4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 

สะพานชมัยมรุเชฐ : สะพานนี้เพื่อพี่ชาย





เชื่อว่าหลายท่านที่ได้ยินชื่อสะพานแห่งนี้ก็คงคิดต่อไปว่าชื่อสะพานแห่งนี้เป็นชื่อของใคร ทำไมชื่อฟังดูแปลก ๆ แต่ช่างเป็นชื่อที่ใช้ภาษาไทยได้ไพเราะเสียจริงๆ

ความหมายของคำ"ชมัยมรุเชฐ"
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุว่า
"ชไม" เป็นคำเขมร มีความหมายว่า "ทั้งคู่, ทั้งสอง"
"มรุ" มีความหมาย ๒ ประการ คือ "ทะเลทราย, ที่กันดารน้ำ"และ "เทวดาพวกหนึ่ง"
"เชฐ" พจนานุกรมฯ สะกดว่า "เชษฐ" และให้ความหมายว่า เป็นคำนาม หมายถึง"พี่ผู้เป็นใหญ่" เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง "เจริญที่สุด"

จึงมีความหมายว่า "พี่ชายผู้เป็นเทพ ๒ พระองค์" แต่เป็นไปได้ที่อาจมีความหมายอีกทางหนึ่งหากคำว่า “มรุ” แผลงมาจากคำว่า “มร” แปลว่า ตาย จึงอาจแปลความได้ว่า "สะพานที่สร้างให้พี่ชายผู้ล่วงลับทั้งสอง"

วัตถุประสงค์ในการสร้างสะพานแห่งนี้

สะพานนี้สร้างขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ครั้งเจริญพระชนมายุ ๑๗ พรรษา เสมอพระเชษฐา ๒ พระองค์ คือ

            ๑) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และ

             ๒) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยลงกรณ์ทรงมีศรัทธาสร้างสะพานเป็นสาธารณทานเพื่อทรงอุทิศส่วนพระกุศลถวายพระเชษฐาทั้ง ๒ พระองค์ซึ่งสวรรคตและสิ้นพระชนม์ โดยได้ทรงพระราชศรัทธาบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าให้สร้างสะพานที่ คลองเปรมประชากรระหว่างถนนพิษณุโลกตัดกับถนนนครปฐม โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นพนักงานก่อสร้าง ครั้นสร้างเสร็จทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ชมัยมรุเชฐ”

โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยลงกรณ์ ทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕



(จากซ้าย)เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระมารดา และกรมหลวงสงขลานครินทร์ พระอนุชา
ทั้ง ๓ พระองค์ทรงเป็นทูลกระหม่อมลุง ทูลกระหม่อมป้าของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และ ๙


 

 

 


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร 
เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๔๓ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันพุธที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ 

ทรงเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ หรือเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา(ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน


ราชกิจจานุเบกษาระบุการสร้างสะพานชมัยมรุเชฐ


สะพานชมัยมรุเชฐ

ตั้งอยู่ ณ จุดที่ถนนพิษณุโลกตัดข้ามคลองเปรมประชากร บริเวณแยกพานิชยการเขตดุสิต ใกล้กับทำเนียบรัฐบาลและวัดเบญจมบพิตร กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๖๑ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ปัจจุบันสะพานชมัยมรุเชฐถูกต่อเติมขยายออกไปจนหมดสภาพดั้งเดิมคงเหลือเพียงป้ายโลหะชื่อสะพานที่ยังเป็นของเดิม



ที่มา : //www.trueplookpanya.com









 

Create Date : 25 สิงหาคม 2557    
Last Update : 26 มีนาคม 2558 13:54:52 น.
Counter : 1225 Pageviews.  

พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง - จากอโยธยาถึงรัตนโกสินทร์

อย่างที่ทราบกันดีว่าบรรดาเครื่องศาสตราวุธอันเป็นเกียรติยศในราชวงศ์สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นได้สูญหายไปจนหมดสิ้นเมื่อได้เสียกรุงให้แก่พม่า ไม่เว้นแม้กระทั้งพระแสงปืนอันล้ำค่าที่ได้มีการจารึกมาแต่กรุงเก่าและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและพม่าเอง พระแสงปืนนั้นคือ "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง"

โดยมีที่มาดังนี้ ณ แม่น้ำสะโตงซึ่งมีความกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ทางพม่าได้ไล่ยิงปืนใหญ่ข้ามแม่น้ำมาหวังเด็จชีพพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรทรงประทับอยู่ริมแม่น้ำใช้พระแสงปืนยาว ๙ คืบ (แล้วทรงอธิษฐานถ้าการกู้ชาติสำเร็จขอให้ยิงถูกข้าศึก) ทรงยิงไปถูกสุรกรรมา (แม่ทัพพม่า) ตายอยู่บนคอช้าง

พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างในครั้งนั้นได้นามปรากฎต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้วรัชกาลที่1ทรงพระราชดำริให้จำลองสร้างพระแสงปืนต้นนี้ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นพระเกียรติยศและเฉลิมพระเกียรติถึงวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวร

พระแสงปืนนี้จึงเป็นจัดเข้าเป็นเครื่องประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลที่  ๒ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน




จากภาพด้านบน : ภาพพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑

จากภาพด้านซ้าย  : ภาพจากฉากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนยิงสุรกรรมาจากอีกฝั่งของแม่น้ำสะโตง (ปืนที่ใช้ในฉากนั้น เป็นปืนที่ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงจัดสร้างขึ้นมาใหม่สำหรับใช้ในภาพยนตร์)

จากภาพด้านขวา : ภาพพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง จากพระที่อนันตสมาคมในพระราชพิธีขึ้นพระอู่และสมโภชเดือนพระเจ้าหลานเธอ 











 

Create Date : 25 สิงหาคม 2557    
Last Update : 26 มีนาคม 2558 13:20:50 น.
Counter : 1241 Pageviews.  

ว่าด้วยธรรมเนียม “ทหารล้อมวัง”

ธรรมเนียมทหารล้อมวัง หรือล้อมพระบรมหาราชวังนี้เป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แต่การที่ทหารจะมาล้อมพระราชวังนี้เห็นจะต้องเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เช่น เป็นการรักษาป้อมกำแพงพระราชวัง รักษาประตูวังเมื่อมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ และที่สำคัญคือ “ถวายความปลอดภัยองค์รัชทายาทในช่วงเวลาผลัดแผ่นดิน” ดังที่จะขออธิบายในกรณีหลังดังนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีพระอาการประชวรหนักใกล้จะสวรรคต พระราชวงศ์ผู้ใหญ่หรือเจ้าพระยากลาโหมจะต้องทำหน้าที่ในการสั่งการเจ้ากรมทหาร เพื่อนำกำลังไปปิดล้อมกำแพงวังอันเป็นที่ประทับของ องค์พระมหาอุปราช,องค์พระยุพราช,หรือองค์รัชทายาท เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการถูกลอบปลงพระชนม์จากขบถ หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการสืบราชบัลลังก์ ณ ขณะนั้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เองก็ปรากฏธรรมเนียมทหารล้อมวังในคืนผลัดแผ่นดินเช่นกัน ดังที่มีการบันทึกถึงสองครั้ง คือครั้งที่ 1 ตรงกับวันที่ 29 กันยายน 2411 ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่4ทรงพระประชวรหนักจวนจะสวรรคต ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญในพระบรมหาราชวัง ด้านเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ผู้เป็นเจ้าฟ้าชายใหญ่ประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งขณะนั้นพระองค์ก็กำลังพระประชวรหนักเช่นเดียวกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหมจึงเร่งประชุมข้าราชการทั้งปวงเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสเจ้าฟ้าชายใหญ่ประชวรหนักกันทั้งคู่ อาจมีผู้ใดคิดแย่งชิงพระราชบัลลังก์ได้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงจัดตั้งกองทหาร ล้อมวงรักษาพระบรมมหาราชวังอย่างเข้มแข็ง และส่งทหารอีกกองหนึ่งไปล้อมรักษาถวายความปลอดภัยรอบๆพระตำหนักสวนกุหลาบ

ครั้งที่ 2 ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2453 เป็นวันที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5ทรงพระประชวรหนัก อยู่บนพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งในขณะนั้นเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ผู้เป็นองค์รัชทายาท ได้เฝ้าดูพระอาการอยู่บนพระที่นั่งด้วย กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ผู้เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ จึงเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เพื่อขอพระอนุญาตนำกองกำลังทหารเข้าล้อมพระราชวังดุสิตเพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยแก่องค์รัชทายาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมโบราณ....ด้านเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจึงมีพระดำรัสกลับไปว่า "ทำเถิดเห็นจะเป็นธรรมเนียม"





จากภาพด้านบนซ้าย คือพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมหาราชวัง สถานที่ประทับของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในขณะกำลังพระประชวร

จากภาพด้านบนขวา คือพระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต สถานที่สวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5

จากภาพด้านล่าง คือ ทหารรักษาพระองค์ฯ ในสมัยก่อน



ขอบคุณภาพและที่มาจาก: https://www.facebook.com/ThailandhistoryOFwarehouse?ref=stream










 

Create Date : 16 สิงหาคม 2557    
Last Update : 16 สิงหาคม 2557 15:56:40 น.
Counter : 3955 Pageviews.  

เรื่องของพระแก้วมรกต



ความเป็นมาของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตนั้น ตามตำนานกล่าวว่า ประมาณปี พ.ศ. 500 พระนาคเสนเถระ มีดำริจะสร้างพระพุทธรูปด้วยรัตนะ ให้เป็นที่สักการะบูชาของอินทร์ พรหม เทพยดาและมนุษย์ เพื่อให้ธรรมของพระพุทธองค์รุ่งเรืองและมั่นคง ท้าวสักกะเทวราชหรือพระอินทร์ ทราบความคิดของพระเถระ จึงได้จัดหาแก้วอมรโกฏ (แก้วทำโดยเทวดา) สีเขียวมาถวาย และพระวิษณุกรรมได้แปลงร่างเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสร้างแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูป ปรากฏพระพุทธลักษณะอันงดงามยิ่ง


พระนาคเสนเถระร่วมกับพระอรหันต์ทั้งหลาย และพรหม อินทร์ เทวดา สาธุชน ต่างมีจิตชื่นชมยินดี พากันมาบูชาพระรัตนปฏิมาตลอด 7 คืน 7 วัน พระพุทธรูปอันประเสริฐซึ่งไม่มีชีวิต ก็สำแดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ปรากฎแสงรัศมีแผ่สร้านออกจากองค์พระพุทธรูป ครั้งนั้น พระนาคเสนเถระใคร่จะส่งเสริมให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง จึงได้อธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ เข้าไปประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกต รวม 7 แห่ง ได้แก่ พระเมาลี (ผมจุก), พระนลาฏ (หน้าผาก), พระอุระ (อก), พระหัตถ์เบื้องขวา (มือขวา), พระหัตถ์เบื้องซ้าย (มือซ้าย), พระชานุเบื้องขวา (เข่าขวา), และพระชานุเบื้องซ้าย (เข่าซ้าย)


พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย มีพระนาคเสนเถระเป็นประธาน เทพยดา อสูร ครุฑ คนธรรพ์ พระมหากษัตริย์ และประชาชนทั้งหลาย มาประชุมพร้อมกันกระทำการสักการบูชาพระพุทธรัตนปฏิมา มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน พระพุทธรัตนปฏิมาได้กระทำปาฏิหาริย์ประการต่าง ๆ พระนาคเสนได้อธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ เข้าประดิษฐานในองค์พระพุทธรัตนปฏิมาคือ ที่พระเมาลี พระนลาฏ พระอุระ พระหัตถ์ทั้งสอง และพระชานุทั้งสอง พร้อมกันนี้ พระนาคเสนได้พยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล พระพุทธรัตนปฏิมาองค์นี้จะรุ่งเรืองโปรดไปในวงศ์ทั้งสามคือ กัมพุชวงศ์ มลานวงศ์ และสยามวงศ์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เคยปรารภถึงความมหัศจรรย์ของพระแก้วมรกตว่า พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลมีในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ฉิบหายด้วยภัยแห่งสงคราม









 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 6 สิงหาคม 2557 11:50:25 น.
Counter : 1474 Pageviews.  

คทาจอมพล





คทาจอมพล
เริ่มใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังที่ทรงปรับปรุงกิจการทหาร เป็นแบบสากล คทาจอมพลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 เป็นคทาเครื่องต้นของมหากษัตริย์
ประเภทที่ 2 เป็นคทาสำหรับพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งดำรงพระยศเป็นจอมพล
ประเภทที่ 3 เป็นพระคทาสำหรับผู้ที่ดำรงยศเป็นจอมพล โดยทั่วไปของทั้งสามเหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ





พระคทาองค์แรก
ข้าราชการกรมทหารบกได้สร้างพระคทาจอมพลขึ้น ทูลเกล้า ฯ ถวายพราะบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์จอมทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีทวีธาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2446 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระคทาจอมพลองค์แรกนี้มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ยาว 35 เซนติเมตร ยอดคทาเป็นรูปหัวช้างสามเศียรลงยาสีขาว เหนือหัวช้างเป็นรูปพระเกี้ยว ตอนท้ายคทาเป็นรูปทรงกระบอกตัด องค์พระคทาทำด้วยทองคำ หนัก 40 บาท ใต้หัวช้างลงมาเป็นลายนูน รูปหม้อกลศ ซึ่งหมายถึง การทูลเกล้า ฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีทวีธาภิเษก พระคทาองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นประจำตลอดรัชกาล



พระคทาองค์ที่สอง

ข้าราชการกรมยุทธนาธิการได้จัดสร้างขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์จอมทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2453 พระคทาองค์ที่สองนี้ มีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับพระคทาองค์แรกมาก ต่างกันที่ตรงยอดพระคทา ซึ่งเป็นมงกุฎและมีลายเฟื่อง อยู่ที่แถบกลางใต้ฐานของยอดมงกุฎโดยรอบเท่านั้น



พระคทาองค์ที่สาม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานแบบคทาจอมพลขึ้นใหม่ ทำด้วยทองคำเกลี้ยง มีลักษณะป่องตรงกลางและคอดเรียวไปทางด้านยอดและด้านปลาย ยอดพระคทาทำเป็นรูป พระครุฑพ่าห์ ลงยาตามแบบพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ใต้พระยาครุฑทำเป็นลูกแก้วรองฐานบัวหงาย ลงยาราชาวดี ส่วนด้านปลายมีลูกแก้ว และยอดบัวกลุ่มสี่ชั้น ลงยาราชาวดีเช่นกัน
พระคทาจอมพลองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้มาตลอดรัชกาล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์นี้สืบมา




พระคทาองค์ที่สี่

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์ที่สาม ซึ่งนายกรัฐมนตรี และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงกลาโหม ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย พร้อมเครื่องยศจอมพล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2493 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เนื่องในวโรกาส ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินนิวัตสู่ประเทศไทย

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2509 ข้าราชการกระทรวงกลาโหมเห็นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ สำหรับประเทศชาติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างมากมาย ทำให้กิจการต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จลุล่วงเสมอ พระบารมีของพระองค์แผ่ไพศาล ก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว และความสงบสุขในหมู่ประชาชน สภากลาโหมจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2509 ให้สร้างพระคทาจอมพลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเก็บเงินเพื่อสร้างคทานี้จากนายทหารชั้นนายพลประจำการทุกนาย และในวันที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2509 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายพระคทาจอมพลองค์นี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ 40 พรรษา เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีของข้าราชการทหารทุกนาย และได้ขอพระบรมราชานุญาต ขนานนามพระคทาองค์ใหม่นี้เป็นพิเศษว่า พระคทาจอมทัพภูมิพล










 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 23 กรกฎาคม 2557 16:39:53 น.
Counter : 4645 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.