การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว


🌷  การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว

คำถาม :- ทำไมถึงชอบพูดว่า
การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว

คำตอบ :- การรู้จักเรื่องจิตผิดๆ ย่อมทำให้การเรียนรู้ และการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

เช่นเดียวกับบุคคลที่ติดกระดุมเสื้อผิดเม็ดแรก เม็ดต่อๆ ไปก็จะติดผิดตามไปด้วยตลอดแนว

การเปรียบเทียบแบบนี้จะทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงเหตุแห่งความเข้าใจผิดๆ นั้น แต่กลับเข้าใจเอาเองแบบผิดๆ ว่า สิ่งที่ตนเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว

เพราะสามารถติดกระดุมได้ตลอดแนวเช่นกัน แต่เป็นแถวเป็นแนวที่ผิดรูปไปไม่ลงตัวกันพอดีเท่านั้น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย เนื่องจากตนเองนั้นใส่เสื้อตัวนั้นอยู่ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่ตนเองทำลงไป แต่ก็ไม่ถึงกับไม่รู้เลย เพียงแต่คุ้นชินกับสิ่งที่ทำ ต้องให้บุคคลอื่นที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว ชี้ให้เห็นตามความเป็นจริง

เนื่องจากบุคคลที่เคยผ่านมาแล้วนั้น ย่อมมีวิธีการที่จะติดกระดุมเม็ดแรกไม่ให้ผิดพลาดได้เลย โดยมีพระพุทธพจน์เป็นกระจกคอยส่องให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในการติดกระดุมเม็ดแรก

เราควรต้องคอยเอาพระพุทธพจน์มาเทียบเคียง กับผลของการปฏิบัติที่ผ่านๆ มา ว่าเราหลงทางอยู่หรือไม่

การเริ่มต้นนั้นสำคัญมากๆ เมื่อเริ่มต้นผิดก็จะทำให้ผิดตลอดแนวได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องจิต ซึ่งเป็นหัวใจหลักในพระพุทธศาสนาของ "เรา" พวกเราชาวพุทธพึงต้องศึกษาเรื่องจิตให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามพระพุทธพจน์ จึงจะทำให้การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นอย่างถูกต้อง

ในโอวาทปาติโมกข์นั้น พระพุทธองค์ท่านทรงกล่าวไว้ชัดเจนว่า ให้เราชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่สำคัญมาก เพื่ออะไร? เพื่อให้จิตหลุดพ้นหรือจิตพ้นวิเศษจากอารมณ์ต่างๆ (อุปกิเลสทั้งหลายทั้งดีทั้งชั่ว)

เมื่อมีความเข้าใจผิดๆ ว่าจิตเป็นของเหลวไหล เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัยไม่ได้เลย เราจะชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองไปเพื่ออะไร?

เราจะชำระได้ละหรือ ในเมื่อจิตเกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ในเมื่อจิตเป็นของเหลวไหล เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จะชำระจิตไปทำไม?

ถ้าจิตเป็นของแบบที่ว่ามานั้นแล้ว เราควรปล่อยจิตทิ้งไปหรือทำลายทิ้งไปเสียให้สิ้นไม่ดีกว่าหรือ? ต้องไปชำระให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่ออะไร? เพราะว่า เมื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด (เป็นธรรมธาตุ) ได้แล้ว จิตก็ยังเป็นของเหลวไหล เกิดดับ เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้อยู่ดี

ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน พระพุทธองค์คงไม่สอนให้เรามัวเสียเวลา กับการชำระของที่เกิดๆ ดับๆ เหลวไหลเป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้

ก่อนอื่น เราชาวพุทธต้องมารู้จักจิตที่แท้จริงเสียก่อน คำว่า "จิต" คือธาตุรู้ เมื่อเป็นธาตุรู้ จะต้องทรงไว้ซึ่งความรู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ ไม่รู้ก็รู้ว่าไม่รู้

ถ้าตัวมันเองเกิดๆ ดับๆ จิตต้องเป็นสภาพธรรมที่รู้บ้างไม่รู้บ้างสิ จะมาเรียกว่าธาตุรู้ไม่ได้เลย เพราะเดี๋ยวรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ต้องเรียกว่าธาตุรู้บ้างไม่รู้บ้างจึงจะถูกต้อง

เมื่อเป็นธาตุรู้ย่อมไม่กลับกลายเป็นธาตุอื่นไปได้ ย่อมต้องเป็นธาตุรู้อยู่ต่อไปตลอดเวลาวันยังค่ำ เพียงแต่มีการรู้ถูก (รู้เห็นตามความเป็นจริง) หรือรู้ผิดจากความเป็นจริงเท่านั้น

ถ้ารู้ถูกก็เกิดวิชชาขึ้นที่จิต จิตมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต ส่วนที่จิตรู้ผิดนั้น เพราะจิตรู้ผิดไปจากความเป็นจริง ถูกอวิชชาครอบงำมานานแล้ว แม้ผู้มีปัญญายังไม่รู้เลยว่า จิตถูกอวิชชาครอบงำมาตั้งแต่เมื่อไหร่

แต่จิตที่เข้ามาเกิดในภพภูมิต่างๆ เช่น ภพมนุษย์นั้น เพราะ กิเลส กรรม วิบาก ที่นอนเนื่องอยู่ที่จิต เป็นตัวเหตุที่ผลักดันให้เข้ามาเกิดในภพภูมิต่างๆ เพื่อมาชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ในสิ่งที่ตนเองได้เคยก่อไว้ ไม่ใช่มาชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ของใครผู้หนึ่งผู้ใดที่เคยก่อไว้เลย เป็นการชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ของตนเองแท้ๆ นั่นเทียวที่ได้เคยก่อไว้

การชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ของใครของเค้า จิตเรา กิเลส กรรม วิบาก ก็เป็นของเราที่เคยก่อไว้ จะเป็นของคนอื่นใดที่เคยก่อไว้เป็นไปไม่ได้เลย และรับชดใช้ กิเลส กรรม วิบากให้แทนกันก็ไม่ได้เช่นกัน

ดั่งพระพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ว่า
"ใครที่ทำกรรมดีกรรมชั่วเช่นใด ย่อมได้รับผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วเช่นนั้น"

ฉะนั้น “จิต” จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างมาก ที่พวกเราชาวพุทธต้องฝึกฝนอบรม ให้จิตเกิดความชำนิชำนาญในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว (สติปัญญา)

ไม่ใช่ใช้เพียงแค่สัญญาที่ตนเองเข้าใจผิดๆ คิดว่าเป็นปัญญา นึกว่าปล่อยวางได้ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ ในจิตใจของตนเองยังคุกรุ่นอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น และเก็บกักอารมณ์เหล่านั้นไว้เป็นธรรมารมณ์ต่อไป พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้อีกตลอดเวลา เมื่อมีเหตุปัจจัยแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างพร้อมมูล

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรต้องฝึกฝนอบรมจิตของเรา ให้รู้จักการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ (อุปกิเลส) ทั้งหลาย ไม่ใช่เที่ยวไปอบรมจิตของใคร (คนอื่น) ไม่ได้หรอก ต้องเป็นจิตของใครของมันที่ต้องอบรมจิตตนเอง

เราต้องฝึกฝนอบรมจิตของเราหรือของใครของมันให้เกิดสติปัญญา (การปล่อยวางอารมณ์) ให้ได้ เมื่อจิตถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในอุปกิเลสต่างๆ ทั้งหลายได้แล้ว จนจิตกลายเป็นธรรมธาตุแล้ว จิตจะกลับมายึดถือตนเองเพื่ออะไรอีก? ในเมื่อตนเอง (จิต) รู้จักการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว

โดยหลักการแล้ว เราต้องมารู้จักสักกายทิฐิ (ความรู้เห็นเรื่องกาย) ที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างไร? มีมาในพระพุทธพจน์เรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็น กายในกาย อยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง"


เพื่อให้มารู้จักกายในกาย (จิต) เมื่อรู้จักกายในกาย (จิต) ย่อมรู้จักเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมแบบต่อเนื่องได้ เมื่อถึงขั้นนี้แล้วย่อมรู้จักจิตที่แท้จริง เมื่อรู้จักจิตที่แท้จริงแล้ว ผู้ปฏิบัติ (เรา) จะตั้งจิตที่มีสติไว้ฐานไหนอย่างต่อเนื่องก็ได้เช่นกัน

ส่วนใครที่บอกว่า เริ่มต้นจากฐานไหนก็ได้ทั้งนั้น เป็นการกล่าวแบบไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง เพราะยังไม่เคยรู้จักจิตที่แท้จริง (กายในกาย) เลย ยังเข้าใจแบบผิดๆ ว่าจิตบังคับไม่ได้ ถ้าจิตบังคับบัญชาไม่ได้ เราจะมาฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นไปอย่างใจหวังไปเพื่ออะไร?

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า “จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำสุขมาให้”

แสดงว่าจิตไม่ใช้ตัวทุกข์ และต้องฝึกฝนบังคับบัญชาได้ จึงนำสุขมาให้ได้ ตัวอย่างเช่นคนที่เคยทำผิดคิดมิชอบมาก่อน ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องได้กลับตัวกลับใจกันเลยสิ ถ้ายังเข้าใจแบบผิดๆ ว่าจิตของตนเองนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาให้กลับตัวกลับใจได้....เอวัง

เจริญในธรรมทุกๆท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท

 



Create Date : 15 มิถุนายน 2564
Last Update : 15 มิถุนายน 2564 11:11:37 น.
Counter : 463 Pageviews.

0 comment
จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด


🌷 จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด

สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ
สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง


เมื่อกล่าวถึงศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมทราบกันดีว่าย่นย่อมาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักให้สำคัญกับการพยายามที่จะรักษาศีลให้ได้ โดยใช้ความตั้งใจอย่างมากเพื่อพยายามรักษา ด้วยการระมัดระวังเพื่อไม่ให้ศีลทะลุ ด่างพร้อย ซึ่งแบบที่ว่ามานั้น เหมือนข้าวที่คอยฝน ซึ่งบอกไม่ได้ว่าฝนจะตกเมื่อไหร่

การรักษาศีลโดยการสร้างสติ จากการปฏิบัติธรรม สมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการสร้างสติปัฏฐาน ๔ ที่เกิดจากการภาวนา ผู้ปฏิบัติย่อมระลึกรู้ได้รวดเร็วกว่าการคอยระวังตั้งใจให้มีการรักษาศีล การสร้างสติจากการทำสมาธิกรรมฐานภาวนา เท่ากับ "ศีลจะคอยรักษาบุคคล" นั้นนั่นเอง

พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปฏิบัติธรรม สมาธิกรรมฐานภาวนา ทรงตรัสยืนยันหนักแน่นว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" แสดงว่า พระพุทธองค์ทรงมิได้ยกเว้นให้กับพระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งอันเป็นสาวกของพระพุทธองค์เลย

เพราะบุคคลที่มีจิตใจเป็นสมาธิ มีสติสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง อะไรเล่าที่เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า คือการรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้ คือ

ทุกข์ ควรกำหนดรู้
สมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์นั้น
มรรค ต้องเจริญ ต้องทำให้เกิดขึ้น
นิโรธ ทำให้แจ้งในการดับทุกข์


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 01 มิถุนายน 2564
Last Update : 1 มิถุนายน 2564 9:43:25 น.
Counter : 531 Pageviews.

0 comment
ศีลรักษาเราหรือเรารักษาศีล


🌷 ศีลรักษาเราหรือเรารักษาศีล

ศีล คือความปรกติของมนุษยชาติ ที่ทำให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ มีความสุข เพราะทุกคนตั้งอยู่ในกฏเกณฑ์ข้อห้าม ข้อควรงดเว้น เมื่อไม่มีบุคคลใดล่วงละเมิดกฏข้อห้าม ข้อควรงดเว้นแล้ว สังคมนั้นย่อมเป็นสังคมที่สงบสันติเป็นสุข น่าอยู่ พึ่งพาอาศัยได้

สาระของศีล คือ การดำรงตนอยู่ด้วยดี มีชีวิตที่เกื้อกูล ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตนมีส่วนช่วยสร้างสรรค์รักษา เอื้ออำนวยแก่การมีชีวิตที่ดีงามร่วมกัน เป็นพื้นฐานการพัฒนาคุณภาพจิตและการเจริญปัญญา

เมื่อพิจารณาดูสาระของศีลแล้ว ทุกๆ ลัทธิ ทุกๆ ศาสนา ล้วนมีกฏเกณฑ์ข้อห้าม ข้อควรงดเว้น ของตน แต่บางลัทธิ บางศาสนา กลับเปิดโอกาสให้บุคคลในอาณัติของตนล่วงละเมิดบุคคลอื่นได้ เมื่อบุคคลอื่นมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ไม่ลงรอยต่อกันกับลัทธิและศาสนาของตน

ศีลมีด้วยกัน ๓ ระดับ
๑. ระดับที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ ที่ให้ผลต่อขันธ์เช่นกัน แต่ยังไม่เป็น “สัมมาทิฏฐิ”
๒. ระดับ “สัมมาทิฏฐิ” ที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์
๓. ระดับ “สัมมาทิฏฐิ” ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

ระดับที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้
๓ ประการเป็นไฉน คือ
บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน
บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล
บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย
ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย
เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ
ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ
ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย
เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง
ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย
เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพในชั้นดาวดึงส์นั้น
กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก
ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ
อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์
รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ ฯลฯ”

มาพิจารณา “ศีล” ที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ จากพระพุทธพจน์จะเห็นได้ว่าเป็น “ศีล” ที่ยังไม่ได้ “สมาทาน” หรือตั้ง “เจตนา” เพื่อจะ “วิรัติ” เป็นไปตามกำลังปรกติของบุคคลคนนั้น ที่จะหยุด หรืองดเว้นที่จะกระทำการล่วงละเมิด จากการที่ได้ตั้งใจไว้เท่าที่ทำได้เต็มตามกำลังความสามารถ ความเชื่อ และความศรัทธาของตน เรียกว่า “สัมปัตตวิรัติ” เป็น “ศีล” ที่ยังขาดความเพียรเพื่อ “ละ” ขาดความระลึกตั้งมั่นเพื่อ “งดเว้น” ในการที่จะไม่ล่วงละเมิด “ศีล” นั้น

การเจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนานั้น เป็นหนึ่งในสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็เป็นหนึ่งในสิกขา ๓ เช่นกัน เป็นศีลที่ได้เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา เป็นศีลที่ได้สมาทาน ตั้งเจตนาไว้ โดยการรับศีล คือ สมาทานตั้งเจตนาสิกขาบทนั้นๆ ไว้ แล้วก็สามารถละ งดเว้นตามที่ได้สมาทานตั้งเจตนาไว้ เรียกว่า “สมาทานวิรัติ” เป็นการเพียรพยายามเพื่อ “ละ” และบรรลุการละ ความเพียรพยายามนั้น เป็น “สัมมาวามายะ” การมีสติเพื่องดเว้น และได้บรรลุการงดเว้นนั้น เป็น “สัมมาสติ” ในระหว่างนั้นเรายังต้องเพียรพยายาม และคอยระวัง “รักษาศีล” เพื่อไม่ให้ “ศีล” ขาดตกบกพร่องไป

ต่อเมื่อได้บรรลุการ “ละ” ด้วยความเพียรพยายาม และ บรรลุการ “งดเว้น” ด้วยการระลึกตั้งมั่นจนเป็น “วสี” แล้ว การละเว้นนั้นเป็นการละเว้นได้ด้วยการตัดขาด หรือเสมือนได้ชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว เป็นการเว้นได้โดยเด็ดขาด ไม่เกิดแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นๆ อีกเลย เรียกว่า “สมุจเฉทวิรัติ” กลายเป็น “ศีลรักษาเรา” ซึ่งมีเฉพาะในอริยมรรคเท่านั้น เมื่อได้เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา

การภาวนากรรมฐานนั้น เป็นหนึ่งในองค์อริยมรรค คือ “สัมมาสมาธิ” เป็นปัจจัยเกื้อหนุน เป็นกำลังของ “ศีล” เป็นธรรมที่งามในเบื้องต้นสำหรับผู้พบเห็น เป็นศีลของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย เป็นศีล สมาธิ ปัญญาอันประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นเครื่องขจัดขัดเกลากิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วต่างๆ

มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา (อริยมรรคมีองค์ ๘) ไว้ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง
ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง
ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
พวกเธอจงเที่ยวจาริก
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล
ความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์

พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล)
งามในท่ามกลาง (สมาธิ)
งามในที่สุด (ปัญญา)
จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ
ทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์
สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่
เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
เพื่อแสดงธรรม”

สาธุ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 31 พฤษภาคม 2564
Last Update : 31 พฤษภาคม 2564 8:50:42 น.
Counter : 751 Pageviews.

1 comment
เดินตามรอยพระบาท (โอวาท) ในวันวิสาขบูชา


🌷 เดินตามรอยพระบาท (โอวาท) ในวันวิสาขบูชา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ล้วนมีวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน เกิดขึ้นในวันเดียวกัน และทุกๆ พระองค์ล้วนทรงสอนธรรมเพื่อความหลุดพ้นเช่นเดียวกัน

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมานั้น ล้วนทรงสอนเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนา เหมือนกันหมด ดังนี้ คือ

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์

เราลองนำมาเทียบเคียงดู ลัทธิและศาสนาอื่นทั่วๆ ไปนั้น ล้วนสอนเหมือนกันหมด มีการสอนเพียง ข้อ ๑ และ ข้อ ๒ คือ ให้ละชั่ว ทำความดี ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปของสังคมที่ยังสับสนวุ่นวาย การละชั่วก็เพียงต่อหน้าบุคคลที่มองอยู่ เมื่อคล้อยหลังอาจไปทำในสิ่งคาดคิดไม่ถึงก็ได้ แต่ก็ยังมีบุคคลบางคนที่สามารถยับยั้งชั่งใจละเว้นความชั่วที่หยาบๆ  ได้ เพราะจิตมีกำลังมากพอ ส่วนการละความชั่วที่ละเอียดซ่อนลึก เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้น มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

การละชั่วนั้น ย่อมทำได้ยากยิ่งกว่าการทำความดี ยิ่งในปัจจุบัน การละชั่ว ทำดี ไม่ได้กระทำที่จิตของตน เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้คนทั่วไปได้รู้ ได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น แต่ภายในจิตของตนไม่ได้เป็นดังเช่นที่ว่านั้นเลยแม้สักนิด เพราะยังขาดคุณธรรมข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นตัวกำกับให้ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ ที่แสดงออกไปนั้นถูกต้องเที่ยงตรงตามความเป็นจริง

คุณธรรมในข้อ ๓ นั้น พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า "จิต" ของผู้ปฏิบัติ สามารถชำระให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากอุปกิเลสทั้งหลาย (กุศลและอกุศล) ได้จริง ทำให้บุคคลในสังคมที่หันมาสนใจปฏิบัติธรรมกรรมฐานตามรอยพระองค์ รู้จักกับความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวของจิต บุคคลที่จิตมีความสงบตั้งมั่นดีแล้ว กระทำการสิ่งใดๆ ลงไปนั้น ย่อมตั้งอยู่ในความถูกต้องเที่ยงธรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคม ย่อมมีจิตใจที่เมตตาเอื้ออารีต่อคนในสังคมด้วยกัน ทำให้สังคมดีขึ้น น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

แตกต่างไปจากจิตใจคนในสังคมที่มีแต่ความสับสนวุ่นวายเป็นที่ตั้ง ความสงบที่เกิดขึ้นมีขึ้นให้เห็นชั่วครั้งชั่วคราวนั้น เกิดจากการรู้จักเปลี่ยน (ข่ม) อารมณ์ของตนไปสู่ความรู้สึกปลอดภัย เป็นการสร้างภาพพจน์ให้กับตนเองจนคุ้นชิน เป็นสัญญาอารมณ์ที่ได้ถูกกำหนดไว้ก่อน ทำบ่อยๆ จนเป็นถิรสัญญา ในขณะที่จิตใจของตนนั้น ยังรู้สึกอึดอัด ขัดข้อง สับสนอยู่บ้าง แต่ภายนอกนั้นดูเหมือนสงบ

สิ่งที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่นั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนอารมณ์ ไมใช่เกิดจากการปล่อยวางอารมณ์ลงได้ ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมจนจิตของตนบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว การเปลี่ยนอารมณ์นั้น อาจทำให้เกิดภัยตามมาได้ในภายหลัง ส่วนการปล่อยวางอารมณ์ลงได้นั้น ปลอดภัยจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง เปรียบเช่นปัญญาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด ย่อมแตกต่างไปจากปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริง รู้โดยไม่ต้องคิด


🌸 ปัญหาหลักอยู่ตรงที่ว่า เราจะทำอย่างไร ? จึงจะชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว หลุดพ้นจากการถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง

เหตุเพราะจิตของเราชอบแส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปรู้รับอารมณ์ต่างๆ และยึดถือเอาอารมณ์เข้ามาสู่จิตของตน จนเกิดความความเศร้าหมองขึ้นที่จิตนั่นเอง

การปฏิบัติธรรมเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองได้นั้น ย่อมทำให้จิตของเรามีพลังอำนาจมากยิ่งขึ้น ในการที่จะต่อสู้ฟาดฟันกับอุปกิเลสทั้งหลาย อันนี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาเพื่อชำระจิตของเรา ในคุณธรรมข้อที่ ๓ นั่นเอง

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า จิตนั้นมีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่ต้องเศร้าหมองไป เหตุเพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง


🌸 จะทำอย่างไร ? ให้จิตไม่เศร้าหมองเพราะกิเลสเป็นแขกจร

ผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนามาพอสมควร ย่อมรู้ดีว่ามีพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึง ทางอันเอกเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (คือผู้ที่ติดข้องในอารมณ์) ทั้งหลาย ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อยังมีผู้เดินตามทางนี้ (อริยมรรค ๘) อยู่ โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์

ในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระองค์ทรงกล่าวไว้ในมหาจัตตารีสักกสูตร ทรงเชิดเอา สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธานในมรรคทั้งหลาย และที่เหลือจากนั้นอีก ๗ องค์ ทรงให้สัมมาทิฏฐิ (รู้เห็นตามความเป็นจริง) เป็นใหญ่เป็นประธาน บุคคลที่จิตมีสติสงบตั้งมั่น กระทำการใดๆ ล้วนเป็นไปโดยชอบทั้งสิ้น

และสัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยมรรคนั้น มีองค์ธรรม ที่ประกอบไปด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงได้ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิแห่งองค์อริยมรรค

องค์แห่งสมาธินั้น ประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั่นคือ เมื่อทั้ง ๓ องค์ทำหน้าที่ร่วมกัน จิตย่อมรวมตัวลงเป็นสมาธิ ตั้งมั่นชอบโดยลำพังตนเองได้ โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใดๆ (รูปฌาน อรูปฌาน) ทั้งสิ้น

เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบแห่ง องค์สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ หรือ ที่เรียกว่า "อธิจิตตสิกขา" เทียบเคียงกับพระโอวาทซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว) แล้ว โดยความรอบคอบไม่ประมาท จะเห็นว่าลงกันได้เป็นอย่างดี ดังรายละเอียด ต่อไปนี้


🌺 สัมมาวายามะ เป็นไฉน ?

ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ
ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น - ไม่ให้เกิด
ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว -  ให้หมดไป
ยังกุศลที่ยังไม่เกิด - ให้เกิดขึ้น
ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว - ให้เจริญงอกงาม

เราพอจะเห็นเค้าเงื่อนได้ว่า องค์แห่ง สัมมาวายามะ นั้น เป็นการปฏิบัติตามหัวใจพุทธศาสนา
ในข้อ ๑ ละบาปทั้งปวง (ละชั่ว)
และข้อ ๒ สร้างกุศลให้เกิดขึ้น (ทำดี)

สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติภาวนาต้องมีเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๓ ซึ่งต้องอาศัยองค์ธรรมอีก ๒ องค์ประกอบด้วย คือ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ (อธิจิตตสิกขา)


🌺 สัมมาสติ เป็นไฉน ?

ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ที่เรียกว่า มหาสติปัฏฐาน ๔ คือ ฐานที่ตั้งของสติที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสายในที่สุด โดยต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา "อานาปานสติ" พิจารณาจากกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
(เพื่อให้เข้าถึงจิตที่เป็นธรรมอันเอก ณ ภายใน ผุดขึ้นมาให้ประจักษ์ชัด)


🌺 สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ?  (หรือที่เรียกอีกชื่อว่า อธิจิตตสิกขา)

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า
"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว (สัมมาสมาธิ) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (สัมมาทิฏฐิ) ดังนี้"

นั่นคือ เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างจริงจัง จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา จนจิตของตนมีฐานที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน) อย่างมั่นคงหรือมีกรรมฐานแล้ว ย่อมต้องคอยประคองจิตของตนไม่ให้แส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปหาอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลาย ที่ทำให้จิตของตนเศร้าหมอง ยิ่งประคองจิตของตนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งปล่อยวางอารมณ์ได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยความเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาให้เกิดความชำนาญ เพื่อจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) เมื่อมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว (สมาธิอบรมปัญญา) ก็อาศัยพลังปัญญาที่เกิดขึ้นจากการได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น นำมาเพื่อปล่อยวางอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลายออกไปจากจิตของตน (ปัญญาอบรมสมาธิ) เป็นสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ

สรุป พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ล้วนทรงสอนเรื่องอธิจิตสิกขา (อธิจิตฺเต) หรือการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (อธิจิตตสิกขา) เพื่อให้จิตเกิดปัญญา หลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน ไม่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเป็นแขกจร

สังคมที่มีการปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมนำความสงบสุข สันติร่มเย็น มาสู่สังคมนั้น

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท


🌷 น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔
 



Create Date : 26 พฤษภาคม 2564
Last Update : 26 พฤษภาคม 2564 9:49:16 น.
Counter : 445 Pageviews.

0 comment
กรรมฐานในอริยมรรค ไม่ใช่หินทับหญ้า


🌷 กรรมฐานในอริยมรรค ไม่ใช่หินทับหญ้า

เมื่อกล่าวถึงเรื่องกรรมฐาน มักเข้าใจกันไปว่าต้องหากรรมฐานตามวัดวาอาราม สำนักสงฆ์ หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีการฝึกสอนอบรมการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา และได้ยินจนคุ้นหูจากบุคคลผู้ผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย ที่ได้เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมมาแล้วว่า ได้องค์ภาวนามาแล้วบ้าง ได้ไปผ่านกรรมฐานมาแล้วบ้าง ได้ฐานที่ตั้งมาแล้วบ้าง ฯลฯ

เป็นความเข้าใจกันไปตามมติของนัก “ปริยัติ” ที่ยังยึดติดอยู่กับตำรา (ปิฎก) โดยขาดการพิจารณา ตริตรอง ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงอย่างรอบคอบ กับพระพุทธพจน์ในพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาไว้ดีแล้ว

ส่วนบุคคลที่ยังยึดติดอยู่กับตำรับตำรา (ปิฎก) มักกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น เป็นเพียงสมถะกรรมฐาน เป็นกรรมฐานแบบหินทับหญ้า ติดสุข เมื่อยกหินที่ทับหญ้าออกเมื่อไร หญ้าก็งอกกลับขึ้นมาได้ใหม่อีก สมถะกรรมฐานไม่อาจตัดกิเลสได้ เป็นพวกที่เอาแต่ติดสุขอยู่กับความสงบในฌาน ไม่สามารถเจริญปัญญาเพื่อตัดกิเลสให้เกิดขึ้นมาได้เลย

ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ไม่รู้จักแยกแยะว่ากรรมฐานที่มีอยู่ระหว่างศาสนาพุทธ กับศาสนาพราหมณ์นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่กลับเหมารวมเอาเข้าไว้ด้วยกัน เพราะมีตำรารุ่นหลังๆ ได้รจนาเอาไว้ เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในหลักการที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรับรองไว้แล้วอย่างชัดเจน

คำว่า “กรรมฐาน” ประกอบไปด้วยคำว่า “กรรม” รวมกับคำว่า “ฐาน” ซึ่งแปลได้ความว่า “ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต” ทำไมถึงต้องมีฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตด้วยล่ะ? เพราะกาย วาจา ใจของเรานั้น ล้วนมีการกระทำหรือเคลื่อนไหวส่งออกไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผัสสะอยู่ ภายใต้การบังคับบัญชาของจิต เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของจิตที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะครอบงำ การแสดงออกจึงเป็นไปตามอำนาจของกิเลส กรรม วิบาก

กรรมฐานเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีขึ้น เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ล้วนมี อวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นตัวชักนำนั่นเอง ไม่ว่าเรื่องติดข้องในโลก หรือเรื่องที่พ้นโลก ต้องมีกรรมฐานเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

เรื่องติดข้องในโลก เป็นเรื่องของจิตที่มีอาการซัดส่าย สับสน วุ่นวาย สุข ทุกข์ ฯลฯ ไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เป็นฐานที่ตั้งให้จิตมีการงานด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นตน เป็นของๆ ตน จนเกิด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการของจิต เป็นวัฏฏะวน ทำให้เวียนตาย – เวียนเกิดไม่มีวันจบสิ้น เพื่อแสวงหาชาติภพใหม่ตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

เรื่องที่พ้นโลก เป็นเรื่องของจิตที่สร้างสติให้มีขึ้น จนจิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ทำให้ชาติภพลดน้อยลง ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตให้รู้จักปล่อยวางตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นลงไปได้ตามลำดับชั้นจนถึงที่สุดทุกข์ เมื่อละสังขารไปแล้ว จิตย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดกลับเข้ามาในโลกที่สับสนวุ่นวายอีกแล้ว เรียกว่า “จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น”

จึงปรากฏมีพวกนักบวช ที่เกิดความเบื่อหน่ายต่อทางโลก ด้วยประสงค์จะออกจากกิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรม วิบากทั้งหลาย ได้ออกบวช ถือบวช ปลีกวิเวก ทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ ฯลฯ เพื่อค้นหาอุบายธรรม การปฏิบัติในรูปแบบแตกต่างกันไป นำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อหาวิธีขจัดปัดเป่ากิเลสกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดสิ้นไปจากจิต

มีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นมากมายในสมัยนั้น ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาในโลก มีด้วยกันหลายลัทธิ หลายความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เจ้าลัทธิทั้งหลายล้วนมีการอวดอ้างสรรพคุณมากมายหลายวิธี ว่าลัทธิของตนนั้นสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ กิเลสกาม และอกุศลธรรม ประกาศตนว่า เป็นลัทธิที่สามารถบรรลุคุณธรรมชั้นสูงได้

ส่วนพระพุทธองค์ได้ทรงผ่านการค้นหาศึกษาจากเจ้าลัทธิเหล่านั้นมาแล้ว และรู้ด้วยตนเองว่า ความเชื่อทั้งหมดของเจ้าลัทธิทั้งหลายนั้น ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง เป็นเพียงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานแบบหินทับหญ้าเอาไว้ ทำให้กิเลสเบาบางลงได้จริง แต่ไม่สามารถตัดกิเลสให้ขาดจนหมดสิ้นไปจากจิตของตนได้เลย

ดังมีพระพุทธพจน์ในจูฬทุกขักขันธสูตรว่า
“เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม
ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น

(เป็นปีติ สุขที่เกิดขึ้นจากอามีสสัญญา)
เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม มิได้ก่อน”

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (ตรัสว่ารู้) แล้ว ทรงตรัสว่า
“เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม
บรรลุปีติและสุข และกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น

(สัมมาสมาธิ เป็นปีติ สุขที่เกิดแต่วิเวก ปราศจากอามีส)
เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม”

เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว จะเห็นว่ารูปฌาน อรูปฌานที่เป็นกรรมฐานอันมีมาก่อนแล้วในเวลานั้น เป็นเพียงกรรมฐานที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่นแต่ยังยึดติดอยู่กับอารมณ์ฌานนั้นๆ เป็นสุขที่ละเอียดอย่างเหนียวแน่น

แต่บุคคลผู้ปฏิบัติรูปฌาน – อรูปฌานยังมีความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่า อารมณ์ฌานที่ตนเองได้เข้าถึงอยู่นั้น ยังต้องจืดจางลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากเป็นฌานที่เกิดแต่สัญญาอารมณ์ เป็นฌานที่เอารูป – อรูปที่ปราศจากกาม เป็นการเอาอารมณ์ภายนอกกาย มาเป็นองค์กรรมฐาน ยังต้องอาศัย “สัญญา” คอยจดจำอารมณ์ฌานอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถสิ้นสุดหยุดลงด้วยปัญญา เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย

ฌานดังกล่าวจึงเป็นแบบ “หินทับหญ้า” ถ้าอารมณ์ฌานที่เกิดจากสัญญาจืดจางลงไปเมื่อไหร่ ความฟุ้งซ่าน สับสน วุ่นวาย ฯลฯ อาจหวลคืนกลับมาได้ เปรียบเสมือนหินทับหญ้าไว้ เอาหินออกเมื่อไหร่ หญ้ากลับมางอกงามได้อีกครั้ง เพราะ “สัญญา” ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน (อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย) แต่เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ (รูป – นาม) เท่านั้น

เมื่อมีบุคคลใดกล่าวถึงการ “ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา” มักถูกทึกทักเอาว่า นั่นเป็น “สมถะ” เป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ ฤาษี ชีไพร เป็นพวกติดสุขในฌาน หรือสมาธิ “หัวตอ” ซึมๆ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่เกิดปัญญา ต้องทำ “วิปัสสนา” เท่านั้น ทั้งๆ ที่ใน “อริยมรรคมีองค์ ๘” ไม่ได้ระบุถึง “สัมมาวิปัสสนา” เลย

ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น แบ่งออกเป็น
หมวดของ “ศีล” ประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
หมวดของ “สมาธิ” ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
หมวดของ “ปัญญา” ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ในอริยมรรคนั้น มี “วิปัสสนาปัญญา” อยู่ในองค์มรรคแล้ว มรรคจึง “สมังคี” ได้

โดยเฉพาะ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ คือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ทำให้ดำริที่จะออกจากกาม และอกุศลธรรม ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติในหมวดแห่งสมาธิ ในองค์อริยมรรค ซึ่งมี “วิปัสสนา” เป็นเบื้องหน้า คือการรู้เห็นอย่างวิเศษในตัวเองอยู่แล้ว

เมื่อพิจารณาหมวดของสมาธิดู จะเห็นว่า “สัมมาสมาธิ” นั้น เป็นเช่น “มีดถากหญ้า” ไม่ใช่แบบ “หินทับหญ้า” โดยเฉพาะข้อแห่งสัมมาวายามะนั้น ชัดเจนว่า
ไม่ให้หญ้า (อกุศลธรรม) ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
หญ้าที่เกิดอยู่แล้ว (อกุศลธรรม) ที่มีอยู่แล้ว ให้หมดไป
ด้วยความเพียรเพ่ง คือ กุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
เพียรเพ่งจนเข้าสู่ระดับฌาน คือ กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ส่วน “มีดถากหญ้า” นั้น จะมีความคมกริบ (ปัญญา) ได้เท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา กระทำให้มาก เจริญให้มาก ในหมวด “สมาธิ” แห่งองค์อริยมรรค เพราะความคมกริบของมีดนั้น สามารถตัดเงื่อนต่อของอุปกิเลสได้เด็ดขาดฉับพลันโดยไม่ต้องเสียเวลาใดๆ เลย

ดังมีพระพุทธพจน์ที่ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา
ไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ฉันใด

ภิกษุเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔
ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน”


เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ จะเห็นได้ว่า การเจริญให้มาก กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นบุคคลผู้เข้าถึงนิพพานได้ แสดงว่า การปฏิบัติ “สัมมาสมาธิ” จนสามารถเข้า – ออกฌานได้ความคล่องแคล่วชำนิชำนาญเป็น “วสี” ต้องอาศัย “ปัญญา” เท่านั้นจึงกระทำได้

มีพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า
“นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ เสว นิพฺพาน สนฺติเก

ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน
ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน”


ทำไมต้องใช้องค์กรรมฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร? เนื่องจากกรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ นั้น เป็นองค์กรรมฐานที่เกิดขึ้น ณ ภายในกาย อาศัยกายสังขารเป็นองค์กรรมฐานภาวนา ทำให้จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติเห็นอาการของจิตได้อย่างชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ปรากฏออกมาให้พิจารณาในขณะปฏิบัติภาวนาเจริญกรรมฐานอยู่

เช่น เวทนาที่ปรากฏขึ้นในขณะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอยู่นั้น ทำให้จิตได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตนคือจิต แต่เวทนาเป็นเรื่องของกายล้วนๆ ส่วนที่กระทบมาถึงจิตได้นั้น เนื่องจากจิตไปยึดมั่น ถือมั่น ถือเอาเวทนาที่ปรากฏขึ้นนั้น มาเป็นตน เป็นของๆ ตนนั่นเอง จึงเกิดอาการทุรนทุรายไปกับเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติอยู่นั้น

ต่อเมื่อสามารถเพียรประคองจิตของตนด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากความสงบ มีสติตั่งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ ย่อมปรากฏ “ธรรมอันเอก” ผุดขึ้นมาให้พิจารณา จิตเห็นจิตได้อย่างชัดเจน จิตรู้ชัดถึงอาการของจิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจากจิต เห็นธรรมในธรรมทั้งสองฝั่งอย่างชัดเจน อันมีธรรมฝ่ายเกิดคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และธรรมฝ่ายดับ คือความสิ้นไปของราคะ โทสะ โมหะ แยกเป็นฝ่ายสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว กับ ฝ่ายขัดข้อง สับสน วุ่นวาย ฯลฯ

เมื่อบุคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานในหมวด “สมาธิ” แห่งองค์อริยมรรค ด้วย “สัมมาวายามะ เพียรประคองจิตให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ด้วย “สัมมาสติ” คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่อง จิตย่อมรวมลงเป็น “สมาธิ” มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็น “อุเปกขา สติ ปาริสุทธิง”

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้
“ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก…
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก ….
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ ….
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้
ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านไม่ได้เลย แม้ฉันใด

จิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้
เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันนั้น เหมือนกันแล”


จิตย่อมรู้ชัด “เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ” เป็นการพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้า พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ย่อมพิจารณารู้ชัดว่า (ปัญญา) ถึงความแตกต่าง ระหว่าง ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ กับ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ

เปรียบเหมือน “มีดถากหญ้า” ที่บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานคอยลับให้คมอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตัดเงื่อนต่อแห่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เข้ามากระทบ ให้ร่อนออกไปในทันที ที่กระทบจิต อารมณ์ไม่สามารถเจือติดที่จิตของบุคคลนั้นได้เลย ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิดและความดับแห่งอายตนะ สาธุ

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 24 พฤษภาคม 2564
Last Update : 24 พฤษภาคม 2564 14:16:13 น.
Counter : 592 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog