<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
เพื่อนเก่าในกระปุก: เริ่มเรียนรู้กันที่ชั้น ก. ไก่ (๗)

Posted by a_somjai | January 8, 2006 @ 10.49 am | ครอบครัว, เพื่อน, เรื่องส่วนตัว | สังคมชาวนา, การพัฒนาเศรษฐกิจ | ชีวิตในปีพ.ศ. 2500, ความทันสมัย |


“แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ต่อมาเรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” อันเรียกว่ากระปุกในเรื่องเล่าเกี่ยวกับเพื่อน ๆ ในวันวัยเก่า ๆ ของเรานั้น ก็คือ การสร้างคนขึ้นใหม่ให้อยู่ในสถานะโครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ และพร้อม ๆ ไปกับการทำลายคนกับสังคมในสถานะโครงสร้างทางสังคม(ชาวนา)แบบเก่าดั้งเดิมลงไป

เพื่อปูพื้นการทำความเข้าใจเรื่องสนุก ๆ ที่จะเล่าไว้ในวันนี้ (อย่าเพิ่งเบื่อเรื่องวิชาเกินเสียก่อน รับรองว่านิทานตอนสุดท้าย ม่วนหลายแท้เด้อ) จะพาไปดู profiles ของสภาพสังคมบ้านเราบนทัศนะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อนำสังคมไปสู่ความทันสมัยเสียก่อน เลือกเอาแบบเด็ก ๆ เข้าใจได้ก็แล้วกัน


“ในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ (ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๓) ปรากฏว่าประเทศ ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งด้านป่าไม้ แหล่งน้ำ แร่ธาตุ ฯลฯ หรืออยู่ในสภาพที่เรียกว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ปัญหาสังคมยังมีไม่มากนัก เพราะผู้คนยังมีความผูกพันเอื้ออาทรต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชน ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาความยากจน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่ถึง ๒,๐๐๐ บาทต่อปี เพราะเศรษฐกิจขยายตัวประมาณร้อยละ ๔ ต่อปี ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ ประมาณร้อยละ ๓.๗ ต่อปี เศรษฐกิจส่วนใหญ่คือ ประมาณร้อยละ ๘๕ ขึ้นกับภาคเกษตร รายได้หลักจากการส่งออกมาจากข้าว ไม้สัก ยางพารา และดีบุก ส่วนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมยังมีไม่มากนัก ทำให้มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพียงร้อยละ ๘.๕ ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น

“นอกจากนี้ บริการพื้นฐานต่างๆทั้งทางด้าน เศรษฐกิจและสังคมยังมีไม่เพียงพอ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มีถนนทั่วประเทศเพียง ๘,๐๐๐ กิโลเมตร มีโทรศัพท์ทั่วประเทศเพียง ๓๒,๐๖๗ เครื่อง ส่วนน้ำประปาและไฟฟ้าจะมีเฉพาะในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่เท่านั้น ในขณะที่โรงพยาบาลประจำอำเภอมีเพียง ๘ แห่ง สถานีอนามัยยังมีไม่เพียงพอและด้อยคุณภาพ มีแพทย์ทั่วประเทศเพียง ๓,๑๗๒ คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ในชนบทมีแพทย์เฉลี่ย ๑ คน ต่อประชากรประมาณ ๗๒,๐๐๐ คน ส่วนโรงเรียนและสถานศึกษาก็มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวทำให้ความเจริญยังคงรวมอยู่ในส่วนกลาง ไม่กระจายออกไปในต่างจังหวัด คนไทยในขณะนั้นจึงมีปัญหาด้านความยากจน ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ โอกาสที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียนมีน้อย และมีปัญหาด้านสุขภาพอนามัยคือ ยังมีการเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคระบาดต่างๆ เช่น อหิวาตกโรค ท้องร่วง ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก รวมทั้งการขาดสารอาหาร ฯลฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กำหนดนโยบายเพื่อเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายบริการพื้นฐาน ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของคำขวัญต่างๆมากมาย เช่น คำขวัญที่ว่า น้ำไหล-ไฟสว่าง-ทางดี-มีงานทำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจในยุคก่อนมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๑ เป็นอย่างดี”


(สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม ๒๔, แผนพัฒนาประเทศ)


ตอนเราอายุ 6-7 ขวบนั้น (พ.ศ. 2503-2504) เราได้ไปโรงเรียนบ้างแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ไปกับพวกพี่ ๆ เขาดอก (เรื่องในบล็อกของสำราญใจ ตอน “ย้อนยุค สู่ ประถมวัย”) ด้วยความที่เรายังเล็กมากและเป็นลูกชายหล้า (คนสุดท้อง แม้ว่าจะมีน้องหล้าเป็นผู้หญิงอีกคนก็ตาม) พ่อจึงให้ซ้อนท้ายจักรยานคันเอ้(งาม)ของข้าราชการบ้านนอกสมัยนั้น (ยี่ห้อนำเข้าจากประเทศอังกฤษ เยอรมันนี ยอดฮิตได้แก่ ยี่ห้อ “ฮัมเบอร์” “ราเล่ห์” “รัดจ์ – ตรามือ” และ "แพร๊อต - ตรานกแก้ว" วันหลังจะค้นเรื่องสินค้านำสมัยยุคนั้น พร้อมลงรูปมาลงให้ดูด้วย ...โปรดติดตาม)

เอาเป็นว่าลูกชายคนโปรดได้ขี่รถสองล้อกับพ่อ เมื่อพ่อไปทำงานที่ว่าการอำเภอซึ่งอยู่คนละฟากถนนกับโรงเรียน ขณะที่พวกพี่ ๆ ต้องเดินไปโรงเรียนประถมประจำอำเภอไกลตั้งสองกิโลเมตร แรก ๆ การไปโรงเรียนของเด็กเล็กนั้นก็ได้ไปบ้าง ไม่ได้ไปบ้าง ไป ๆ ขาด ๆ ตามแต่ความพร้อมของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง เราจำได้ว่าได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลก่อน แต่ก่อนเรียกว่า “ชั้นเด็กเล็ก” หรือ “ชั้น ก. ไก่” เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็ก หากว่าเด็กคนใดพัฒนาวุฒิภาวะ และปรับตัวได้ดีกับสังคมชั้นเรียน คุณครูก็จะนำไปลองเรียนกับนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ใครอยู่ได้ก็เรียน ป. ๑ เลย ถ้ายังปรับตัวไม่ได้ ก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างห้องเด็กเล็กกับชั้น ป. ๑ ทดลองอยู่เช่นนี้จนกว่าจะถึงเกณฑ์เจ็ดขวบเต็ม ๆ จึงขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนชั้น ป. ๑

อีกอย่างที่จำได้สมัยนั้น เด็กคนใดเรียนเก่ง ทำคะแนนดี มีแวว ก็สามารถ pass ชั้นขึ้นไปเรียนระดับสูงกว่าได้เลย ดังนั้นเด็กยุคเราเมื่อเข้าเรียนระดับสูงแล้ว จึงมีเพื่อนเรียนรุ่นเดียวกันอ่อนกว่าเราตั้งสองปีก็มี หรือรุ่นพี่ห่างชั้นกันสองปีบางคนกลับมีอายุเท่ากับเราก็มี ผลภายหลังก็คือคนที่ไม่มีปัญหาก็แล้วไป แต่บางคนที่มีปัญหาก็มีมากเพราะการพัฒนาด้านอารมณ์ตอนเป็นวัยรุ่นกับของเด็กก่อนวัยรุ่นของคนเรานั้น มีผลต่อการปรับตัวอยู่ในสังคมกลุ่มเพื่อนเป็นอย่างมาก เช่น ในกลุ่มเพื่อนผู้ชาย เพื่อนบางคนริจีบสาว เขียนจดหมายรัก ดื่มเหล้า สูบหรี่ ตี..หม้อ (ขอประทานโทษ หมายถึงเที่ยวผู้หญิงบริการทางเพศ) แต่พวกที่พาสชั้นเรียนข้ามขั้นหลายปีเพิ่งจะหัดนุ่งกางเกงในเมื่อวานนี้เอง อย่างนี้เป็นต้น

คุณครูประจำชั้นคนแรกของเราชื่อ “คุณครูบรรจง” หรือพวกพี่ ๆ ที่บ้านเราเรียกอย่างคนคุ้นเคยกันว่า “พี่จง” เพราะว่าท่านเป็นลูกของข้าราชการตำรวจ ที่คุณลุง(พ่อของท่าน)สนิทชิดเชื้อกับทางครอบครัวเราเหมือนเครือญาติกัน นอกจากด้วยเหตุเพราะงานราชการของพ่อทั้งสองครอบครัวแล้ว คุณป้าคุณนายตำรวจกับคุณแม่คุณนายสมุห์บัญชีอำเภอ(คือแม่เรา)นั้นมีลูกเต้าและหลาน ๆ ในภาระเลี้ยงดูอยู่จำนวนมากพอ ๆ กัน เด็กทั้งสองครอบครัวจึงคบหาไปมาหาสู่กัน นอกจากเรื่องเรียนเรื่องเล่น การไปทำธุระงานของครอบครัวในละแวกบ้านชุมชนและการใช้เวลาว่างร่วมกันแล้ว การกินข้าวปลาอาหารและไปนอนเป็นเพื่อนกันข้ามครอบครัวบ้านลุงป้าอาอาว์ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้สืบมาจนถึงรุ่นหลานทุกวันนี้ พี่น้องเราที่มีครอบครัวอยู่ทางขอนแก่น-ชุมแพ ก็ยังคงความสัมพันธ์คบหาเป็นเหมือนญาติกันอยู่

ส่วนเราเองแม้จะแยกชีวิตครอบครัวการงานมาอยู่ทางเมืองเหนือแล้ว ในช่วงปี พ.ศ. 2528 (ตอนนั้นเราเพิ่งแต่งงานใหม่ แต่คุณนายเธอยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ด้วย ยังคงอยู่ทำงานที่กรุงเทพฯ) คุณครูอุทัยสามีของพี่จงก็ยังได้นำ เจ้า“ต๊ะ” ลูกชายคนโตของท่านทั้งสองมาฝากอาศัยอยู่กับเราที่เชียงใหม่พักหนึ่ง ระหว่างที่ต๊ะเข้าเรียนวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ (คนเชียงใหม่เรียก เทคนิคตีนดอย เดี๋ยวนี้ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ) เขาจบไปมีงานการทำและมีครอบครัว ป่านนี้อายุคงขึ้นหลักสี่ไปหลายแล้ว แต่ก็อย่างว่าไว้ คนชั้นกลางที่เป็นผลิตผลของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ก็จะย้ายแยกแตกกระจายกันไปต่างคนต่างอยู่ทั่วโลก ตามเงื่อนไขของกระปุกที่กำหนดโลกของพวกเราอยู่นั้นแหละ เนอะ

ที่เปิดเรื่องส่วนตัวของพระเอก ‘เอ_สมใจ’ มานี้ ก็เพื่อจะบอกเล่าว่าในสังคมชุมชนของศูนย์กลางการพัฒนาระดับอำเภอ ในสมัยยุคนั้นมี “กลุ่มคน ในสังคมชุมชน หมู่ครอบครัวข้าราชการอำเภอ” อยู่กับเขาพวกหนึ่งล่ะ

ต้องเขาใจเสียก่อนว่า ที่เรียกว่าชุมชนศูนย์กลางการพัฒนานั้น เป็นเรื่องการสร้างเศรษฐกิจภาคเมือง รุกเข้าไปในพื้นที่ของสังคมชาวนาแบบดั้งเดิม รัฐจึงต้องสร้าง(หรืออำนวยการให้มีการเกิดขึ้นซึ่ง)สิ่งใหม่เข้าไปในชุมชนที่ต้องพัฒนาตามแผนการ/นโยบายชาติ ได้แก่ เป็นที่ตั้งศูนย์บริหารงานราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร, เป็นที่ตั้งบริการสาธารณะด้านการศึกษา, อนามัย, ถ้าเศรษฐกิจท้องถิ่นดีหน่อยก็มีธนาคารตั้งอยู่ เช่นทางลำปาง เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ฯ, เป็นที่ตั้งตลาดศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าบริการ, และเป็นศูนย์กลาง(หรือทางผ่าน)การคมนาคมขนส่ง ท่ารถ ท่าเรือ โกดังขนถ่ายและเก็บสินค้า เป็นต้น

ดังนั้น ตอนต่อไป เราจะออกมาเล่าถึง สถานะและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมพื้นฐานของเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนยุคเริ่มต้นพัฒนาการทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไป โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มคนครอบครัวข้าราชการ (พวกอำเภอ กับ พวกโรงพัก) กลุ่มคนครอบครัวค้าขายชาวจีน-ชาวญวน กลุ่มคนครอบครัวชาวนาฐานะดีและพวกลูกชาวนาสังคมแบบเดิม และอื่น ๆ ได้แก่คนในกลุ่มครอบครัวอาชีพที่แตกต่างกัน รวมทั้งพวกที่คนในครอบครัวเข้าไปใช้แรงงานในกรุงเทพฯ หรือพวกไปรับจ้างทำงานในไร่ที่ปลูกพืชเพื่อการอุตสาหกรรมตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง เป็นต้น เอาเท่าที่พอจะนึกคิดออกมาเล่าได้ก็แล้วกัน


ไม่รู้สินะ ที่คิดได้ตอนนี้ จะตั้งชื่อเรื่องข้างหน้า ให้เห็นภาพกันว่า “จากกระดานชนวน ถึง สมุดกระดาษขาว” คนรุ่นเราที่ทันใช้กระดานชนวนเขียนอ่านหนังสืออยู่ คงจะพอนึกเรื่องราวออกบ้างแล้วกระมัง.



Create Date : 08 มกราคม 2549
Last Update : 8 มกราคม 2549 16:39:14 น. 12 comments
Counter : 767 Pageviews.

 
มาทักทายคุณสมใจ ที่โน้นอากาศคงจาเย็นนะนี่


โดย: อินทรีทองคำ วันที่: 8 มกราคม 2549 เวลา:15:22:58 น.  

 
อ่านแล้ว เคยไปสอบตีนดอยเมื่อปี1993ไม่ติด แต่จนแล้วจนรอดก็พยายามสอบเข้าราชมงคลจนได้ อยากให้ลูกถึงวัยเข้าเรียนชั้น ก.ไก่ เร็ว ๆ
กระดานชนวนไม่ทันใช้อ่ะคะ


โดย: แม่น้องธัย วันที่: 9 มกราคม 2549 เวลา:7:54:26 น.  

 
สวัสดี ตอนเช้าจ๊ะ...พรุ่งนี้ จะกลับกทม.แล้วนะ

เขียนยาว กลัวคนอ่านเบื่อ..เลยขยักไว้ก่อน จะค่อย ๆทะยอยโพสต์ ทีละขยักสั้นหน่อย เนอะ

มาอ่าน ได้ความรู้ดี...พี่ไม่ค่อยได้คิดย่อยแผน ฯของชาติ คิดแต่เรื่องอื่น อิ อิ

แล้วมาเล่าอีกนะ..อย่ายาวหละ ลายตา..ทีละสั้น ๆสนุกดี


โดย: samranjai วันที่: 9 มกราคม 2549 เวลา:10:35:37 น.  

 
มาโหวตให้ค่ะ สาขาการเมือง,สังคม
เดี๋ยวกลับมาอ่านต่อนะคะ


โดย: เฉลียงหน้าบ้าน วันที่: 9 มกราคม 2549 เวลา:12:58:48 น.  

 
อ่ะ .....นานๆ จะเรียกใครว่าพี่ได้สักคน

((ทำไมค้างคาวเกิดมานานจัง))

กระดานชนวนน่ะรู้จัก แต่ไม่ทันได้ใช้

เข้าโรงเรียนไปก็ใช้กระดาษขาว...ดินสอดำ mitsubishi

จำได้เพราะตอนนั้นมีโฆษณาด้วย

ไว้ค้างคาวจะมารออ่านตอนต่อไปนะคะ



โดย: Batgirl 2001 วันที่: 9 มกราคม 2549 เวลา:13:45:34 น.  

 
มาอ่านบ๊อกแสนเจริญงอกงามด้วยความรู้สาระ
บ๊อกเราพี่ปุ๋ยไม่เคยมาเยี่ยมเลย ไม่งอกไม่เงย





โดย: woodchippath วันที่: 9 มกราคม 2549 เวลา:14:01:32 น.  

 
ขอโทษทีค่า หายไปนาน เลย แหะๆๆ ...สบายดีนะคะ ..ขอบคุณที่แวะไปค่า



โดย: แมวน้อยของเสี้ยวเทียน วันที่: 9 มกราคม 2549 เวลา:14:40:19 น.  

 
>>: ประกาศ

วันอังคารที่ 17 นี้
จะกลับจากล่องหน แล้วเจ้า


A_Somjai <<:


โดย: a_somjai วันที่: 16 มกราคม 2549 เวลา:2:21:58 น.  

 







โดย: อย่ามาทำหน้าเขียวใส่นะยะ วันที่: 16 มกราคม 2549 เวลา:10:52:06 น.  

 
ตะกี้แวะไปทักทายที่ห้องเช้าวันจันทร์ค่ะเลยแวะตามมาอ่านประกาศอีกรอบค่ะ


โดย: แม่น้องธัย IP: 68.47.106.39 วันที่: 16 มกราคม 2549 เวลา:13:09:12 น.  

 


โดย: โสมรัศมี วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:2:13:07 น.  

 

ดีนะครับ I LOVE I


โดย: สมพล IP: 203.113.80.139 วันที่: 7 กันยายน 2549 เวลา:18:58:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.