
สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา
วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆ แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์

โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้”


พอที่จะสรุปได้ว่า การฝึกสร้างสติให้เกิดที่จิตของตนนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ดีมีแต่ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เพราะคนที่ขาดสตินั้น มักทำอะไรตามอำเภอใจ เนื่องมาด้วยอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นนำพาไป

แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกฝนในการสร้างสติมาก่อน และสร้างสติเป็น เห็นชัดอยู่ เมื่อกระทบอารมณ์เข้า จิตจะหวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิด ให้นำจิตมาระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่อง แบบที่เคยทำได้สำเร็จ จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว จิตใจย่อมเกิดสติ สงบตัวลงราบคาบ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสเหล่านั้น

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 03 พฤษภาคม 2564
Last Update : 3 พฤษภาคม 2564 11:58:48 น.
Counter : 2326 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog