All Blog
ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน Thibaw’s Queen






ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน

Thibaw’s Queen


ผู้เขียน : H. Fielding

ผู้แปล : สุภัตรา ภูมิประภาส และ สุภิดา แก้วสุขสมบัติ


ISBN 978-974-02-1501-1 ฉบับปก สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2559.

จำนวน 254 หน้า ราคา 200 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

ใครก็ตามที่รู้จักพระนาง

จะรู้สึกได้เพียงสองประการเท่านั้น

ถ้าไม่รักตราบนิรันดร์

ก็จะชิงชังพระนางเหมือนที่บุรุษเกลียดและกลัวความตาย

เพราะพระนางทั้งทิฐิแรงและโหดเหี้ยม

- ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน

---------------------------------------------------------------------------------




ผมเชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก ราชินีศุภยาลัต กันมาบ้างแล้ว จากหนังสือสารคดีที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่งของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นคือ พม่าเสียเมือง หรือถ้าใครสนใจงานศึกษาประวัติศาสตร์พม่าก็คงจะเคยเห็นพระนามของพระนางผ่านตากันมาบ้าง แต่ล่าสุดที่ทำให้พระนามของพระนางเป็นที่กล่าวถึงในเมืองไทยอีกครั้ง ก็คือ เพลิงพระนาง และ รากนครา ที่หยิบเอาคาแรคเตอร์บางอย่างของราชินีศุภยาลัตมาทำเป็นละคร นำเสนอถึงความโหดเหี้ยมอันเป็นที่ร่ำลือมานาน จนใครได้ฟังก็หวาดกลัว แต่พระนางทรงเป็นอย่างนั้นแน่หรือ ทรงโหดเหี้ยมอย่างไร้เหตุผล หรือทรงมีเหตุผลอะไรที่ทำให้พระนางถูกเล่าขานเช่นนั้น 

หนังสือ ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน (Thibaw’s Queen) ของ H. Fielding ก็บอกเล่าถึงความห้าวหาญและโหดร้ายของพระนางเหมือนกับหนังสืออื่น ๆ ผมเองเริ่มต้นอ่านด้วยความไม่ยอมรับตัวตนที่พระนางทรงเป็น ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือจนจบเล่มแล้ว ผมกลับมีความรู้สึกที่แตกต่างออกไป คือ เข้าใจถึงเหตุผลและที่มาของความโหดร้ายของราชินีศุภยาลัต อีกทั้งรู้สึกสงสารพระนางมากกับวาระสุดท้ายในฐานะราชินี ทว่าภายใต้การตัดสินใจผิดพลาดที่นำไปสู่สงครามและการล่มสลายของอาณาจักรพม่า พระนางศุภยาลัตได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเลือดขัตติยะอย่างแท้จริง เพียงแต่น่าเสียดายที่พระนางไม่ทรงรู้เท่าทันโลกสมัยใหม่เลย ไม่อย่างนั้นพระนางอาจจะช่วยพระเจ้าธีบอรักษาบัลลังก์และอาณาจักรเอาไว้ได้



พระเจ้าธีบอ และ พระนางศุภยาลัต


พระนางศุภยาลัตประทับบนสีหบัลลังก์ร่วมกับพระเจ้าธีบอ

หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) เขียนโดย นายแฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ (Harold Fielding-Hall) ซึ่งเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1878 และทำงานอยู่ในเขตพม่าตอนบนจนถึงปี ค.ศ.1885 ซึ่งอังกฤษทำสงครามยึดกรุงมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ เขาจึงเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งที่มีชีวิตร่วมสมัยและได้รู้เห็นเหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้น 

สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น คือ ผู้เขียนได้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์จากนางกำนัลคนหนึ่งของราชินีศุภยาลัต มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวให้เราได้อ่านกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสตัวตนของพระนางในแบบที่นางกำนัลเคยสัมผัส สลับกับการเล่าเหตุการณ์สำคัญจากมุมมองที่นายฟีลดิ้ง-ฮอลล์พบเห็นและรับรู้มาด้วยตนเอง

หนังสือ Thibaw’s Queen จึงช่วยเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับราชินีองค์สุดท้ายของอาณาจักรพม่าให้เราได้ศึกษา และทำความรู้จักพระนางใหม่อีกครั้ง อันเป็นมุมมองจากคนใกล้ชิด ไม่ใช่มุมมองจากคนนอกที่มองเข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ถึงอย่างนั้น ผมยังยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้ยังคงพูดถึงทิฐิและความเด็ดขาดของพระนางอยู่เช่นเดิม หากแต่เป็นการเล่าใหม่ ผ่านสายตาของอดีตนางกำนัลที่รักและชื่นชม “มิพญา” ของนางอย่างยิ่ง

เมื่อได้อ่านจนถึงบทสุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนอาจคิดเห็นตรงกันว่า แท้จริงแล้วพระนางศุภยาลัตมิได้โหดร้าย เพราะมุ่งหวังในพระราชอำนาจ หรือต้องการเป็นพระราชินี แต่ความโหดร้ายเด็ดขาดของพระนางเป็นผลสืบเนื่องมาจากความรักและภักดีต่อพระเจ้าธีบอ ผู้เป็นพระสวามีอย่างมาก ดังความเห็นของนางกำนัลที่บอกเล่าเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า


“...หากพระนางเกลียดผู้ใดก็จะไม่มีวันให้อภัยเด็ดขาด สองสิ่งที่พระนางจะไม่มีวันยอมโอนอ่อน นั่นคือความพยายามใด ๆ ที่จะพรากพระเจ้าอยู่หัวไปจากพระนาง และการจาบจ้วงใด ๆ ต่อพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัว เมื่อใดก็ตามที่พระนางระแคะระคายว่ามีหญิงใดพยายามจะเข้ามาแทรกกลางระหว่างพระนางกับพระเจ้าอยู่หัว พระนางจะแสดงอาการเหมือนคนคลุ้มคลั่งและสามารถทำได้ทุกอย่าง เมื่อมีผู้ใดพยายามบั่นทอนพระราชอำนาจหรือพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัว พระนางจะไม่มีวันปล่อยให้เกิดขึ้นได้เด็ดขาด ทรงยอมตายเสียดีกว่าจะทนกับเรื่องเช่นนี้...”



พระนางศุภยากะเล พระนางศุภยาลัต และ พระเจ้าธีบอ

พระนางศุภยากะเลทรงเป็นพระขนิษฐาองค์เล็กร่วมพระราชชนนีกับพระนางศุภยาลัต

ทรงถูกพระพี่นางบังคับให้อภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าธีบอ

เพื่อทำลายแผนล้มล้างราชบัลลังก์ของพระนางซินผิ่วมะฉิ่นหรือพระนางอเลนันดอ (พระราชชนนี)

Cr. ขอบคุณภาพลงสีจากเพจ S.Phormma's Colorizations


ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในเล่ม มักเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นเพราะ “สองสิ่ง” ที่นางกำนัลบอกเอาไว้ คือความหึงหวงพระสวามี ไม่ปรารถนาจะให้พระองค์มีหญิงอื่นใด และความโกรธอันเนื่องมาจากมีคนคิดล้มล้างหรือบั่นทอดความมั่นคงของราชบัลลังก์พระเจ้าธีบอ ซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดไว้อยากสนุก ชวนอ่าน ชวนติดตามตลอดทั้งเล่ม จนแถบวางไม่ลงเลยครับ



พระนางศุภยากะเล (เจ้าหญิงเล็ก)

ประทับบนตั่งร่วมกับพระนางศุภยาลัตและพระเจ้าธีบอ (พระสวามี)


แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรพม่า ก็มาจากความมุทะลุของพระนางศุภยาลัต ที่ทะนงว่ากองทัพพม่านั้นเกรียงไกร และพระนางไม่อาจทนเห็นอังกฤษหมิ่นพระเกียรติพระสวามีได้ นับแต่เรื่องโกงสัมปทานป่าไม้ ลามไปถึงข้อตกลงที่อังกฤษเตรียมกดขี่ข่มเหงพม่า พระนางจึงเห็นด้วยกับการทำศึกสงครามกับอังกฤษ (สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สาม) ทว่าในทางกลับกัน ความร้ายกาจและพระราชอำนาจของพระนางที่นับวันจะอยู่เหนือพระเจ้าธีบอ ก็ทำให้ขุนนางข้าราชบริพารต่างหวาดกลัว จนไม่มีใครกล้ากราบทูลความจริงถึงแสนยานุภาพของกองทัพเรืออังกฤษ ที่กำลังเคลื่อนผ่านแม่น้ำอิรวดีเข้ามาโจมตีถึงกำแพงพระนคร และยึดเมืองมัณฑะเลย์ได้สำเร็จอย่างง่ายดาย กระทั่งพระนางศุภยาลัตได้ทราบความจริง ว่าอังกฤษได้นำกองทัพเข้าพระนครแล้ว จึงทรงตระหนักได้ถึงความผิดพลาดในการตัดสินใจของพระนาง ซึ่งนางกำนัลบอกเล่าแก่ผู้เขียนเอาไว้อย่างน่าสงสารมากว่า


“...แล้วจู่ ๆ พระนางก็ทรุดพระวรกาย หมอบซบพระพักตร์ลงกับพื้น ทรงกันแสง พระเกศารุ่ยร่าย น้ำพระเนตรอาบพระพักตร์...พระนางหยัดตัวขึ้นมาอยู่ในท่าคุกเข่า ยกพระหัตถ์ทุบพระอุระ ร้องฟูมฟายเสียงดังว่าพระนางคนเดียวที่นำความหายนะมาสู่พระเจ้าอยู่หัวและแผ่นดิน ‘ข้า-ข้าคนเดียวที่นำความพินาศมาสู่พระเจ้าอยู่หัว พระสวามีของข้า และราษฎรของข้า เพราะข้า-ข้าคนเดียวเท่านั้น’ จากนั้นทรงทุ่มพระองค์ลงไปบนพื้นอีกครั้งและทุบพื้น พระวรกายสั่นเทาด้วยแรงสะอื้น...พวกเราใจสลายที่เห็นพระนางเป็นเช่นนี้...”


นี่คือ การปิดฉากพระนางศุภยาลัตในฐานะราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์คองบองและอาณาจักรพม่า ซึ่งอยู่เคียงข้างราชบัลลังก์ของพระเจ้าธีบอได้เพียง 7 ปีเท่านั้นเอง หากต้องสรุปว่าพระนางโหดร้ายจริงหรือไม่ ส่วนตัวแล้วผมมองว่าพระนางเป็นหญิงที่ห้าวหาญ เด็ดขาด ถืออารมณ์และความต้องการส่วนพระองค์เป็นใหญ่มากกว่า ไม่ได้เข้าทำนอง “ราชินีกระหายเลือด” แต่อย่างไรเลย และที่ทรงตัดสินใจทำไปแต่ละอย่าง แม้กระทั่งคิดสู้กับอังกฤษ ก็เพราะทรงรักและภักดีต่อพระสวามีมากเหลือเกินนั่นเอง


บรรยากาศบริเวณท่าเรือ 
เมื่ออังกฤษนำเรือมารับพระเจ้าธีบอและราชินีศุภยาลัตเชิญเสด็จไปยังเมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย

พระนางศุภยาลัตสิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ เมืองย่างกุ้ง
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ.1925 (พ.ศ.2468) ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา

ใครสนใจเรื่องราวของ ราชินีศุภยาลัต หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเล่มที่พลาดไม่ได้ ยิ่งใครกำลังอินกับ รากนครา เมืองมัณฑ์ และ ราชินีปัทมสุดา ต้องลองมาอ่าน เพราะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจมากมาย แล้วเราจะสังเกตเห็นเลยว่า ละครพยายามหยิบเกร็ดพระราชประวัติของพระนางออกมาถ่ายทอดให้มากที่สุด ตลอดจนเติมแต่งความน่ากลัว น่าเกรงขาม และความโหดเหี้ยมของพระนางให้ชัดเจน จนกลายเป็นกระแสฮือฮากันอีกครั้งต่อจากเพลิงพระนาง

สำหรับผม รู้สึกประทับใจมากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะทำให้เรามองพระนางศุภยาลัตอย่างเข้าใจ และเป็นกลางมากขึ้น ต่างจากแต่ก่อนที่รู้สึกไม่ชอบความร้ายกาจของพระนางเอาเสียเลย ซึ่งความรู้สึกดังกล่าว น่าจะตรงตามคำพูดของนางกำนัลเจ้าของเรื่องที่บอกว่า “...ใครก็ตามที่รู้จักพระนาง จะรู้สึกได้เพียงสองประการเท่านั้น ถ้าไม่รักตราบนิรันดร์ ก็จะชิงชังพระนางเหมือนที่บุรุษเกลียดและกลัวความตาย...”


Jim-793009

04 :10 : 2017





Create Date : 04 ตุลาคม 2560
Last Update : 5 ตุลาคม 2560 16:44:34 น.
Counter : 5024 Pageviews.

6 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณProphet_Doll

  
อยากอ่านเล่มนี้มากๆครับ ติดตามมาจากรากนคราเลยสนใจ แต่ยังไม่มีโอกาสซื้อ เห็นทีต้องรีบละ อิอิ
โดย: ruennara วันที่: 5 ตุลาคม 2560 เวลา:1:53:37 น.
  
น่าสนใจมาก ๆ เลยค่ะ
โดย: Serverlus วันที่: 5 ตุลาคม 2560 เวลา:9:45:53 น.
  
ชอบอ่านประวัติศาสตร์พม่าที่ไม่ได้มาจากคนไทยเขียนค่ะ .... เราว่ามุมมองมันกว้างกว่านะ
จากที่เราได้เห็นแต่มุมเดิมๆ ถ้าได้มองด้วยสายตาของคนอื่น เราว่าจะทำให้ประวัติศาสตร์มันชัดเจนขึ้นนะคะ
ส่วนเล่มนี้ น่าสนใจมากๆ ต้องไปหามาอ่านซะแล้ว
ขอบคุณสำหรับรีวิวค่ะ
โดย: Prophet_Doll วันที่: 5 ตุลาคม 2560 เวลา:10:44:38 น.
  
คุณ ruennara --- แนะนำให้อ่านเลยครับ สนุกดี ผมหยิบเล่มนี้มาอ่านก่อนรากนคราจะฉาย พอฉากเมืองมัณฑ์มาถึงกับร้องโห ไม่คิดว่าเขาใช้ข้อมูลจากเล่มนี้ เก็บรายละเอียดดีครับ

คุณ Serverlus --- ลองหาอ่านดูนะครับ แล้วมาแชร์กัน ^^

คุณ Prophet_Doll --- เห็นด้วยครับ ว่าได้มุมมองที่แตกต่างออกไปและหลากหลาย เล่มนี้สนุก ชวนติดตามมาก ๆ เชื่อว่าถ้าได้อ่านน่าจะชอบครับ ขอบคุณสำหรับโหวตด้วยนะครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 5 ตุลาคม 2560 เวลา:14:40:50 น.
  
แล้ว พราชายา เจ้าฟ้า ราชธิดา องค์อื่นของพระเจ้ามินดง ก็ถูก พระนางฆ่าเหี้ยนเลยใช่ไหมครับ คือฆ่าล้างโคตรเลยใช่ไหมครับ แล้วหนังสือยังมีขายอยู่ไหมครับ
โดย: Hello_World IP: 49.49.243.98 วันที่: 6 ตุลาคม 2560 เวลา:21:20:06 น.
  
คุณ Hello_World --- พระนางศุภยาลัตไม่ได้เป็นคนสั่งฆ่าพี่น้องคนอื่น ๆ ที่เป็นลูกของพระเจ้ามินดงครับ คนที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่เพื่อให้พระเจ้าธีบอได้เป็นกษัตริย์ คือ พระนางซินผิ่วมะฉิ่น เป็นพระราชชนนีของพระนางศุภยาลัต แต่แผนการใหญ่ของพระนางก็ล่มไป --- เมื่อก่อนเข้าใจว่าเป็นพระนางศุภยาลัตเหมือนกัน แต่จากที่อ่านมาพบว่าไม่ใช่ ต้องลองอ่านหนังสือดูครับ หนังสือยังหาซื้อได้ครับ ถ้าไม่มีตามร้านหนังสือ ให้ติดต่อเข้าไปในเว็บไซต์ของมติชนได้เลย
โดย: Jim-793009 วันที่: 7 ตุลาคม 2560 เวลา:10:03:15 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments