ปัญญาที่แฝงด้วยสัญญา
🌷 ปัญญาที่แฝงด้วยสัญญา เมื่อพูดถึงเรื่องปัญญาในปัจจุบัน คนที่ได้พบประสบความสำเร็จมีธุรกิจใหญ่โต มีความตั้งใจ มีความขยันได้ปริญญาบัตรต่อท้ายมากมายหลายแบบ พูดจาคล่องแคล่วไพเราะ โต้วาทีเก่งกาจเฉียบขาด ในทางวัฏฏะมักเป็นบุคคลที่ได้การยกย่องยอมรับจากสังคมว่า เป็นผู้มีปัญญาดี มีความสามารถ จดจำอะไรต่างๆ ได้มากมาย มีสัญญาดี สมองดี คิดเป็น เล่งเห็นอนาคต นี่เราเรียกได้ว่ามี "ปัญญาในทางโลก" ส่วนในทางธรรมที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เรียกว่าเป็นผู้มี "สัญญา" ดี แต่ที่สำคัญเป็นสาระอย่างยิ่งคือ ปัญญาทางโลกหรือสัญญาดังกล่าว ย่อมแตกต่างไปจาก "ปัญญาในทางธรรม" เป็นคนละเรื่องกันเลย เพราะปัญญาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติยกย่องไว้ว่าเป็นเลิศนั้น เป็นวิราคธรรม เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นของจิต จากอุปกิเลสที่เป็นแขกจรทั้งหลาย เป็นความสามารถของจิตในการปล่อยวางอารมณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ออกไปจากจิตของตน หรือที่เรียกว่า "การสลัดคืน" เป็นการสลัดอารมณ์ทั้งหลายกลับคืนสู่โลก เป็นปัญญาเพื่อความพ้นโลก เหนือโลก ฯลฯ ที่เรียกว่า "โลกุตตระธรรม" เป็นปัญญาที่ทำให้สังคมกลับสู่ความสงบสันติ ร่มเย็น ไม่เบียดเบียนกัน ย่อมแตกต่างไปจากปัญญาทางโลก (สัญญา) ยิ่งมีมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งเกิดความวุ่นวายสับสน เอารัดอาเปรียบกันแบบถูกทำนองคลองธรรมในทางโลก บุคคลดังกล่าวล้วนเก็บงำอารมณ์ได้เก่ง ไม่แสดงออกให้เห็นได้ง่ายๆ ยิ่งต่อหน้าบุคคลอื่นด้วยแล้ว ยิ่งระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ภายในจิตของตนนั้น กลับรุ่มร้อน สับสนวุ่นวาย ซัดส่ายไปทั่ว เป็นการ "เก็บงำอารมณ์" ไว้ ไม่ใช่การ "ปล่อยวางอารมณ์" สลัดออกไป เมื่อเผลอไผลได้ที่เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ ก็จะมีการระเบิดอารมณ์ออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ขนาดผู้ที่เป็น "ด็อกเตอร์" มีปริญญาพ่วงท้ายหลายใบ แต่ด้วยความโกรธครอบงำ เผลอเอาไม้กอฟล์ตีภรรยาจนตายคาไม้ ยอมรับว่าตีแรงไปหน่อยด้วยความโกรธหลง อย่าปล่อยให้ "สัญญา (ปัญญาในทางโลก)" มาครอบงำ "ปัญญาในทางธรรม" จนมองไม่เห็นสัจธรรมความจริง ๔ ประการ เพราะตำราที่รจนาขึ้นมาในภายหลังนั้น มักสอนให้ศึกษา จดจำ ให้คิดเป็น เล็งเห็นอนาคตได้ (ฝัน) ความรู้เพียงแค่นี้ก็คิดกันไปเองแล้วว่า จิตของตนเองมีคุณภาพเพียงพอแล้ว ต่างจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่สอนให้ "หยุดเป็น เย็นได้" สังขารความนึกคิดไม่สามารถปรุงแต่ง ปิดอารมณ์ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิตของตนได้ ปล่อยวางอดีต อนาคตเสีย "ไม่เชื่อถืออารมณ์ ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ รู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ เป็นผู้สิ้นหวัง คลายความหวัง ย่อมเป็นบุรุษอันสูงสุด ดังนี้" (พระพุทธพจน์) จากพระพุทธพจน์ดังกล่าว จิตไม่เชื่อถืออารมณ์ได้นั้น ต้องเป็นจิตที่ผ่านการอบรมจิต ด้วยภาวนามยปัญญา จนจิตมีสติ สงบตั้งมั่นได้ กิเลสที่เป็นแขกจรคงหลอกจิตของตนให้เชื่อได้ยาก แต่การที่จะไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ และรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ได้นั้น จิตต้องมีสติ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วย จิตจึงมีกำลังมากพอในการปล่อยวาง ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ หรือรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ได้ โดยการตรึกธรรมเฉพาะหน้า พิจารณาเห็น "เหตุแห่งทุกข์ คือสมุทัย" จิตมีกำลังพร้อมละเหตุแห่งธรรมนั้นได้ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คำว่า “ทิฏฐิ” นั้นเป็นคำกลางๆ หมายถึง “ความคิดเห็น” จะถูกหรือผิดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ อีกทั้งรายละเอียดที่แวดล้อมข้อมูลนั้นอยู่ แต่ “ทิฏฐิ” ที่มีให้เห็นในทุกวันนี้ เป็น “ทิฏฐิ” ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด จากความเชื่อความศรัทธาในตัวบุคคลเสียมากกว่า เป็นการเชื่อในความนึกคิดที่ยึดติดในความรู้สึกของตนเอง โดยมองข้ามหลักฐานความจริงที่ถูกต้องของข้อมูลรายละเอียดที่มีปรากฏในพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว โดยเฉพาะ “ทิฏฐิ” ที่ได้รับจากบุคคลผู้ซึ่งน่าเชื่อถือ มีหน้ามีตามีหน้าที่การงาน อีกทั้งมีฐานะทางสังคมชั้นสูงด้วยแล้ว เมื่อได้สอนหรือพูดอะไรไป ผู้ฟังมักขอเชื่อไว้ก่อนว่าที่สอนหรือพูดมานั้นถูกต้องแล้ว เป็น “สัมมาทิฏฐิ” ทั้งๆ ที่ “ทิฏฐิ” ที่ว่ามานั้น เป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธาที่เกิดขึ้นจากความนึกคิดที่ยึดติดในความรู้สึกของตนเองเท่านั้น มีพระพุทธพจน์ตรัสเพื่อป้องกันเรื่องเหล่านี้ไว้ ใน “กาลามสูตร” ทรงตรัสถึงความเชื่อ ๑๐ ประการว่า “อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ” ต้องสมาทานนำมาปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้ทราบความจริง ซึ่งเป็นผลที่ประจักษ์ได้แล้วค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย แต่ในปัจจุบันคำสอนมักเป็นไปแบบเอาอกเอาใจกันเสียมากกว่า สำหรับบุคคลผู้ที่มีจิตศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา การสอนก็มักเป็นไปในรูปแบบให้กำลังใจ เพื่อให้เกิดความสบายใจก็จะมีความเชื่อ ความศรัทธายิ่งๆ ขึ้น โดยขาดการเน้นย้ำในส่วนสำคัญที่เป็นเรื่องของความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ เป็นการไม่ให้เชื่อในความนึกคิด ติดในความรู้สึก ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อพิสูจน์ความเชื่อ ความศรัทธา “ทิฏฐิ” ความคิดเห็นที่ตนเองคิดว่าถูกนั้น จึงจะเป็น “สัมมาทิฏฐิ” คือเป็นความคิดเห็นที่ชอบแล้ว หมายถึงได้ผ่านการพิสูจน์ทราบทางการปฏิบัติธรรม เพื่อให้รู้เห็นตามความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเป็น “สัมมาทิฏฐิ” ที่เป็นเพียงสาสวะก็ตาม มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ในตอนต้นพระสูตร (มหาจัตตารีสกสูตร) เกี่ยวกับ “สัมมาสมาธิ” ของพระอริยเจ้า อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ ที่แวดล้อมไปด้วยอริยมรรคอีก ๗ องค์ บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น “สัมมาทิฏฐิ” เป็นประธาน ได้ทรงกล่าวถึง “สัมมาทิฏฐิ” ที่เป็นประธานอยู่นั้นมี ๒ อย่าง คือ ๑. สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ๒. สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน? คือ ความเห็นดังนี้ว่า – ทานที่ให้แล้ว มีผล – ยัญที่บูชาแล้ว มีผล – สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล – ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว มีอยู่ – โลกนี้ มี – โลกหน้า มี – มารดา มี – บิดา มี – สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะ มี – สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ “สัมมาทิฏฐิ” ที่ยังเป็นสาสวะ ยังต้องมีพื้นฐานสำคัญในเรื่องกำลังสมาธิของจิตที่มีสติ สงบตั้งมั่น แต่ยังคงมีความหวั่นไหวอยู่บ้างไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดที่เข้ามากระทบจิตของตน ทำไมต้องมีกำลังของ “สมาธิ” ด้วย? เพราะบุคคลที่จิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นได้นั้น ย่อมเป็นบุคคลที่มีส่วนในทางทำให้เกิดกุศล กุศลทั้งหลายล้วนเป็นเรื่องของบุญ เช่น เคารพพ่อ – แม่ ทำความดี ให้ทาน เชื่อเรื่องวิบากกรรม เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจิตใจที่สุขสงบร่มเย็น การกระทำเหล่านี้ จึงเป็นบุญที่ให้ผลแก่ขันธ์ เช่น – เวทนาขันธ์ ก็ได้รับแต่สุขเวทนา – สัญญาขันธ์ จดจำแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล – สังขารขันธ์ ปรุงแต่งในสิ่งดีๆ มีประโยชน์ – วิญญาณขันธ์ แจ้งแต่ในอารมณ์อันละเอียดเป็นสุขสงบร่มเย็น สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น ฯ จากพระสูตรดังกล่าว แต่ละบรรพะขององค์มรรค ที่ต้องการละจาก “มิจฉาทิฏฐิ” มาสู่ “สัมมาทิฏฐิ” นั้น ล้วนต้องมีองค์ประกอบของ “สัมมาวายามะ” และ “สัมมาสติ” ในทุกๆ บรรพะ ทั้ง ๑๐ บรรพะ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ) “สัมมาวายามะ” และ “สัมมาสติ” ทั้ง ๒ องค์แห่งอริยมรรคเป็นส่วนประกอบของหมวด “สมาธิ” ซึ่งมีองค์ ๓ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตรวมลงเป็น “สมาธิ” สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว (“สัมมาสมาธิ” ได้ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ) การละ “มิจฉาทิฏฐิ” เพื่อบรรลุ “สัมมาทิฏฐิ” นั้น ต้องเข้าถึง อริยสัจ ๔ คือการรู้เห็นตามความเป็นจริงอันประเสริฐ ไมใช่อาศัยเพียงความรู้สึกนึกคิดที่เกิดจากการอ่าน การฟัง จนความคิดนั้นตกผลึกแล้ว นั่นเป็นเพียง “ทิฏฐิ” ความเชื่อ ความศรัทธาที่ตนคิดเองว่าถูก ยังขาดการปฏิบัติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ จึงจะเป็น “สัมมา“ มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งอะไรเล่า? รู้เห็นตามความเป็นจริงซึ่งความจริงอันประเสริฐว่า – นี้เป็นทุกข์ – นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ – นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ – นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เปรียบเหมือนบุคคลที่ต้องการ “กำหนดรู้” อะไรสักอย่าง จำเป็นต้องลงพื้นที่จริงหรืออยู่ในสภาวธรรมตามความเป็นจริง จึงจะ “กำหนดรู้” ได้ถูกต้อง เช่น ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเสีย ฯลฯ จะอาศัยเพียงแค่ “สัญญา” ที่เข้าใจว่าเป็น “ปัญญา” มากำหนดรู้ แล้วละได้นั้น เป็นเพียงความรู้สึกที่นึกคิดเอาเองว่า “ใช่” ส่วนบุคคลผู้ซึ่งลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานหรือเดินจงกรม เพื่อให้รู้เห็นตามความจริง (สัมมาทิฏฐิ) เปรียบเหมือนการลงพื้นที่ หรืออยู่ในสภาวธรรมที่เป็นจริง เช่นเมื่อกำลังปฏิบัติธรรมกรรมฐาน หรือเดินจงกรมอยู่นั้น ทำไมจึงยังไม่สามารถประคองสติให้จิตสงบตั้งมั่นได้ ก็ควรกำหนดรู้ลงไปว่า ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ฯลฯ ล้วนเป็นทุกข์ เรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สามารถประคองสติ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นได้ เมื่อกำหนดรู้แล้ว ควรละเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย ทุกข์ดับไปได้ชั่วคราวในขณะนั้น เพราะมีสติกำกับอยู่ ต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ จนสิ้นการปรุงแต่ง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นทางเดินไปสู่ความเป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค เป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ ดังนี้ … สาธุ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป
🌷 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป ตราบเท่าที่ยังมีการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๒ เดือน ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ทรงประกาศพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา“ โดยสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่งพระพุทธวาจาให้เป็นที่ประจักษ์ว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” คือ “โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ“ วันนั้นเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระสงฆ์องค์แรกที่เกิดขึ้น คือ ท่านโกณฑัญญะ พระธรรมที่ทรงแสดงในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า “ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ” แปลว่า “ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มานั้น พระพุทธองค์ไม่เคยทรงได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน” พระพุทธองค์จึงทรงประกาศตนเองว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยองค์เอง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฌานในสัมมาสมาธิที่ทรงตรัสสั่งสอนไว้ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่เป็นการต่อยอดความรู้มาจากรูปฌานหรืออรูปฌาน ซึ่งเป็นฌานสมาบัติที่มีปรากฏอยู่ ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมา ฉะนั้นสัมมาสมาธิจึงไม่ใช่สมาธิแบบทั่วๆ ไป และฌานในสัมมาสมาธินั้น ก็ไม่ใช่ฌานสมาบัติเช่นกัน เมื่อกล่าวถึงเนื้อธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนั้น คือ อริยสัจ ๔ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ทำให้ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรม เปล่งวาจาว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เมื่อนำมาพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า หัวข้อธรรมที่ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ ได้กล่าวมานั้น เป็นเรื่องของสัตว์ (จิต) ที่ติดข้องด้วยความยึดถืออยู่ในโลกทั้งสิ้น หรือก็คือ จิตที่ติดข้องอยู่ในอารมณ์นั่นเอง ตรงตามที่พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ไว้ว่า “โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงปิดบังไว้ จึงหลงงมงายอยู่ในความมืด เพราะความทะยานอยาก (ตัณหา) มีประการต่างๆ” นั่นเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้อธรรมที่ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” นั้น หมายความเกี่ยวเนื่องกับ จิตที่ติดข้องยึดถืออยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายนั่นเอง แต่กลับมีพวกอิ๊กคิวที่ชอบตีความไปตามจริตที่ติดความง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไหลตามกิเลสว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น” ให้รู้ก็พอ ไม่ต้อง ไม่ตั้ง ไม่พยายาม ไม่สามารถบังคับ เพราะบังคับมันไม่ได้ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งปวงจะดับของมันไปเองเป็นธรรมดา (ตามยถากรรมนั่นเอง) ซึ่งทำให้พระธรรมบทของท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะนี้เสียหายไปหมด คำกล่าวที่ว่า “เป็นธรรมดานั้น” ล้วนกล่าวถึงเรื่องของโลก ของหมู่สัตว์ทั้งหลาย หรือจิตที่ติดข้องในอารมณ์ ที่ควรต้องละ ต้องสละคืนความยึดถือออกไปให้หมดสิ้น เป็นธรรมดา เมื่อรู้แล้ว ละเรื่องที่รู้ไม่เป็น ได้แต่ดูเฉยๆ ก็คือความไม่รู้นั่นเอง เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองของสัตว์โลก (จิต) ผู้ติดข้องยึดถืออยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย รู้แล้วไม่ยึดติดอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเป็นไม่มี ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลก รู้แล้วละสิ่งนั้นทั้งปวง เป็นก็เย็นได้ สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมดับไปเองเป็นธรรมดา ไม่ใช่อย่างที่พยายามครอบงำให้เชื่อตามๆ กันไปว่า “เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ให้รู้ ไม่ต้องทำอะไร ให้รู้เฉยๆ (เฉยโง่) เดี๋ยวมันก็ดับไปของมันเอง” การรู้แบบนี้ก็เปรียบเสมือนว่าไม่รู้จักอารมณ์ เพราะละสิ่งที่รู้ไม่เป็น ปล่อยให้ราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามยถากรรมดีๆ นี่เอง นานวันไปก็กลับกลายเป็นถิรสัญญา คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น อารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเร็วขึ้น ไม่ใช่เกิดจากการฝึกฝนอบรมจิต ให้รู้จักปล่อยวาง (ละ) อารมณ์ทั้งหลาย แต่เป็นสัญญาที่จดจำธรรมารมณ์ (ถิรสัญญา) ดังกล่าวไว้ได้อย่างแม่นยำนั่นเอง ประกอบกับว่า เมื่อจดจำธรรมารมณ์ดังกล่าวที่ว่ามานี้ได้อย่างยาวนาน ทำให้ธรรมารมณ์ดังกล่าวเหล่านั้น จืดจางไปจากความรู้สึกของตนเอง จนตนเองเข้าใจผิดไปว่าธรรมารมณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเอง โดยไม่ได้นำมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่า ธรรมารมณ์ในส่วนที่ประทับใจหรือที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ก็ยังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในธรรมารมณ์เหล่านั้น แบบปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสทั่วๆ ไป วนเวียนเป็นวัฏฏะ ไม่รู้จักจบสิ้น ธรรมารมณ์เก่าดับไป ธรรมารมณ์ใหม่เกิดขึ้นๆๆ ตลอดไป เนื่องจากไม่ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ทำให้ไม่เกิดปัญญา (ทางธรรม) ไม่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ และต้องรู้จักเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ที่กำหนดรู้นั้นด้วย เมื่อกำหนดรู้แล้ว ต้องละให้เป็น จึงจะเย็นได้ (ดับ) นิโรธ และจะละสิ่งที่รู้ให้เป็นจึงจะเย็นได้นั้น ต้องเดินตามทาง อริยมรรค มีองค์ ๘ ที่มีสัมมาสมาธิเป็นประธานในองค์มรรคนั่นเอง เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่บริบูรณ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป
พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป เรื่องพระสัทธรรมปฏิรูปนั้นมีมานานแล้ว ปัจจุบันปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุจากความเชื่อ ความศรัทธา ที่เชื่อศรัทธาตามๆ กันมา โดยขาดหลักเหตุผล ไม่มีการนำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว มีการปรารภเรื่องพระสัทธรรมที่จะเลือนหายไปนี้ ไว้ล่วงหน้า แต่ครั้งพุทธกาล ที่พระมหากัสสปได้ทูลถามพระพุทธองค์ และมีพระพุทธวจนะทำนายไว้ ดังนี้ “ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑ ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑ ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม” เมื่อสิกขาบทได้ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามาอย่างมากมายในปัจจุบัน ได้บัญญัติไปตามมติตามความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาเอง กลับเป็นตัวทำให้พระสัทธรรมที่ถูกต้องเที่ยงตรงตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ได้บิดเบือนเลือนลางหายไปทีละเล็กทีละน้อย และบุคคลผู้เข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริง (อริยบุคคล) กลับมีน้อยลงเป็นอย่างมาก จนน่าใจหาย น่าเป็นห่วง ต่อพระสัทธรรมที่ถูกบิดเบือนไป มีความพยายามของผู้สอนรุ่นใหม่ๆ ได้ประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำที่บัญญัติขึ้นเอง ให้ฟังแล้วเป็นเรื่องสบายใจ เข้าถึงได้ง่ายๆ ทำให้ลัดสั้น ไม่ต้องลำบากลำบน ในการประพฤติปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อให้เข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริง โดยมักอ้างว่าเป็นผู้มีปัญญาอยู่ก่อน แต่ไม่มีเวลาที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา คำสอนที่ปรากฎออกมา มักเป็นไปในแนวทางให้กำลังใจเสียมากกว่า เช่น เพียงอาศัยความพยายามก็พอ ไม่ต้องเพียรเพ่งภาวนากรรมฐานใดๆ เพราะจะดูแข็งๆ ทื่อๆ จนกลายเป็น “อัตตกิลมถานุโยค” ไป เป็นต้น เมื่อได้มาพิจารณาตามพระพุทธวจนะ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำนายไว้ เราก็จะเห็นจริงตามนั้น ๑. ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา จะเห็นได้ว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ได้ลืมเลือนคำสั่งเสียที่พระพุทธองค์ ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในอนาคตที่ว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทน เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว” ปัจจุบันชาวพุทธกลับไปให้ความเคารพยำเกรงต่อภาพลักษณ์ รูปภาพ รูปปั้น รูปสมมุติต่างๆ ด้วยคำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธา แบบตามๆ กันมา (งมงาย) ทั้งที่มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (พระพุทธเจ้า)” ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ๒. ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ข้อนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าชาวพุทธเคารพยำเกรงในพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริงแล้ว พระสัทธรรมจะไม่ปฏิรูปไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันไว้อย่างรัดกุม อันมี “กาลามสูตร” ที่กล่าวถึง เรื่องราวความเชื่อต่างๆ ๑๐ ประการว่า “อย่าปลงใจเชื่อ ให้ฟังและศึกษาด้วยดี ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ฯ ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ฯ” พระพุทธองค์ทรงเน้นให้สมาทาน (ปฏิบัติ) อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ทราบตามความเป็นจริง จนได้ผลออกมาว่า จิตของตนมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่ซัดส่ายไปมาตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มากระทบ การสมาทานนั้นเป็นไปเพื่อการกำหนดรู้ว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์ นี่ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ นี่การดับทุกข์ แล้วค่อยเชื่อสิ่งที่ศึกษาและได้ยินได้ฟังมาก็ยังไม่สาย ๓. ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ เมื่อกล่าวถึงพระสงฆ์แล้ว ย่อมมีข้อจำกัดเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ถูกพร่ำสอนให้เคารพยำเกรงในผ้ากาสาวพัสตร์ ส่วนมากมองข้ามพระธรรมคำสั่งสอน ต่อให้คนนุ่งเหลืองห่มเหลืองได้กระทำผิดหรือสอนผิดอย่างไร ถ้าไม่ใช่ถูกจับผิดในการกระทำผิดนั้นได้อย่างคาหนังคาเขา โอกาสรอดปลอดภัยมีมาก ได้แต่รอให้ ผลกรรม วิบากกรรม เครื่องเศร้าหมองที่ได้กระทำไว้ มาจัดสรรให้เอง ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่า “เมื่อไหร่” สมมุติสงฆ์เหล่านั้น จึงยังอยู่รอดปลอดภัย ทั้งที่สอนผิดบิดเบือนความจริง จนพระสัทธรรมปฏิรูปไป คำว่า “พระสงฆ์” นั้น คือผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช เราเรียกว่า “สมมุติสงฆ์” หรือภิกษุ ต่อเมื่อนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ไปปฏิบัติตาม ด้วยความเพียรเพ่งพยายาม อย่างจริงจัง อย่างไม่ลดละ จนเข้าถึงธรรมแท้ เราเรียกว่า “อริยสงฆ์” หรือภิกษุอีกเช่นกัน ในครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะนั้นมีพระอริยสาวกที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ ๖๐ รูป รวมพระองค์เข้าไปด้วยเป็น ๖๑ รูป ทรงเน้นให้ออกไปสั่งสอนกุลบุตร กุลธิดา รูปละทิศ รูปละทาง อย่าไปซ้อนทางกัน ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา “พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล) งามในท่ามกลาง (สมาธิ) งามในที่สุด (ปัญญา)” “ศีล สมาธิ ปัญญา” สิกขา ๓ หรือที่เรียกว่า “อริยมรรคมีองค์ ๘” วิถีแห่งอริยมรรค คือหนทางปฏิบัติทางจิตทางเดียวที่จะกำจัดกิเลสและอุปกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิต เป็นหนทางพ้นทุกข์เข้าสู่วิมุตติหลุดพ้น จิตสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย “ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ (ศีล สมาธิ ปัญญา) ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์ ดังนี้” ๔. ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ข้อนี้มีความสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ชี้ถูกชี้ผิดให้ จึงมีสิกขาบทใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามา ทำให้ อริยะตราตั้ง อริยะแต่งตั้ง มีมากยิ่งขึ้น แต่ผู้เข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริงกลับมีน้อยลงมาก “สิกขา” คือ ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อที่ต้องปฏิบัติ ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้บัญญัติ สิกขา ๓ (สิกขาสูตรที่ ๑) ดังนี้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ เป็นไฉน คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑” โดยเฉพาะอธิจิตตสิกขานั้น เป็นหลักใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนา “อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาณ มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกและวิจารสงบไป จึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ จึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา” ๕. ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ เป็นข้อสรุปสุดท้ายที่ชัดเจนว่า เมื่อไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ แต่กลับไปยำเกรงในวิปัสสนา (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยไม่เอาสมาธิ บ้างก็เอาเพียงนิดหน่อยก็พอ ทั้งที่พระพุทธพจน์ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยัง (สัมมา) สมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ดังนี้” บุคคลที่จะมีวิปัสสนาได้นั้น จำเป็นต้องมีจิตที่มีกำลังสติสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ส่วนบุคคลที่มีจิตซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย ไม่ตั้งมั่น จะไปเอาวิปัสสนาปัญญา – รู้เห็นตามความเป็นจริง มาจากไหนได้ เนื่องจากไม่ยำเกรงในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขาบทนั่นเอง ข้อที่ ๕ นี้ ก็ถูกมองเมินไปด้วยเช่นกัน แต่ในทางกลับกัน บุคคลใดที่ให้ความสำคัญในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพราะเคารพในสิกขา เข้าถึงอธิจิตตสิกขา (สัมมาสมาธิ) ย่อมหมดความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีวิปัสสนาปัญญา – รู้เห็นตามความเป็นจริงดังกล่าว มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ในสิกขาสูตรที่ ๒ ดังนี้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ฯ ภิกษุผู้มีความเพียร มีเรี่ยวแรง มีปัญญา เพ่งพินิจ มีสติคุ้มครองอินทรีย์ พึงครอบงำทั่วทุกทิศ ด้วยอัปปนาสมาธิ ประพฤติทั้งอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ฯลฯ ภิกษุเช่นนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ถึงที่สุดของการปฏิบัติในโลก ท่านผู้ประกอบด้วยวิมุตติอันเป็นที่สิ้นตัณหา ย่อมมีจิตหลุดพ้นจากสังขารธรรม เพราะวิญญาณดับสนิท เหมือนความดับของประทีป ฉะนั้น ฯ” สรุปสุดท้าย พระพุทธพจน์ (เสขสูตรที่ ๒) ตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน ย่อมให้สำเร็จได้เพียงบางส่วน ผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบททั้งหลายว่า ไม่เป็นหมันเลย ฯ” “สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองคำธรรมชาติจึงหายไปฉันใด พระสัทธรรมก็ฉันนั้น สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป” (สัทธรรมปฏิรูปกสูตร) เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท ปัญญา ธรรมอันงามในที่สุด
ปัญญา ธรรมอันงามในที่สุด สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ เป็นสิกขา ๑ ในสิกขา ๓ เป็นทางเดินของจิตที่จะนำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ลงมือปฏิบัติแบบจริงจัง เป็นสมาธิที่สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเกิดแต่วิเวก ทำให้จิตมีพลังในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ และความยึดถือในความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (อาการของจิต) ออกไปได้ ในขณะที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเข้ามากระทบจิต ผู้ใดสามารถฝึกฝนอบรมจิต ปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าที่ดีหรือที่ชั่ว สุขหรือทุกข์ ย่อมไม่สามารถครอบงำจิต ไม่สามารถปรุงแต่งจิตของผู้นั้น ให้กระสับกระส่าย สับสนวุ่นวาย ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ได้อีกต่อไป สัมมาสมาธิ ฌานที่ ๔ นั้น มีคุณลักษณะดังนี้ คือ “ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสแต่เก่าก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่” เป็นสภาวะธรรมที่เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ จิตมีพลังปล่อยวางสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไป เป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นตทังควิมุตติ เข้าสู่ความสงบตั้งมั่น เยือกเย็น ในพระพุทธศาสนาได้โดยแท้จริง ดั่งมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ใน “สมาธิสูตร” ดังนี้ “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้” เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า “รู้เห็นตามความเป็นจริง” นั้นคือ วิปัสสนา (ปัญญา) เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ รู้เห็นอย่างไรจึงเรียกว่า “รู้เห็นอย่างวิเศษ” ก็คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ว่า - อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด (รูปฌาน อรูปฌาน) ล้วนเป็น ทุกข์ - เมื่อรู้แล้วว่า “อารมณ์ทั้งหลาย” ที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นล้วนเป็นทุกข์ ควรละความทะยานอยาก – สมุทัย เหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย - เพื่อถึง นิโรธ – ความดับทุกข์ทั้งปวงได้ - ด้วย มรรค – ทางดำเนินไปเพื่อความดับทุกข์ มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ว่า “เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ ที่นี่สงบหนอ (แม้กระทั่งลมหายใจ) ที่นี่ประณีตหนอ ณ ที่นี้ สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบ คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี กิเลสดับ เป็นนิพพาน (สิ้นทุกข์)“ หากเราสามารถสร้างสติ ประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฎฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ แล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดวิปัสสนา (ปัญญา) ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตมีสติ (ระลึกรู้) อยู่ จิตอาจจะเกิดเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่น่ายินดีน่ารักใคร่ หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่ารักใคร่ จะมาจากภายนอกก็ดี หรือเกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ณ ภายในจิตเองก็ดี หากระลึกนึกขึ้นมาได้ และสามารถดึงจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้น และยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางอยู่ที่ฐานแห่งความสงบ (สติ) ดังเดิมได้ นี้จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา (ปัญญา) ฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ที่ระลึกรู้อยู่ในขณะนั้นๆ (สติปัฏฐาน) อันมีลมหายใจ หรือองค์ภาวนาต่างๆ เป็นอุบาย (กายสังขาร) เพื่อให้จิตของตนได้ฝึกฝนเกาะเกี่ยวจนเป็นสมาธิ การยกจิตของตนให้กลับมาสู่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้เคยอุปโลกน์ไว้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เกิด “ปัญญา” สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะที่จิตยึดถืออยู่นั้นออกไปได้ กลับมาสู่ฐานของสติอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ฝึกอบรมใหม่ๆ แต่เมื่อฝึกฝนอบรมจิตให้กระทำบ่อยๆ กระทำให้มาก เจริญให้มาก ปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมแหลมคมยิ่งๆ ขึ้นไปเอง ขณะที่เราสามารถยกจิตกลับมาตั้งไว้ที่ฐานสติได้อย่างแม่นยำต่อเนื่องเนืองๆ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นเป็น “สมาธิ” จิตของตนย่อมรู้เห็นอย่างวิเศษ (วิปัสสนา – ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตของตนเป็นสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบตั้งมั่นอยู่นั้น ต่างจากเมื่อครู่ที่จิตของตนได้ซัดส่ายวุ่นว่ายส่งออกไปยึดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นแขกจรเข้ามา ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างจิตที่มีความสงบตั้งมั่น กับจิตที่ซัดส่าย สับสน วุ่นวาย ได้ตามความเป็นจริง เมื่อกระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ เจริญให้เกิดขึ้น จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว ก็นำผลที่ได้จากการปฏิบัติมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา – ปัญญา) ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อกระทบอารมณ์ทางอายตนะ ๖ มีอาการของจิตเกิดขึ้น กระเพื่อมไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดี ยินร้าย รัก ชอบ ชัง จิตย่อมระลึกรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา – ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตสับสน ซัดส่าย วุ่นวายไปตามอารมณ์เหล่านั้น (สุข ทุกข์) ให้รีบนำจิตกลับมาสู่ความสงบตั้งมั่นให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังสติขณะแห่งจิตที่เป็นสมาธินั้น (ขณิกสมาธิ) โดยนำจิตของตนมาวางไว้ที่ฐานแห่งความสงบ มีสติตั้งมั่น ที่จิตของตน อันได้เคยฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ใครที่ยังคิดว่า สมถะ (สมาธิ) และวิปัสสนา (ปัญญา) ต้องแยกกันปฏิบัตินั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เมื่อจิตรู้จักความสุขที่เกิดแต่ความสงบตั้งมั่นอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมต้องรู้ชัดถึงสภาวะจิตที่กระเพื่อมซัดส่าย ส่งออก สับสนวุ่นวาย ว่าต่างกันอย่างไร จึงเป็นวิปัสสนา – ปัญญาที่เกิดจากจิตที่รู้จักฐานสติสงบตั้งมั่นเป็นอย่างดี เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะทางใดทางหนึ่ง จิตที่อบรมดีแล้วย่อมรู้จักคุณและโทษ ความเกิดและความดับของอายตนะนั้น สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ในทันทีทันใด นี่จึงเป็นปัญญาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจกันผิดๆ ไปจากความเป็นจริง อันเกิดจากการนึกคิดที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิด จนความนึกคิดเหล่านั้นตกผลึก อันนั้นเราเรียกว่า “สัญญาอารมณ์” ส่วน “วิปัสสนา – ปัญญา” ที่จิตของตนสามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริงของจิตที่มีกำลังสติเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก กระทำบ่อยๆ จนชำนาญคล่องแคล่วในการปล่อยวาง ย่อมละสังโยชน์ได้ “สัญญาอารมณ์” ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ จนจำได้อย่างแม่นยำเป็นถิรสัญญา ผลที่ได้คือ “สักๆ แต่ว่ารู้” เป็นการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างรวดเร็ว ทำเป็นว่าไม่ได้สนใจในอารมณ์เหล่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง จิตได้รับและยึดอารมณ์เหล่านั้นไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมาทางสีหน้าให้เห็นถึงอาการของจิตที่กระเพื่อมอยู่ ณ ภายในจิตของตน พูดหรือแสดงออกให้ดูดีด้วยวาจาเพราะๆ ด้วยคำว่า “สักแต่ว่า” เมื่อกล่าวถึง “ปัญญา” แล้ว มีพระพุทธพจน์ (พระธรรมบท – มรรควรรค) ตรัสรองรับไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ดังนี้ว่า “โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ ปัญญาเกิดขึ้น เพราะความประกอบ ไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ” ยังมีพระสูตร (นาวาสูตร) ที่ทรงตรัสรองรับและเชื่อมโยงกัน ไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนานุโยคอยู่ จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะไม่อบรมอิทธิบาท ๔ เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕ เพราะไม่อบรมพละ ๕ เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะไม่อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะว่าเธออบรม เพราะอบรมอะไร เพราะอบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะอบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะอบรมอิทธิบาท ๔ เพราะอบรมอินทรีย์ ๕ เพราะอบรมพละ ๕ เพราะอบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘” 🌻 “บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ“ นี้คือ “ปัญญาในพระพุทธศาสนา – ธรรมอันงามในที่สุด” ซึ่งแตกต่างไปจาก ความเฉลียวฉลาด หรือ “ปัญญาในทางโลก” อย่างสิ้นเชิง ปัญญาในพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสามารถของจิตในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า “รู้เห็นตามความเป็นจริง” คือ รู้ว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ และสามารถนำจิตของตนสู่ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ ได้ในทันทีทันใด เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ตามที่พระสูตรได้กล่าวไว้ นั่นคือ จิตของตนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมสมาธิมาอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในทันที ชั่วขณะจิตเดียว เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |