All Blog
บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม





บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475

การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม


ผู้เขียน : ยาสุกิจิ ยาตาเบ

ผู้แปล : เออิจิ มูราชิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ISBN 978-974-323-977-9 ฉบับปก สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2557.

จำนวน 136 หน้า ราคา 145 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

สรุปแล้ว สาเหตุแท้จริง การปฏิวัติ ค.ศ.1932

ก็คือการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการไร้ความสามารถของการปกครอง

ของเจ้านายทั้งในทางการเมืองภายในประเทศ และในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สะสมมามาก

และปัญหาการคลังก็เป็นชนวนระเบิด

ของการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันครั้งนี้

- ยาสุกิจิ ยาตาเบ

---------------------------------------------------------------------------------


หนังสือ บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม ของ ยาสุกิจิ ยาตาเบ เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้อ่าน เพราะเนื้อหาของหนังสือเป็นการมองสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสยามยุคนั้นจากสายตาของคนนอก 

ยาสุกิจิ ยาตาเบ เป็นอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยาม เข้ามารับตำแหน่งเมื่อราวปี พ.ศ.2471 เขาเล่าถึงความเป็นไปของเหตุการณ์การยึดอำนาจการปกครอง เปลี่ยนแปลงสยามจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบรัฐธรรมนูญ” และทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็น “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างฉับพลัน ด้วยมุมมองที่ผมรู้สึกว่า เขามองอย่างเป็นกลาง ประกอบไปด้วยข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อวิจารณ์ในประเด็นต่าง ๆ ตลอดจนเข้าใจถึงเหตุผลอันจำเป็นที่บีบคั้นให้กลุ่มหัวก้าวหน้ารีบยึดอำนาจ และเหตุผลที่ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมเสื่อมอำนาจ ดังนั้น เรื่องราวที่นายยาตาเบบอกเล่า จึงไม่ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางของฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือฝ่ายหัวก้าวหน้าแต่อย่างใด



อภิรัฐมนตรีสภา
ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูง มีหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ


แม้ว่าแรกเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะสร้างความขุ่นเคืองแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อย่างมาก แต่ความคิดเห็นส่วนตัวของนายยาตาเบ เขาเชื่อมั่นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพอพระราชหฤทัยต่อการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นความตั้งใจของพระองค์ท่านอยู่ก่อนแล้ว ว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน แต่ถึงอย่างนั้น การแย่งชิงอำนาจของคณะรัฐบาลชุดใหม่และนักการเมืองทั้งหลายก็นำไปสู่ความวุ่นวายอีกหลายครั้ง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่ถึงหนึ่งปีด้วยซ้ำ นั่นเพราะกลุ่มผู้ก่อการยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ ทั้งทหารและพลเรือน มีหลายกลุ่มหลายความคิดมากเกินไป

การได้อ่านเรื่องราวเริ่มต้นการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของไทย ช่วยทำให้ผมเข้าใจว่า เหตุใดสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าจะให้ออกความคิดเห็น ผมคงเปรียบเทียบการเมืองยุคประชาธิปไตยของไทยว่าเปรียบเสมือนต้นไม้ที่รากเหง้าไม่แข็งแรงแต่แรก ลำต้นและใบจึงอ่อนแอ การผลิดอกออกผลเลยไม่สมบูรณ์ 

ยาสุกิจิ ยาตาบา ได้แบ่งเนื้อหาภายในหนังสือตามเหตุการณ์ปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม ซึ่งเขาได้พบเห็นออกเป็น 3 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 คือ การยึดอำนาจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และเจ้านายมีอำนาจทางการเมืองมากเกินไป



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม


ครั้งที่ 2 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทำการรัฐประหารปิดสภาผู้แทนราษฎร และประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จากนั้น กระทำการบีบบังคับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างความชอบธรรมว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นพวกหัวก้าวหน้ารุนแรง ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของสยามไปในทิศทางของลัทธิคอมมิวนิสต์



พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

ครั้งที่ 3 การยึดอำนาจและปฏิวัติคณะรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำการปฏิวัติ และมีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า โดยอ้างความชอบธรรมว่า คณะรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาพยายามทำลายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ด้วยการประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และไม่จัดให้มีการเลือกตั้งตามกำหนด ซึ่งยาสุกิจิ ยาตาเบ แสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้คณะรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถูกโค่นล้มว่า


“สาเหตุหนึ่ง คือ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีความผิดพลาดอย่างสิ้นเชิงในการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพวกทหาร ข้อที่สอง รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่สามารถประเมินจิตใจของประชาชน ความเข้าใจของรัฐบาลชุดเก่าที่ว่า ประชาชนไทยมีลักษณะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นนิสัยประจำชาติ ข้อสรุปอันนี้มีส่วนถูกต้องอยู่ หากตั้งแต่เมื่อมีการปฏิวัติปีที่แล้ว (พ.ศ.2475) จิตใจของประชาชนได้เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว...รัฐบาลปฏิกิริยาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้ง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว...เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้หมดความหวังต่อประชาชนทั่วไป และทำให้เกิดความแค้นเคืองของฝ่ายคณะราษฎรอีกด้วย รัฐบาลชุดเก่าได้เลื่อนเวลาเลือกตั้ง มีความหมายเท่ากับเป็นการตีตราว่าตนเองเป็นผู้ทำลายรัฐธรรมนูญ...”




พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
หนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ และนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย

ภายในหนังสือยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่น่าสนใจ เนื้อหาตลอดทั้งเล่มค่อนข้างอ่านสนุก ไม่ได้เต็มไปด้วยข้อมูลวิเคราะห์เชิงวิชาการเท่าใดนัก แต่เป็นเหมือนบันทึกที่เจ้าของเล่าให้ผู้อ่านฟังอย่างกันเอง ลำดับความเข้าใจง่าย น่าเสียดายที่นายยาตาเบเล่าเอาไว้ถึงแค่ตอนพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขามองว่า “มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งคณะรัฐบาลปกครองประเทศตามระบอบรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง แต่พระพหลพลพยุหเสนาก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้รับความไว้วางใจของประชาชนจนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2479)” แต่ถ้าหากเขาได้เฝ้าสังเกตสถานการณ์ทางการเมืองของสยามต่อไปอีก ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าเขาจะถ่ายทอดความเปลี่ยนแปลงในสมัยต่อ ๆ มาว่าอย่างไรบ้าง

สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจสถานการณ์การปฏิวัติ พ.ศ.2475 ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเล่มที่พลาดไม่ได้ จำนวนเนื้อหากำลังพอดี ไม่มากเกินไป เราสามารถนำไปต่อยอดได้อีก ท้ายเล่มมีบทแทรกสุนทรพจน์ของ อัตสุฮิโกะ ยาตาเบ บุตรของ ยาสุกิจิ ยาตาเบ ซึ่งกล่าวปาฐกถาเรื่องชีวิตและผลงานของยาสุกิจิ ยาตาเบ และความผูกพันที่เขามีต่อประเทศไทย เนื้อหาดี อ่านเพลิน และจบอย่างซาบซึ้งทีเดียว


Jim-793009

30 : 10 : 2017




Create Date : 30 ตุลาคม 2560
Last Update : 31 ตุลาคม 2560 5:59:11 น.
Counter : 2089 Pageviews.

7 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณjackfruit_k, คุณRain_sk, คุณruennara, คุณfor a long time, คุณnewyorknurse

  
น่าสนใจมากค่ะ ต้องไปหามาอ่านแน่นอน
โดย: jackfruit_k วันที่: 30 ตุลาคม 2560 เวลา:17:29:09 น.
  
คุณ jackfruit_k --- เล่มนี้แนะนำว่าต้องลองจริง ๆ ครับ ผมซื้อมาแบบไม่ได้คาดหวัง แต่พอได้อ่านก็ติดใจเลย นึกแล้วอยากให้ผู้เขียนได้เขียนต่ออีกเรื่อย ๆ เลยครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 30 ตุลาคม 2560 เวลา:17:47:39 น.
  
Jim-793009 Political Blog ดู Blog

น่าสนใจครับ เมื่อวันก่อนผ่านมาเจอเนื้อเรื่องนี้เลยเก็บไว้กลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง...ขอบคุณมากครับ
โดย: ขุนเพชรขุนราม วันที่: 31 ตุลาคม 2560 เวลา:1:15:32 น.
  
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2575 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
________________________
พศ 2475 หรือเปล่าครับ
โดย: ขุนเพชรขุนราม วันที่: 31 ตุลาคม 2560 เวลา:1:25:13 น.
  
คุณ ขุนเพชรขุนราม --- พ.ศ.2475 ครับ ผมพิมพ์ผิดจริง ๆ ด้วย ขออภัยและขอบคุณที่ช่วยตรวจแก้ให้นะครับ --- เล่มนี้อ่านเพลินดีครับ เป็นการสรุปเหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เข้าใจง่าย และเห็นภาพรวมดีมากเล่มหนึ่งเลยครับ ^^
โดย: Jim-793009 วันที่: 31 ตุลาคม 2560 เวลา:6:02:27 น.
  
หนังสือน่าอ่านมากครับ ประวัติศาสตร์ต้องอ่านต้องศึกษาหาความรู้จากหลายแง่มุม ยิ่งมุมมองที่มองจากบุคคลนอก คิดว่ายิ่งมีประโยชน์เพราะอย่างน้อยก็คงค่อนข้างเป็นกลางๆ อ่านแล้วต้องได้อะไรกลับมาให้คิดวิเคราะห์แน่นอนเลย ขอบคุณที่แนะนำหนังสือน่าอ่านครับ
โดย: ruennara วันที่: 4 พฤศจิกายน 2560 เวลา:2:44:10 น.
  
คุณ ruennara --- เห็นด้วยเลยครับที่บอกว่าประวัติศาสตร์ต้องศึกษาจากหลายแง่มุม บางครั้งการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ก็มักทำให้เราว้าวอยู่เสมอ ฟังหูไว้หูดีที่สุดนะครับ เล่มนี้ลองหามาอ่านดูนะครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 6 พฤศจิกายน 2560 เวลา:8:55:41 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments