<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
ตำนานเมืองเหนือ: ตำนานหอมหัวใหญ่ จังหวัดเขียงใหม่ (005)

กล่าวนำ

ตอนที่ ๑ เป็นกรอบการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มีเป้าหมายไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยม สังคมอุตสาหกรรม และวิถีชีวิตแบบเมือง ท่านที่ไม่สนใจจะข้ามไปเสียก็ได้ครับ

ตอนที่ ๒ เป็นเรื่องของการเริ่มต้นส่งเสริมการปลูกหอมหัวใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตำนานพืชอาหารที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่



ตอนที่ ๑ ตำนานการพัฒนาประเทศไปสู่ เศรษฐกิจทุนนิยม สังคมอุตสาหกรรม และวิถีชีวิตแบบเมือง

ประเทศไทยเริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ เทคโนแครตไทยสมัยนั้นมีความเห็นว่าเราเริ่มทำการวางแผนฯกันอย่างจริงจังค่อนข้างล่ากว่าในประเทศที่ยังด้อยพัฒนาด้วยกันเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่นประเทศอินเดียเริ่มใช้แผนห้าปีเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ฟิลิปปินส์ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ปากีสถานและไต้หวัน ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พม่า ซีลอน(ศรีลังกา) และสหพันธรัฐมะลายู(มาเลเชีย) ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อล่วงมาถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้แล้วแต่ละประเทศที่เดินตามกระบวนการพัฒนากระแสหลักแบบตะวันตกนั้นตกอยู่ในสภาพอย่างไรบ้าง ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาวินิจฉัยเอาเองเถิดครับ ผมขอข้ามไปเพราะหากจะกล่าวก็คงเป็นเรื่องยาวมากทีเดียว

ความจริงแล้วรัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินการตระเตรียมงานวางแผนพัฒนาการเศรษฐกิจไว้เป็นลำดับมาก่อนการประกาศใช้แผนฯ ในปีงบประมาณ ๒๕๐๔ แล้ว ภายใต้การสนับสนุนและกำกับดูแลทั้งด้านเงินทุนด้านนักวิชาการ/ผู้เชียวชาญจากธนาคารโลกซึ่งมีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นขาใหญ่อยู่เบื้องหลังอีกทีหนึ่ง แล้วพวกนักวิชาการหรือเทคโนแครตรุ่นใหม่ของไทยที่ร่วมกันทำงานทำแผนและใช้แผนพัฒนาการฯในขณะนั้น ล้วนแล้วได้รับการศึกษาด้านการพัฒนาแบบใหม่มาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา (การณ์ดังนี้ก็รวมทั้งประเทศใกล้เคียงทั้งหลายที่เอ่ยนามมาแล้วนั้นแหละครับ) อู้กันซื่อ ๆ สั้น ๆ ก็คือหากเราคนไทยสังคมไทยประเทศไทยผู้เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้(ควร)อยากรู้จักตัวเองให้มากขึ้นกว่านี้แล้วละก็ เราต้องหันกลับไปคิดทบทวนกันให้ชัด ๆ ว่าสหรัฐอเมริกาเข้าคิดเขาทำอะไรกับเรากับโลกทั้งมวลและกับตัวเขาเองมาบ้าง ต้องตั้งคำถามว่าขาใหญ่กำลังคิดกำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้(เช่นการทำสงครามกับชาติในตะวันออกกลาง เป็นต้น) และต่อไปพี่แก่จะว่าอย่างไร

นับตั้งแต่รัฐบาลไทยจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยให้มีหน้าที่วิเคราะห์วิจัยสภาวการณ์เศรษฐกิจ และเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาทางการเงิน การคลัง และการเศรษฐกิจทั่วไป ภายในสภาเศรษฐกิจฯนั้นเองก็ได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการดำเนินการทำผังเศรษฐกิจของประเทศ” เพื่อทำการพิจารณาคำของบประมาณวิสามัญลงทุนซึ่งกำลังขยายตัวมาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ รัฐบาลก็ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ” (ก.ศ.ว.) มีหน้าที่ประสานงานที่เกี่ยวกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการจากสหรัฐอเมริกา(ซึ่งธนาคารโลกได้อัดฉีดผู้เชี่ยวชาญ ทุน และความรู้ เข้ามาเสริมเป็นระยะ ๆ)ให้กับกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ตามสนธิสัญญาความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

สรุปก็คือแล้วแผนพัฒนาประเทศและการพัฒนาประเทศไทยภายใต้การกำหนดควบคุมทิศทางความเป็นไปของประเทศไทยก็ได้เริ่มต้นเป็นรูปธรรมอย่างชัดแจ้งจริงจังตั้งแต่กาละนั้นเป็นต้นมา ด้วยประการะฉะนี้แล


เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าให้ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติระหว่างระยะเวลา พ.ศ. ๒๕๐๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๖ และ พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ แล้ว รวบรัดตัดความเอาเป็นว่า การที่ได้แบ่งระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่หนึ่ง ระยะเวลา ๖ ปี ออกเป็น ๒ ระยะนั้น ก็เนื่องจากเหตุผลประการสำคัญที่ว่า กระทรวงทบวงกรมและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยังไม่พร้อมที่จะเสนอโครงการที่สมบูรณ์และเพียงพอตลอดระยะเวลา ๖ ปี ช่วง ๓ ปีแรกของแผนฯ ๖ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ - ๒๕๐๙ นั้น มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ (เพื่อทำให้ประเทศไทย สังคมไทย คนไทย และเมืองในล้านนาไท ก้าวไปสู่เวทีตลาดเสรี-ทุนนิยม-อุตสาหกรรม-ประชาธิปไตย) ดังนี้

(๑) ยกระดับอัตราการเพิ่มรายได้ประชาชาติจากร้อยละ ๔ เป็นร้อยละ ๕ ต่อปี เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๒ ต่อปีแล้ว รายได้ประชาชาติโดยเฉลี่ยต่อบุคคลควรจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี

(๒) รักษาระดับการสะสมทุนในอัตราเฉลี่ยที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๕ ของรายได้ประชาชาติ

(๓) เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางเกษตรประมาณร้อยละ ๓ ต่อปี ในระหว่างระยะเวลาของแผนฯ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายการผลิตพืชสำคัญ คือ ข้าว ยาง ข้าวโพด ไม้สัก มันสำปะหลัง ครั่ง ปศุสัตว์ และจำนวนปลาที่คาดว่าจะผลิตได้ไว้ด้วย

(๔) เพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางอุตสาหกรรมและเหมืองแร่จากร้อยละ ๑๐ ของรายได้ประชาชาติในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ให้เท่ากับร้อยละ ๑๒ ของรายได้ประชาชาติในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ และกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตซีเมนต์ ผ้า น้ำตาล กระดาษ กระสอบป่าน บุหรี่ ดีบุก ถ่านลิกไนท์ และยิบซั่ม

(๕) เพิ่มพลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก ๑๓๘,๐๐๐ กิโลวัตต์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ให้ถึง ๓๗๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖

(๖) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ จะได้ทำการก่อสร้างทางหลวงใหม่เป็นระยะทาง ๑,๐๐๐ กิโลเมตร และจะปรับปรุงถนนที่มีอยู่ให้เข้าสู่มาตรฐานเป็นระยะทาง ๑,๐๐๐ กิโลเมตร

(๗) กำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาการขนส่ง คมนาคม สาธารณสุข และการศึกษา

(๘) ดำเนินการให้มูลค้าสินค้าขาออกและสินค้าขาเข้า เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๔ ต่อปี และให้มีเสถียรภาพในดุลย์การชำระเงิน

(๙) สร้างบรรยากาศให้เหมาะสมต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

(๑๐) เพิ่มรายจ่ายงบประมาณปีละ ๕๐๐ ล้านบาท เพิ่มรายจ่ายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจากร้อยละ ๒๐ ของรายจ่ายงบประมาณทั้งสิ้นในปี ๒๕๐๔ เป็นร้อยละ ๒๙ ของรายจ่ายงบประมาณทั้งสิ้นในปี ๒๕๐๙

(๑๑) ในจำนวนเงินรายจ่ายงบพัฒนาเศรษฐกิจในระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๐,๕๐๐ ล้านบาทนั้น คาดว่าจะเป็นรายจ่ายจากเงินกู้ต่างประเทศ ๓,๐๐๐ ล้านบาท และเป็นเงินที่จ่ายจากเงินช่วยเหลือต่างประเทศ ๑,๕๐๐ ล้านบาท


ในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานตลอดจนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่เน้นหนักไปในการเร่งรัดพัฒนาพื้นฐานเศรษฐกิจ ( infra structure facility ) เช่น การชลประทาน การพลังงาน การทาง การรถไฟ และโทรคมนาคม เป็นต้น นอกจากนี้แล้วก็มีโครงการซึ่งมีลักษณะเป็นการบริการ ( service project ) ที่ได้รับความสำคัญอันดับสูง คือ โครงการวิจัยทดลอง และส่งเสริม ทั้งในด้านการเกษตร และการอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาการศึกษา เป็นต้น

ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลา ๓ ปีแรกของแผนฯ ๖ ปี อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจของคนทำแผนทั้งหลาย โดยเฉพาะรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นตรงตามเป้า การผลิตประเภทที่สำคัญส่วนใหญ่ทั้งในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเร็วเกินคาดหมาย ยกเว้นปริมาณการผลิตไม้สักและถ่านลิกไนท์ที่มีอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย(ก็ทรัพยากรในภาคเหนือบ้านเรานี้เอง ไม้สักนั้นพูดได้ว่าหมดไปตั้งนานแล้ว ส่วนเรื่องถ่านลิกไนท์นอกจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะแล้ว รัฐก็ยังพยามนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าและใช้ในโครงการเตาเผาขยะมาจนทุกวันนี้ยังไงละครับ)

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในด้านการชลประทานและพลังงานก้าวหน้าได้รวดเร็วขึ้น (ถ้าจำไม่ผิด โครงการชลประทานแม่แตง เป็นโครงการชลประทานเพื่อการเกษตรสมัยใหม่โครงการแรกของประเทศไทย ซึ่งเขายกให้เป็นโครงการแม่แบบเลยทีเดียว ส่วนโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ก็มีเขื่อนยันฮี/เขื่อนภูมิพล เกิดขึ้นมาในช่วงแผนฉบับนี้อีกด้วย) แต่โครงการทางด้านคมนาคมและขนส่งโดยเฉพาะโครงการทางหลวงยังมีปัญญหาติดขัดทำให้ล่าช้ากว่าเป้าหมาย






ตอนที่ ๒ ตำนานหอมหัวใหญ่เชียงใหม่ พ.ศ. 2504

การที่รัฐบาลไทยสมัยต้นกึ่งพุทธกาลได้ระดมทุนและกำลังคนเพื่อเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง ๓ ปีแรกของแผนฯ ๖ ปีนั้น ย่อมมีส่วนช่วยกระตุ้นให้กิจการต่าง ๆ พัฒนาก้าวหน้าได้รวดเร็วขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ก็มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะที่เชื่อกันว่ารุ่งเรืองด้วย นอกจาก’เครื่องชี้วัดเชิงปริมาณ’ระบุว่าภาวะตลาดการค้าต่างประเทศในช่วงปี ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ราคาสินค้าสำคัญ เช่น ข้าว ดีบุก และปอ เฉลี่ยแล้วสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงมีรายได้จาการค้ากับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ สิ่งสำคัญของการพัฒนาประเทศให้เป็นทุนนิยมการค้าเสรีคือการวัดความก้าวหน้าภายใต้“กระบวนการทางสังคมที่ผลิตผลออกมาในรูปที่อาจอธิบายหรือวัดได้ด้วยเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์” ปรากฏว่าการริเริ่มลงทุนประกอบการของเอกชน และโดยเอกชนในด้านการเกษตรขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการปลูกพืชใหม่ ๆ เช่น ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง และพืชไร่อื่น ๆ เพิ่มขึ้น ทางด้านอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน มีการลงทุนขยายกิจการและสร้างโรงงานขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก

ข้างต้นนั้นเป็นภาพระดับมหภาค ถึงตรงนี้เราลองลงไปสำรวจภาพระดับจุลภาคดูเรื่องเดียวกันนี้จากหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในหัวเมืองใหญ่ทางเหนือคือจังหวัดเชียงใหม่ เก็บจากหนังสือพิมพ์คนเมือง ฉบับประจำวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ หน้า ๑๐ คอลัมน์’ทรัพย์ในดิน’ บทความเรื่อง “หอมหัวใหญ่ของเชียงใหม่” เขียนโดยนายยุทธ กำแหงสงคราม กสิกรรมจังหวัดเชียงใหม่ (หอมหัวใหญ่นี้ได้พัฒนากันต่อมาจนถูกยกระดับขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ปรากฏเป็นคำขวัญของอำเภอแม่วาง ในปี พ.ศ.นี้) ลองยกบางข้อความมาอ่านดูครับ

เมื่อปลายฤดูฝนของปี ๒๕๐๓ ถึงปลายฤดูฝนของปี ๒๕๐๔ ในจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการทำไร่ปลูกหอมหัวใหญ่หรือหอมฝรั่ง ในท้องที่อำเภอสันทราย, ดอยสะเก็ด, สันกำแพง, สารภี, หางดง, จอมทอง, สันป่าตอง, แม่ริม, แม่แตง, อำเภอเมือง, และอำเภอฝาง จำนวนเมล็ดพันธุ์หอมได้ถูกนำมาเพื่อปลูกในจังหวัดนี้ ประมาณ ๒,๐๐๐ ปอนด์ เป็นพันธุ์ชนิดหัวแบน คือ เยลโล่ว เบอมิวด้า (Yellow Bermuda) ประมาณ ๘๕% นอกนั้นเป็นพันธุ์แกรเนกซ์ (Granex) ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกลม เมล็ดพันธุ์หอมจำนวน ๒,๐๐๐ ปอนด์ ถ้าทำการเพาะให้ถูกวิธี ไม่มีโรคแล้ว จะปลูกได้ในเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ไร่ ถ้าคิดเฉลี่ยปริมาณผลผลิตต่อไร่ละ ๑,๕๐๐ กิโลกรัม จะได้หอมหนัก ๓,๐๐,๐๐๐ - ๓,๗๕,๐๐๐ กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณเหลือเฟือสำหรับใช้บริโภคภายในประเทศ โดยไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ เมล็ดพันธ์เกือบครึ่งหนึ่งถูกนำไปเพาะในเดือนกันยายน-ตุลาคม เพื่อกะให้เก็บหัวได้ในปลายเดือนมกราคมและกุมภาพันธุ์ แต่ปรากฏว่า เมล็ดและกล้าหอมที่งอกออกมารุ่นนี้ ได้รับความเสียหายอย่างมากที่สุด เพราะฝนตกชุก เมล็ดถูกน้ำฝนจะไหลตามลำน้ำไปบ้าง ถูกน้ำท่วมต้นกล้าเป็นโรคโคนเน่า (Damping off) กะว่าเสียหายประมาณ ๗๕% ส่วนกล้าที่รอดตาย รอดจากเป็นโรค ได้ถูกนำไปปลูกในไร่ และเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๓ มีฝนผิดฤดู อากาศแทนที่จะหนาวเย็นกลับร้อนอบอ้าว ทำให้หอมที่ปลูกรุ่นนี้เกิดเป็นโรคราชนิดต่าง ๆ เช่น โรคเซม่า (Onion Smuge) และโรคราสีม่วง (Purple Block) ยาป้องกันโรคชนิดต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เกือบจะไม่ได้ผล

ในเดือนมกราคมเป็นระยะที่หอมกำลังเริ่มลงหัวนั้น กลางคืนมีน้ำค้างตกมาก ยิ่งทำให้โรคราชนิดต่าง ๆ ดังกล่าวลุกลามไปได้รวดเร็ว ฉะนั้นหอมที่รอดจากโรครุ่นนี้จึงมีปริมาณไม่มากนัก ครั้นถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวไร่จึงขายได้ราคาสูงพอสมควร คือ กิโลกรัมละ ๕-๘ บาท ส่วนหอมที่ทำการเพาะในรุ่น ๒ - ๓ คือในเดือนธันวาคม, มกราคม นั้นส่วนมากปลูกลงในนาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้ว ปรากฏว่าเจริญงอกงามดี (…) หอมที่ปลูกรุ่นหลัง ๆ นี้ เก็บหัวเสร็จเมื่อเดือนเมษายน มีปริมาณมากที่สุด เกษตรกรผู้ปลูกต่างรีบส่งไปขายยังกรุงเทพฯ เพื่อต้องการถอนทุนคืน แต่ปรากฏว่าระยะเดือนเมษายนเป็นต้นมาราคาหอมหัวใหญ่ที่ส่งไปขายยังกรุงเทพฯนั้น ได้ราคาถูกมาก และความต้องการของตลาดน้อยลง ทำความผิดหวังให้แก่ผู้ปลูกเป็นอย่างมาก หอมเก็บมาจากไร่ยังขายไม่ได้ ต้องเก็บไว้และมักจะเน่า เหตุที่เน่าเกิดจากเหตุหลายประการ เช่น เก็บก่อนหัวยังไม่แก่บ้าง ฝนตกก่อนจะเก็บทำให้ใบและต้นเปียกชื้น เมื่อถอนไปกองสุมกันไว้ จึงทำให้เน่าบ้าง (…ฯลฯ …)






อ้างอิง:
1. “การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย” โดย เสนาะ อูนากูล ในหนังสือ ทฤษฎีและแนวความคิดในการพัฒนาประเทศ บรรณาธิการโดย อมร รักษาสัตย์ และขัตติยา กรรณสูต ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๒, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ๒๕๑๕
2. หนังสือพิมพ์ คนเมือง ฉบับประจำวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔, นายวิจิตร ไชยวัณณ์ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายนิคม กิตติกุล นายวิรัช สุวรรณบาตร นายสายัณห์ รุจิพรรณ ประจำกองบรรณาธิการ สำนักงานและพิมพ์ที่ บริษัท คนเมืองการพิมพ์ จำกัด 786/1 ถนนศรีดอนไชย เชียงใหม่ (ข่าวหน้า ๑๐)





posted by a_somjai | March 9, 2006 |หอมฝรั่ง, หอมหัวใหญ่, เชียงใหม่ |




Create Date : 09 มีนาคม 2549
Last Update : 11 มีนาคม 2549 4:03:44 น. 12 comments
Counter : 924 Pageviews.

 
ตอนเรียนหนังสือ ก็เคยได้รับการบอกกล่าวนะคะ
ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯ โดยเฉพาะแผนแรกๆ ไม่เหมาะสม
เพราะเป็นการกำหนดจากส่วนกลาง
ไม่ได้ดูความต้องการ หรือปัญหาของภูมิภาคจริงๆ


โดย: grappa วันที่: 9 มีนาคม 2549 เวลา:9:16:24 น.  

 




เมื่อวานหายไปไหนมายะ


โดย: อย่ามาทำหน้าเขียวใส่นะยะ วันที่: 9 มีนาคม 2549 เวลา:9:46:20 น.  

 
อ่า คุณสมใจ เขียนยาวเหยียดเรย สารภาพว่าอ่านแค่คำว่า ตำนานหอมใหญ่ อะนะ
อินทรีทองคำมาทักทายเฉยๆอะ ไม่ได้เปิดบล๊อคกะเค้าอะ


โดย: อินทรีทองคำ วันที่: 9 มีนาคม 2549 เวลา:9:58:42 น.  

 
มาตอบที่ไปคอมเม้นท์ ไว้ที่บล็อกค่ะ

เคยได้ข่าวอยู่เหมือนกันนะคะว่า
สองคนนี้เป็นพี่น้องกัน
(ว่าจะดู BB อยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่เคยดูสักที )

ส่วนเพลงของหงา คาราวานที่ว่า
จะไปหามาจากไหนละคะนี่ อยากฟังเหมือนกัน
ดูกาลิเลโอ ไม่ทันอ่ะค่ะ ตอนมีละครเรื่องนี้ยังเด็กมาก เรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัดอยู่เลย แต่จำได้ว่าอ่านหนังสือที่พูดถึงละครเรื่องนี้แล้วอยากดูมาก



โดย: grappa วันที่: 9 มีนาคม 2549 เวลา:10:42:16 น.  

 
ตอนแรกเห็นคำว่าหอมหัวใหญ่เมืองเหมือ..ผมนึกว่าเรื่อง FTA....


โดย: KMS&หมาป่าสำราญ วันที่: 9 มีนาคม 2549 เวลา:10:55:27 น.  

 
ไปแวะเยี่ยมพี่สาวที่บล็อกด้วยนะ


โดย: samranjai วันที่: 9 มีนาคม 2549 เวลา:19:46:22 น.  

 
ลืมเล่า ว่า พี่สาวเรา อ่านบล็อก แล้วร้องให้..ขำดี


โดย: samranjai วันที่: 9 มีนาคม 2549 เวลา:19:48:46 น.  

 


โดย: กระจ้อน วันที่: 15 มีนาคม 2549 เวลา:8:47:31 น.  

 


โดย: โอมฮับ IP: 202.28.68.8 วันที่: 25 สิงหาคม 2549 เวลา:18:11:05 น.  

 


โดย: โอมฮับ IP: 202.28.68.8 วันที่: 25 สิงหาคม 2549 เวลา:18:11:27 น.  

 
กรุณาตอบกลับ


โดย: แรม IP: 203.172.199.254 วันที่: 21 มกราคม 2551 เวลา:15:10:18 น.  

 
ดีคร่า ทักทายน๊


โดย: www.24hotcasino.com IP: 180.183.246.230 วันที่: 16 ธันวาคม 2553 เวลา:13:11:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.