Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2560
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 พฤษภาคม 2560
 
All Blogs
 

:: 1st wrap-up ::







  ...







Between the World and Me ของ Ta-Nehisi Coates เป็นงานเขียนกึ่งอัตชีวิตประวัติ เล่าถึงชีวิตของผู้เขียนเองซึ่งเป็นคนผิวสีในอเมริกา เติบโตมาจากชุมชนที่มีอันตรายรอบตัว เขียนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นอันตราย หากเผลอตัวหลงเข้าไปอยู่ในด้านมืด ก็อาจทำให้เขาจบชีวิตลงได้ชั่วพริบตา แต่เขาก็ผลักดันตัวเองให้หลุดออกมาจากวังวนนั้นเสีย ดันตัวเองไปสู่การเรียนคอลเลจ ต่อเนื่องไปจนถึงมหาวิทยาลัย สร้างชีวิตและครอบครัวตนเอง กระทั่งมีลูกชาย 

หนังสือเล่มนี้เขียนเล่าชีวิตแบบจดหมายให้ลูกชายตัวเองฟังถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาเป็นวัยรุ่น มีเพื่อน เสียเพื่อน ต่อสู่กับความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนดำ-คนขาว เขาเขียนให้ลูกอ่าน เพื่อให้ลูกชายได้เข้าใจโลก เข้าใจความเป็นไปของอเมริกาที่ว่าเป็นประเทศเสรี แต่ความไม่เท่าเทียมกับท่วมท้นล้นเมือง นั่นเพราะเขากลัว กลัวว่าลูกชายจะเผลอเดินทางผิด อย่างที่เขาเกือบพลาดเดินไปในทางนั้น 

นับว่าเป็นหนังสือที่เข้ากับสถานการณ์ตอนที่อ่านเมื่อต้นปีได้ดี ที่มีเหตุตำรวจผิวขาวทำการวิสามัญคนดำที่อเมริกา จนเป็นเหตุให้เกิดการประท้วงใหญ่โต เรื่องเล่าชีวิตผ่านมุมมองตนเองเล่มนี้อ่านเอาชีวิตของคนเป็นๆ ที่เป็นเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์สีผิวอันยาวนานของอเมริกาได้ดีทีเดียว

.

Things Fall Apart ของ Chinua Achebe ถือเป็นงานเขียนแนวโพสโคโลเนียลและเป็นโมเดิร์นคลาสสิกไปแล้วก็ว่าได้ เลยลองหยิบขึ้นมาอ่านเสียหน่อย ถึงได้ว่ารู้ว่าเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตของชาวอิโบ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไนจีเรียปัจจุบัน  หนังสือเล่าถึง Okonkwo การเริ่มต้นและล่มสลายของครอบครัวตนเอง ฐานที่ทำผิดกับเพื่อน จนต้องอัปเปหิตัวเองไปอยู่หมู่บ้านฝั่งแม่หากไกลออกไป ครึ่งหลังหนังสือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนขาวที่เริ่มเข้ามาล่าอานานิคม จับคนท้องถิ่นเข้ารีต เกิดการแตกแยกในชุมชนเกิดขึ้น มีพวกต้าน และพวกรับใช้คนขาว 

เป็นเรื่องที่เขียนดีและเข้าใจได้ง่าย ครึ่งแรกเหมือนเรื่องเล่ากึ่งๆ นิทานและปะปนด้วยเรื่องเหลือเชื่อตามที่คนในหมู่บ้านนับถือผีป่าและธรรมชาติสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครึ่งหลังคือการปะทะกันของวัฒนธรรมใหม่ซึ่งมาพร้อมพวกคนขาวผู้พยายามช่วงชิงเอาดินแดนของปู่ย่าตาทวดของพวกเขาไป จนทำให้ชีวิตของตัวเอกอย่าง Okonkwo ต้องพินาศลงในท้ายสุด

.

Sweet Home ของ Carys Bray เป็นรวมเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของครอบครัวที่หลากหลาย ออกแนว magical realism อยู่หลายเรื่อง เช่น ซุปเปอร์มาเก็ตขายเด็กทารกให้พ่อแม่ช็อปไปดูแลตามอัธยาศัย ไม่ก็เรื่องสามีที่อยากได้ลูกจนต้องแกะสลักเด็กเอามาจากน้ำแข็งเป็นของขวัญให้ภรรยา เป็นเรื่องที่อ่านเพลินดี ไม่มีอะไรว้าอ่านเพลินๆ 

.

Human Act ของ Han Kang นวนิยายแปลจากเกาหลี แปลเป็นอังกฤษโดย Deborah Smith หนังสือเล่าถึงผลกระทบของเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลทหารภายใต้การนำของประธานาธิบดี Chun Doo-hwan เมื่อปี 1980 รัฐได้ใช้มาตรการปราบปรามขั้นรุนแรง โดยแปะป้ายผู้ประท้วงว่าเป็นพวกก่อการคอมมิวนิสต์ และใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยและคนในเมืองกวางจู (ทางตอนใต้ของเกาหลี) เหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน บาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ที่สำคัญมีการจัดการกับศพอย่างอนารยะ

สิ่งที่ดีมากๆ คือ หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นิยายอิงประวัติศาสตร์ เพื่อเล่าเหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้น แต่เป็นการเล่าถึงผลกระทบของเหตุการณ์ต่อชีวิตคนที่ประสบชะตากรรมในวันนั้น ประเด็นของเรื่องเน้นที่การตามหาความหมายของการต่อสู้ เริ่มที่ Dong-ho เด็กนักเรียนมัธยมออกไปตามหาเพื่อหลังวันสังหารหมู่วันแรก แต่ไม่พบ เขาจับพลัดจับผลูไปช่วยกลุ่มนักศึกษาที่เหลือในการจำแนกแยกศพของคนที่ถูกฆ่า จนตกไปอยู่ในระหว่างการปราบปรามครั้งที่สอง และต้องจบชีวิตลงก่อนวัยอันควรตามผู้ประท้วงคนอื่นๆ 

เรื่องแบ่งเป็นห้าบท แต่ละบทมุมมองตัวละครต่างกัน บทแรกเล่าถึง Dong-ho บทถัดมาเล่าผ่านวิญญาณของเพื่อนที่มองเห็น Dong-ho แต่ไม่อาจช่วยเหลือหรือร้องเตือนได้ บทอื่นๆ ก็เล่าผ่านชีวิตเด็กสาวผู้รอดชีวิตในวันนั้น แต่ต้องช้ำใจจากความรู้สึกผิดที่ไม่อาจช่วยชีวิต Dong-ho ไว้ได้ เล่าผ่านแม่ที่ต้องเสียลูกไปและความรู้สึกผิดที่ตนไม่อาจรั้งลูกให้กลับมาในคืนวันนั้นได้

หนังสือตั้งคำถามกับการต่อสู้กับการปราบปรามอย่างรุนแรง ว่าคุ้มค่าหรือไร้ประโยชน์อย่างไร และปลุกปล้ำกับตัวละครที่จะต้องต่อสู้ต่อไปให้มีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะผ่านมากกว่าสามสิบปีแล้ว

.





The Remains of the Day ของ Kazuo Ishiguro เป็นงานชิ้นโบแดงของผู้เขียนที่เราเพิ่งได้อ่าน (เล่มแรก ดันไปอ่านงานเล่าสุดของเขา แล้วไม่ค่อยถูกจริตเท่าไหร่) ปรากฏว่าเล่มนี้สมคำล่ำลือ นวนิยายเล่าถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งชนนั้นศักดินาในอังกฤษเริ่มระส่ำระสาย บัตเลอร์ Stevens จึงต้องเปลี่ยนนายใหม่เป็นคนอเมริกันที่เข้ามาซื้อคฤหาสน์ต่อจากนายจ้างคนเดิม 

วิธีการดำเนินเรื่อง เป็นการเล่าย้อนหลังถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ Stevens เคยประสบพบพานมาในช่วงที่ยังรับใช้นายคนเก่ ตัดแกสลับกับการเดินทางออกนอกเมือง เพื่อไปเยี่ยมอดีตแม่บ้านที่เคยทำงานร่วมกัน ระหว่างทางก็ได้ทบทวนความสัมพันธ์ในอดีตครั้งก่อนที่เคยร่วมงาน กระทบกระทั่งบ้างอะไรบ้าง แต่ก็เกิดความรู้สึกดีๆ ด้วยกัน 

หนังสือมีประเด็นชัดเจนถึงหน้าที่ของการเป็นบัตเลอร์และอารมณ์ความรู้สึกในการทำงาน ยกตัวอย่างฉากที่พ่อตนเอง (อดีตบัตเลอร์) ที่กำลังจะสิ้นใจ แต่ Stevens กลับมีงานสำคัญให้ต้องรับใช้เจ้านายพอดี เป็นฉากสะท้อนอารมณ์ของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องเก็บงำความเสียใจต่อการจากไปของบุพการีไว้ให้ได้ โทนของเรื่องทำให้เราชอบมา เรื่องเล่าเนิบๆ น้ำเสียงของ Stevens เล่าด้วยภาษาของคนที่น่าเชื่อว่าอยู่ในยุคนั้นและกรำงานการเป็นบัตเลอร์อย่างแท้จริง

.

The Tidal Zone ของ Sarah Moss เล่าเรื่องพ่อที่ต้องอยู่กับความกังวลนับล้านประการเมื่อวันหนึ่งพบว่า ลูกสาวที่ร่าเริงอยู่ๆ ก็หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ นวนิยายเล่าถึงความปวดร้าวของคนในครอบครัวที่กลัวจะเสียลูกสาวไป  ตัวพ่อเป็นนักวิชาการฟรีแลนซ์ทำงานอยู่บ้านเสียส่วนใหญ่ ส่วนภรรยามีอาชีพเป็นแพทย์ซึ่งทำงานนอกบ้านเป็นหลัก มีลูกสาวสองคน คนโตที่จู่ๆ ก็ไม่สบายและคนเล็กที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ใดๆ 

พล็อตเรื่องไม่มีอะไรมาก เน้นการเล่ารายละเอียดของบุคลิกตัวละคร และประเด็นของการสูญเสียซึ่งอาจเกิดขึ้นกับคนเราได้ทุกเมื่อ เป็นนวนิยายที่เรียบๆ เรื่อยๆ ของแท้ เหมือนมีซับพล็อตขนานกับพล็อตหลักที่พ่อเป็นห่วงลูกสาว คืองานตกแต่งโบสถ์ที่โคเวนทรีซึ่งถูกทิ้งระเบิดใส่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือเหมือนจะเล่าประเด็กการสูญเสียตรงนี้ได้ดี ตอนแรกที่อ่าน ก็นึกว่าจะโยงสองเรื่องนี้เข้าหากัน แต่ไปๆ มาๆ กลับเป็นคนละเรื่อง น่าเสียดาย ถ้าหากโยงเข้ากันได้จะดีไม่น้อยทีเดียว 

.

The Comfort of Strangers โดย Ian McEwan นิยายขนาดสั้นเล่าเรื่องคู่รักที่ไปพักผ่อนกันที่อิตาลี แล้วจับผลัดจับผลูไปรู้จักกับชายแปลกหน้า ตอนแรกเรื่องดำเนินแบบอืดๆ เอื่อยๆ เต็มไปด้วยบทแสดงความรักใคร่ของคู่รัก แต่พอพบคนแปลกหน้า เรื่องก็เลยกลายเป็นทริลเลอร์ เพราะชายคนนั้นเริ่มเข้ามาวุ่นวายกับชีวิตของคู่รักมากขึ้น และยิ่งตื่นเต้นสยดสยองเมื่อทั้งคู่หลงตกปากรับคำไปที่บ้านชายแปลกหน้าจนพบกับภรรยาของชายคนนั้น และค้นพบความจริงอันน่ากลัว

อ่านเล่มนี้แล้วทำให้นึกไปถึง The Cemented Garden ผลงานชิ้นแรกๆ ที่ลุงเอียนเขียน เพราะเหมือนกันที่มีบรรยากาศแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ แต่แฝงอารมณ์หวาดๆ ไว้ได้ดี แต่เราคิดว่าเล่มที่เพิ่งอ่านนี้ สู้เล่มก่อนไม่ได้

.

Beauty Is a Wound โดยนักเขียนชาวอินโดนีเซีย Eka Kurniawan แปลอังกฤษโดย Annie Tucker หนังสือเล่มนี้เป็นแนวแฟมิลีซากาอย่างแท้จริง เป็นการเล่าเรื่องของตัวละครที่ถูกทำร้ายนานาสารพัด สะท้อนประวัติศาสตร์สำคัญของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่ชาวดัชต์ยังยึดครอง เรื่อยมาจนถึงถูกญี่ปุ่นเข้ารุกราน การได้รับเอกราช และกลายเป็นประเทศภายใต้การปกครองทหาร สองครามกองโจรของพวกคอมมิวนิสต์ ถือว่าสแปนของเรื่องกว้างมาก

เรื่องเปิดที่ Dewi Ayu หญิงงามเมืองที่ตื่นขึ้นมาจากหลุมศพหลังจากตายไปนับสิบปี ก่อนจะย้อนลำดับเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรกับเธอบ้างตั้งแต่เริ่มต้น (ซึ่งจริงๆ เริ่มตั้งแต่สมัยที่เธอยังไม่เกิด) Dewi Ayu เป็นลูกสาวที่ถูกทอดทิ้งจากพ่อคนดัชต์ที่ได้เสียกับน้องสาวคนละแม่ซึ่งเกิดแก่หญิงพื้นเมือง พอสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น เธอก็โตเป็นสาวพอดี ปู่คนดัชต์โดนเกณฑ์ไปเป็นทหาร ย่าก็หนีภัยสงครามกลับประเทศ เธอยืนกรานจะอยู่ จนเมื่อญี่ปุ่นเข้าครอบครองเกาะชวา เธอก็ถูกกวาดต้อนกลายเป็น comfort woman ช่วงที่เล่าประสบการณ์ของเธอที่ต้องถูกบังคับให้กลายเป็นโสเภณีบำบัดความใคร่ให้ทหารญี่ปุ่น เป็นช่วงที่บีบคั้นหัวใจมาก ฉากความโหดร้ายทารุณเขียนได้เห็นภาพ (แม้ว่าจะแปลมาชั้นหนึ่งแล้ว) หลังสิ้นสุดสงคราม เธอทำอะไรไม่ได้ ทองหยองที่เก็บไว้ก็หายสูญ แถมมีลูกจากพวกทหารที่เข้ามาใช้บริการเธออีก ทำให้เธอต้องจำใจกลายเป็นหญิงค้าบริการต่อไป ทว่าเธอเป็นหญิงที่ค่าตัวแพง เป็นโสเภณีชั้นสูง มีแต่คนหมายปอง กระทั้งได้รับความนับหน้าถือตามในสังคม 

หลังจากนิยายเล่าช่วงชีวิตของเธอจบ ก็ไปเล่าเรื่องลูกสาวทั้งสาม กับคู่รักที่ลูกสาวแต่ละคนได้พบพา ตรงจุดนี้ผู้เขียนสร้างตัวละครที่เหมือนเป็นตัวแทนจากแต่ละกลุ่มของอินโดที่ห้ำนั่นกันในสมัยนั้น (1950-60) ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์ ฝ่ายรัฐบาล และแก๊งอันธพาลท้องถิ่น ตัวละครเหล่านี้ (สามีของบรรดาลูกสาว Dewi Ayu) มีเรื่องเล่าเบื้องหลังของตัวเองว่าตกระกำลำบากอะไรมาบ้าง (ข้อวิจารณ์หนึ่งคือ ตัวละครทั้งสามนี้ เหมือนตั้งใจทำให้ดูเป็นฮีโร่ของแต่ละฝ่ายมากเกินไป อ่านแล้วนึกถึงหนังไทยยุคก่อนที่สรพงษ์หรือมิตรชัยเล่น) อ่านถึงช่วงนี้ตัวละครเยอะมาก และเรื่องเริ่มดึงประเด็นหลากหลายเข้ามา ทำให้ความสนุกลดลงไปเยอะ แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดี  

ในช่วงท้ายซึ่งเป็นช่วงหลานของ Dewi Ayu ผู้เขียนหักมุมให้จบได้อย่างประหลาด เอาเรื่องผี เรื่องเหนือจริงเข้ามาผูกโยงด้วย ซึ่งคิดว่ามันไม่ค่อยเข้ากับช่วงแรกที่เป็นฉากชีวิตของคนที่ดูสมจริง ไม่รู้จะจัดนิยายเรื่องนี้ให้ไปอยู่หมวดไหนดี เดี๋ยวก็มีผี เดี๋ยวก็มีวิญญาณผ่านมาในช่วงท้าย บางช่วงก็คล้ายๆ หนังหรือละครหลังข่าวของไทย คิดว่าคงเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนภูมิภาคนี้ที่มีมุมมองต่อสังคมคล้ายๆ กัน แต่มันเหมือนหลุดประเด็น ความกินใจที่ได้อ่านความโหดร้ายจากการกระทำต่อมนุษย์ที่ Dewi Ayu ประสบในช่วงแรก เหมือนจะหดหายไปหมดเลย

.





My Name Is Leon โดย Kit de Waal เล่าเรื่องเด็กชายกำพร้าผิวสีในยุค 80 ที่อังกฤษ สมัยที่คนผิวสียังไม่มากมายอย่างในปัจจุบัน ทำให้ Leon ไม่ถูกรับไปเลี้ยงดู ผิดจากน้องชายผิวขาวต่างพ่อที่ยังเป็นทารก รายนั้นได้รับการอุปถัมภ์ไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างนี้เขาต้องอาศัยอยู่กับอาสาสมัคร social worker ไปพลางๆ 

เรื่องนำเสนอให้เห็นถึงความผูกพันระหว่าง Leon กับน้องชาย เขาคิดถึงน้องมาก คิดถึงช่วงเวลาที่ตนเองดูแลน้อง ผลัดผ้าอ้อมให้ ป้อนนมแทนแม่ที่เริ่มมีอาการประสาท ไม่สามารถช่วยเหลือหรือเลี้ยงดูลูกได้ จนเจ้าหน้าที่รัฐต้องยืนมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็เหมือนเป็นการแยกเขากับน้องชายออกกันไปโดยปริยาย
พล็อตเรื่องไม่มีอะไรมาก แต่ประเด็นในการนำเสนอชัดเจน คือการไม่เป็นที่ต้องการของสังคมเพราะสีผิว แต่นิยายเรื่องนี้เป็นแนวให้กำลังใจ ตอนจบจึงไม่ทำร้ายจิตใจคนอ่าน เพราะคนเขียนหาบ้านใหม่ให้ Leon ได้สำเร็จ แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้พบน้องชายแล้วก็ตาม 

.

Perdido Street Station ของ China Miéville เป็นแฟนตาซีแนว streampunk หรือโลกแฟนตาซีที่เซตในยุควิตอเรียซึ่งมีวิวัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ มีรถไฟ และพัฒนาด้านบ้านเรือนพอสมควร (ต่างจากแฟนตาซีโดยทั่วไปที่มักเซตในยุโรปยุคกลาง) นับว่าเปิดหูเปิดตาเรามากพอควรกับแฟนตาซีแนวนี้ ยิ่งคนเขียนใส่รายละเอียดความแปลกเข้าไปในสิ่งมีชีวิตในโลกหนังสือด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรื่องแปลกแหวกแนวเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็น khepri มนุษย์หัวแมลงปีกแข็ง cactacae มนุษย์กระบองเพชร หรือ karuda มนุษย์บินได้มีหัวเป็นนก Remade มนุษย์กลายร่างเพราะถูกลงโทษในการกระทำผิด ซึ่งจะกลายร่างเป็นอะไรก็ขึ้นอยู่กับคนลงโทษ เช่น ตัดเอาแขนออก เอาแขนตักแตนยักษ์มาใส่แทน บางคนถูกตัดต่อเอารถลากมาแทนขา ต้องกลายเป็นสารถีรับส่งคนโดยสาร

นิยายเริ่มที่ Isaac นักวิทยาศาสตร์แห่งมหานคร New Crobuzon พยายามทดลองหาทางให้ Yagharek (ซึ่งเป็น karuda ที่ถูกอัปเปหิจากทะเลทราย Cymek ทางตอนใต้) สามารถมีปีกบินได้ดังเดิม Isaac พยายามรวบรวมสัตว์มีปีกทั้งหลายมาทำการทดลองศึกษากายวิภาค แต่เรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นเมื่อเขาได้รับตัวหนอนด้วงประหลาดมาตัวหนึ่ง และเผลอให้มันกิน dreamshit ซึ่งถือเป็นสารเสพติดในโลกนั้น ทำให้มันขยายร่างจนเข้าดักแด้ และกลายร่างเป็นปีศาจ ออกอาละวาดตามท้องถนนในที่สุด 

ปีศาจตัวนี้หลุดออกไปทำร้ายคนในเมือง ดูดดื่มความฝันและสัมปชัญญะของสิ่งมีชีวิตในเมือง New Crobuzon ขณะเดียวกัน Lin หญิงสาวเผ่า khepri ที่ Isaac แอบมีความสัมพันธ์ด้วยก็หายตัวไป ซึ่งคนที่จับกุมคือคนที่มีส่วนพัวพันกับการด้วงประหลาดอีกสี่ตัวที่เหลือนั่นเอง

สเกลหนังสือเล่มนี้ใหญ่มากในด้านความประหลาด การสร้างโลกน่าอัศจรรย์ เวทย์มนตร์ก็มีแต่น้อย แถมไม่ได้เรียกว่า magic แต่เรียกว่า thaumaturgy  ซึ่งคนเขียนตีให้มันเป็นแขนงหนึ่งของวิทยาการ (ชอบประเด็นนี้ อีกอย่างที่ชอบคือคนเขียนสร้างคำใหม่ๆ ขึ้นมาจากรากคำเดิม เพื่ออธิบายสิ่งมีชีวิตหรือคอนเซ็ปต์ต่างๆ ในโลก เช่น ชื่อเผ่า cactacae หรือการสะกด chemical แบบโบรานว่า chymical) โทนของหนังสือจริงๆ ออกแนวทริลเลอร์ตื่นเต้นกับการตามล่าตัวปีศาจที่ไล่ล่ากินความฝันของคนมากกว่า 

สิ่งที่ทำให้ประทับใจหนังสือเล่มนี้คือ นอกจากสร้างโลกที่แปลกประหลาดแล้วยังวางพล็อตให้คนอ่านอยากรู้อยากติดตามได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเหตุการณ์คับขันบางเหตุการณ์ คนเขียนหาทางออกให้ตัวละครได้อย่างเหลือเชื่อไปนิด ถือว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก อดหลับอดนอนอยู่หลายคืน กำลังอ่านเล่มสองซึ่งเซตฉากในโลกเดียวกัน แต่เนื้อเรื่องไม่ได้ต่อเนื่อง คิดว่าคงประหลาดลึกล้ำไม่แพ้กันทีเดียว

.

The Sad Part Was โดย Prada Yoon แปลจากภาษาไทยโดย Mui Poopoksakul เป็นรวมเรื่องสั้นจากหลายๆ เรื่องในเล่ม “ความน่าประเป็น” ที่ได้รางวัลซีไรต์เมื่อสิบกว่าปีก่อน ได้มีโอกาสไปฟังการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่อง อย่างแรกที่เหมือนจะเป็นจุดใหญ่ใจความของผู้แปลเลยก็คือ การได้นำเสนอสังคมไทยในมุมมองใหม่ให้ชาวต่างชาติได้เห็น เพราะรวมเรื่องสั้นชุดนี้มีธีมการเล่าเรื่องที่แหวกขนบแนวสัจนิยมในงานเรื่องสั้นของไทย ปราบดาใช้แนวการเล่าหลากหลายสไตล์ ทั้ง metafiction ทั้งการวางพล็อตแหวกแนว และไม่ได้เสนอแง่มุมของไทยที่เป็นภาพจำสำหรับนักอ่านต่างชาติที่อาจได้พบเจอแต่พวกทะเล ช้าง หรือวัฒนธรรมไทยอื่นๆ

ในประเด็นที่สองคือการแปลตัวบท หลังจากอ่านเรื่องนี้จบไปสองวันก่อน (ไม่เคยอ่านฉบับไทย) คิดว่าคนแปลทำการบ้านได้ดี แก้ปัญหาการเล่นคำในหลายๆ จุดได้อย่างแนบเนียน แต่น่าสังเกตอยู่อย่าง คือบทแปลอ่านได้ลื่นไหลมาก เข้าใจว่าคนแปลคนใช้วิธีแปลทั้งแบบ “นำเรื่องมาหาคนอ่าน” และ “พาคนอ่านไปหาเรื่อง” ผสมปนเปกันไป

The Sad Part Was เปิดศักราชใหม่ของเรื่องแปลไทยที่ได้สำนักพิมพ์ตะวันตกจริงๆ เป็นผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่าย (ส่วนมากนิยายหรือเรื่องสั้นแปลไทยจะเป็นของสำนักพิมพ์ภายในประเทศเสียมากกว่า) ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะงานแปลไทยจะเอื้อมไปหาคนอ่านต่างชาติในวงกว้างขึ้นด้วยพลังการโฆษณาและแรงวิจารณ์จากนักวิจารณ์วรรณกรรมในสื่อตะวันตก เหมือนที่เรื่องแปลเอเชียอื่นๆ ไปเบิกทางไว้ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานจากจีน ญี่ปุ่น ตุรกี หรือแม้แต่อินโดฯ ที่สำคัญคือ เป็นการนำเสนอภาพของไทยอีกด้าน ต่างไปจากภาพเดิมๆ ที่ต่างชาติมองอยู่ (แม้ว่าในมุมมองของเรา เรื่องสั้นทั้งหมดสะท้อนแต่ความเป็นคนกรุงเทพฯ และรสนิยมกับความคิดของชนชั้นกลาง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกเมื่อพิจาณาจากพื้นฐานของคนเขียน หรือแม้แต่คนแปลเองก็ตาม)

.






The Secret Scripture ของ Sebastian Barry เป็นเรื่องราวของ Roseanne หญิงชราวัย 100 ปีในสถานพยาบาลคนจิตเภทในไอร์แลนด์ หนังสือให้ตัวละครเขียนบันทึกเล่าย้อนชีวิตของตนเองในช่วงที่ยังเป็นเด็กสาวที่ต้องเติบโตมาในสังคมคริสต์สองนิกายที่แย่งชิงความเป็นใหญ่กันในไอร์แลนด์ โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและหลังการประกาศตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษที่มีปัญหาระส่ำระสายกันมาตลอด

Roseanne ฐานะยากจน พ่อจบชีวิตลงอย่างแร้นแค้น แม่เป็นบ้า ถูกบาทหลวงในหมู่บ้าน Sligo ที่อาศัยอยู่จับไปอยู่สถานบำบัด ชีวิตของเด็กสาวเหมือนจะถูกบงการโดยบาทหลวงคนนั้นที่ถือตนเป็นผู้ดูแลความถูกต้องของทุกสิ่ง แม้เมื่อเธอแต่งงานไปแล้ว แต่มีผู้ชายเข้ามาพัวพัน ก็ถือว่าเป็นความผิดของเธอ จนถึงชั้นตราหน้าว่าเธอเป็นหญิงแพศยาสำส่อน (nymphomaniac) ต้องถูกจัดการตามหลักศาสนา ยิ่งตอนท้ายเธอมีลูกก็ถูกพรากจากไป ส่วนเธอก็ถูกไปกักขังอยู่สถานพยาบาล จนอายุร่วมร้อยปี นายแพทย์ที่ทำการรักษาจึงอยากช่วยเหลือเธอตามหาลูกชายที่ไม่ได้พบหน้ากันให้ กระทั่งได้ค้นพบความจริงที่ทำให้หัวใจทุกคนแทบแตกสลาย 

เป็นนิยายเรียบๆ เรื่อยๆ แต่กดดันจิตใจอย่างยิ่งท่ามกลางสภาพสังคมในไอร์แลนด์ช่วงนั้น กับความเชื่อที่ฝังลึกของคนในชุมชน จนทำให้หญิงสาวผู้หนึ่งต้องย่ำแย่ลงไปเพราะความเชื่อเหล่านั้น อ่าน Sebastian Barry มาเล่มที่สอง (เล่มแรก On Canaan’s Side) รู้สึกถูกโฉลกด้วยกับโทนเรื่องและ prose ที่ใช้ ทั้งๆ พล็อตไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก แต่ก็เขียนภาษาสวยงามได้ชวนติดตามดียิ่ง สงสัยจะชอบดราม่าแบบไอริชแน่ๆ เลยเรา

.

The Shock of the Fall ของ Nathan Filer เป็นเรื่องของเด็กชายที่เป็น schizophrenia และเสียพี่ชายไปตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งตนเองเป็นต้นเหตุ เรื่องเล่าผ่านสายตา Simon ลักษณะการเขียนก็เลยเป็นแนวปะติดปะต่อตามความคิดของคนไม่สมประกอบด้วยโรคนี้ ประเด็นที่นำเสนอคือความสูญเสียที่นำความโศกเศร้ามาสู่ครอบครัวและการปรับตัวที่อยากลำบาก 

หนังสือใช้วิธีเล่นกับวิธีเล่าเรื่อง มีการแทรกจดหมายของนักสังคมสงเคราะห์ที่ช่วยดูแล Simon เมื่อยามที่เขาโตเป็นวัยรุ่นแล้วออกมาอยู่ลำพังคนเดียว พ่อแม่เทียวเป็นห่วง ยายเทียวเป็นห่วงก็ไม่นำพา จนในที่สุดอาการกำเริบก็ต้องเข้าไปรักษาตัวในสถานพยาบาลจิตเภทในที่สุด แต่เขาก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

สังเกตว่านิยายฝรั่งชอบเล่นธีมป่วยทางจิตนี้เยอะมาก หนังสือเล่มนี้เซตที่อังกฤษ คงน่าจะเป็นเพราะสภาพอากาศไหม ที่ทำให้จิตใจคนแปรปรวนตามอากาศ นักเขียนเลยหยิบยกมาเป็นประเด็นบอกเล่าได้มากมายหลายเรื่องขนาดนั้น


...


เป็นอีกปีที่เริ่มต้นมาก็อ่านนิยายน้อยกว่าปีก่อนๆ เพราะภาระกิจรัดตัว (แต่ยังดีกว่าปีที่แล้ว) พยายามจะหาทางอ่านให้ได้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวยก็แล้วกัน (-_-)' มีโปรเจคอ่านแฟนตาซีเป็นชุดอยู่หลายชุด คงกินเวลาพอสมควร เพราะแต่ละเล่มหนาปึ๊ก พอได้กลับมาเปิดหูเปิดตากับแฟนตาซีอีกครั้ง ทำให้รู้เลยว่าเราชอบอ่านแนวนี้มาแค่ไหน แต่ก็คงสลับกับแนววรรณกรรมปกติที่อ่านอยู่เรื่อยๆ นั่นแล...

...




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2560
7 comments
Last Update : 4 พฤษภาคม 2560 16:29:10 น.
Counter : 5142 Pageviews.

 

ว๊าว หายไปนาน พอกลับมาก็จัดชุดใหญ่เลยนะคะ

แอบสนใจ Between the world and me + The secret Scripture.....แต่แนวนี้คงไม่มีใครนำมาแปลไทยแน่เลย

 

โดย: Serverlus 5 พฤษภาคม 2560 14:22:10 น.  

 

เรื่องของ China Mieville น่าสนใจดี แต่คิดว่าคงไม่มีใครแปลแน่ๆ

 

โดย: leehua (สมาชิกหมายเลข 755059 ) 26 พฤษภาคม 2560 19:53:37 น.  

 

คุณ Serverlus - ด้วยความเกียจคร้าน เลยเขียนบันทึกสิ่งที่ตัวเองอ่านทีเดียวไปเลยครับ :-)
คุณ leehua - งานของ China เป็นแฟนตาซีที่แปลกแหวกแนวจริงๆ ครับ กำลังอ่านอยู่อีกสองเล่ม สนุกไม่แพ้กัน

 

โดย: Boyne Byron 28 พฤษภาคม 2560 4:07:36 น.  

 

Welcome to the world of adult Dating loveawake.ru

 

โดย: loveawake.ru IP: 136.243.138.66 17 มีนาคม 2564 9:34:46 น.  

 

. .
.

 

โดย: napilim.pro IP: 136.243.138.66 20 มีนาคม 2564 7:52:16 น.  

 

. .






.
. .
.

.
.


( )
.
.
!
.
@Alexlenn

 

โดย: AaronCirty IP: 79.139.184.195 31 ตุลาคม 2565 11:07:00 น.  

 

Hello,

Download club music https://0daymusic.org MP3, FLAC, Music Videos.

0daymusic Team

 

โดย: Jameslix IP: 51.210.176.129 6 เมษายน 2567 19:57:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Boyne Byron
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add Boyne Byron's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.