<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
แอ่วใกล้บ้าน :สองเฒ่าเหล้าตอง (001)



หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้านผู้ยังคงทำนาข้าวอยู่ วันคืนดูจะเร่งรีบก้าวผ่านศักราชเก่าเข้าสู่ต้นเดือนที่สองของช่วงต้นปีใหม่อย่างรวดเร็ว เด็กนักเรียนนักศึกษาเตรียมตัวดูหนังสือหนังหาเพื่อสอบไล่ให้ผ่านชั้นผ่านวิชาการกันอย่างหมกหมุ่น นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาชิมรสชาติแห่งวิถีชีวิตวัฒนธรรมล้านนาแบบว่าตลาดเชียงใหม่กันมืดฟ้ามัวดิน ตามปฏิทินท่องเที่ยวไทยรักไทย โดยถ้วนทั่ว


แม้กระนั้นบรรยากาศสองข้างทางทุกสายที่พุ่งเข้าหาชุมชนพื้นบ้านล้านนาแห่งหนึ่งซึ่งยังไม่ถูกแปรรูปเป็นสินค้าตัวหนึ่งในตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ย่อมทำให้ใครทุกคนบนเส้นทางสู่หมู่บ้านแห่งนี้พบกับสีสันสวยงามตื่นตาตื่นใจไม่เจือปนอุตริทัศน์ ได้เช่นเดียวกันกับผมและเพื่อนร่วมทางผู้เป็นคนตาดีมิได้ตาบอด


ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ตามเส้นทางสายลำพูนออกไปราวสิบกว่ากิโลเมตร เมื่อเลี้ยวหัวรถเปลี่ยนทิศทางแยกลงสู่ทางเข้ากลุ่มชุมชนหมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่หนาแน่นบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง คนไม่คุ้นเคยเส้นทางจะพบว่ามีถนนตรอกซอกซอยแยกย่อยมากมาย ทะลุถึงกันยุ่งเหยิงสับสนไม่รู้หนเหนือหนใต้ ยากต่อการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางตามที่ตนต้องการ แต่กลับเป็นเรื่องง่ายต่อการหลงทางดั่งได้เข้าสู่เข้าวงกตฉะนั้น




วันนี้’พี่หนานเย็น’คู่หูของผมทำตัวเงียบสงบเสงี่ยมบ่อู้บ่ปาก ผิดจากวันก่อน ๆ ผมคิดเอาเองว่าแกคงสำรวมตนด้วยว่าเราเข้าใกล้วัดใกล้วาจุดหมายปลายทางเข้าไปทุกทีแล้ว ส่วนในห้วงนึกคิดของผมขณะควบคุมแฮนด์รถจักรยานยนต์คู่ชีพอยู่ก็ยังคงทำงานเป็นปกติวิสัย …

…ธงชัย ธงชีวิต? ธงจิต ธงวิญญาณ? ธงกิน ธงทาน? ธงงานบุญ งานปอย?…


คำถามมากมายผุดพรายขึ้นเป็นลูกโซ่ภายใต้กรอบกลไกแห่งสายพานสมองซีกซ้ายสลับไปมากับสมองซีกขวาของผม กระบวนการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การค้นหาคำตอบ ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ความรู้ที่ได้ก็มีถูกบ้าง มีไม่ถูกบ้าง ซึ่งความจริงก็คือไม่มีใครตัดสินลงไปได้เด็ดขาดดอกว่าคำตอบหรือความรู้ที่มนุษย์หามาได้นั้นอันใดถูกอันใดผิด การถกเถียงปัญหาเรื่องความดี ความงาน ความจริง มักจะวนเวียนอยู่เช่นนั้นเอง


…กระบวนการเหล่านี้ทำงานเองโดยอัตโนมัติ …มันคงเป็นทักษะนิสัยที่ถูกสร้างขึ้นและสั่งสมผ่านประสบการณ์มานานหลายสิบปี ภายใต้เนื้อนาและดินฟ้าอากาศของโลกการศึกษาอบรมตามแนวทางร่วมสมัย มิใช่คุณสมบัติติดตัวตนผมมาแต่ชาติปางก่อนอย่างแน่นอน


…ตุงไจ ตุงชีวิตนำพาเราไปสู่สิ่งใดกัน …ตุงชีวิตจะปรากฏขึ้นเมื่อเวลาใด…ตุงชีวิตจะมีได้ในสถานที่ใด…ตุงชีวิตแต่ละตัวตนหรือหมู่เหล่าของตุงมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร…ตุงชีวิตมีที่มา ที่ไป ที่อยู่ ที่เป็น ประการใด…ใครสร้างตุงชีวิต สร้างทำไม เพื่ออะไร อย่างไร…ตุงชีวิตบอกอะไร บอกใคร เมื่อไร…..



ปฏิกิริยาส่วนสมองของผมต่อตุงชีวิต เต็มไปด้วยคำถาม คำถาม คำถามและคำถาม ยามอับจนคำตอบ…ผมต้องละทิ้งมันเสียทั้งหมด แล้วผมก็พบความรู้สึกราบเรียบสั้นกระชับ หากทว่าชัดเจนแจ้งกระจ่าง….

‘ตุงชีวิต’ ขึ้นเป็นหมู่ หมู่ตุงชีวิตล้วนหลากหลายรูปพรรณสัณฐานและพื้นเพเผ่าพงศ์วงศ์วาน อันยังผลให้ผู้เป็นเจ้าของก็ดี ผู้คนมาร่วมกินร่วมทานก็ดีและผู้พบเห็นก็ดี ต่างเบิกบานสำราญใจ



“แวะส่องทางสักตองสองตอง ดีก่ พี่หนาน?”
ผมเอ่ยชวนขึ้นโดยไม่มีสะล้อซอซึง

“สนุกเมืองฟ้า มีเมฆฟ้ากับฝน
สนุกเมืองคน กินเหล้าเมาเหล้า
สนุกในคุ้มเจ้า มีปี่พาทย์กลองมโหรีทอง
สนุกตุ๊พระ มีแต่ฆ้องกับกลอง
สนุกงัวควาย มีแต่หนองกับหญ้า
สนุกสูกับข้า…”

แล้วพี่หนานเย็นก็ยั้งปากหยุดเสียงฮ่ำของแกไว้เพียงเท่านั้น
ความเงียบแทรกอยู่ในเสียงเครื่องยนต์ได้เพียงอึดใจเดียว คำอู้เมืองปนคำเว้าลาวของผมก็ถามขึ้นอย่างใคร่ฮู้ใคร่หัน
“สนุกสูกับข้า แล้วมันจังใดล่ะหาพี่หนาน?”

คำตอบลอยมากับสุ้มเสียงเน้นสูง
“ม่วนคิงกับฮา น้อยหา หนานหือ” ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า….


เราแตกเสียงหัวเราะออกเต็มห้องโดยสารเปิดโล่งโจ้งแนบชิดธรรมชาติอย่างเบิกบานสำราญใจยิ่ง พี่หนานเย็นหมายว่าหากเรียกใช้เรียกหาคนเป็น”น้อย’เขามักจะรีบมาในทันใด ส่วนคนเป็น’หนาน’ส่วนใหญ่มักจะอืดอาดอุ้ยอ้ายมากพิธีรีตองเป็นธรรมดาของคนเคยอยู่ในกรอบวัดวามานานปี ตั้งแต่วัยเด็ก-หนุ่มถึงวัยผู้ใหญ่


ถึงปากทางเข้าวัดสถานที่จะจัดให้มี’งานปอยหลวง’ในอีกสี่ห้าวันข้างหน้า ผมเลี้ยวรถเครื่องชิดขอบนอกไหล่ทางซึ่งคับแคบเต็มทน อันเป็นสภาพถนนหนทางปกติที่คุ้นชินกันอยู่ในหมู่บ้านทั่วไปในหมู่บ้านเมืองเหนือ รี่เข้าไปจอดยังหน้าเพิงหมาแหงนห่างออกไปจากถนนหลักสักสามสิบห้าเมตร

‘ตูบน้อย’หลังนี้ สภาพเสาคานกระดานฝาทรุดโทรม ตองตึงมุงหลังคาดูเก่าดำคร่ำครา บุคลากรหญิงชายในเพิงร้านค้าทั้งคู่ก็ดูแก่หง่อมซอมซ่อ แต่กลับมี’แขกคน’ชาวบ้านมาใช้บริการกันพลุกพล่าน บ้างลุกบ้างนั่ง บ้างยืนรอ บ้างเดินเหิรไปมา เสียงปากจาอู้คุย’คำเมือง’สำเนียงเชียงใหม่ดังลั่นสนั่นล้นออกนอกชายคา



ใครผ่านไปผ่านมาย่อมสังเกตเห็นอักษรสีขาว ลายมือโย้เย้อย่างเด็กอนุบาลเพิ่งหัดเขียนหนังสือ อวดยี่ห้อบนแผ่นป้ายฟากไม้ไผ่สาน อวดศักดิ์ศรีหุ้นส่วนกิจการค้า…ว่าตัวข้านี้แหละเหยคือ…


“สองเฒ่าเหล้าตอง”
ยินดีต้อนฮับ ลูกค้าสามัญชน









หมายเหตุ: ต้องขออภัยท่านที่ไม่รู้ภาษาถิ่น คำพื้นเมืองเหนือ เช่น ตุง น้อย หนาน เป็นต้น จะค่อย ๆ อธิบายในตอนต่อ ๆ ไป




Posted by a_somjai on 7 February 2006 at 09.39 am. | เที่ยวใกล้บ้าน, วิถีชีวิตพื้นบ้าน, ไทย, ภาคเหนือ, เชียงใหม่ |



Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2549 3:13:24 น. 14 comments
Counter : 1041 Pageviews.

 



อยากได้ซักสองตองเจ้า



โดย: อย่ามาทำหน้าเขียวใส่นะยะ วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:9:50:20 น.  

 
ม่วนคิงกับฮา น้อยหา หนานหือ - แปลว่าไรหว่า

ขอสักสามตวงแล้วกันเน้อ
ร้านเหล้าสามัญชน ร้านนี้ ท่าทางจะน่าร่ำสุรา


โดย: grappa วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:10:36:33 น.  

 
คุณแกร็ปป้า...


คิง คือ คุณ มึง
ฮา (รา) คือ ฉัน กู

น้อย คือ คนบวชเป็นเณรแล้วสึกออกมา คำเดิมคือ พระน้อย อีสานเรียก เซียง

หนาน คือ คนบวชเรียนแล้วสึกออกมา คำเดิมคือ ขนาน (เพราะอุปสมบทบนอุโบสถที่ทำเป็นแพขนาน ลอยอยู่ในแม่น้ำ) ภาคกลางเรียก ทิด มาจาก บัณฑิต

เวลาเรียกใช้คนเป็นน้อย ร้องครั้งเดียวเขาก็ขานรับ "หา" (ครับ) อย่างรวดเร็ว

เวลาเรียกใช้คนเป็นหนาน จะตอบรับเชื่องช้ามาก ร้องคร้งหนึ่งก็จะ "หือ ๆ " อยุ่นั้นแล้ว เช่นชื่อสมมติในเรื่องว่า หนานเย็น คือ แกใจเย็น (เสียจนทำให้คนอื่นรำคาญได้)


ความจริงคำต่อของ...
"สนุกสูกับข้า......."
มีความหมายทางเพศ ระหว่างชายกับหญิง ครับ


โดย: a_somjai วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:11:01:57 น.  

 
เข้ามาอ่าน จ้า


โดย: samranjai วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:15:15:16 น.  

 
เคยอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง

เค้าให้ตัวละครตัวเอก คุยกะเพื่อนซึ่งเป็นคนภาคเดียวกัน แทนตัวเองว่า คิง และฮา ค่ะ

ค้างคาวว่าน่ารักดี


โดย: Batgirl 2001 วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:22:18:49 น.  

 
อ่านแล้วเห็นภาพสังคมชนบทที่บ้านผุดมาเป็นระยะๆเลยครับ มาสะดุดนิดหน่อยที่รูปหมู่บ้านชาวเขา แฮะๆ


โดย: นายเบียร์ วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:3:09:47 น.  

 
เห็นกลอนข้างบนแล้วทำให้คิดถึงนวนิยายของคุณกฤษณา อโศกสินค่ะ เรื่องหนึ่งฟ้าดินเดียว


โดย: brasserie 1802 วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:6:39:24 น.  

 
คุณค้าวคาว .... คิงกับฮา นี้ใช้ได้เฉพาะ คนเสมอกันด้วยอายุ หรือ ผู้มีสถานะสูงกว่าใช้กับผู้มีสถานะต่ำก่วา เช่น น้องจะไปคิงฮา กับพี่ อย่างนี้ไม่ควร (ยกเว้นตอนมีอารมณ์ หรืออาจมีใช้พูดกันได้ปกติในบางครอบครัว) ยิ่งลูกหลานจะใช้กับญาติผู้ใหญ่ไม่ได้เลย

คุณเบียร์ ....หารูปคนพื้นราบไม่ได้ ก็เลยเอาบ้านชาวดอย มาแก้ขัดไปก่อน..แหะ ๆ

คุณ brasserie ..... คำจ๊อย คำค่าว คำคม ลักษณ์นี้ เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่เล่นร่ำ/ฮ่ำขับกันอยู่โดยทั่วไปครับ คิดว่าท่าน กฤษณา อโศกสิน คงจะค้นคว้ามาอย่างดี นั้นเป็นคุณสมบัติที่ดีของนักเขียนครับ


โดย: a_somjai วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:8:12:46 น.  

 



จขบ. สอนกำเมืองโตยกา



โดย: อย่ามาทำหน้าเขียวใส่นะยะ วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:11:02:55 น.  

 
คิงกับฮา....นึกถึงตอนสมัยละอ่อน....

ตา(ป้ออุ้ย)เป๋นคนละปูน เปิ้นเป็นจ่างซอโตยเน้อเจ้า เปิ้นสีละล้อ....จาวบ้านฮ้องจื่อ ป้อน้อยต๋าคำ

อู้ถึงตุง แล้วนึกถึงปี๋ใหม่เมือง เอาตุงไปปักก๋องทราย


โดย: แม่น้องธัย IP: 68.47.106.39 วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:13:52:04 น.  

 
อ่านแล้วบ่อยากกินเหล้าดอง แต่อยากกินสาโท


โดย: KMS&หมาป่าสำราญ วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:1:07:48 น.  

 
รับจัดบล๊อค party 555






โดย: erol วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:14:32:53 น.  

 





อย่าลืมไปไหว้พระวันมาฆบูชาเน่อ



โดย: อย่ามาทำหน้าเขียวใส่นะยะ วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:16:25:20 น.  

 
หนูเปนคนแพร่ค่า..แต่พูดภาษาเมืองไม่ค่อยเปนชอบคำเมืองมาก..ฟังแล้วม่วนหูดีแต่ก้อยางพูดไม่ค่อยเก่งเรย


โดย: นู๋อิ่ม IP: 203.114.99.104 วันที่: 31 สิงหาคม 2549 เวลา:0:24:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.