<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

มีตะกร้ามาแจก



Asomjai's blog/ a note to folk/ คุยกับตะกร้า: 000 มีตะกร้ามาแจก



เรื่องที่เกี่ยวข้องเขียนเล่าแล้ว(updated on 120831)  Asomjai's blog/ คุยกับตะกร้า:การเดินทางของชีวิต 101


เมื่อราว ๆ กลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

ในงานทำบุญเลี้ยงพระวันสุดท้ายของงานศพบิดาของเพื่อนรักที่ครอบครัวเรานับถือท่านเสมอดั่งเป็นพ่อเป็นปู่ของพวกเราเองด้วย โดยวันนั้นมีกำหนดการให้ต้นทางการส่งศพจะเริ่มตั้งหัวขบวนเดินทางจากวัดพระสิงห์ไปยังฌาปนสถานประตูหายยา

เที่ยงวันนั้นเองก่อนการตั้งขบวน ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เมืองเชียงใหม่ ผมได้มีโอกาสพบสนทนาอีกครั้งหนึ่งกับอาจารย์ผู้เคยถ่ายทอดความรู้รวมทั้งวิธีคิดด้านปรัชญาและศาสนาสากลอย่างเป็นวิชาการ(ผ่านการเข้าชั้นเรียนและการอ่านเอกสารผลงานวิชาการของท่าน)ให้กับตัวผม ประมาณว่าผมได้ผ่านชั่วโมงเรียนด้านเนื้อหาความคิดทางปัญญาของมนุษย์มาจากท่านมามากกว่าการเรียนกับอาจารย์ท่านอื่น ๆ ที่เคยสั่งสอนผมในระบบห้องเรียนมาเลยก็ว่าได้

ได้พบหน้ากันนอกขอบเขตชั้นเรียนในระบบคราวนี้ ครูบาเฒ่ายกตะกร้าใบใหญ่มอบไว้ให้เป็นการบ้านแก่ลูกศิษย์วัยแก่คนนี้ซะแล้ว ...ตะกร้าครับเป็นตะกร้า...เอหรือว่าเป็น กระจาด กระบุง กระเช้า ...เอาน่าเป็นตะกร้า....แน่นอนเป็นตะกร้าใหญ่ใบเก่า ๆ ถึงสามใบ....ครูผมบอกว่าในตะกร้าเหล่านั้นมีสิ่งของมีค่ามีราคามีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ใส่ไว้เพียบ

ท่านสั่งผมว่าช่วยเอาของในตะกร้าไปแจกจ่ายสู่กันกิน ใช้ สักหน่อยซี... คุณจะเอาไปทำยังไงก็ได้ผมอนุญาต

ครับผมรับปากท่าน ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรได้กับสิ่งของที่เชื่อว่าคงต้องมีอยู่มากมายหนักหลายในตะกร้าที่ครูมอบไว้ให้อย่างแน่นอน

หลายวันต่อมาเมื่อกลับมาคิดจะทำการบ้านที่รับมานี้ ผมก็เกิดความกลัวขึ้นมาเป็นข้อขัดข้องเสียนี่...จริง ๆ ก็คือเกรงว่าตนเองจะทำตะกร้าที่ครูมอบให้มาเหล่านั้นเสียของนั้นเอง จะด้วยเหตุรู้เท่าไม่ถึงคุณค่าแท้จริงหรืออย่างไรก็เถอะ... พูดตรง ๆ คือกลัวคนเขาจะว่าเราได้ว่าอวดโง่อะไรประมาณนั้นแหละครับ




เมื่อวานนี้เองจู่ ๆ ก็มีคำตอบผุดขึ้นมาในหัว...มันช่วยสร้างความมั่นใจให้ผมในการคิดทำการบ้านนี้ได้บ้าง...

โลกก่อนหน้านี้ โลกกำลังนี้และโลกที่จะตามมาอีกข้างหน้า....ไม่ได้มีอยู่เป็นอยู่ได้ด้วยเพียงอาศัยตะกร้าใบใดใบหนึ่ง ตะกร้าสองใบ ตะกร้าสามใบ.....หรือว่าตะกร้าที่ไหน ๆ เพียงเท่าที่คนบางคนบางกลุ่มรู้จักดอกหนา อย่าได้วิตกกังวลให้มากเรื่องไปเลย นั่นแน่คิดได้ไงเนียะ

มีตะกร้าและของนอกตะกร้าอยู่อีกมากมายบนโลกนี้ ว้าวว้าว

...อีกยังอาจหยิบหาตะกร้าและของในตะกร้ามากินมาใช้ได้ง่าย ๆ บนโลกอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่รึ?…ของฟรีนี่ดีจัง กะตังค์เราก็ยังเหลืออีกตะหาก ผมต่อความคิด...คิด คิด และคิด

คิดไปก็คิดมาดังนี้แล้ว ตกลงใจว่าส่วนตัวผมเองก็คงทำได้เพียงแค่ คุยกับตะกร้า ในแบบของผมเองก็เสร็จเรื่อง



..ก็ลงมือทำการบ้านส่งครูเสียเลยเป็นไร....เอาไงดี?”

เอาเป็นว่าเรื่องของเรื่องอาจจะได้เรื่องบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้างเพราะการคุยกับตะกร้าในแบบของผมนั้นคิดเอาไว้อย่างมั่นใจว่า...ผมจะหยิบของจากตะกร้าใหญ่ทั้งสามใบที่อาจารย์ผมมอบหมายไว้ให้นั้นเอาออกมาใช้อย่างประหยัดมัธยัสถ์ที่สุด...


ไม่ใช่ว่ากลัวของในตะกร้าที่ท่านให้มาจะพร่องหมดไปดอกครับ..


เพราะจริง ๆ แล้วเป็นใครก็รู้ว่าของใน*ตะกร้า*เหล่านั้น มันไม่มีวันเสื่อมสลายสูญสิ้นหมดเปลืองไปได้อย่างแน่นอน


อ้าวเมื่อตั้งธงไว้ว่าจะพยายามเลี่ยงการใช้ของในตะกร้าใหญ่นำออกมาใช้มาคุยกันแล้ว แล้ว....พ่อจะไปขุดเอาของที่ไหนออกมาใช้งานการคุยกันละหนอนั้น ผมแปะคำถามกับตัวเอง



กระทั่งมาถึงวันนี้ ผมจึงนึกขึ้นได้ถึงบางคำพูดในบทสนทนาของผมกับอาจารย์ท่านนี้เมื่อวันนั้น

คน...คนไทย คนในโลกเดี๋ยวนี้ส่วนมากไม่ชอบกินชอบฟังของจริง....มันชอบดูชอบฟัง...เอาแต่เรื่องนิยายกัน อาจารย์ของผมว่า

ก็เขาคงคิดกันว่า.....จะเอานิยายอะไรกันหนักหนากับชีวิต ละกระมังครับอาจารย์ ผมต่อบทสนทนา

อาจารย์หัวเราะเสียงดัง..... ในตะกร้านั้นนะ...ของจริง ๆ ทั้งนั้น ท่านย้ำอย่างกับรู้ดีว่าของดีของงามของจริงในตะกร้าของท่านนั้นล้วนต่างกับสิ่งอื่น ๆ ที่ท่านเหน็บว่าเป็นนิยาย

(อ้อ....ตะกร้าใหญ่ ใหญ่ และใหญ่ ทั้งสามใบนั้นผมยก**ลิงค์**มาทิ้งเป็นทางไว้ท้ายงานเขียนคุยกันในหน้าบล็อกวันนี้แล้ว ครับ...และจะแนบมันไว้อย่างนี้ตลอดไปในงานเขียนชุด คุยกับตะกร้านี้ขอกราบเรียนเชิญท่านสาธุชนทั้งหลายเข้ามาหยิบข้าวของในตะกร้าไปใช้ได้ตามสะดวกครับผม)


ครับ ฉะนี้แล้ว มาครับ มาคุยกับตะกร้าในแบบของผมกัน

เชิญครับเชิญเข้ามา...ณ ที่นี่ Bloggang.com ในขอบเขตพื้นที่ A_somjai’s Blog นี้


บางครั้งบางที อาจจะมีการร้องเล่นดนตรีขับกล่อมกันสด ๆ ด้วยนะเอา.



ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ a note to folk ครับ

A_Somjai

เวลา 17 นาฬิกา 37 นาที

วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



นะโมตัสสะ ภะคะวะโต
อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

I pay homage to the Blessed One,
the Worthy One, the Fully Enlightened One.

Buddha Vandana ไหว้พระพุทธเจ้า in Cm


*ตะกร้า* สำคัญที่เกี่ยวข้อง:ไตรปิฎก (ปิฎก 3, กระจาด ตะกร้า กระบุง หรือตำรา 3, ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด หรือ 3 ชุด —the Three Baskets; the Pali Canon)

**ลิงค์** แจก พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน เรียบเรียงโดย ดร. บุณย์ นิลเกษ

____________________________________________________________







 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 31 สิงหาคม 2555 13:27:30 น.
Counter : 1355 Pageviews.  

เนื่องกับ ดูหนัง ฟังกระดูก Lord Jim (1965) ว่าด้วย วัฒนธรรมงานศพ

หมายเหตุชาวบ้าน - a Note to Folk

ในบล็อกนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องจาก ***** ดูหนัง ฟังกระดูก 01/01 : Lord Jim (1965)


[update: 20-11-2553/2010-----
อ้ายเดชส่งภาพนี้ มาทางอีเมลเพราะโพสต์ลงคอมเมนต์ไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิกเว็บไซต์พันทิบ อ้ายก็คงดักเอามาจากภาพยนตร์ Lord Jim (1965),




ผมจึงขอบันทึกความรู้เพิ่มเติมจากความเข้าใจของผมเอง ดังนี้

1. หุ่นนก ทำเหมือนว่าวนก ในพิธีศพ รวมทั้งที่เด็กชายคนสำคัญในเรื่องชอบนำไปไหนมาไหนด้วยนั้น ผมเดาว่าเป็นนกการเวก (นกที่มีกำลังมาก บินเหนือเมฆ ไปสู่สวรรค์ได้?)






นกการเวกนั้นเนื่องกับพระธาตุกับจักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนา-อิงกับลัทธิพราหมณ์ อย่างไรก็เป็นเรื่องเดียวกันกับนกหัสดีลิงค์ (นกที่มีเพศอย่างช้าง บินไปสวรรค์ได้?) **บ้างว่า--- ในล้านนา ใช้นกการเวก ทำเป็นปราสาทเศพสำหรับพระมหาเถร --- ดู
นกการเวก **

นี่คือ ปราสาทพิมานบนหลังนกการเวก ที่พบทางล้านนา




ลองเรียบเทียบภาพที่นักท่องเที่ยวถ่ายมาจากเมืองพม่านี้ (ล้านนาเชียงใหม่เคยขึ้นกับอาณาจักรพม่าโบราณนานร่วม 200 ปี พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกันมากทั้งทางธรรมและวิถีชีวิต)






และ มีผู้เชี่ยวชาญเรื่อง โจเซพ คอนราด บอกว่า "The Oxford Reader's Companion to Conrad claims that Patusan was a genuine pirate settlement in Sarawak. Some critics, however, think that the fictional Patusan is to be found not in Borneo but in Sumatra" และไม่ว่าอย่างไรในยุคนั้นและยุคนี้ ชาวพื้นเมืองของอินโดนีเช๊ยต่างนับถือศาสนาอิสลามกันเกือบทั้งหมดก็ว่าได้

ดังนั้น เราจึงสามารถโยงเรื่องราวต่อไป (ให้ม่วนสมอง) ด้วยการต่อภาพขบวนแห่ศพ ที่อินโดนีเชีย (ดูเรื่อง การเผาศพ - Cremation ที่ en.wikipedia.org)


File: Ubud Cremation Procession 4.jpg appeared at 08:54, 31 August 2005. From Wikipedia, the free encyclopedia



และยังอาจต่อสมองไปได้อีกแง่มุมหนึ่ง จากเรื่อง “การแห่นกบุหรงซีงอ“ บนเว็ปไซต์ Hora mahawed ผู้รู้ท่านบันทึกไว้ว่า


"สันนิษฐานว่า ประเพณีแห่นกของ ชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงรับมาจากประเทศอินโดเซีย ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่หลายเข้ามายังภูมิภาคนี้ เมื่อราว พ.ศ. 2060 โดยอาศัยหลักฐานจากพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การตั้งพิธีสวดมนต์ตามวิธีการทางไสยศาสตร์ และคาถาแห่นก ซึ่งอ่านเป็นโองการก่อนปล่อยนกออกแห่ แต่ อนันต์ วัฒนานิกร นักวิชาการท้องถิ่น ได้เสนอความเห็นว่า ประเพณีแห่นกน่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ภูมิภาคนี้ได้รับศาสนาอิสลามเข้ามาเป็นศาสนาประจำท้องถิ่นแล้ว โดยเสนอว่า ประเพณีแห่นกน่าจะมีที่มาจากเรื่องราวของนกอัลโบรัก ซึ่งเป็นทูตแห่งสวรรค์ ตามความเชื่อของศาสนาอิสลามและจากพิธีเจ้าเซ็น ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ก็ปรากฏรูปนกอัลโบรักขนาดใหญ่ เข้าร่วมในขบวนนี้ด้วย จึงน่าจะเป็นที่มาของประเพณีแห่นกนี้ .....

"นกบุหรงซีงอ หรือ นกสิงห์ ตรงกับนกหัสดีลิงค์ ตามนิทานปรำปราของไทย นกนี้มีหัวเป็นนก มีตัวเป็นราชสีห์ มีฤทธิ์ เหาะเหินเดินอากาศและดำน้ำได้ ปากมีเขี้ยวงา"

ดูรูปนี้แล้ว ขอให้พิจารณาประกอบกันกับข้อถัดไป ก็แล้วกันนะครับ







2. เรื่องหุ่นหมาดำ นำหน้าขบวนแห่ศพนั้นมีในหนัง Lord Jim (1965 film) จริง ๆ ถ้าไม่ใช่อิงความเชื่ออียิบและหรือฝรั่งโบราณอย่างที่ผมเดาไว้ก่อนนี้ แต่อิงความเชื่อชาวตะวันออกเราก็คงเป็นสัตว์ประจำปีเกิดของผู้ตาย ---


แต่เมื่อดัก Capture ภาพจากภาพยนตร์ มาดูถี่ ๆ แล้ว ปรากฎว่าเป็น วัวดำเขาทอง มีมาทั้งหัวขบวน ท้ายขบวน .... เรี่องนี้ต้องว่ากันอีกยาว... ขอต๊ะไว้ก่อน --- ก็ดูรูปภาพจากหนังลอร์ดจิมไปก่อนละกัน








ยิ่งเมื่อไปค้นหางานภาคสนามของพวกช่างภาพมืออาชีพที่ Link: //www.flickr.com/ ก็ยิ่งเข้าลึกเข้าดึกกันไปใหญ่

เอ้างั้นก็....เรียกน้ำย่อยซะหน่อย....
(กำลังค้นหาอยู่ว่า...ใคร? อะไร? ที่ไหน? ทำไม? อย่างไร?)


Bali, Ubud, Cremation Parade Bull 1983
This photo was taken on September 20, 1983 in Ubud, Bali, ID.
By CanadaGood



Peliatan cremation
This photo was taken on July 29, 2010 in Pliatan, Bali, ID.
By detengase


Gaben balinese funeral 2007-06-10
This photo was taken on June 10, 2007 in Gianyar, Bali, ID.
By kibitan





ส่วนปราสาทศพ-- นั้นดูใหม่แล้ว ผมก็ว่ามันก็คือส่วนหน้าของช้าง ผิดกันแต่ เขี้ยว(งา)ช้างกับงวงช้างนั้น มันต่างกับช้างทางล้านนา แต่หากผู้สร้างหนังเขาลอกเลียนจำลองจากศิลปปูนปั้นตามศาสนสถานของเราก็บอกว่าใช่เลยก็ได้ (ดูคล้ายไปทางราชสีห์หรือมังกรมีงวงมากกว่า ...เออให้พิจาณาประกอบเรื่องนกบุหรงซีงอ ของชาวมุสลิมด้วยนะครับ -- ผมเคยนึกคิดเอาจากหลักฐานด้านตำนานพื้นบ้านทางเหนือและอีสานว่า ช้างกับนาคมันก็อันเดียวกัน และนาคกับมังกรของจีน-เวียดนามมันก็คงจะเกี่ยวข้องกันบ้างแหละ) ...












หนัง Lord Jim (1965 film) เขาถ่ายทำในเขมร อันนี้ผมก็ไม่มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมศพชนชั้นสูงในเขมร.. ก็ขอทิ้งไว้อย่างนี้ก่อน ดูรูปที่พอหามาได้ก่อนละกัน





Funeral Procession, Battambang, Cambodia
This photo was taken on January 9, 2008 By Nice Logo






Funeral Procession
20 kilometers from Vietnam's border with Cambodia.
This photo was taken on April 7, 2010. By Ralph Grizzle





คราวนี้ดูภาพที่ผมหามาลงประกอบนี้ เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบข้ามภูมิวัฒนธรรมในเขตกลุ่มประเทศเรานี้ (ภาพเก่า ๆ ของผมไม่รู้อยู่ไหนบ้างแล้ว ...บ่น)





ขบวนแห่ส่งศพไปเผาไฟ ณ สุสาน (ชาวบ้าน)เชียงใหม่, ประเทศไทย
Burial at Chiang Maï, Buddhist funerals.
This photo was taken on January 30, 2008 By Eric Lon





Bali funeral (ชาวบ้าน บาหลี, อินโดนีเชีย)
This photo was taken on July 5, 2006 By Mangiwau






หากใครสนใจเรื่องงานศพล้านนา(คนชั้นสูง ได้แก่ เจ้านายและพระสงฆ์ และการนำไม้ปราสาทศพมาประยุกต์ใช้กับการตายของสามัญชน นั้นขออ้างถึง หนังสืองานวิจัยเรื่อง งานศพล้านนา : ปราสาทนกหัสดิลิงค์สู่ไม้ศพ, อภิธาน สมใจ, เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541, ลองไปค้นหาดูในห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดูละกัน) ถ้าบนเว็ปไซต์ก็ขอแนะนำให้เข้าไปอ่านเรื่องและดูภาพรายงานร่วมสมัยที่ "เสี้ยวเวลา บนหลังนกหัสดีลิงค์" ตามลิงค์ที่จะให้ไว้ข้างล่างนี้ครับ



Link: Hop Around Thailand (ขอยืมภาพมาเพื่อการศึกษา เจ้าของเรื่องคงไม่ว่ากันนะครับ)


และภาพนี้ นักท่องเที่ยวเขาถ่ายภาพไว้ เมื่อต้นปีนี้เอง

a funeral of a famous Monk (in CHIANG MAI)
This photo was taken on January 15, 2010 BY Hloewel

แหล่งข้อมูลอ้างอิงเรื่องเดียวกันนี้ ให้ตามไปดูเรื่อง การเผาศพ - Cremation / Chan Kusalo cremation ภาพ ---
Description: Chan Kusalo cremation 04.jpg
English: The funeral pyre for Chan Kusalo (the Buddhist "archbishop" of Northern Thailand) two days before the cremation ceremony at Wat Chedi Luang in Chiang Mai. The pyre is in the shape of a nok hatsidiling (a creature which is part elephant, part serpent and part bird from the mythical Himaphan forest). The gold leaf covered coffin is already placed inside the Burmese inspired mondop-like structure resting on top of the body of the creature.

Chan Kusalo, November 26, 1917 - July 11, 2008
Date: 16 January 2010







----------------updated: 22-11-2553/2010 เวลา 04:4 AM. --------]


ยังมีต่ออีกหลาย โปรดติดตามต่อไป

++++++++++++++++++++++




 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2553 5:30:36 น.
Counter : 3799 Pageviews.  

หมายเหตุ เสียงเอิ้นขานจากบ้านเก่า

บล็อกต้นทาง เพลง: เสียงเอิ้นขานจากบ้านเก่า


  • a Note to Folk - หมายเหตุชาวบ้าน:


  • A_somjai เคยทำเทปคาสเสต บันทึกเสียงในรูป อัลบั๊มเพลง 2 ชุด ได้แก่ดาวล้านนา เมื่อเดือนตุลาคม 2542 และ ดอกจานบนลานทองกวาว เดือน กรกฎาคม 2543 ส่วนภาพวาด แซบสะวิงบลูส์ เป็นฝีมือของ ลูกสาวคนเล็ก ออกแบบและวาดให้พ่อเป็นของขซัญปีใหม่ 2553

    ภาพ: a_somjai ที่ .flickr.com

  • เพลงวันนี้ ตัดจากเนื้อเพลงเดิมชื่อ "คูนแคนบลูส์" เป็นหนึ่งเพลงในชุดดอกจานบนลานกว๋าว ที่ขึ้นต้นว่า "ไกลสุดดินแดนแผ่นฟ้า เหลียวหลังแลหน้า ลูกกล้วยน้ำหว้า นะเออ ...." นับเป็นเพลงสาบกลิ่นบลูส์สำเนียงลำแคน ที่เราแต่งได้เป็นเพลงแรก ว่างั้นเต๊อะ

    ท่อนที่นำมาใส่ในเสียงเอิ้นขานจากบ้านกเก่านี้ เดิมร้องว่า "ฟังก่อน ฟังลำกลอนนี้ เป็นน้องเป็นพี่สืบสังกะสี สังกะสา" (หมายถึงปู่สังไสสา กับ ย่าสังไสสี เป็นมนุษย์คู่ชายหญิงผู้ต้นกำเนิดโลก จึงถือเป็นบรรพชนคนคู่แรกของคนลาวคนไทย ตามความเชื่อพื้นบ้านลาว และชาวล้านนา) ดังที่ร้องไว้นี้นำออกมาแปลงใหม่ เป็นชุดเพลง mp3 แจกกันฟังลงบล็อกนี้ (อิ อิ) จัดให้เป็นกลุ่มเพลงครอบครัว (family song) แบบบ้าน ๆ ชาวเผ่า แคน ลำ บลูส์ ลำดับที่ ๑ - Khaen Lum Blues # 01 (จะเขียนอังกฤษเป็น "khene", "khaen", "kaen" and "khen"; ต่างก็คือ "แคน" ้เต้าเดียวกันเด้อ ส่วนลำ ก็คือ การขับ ลำ ประกอบเสียงแคน), (ก็คือบอกเป็นนัย ๆ ว่าจะมีลำดับที่ ๒ ตามมา อันจะได้ตัดเนื้อคำและลายเพลงออกมาทำใหม่จากเพลงเดิมเดียวกันนี้แหละ) เหตุผลที่นำมาทำใหม่ เพราะตอนทำเมื่อ ปี 2542 และ 2543 นั้น เราแต่งเพลงได้แบบเล่นกับกีตาร์ก๊อง ๆ แก๊ง ๆ จึงไม่ได้ทำดนตรีเอง พูดก็พูดเถอะมันก็เนื่องจากข้อจำกัดด้านความรู้ความสามารถทางดนตรีนั้นแหละหนอ


  • ความจริงแล้ว เนื้อเพลงแนวนี้ เป็นเพลงอเมริกันพื้นบลูส์ที่รู้จักกันดีในชื่อว่า come back baby (คลิ๊กตามลิงค์ไปฟังได้ในหลาย ๆ แบบ) ที่โด่งดังเดิม ๆ ก็ของ Ray Charles บันทึกแผ่นเสียง single ตั้งแต่แที่ข้าพเจ้าเกิด (ค.ศ. 1954 = พ.ศ. 2497)

    ตัวอย่างเนื้อร้องว่า

    Oh come back, baby
    Oh mama please dont go, yeah
    Cause the way I love you
    Child you'll never know

    Oh come back baby, yeah yeah
    Let's talk it over one more time
    Oh now now



    ส่วนว่า ฉบับภาษาไทยในยุคแรก ๆ นั้นต้องยกนิ้วโป้งให้ครูเพลงลูกทุ่งไทยที่ท่านนำมาแต่งใหม่เป็นแบบไทย ๆ ที่โด่งดังมาก ก็คือ กลับเถิดเรียมจ๋า ต้นฉบับของ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ

    ตัวอย่างเนื้อร้องว่า

    เสียงนี้ที่ดัง เรียมเอ๋ยเอ็งฟัง จำได้หรือเปล่า
    เสียงนี้เป็นเสียงบอกข่าว ว่าข้ามารับ เจ้ากลับสุพรรณ
    พ่อแม่เอ็งตาย วัวควายไร่นาเอ็งนั้น ไม่มีใครเขาจัดการ
    รีบกลับสุพรรณเสียเถิด เรียม




    ต่อมาก็กลายร่างเป็น อภัยให้เรียม ขับร้องโดย ศรเพชร ศรสุพรรณ

    ตัวอย่างเนื้อร้องว่า

    เรียม ไม่กลับมา นาไม่มีคนทำ
    พ่อแม่ชรา หนีหน้า ตาดำ ๆ
    ไม่เคยว่าเรียมสักคำ ให้ช้ำน้ำใจ

    แม่ แกเฝ้า รอ, พ่อ ทำนาไม่ไหว
    คอยแต่เป็นลม นอนระทม ตรมใจ
    คิดถึงลูกสาวในใส้ ไปไม่ส่งข่าวมา







  • Download-mp3 เพลง: เสียงเอิ้นขานจากบ้านเก่า.mp3



  •  

    Create Date : 31 สิงหาคม 2553    
    Last Update : 31 สิงหาคม 2553 2:40:07 น.
    Counter : 878 Pageviews.  
  • a Note 2 Bird Chattering.Blues - นกบ่น.บลูส์

    a Note to Folk – หมายเหตุชาวบ้าน ของ Link อ้างอิง Bird Chattering.Blues - นกบ่น.บลูส์ กลุ่มบล็อก บ่นบ้านบ้าน.Blues นัยว่าเป็นบันทึกส่วนตัวของเจ้าของบล็อกนี้ เพื่อช่วยจำความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเพลง/ดนตรีที่อ้างอิงนี้


    Song: นกบ่น ดอท บลูส์ – BirdChattering.Blues
    Lyric and Music by A_somjai / อภิธาน สมใจ

    *เราทั้งหลาย เป็นนก ที่อยู่เงาปลายไม้
    ฟังเสียงขัน มันม่วน, อาหาร(ก็)ดี หวานจ้อย

    บ้านข้อย อยู่ดงดอย แดนไกล
    บ้านเจ้า ข้าวน้ำดี สีวิไล
    สายเชื้อเครือใจ สืบหมู่ แต่บูราณ

    อยู่นี้ ให้อยู่ดี กินหวาน
    ทางหน้า ให้ “ขะ-มั่น ขะ-หมาน”
    เฮ็ดกิน เฮ็ดทาน ร่วมกันแด่เด้อ
    กินบุญ กินทาน ร่วมกันแด่เด้อ


  • * ท่อนแรกสองบรรทัดนี้ เป็นเนื้อเพลงรำโทน รำวง ที่ใช้ในงานรื่นเริงพื้นบ้านของชาวลื้อเมืองยอง ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉานประเทศพม่า มีประวัติความเป็นมาจากการที่ทหารในกองทัพไทยได้เข้าไปในแคว้นชาวไทยใหญ่/รัฐเชียงตุง เมื่อคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา (ดู Link: ไทยกับสงครามมหาเอเซียบูรพา ตอนที่ว่าด้วยเรื่อง การจัดตั้งกองทัพพายัพ ดังตัวอย่างแหล่งอ้างอิงว่า …. ดังนั้น การรบในพื้นที่สหรัฐไทยเดิมในสงครามมหาเอเซียบูรพา จึงเป็นการรบระหว่างกองทัพพายัพของไทย กับกองพลที่ 93 ของจีนฝ่ายก๊กมินตั๋งโดยตรง …. กองพลที่ 93 ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเชียงตุง … กองพลที่ 93 ได้เคลื่อนที่จากเมืองเชียงรุ้ง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2484 ตามเส้นทางเมืองเชียงรุ้ง - เมืองลอง - เมืองยู้ - เมืองยอง ถึงเมืองยองเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2484 และได้ไปตั้งกองบัญชาการที่เมืองเชียงตุง …. ….. และ …กองทัพพายัพได้เคลื่อนที่เข้าสู่ดินแดนสหรัฐไทยเดิม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2485 ได้ปฎิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบสำเร็จลุล่วงไปตามลำดับ ด้วยความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่ทุรกันดาร ขาดเส้นทางคมนาคม และเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ / กองทัพพายัพได้เคลื่อนที่เข้าประชิดชายแดนพม่า - จีน ตั้งแต่เหนือสุดตามแนวทิศเหนือ และทิศตะวันออกของเมือง ป๊อก เมืองแผน เมืองยาง เมืองมะ เมืองลา เมืองปัน เมืองวะ เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองแฮะ เมืองนัม เมืองฮุน และเมืองกันไว้ได้โดยตลอด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2485 หลังจากนั้น กองทัพพายับก็เริ่มถอนกำลังบางส่วน จากสหรัฐไทยเดิมกลับเข้าสู่ประเทศไทย รวมระยะเวลาที่กองทัพพายัพเข้าปฎิบัติการในพื้นที่สหรัฐไทยเดิม 8 เดือน 6 วัน ….)

  • * เนื้อเพลงรำโทน รำวง ที่ใช้ในงานรื่นเริงพื้นบ้านของชาวลื้อเมืองยองนั้น เคยถูกนำมาร้องประกอบดนตรี บันทึกเสียงไว้ในรูปของเทปเพลง (เทปคาสเซตต์ Compact Cassette) สำเนียง (voicing) เพลงรำโทน รำวงลูกทุ่งไทย (ซึ่งแตกต่างจากแนวดนตรีที่เล่นร้องบันทึกกันไว้สด ๆ แบบ one man brand ในบล็อกวันนี้) สำเนาเดิมมีชื่อชุดว่า “ดาวล้านนา” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 …ดังภาพปกเทปที่กล่าวถึงนี้ …

  • LannaStar 1


  • นัยว่า… อภิธาน สมใจ และเพื่อน ๆ จัดทำเทปเพลงชุดนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเสียชีวิตจากไปโดยกระทันหันของเพื่อนรักผู้นับถือเป็นน้องสาวต่างวัยนามว่า หม่อม หรือ รัตนา พรหมวิชัย สำหรับเทปเพลงชุดนี้จะได้กล่าวถึงในงานเขียนชุดนี้อีกเมื่อถึงโอกาสอันควร // เพลงนี้เดิมตั้งชื่อว่า “รำวงสายเครือใจ” คำร้อง/ทำนองโดยอภิธาน สมใจ ผู้แต่งเก็บข้อมูลภาคสนามร่วมกับ รัตนา พรหมวิชัย เมื่อ 23-25 มีนาคม พ.ศ. 2541 <<ท่านที่สนใจเรื่องราวและภาพที่เล่าไว้ในการเดินทางเมืองยอง Trip นี้ ให้คลิ๊กสืบค้นผ่าน Google ด้วยคำว่า “มาลา คำจันทร์ เที่ยวเมืองยอง” โดยเฉพาะงานเขียนสารคดี ตีพิมพ์ในหนังสือรายสัปดาห์ สกุลไทย ออนไลน์ที่ //www.sakulthai.com>>

  • สำหรับคำร้องพื้นบ้านเดิมซึ่งเข้าใจว่าทหารไทยรุ่นกองทัพพายัพคงเป็นผู้แต่งไว้ เพราะเป็นสำนวนภาษาไทยน้อยไทยสยามอย่างไร้ข้อกังขา นอกเนื้อจาก สองบรรทัดแรกดังอ้างไว้นั้นแล้ว ขอคัดจากแผ่นหลังปกเทปเพลงชุดดาวล้านนา เพื่อบันทึกไว้ในโลกออนไลน์ดังนี้ครับ // สาวงามขอตามเดินเล่น สวยสดรำเป็นสวยจริงจากตา สาวงามมาจากแดนไกล ฉันขอตามไปจะได้ชมสาวงาม, แต่งตัวจะมีเจ้าของ เขาจองมาก่อนเราตาม ราชกิจต่อติดตาหวาน ใจจิตต่อติดเดินตาม อยากจะชมสาวงามสักที // ยอดตองมาต้องสายลม โบกพริ้วริ้วลม พัดพรมแตงอ่อน สาวงามเจ้าอย่าทำแสนงอน (ซ้ำ สาวงามฯ) ลมพัดแต่งอ่อนยอดตองโอนเอน // นารีหนุ่มสาวเอ๋ย ขอชมเชยขวัญเจ้าสักหน่อย ขอเชิญแม่หญิงคอสร้อย (ช้ำ ขอเชิญฯ) รำหรอยลอยสวยแท้สวยว่า รำไปรำมา อ้า! สวยจริง ๆ // (คำร้องสร้อยระหว่างท่อน) ซิกกะซึ่ง ซิกกะซึ่ง ซิกกะซึ่ง .. ซิกกะซึ่ง ซึ่ง ๆ ซึ่ง ๆ (ท่อนจบ ตบด้วยสำนวนหนุ่มเชียร์รำวงร้องว่า) สงสารนางารำ มาอ่อนม่อยรำ ขอยั้งไว้ก่อน.

  • ( ภาษาถิ่น ลาว ลื้อ: ม่วน= สนุกสนาน เบิกบาน สำราญใจ, หวานจ้อย= หวานเจี๊ยบ, หมาน = ทำมาหากินเกิดผลง่าย ได้มาก, ข้อย=ฉัน พวกฉัน, เจ้า=เธอ คุณ พวกคุณ, บูราณ ปากว่า บูฮาน=โบราณ เวลาแต่เก่าก่อน เก่าแก่, ไทใหญ่ว่า อยู่ดีกินหวาน หรือ อยู่ดีกินหมาน ส่วนคนเมืองภาคเหนือว่า อยู่ดีมีสุข ตรงกับคำปากคนอีสานว่า อยู่ดีมีแฮง, ขะ-มั่น นั้นอาจเป็นว่า ขวัญมั่น หรือ ค้ามั่น หรือ ค้าม่วน ก็ไม่ทราบแน่ ส่วนคำว่า ขะ-หมาน นั้นแน่นอนว่า หมาน ในภาษาลาว ลื้อ หมายถึงทำอะไรแล้วได้มาอย่างง่ายดาย ได้ผลเกินกว่าคาดหมาย คือมีโชคดีในการทำมาหากินนั้นเอง, เฮ็ด=ทำ, ทาน=การให้ คนลาวปากว่า ทาน ส่วนปากคนลื้อว่า ตาน)


  • Link อ้างอิง Bird Chattering.Blues - นกบ่น.บลูส์ กลุ่มบล็อก บ่นบ้านบ้าน.Blues



  •  

    Create Date : 24 พฤษภาคม 2553    
    Last Update : 11 พฤศจิกายน 2555 18:24:40 น.
    Counter : 680 Pageviews.  

    8 มกราคม 2553

    8 มกราคม 2553
    14: 00 PM.

    ที่หายไปเสียนาน จากเขียนบล็อกคราวที่แล้ว เมื่อ 25 กันยายน 2552 @ 2:56 PM. ก็คือ ฉันได้ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งให้มีการทดลอง...ว่า... ถ้าโลกวันนี้ ไม่มีฉัน ...
    ฉันจะทำให้เป็นจริงได้ยังไง ...เพราะปัจเจกภาวะของฉันยังอยู่ใน กาลเทศะของโลกนี้อยู่


    ฉัน เริ่มที่นี้ก่อน การควบคุมจำกัดตนเอง...
    เพราะเหตุว่า...ฉันเชื่อว่าปัจเจกมนุษย์ของ "ฉันในสถานะ/ภาวะผู้กระทำ" นั้น ฉันควบคุมปัจจัยและองค์ประกอบของความเกี่ยวข้องกับเรื่อง...."ถ้าโลกวันนี้ ไม่มีฉัน" ได้มากกว่าอีกด้านหนึ่งคือ ฉันในสถานะ/ภาวะผู้ถูกกระทำ อันเป็นปัจจัยภายนอกเสียเกือบสิ้นเชิง

    แต่โดยประสบการณ์และการใคร่ครวญเกี่ยวกับการนี้แล้ว
    ฉันได้เรียนรู้ ข้อสรุปจากบทเรียนนี้ว่า...
    "ไม่มี ...ไม่มี...และไม่มีสถานะหรือสภาวะใดของการเป็นอยู่ ดำรงอยู่ในโลก ของปัจเจกมนุษย์..ที่...ฉันคนนี้และ/หรือคนไหน ๆ จะสามารถควบคุมปัจจัยและองค์ประกอบของสิ่งเกี่ยวข้องทั้งที่เรารู้ได้และไม่อาจรู้ได้โดยสิ้นเชิง..ดอกจะบอกให้"

    ตัวอย่าง สิ่งที่ยากต่อการที่ฉันคนนี้และ/หรือคนไหน ๆ จะสามารถควบคุมปัจจัยและองค์ประกอบของสิ่งเกี่ยวข้องทั้งที่เรารู้ได้และไม่อาจรู้ได้......นั้น มีข้อจำกัดอยู่มากมาย เช่น....เป็นต้นว่า
    1. เราพยายามพูด (หมายรวมถึงการสื่อด้วยภาษามนุษย์) ให้น้อยลง ได้แก่ การพูดกับตัวเอง, การพูดกับคนใกล้ชิดในครอบครัว, หรือผู้คนอื่น ๆ ที่ห่างไกลออกไป --- พูดง่าย ๆ ว่า "ฉันพยายามทดลองให้ตนเองไม่รับรู้ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษามนุษย์ของฉัน ต่อโลกภายนอกและภายในทั้งมวล นั้นแหละ" (โปรดตั้งข้อสังเกตนี้ไว้ เพราะจะมีผลต่อชีวิตเราบางประการซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า)
    2. จำกัดการติดต่อสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้คน (ทั้งเป็นตัว ๆ ตน ๆ และที่เป็นตัวตนสัญมายาอย่าง คนในโลกการสื่อสารมวลชน และ/หรือคนในโลกการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเป็นต้น) ให้น้อยลง เช่น ทำกิจกรรมงานบ้านและวิสาสะสังสรรกับคนในครอบครัว(/หรือในที่ทำงาน)แต่ในเรื่องที่จำเป็นโดยหน้าที่เท่านั้น ไปซื้อขายใช้จ่ายเข้าของเงินทองแต่ที่จำเป็นต้องไปเท่านั้น รีบไปรีบกลับ ไม่โทรเข้าโทร.ออกหรือส่งรับข่าวสารใด ๆ เข้าออกโดยไม่จำเป็น เป็นต้น --พูดง่าย ๆ ว่า "เอ็งอยู่แต่ตัวลำพัง ให้มากไว้ ...ได้ไหมว่ะ?"
    3. การควบคุมการคิดของตนเอง โดยจำกัดเชิงขอบเขตพื้นที่ (มันทำได้ง่ายกว่า การคิดถึงขอบเขตสมมติแบบอื่น) ได้แก่ พยายามอย่าให้ "คิด" อะไรให้มันเกินผืนหนังหุ้มเนื้อ เลือด และกระดูกของเรานี้ --คืออย่าให้ความคิดเดินทางออกไปนอกจากเรื่องรับรู้ รู้สึก นึกคิดในสภาวะดำรงอยู่ของกายตน ในกาละ เทศะ ปัจจุบันขณะนั้น นั่นเอง --อ้าว! ถ้า "คิด" หลุดเลยไปก็พยามยามขังมันไว้ในห้องที่เราอยู่นั้น --ขังไว้ในเขตบ้านหลังนั้น --ขังมันไว้ในเขตรั้วบ้านเราอยู่นั้น --เอ้า! อย่าให้มันออกนอกเขตอำเภอก็ยังดีว่ะ??????? นี้คือ ความพยายามทดลองควบคุม "คิด" --


    สิ่งที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า ก็คือ การพยายามดำรงตนให้เป็นอยู่ในกรอบ 3 ประการดังว่ามานี้ เรากลับพบว่า ..โลกของตูนี้ มันช่างเต็มไปด้วย "ขยะพูด ขยะทำ และ ขยะคิด" มากเสียเหลือคนานับ

    วันนี้เอาเท่านี้ก่อน แล้วจะกลับมาเขียนเล่าไว้ต่อ
    สรุปบทเรียนที่ ๑
    ...."ถ้าโลกวันนี้ ไม่มีฉัน" คือ .....
    โลกที่---
    ไม่มีฉันที่รู้ภาษามนุษย์
    ไม่มีฉันที่ทำอะไรเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ
    ไม่มีฉันที่ "คิด" ออกนอกตัวฉัน

    การบ้านประกอบบทเรียนที่ ๑
    ภาษาคนขังคน ใช่หรือไม่?
    เกีี่ยวข้องกับคนอื่น ก็เป็นโลกอื่น ใช่หรือไม่?
    คิดเห็นแต่สิ่งอื่น ฉันก็เป็นอื่น ใช่หรือไม่?

    A_somjai




     

    Create Date : 08 มกราคม 2553    
    Last Update : 8 มกราคม 2553 14:13:09 น.
    Counter : 491 Pageviews.  

    1  2  

    a_somjai
    Location :
    เชียงใหม่ Thailand

    [Profile ทั้งหมด]

    ฝากข้อความหลังไมค์
    Rss Feed
    Smember
    ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




    Friends' blogs
    [Add a_somjai's blog to your web]
    Links
     

     Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.