อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางไปสู่อมตะ


🌷 อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางไปสู่อมตะ

เจริญสุข สวัสดี วันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระ ๘ ค่ำ เดือน ๘ 
ณ บัดนี้ พากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา 

จงนั่งขัดสมาธิภาวนา สำรวมจิต สำรวมใจของตน ให้มีสติตั้งมั่นอยู่กับกายของตน อย่าปล่อยจิตให้ออกไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย หรือส่งจิตออกไปภายนอกกาย เมื่อจิตไม่อยู่กับกาย สมาธิย่อมยังไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น เพียรเอาสติมาแนบกับกายของตนให้ได้ แล้วมาดูจิต ในขณะที่จิตเป็นสมาธิสงบตั้งมั่น พิจารณาไปตามกระแสธรรมที่เห็นที่เกิดขึ้น พิจารณาจิตเห็นจิตเป็นภายใน
อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ
เมื่อปฏิบัติจนเห็นจิตตัวในแล้ว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบ

เพราะบุคคลผู้ลงมือปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง ย่อมรู้จักจิตและอาการของจิตได้อย่างถูกต้องแท้จริง ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว จิตก็คือธาตุรู้ ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย แต่ด้วยอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุให้จิตจมปลักติดอยู่ในโลก

โลก คือ อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ทำให้จิตไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ อันมี
ทุกฺเข อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทุกข์)
ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์)
ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ (ไม่รู้จักการดับทุกข์)
ทุกฺขนิโรธคามินียาปฏิปทาย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์)
เพราะมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น จึงทำให้จิตไม่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง

ส่วนบุคคลที่ยังปฏิบัติไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร มันเป็นเรื่องของจิตตัวเดียว ที่ยังปฏิบัติธรรมไม่ได้นั้น ก็เพราะจิตมันยังชอบไปรู้อยู่ที่เรื่อง ไม่ใช่มารู้อยู่ที่รู้ มันยังปรุงแต่ง อยากไปโน่นไปนี่ มันมีธุระของจิตเอง มันเอาเรื่องธัมมารมณ์ที่ผุดขึ้นมา จากสัญญาบ้าง จากเวทนาบ้าง จากวิญญาณบ้างมาปรุงแต่ง บางครั้งมันก็ไปเอาเรื่องข้างนอกมาปรุงแต่งบ้าง

ส่วนบุคคลผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้และประคองจิตของตนสำเร็จนั้น ต้องรู้จักตัดใจให้เป็น คือ รู้จักปล่อยวางตัณหา อุปาทาน มานะ ทิฏฐิ ออกไปบ้าง อย่าไปปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และที่เป็นปัจจุบันด้วย ให้รู้จักวิธีเพียรพรากจิต เปลื้องจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นให้ได้ ด้วยการเพียรเพ่งภาวนา ประคองจิตของตนให้สงบตั้งมั่นอยู่กับนิมิตหมายแห่งจิต หรือ ฐานที่ตั้งของสติ  ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ที่เราได้อุปโลกน์ขึ้นในใจมาอย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่

เมื่อทำงานทางจิตได้สำเร็จโดยการประคองจิตของตน จิตจะค่อยๆ สงบราบเรียบลง ไม่กระเพื่อม มีสติตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เวียนเข้ามาเป็นวัฏฏะวน จรเข้ามาปะทุจิตของตน

นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา จำเป็นต้องทวนกระแสโลกีย์อย่างมาก เพราะอารมณ์ทางโลกมีเครื่องเย้ายวนชวนให้หลง กวนอารมณ์ให้ฟุ้งซ่าน ให้กระเพื่อมอย่างมากมายไปกับรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี ความต้องการสัมผัสหรือธัมมารมณ์ที่เคยต้องการ ชวนให้รัก ชักให้หลง พาให้กำหนัดอยู่เรื่อย เราต้องฝืนอารมณ์เหล่านั้นด้วยการรู้จักวางจิตของตนไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ เพื่อทำให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว เป็นการปล่อยวางอารมณ์ที่มากระทบในขณะนั้นออกไปให้ได้ ต้องหมั่นฝึกฝนอบรมบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อให้ได้นิมิตหมายแห่งจิต

บุคคลผู้ได้นิมิตหมายแห่งจิตย่อมได้เครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน มีธรรมบทจากพระสูตร ดังนี้

ดูก่อนอัคคิเวสนะ ก่อนหน้านี้ จิตของเราตั้งอยู่ในสมาธินิมิตอะไร 
เมื่อเรากล่าวคาถานี้จบลง เราก็สามารถนำจิตของเราให้ไปตั้งมั่นอยู่ในสมาธินิมิตนั้นได้ทันที


แล้วพระองค์ยังทรงได้ตรัสต่อไปอีกว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เฉียบแหลม 
เมื่อได้ติดตามดูกายในกาย ดูเวทนาในเวทนา ดูจิตในจิต ดูธรรมในธรรมทั้งหลาย 
เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ สัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 
จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตแห่งจิตได้


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้น 
ย่อมได้สมาบัติ (สมาบัติ คือ ความสงบอันพึงเข้าถึง) อันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน 
ย่อมมีสติ มีสัมปชัญญะ  ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด
 

ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเพราะ 
ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม กำหนดนิมิตแห่งจิตของตนได้


จากพระธรรมบทนี้ เราจะเห็นว่า บุคคลผู้ที่มีสติคอยควบคุมคอยคุ้มครองจิต หรือมีสติปัฏฐานนั่นเอง เมื่อมีสติปัฏฐานเป็นนิมิตแห่งจิตของตนแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมได้สมาบัติ สภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึง อันเป็นเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมหมายถึงว่า ไม่ว่าจะเป็นเวลาหลับตาหรือเวลาลืมตาก็ตาม ก็ได้ประโยชน์จากการฝึกอบรมจิตของตน ให้มีฐานที่ตั้งของสติ

เมื่อจิตอยู่ที่ไหน สติก็จะอยู่ที่นั่น
เมื่อสติอยู่ที่ไหน  สมาธิก็จะอยู่ที่นั่น
เมื่อสมาธิอยู่ที่ไหน  ปัญญาก็จะอยู่ที่นั่น
เมื่อปัญญาอยู่ไหน ศีล (คือเจตนางดเว้น) ก็จะอยู่ที่นั่นเช่นกัน

ทั้งหมดนี้เราต้องสร้างทางเดินของจิต ที่เรียกว่า มรรคจิต ขึ้นมา เพื่อทำจิตให้มีสติทำจิตให้มีสมาธิ ทำจิตให้เกิดปัญญาขึ้นที่จิต เป็นอริยมรรค ทางเดินของจิตสู่ความเป็นอริยะ เป็นทางที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์หรือพรหมจรรย์

มีภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระพุทธองค์ว่า 
พรหมจรรย์คืออะไร

มีพระดำรัสตอบว่า 
อริยมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่
สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ 
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมมาสติ สัมมาสมาธิ

คือ พรหมจรรย์

และที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คือ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ

ภิกษุรูปนั้นยังถามพระพุทธองค์ต่อไปอีกว่า
คำว่า กำจัดราคะ กำจัดโทสะ กำจัดโมหะ หมายถึงอะไร

ตรัสตอบว่า ทั้ง ๓ นั้นหมายถึง นิพพานธาตุ
ฉะนั้น นิพพานธาตุ จึงได้ชื่อว่า ธรรมอันเป็นเครื่องสิ้นไปแห่งอาสวะ อาสาวักขยะ


ภิกษุนั้นทูลถามอีกว่า
อะไรคืออมตะ อะไรคือทางให้ถึงอมตะ

ตรัสตอบว่า
ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรียกว่า อมตะ
อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นคือ ทางไปสู่อมตะ


เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา
เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ
แปลว่า
ทางเดินที่จะทำความเห็นให้บริสุทธิ์หมดจด มีเพียงทางนี้ทางเดียวเท่านั้น 
ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นทางที่มารและเสนามารหลง
 
ทางนั้นคือทางเดินของจิตเพื่อไปสู่ความเป็นอริยเจ้า คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

เราสามารถแบ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นออกเป็น ๓ หมวดด้วยกัน
เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็น ศีล
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็น สมาธิ
สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ  จัดเป็น ปัญญา

ศีล ย่อมเปรียบเหมือนรากแก้ว
สติและสมาธิ เปรียบเหมือนเปลือกและกระพี้
ปัญญา เปรียบเหมือนแก่นของต้นไม้ ที่มีกระพี้และเปลือกห่อหุ้มอยู่
จึงทำให้ต้นไม้นั้นมีกิ่งก้านสาขาใบและดอกผลที่สมบูรณ์ได้
ศีลจึงเป็นธรรมอันงามในเบื้องต้น

เมื่อพูดถึงศีลแล้ว โดยเฉพาะศีล ๕ ใครว่าไม่สำคัญ

อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ . . . .  เหล่านี้คือสิกขาบทห้าประการ
สีเลนะ สุคะติง ยันติ . . . . . . . . บุคคลย่อมไปสู่สุคติก็เพราะศีล
สีเลนะ โภคะสัมปะทา . . . . . . . ย่อมถึงพร้อมด้วยโภคะสมบัติก็เพราะศีล
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ . . . . . . . . ย่อมไปสู่นิพพานก็เพราะศีล
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย . . . . . . . . เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด ฯ

จากพระบาลีพร้อมคำแปล เราจะเห็นว่า ศีล ๕ นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย โดยเฉพาะนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานด้วยแล้ว เมื่อพูดถึง ศีล ๕ สำหรับ ชาวบ้านเราท่านทั่วๆไป นั้น เป็นเพียงแค่ข้อห้าม เพราะกำลังจิตกำลังใจยังอ่อนแอ สืบเนื่องจากยังคลุกเคล้าตีโมงอยู่กับสังคมรอบตัว ส่วนนักบวชหรือนักปฏิบัติภาวนา นั้น เป็นงานสำคัญที่ต้องวิรัติ คือต้องงดเว้นให้ได้

แต่ปัจจุบันกลับถูกมองข้ามความสำคัญของศีล ไปอย่างน่าเสียดายอย่างมาก 

เมื่อกล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญา นักปฏิบัติธรรมคนรุ่นใหม่ กลับไปให้ความสำคัญกับข้อสุดท้ายเท่านั้น คือ ปัญญา ที่ชอบนำมาอวดกันว่า เมื่อได้ผ่านการ ปฏิบัติวิปัสสนาปัญญามาแล้ว ตัวสติสมาธิ ย่อมจะเกิดมีขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้ เพราะสตินั้นต้องเพียรสร้าง สมาธิต้องเจริญให้เกิดขึ้น

หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ได้เคยเทศน์ไว้ว่า ถ้าเจออาจารย์วิปัสสนา ก็จะเล่นแต่วิปัสสนา ให้พิจารณาโน่น พิจารณานี่ ทั้งที่จิตของตนยังไม่มีกำลังพอ การพิจารณาก็ปรุงแต่งจนกลายเป็นวิปัสสนูหรือเป็นวิปัสสนึกไปเลยก็มี

ถ้าบุคคลผู้ปฏิบัติ ลองขาดคุณธรรมขั้นพื้นฐาน คือ ศีล ๕ เสียแล้ว ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดวิปัสสนาปัญญาได้เลย เพราะขาดสำนึกที่ถูกต้องว่าจะทำอย่างไร ตนเองจึงจะมีพลังจิตที่จะวิรัติ คืองดเว้นข้อห้ามเหล่านี้ได้

การปฏิบัติธรรมจนสามารถวิรัติแค่ศีล ๕ ได้นั้น มีความหมายที่ยิ่งใหญ่มากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในทางพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว เพราะพระอริยเจ้าในขั้นต้นนั้น ที่เรียกว่า พระโสดาบัน ท่านต้องมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์ คือสามารถวิรัติได้แล้วเท่านั้น ไม่มีวันที่ท่านจะละเมิดศีล ๕ เลย เพราะเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง ในการก้าวข้ามโคตรในแบบที่ไม่มีการย้อนคืนกลับมาเป็นปุถุชนอีกแล้ว

แต่ก็ยังมีนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ในบางหมู่บางเหล่า ที่มีศีล ๕ ที่วิบัติ ย่อยยับคาตาโดยมีผู้พบเห็น ไม่มีความละอายต่อบาป อาหิริกัง รวมกับความไม่เกรงกลัวต่อบาป อโนตตัปปัง กลับใช้วิธีการสร้างภาพ โดยอาศัยบุคลิกลักษณะของตนที่น่าเชื่อถือ มีวาจาไพเราะ นุ่มนวล ชวนให้รัก ชวนให้หลงเชื่อไปว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมขั้นอริยะแต่งตั้งกันขึ้นเอง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว หามีคุณธรรมเหล่านั้นในตนเองไม่ เพราะขาด “ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง” อันเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการรักษาศีล ๕ อันงามในเบื้องต้น ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้เลย และไม่มีภูมิรู้ ภูมิธรรมหรือหลักธรรมแท้ ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต่อพระนิพพานในเบื้องหน้าเลย

นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานคนรุ่นใหม่ มักมองข้ามความสำคัญนี้ไปอย่างน่าเสียดายคนเราถ้าลองขาด “ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง” เสียแล้ว ซึ่งมีความสำคัญเป็นเบื้องต้น ก็อย่าหวังมีความก้าวหน้าในภูมิรู้ ภูมิธรรม จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากศีล ๕ นั้น เมื่อเทียบกับอาบัติปาราชิก ที่เป็นอาบัติหนักแล้ว ก็เข้าไปตั้งไม่รู้กี่ข้อที่เกี่ยวข้องกับอาบัติปาราชิก อันทำให้ขาดจาก “ความดีแบบถาวร” ไป

ขอฝากโศลกธรรมของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ ไว้ดังนี้
อยากพ้นทุกข์ ให้วางสุขในโลก
อยากพ้นโศก ให้วางสุขในรัก
อยากดีเด่น ย่อมเป็นทุกข์ร่ำไป
ให้ละวาง จึงถูกทางพ้นทุกข์

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศน์วันพระ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔


 



Create Date : 06 กรกฎาคม 2564
Last Update : 12 กรกฎาคม 2564 15:02:58 น.
Counter : 537 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog