<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
เพื่อนเก่าในกระปุก: ก. ไก่ ในกระดานชนวน (๘)


การจัดการศึกษาเบื้องต้นสำหรับทวยราษฎร์ หรือ เรียกว่า “การศึกษาประชาบาล” นั้น ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ (อีกสองปีข้างหน้าก็ครบ 100 ปี) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๕) ทรงมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ กระทรวงธรรมการ กับ กระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทย ได้ทำการตกลง… ว่า “ การจัดการศึกษาชั้นต้น คือ ประถมศึกษา จะจัดให้มีโรงเรียนทุกตำบลทุกละแวกบ้าน ให้พอแก่เด็กในวัยเรียนทั่วราชอาณาเขต การศึกษาชั้นสูงขึ้นไปคือตั้งแต่มัธยมศึกษา ก็ให้มีโรงเรียนตั้งขึ้นในชุมชนเป็นแห่ง ๆ มากน้อยตามความต้องการของท้องถิ่น โรงเรียนแยกออกโดยประเภทเงินสำหรับใช้สอย มีอยู่ 3 ประเภท คือ โรงเรียนรัฐบาล…ใช้เงินเบิกตรงต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โรงเรียนประชาบาลบำรุงด้วยเงินพิกัดหัวนักเรียน อากร เงินช่วยเหลือ เงินอื่น ๆ สุดแล้วแต่จะหาได้ และโรงเรียนบุคคล (โรงเรียนราษฎร์/โรงเรียนเอกชน ในปัจจุบัน)”


อะแฮ่ม…อ่านถึงนี้ อย่าเพิ่งเบื่อล่ะ กำลังแคะกระปุกออกมาปูพื้นท้องเรื่องจ๊ะ…. เราเข้าโรงเรียน ชั้น ก. ไก่ เมื่อช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๔ นั้น เป็นโรงเรียนประชาบาลของหลวง ต้องรู้ที่มาที่ไปกันก่อน (เพราะโรงเรียนสำหรับสอนคนให้เป็นตน ไม่ได้ถูกสร้างและเนรมิตให้ตั้งอยู่โดยเทวดาฟ้าดินที่ไหนดอก ก็คนเรานี่แหละตั้งกันขึ้นมาดำเนินการ) จนปัจจุบันนี้ (2548 – 2549) เห็นไหมว่า สังคมประเทศไทยเรา(โดยรัฐบาล)กำลังจะถ่ายโอนการบริหารการศึกษาไปขึ้นกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แล้วก็มีการต่อต้านจากฝ่ายข้าราชการครูจำนวนหนึ่งอยู่ เป็นข่าวความขัดแย้งในสังคมอย่างต่อเนื่อง แม้ดูแนวโน้มแล้วฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)จะทำการจนสำเร็จ แต่ความขัดแย้งก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

“โรงเรียนประชาบาลและโรงเรียนบุคคลนี้ กระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทยแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ คือ กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ฝ่ายบริหาร เป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนประชาบาล ชักนำเด็กให้เข้าเรียน หาครูสอน หาเงินมาบำรุงโรงเรียน รับจดทะเบียนและเป็นเจ้าของปกครองโรงเรียน จัดให้มีที่เล่าเรียนเพียงพอแก่จำนวนเด็กที่มีอายุเข้าเกณฑ์เรียน ส่วนกระทรวงธรรมการเป็นผู้วางระเบียบการ หลักสูตร ตรวจตราการฝึกสอนด้านวิชาการ และเฉลี่ยแบ่งเงินบำรุงการศึกษาให้บ้างตามสมควร”


เอาล่ะ….ถ้าคนรู้มาก คิดมาก (ก็มักจะยากนาน) ซึ่งอาจจะทำให้ คนรู้น้อย คิดน้อย พลอยรำคาญ แต่ถ้าหากอยู่เฉยไม่ได้ต้องคิดต่อไปด้วยอดรนทนไม่ได้ แล้วละก็ ก็ลองตรองดูก็ได้ว่า เรื่องการจัดการศึกษาของชาตินั้น เกี่ยวข้องกับ “อำนาจ “ หรือว่า “เงิน” มาตั้งแต่เริมต้นมีการจัดการศึกษาขึ้นในบ้านเมืองเราหรือไม่ อย่างไร, แล้วเรื่องที่ “เยื้อ ๆ ยุด ๆ กันอยู่ เรื่องการถ่ายโอน การจัดการศึกษาชาติ เวลานี้นั้น มันเรื่องอะไรกันเสียอีกล่ะ” ก็คิด ๆ กันดูเอาเองก็แล้วกัน (ส่วนเรื่องที่ว่า การบริหารการศึกษาในชุมชนใดเมื่อย้ายไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแล้วจะเกิดผลดีหรือว่ามีผลเสียหายมากกว่าตอนเป็นอยู่กับส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาคนั้น ก็เป็นเรื่องของเหตุและผลของแนวความคิดที่แตกต่างกัน ก็ว่ากันไป)

“ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๖) ได้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น …มีสาระสำคัญว่า เด็กทุกคนทีมีอายุ ๗ ขวบบริบูรณ์ ต้องเข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาจนอายุ 14 ปีบริบูรณ์ การศึกษาประชาบาลเป็นการให้เปล่า …นายอำเภอมีภาระหน้าที่ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาล ต้องติดต่อขอความร่วมมือจากประชาชนและวัด ส่วนมากใช้ศาลาวัดเป็นที่เล่าเรียน และพระภิกษุสงฆ์เป็นครูไปพลางก่อน …ต่อมาจึงจ้างบุคคลที่มีความรู้พอสมควรมาเป็นครูสอน … “ครูประชาบาล” ได้รับการยกฐานะจากรัฐบาลให้เป็นข้าราชการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๙๑ นับแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการศึกษาประชาบาลก็เริ่มโอนมาให้ทางราชการจัดโดยตรง ทั้ง ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น …สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้โอนกิจการศึกษาประชาบาลไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ …. พอมาถึงวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ”


เอาแค่นี้แหละ…..ความจริง “กระปุกของโรงเรียน ก. ไก่” มีเรื่องราวยาวกว่านิยายจีนชุดมังกรหยกเสียอีก …ใครก็ควรรู้ไว้ว่าเรื่องของครู-คุรุ-GURU นั้น เป็นเรื่อง หนัก (ยิ่งใหญ่), จะเอามาพูดเล่น ๆ สั้น ๆ พอขอผ่านไปทีได้ยังไงกัน ท่านที่สนใจมาก ๆ จริง ๆ จัง ๆ ด้วยเหตุที่ตนเคยเป็นครู หรือเกี่ยวข้องเป็นญาติหรือลูกหลานของครูประชาบาล ก็ลองไปค้นคว้าเอกสารอ่านเอาเองเถิดครับ ขอแนะนำเอกสารที่หยิบเอาบางส่วนมานำเสนอไว้ในบล็อกวันนี้ มีสองฉบับ ได้แก่ เอกสารการฝึกอบรมครูใหญ่ประธานกลุ่ม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 25 จังหวัด ในภาคกลางและภาคตะวันออก ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2520 (เอกสารฉบับที่ ๑) และ เอกสารวิจัยหมายเลข 6 ของศูนย์วิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอาจารย์มนตรี เจนวิทย์การ (๒๕๒๖) เรื่อง การประท้วงของครูประชาบาลในช่วงปี พ.ศ. 2521 – 2523 : บทบาทการต่อสู้ทางการเมือง “กลุ่มไร้อำนาจ” กับการตอบโต้ของรัฐบาล





เราเข้าเรียน ก. ไก่ ในโรงเรียนประชาบาลของหลวง ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก(อนุบาล)แล้วพออายุเข้าเกณฑ์เรียน ก็ต่อชั้น ป. ๑ ที่โรงเรียนเดียวกันไปจนจบชั้น ป. ๔ เมื่อเรียนต่อประถมปลายคือชั้น ป. ๕ สอบเลื่อนชั้นขึ้น ป. ๖ ได้ไม่ถึงสองเดือน เราก็ต้องย้ายโรงเรียนไปอยู่ข้ามอำเภอเลยล่ะ

การย้ายถิ่นชนิดที่เรียกว่า "เป็นการเปลี่ยนแปลงสื่งแวดล้อมทางสังคมตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ของเด็กอายุเพิ่งย่างสิบเอ็ดสิบสองขวบ อย่างกระทันหัน โดยไม่ทันได้ตั้งตัวมาก่อน ของเด็กชายเอ_สมใจ" มีขึ้นก็ด้วยเหตุที่พ่อเราย้ายไปทำราชการอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ที่กำลังได้รับการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไป ด้วยการสร้างเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำท่าเพื่อการชลประทาน การประมง การผลิตกระแสไฟฟ้า และการอุตสาหกรรมการเกษตร มาคิดดูแล้วเราว่าคงเกี่ยวข้องกับ "การเก็บภาษีเข้ากระปุกของรัฐบาล ในช่วงนั้นด้วย" ก็พ่อเรามีตำแหน่งหน้าที่เป็นสมุห์บัญชีเก็บภาษีในเขตของอำเภอชั้นโทนี่นา (ชั้นเอกคืออำเภอเมือง) จะลองไปค้นเรื่องมาตัดต่อดู ถ้าใครอยากรู้ชื่ออำเภอ ก็ลองนึกถึงชื่อเพลงโด่งดังที่สุดของคุณ'หยาด นภาลัย' ดู นั่นแหล่ะใช่เลย ต่อมาถึงปัจจุบันนี้อำเภอใหญ่นั้นก็แตกออกเป็นเขตการปกครองท้องที่ถึงสามสี่อำเภอทีเดียว

ผู้หลักผุ้ใหญ่ของครอบครัวแต่ก่อน ท่านจะทำอะไรในครอบครัวท่านก็ไม่ถามความเห็นของเด็ก ๆ ดอก คงเพราะไม่มีเวลาด้วยกระมัง มาคิดเอาเองว่าพ่อเราก็เป็นเพ่อหม้าย เพื่อความสะดวกท่านเลยเลือกเอาเด็กชายเอ_สมใจ ลูกชายหล้ากับพี่สาวเราอีกคนย้ายไปอยู่ด้วย ส่วนลูกสาวที่ยังเรียนอยู่ที่อำเภอเดิมอีกสองคนนั้นมอบให้เป็นภาระดูแลของลูกสาวคนโต ซึ่งเรียนจบประกาศนิยบัตรวิชาชีพครูประถมศึกษาชั้นต้น จากวิทยาลัยครูอุดรธานี (เราก็เคยเรียนที่นี้อยู่หนึ่งปี ...มีเรื่องรักแรกก็ตกม้าเลยด้วยแหละ) แล้วพี่เอื้อยเราก็จึงไม่ได้เรียนต่อระดับสูงขึ้นไปอีก จำเป็นต้องออกมาบรรจุเป็นครูประชาบาลโรงเรียนประจำอำเภอ ที่พวกพี่น้องเราเรียนอยู่แต่เดิมนั้น ตั้งแต่ภายหลังปีที่แม่เราเสียชีวิตลงแล้ว

หนังชีวิตอะนะ... เรื่องมันยาว... ตอนพ่อย้ายที่ทำงานนี้ก็คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนในครอบครัวแยกออกเป็นสองหน่วยครัวไฟพื้นฐาน(แยกหัวหน้าครอบครัว แยกที่กิน แยกที่นอน แยกบัญชีรายรับรายจ่าย) อยู่ด้วยกันสามพ่อลูกได้ปีเดียว(อีกคนคือพี่สาวคนถัดขึ้นจากพี 'หนูศรี=samranjai') พี่'หนูณี'ก็ย้ายเข้าไปเรียนโรงเรียนการช่างสตรีในเมืองขอนแก่น ปล่อยให้พ่อกับลูกชายอยู่ด้วยกัน

ถัดมาสักสองสามเดือนเห็นจะได้เราขึ้นเรียนชั้น ป. ๗ แล้ว พ่อเราคงทนว้าเหว่ไม่ไหว ถูกลมพัดหวนไปหอบหิ้วแฟนเก่าสมัยท่านเป็นหนุ่มน้อยอยู่เข้าบ้านมาเป็นคุณนายข้าราชการอำเภอ (คงอกหัก พลัดพรากกันตั้งแต่ตอนอายุเท่ากับเรา...อิอิ เพราะเธอเป็นลูกคนมีฐานะกว่าพ่อที่เป็นลูกชาวนาบ้านนอก เข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมืองอุดรธานี นี่ก็หมอลำอีกเรื่องแหละ) พล็อตหนังชีวิตเรื่อง "พ่อหม้ายกับลูกชายคนหล้า" เลยต้องเปลี่ยนไป เพราะอยู่ ๆ เราก็กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกกับการที่มีน้องหญิงกับน้องชายย้ายเข้ามาอยู่ร่วมเรือนด้วยโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะว่าแม่เลี้ยงของเราเป็นแม่หม้ายเรือพ่วงสองลำเล็ก ความจริงยังมีพ่วงลำใหญ่อีกฝูงนะเนี่ย แต่ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันไม่ได้ไม่ควรเพราะลูกสาวคนโตฝ่ายเขามีครอบครัวแล้ว แต่ก็อะนะ เห็นพ่อเราก็ยังต้องอุปถัมภ์กันไปหลายเหมือนกัน

มาคิดย้อนดูได้ในตอนอายุห้าสิบสองนี้แล้ว จึงรู้ว่าแม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ เพียงปีเดียวก่อนจบประถมปลาย มันก็มีความหมายต่อชีวิตเราที่กำลังผ่านจากวัยเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นมากเหมือนกัน แล้วยิ่งเมื่อพวกเราสี่พี่น้องต้องย้ายเข้าไปเรียนต่อระดับมัธยมในตัวจังหวัดกันด้วยแล้ว(นี่ก็กระปุกอีกใบ) ช่วงปีแรก ๆ สมาชิกในครอบครัวเราก็ยิ่งต้องแยกย้ายกันไปปากกัดตีนถีบกันคนละทิศละทางเลยก็ว่าได้ (หากอยากรู้ว่ายอดมนุษย์อย่างพ่อเราแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร แควน ๆ ญาติมิตรชาวบล็อกเกอร์ก็คงต้องติดตามฟังเรื่องเล่าต่อ ข้างหน้าละกันเนอะ)





ย้อนกลับไปเมื่อสมัยเรียนชั้นเด็กเล็ก หรือ ชั้น ก. ไก่ นั้นอีกรอบ (ตัดต่อย้อนกลับไปมาเหมือนหนังสมัยใหม่เลยนะเนี่ยะ!) ในห้องเรียนจะไม่มีสมุดกระดาษขาว(เมื่อก่อนกระดาษเป็นสีเหลือง จะไม่ขาวอย่างกระดาษที่ฟอกแล้ว กระดาษคงหายากเพราะนอกจากอุตสาหกรรมกระดาษยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้แล้ว ยังเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านมาได้สิบกว่าปีเอง) หรือกระดาษสาแจกให้เด็กเล็กได้เขียนดอก แต่จะมี “กระดานชนวน” กองเรียงไว้แจกให้เด็ก ๆ ในชั้นนำไปใช้ฝึกหัดขีดเขียนอะไรไปตามประสา(ไม่เป็นเรื่อง)ที่ครูดูแลอยู่

สำหรับเด็กเล็ก ๆ แล้วกระดานชนวนนี้เมื่ออยู่ในมือของพวกเราแล้วก็มีโอกาสแตกหักง่ายมาก ด้วยทำตกหล่นบนพื้นห้องบ้าง โยนเล่นบ้าง เล่นตีกันรบกันบ้าง …ที่แตกกระจายไปเลยนั้นก็แล้วกันไป แต่ที่ยังแตกร้าวอยู่ในกรอบไม้อยู่ แล้วครูก็ยังเก็บไว้ให้เด็ก ๆ ได้ใช้อยู่นี่ซี เด็ก ๆ สุดจะทน ไม่อยากได้รับแจกมาใช้ขีดเขียนกันแล้ว เพราะว่าเขียนแล้วจะสะดุดเหมือนเขียนบนแผ่นกระดาษบนพื้นขรุขระโดยไม่มีวัสดุผิวเรียบมารองรับไว้นั้นแหละ

พูดแล้วก็พูดเถอะ(=เว้าแล้วก็เว้าเถาะ =อู้แล้วก่ออู้เต๊อะ)ตอนเป็นเด็กเล็กอยู่ชั้น ก. ไก่ น่ะเราเห็นพวกพี่ ๆ ชั้น ป. ๑ ป. ๒ เขาได้ใช้ดินสอดำ มียางลบ เขียน/วาดบนสมุดกระดาษที่ทางโรงเรียน(หลวง)แจกให้แล้ว เราอยากมีอยากได้อย่างนั้นบ้าง จำได้ลาง ๆ ว่า คุณครูบรรจง ครูประจำชั้นเด็กเล็ก มักจะพูดจูงใจพวกเด็กชั้น ก. ไก่ ว่า “ถ้าใครอยากได้สมุด ดินสอ ยางลบ และไม้บรรทัด(ยุคนั้นทำจากไม้) ใช้เขียนหนังสือแล้วละก็ ต้องเชื่อฟังครู แล้วก็ต้องเอาใจใส่หัดเขียน หัดอ่าน หัดจำ ก. เอ๋ย ก. ไก่, ข. ไข่ ในเล้า, ฃ. ขวด ของเรา …..ไปจนถึง อ. อ่างเนืองนอง, ฮ. นกฮูกตาโต ให้ได้” อะไรประมาณนี้แหละ

เรื่องของการเรียนด้วยกระดานชนวนนี้ ยังมีต่อนะ…อย่าเพิ่งรีบเล่าข้ามไปเลยเนอะ ที่เราคิดไว้แล้ว คงเล่าได้อีกสองสามตอนแหละ

เอารูปไปเรียกน้ำย่อยก่อนละกัน…….




ภาพจากหนังสือ: รวมเรื่องเยาว์... เล่าสู่กัน
เวปไซต์://www.siamweb.org/thailand/children/cover_ef.html





รู้ตัวนะว่า...เขียนยาวไป
แต่คนเขียนเล่ากำลังเว้านัว หัวแล่น อะนะ
คนอ่านก็คงฟังม่วน....ไปนำกันละเด้อ
แม่นบ่ ?!?




posted by a_somjai | January 17, 2006 @ 01.09 am | ครอบครัว, เรื่องส่วนตัว, การศึกษา, การศึกษาประชาบาล, กระดานชนวน |


Create Date : 17 มกราคม 2549
Last Update : 17 มกราคม 2549 4:36:45 น. 11 comments
Counter : 493 Pageviews.

 
ด้วยความอยากใช้ เพราะเกิดไม่ทันใช้ พอเห็นที่นี่มีขายคล้าย ๆ เลยซื้อมาให้ลูก....แต่ว่า มันลบชอล์คออกยากจังค่ะ....


โดย: แม่น้องธัย วันที่: 17 มกราคม 2549 เวลา:5:44:17 น.  

 
แวะมาฟังนักการศึกษาบ่นค่ะ หุหุ


โดย: jaa_aey วันที่: 17 มกราคม 2549 เวลา:8:17:28 น.  

 



มาเยี่ยม


โดย: Mr.Vop วันที่: 17 มกราคม 2549 เวลา:8:38:22 น.  

 





ได้ข่าวว่า เชียงใหม่หนาวแล้ว



โดย: อย่ามาทำหน้าเขียวใส่นะยะ วันที่: 17 มกราคม 2549 เวลา:9:40:05 น.  

 
แมเคยบอกว่าเคยเขียนสมุดข่อยและกระดานชนวนด้วยค่ะ


โดย: erina วันที่: 17 มกราคม 2549 เวลา:13:20:41 น.  

 
เคยเขียนกระดานชนวน...เก๋าดี เนอะ


โดย: samranjai วันที่: 17 มกราคม 2549 เวลา:15:58:53 น.  

 
หาความรู้ เรื่อง ระบบอุปถัมภ์ มาให้อ่านบ้างสิ
กำลัง จะต้องกล่าวพาดพึง ระบบนี้
อยากทำความเข้าใจ ให้ถูกต้อง จ๊ะ





โดย: samranjai วันที่: 18 มกราคม 2549 เวลา:10:10:32 น.  

 
"ระบบอุปถัมภ์"
อ่านเร็ว ๆ เข้าใจง่าย ๆ เบื้องต้น

//www.wiruch.com/articles%20for%20article/article%20thai.htm



โดย: a_somjai วันที่: 18 มกราคม 2549 เวลา:12:48:01 น.  

 
แวะมาอ่านค่ะ

ไม่ทันได้ใช้กระดานชนวน แต่ก็เห็นนะ...


โดย: Batgirl 2001 วันที่: 18 มกราคม 2549 เวลา:16:58:43 น.  

 



อยากกลับเชียงใหม่ แต่ตังค์หมดแย้วววว



โดย: อย่ามาทำหน้าเขียวใส่นะยะ วันที่: 18 มกราคม 2549 เวลา:17:03:33 น.  

 
ีดีใจจังค่ะ ได้ทันใช้กระดานชนวนกับดินสอหินเหมือนกันค่ะ


โดย: P.Ta วันที่: 20 มกราคม 2549 เวลา:10:19:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.