<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (5)

การเทียบศักราชโบราณ (2)
ลำดับเวลาในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่


ตอนที่ผ่านมา ได้เล่านิทานเรื่องของราชาในศากยวงศ์รุ่นปู่ทวดของสิทธัตถโพธิสัตต์ ตั้งแต่พระญาไชยเสนะกับพระญาเทวหสักกะจนถึงราหุลกุมาร

เรื่องลำดับราชวงศ์ของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เกี่ยวข้องกับเวลาในตำนาน ดังนี้

(๑) พระญาสีตนุราชะได้เป็นใหญ่ในเมืองใหญ่กบิลพัสดุแทนพระญาไชยเสนะ ขณะเดียวกันกับพระญาอัญชนะสักกะได้เป็นใหญ่ในเมืองใหญ่เทวหนครแทนพระญาเทวหสักกะ ส่วนกาลเทวิละผู้น้องออกบวชเป็นฤษีและคาดได้ว่าคงเป็นใหญ่ในหมู่ฤษีด้วยเช่นกัน

(๒) อันว่าศักราชนั้นหมายถึงปีของพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายและราชาผู้เป็นใหญ่กว่าท้าวพระญาทั้งหลายในเมืองทั้งหลาย คือกำหนดนับจำนวนปีที่พระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในเมืองใหญ่และกลุ่มเมืองในเครือข่ายพระราชอำนาจ ราชาผู้เป็นใหญ่ระดับมหาจักรพรรดิก็จึงมักลบการนับเวลาแบบเดิมแล้วตั้งการนับเวลาขึ้นมานับหนึ่งใหม่ ตามปีที่พระองค์มีอำนาจปกครองอยู่นั้น แล้วยังแผ่อิทธิพลการบังคับใช้ศักราชใหม่ของตนไปตามเมืองทั้งปวงในพระราชอำนาจ รวมทั้งการนับกำหนดระบุเลขนับปีควบคลุมไปทุกด้าน

(๓) เมื่อไปเปิดดูในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แล้ว โบราณาจารย์เล่าว่า “กาลเทวิลรสี แลพระญาอัญชนะ กับพระญาสีหตนะ ตัดสกราชโบราณอันชือ’กิงนวสันต์’นั้นเสีย แล้วตั้งสักราชใหม่ตัว ๑ ไป”
ศักราชโบราณเดิมชื่อ ’กิงนวสันตศักราช’ จะเป็น ’ศักราชสัปตฤกษ์ชื่อโลกกาล’ หรือว่าเป็น ‘ศักราชกาลียุค’ ดังกล่าวถึงในตอนที่แล้ว หรือประการใด ผู้เขียนบทความนี้ขอยอมรับซื่อ ๆ ว่า “ผู้ข้าบ่รู้ แท้ ๆ”ครับ
ส่วนศักราชใหม่ที่ตั้งขึ้นก็จะกลายเป็น’ สกราชโบราณ’ ตามท้องเรื่องลำดับต่อไป
‘อัญชนะสกราช’ นี้ผู้อ่านตำนานเมืองใหญ่ในล้านนาจะต้องรู้จักไว้เป็นพื้นฐานก่อน เพื่อก้าวไปสู่ความเข้าใจ’พุทธศักราช’และ’จุลศักราช’ที่ท่านผู้แต่งตำนานใช้กำกับลำดับเวลา




นักปราชญ์ท่านตั้งเทียบเวลาลำดับเหตุการณ์ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ไว้ดังนี้ครับ

(๑) สกราชตัวใหม่ (ก็คือที่ท่านเล่าว่า -- “กาลเทวิลรสี แลพระญาอัญชนะ กับพระญาสีหตนะ ตัดสกราชโบราณอันชือ’กิงนวสันต์’ นั้นเสีย แล้วตั้งสักราชใหม่ตัว ๑ ไป“) ลำดับมาได้ ๖๗ ตัว พระเจ้าเรา (สิทธัตถโพธิสัตต์) ลงมาเอาปฏิสนธิ

(๒) สักราช ๖๘ ตัว พระ(พุทธ)เจ้าเกิด

(๓) สกราชได้ ๑๔๘ ตัว พระพุทธเจ้าเรานิพพาน เดือน ๘ เพง(เพ็ญ) วันอังคาร

(๔) เถิงเดือน ๑๒ เพง มหาอานันทเถรเจ้า(พระอานนท์)ได้เถิงอรหันตา

(๕) แล้วสังคายนาธัมม์เปนปฐมะ (ภายในคือฝ่ายสงฆ์)มีอรหันตา ๕๐๐ ตน มีมหากัสกัปปเถรเจ้าเปนประธาน ภายนอก(ฝ่ายฆราวาสหรือฝ่ายบ้านเมือง)มีอชาตสัตตู(เป็นประธาน)แล

(๖) ตัด’อัญชนะสกราช’ ๑๔๘ ตัวนั้นเสีย ตั้งสกราชใหม่ตัว ๑ ไป (คือพุทธศักราช นับไปแต่ปีพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และ/หรือพบอีกในบางแห่งของตำนานล้านนาว่านับภายหลังปีพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๑ ปี หรือ ๒ ปี ก็มีอยู่ ดังที่พระยาประชากิจกรจักร์วินิจฉัย ตรวจสอบแล้วเห็นว่าการกำหนดพุทธกาลหรือตั้งพุทธศักราชไม่เกี่ยวกับทางคำนวณในวิธีโหราศาสตร์ และคงจะพึ่งลงแบบ เมื่อภายหลังการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๓ แล้วมา)

(๗) สกราชใหม่ลำดับมาได้ ๑๐๐ ปี เถิงเช่นพระญากาลาโสกแลมหายัสสเถรเจ้า มีอรหันตา ๗๐๐ ตน สังคายนาธัมม์เปนถ้วน ๒

(และจากปี พ.ศ. ๑๐๐ นั้น)ลำดับมาได้(อีก) ๑๑๘ ปี (๘) เถิงพระญาอโสกธัมมราชะแลมหาโมคคัลลีเถรเจ้ากับอรหันตาพัน(๑,๐๐๐)ตน กระทำสังคายนาเปนถ้วน ๓ สกราชได้ ๒๑๘ ตัว

(จากปี พ.ศ ๒๑๘ นั้น)ลำดับมาได้ ๒๐๐ ปี (๙) สกราชได้ ๔๑๘ ตัว นางจามเทวีเกิด (ตอนนี้ท้องเรื่องลำดับท้าวพระญาราชามหากษัทตริย์ตามลำดับเวลาก็ย้ายมาอยู่ในเมืองใหญ่ในเขตแค้วนล้านนาแล้ว)


ผู้เขียนขอฝากข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ว่า
ก.) เมื่อปราชญ์ล้านนาโบราณท่านบอกช่วงเวลาท่านใช้คำนามว่า ‘ปี’ เช่น ลำดับมาได้ ๑๐๐ ปี ๑๑๘ ปี ๒๐๐ ปี เป็นต้น, หากเมื่อเป็นการบอกบ่งกำหนดเวลาท่านจะระบุปีแห่งพระราชาด้วยคำนามว่า ‘ตัว’, ดังว่า สกราชได้ ๖๗ ตัว ๖๘ ตัว ๑๔๘ ตัว เป็นต้น และ –
ข.) ทางการคำนวณปีย้อนหลังของปราชญ์ล้านนานั้น ท่านวินิจฉัยประกอบกับบริบทแวดล้อมของท้องเรื่อง ดังแบบแผนที่ยกการเล่าที่ผ่าน ๆ มา และที่จะได้เห็นกันดังต่อไปนี้


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่าว่า นางจามเทวีเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๔๑๘
(๑๐) สกราชได้ ๔๕๖ ก่อเวียงละพูน (เมืองลำพูน)

(๑๑) สักราช ๔๕๘ ตัว นางจามเทวีลุก(เดินทาง)แต่เมืองละโว้ขึ้นมากินเมืองละพูน
(ถึงตรงนี้ขอแทรกข้อสังเกตไว้อีกว่า นอกจากออกชื่อ ’เวียง/เมืองละพูน’ คือ ’เมืองหริภุญชัย’ แล้วตำนานยังเอ่ยชื่อ ’เมืองละโว้’ อีกด้วย)

(๑๒) มหันตยสแลอินทวรยส(ลูกชายฝาแฝดของนางจามเทวี)ทังสองพี่น้องเกิดปีนั้น (สักราช ๔๕๘ ตัว)

(๑๓) จามเทวีกินเมืองละพูนได้ ๕๓ ปี อายุ(พระนาง) ๙๒ ปี (ตรงกับปีพุทธ)สักราชได้ ๕๕๐
(๑๔) มหันตยสกินเมืองแทนด้วยลำดับมา (จนกระทั่งถึงปีพุทธ)สักราชได้ ๕๖๐ ปี

(๑๕) ตัวพระญาพันธุมัตติธัมมิกราชะเมืองลังกาตัดสกราช ๕๖๐ นั้นเสีย แล้วตั้งสกราชใหม่ตัว ๑ ไป


ตอนนี้ท้องเรื่องตามลำดับเวลาอ้างพาดพิงไปถึงตำนานลังกาวังสะแล้วครับ แต่เราก็ได้ข้อสังเกตเพิ่มเข้ามาอีกว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บอกเราว่า
ก.) ลูกนางจามเทวีคือพระญามหันตยสกินเมืองละพูนในยุคสมัยเดียวกับพระญาพันธุมัตติธัมมิกราชะเป็นใหญกว่าราชาแห่งเมืองทั้งหลายในลังกาทวีป โดยเทียบจากเกณฑ์ปี พ.ศ. ๕๖๐
ข.) มีการลบศักราชเก่าแล้วตั้งศักราชขึ้นมานับ ๑ กันใหม่อีกมหาปางสมัยแล้ว และดังนั้น –
ค.) เมื่อเพิ่มจำนวนนับปีช่วงสมัยพุทธกาลเข้าไปอีก ๕๖๐ ปี รวมกับเวลาต่อด้วยจำนวนนับปีตามพันธุมัตติสกราช ก็จึงจะได้เป็นปีพุทธศักราช ดังจะแสดงให้เห็นต่อไป

(๑๖) พันธุมัตติสกราช ลำดับมาได้ ๓๔๓ (ตัว) พระญาอาทิตย์เปนพระญากินเมืองหริภุญชัย
(๑๗) (หลังจากพันธุมัตติสกราช ๓๔๓ ในรัชกาลพระญาอาทิตย์นั้น ต่อมาอีก)ได้ ๓ ปี ก่อเจติยะหลวงละพูน (ปีที่ก่อเจดีย์หลวงลำพูนนั้น ตรงกับพุทธ)สกราชได้ ๙๐๖ ตัว แต่พระ(พุทธ)เจ้านิพพานมาแล


ทางคำนวณของปราชญ์ผู้แต่งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นดังนี้
ก.) พ.ศ. ๙๐๓ (560 + 343 = 903) พระญาอาทิตย์ขึ้นกินเมืองละพูน
ข.) พ.ศ. ๙๐๖ (560 + 343 + 3 = 906) ก่อพระเจดีย์หลวงละพูน


แล้วมหาปางใหญ่ของมหาจักรพรรดิราชะเจ้าผู้เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลาย ได้ปราบดาภิเษกเป็นใหญ่ในเมืองใหญ่กว่าราชาทั้งหลายในเมืองทั้งหลาย ก็ได้เดินทางมาถึงอีกวาระหนึ่ง จึงจำต้องมีการลบศักราชเก่าแล้วตั้งศักราชขึ้นมานับ ๑ กันใหม่อีกมหาสมัย ดังตำนานว่า –

(๑๘) ลำดับพันธุสกราชมา ๖๒๒ พระญาตรีจักชุอนุรุทธธัมมิราชะเปนใหญ่ในชัมพูทวีป(พุกาม) ตัดสกราช ๖๒๒ นั้นเสียในปีเปิกเส็ด (จอ) แล้วตั้งสกราชใหม่ตัว ๑ ไป ในปีกัดใค้ (กุน) วันนั้นแล.


เมื่อมีการตัดสกราชเก่าตั้งสกราชใหม่ เราก็ต้องเพิ่มจำนวนนับปีช่วงสมัยพุทธกาลเข้าไปอีก ๕๖๐ ปี รวมกับจำนวนปีตามพันธุมัตติสกราชอีก ๖๒๒ ปี ดังนี้ 560 + 622 = พ.ศ 1182

อนึ่ง พระยาประชากิจกรจักร์ได้วินิจฉัยเรื่องสำคัญนี้ไว้ในหนังสือพงศาวดารโยนก ตกไว้แก่คนรุ่นหลังว่า
“จุลศักราชซึ่งใช้มาจนในปัจจุบันนี้นั้นเป็น ’ศักราชโหรา’ ซึ่งตัดออกจาก ’ปีกาลียุค’ เมื่อล่วงได้ ๓๗๓๙ แล้ว (…) เรียกว่า ‘นวตึสันติ’ ศักราชนี้ตั้งขึ้นในประเทศภุกาม (…ตรงกับ) เมื่อพระพุทธศาสนากาลล่วงได้ ๑๑๘๒ วัสสา แต่ลด ๑ ปีเป็นเกณฑ์กหัมปายา ๑๑๘๑ ไว้สำหรับลบบวกจุลศักราชกับพุทธกาล

(…) ศักราชที่ใช้ในประเทศคงมีที่มาอยู่ ๔ อย่าง คือ
(๑) พุทธศักราชมากับพุทธศาสนา
(๒) มหาศักราชหรือสักกะรูปกาลมากับพราหมณ์ไสยศาสตร์ จึงใช้เกณฑ์ ๖๒๑ สำหรับลบบวกพุทธศักราชกับมหาศักราช
(๓) จุลศักราชมากับโหราศาสตร์มีเกณฑ์ ๕๖๐ สำหรับลบบวกกันกับมหาศักราช
(๔) รัชศักราชต่าง ๆ อันพระราชาบัญญัติเช่น ร.ศ. และปีราชสมบัติ เช่นศักราชจีนเป็นต้น
ถ้ารวมใจความก็เป็น ๓ ประเภท คือศักราชศาสนาหนึ่ง ศักราชโหราหนึ่ง ศักราชราชาหนึ่ง เท่านี้”


ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ การเทียบศักราชในงานเขียนตำนานเมืองเหนือชุดนี้ เมื่ออ้างอิงถึงกาลเวลาจากจุลศักราชกลับไปสู่พุทธศักราชที่คนไทยใช้คุ้นเคยกันอยู่ ผู้เขียนจึงขอใช้ตัวเลข ๑๑๘๑ ลบบวกครับ.

(ยกตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ คิดกลับไปเป็นปี จ.ศ ได้ด้วยการตั้งโจทย์ 2549-1181 จะได้เท่ากับ ปี จ.ศ. ๑๓๖๘, ในทำนองเดียวกัน ปี จ.ศ. ๑๓๖๘ คำนวนกลับไปด้วยการตั้งโจทย์ 1368+1181 จะได้เท่ากับปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ดังนี้แล)



*อ้างอิง: ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ผูก 1 หน้า 5, และพงศาวดารโยนก หน้า 112–114*

**posted by a_somjai | 2006-09-11 | ตำนาน, เมือง, เหนือ, ล้านนา, ศักราช, จุลศักราช, พุทธศักราช, มหาศักราช, โหราศักราช, รัชศักราช**



Create Date : 11 กันยายน 2549
Last Update : 11 กันยายน 2549 22:39:45 น. 2 comments
Counter : 1230 Pageviews.

 
แวะมาอ่าน ผ่านมาศึกษาข้อมูล ขอบคุณครับที่นำมาให้ได้อ่านกัน


โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) วันที่: 11 กันยายน 2549 เวลา:8:04:48 น.  

 


โดย: ยาจกวิ้งๆ IP: 203.149.16.42 วันที่: 7 มกราคม 2551 เวลา:19:21:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.