<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (4)





โปรดเตรียมเทียบเวลาในตำนาน (1)



พระยาประชากิจกรจักร์-บรมครูผู้ศึกษาและแต่งหนังสือ พงศาวดารโยนก เขียนไว้ว่า—

“ข้อความทั้งหลายที่ได้กล่าวมาในคำบรรยายนี้ เป็นข้อความที่ได้สาธกมาจากตำราต่าง ๆ บ้าง เป็นส่วนความเห็นที่ได้เกิดจากการวินิจฉัยในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้อ่านมานั้นบ้าง

“ข้อความส่วนใดที่เป็นส่วนความเห็นของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าไม่ยืนยันว่าเป็นเที่ยงแท้แน่จริงทีเดียว เพราะความคิดเอกชน คาดคะเนไปตามเหตุผลซึ่งควรเห็นว่าน่าจะเป็นได้เช่นนั้นหรือไม่น่าจะเป็นได้เช่นนั้น

“การออกความเห็นของผู้แต่งเรื่องต่าง ๆ โดยมากมักกล่าวปนกับท้องเรื่อง แต่การทำเช่นนั้นมักจะพาให้เรื่องแปรไปได้

“เพราะฉะนั้น ในการเรียบเรียงเรื่องนี้ (พงศาวดารโยนก __ a_somjai) จึงทำเป็นคำบรรยายไว้เสียส่วนหนึ่ง กล่าวตามความรู้และความเห็นอันเกิดจากความดำริของผู้แต่งได้วินิจฉัยในเรื่องราวต่าง ๆ ตามที่ได้สาธกมานั้น เพื่อเป็นทางดำริแก่ท่านผู้ที่จะอ่านหนังสือสืบไป การจะผิดพลั้งหนักเบาไปบ้างประการใด ขอได้โปรดอภัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ”


ส่วนนักเลงตำนานด้วยกัน (อย่างข้าพเจ้าผู้เขียนบล็อก Blog aroung the Bog) ต่างรู้ดีในความจริง ๒ เรื่องครับ

ประการแรก เราต้องเชื่อว่าเรื่องราวในตำนานเป็นความจริงในปัจจุบัน(เพราะเรากำลังอ่าน ฟังเรื่องราวของมันอยู่) แต่อาจไม่ใข่เรื่องราวความจริงในอดีต


ดังนั้นเมื่อเราศึกษาตำนาน อ้างถึงตำนาน เล่าตำนาน ฟังตำนาน วิเคราะห์ ออกความเห็นที่เกี่ยวข้องกับตำนานแล้วละก็ เราจะต้องตั้งข้อสงสัยพร้อมกันไปด้วยว่าตำนานก็คือนิทานโกหกเราดี ๆ นี้เอง

และประการที่สองนั้น เรา(ต้อง)ตระหนัก(ไว้ให้)ดีว่า ใครก็ตามที่พยามยามอ้างอิงเหตุการณ์ในตำนานเพื่อสร้างความน่าเชื่ออถือได้ทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา โดยผูกลำดับท้องเรื่องไว้กับความเที่ยงตรงของลำดับเวลาแล้วละก็ นักเลงตำนานผู้นั้นจะตกอยู่ในวังวนที่พระยาประชากิจกรจักร์ผู้แต่งหนังสือพงศาวดารโยนก พบมาก่อนหน้านี้แล้ว และท่านก็ไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้

ดังความเห็นจากการวินิจฉัยของท่านที่ว่า “เรื่องศักราช ปี เดือน ในตำนานต่าง ๆ นั้น มักจะผิดคลาดกันโดยมาก เพราะว่าต้นฉบับตำนานทั้งหลายนั้นสังเกตเห็นว่า เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลัง(เรื่องราวเหตุการณ์ในตำนาน) แต่(ผู้แต่ง)คำนวณหาศักราชปีเดือนถอยหลังขึ้นไป วิธีคำนวณนับปีเดือน(ของผู้แต่งแต่ละท่านจึง)ไม่ตรงกัน”



ด้วยเหตุดังนี้ พระยาประชากิจกรจักร์จึงต้องเขียนอธิบายความรู้ “ว่าด้วยศักราชต่าง ๆ คลาดกัน” ไว้ถึง ๒๒ หน้า จากเนื้อหาในภาคคำบรรยายของหนังสือพงศาวดารโยนก เป็นภาคความเห็นถึง ๑๑๔ หน้า (ขอแนะนำให้นักเลงตำนานเมืองเหนือ หรือ ตำนานล้านนา ควรสนใจศึกษาลงลึกถึงรายละเอียด ก็จะเป็นประโยชน์อันใหญ่ครับ)

ท่านผู้แต่งหนังสือพงศาวดารโยนกเสนอไว้ว่า การนับศักราชและเทียบเวลาระหว่างกลุ่มคนต่างกาละเทศะในสมัยโบราณนั้นแตกต่างกันมาก ณ ที่นี้ขอหยิบใจความสำคัญมาเสนอไว้อีกทอดหนึ่งดังนี้

(๑) การนับปริวรรต(การหมุนเวียน)แห่งปีนั้น ไทยเหนือและไทยใหญ่ นับรวมปริวรรต ๖๐ ปี ตรงกับทางอินเดียเรียกว่าพฤหัสบดีจักร ท่านอธิบายไว้ว่า “คือกำหนดในปริวรรตหนึ่งเป็น ๕ รอบโคจรแห่งดาวพฤหัสบดีซึ่งเวียนรอบจักรราศี ในราศีละ ๑ ปี
บรรจบรอบ ๑๒ ราศีใน ๑๒ ปี จึงเป็นนามปี ๑๒ นักษัตร
ไทยใต้นับแต่ชวดเป็นต้นไป
ไทยเหนือนับแต่กุนเป็นต้นไป
ในพฤหัสบดีกาลนับแต่เถาะเป็นต้นไป”

“หากจะเทียบนามปีไทยใต้/นามปีไทยเหนือ เป็นดังนี้ ชวด/ไจ๊, ฉลู/เป๊า, ขาล/ ยี่, เถาะ/เม้า, มะโรง/สี, มะเส็ง/ไซ้, มะเมีย/ซะง้า, มะแม/เม็ด, วอก/สัน, ระกา/เล้า, จอ/เส็ด, และ กุน/ไก๊

“เมื่อบรรจบรอบ ๑๒ ปี ๕ รอบเป็น ๖๐ ปีเป็นพฤหัสบดีจักรปริวรรตหนึ่ง

“พฤหัสบดีจักรนี้เป็นวิธีนับกาลหรือศักราชเก่าแก่ ซึ่งใช้มาในประเทศอินเดีย ธิเบตและจีน

“กล่าวกันว่าศักราชพฤหัสบดีสัมวัตนี้ใช้ในชมพูทวีปก่อนพุทธกาลถึง ๒๕๘๕ ปี
และยังใช้ร่วมกับศักราชอื่น ๆ ต่อมา”



(๒) การนับศักราช ปี เดือน อื่น ๆ อย่างข้างฝ่ายดึกดำบรรพ์ของอินเดียนี้ ขอรับรองว่าสามารถสร้างความปวดเศียรเวียนศรีษะให้บังเกิดแก่สามัญชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่มิใช่หมอโหราหรือพราหมณ์ราชครูได้มากทีเดียวครับ

โดยเฉพาะเรื่อง ศักราชสัปตฤกษ์กาล หรือ ’ศักราชโลกกาล’ อันเกี่ยวข้องกับดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ นับรอบการหมุนเวียนแห่งปี
กำหนดระยะ ๑๐๐ ปี
๒๗ ระยะบรรจบรอบปริวรรตหนึ่ง
เท่ากับ ๒,๗๐๐ ปี

ท่านเชื่อหรือไม่ครับว่า “ปริวัติกาลอันเรียกว่าสัปตฤกษ์หรือโลกกาลนี้ กล่าวว่าได้แรกตั้งขึ้นเมื่ออายุกัลป์นี้ได้ ๔,๓๒๐ ล้านปี ก่อนพุทธกาล ๖,๒๓๔ ปี”

(อาจพูดอีกอย่างได้ว่า ปีแรกที่เริ่มต้นนับโลกกาลนั้น คือเมื่ออายุกัลป์ได้สี่พันสามร้อยล้านปี แล้วปีนั้นเองเป็นเวลาที่มีมาก่อนก่อนพุทธศักราชนับย้อนไปได้ไกลถึงหกพันสองร้อยสามสิบสี่ปี)

(๓) เมื่อก่อนพุทธกาล ๒,๕๕๙ ปี ยังมีการตั้งศักราชขึ้นมาอีก สำหรับคำนวณปฏิทิน ปี เดือน วัน เวลา โดยวิธีโคจรแห่งโลกกับสุริยคติ จันทรคติ อันโคจรพัวพันกันและกัน เรียกว่า ‘ศักราชกาลียุค’

สรุปสั้น ๆ ได้ว่า ในการคำนวณได้แบ่งกาลออกเป็นสี่ยุค ได้แก่ จัตยายุค ๔,๘๐๐ ปี, ไตรดายุค ๓,๖๐๐ ปี, ทวาปรายุค ๒,๔๐๐ ปี และ กาลียุค ๑,๒๐๐ ปี รวมกันสี่ยุคเป็น’มหายุค’เท่ากับ ๑๒,๐๐๐ ปี



มาถึงตรงนี้พวกเราทั้งคนเขียนคนอ่านตำนานมีเรื่องต้องให้ขบคิดกันใหม่อีก ๓ รอบครับ

รอบแรกนั้นต้องคิดเพราะว่ากันว่า ในจำนวนรอบหมื่นสองพันปีแห่งมหายุคนั้น มีเกณฑ์หมุนเวียนครบรอบจักรหนึ่งเท่ากับ ๕,๐๐๐ ปี

“เกณฑ์จักรนี้เองที่ปราชญ์ท่าน จึงเกี่ยวเอามาใช้เป็นกำหนดในพุทธศาสนยุกาลกำหนด ๕,๐๐๐ พระวัสสา นับแต่ปีพุทธปรินิพพานเป็นต้นมา” (แปลไทยเป็นไทยอีกทีได้ว่า อายุพระพุทธศาสนาเท่ากับ ห้าพันปี)

ส่วนรอบที่สองต้องคิดเพราะว่าศักราชกาลียุคเกี่ยวกับ “กำหนดกาลสงกรานต์ อาทิตย์เถลิงศกหรือบรรจบรอบจักรราศีในปัจจุบันนี้ เมื่ออาทิตย์ถึงราศีเมษในราววันที่ ๑๓ หรือที่ ๑๔ เดือนเมษายนโดยประมาณ”

และรอบที่สามต้องคิด “เพราะเหตุด้วยทางคำนวณโหราศาสตร์เห็นว่า พิภพโลกเคลื่อนใกล้ต่ออาทิตย์เข้าไปทุกระยะ จึงได้กะคาดเห็นการพิบัติรัดเรียวต่าง ๆ (…) ในที่สุดโลกนี้จะมีไฟประลัยกัลป์ไหม้ได้ ด้วยอำนาจความร้อนเมื่อโลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์นั้น อาศัยมูลเหตุอันกล่าวมานี้เป็นปัจจัย ให้คนแต่งเรื่องอุบัติประวัติของโลกเบื้องหน้า โดยการทำทาย หมายคาดคะเนเห็นเป็นต่าง ๆ ด้วยประการฉะนี้”



หนังสือพงศาวดารโยนก บอกเราว่า ถัดจากศักราชกาลียุคมาแล้ว ยังมีศักราชปรสุรามสุรจักร ตั้งขึ้นเมื่อก่อนปีพุทธปรินิพพานกาล ๖๓๔ ปี ใช้ในประเทศอินเดียข้างตะวันตกเฉียงใต้ แต่ไม่ได้แผ่มาถึงสยามประเทศนี้ ดังนั้นเราจึงขอข้ามเรื่องนี้ไปเสีย


ย้อนกลับไปที่เวลาศํกราช ---เมื่อก่อนพุทธกาล ๒,๕๕๙ ปี ยังมีการตั้งศักราชขึ้นมาอีก สำหรับคำนวณปฏิทิน ปี เดือน วัน เวลา โดยวิธีโคจรแห่งโลกกับสุริยคติ จันทรคติ อันโคจรพัวพันกันและกัน เรียกว่า ‘ศักราชกาลียุค’
เราจึงต้องเริ่มตั้งเทียบเวลากันเมื่อกาลียุคล่วงแล้ว ๒๕๕๙ ปี นับแต่นี้ไปก็คือ –

(๔) พุทธศักราช สำหรับกำหนดนับการปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เกี่ยวกับทางคำนวณในวิธีโหราศาสตร์

ก็อีกนั้นแหละครับ การนับปีปรินิพพานนี้ต้องกันในประเทศลังกา พม่า มอญ ไทย แต่ใช้ผิดกับในประเทศอินเดียข้างเหนือเกือบร้อยปีเศษ





เมื่อตรวจสอบแล้วพระยาประชากิจกรจักร์เห็นว่าการกำหนดพุทธกาลหรือตั้งพุทธศักราชคงจะพึ่งลงแบบ เมื่อภายหลังการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๓ แล้วมา


ยังมีเรื่องชวนปวดศรีษะเกี่ยวกับการตั้งศักราชใหม่อีกมาก เช่น ศักราชมหาวีระ, ศักราชวิกรรมาทิตย์ และมหาศักราชของพระราชาสากยราชองค์หนึ่งที่เรียกชื่อว่าสักสลิวาหะบ้าง สักกะสัมวัติบ้าง สักกะรูปกาลบ้าง สักกะราชบ้าง

มาถึงตรงนี้แล้วผมจึงขอสรุปเข้าประเด็นเรื่องราชวังสะ นัคครราชวังสะ พื้นนัคคระ ตำนานเมือง และตำนานพื้นเมือง อันเป็นเรื่องราวที่สืบเนื่องกันมาเป็นลำดับในกาลเวลาดุจลำไผ่ ว่าด้วยลำดับ ราชวงศ์ ราชา ท้าวพระญา เชื้อเจ้าสายนายกลุ่มผู้ปกครองบ้านเมือง ว่า…

นอกจากศักราชจะแปลว่าราชาของชาวสักกะดังเล่าเรื่องสากยะวังสาไว้ในตอนที่ผ่านมาแล้ว

ศักราชยังหมายถึงปีของพระราชา
คือกำหนดนับจำนวนปีที่พระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในเมืองใหญ่และกลุ่มเมืองในเครือข่ายพระราชอำนาจ

อีกมิติหนึ่ง สักกะราชหมายถึงปีแห่งสักกะเทวราช (ท้าวสักกะ)คือพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวงในเมืองสวรรค์

ซึ่งเรื่องราวของสักกะเทวราชนี้ เป็นอุดมคติต้นแบบการปกครองในเมืองคนอีกทอดหนึ่ง

กล่าวคือมีราชาผู้เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลาย

ราชาผู้เป็นใหญ่กว่าท้าวพระญาทั้งหลายในเมืองทั้งหลาย

และอีกมิติหนึ่งนั้น พุทธศักราชก็ตั้งขึ้นตามคติว่า…
พระพุทธเจ้าแห่งเรานี้ คือมหาจักรพรรดิธรรมราชา
ผู้เป็นใหญ่แก่สัตว์ทั้งหลายในสามโลก

ดังนี้แล.




<<คราวหน้าเราจะไปเทียบเวลาเบิกฟ้าเมืองใหญ่ในล้านนากัน>>


* อ้างอิง: พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ พ.ศ. ๒๕๑๕ *
**ภาพประกอบ: (ลายเส้นของ) รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์**

***posted by a_somjai | 2006-09-09 | ตำนาน, เมือง, เหนือ, ล้านนา, พงศาวดาร, โยนก, ศักราช, กาลียุค, สักกราช, พุทธศักราช | ***



Create Date : 09 กันยายน 2549
Last Update : 11 กันยายน 2549 22:01:24 น. 0 comments
Counter : 1247 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.